สรุปหนังสือ livable japan ใส่ใจไว้ในเมือง ปริพนธ์ นำพบสันติ โบ๊ท JapanPerspective เขียน สำนักพิมพ์ broccoli

สรุปหนังสือ Livable Japan ใส่ใจไว้ในเมือง หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ปริพนธ์ นำพบสันติ หรือคุณโบ๊ท เจ้าของเพจ JapanPerspective หนังสือเล่มนี้ผมเลือกหยิบมาอ่านระหว่างกำลังบินไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นอีกรอบ ตอนเดือน 11 ปี 2023

อ่านแล้วก็รู้สึกว่าแม้จะเป็นกไปเที่ยวญี่ปุ่นเป็นครั้งที่ 6-7 ของผม แต่ยังทำให้ผมได้มีมุมมองใหม่ๆ แม้จะเป็นย่านเดิม เมืองเดิมที่เคยไปหลายครั้ง อ่านแล้วจะเข้าใจว่าประเทศนี้เค้าใส่ใจในการออกแบบเมืองอย่างไร ก่อนจะเป็นเมืองที่น่าเที่ยว ต้องเริ่มจากการเป็นเมืองที่น่าอยู่ของประชาชนในเมืองนั้นให้ได้ก่อน

ลองมาดูเนื้อหาบางส่วนที่ผมรู้สึกสนใจเป็นพิเศษกันครับ

ใส่ใจ-ป้ายสี

Photo: https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2705291

มันคือการทำให้เส้นจราจรบนถนนนั้นชัดเจนอยู่เสมอ เพราะเค้ามองว่าถ้าเส้นจราจรบนถนนไม่ชัด คนขับก็จะละเลยไม่ใส่ใจได้ แต่ถ้าเราทำให้มันทั้งชัดและใช้สีที่สดเห็นได้ชัดเจนแต่ไกล อัตราการจะขับรถประมาทหรือตามกฏจราจรก็ลดลง เพราะคนรู้สึกได้ถึงความจริงจังผ่านเส้นและสีครับ

พอย้อนกลับมาดูถนนบ้านเรา เส้นจางแล้วจางอีก หายแล้วหายไป จะดีก็แต่ขยับทำฟุตบาทให้สูงขึ้นทุกปี เทถนนให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนบ้านเรือนริมถนน จากชั้น 1 จะกลายเป็นชั้นใต้ดินไปแล้ว

เครื่องตรวจตั๋วรถไฟฟ้าที่ไม่ธรรมดา

Photo: https://kiji.life/japanticketmachine/

สิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ไปครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน ก็คือระบบรถไฟฟ้าบ้านเขา เครื่องตรวจตั๋วบ้านเขานั้นดีมาก รู้สึกสแกนติดง่าย ไม่ต้องชะงักหน้าเครื่อง แล้วพอได้อ่านเรื่องราวที่มาที่ไปของเครื่องตรวจตั๋วรถไฟฟ้าญี่ปุ่น ยิ่งทำให้ว้าวขึ้นไปอีก

เริ่มต้นจากสมัยก่อนที่รถไฟญี่ปุ่นยังใช้พนักงานตรวจ พนักงานต้องถูกฝึกฝนให้ตรวจได้ไวมาก เพื่อลดการหยุดชะลอหน้าทางเข้าสถานีรถไฟให้ได้มากที่สุด

เพราะอะไร เพราะถ้าช้าลงแค่ 1 วินาที คิดถึงชั่วโมงเร่งด่วนที่มีคนใช้บริการหลักพันคนอย่างต่ำ จาก 1 วินาทีต่อคน รวมกับ 1,000 คนก็เกือบชั่วโมงแล้ว นี่คือความใส่ใจขั้นสุดที่คิดว่าจะทำอย่างไรให้คนผ่านเข้าสถานีได้ไวที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องแม่นยำที่สุดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรถไฟฟ้า

ถ้าสังเกตเพิ่มเติมอีก ช่องแตะบัตรรถไฟฟ้าบ้านเขานั้นออกแบบมาให้ยาวกว่าปกติ เพราะเขาพบว่าถ้าทำช่องให้ยาวขึ้นกว่าปกติ ผลก็คือคนจะสามารถสแกนบัตรแล้วเดินด้วยความเร็วปกติโดยไม่ต้องหยุดเดินได้เลย ผิดกับช่องสแกนบัตรรถไฟบ้านเรา เน้นสั้นๆ แล้วก็ต้องหยุดกึกตอนสแกน จนทำให้คิวในแถวนั้นยาวไปโดยไม่จำเป็น

แถมที่กั้นบ้านเขาเวลากระแทกมาใส่ตัวก็ไม่ได้เจ็บหนักแบบบ้านเรา เพราะเขาคิดมาจากว่ากั้นเพื่อเตือน จึงไม่เน้นความแรงในตีออกมา ผิดกับบ้านเราคือไม้กั้นกระแทกออกมาแบบจะฆ่าให้ตาย เอาจริงๆ รถไฟฟ้าบ้านเราก็ถอดแบบมาจากประเทศสิงค์โปรเลยครับ

แถมช่องสแกนบัตรเข้าออกสถานีรถไฟฟ้าบ้านเขาก็สามารถใช้งานได้สองด้าน ทำให้เวลาไหนคนเข้าเยอะก็เข้าง่าย เวลาไหนคนออกเยอะก็ออกสบาย ไม่เหมือนบ้านเราที่ตายตัวแถมจุดยังน้อย ผลก็คือคนต้องวนไปต่อแถวเพื่อสแกนอยู่เรื่อยๆ นั่นเอง

ถ้ารถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินบ้านเราใส่ใจในการออกแบบหน่อย อะไรๆ คงดีไม่แพ้ญี่ปุ่นได้ไม่ยาก

แถมเค้ายังคิดขนาดว่า องศาในการแตะบัตรที่ดีที่สุดควรจะเป็นเท่าไหร่ แนวนอนไปใช่ว่าจะดี ตั้งไปใช่ว่าจะดี จากการทำรีเสิร์จเก็บข้อมูลมาอย่างดีจึงพบว่า องศาการแตะบัตรที่ทำให้คนเดินผ่านโดยไม่สะดุดเสียเวลา อยู่ที่ 13.5 องศา พอผมอ่านเจอแบบนี้ก็เลยรู้สึกสนุกยิ่งขึ้นตอนแตะบัตรรถไฟฟ้าล่าสุดเลยครับ

ที่จอดรถแบบคิดเงินอัตโนมัติ

Photo: https://www.tiewnaidee.com/travel/japan/ep1-%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7-tokyo/attachment/tokyo-japan-day1-carparking/

หนึ่งในสิ่งที่ผมเห็นเรื่อยๆ เมื่อไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นคือ จุดจอดรถที่มีกระจายอยู่ทั่วเมืองไปหมด จะไม่เหมือนบ้านเราที่เน้นเป็นจุดใหญ่ๆ แต่อยู่ไกลจากกันมาก แถมยังต้องใช้ระบบคนในการคิดเงิน ใช้ระบบตั๋วกระดาษฉีกเอา

แต่ที่ญี่ปุ่นไม่ จะเป็นระบบอัตโนมัติแบบเป็นเหล็กกั้นใต้ท้องรถ ขับรถเข้าช่องให้เรียบร้อย จากนั้นก็ออกไปทำธุระ กลับมากดจ่ายเงินที่ตู้ กดหมายเลขของช่องจอดตัวเอง แล้วก็ขับรถไป

และด้วยความที่มันเป็นระบบอัตโนมัติแบบนี้ จึงทำให้เกิดขึ้นได้ทั่วประเทศ ใครมีที่ว่างเล็กๆ ไม่รู้จะทำอะไร ก็ให้บริษัทจอดรถมาเช่าที่ติดตั้งได้ หรือจะลงทุนติดตั้งเองก็ได้ ทำให้ที่ว่างร้างๆ ไม่รกร้างอีกต่อไป ผิดกับบ้านเรามีที่ร้างในเมืองเต็มไปหมด แล้วก็ถูกเก็บไว้ปลูกมะนาวที่ไม่กินจริง เพื่อแค่ต้องการเลี่ยงภาษีที่ดินเท่านั้นเอง

เมืองแห่งทางม้าลาย

Photo: https://board.postjung.com/1250889

การเดินเที่ยวญี่ปุ่นนั้นมีข้อดีคือปลอดภัยต่อชีวิตมาก คุณจะไม่เจอรถมาขับเบียดคุณตามตรอกซอกซอยที่ไม่มีฟุตบาท และคุณจะสามารถข้ามถนนได้อย่างปลอดภัยสุดๆ ถ้าคุณข้ามตรงจุดทางม้าลาย และข้ามตามสัญญาณไฟครับ

ประเทศญี่ปุ่นมีสะพานลอยน้อยมาก สาเหตุหนึ่งเพราะเค้าให้ความสำคัญกับคนก่อนรถยนต์ รถต้องหยุดให้คนข้าม เพราะถ้าคนต้องขึ้นสะพานลอยข้ามก็เป็นภาระของคนอีก ไหนจะคนแก่ ไหนจะเด็ก ขึ้นไปก็อันตราย แต่บ้านเรานั้นไม่ได้ใส่ใจ นิยมสร้างทางม้าลายเพื่อให้รถยนต์ได้วิ่งสบายโดยไม่ต้องแคร์คน

แถมกฏหมายบ้านเขาก็จัดเต็ม ถ้าใครขับรถชนคนขึ้นมา โดยเฉพาะในจุดทางม้าลาย บอกเลยได้เลยว่าติดคุกหัวบ้าน แถมยังถูกปรับให้ครอบครัวผู้เสียหายแต่ละเคสก็เกือบร้อยล้านเยน

เมื่อโทษรุนแรงคนเลยไม่กล้าทำผิดกฏกัน ผิดกับบ้านเราแค่มีเส้นสายหรือหายเป็นข่าวหน่อยก็ลอยชายสบายๆ

สรุปหนังสือ Livable Japan ใส่ใจไว้ในเมือง

ใครอยากรู้ว่าเมืองที่ดีเขาออกแบบอย่างไร ประเทศญี่ปุ่นที่เราชอบไปเค้าออกแบบไว้แบบไหน ใครที่กำลังจะไปเที่ยวญี่ปุ่นผมอยากแนะนำให้หาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน แล้วคุณจะมีสายตาใหม่ในการสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวที่ซ่อนอยู่ในเมือง แล้วการเที่ยวญี่ปุ่นของคุณจะมีความสนุกขึ้น เหมือนกับที่ผมเพิ่งอ่านก่อนเครื่องลงที่โตเกียวครับ

อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือเล่มที่ 21 ของปี

สรุปหนังสือ Livable Japan ใส่ใจไว้ในเมือง
เล่าเรื่องเบื้องหลัง “หัวใจ” ของการออกแบบเมืองน่าอยู่ที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก
ปริพนธ์ นำพบสันติ (โบ๊ท JapanPerspective) เขียน
สำนักพิมพ์ Broccoli

อ่านสรุปหนังสือที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นในอ่านแล้วเล่าต่อ : https://www.summaread.net/category/japan/

สั่งซื้อออนไลน์
https://shope.ee/5KlUlPR0PW
https://shope.ee/40G7AziCKT

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/