หนังสืออาหารที่ไม่ได้สอนวิธีทำ แต่เน้นเรื่องราวที่เล่าอยู่เบื้องหลังของอาหารแต่ละอย่าง ใกล้ก็มากไกลตัวก็มี จนผมคิดว่าถ้ายิ่งได้อ่านเวลาที่กำลังกินอยู่คงจะดี เพราะยิ่งเป็นการปรุงความอร่อยด้วยเรื่องราวจากนักเขียน ผู้เป็นนักวาดภาพประกอบ แต่เขียนเล่าเรื่องได้อร่อยกลมกล่อมไม่น่าเชื่อ

อย่างที่บอกครับว่าหนังสือเล่มนี้เป็นการเล่าเรื่องราว ที่มาที่ไป หรือประวัติศาสตร์ของอาหารแต่ละชนิด ทั้งคาว ทั้งหวาน ทั้งที่เคยกิน หรือทั้งที่แค่เคยได้ยินก็ตาม

อย่าง เพรทเซล

เพรทเซลเป็นขนมปังอบเส้นยาวๆที่ขดเป็นรูปคล้ายๆโบว์(ในความคิดผม) หรือเลข 8 ถ้าในบ้านเราก็นึกถึงร้าน Auntie Anne’s ที่มีขายตามห้างทั่วไปก็ได้ครับ

ผมเพิ่งรู้ว่าเจ้าเพรทเซลนี้เป็นอาหารประจำชาติในเยอรมนี แต่ที่จริงแล้วมีต้นกำเนิดจากประเทศอิตาลี

จากเรื่องราวที่เล่าต่อกันมาคือ เพรทเซล มีกำเนิดมาจากความคิดสร้างสรรค์ของบาทหลวงชาวอิตาลีเมื่อราว 1,400 กว่าปีก่อน หรือราวๆ ค.ศ. 610 บางหลวงได้ทำขนมปังชนิดนี้ขึ้นมาเลียนแบบท่าทางของลูกศิษย์ที่กำลังสวดมนต์

เอาแขนสองข้างมาไขว้กันที่หน้าอก และเกาะมือไว้บริเวณหัวไหล่คล้ายรูปตัว X

เพรทเซลมีสามรู รูใหญ่ด้านซ้ายขวา และรูเล็กๆตรงกลาง ถ้านึกภาพไม่ออกแนะนำให้ลองซื้อมากินดู แล้วจะจำแม่นขึ้น แต่ละรูหมายถึงพระบิดา พระบุตร และพระจิต

จากนั้นบาทหลวงก็เลยตั้งชื่อขนมปังที่แทนความรักในพระเจ้าว่า Pretiola หมายถึงรางวัลแห่งความดีงาม ต่อมาขนมปังชนิดนี้ถูกเผยแพร่ไปทั่วยุโรป โดยเฉพาะในบริเวณสหราชรัฐฟรังโคเนีย Franconia ที่คือดินแดนเยอรมนีในปัจจุบัน

ต่อมาคนเยอมันเรียกขนมนี้ใหม่ว่า Bretzels หรือ Pretzel ในภาษาอังกฤษ และก็กลายเป็นอาหารยอดนิยมประจำชาติเยอรมนีอย่างที่บอกไว้ตอนต้น

ผัดไทย อาหารน้องใหม่ แต่ไฉนถึงมี “สูตรโบราณ”

เพราะผัดไทยนั้นเป็นอาหารที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาในยุคจอมพล ป. เพื่อมาทดแทนก๋วยเตี๋ยวที่เริ่มราคาแพงแต่เป็นที่นิยมของคนในยุคนั้น

ด้วยการเอาเส้นก๋วยเตี๋ยวมาเปลี่ยนวิธีการปรุง จากต้มมาเป็นผัด ใส่ไข่ มะขามเปียก ถั่วงอก จนได้ออกมาเป็น “ผัดไทย” ที่โด่งดังไปทั่วโลก

ดังนั้นผัดไทยนี้จึงเพิ่มมีอายุแค่ 70-80 ปีมานี้เอง ผู้เขียนเลยบอกว่าน่าตลกดีเวลาที่เห็นร้านไหนขึ้นป้ายโตๆโฆษณาว่า “ผัดไทยสูตรโบราณ” เพราะตามอายุอานามแล้วยังไม่แก่พอจะนิยามว่า “โบราณ” ได้

พูดแล้วก็คิดถึงผัดไทยร้านลุงภา ใกล้ๆกับทิพย์สมัยตรงประตูผีที่โด่งดัง ต้องบอกว่าร้านนี้เป็นร้านประจำของผม เพียงแต่ว่าถ้าวันไหนที่คนเริ่มเยอะกว่าปกติ ผมจะไม่กิน เพราะเคยประสบการณ์ตรงกับตัวแล้วว่า คุณภาพในการทำและบริการจะตกลงประมาณ 90%

ให้น้อยลงอย่างเห็นได้ชัดจนตกใจ และผมเป็นกินคนผัดไทไม่ใส่ถั่วงอก เวลาปกติที่คนน้อยๆทำให้ได้รวดเร็วทันใจ แต่เวลาที่คนเยอะหน่อยกลับไม่รับผัดแบบไม่ใส่ถั่วงอก

ดังนั้นผัดไทลุงภาร้านนี้ ผมจะเข้าเฉพาะวันที่คนไม่เยอะเท่านั้นครับ

ช็อกโกแลต เครื่องดื่มและอาหารที่แสนจะอร่อย

รู้มั้ยครับว่าร้านกาแฟร้านแรกในกรุงลอนดอน ที่เอาช็อกโกแลตมาขายสู่สาธารณะชนครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1674 ปัจจุบันยังเปิดขายอยู่เลย ถ้าตีเป็นตัวเลขคร่าวๆก็กว่า 300 ปีมาแล้ว

ร้านนั้นชื่อว่า The Coffee Mill and Tobacco Roll

จากนั้นลอนดอนก็ตกอยู่ในมนต์เสน่ห์ของช็อกโกแลตอย่างถอนตัวไม่ขึ้นจนถึงทุกวันนี้

อ่านถึงตรงนี้แล้วอยากบินไปลอนดอนเพื่อไปลองกินช็อกโกแลตร้านแรก ร้านนี้ จริงๆครับ

พิซซ่า อาหารยอดนิยมของคนทั่วโลก

ต้องขอบคุณ “มะเขือเทศ” ที่สเปนนำเข้ามาจากเครือข่ายอาณานิคมในอเมริกาใต้ ที่ถูกนำไปถึงพ่อค้าพ่อครัวชาวเนเปิลส์ แถบชายฝั่งตะวันตกของอิตาลี

ที่ทำให้ได้มาเจอกับขนมปังอบดั้งเดิมของชาวบ้าน ที่เดิมที่ชาวโรมันเรียกว่า Picea หรือคนอิตาลีเรียกมันว่า Pizzeria จนกลายเป็นซอสมะเขือเทศที่อยู่บนหน้าพิซซ่า และจากนั้นมะเขือเทศกับแป้งพิซซ่าก็ไม่เคยแยกออกจากกันจนถึงทุกวันนี้

พิซซ่าตำรับแรกของโลกเกิดที่เมืองเนเปิลส์ครับ และร้านที่ขายพิซซ่าแห่งแรกในเมืองนี้ก็ยังเปิดอยู่ ตั้งแต่ ค.ศ. 1830 ชื่อร้านว่า Antica Pizzeria Port’ Alba

ถ้าใครกำลังจะไปอิตาลีหรือเมืองเนเปิลส์เร็วๆนี้ ฝากซื้อซักถาดโหลดใต้เครื่องกลับมาฝากหน่อยซิครับ

ไก่งวงหรือ Turkey ไม่ได้มาจากประเทศตุรกีแต่อย่างใด

เพราะเจ้าไก่ฝรั่งที่เค้าชอบกินกัน หรือครั้งนึงผมก็เคยไปกินที่ญี่ปุ่น อยากจะบอกว่าเนื้อมันแน่นๆ อร่อยแบบแปลกๆไม่เหมือนไก่บ้านเราดี แท้จริงแล้วมันมาจากเกาะมาดากัสการ์ครับ

แต่ที่เราเรียกกันว่า Turkey นั้นเพราะเรียกตาม “พ่อค้า” ชาวตุรกีที่เอามันมาขาย จนกลายเป็นชื่อเจ้าไก่มาดากัสการ์ตัวนี้จนถึงทุกวันนี้

น่าน้อยใจแทนเกาะมาดากัสการ์ ไก่ตัวเองแท้ๆแต่ตุรกีกลับได้หน้าไปซะอย่างนั้น

ขนมหม้อแกงบ้านเรา หรือแท้จริงแล้วคือคัสตาร์ดของชาวโปรตุกีสกันนะ

ต้องบอกว่าขนมหม้อแกงนั้นว่ากันว่าถูกคิดค้นโดยเท้าทองกีบม้า หรือ ทองกีมา ที่โด่งดังจากละครเรื่องบุพเพสันนิวาสที่ผ่านมา ด้วยสูตร ขั้นตอน หรือวิธีการทำนั้น มีความคล้ายกับขนมคัสตาร์ดดั้งเดิมไม่มากก็น้อย

แต่ด้วยส่วนผสมที่เปลี่ยนไป ก็เลยกลายเป็นขนมหม้อแกงในบ้านเรา

รู้แบบนี้แล้วรู้สึกว่าขนมหม้อแกงมีความแพงขึ้นมาอีกสามระดับอย่างไงอย่างงั้นเลยครับผม

สุดท้ายหนังสือเล่มนี้ก็เปรียบเสมือนอาหารสำหรับผม แต่เป็น “อาหารสมอง” ที่ไม่ได้แค่ทำให้อิ่มความรู้ แต่ยังอร่อยไปด้วยเรื่องราวที่ไม่เคยรู้ทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัวทั้งนั้น

ว่าแล้วก็ออกไปหาอาหารในเล่มกิน เพราะกำลังอินกับเรื่องราวอาหารดีกว่าครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 79 ของปี 2018

สรุปหนังสือ Kitchen เห็นชาติ
ความเรียงเกี่ยวกับวัฒนธรรมประกอบอาหาร ของชาตินู้นและชาตินี้
ไข่มุก แสงมีอานุภาพ เขียน
สำนักพิมพ์ Bun Books

20180614

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/