จากนักเศรษฐศาสตร์ด้วยความสุขและพฤติกรรม ที่มีดีกรีระดับปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ ที่ปัจจุบันเป็นถึงศาสตราจารย์ทางด้านวิทยาศาสตร์พฤติกรรมไปแล้ว
ณัฐวุฒิ เผ่าทวี คนนี้เขียนบอกเล่าเรื่องราวของ ความสุข พฤติกรรม และ เศรษฐศาสตร์ เอาไว้ให้อ่านเข้าใจง่าย แถมยังสนุกอีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เงินไม่ใช่ความสุข
เค้าเล่าว่าจากงานวิจัยร่วมของ Daniel Kahneman (เจ้าของรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ที่เขียนหนังสือชื่อดังแต่ยังไม่มีแปลไทยอย่าง think fast and slow) พบว่า คนที่มีเงินเยอะแทนที่จะใช้เวลาพักผ่อนหาความสุข กลับเป็นว่าพวกเขาใช้เวลาทำงานมากกว่าคนที่มีเงินน้อยกว่า และผลก็คือความเครียดที่มากกว่าที่เรามักชอบคิดว่า คนรวยมักจะมีความสุขนั่นเองครับ
แต่ถ้าไม่มีเงินเลยนั่นก็ทุกข์อีกเรื่องเลยนะครับ
ฉะนั้นทำงานหาเงินให้พอดี แล้วก็ใช้เวลาหาความสุขให้ตัวเองบ้างนะครับ
ส่วนถ้ามีเงินแล้วจะใช้เงินยังไงให้มีความสุขที่สุด เรื่องนี้ก็มีคำตอบแล้วเหมือนกันครับ
งานวิจัยของ Elizabeth Dunn ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย British Columbia พบว่า การใช้เงินเพื่อ “ซื้อประสบการณ์” ที่ไม่เคยได้รับ และทำให้คนรอบข้างมีความสุข จะทำให้เรามีความสุขมากกว่าใช้เงินเท่ากันซื้อสิ่งของครับ
พอรู้แบบนี้แล้ว เอาเงินที่จะซื้อมือถือใหม่ กระเป๋าใหม่ รถใหม่ บ้านใหม่ แบ่งไปเที่ยวที่ใหม่ๆ ลองร้านอาหารใหม่ๆกันให้มากขึ้นนะครับ
เพราะความสุขจากการได้ครอบครอง นั้นนจะลดลงไปตามกาลเวลา แต่ความสุขจากประสบการณ์นั้น นึกถึงทีไรก็ยังสุขเหมือนเดิมครับ
แต่ถ้าไปเที่ยวแล้วไม่มีความสุข เพราะเจอประสบการณ์แย่ๆ ก็ขอสร้างตอนจบทริปที่ดี แล้วคุณจะมีความสุขมากเลยครับ
เพราะมาจากการทดลองที่มีชื่อว่า peak-end effect ที่พบว่าคนเราไม่ได้จดจำกับประสบการณ์ทั้งหมดในแต่ละช่วงได้ แต่คนเราจะจดจำเฉพาะประสบการณ์ที่พีคที่สุด ไม่ว่าจะดีหรือแย่ในทริปนั้น
และที่สำคัญคือตอนจบส่งท้าย ถ้าตกม้าตายตอนจบ ยังไงก็ไม่มีทางจำอย่างประทับใจ แต่ถ้าดีตอนท้าย ยังไงก็จำความรู้สึกดีๆได้ไปอีกนาน
เจ้าของธุรกิจทั้งหลายครับ จำไว้ว่าทำให้ลูกค้ายิ้มตอนท้ายให้ได้นะครับ
ถัดจากความสุข มาเป็นเรื่องตลกที่สุดในเล่ม ไม่ได้มาจากการคิดเองเออเองของใคร แต่มาจากการทดลองจากกลุ่มคนหลากหลายทั่วโลกครับ
เรื่องมีอยู่ว่า…คุณหมอคนหนึ่งบอกกับคนไข้ของเขาว่า “ผมมีข่าวไม่ดีและข่าวที่ไม่ดีกว่ามาบอกคุณ”
“เฮ้ย หมออย่าพูดให้ผมกลัวสิครับ ข่าวไม่ดีคืออะไร” คนไข้ถาม
“คุณจะมีชีวิตอยู่อีกแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น” คุณหมอตอบ
“เฮ้ย จะบ้าไปแล้วหรอหมอ” คนไข้ร้อง “แล้วมันจะมีข่าวไหนที่แย่ไปกว่านี้อีก”
คุณหมอตอบว่า “ผมพยายามจะโทรบอกคุณตั้งแต่เมื่อวานแล้วแต่โทรไม่ติด”
แล้วคุณรู้มั้ยครับว่า แนวโน้มว่าคนๆนึงจะประสบความสำเร็จในอนาคตนั้น คาดเดาได้จากอะไร
ติ๊ก ต่อก ติ๊ก ต่อก
บางคนอาจว่าที่บ้านมีฐานะ หรือมีการศึกษาที่ดีกว่าคนทั่วไป แต่คำตอบที่แท้จริงคือ..ความสุขในวัยเด็กครับ
มีการวิจัยและเก็บข้อมูลมาอย่างยาวนานพบว่า ความสุขในวัยเด็ก ทำให้คนๆนั้นเมื่อโตขึ้นมาจะมีภูมิต้านทานความผิดหวังที่ดีกว่าคนอื่น
เพราะชีวิตคือการวิ่งมาราธอนแสนไกล ไม่ใช่แข่งวิ่งแบบใกล้ๆ 4×100 ดังนั้นคนที่มีใจอดทนมากกว่า ก็สามารถวิ่งไปได้ไกลกว่าครับ
หรือเรื่องสุดท้ายที่จะขอเล่าไว้ The Dunning-Kruger effect ว่าด้วยความน่ากลัวของความไม่รู้ เค้าอธิบายเอาไว้ว่า
คนที่มีความสามารถน้อยมักจะคิดว่าตัวเองเก่งเกินความเป็นจริง เพราะเขาไม่มีความสามารถพอที่จะรู้ว่าตัวเองไม่มีความสามารถพอ ส่วนคนที่มีความสามารถสูง มักคิดว่าตัวเองไม่ได้เก่งกว่าคนอื่น
เข้าทำนองสุภาษิตที่ว่า “โง่แล้วอวดฉลาด” แต่ผมคิดว่าความจริงแล้วคนที่ไม่รู้ไม่ได้อยากอวดฉลาดหรอกครับ แต่เพียงแค่เค้าไม่รู้ว่าเค้านั้นไม่รู้เท่านั้นเอง
พออ่านจบเล่มแบบนี้แล้วทำให้ผมรู้เลยครับ ว่าผมนั้นยังไม่รู้อะไรอีกเยอะเลย 🙂
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 81 ของปี 2018
สรุปหนังสือ How Happiness Works
ความสุขทำงานอย่างไร
ณัฐวุฒิ เผ่าทวี เขียน
สำนักพิมพ์ Salmon
20180616