สรุปหนังสือ Kyoto No Rekishi เกียวโต ประวัติศาสตร์พันปีพีรภัทร ห้าวเหิม เขียน จุดเกิดเนิดมหานครเมืองหลวงญี่ปุ่นเมื่อพันกว่าปีก่อน

สรุปหนังสือเกียวโต ประวัติศาสตร์พันปี Kyoto No Rekishi ผมหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านหลังจากดองไว้นานมาก เนื่องจากกำลังมีทริปไปเที่ยวนอนเกียวโตนาน 10 วัน อ่านเพราะหวังว่าจะทำให้ทริปเกียวโตครั้งนี้สนุกขึ้น และก็จริงครับ เพราะมันทำให้ผมเข้าใจเรื่องราวของบางวันที่แวะไป บางพื้นที่ที่ตั้งใจเดินผ่าน หรือแม้แต่เข้าใจว่าพระราชวังเดิมนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร

จริงๆ ในทริปเกียวโตครั้งนี้ผมยังได้หยิบหนังสือเกี่ยวกับญี่ปุ่นเล่มอื่นไปอ่านอีก 3 เล่ม แต่เดี๋ยวจะมาสรุปเล่าให้ฟังอีกที เอาเป็นว่าตอนนี้ขอสรุปประเด็นเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้ให้ฟังกันนะครับ

1. เมืองเกียวโตได้รับแรงบันดาลใจจากเมืองฉางอานของจีน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนในสมัยโบราณเป็นชาติมหาอำนาจอย่างมากของโลกใบนี้ จึงไม่แปลกใจที่ประเทศโดยรอบมักหยิบเอาวัฒนธรรมจีนเป็นต้นแบบ ก่อนจะถูกนำไปปรับแต่งดัดแปลงให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองแบบที่ประเทศญี่ปุ่นเป็น

2. ที่มาของคำว่า “เกียวโต”

คำว่า “เกียวโต” มีความหมายว่า นครหลวง ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษาจีนคำว่า “จุงตู” แต่เดิมทีในภาษาญี่ปุ่นเมืองนี้เรียกว่า “เคียวมะยะโกะ” หรือ “เคียวโนะมิยะโกะ” จนในศตวรรษที่ 11 เลยเปลี่ยนชื่อเป็น “เกียวโต” อย่างทุกวันนี้

3. กองทัพพระสงฆ์

สมัยนั้นมีกองทัพของพระสงฆ์ ในยุคที่เกียวโตเต็มไปด้วยภัยสงคราม คล้ายๆ กับอัศวิน Templa ฝั่งคริสต์ จุดเริ่มต้นจากแค่การสั่งสมทรัพย์สมบัติจำนวนมากเพื่อปกป้องตัวเอง จนกลายเป็นกองทัพที่สามารถรุกพื้นที่ของไดเมียว(ผู้ปกครอง)คนอื่นได้

4. ทุกยุคสมัยล้วนมีการซิกแซกหนีภาษี

ในยุคสมัยเฮอันช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 มีการออกกฏหมายการจัดสรรที่ดินที่เรียกว่า โชเอ็น มีไว้เพื่อเรียกภาษีจากประชาชน เพิ่มผลประโยชน์ของที่ดินให้มากที่สุด แต่ข้อกฏหมายนี้ก็ยังมีข้อยกเว้นให้กับบรรดาขุนนางชนชั้นสูงไม่ต้องเสียภาษีจากที่ดิน ทำให้หลายคนเอาที่ดินไปยกให้ขุนนางดูแลจะได้ไม่ต้องเสียภาษีตรงๆ แต่ไปจ่ายส่วยให้ขุนนางแทน

หรือบ้างก็เอาไปยกให้กับวัด ยกให้เป็นศาสนสมบัติ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการเสียภาษีที่ตัวเองรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าการพยายามหลีกเลี่ยงซิกแซกกฏหมายมีอยู่ทุกยุคสมัย ตราบใดที่เราออกแบบกฏหมายให้มีช่องโหว่โดยชัด ผู้คนก็จะอาศัยช่องโหว่นั้นจนก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

5. การล่มสลายของรัฐบาลเพราะไม่มีที่ดินจะแบ่งให้

ในรัฐบาลสมัยคะมะกุระเกิดปัญหาบรรดาขุนศึก พลทหาร ซามูไร ไม่ได้รับที่ดินแบ่งปันให้เมื่อรบชนะศึกสงคราม ก่อให้เกิดความตึงเครียดจนกลายมาสู่การล่มสลายของรัฐบาล ดังนั้นจะเห็นว่าถ้าเราออกแบบการแบ่งปันทรัพยากรได้ไม่ดี จะส่งผลร้ายต่อผู้ปกครองเองในท้ายที่สุด

6. ทหารซามูไรญี่ปุ่น ไม่รบกันบนทุ่งนาชาวบ้าน

เรื่องนี้น่าสนใจครับ เพราะเดิมทีการรบพุ่งกันของกองกำลังทหาร มักจะเกิดขึ้นบนพื้นที่ของชาวบ้าน จนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย แต่ที่ญี่ปุ่นตั้งแต่โบราณเองพวกเขาถือว่าจะไม่รบกันบนพื้นที่ของการเกษตร ซึ่งถ้าจะรบกันแต่ละทีจะมีการนัดหมายชัดเจน จากนั้นก็จะส่งคนไปถางพื้นที่เหล่านั้นให้ราบเรียบเหมาะกับการรบ

หลังรบเสร็จชาวบ้านก็จะมาจับจองพื้นที่ราบเหล่านั้นมาทำนา ทำการเกษตรต่อ

7. เกย์โต เกียวโต

เรื่องการรักร่วมเพศ หรือที่เรียกภาษาชาวบ้านว่าเกย์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม แต่เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว เพียงแต่อาจไม่ได้รับการเปิดเผยในวงกว้างหรือชัดเจนเท่าทุกวันนี้ อย่างโชกุนซึนาโยชิ ก็มีบันทึกว่าให้ความสนใจกับคนที่หน้าตาหล่อเหลา หรืออย่างนักบวชในยุคนั้นก็มีความสัมพันธ์กับเด็กชายเป็นปกติ

8 คนญี่ปุ่นมีการศึกษาดีเทียบชั้นยุโรปตั้งแต่สมัยก่อน

คนญี่ปุ่นไม่ได้เพิ่งมีมาการศึกษาดี การศึกษาสูงเมื่อไม่นานมานี้ แต่มีระดับการศึกษาดีตั้งแต่สมัยเอโดะ หรือก่อนเกิดกรุงโตเกียวแล้ว สูงเทียบเท่าชาวยุโรปในช่วงเวลาเดียวกัน และแน่นอนว่าย่อมสูงกว่าชาวเอเซียทั้งหมดด้วย ไม่แปลกใจทำไมญีปุ่นถึงกลายเป็นชาติมหาอำนาจตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่สามารถเข้าประชุมได้ทัดเทียมกับฝรั่งหัวทอง

9 จุดจบอนุรักษ์นิยม

การพยายามยึดโยงกับสิ่งเก่าในอดีตล้วนเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมถอยในทุกที่บนโลก ญี่ปุ่นก็เช่นกัน ในระหว่างยุคเปลี่ยนผ่านปฏิรูปญี่ปุ่น ตอนที่เกิดการเปลี่ยนโอนกำลังอำนาจทหารจากโชกุน มาสู่องค์จักรพรรดิ์นั้นเป็นการสู้รบกันระหว่างเหล่าซามูไรถือดาบเดิม กับเหล่ากองกำลังทหารที่มาจากทั้งชาวบ้านและซามูไรเดิมที่อัปเกรดมาถือปืน ผลคือปืนชนะดาบแบบขาดลอย

เดิมทีกองกำลังทหารนั้นเหล่าไดเมียวหรือซามูไรมักถือสิทธิ์ขาดในการครอบครองขุมกำลังซามูไรอีกที แต่พอมีการปฏิวัติอำนาจฝ่ายองค์จักรพรรดิ์เองก็ออกกฏยกเลิกชนชั้นซามูไร หันมาใช้การเกณฑ์ทหาร ทำให้อำนาจส่วนกลางอย่างรัฐบาลนั้นสามารถบริหารจัดการอำนาจเก่าได้เด็ดขาด

ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกไม่อยากเปลี่ยนตัวให้ทันโลก พึงรู้ไว้ว่าจากประวัติศาสตร์ทั้งหมดคือโลกล้วนไม่แคร์คุณ ไม่ว่าคุณจะยิ่งใหญ่คับฟ้าแค่ไหนก็ตาม

สรุปหนังสือ เกียวโตประวัติศาสตร์พันปี

สรุปหนังสือ Kyoto No Rekishi เกียวโต ประวัติศาสตร์พันปีพีรภัทร ห้าวเหิม เขียน จุดเกิดเนิดมหานครเมืองหลวงญี่ปุ่นเมื่อพันกว่าปีก่อน

เรื่องราวของมหานครเมืองหลวงเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่มีอายุพันกว่าปีนั้นเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์น่าสนใจมากมาย ทุกวันนี้เกียวโตกลายเป็นเมืองที่สงบ เงียบ ไม่วุ่นวาย แต่ก็ยังคงเต็มไปด้วยความสะดวกมากมายไม่แพ้เมืองใหญ่ๆ อย่างโอซาก้าหรือว่าโตเกียวเลย

ล่าสุดผมไปเที่ยวเกียวโตมา 10 วัน พบว่าเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงวัยมาเยอะมาก แถมดูนักท่องเที่ยวที่มาเมืองนี้ก็ค่อนข้างจะมีฐานะดีกว่านักท่องเที่ยวเมืองอื่นในญี่ปุ่นที่เคยไปมา ทำให้รู้สึกว่าเมืองนี้เหมาะกับการใช้ชีวิตเกษียณแบบไม่รีบเร่งวุ่นวายเท่าเมืองใหญ่ แต่ยังคงสะดวกสบายไม่ทิ้งกัน

หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจที่มา ที่ไป ของเมืองเกียวโต เมืองที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของประเทศ แต่เพิ่งย้ายเมืองหลวงใหม่ไปโตเกียวแค่ร้อยกว่าปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง

ไม่น่าเชื่อว่าในระยะเวลาสั้นๆ ญีปุ่นจะสร้างโตเกียวให้เป็นมหานครชั้นนำของโลกได้ ถ้าใครชอบญี่ปุ่นและกำลังมีแผนจะไปเที่ยวเกียวโต ผมแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ครับ แล้วคุณจะเข้าใจว่าแต่ละวัดในเมืองนี้มีเรื่องราวเบื้องหลังอย่างไร อดีตเคยรุ่งเรืองยิ่งใหญ่ขนาดไหน ปัจจุบันดูน่าสงบนิ่งแต่น่าเกรงขามเพียงใด เชื่อว่าทริปเกียวโตของคุณจะนุ่มลึกขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 14 ของปี 2024

สรุปหนังสือ Kyoto No Rekishi เกียวโต ประวัติศาสตร์พันปี
พีรภัทร ห้าวเหิม เขียน
สำนักพิมพ์ Gypzy

อ่านสรุปหนังสือที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นในอ่านแล้วเล่าต่อ: https://www.summaread.net/category/japan/
สั่งซื้อออนไลน์
https://shope.ee/1LJMl9hYH7
https://shope.ee/8pPNgxRnML
https://shope.ee/1fwD9nWOth

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/