ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ ชื่อนี้สำหรับคนวัยสามสามนิดๆขึ้นไปคงจะคุ้น กับฉายา “เจ้าพ่อเพลงประกอบละคร” ของค่าย Exact หรือละครช่อง 5 ดังๆในสมัยก่อน ที่แจ้งเกิดจากเพลง “แทนใจ” ที่ติดชาร์ตเพลงฮิตแทบทุกคลื่นวิทยุเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ได้ลอง “บวช” เป็นพระครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าศิรศักดิ์ หรือ ปิงปอง (ชื่อเล่นของเค้า) คนนี้เป็นชาวพุทธ เพราะเค้าเป็นชาวคริสต์มาตั้งแต่กำเนิด!

เจอจั่วหัวหน้าปกแบบนี้ ผมก็ไม่ขอพลาดแล้วล่ะครับ เพราะอยากรู้เหมือนกันว่าจากมุมมองของชาวคริสต์ตลอดชีวิต เมื่อไปบวชแล้วจะได้ประสบการณ์และมุมมองแบบไหนมาเล่าให้ฟัง

สิ่งสำคัญจากการบวชช่วงสั้นๆเป็นเวลาสองอาทิตย์ของปิงปองชาวคริสต์ ที่กลายเป็น “พระปอง” ในเวลานั้น ก็คือเรื่องของ “ทางสายกลาง”

ทางสายกลางที่ว่านี้ก็คือ ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ไม่เคร่งครัดไป และไม่ปล่อยตัวเองมากเกินไป

ช่วงแรกก่อนจะบวชนั้น ปิงปองใช้เวลาคิดนานมากว่าจะเลือกบวชที่วัดไหน ระหว่างวัดใกล้บ้านเพื่อให้สะดวกแม่และครอบครัวเค้าที่อยากจะใส่บาตร หรือเลือกวัดป่าไกลๆเพื่อให้ได้ตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างที่ตั้งใจไว้

สุดท้ายปิงปองเลือกวัดใกล้บ้าน เพราะได้เพื่อนที่บวชแนะนำว่า คนเราถ้าจะเคร่ง อยู่ที่ไหนก็เคร่งได้ ถ้าจะหย่อน อยู่ที่ไหนก็แหกกฏได้ เลือกที่เราสะดวกเถอะ คนเขาบวชกันเพื่อละความยึดมั่นถือมั่น เราก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นในเรื่องวัดมากนักเลย

เมื่อเพื่อนที่เป็นพระแนะให้เลือกทางสายกลาง งั้นก็เลือกที่มันใกล้บ้านก็แล้วกัน จะได้เอาเวลาที่เหลือไปทุ่มให้กับการท่องบทขานนาคจริงๆจังๆซักที

พอปิงปอง หรือศิรศักดิ์ ห่มผ้าเหลืองบวชพระแล้วนั้นก็พบว่า ในวัดที่ตัวเองอยู่นั้นเต็มไปด้วยพระวัยรุ่น และพระวัยรุ่นเหล่านี้เมื่อรวมตัวกันแล้วก็เหมือนแก๊งค์ซิ่งมากกว่าคณะสงฆ์ยังไงยังงั้น พอ “พระปอง” ได้ถามเหล่าพระวัยรุ่นทั้งหลายก็พบคำตอบที่น่าสนใจว่า…

วัยรุ่นเหล่านี้เลือกมาบวชเพราะ “สนุก”

เพราะพอเค้าได้เรียนรู้พุทธประวัติ ถึงได้รู้ว่าพระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์เหมือนพวกเขา ยิ่งได้ศึกษาว่าท่านทำแบบนั้นแบบนี้เพราะอะไร ก็ยิ่งคิดว่ามันสนุกดีออก

คำตอบนี้ทำให้พระปองแปลกใจ เพราะภาพในหัวคิดว่าพระควรจะรู้สึกสงบอย่างเดียว

จนได้คำตอบจากพระที่แก่พรรษากว่าว่า “พระก็คน” และในกลุ่ม “พระก็มีสังคม” ดังนั้นถ้าแก่นของพระพุทธศาสนาคือ “ทางสายกลาง” การที่พระจะมีตึงบ้างหย่อนบ้างก็เป็นเรื่องปกติของ “คน”

ขอแค่ว่าถ้ารู้ว่าเมื่อไหร่ตึง ก็ให้ปล่อย แต่ถ้าเมื่อไหร่หย่อนก็ให้ปรับขึงให้ตึงขึ้น สิ่งสำคัญคือ “การรู้ตัว” ว่าเมื่อไหร่ควรตึง หรือเมื่อไหร่ควรหย่อน เพื่อให้กลับมาอยู่ในทางสายกลางได้ทันท่วงที

เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวในวัด จากมุมมองของคริสต์ที่น่าสนใจ น่าสนใจขนาดที่ว่าช่วงท้ายก่อนจะสึก เจ้าตัวยังแอบไม่อยากจะสึกเลยด้วยซ้ำ แต่ดีที่ได้พระน้า หรือเพื่อนที่บวชเรียนก่อนมานานตั้งแต่เรียนจบ ได้พูดให้สติว่า “นี่ไม่ใช่ที่ของโยมหรอก โยมมาแค่พักร้อน พักพอก็กลับไปใช้ชีวิตต่อได้แล้ว”

ไม่แน่นะครับ ถ้าศิรศักดิ์ หรือ ปิงปอง ยังเลือกที่จะบวชต่อ เราอาจจะได้พระสงฆ์ที่ยังคงเป็นคริสต์ตามทะเบียนราษฏร์ก็ได้ และยังจะได้พระที่คงจะเทศน์ได้ไพเพราะจับใจ จนออกเป็นซิงเกิลยอดฮิตล้านดาวน์โหลดใหม่ก็ได้นะครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 81 ของปี 2018

สรุปหนังสือ Pray Station
ชั่วโมงท่องมนต์
ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ เขียน
สำนักพิมพ์ Salmon Books

20180618

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/