สรุปหนังสือ The Business Reinvention of Japan ญี่ปุ่นใหม่ พลิกเกมธุรกิจพิชิตโลก Ulrike Schaede เขียน นุชนาฎ เนตรประเสริฐศรี แปล

สรุปหนังสือ The Business Reinvention of Japan ญี่ปุ่นใหม่ พลิกเกมธุรกิจพิชิตโลก หนังสือที่เขียนโดย Ulrike Schaede ศาสตราจารย์ผู้คร่ำหวอดด้านธุรกิจญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานดิเอโก ที่จะมาเล่าว่าสองทศวรรษที่สูญหายไปของญี่ปุ่น ที่ดูเงียบหายจากหน้าข่าวนวัตกรรมโลกนั้น แท้จริงแล้วพวกเขากำลังพลิกกลยุทธ์ทุกหย่อมหญ้า ในความแช่มช้า ไม่ทิ้งอัตลักษณ์แห่งความประณีต

ถ้าสรุปสั้นๆ หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่นที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน เปรียบได้กับเสือซ่อนเล็บ พยัคซ่อนเขี้ยว หรือมังกรซ่อนกายในกลีบเมฆ ส่วนตัวผมเองจะได้ยินถึงความหวือหวาในนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ว้าวๆ ของญี่ปุ่นก็ไม่น้อยกว่า 10 ปีก่อนแล้ว หลังจากนั้นก็จะเป็นฝั่งเกาหลี แล้วก็ยุโรป อเมริกา วนเวียนประมาณนี้ แต่หารู้ไม่ว่าจริงแล้วญี่ปุ่น ประเทศที่เป็นเกาะแห่งนี้กำลังสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย ไม่ก็เป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมรอบตัวที่เราไม่เคยรู้มาก่อนครับ

2 Business Strategy กลยุทธ์ธุรกิจญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นมีกลยุทธ์การแข่งขันในตลาดโลกอยู่ 2 แบบ

  1. การปรับตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ คือการเลือกธุรกิจหลักขึ้นมาแล้วเร่งพัฒนาธุรกิจนั้นให้ไปไกลจนยากที่คู่แข่งจะตามได้ทัน จากนั้นก็ตัดหรือขายกลุ่มธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักออกไป บวกกับการหาธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ใหม่เพื่อเข้าไปลงทุนหรือสร้างขึ้นมาใหม่ควบคู่กัน
  2. การปรับเปลี่ยนองค์กร แน่นอนว่าจะมีแค่กลยุทธ์หรือเข็มทิศนำทางอย่างเดียวนั้นไม่ได้ แต่วิธีการปฏิบัติงานหรือทำงานข้างในก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องเข้ากับธุรกิจรูปแบบใหม่ด้วย

ฟังดูง่ายแต่ทำอย่าง แต่เป็นเป้าหมายที่ชัดเจนไม่ต้องอธิบายซ้ำ เรียกได้ว่านี่ควรเป็นสองกลยุทธ์ในการทำธุรกิจทุกวันนี้ กำหนดเป้าหมายให้ชัดแล้วทุ่มสรรพกำลังโฟกัสให้เต็มที่ และทิ้งความถนัดหรือวิธีการรูปแบบเดิมให้ไว เรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อผลักดันเป้าหมายให้ได้มากที่สุด

ญี่ปุ่นมีกลุ่มคนรวยมากเยอะกว่าที่คิด

เราชอบคิดว่าญี่ปุ่นนั้นมีแต่ชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ คนรวยไม่ค่อยมีเท่าไหร่ เพราะเขาออกแบบระบบเศรษฐกิจและสังคมดี จนทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเท่าเทียมกัน

จริงครับ แต่จริงครึ่งหนึ่ง เพราะครั้งหนึ่งผมก็เคยเชื่อและเข้าใจสภาพสังคมญี่ปุ่นแบบข้อความข้างบน แต่หนังสือเล่มนี้ทำให้รู้ว่าแท้จริงแล้วในประเทศญี่ปุ่นมีกลุ่มคนร่ำรวยอยู่เยอะมาก กลุ่มคนที่มีสินทรัพย์ในระดับเศรษฐีนั้นมีมากถึง 3.16 ล้านคนเลยทีเดียว

ซึ่งถ้าเทียบกับแค่ด้านจำนวนต้องบอกว่าเป็นรองสหรัฐอเมริกาแค่ประเทศเดียว แต่ยังมากกว่าประเทศเยอรมัน และประเทศจีน และเมื่อคิดเป็นสัดส่วนของมหาเศรษฐีกับประชากรแล้วก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก เพราะญี่ปุ่นมีสัดส่วนของเศรษฐีมากถึง 2.5% เทียบกับสหรัฐอเมริกาและเยอรมันที่มีแค่ 1.6% เท่านั้นเอง

สิ่งนี้มาจากการทำงานหนักของคนในสังคมที่ทำให้สามารถสะสมความมั่งคงได้ยาวนาน ส่วนประเทศที่สภาพเศรษฐกิจและสังคมยังไม่ดีจะมีสัดส่วนคนรวยที่น้อยมาก เข้ากับคำว่ารวยกระจุก จนกระจาย คุ้นๆ ว่าถูกใช้ในบ้านเราเป็นประจำครับ

ระบบการจ้างงานตลอดชีพของญีปุ่น ไม่ได้มีแต่จุดอ่อนแบบที่ชาวโลกคิด

เดิมทีผมเคยได้ยินและเชื่อว่า ระบบการจ้างงานตลอดชีพของญี่ปุ่นที่เคยได้ผลดีกระตุ้นเศรษฐกิจมากเมื่อหลายสิบปีก่อน กลายเป็นจุดอ่อนใหญ่ทำให้องค์กรญี่ปุ่นอ้วนเทอะทะ แต่ในความเป็นจริงแล้วนโยบายการจ้างงานตลอดชีพของญี่ปุ่นนี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเยอะมาก และคนนอกอย่างเราก็คาดไม่ถึง

มันคือการเอาจุดแข็งของการทำให้คนทำงานรู้สึกสบายใจ กล้าทำงานเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลกับเรื่องไหนมา เปิดโอกาให้คนทำงานได้ลองค้นคว้าหาตัวเองใหม่ ลองไปทำงานกับที่อื่นดูได้ ถ้าแล้วเมื่อไหร่พบว่าที่ใหม่นั้นใช่ ก็ค่อยมาทำเรื่องลาออกไปอยู่กับอีกที่หนึ่ง

หรือเปิดโอกาสให้พนักงานประจำสามารถลาไปเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองได้ ถ้าเมื่อไหร่ไม่เวิร์คก็สามารถกลับมาทำงานได้ดังเดิม ผลลัพธ์คือการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่คนออกไปเสี่ยงโดยยังรู้สึกปลอดภัยอยู่

ซึ่งไอ้ความรู้สึกปลอดภัยที่ได้ลองสิ่งใหม่นี่แหละครับสำคัญ จะกลายเป็นตัวผลักดันให้เกิดธุรกิจหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ในญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะพัฒนา Cloud ไม่ทันชาติอื่น เลยหันมาโฟกัส Sensor แทน

เรื่องนี้น่าสนใจนะครับ เรามักไม่เห็นบริการ www หรือแอปจากญี่ปุ่นให้คนนอกประเทศใช้เท่าไหร่ เราไม่ได้ใช้ระบบปฏิบัติการใดๆ จากประเทศญี่ปุ่นเลย (ยกเว้น LINE ที่คนไทยใช้เยอะมาก แต่ก็มีไม่กี่ประเทศบนโลกที่ใช้) เพราะญีปุ่นเองก็ยอมรับว่าตนเองพัฒนาระบบ​ Cloud Service ต่างๆ ไม่ทันกับ AWS, Huawei หรือ Google หรือใดๆ แต่พวกเขาก็ข้ามไปพัฒนา Deep Tech อย่าง Sensor ต่างๆ แทน

และนั่นก็กลายเป็นฐานที่มั่นใหม่ของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในเวทีโลก ก็คือเน้นไปที่อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ แทนที่จะเป็นแค่ซอร์ฟแวร์ หรือเน้นไปที่ส่วนประกอบของการผลิตชิปต่างๆ ซึ่งบอกเลยว่า ณ วันนี้ขาดญี่ปุ่นไม่ได้ แม้ชิปเหล่านั้นจะไม่ได้ถูกผลิตจากโรงงานญี่ปุ่น แต่ส่วนประกอบในการสร้างชิปเหล่านั้นต้องมาจากโรงงานญี่ปุ่นเป็นหลักครับ

ญี่ปุ่นครองตลาดสารเคมีขั้นสูงของโลก

การจะผลิตชิปเพื่อประมวลผลหรือเซนเซอร์ต่างๆ ในอุปกรณ์รอบตัวเราวันนี้แม้เราจะไม่ค่อยได้ยินว่าชื่อชิปเหล่านั้นจะมาจากบริษัทญี่ปุ่น ผิดกับพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าในวันวาน ที่เต็มไปด้วยแบรนด์ญี่ปุ่นมากมาย แต่รู้ไหมครับว่าการจะผลิตชิปคุณภาพสูงเหล่านั้นได้ต้องใช้สารเคมีขั้นสูง ซึ่งกว่า 90% ก็มาจากญี่ปุ่นทั้งนั้น

การจะผลิตชิปขั้นสูงต้องใช้ทั้งก๊าซ หรือสารเคมีในการกัดกร่อน หรือทำปฏิกิริยาต่างๆ อย่างชิป iPhone หรือชิปคอมพิวเตอร์ หรือชิปในรถยนต์ไฟฟ้าก็เช่นกัน ดังนั้นจะเห็นว่าญี่ปุ่นแม้จะไม่ได้ออกหน้าฉากของเทคโนโลยีล้ำๆ ตามหน้าสื่อ แต่ก็เกาะติดไปกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ไปอย่างแนบเนียน สอดคล้องกับการปรับกลยุทธ์ใหม่ตอนต้นที่สรุปไว้จริงๆ

อย่าง Fuji Film ที่เดิมจะเน้นธุรกิจกล้องฟิล์ม หรือกล้องดิจิทัลที่เราคุ้นเคยกัน แต่ทุกวันนี้พวกเขาพัฒนาไปไกลมาก เพราะเดิมทีฟิล์มถ่ายรูปล้วนทำมาจากเคมีภัณฑ์ และพวกเขาก็แตกไลน์สินค้าใหม่ไปยังธุรกิจใหม่ๆ อย่างอุปกรณ์การแพทย์ และอื่นๆ อีกมากมาย

ขยับไปสู่จอภาพ LCD เครื่องสำอาง Anti Aging ในขณะที่ฟูจิปรับตัวได้ไว แต่คู่แข่งในอดีตกาลอย่าง Kodak นั้นกลับปรับตัวไม่ทัน จนประกาศล้มละลายในปี 2012 เหลือแต่ชื่อกับโลโก้เอาไว้สกรีนเสื้อขายคนรุ่นใหม่ที่ชอบสินค้าอะไรแบบ Nostalgia ครับ

Sony บริษัทนวัตกรรม 9 ชีวิต จาก Walkman สู่ Play Station

ต้องบอกว่าแบรนด์ Sony นี้อยู่มายาวนานมาก เริ่มต้นตั้งแต่การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ๆ ภายในบ้านอย่างทีวี ซึ่ง Sony เองก็โด่งดังมาจากเครื่องเล่นเทป Walkman ในสมัยหนึ่ง จนนั้นก็เป็นผู้นำด้านทีวีจอแบนรายแรกๆ แต่เหมือนตอนหลังเราจะเห็นเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านยี่ห้อ Sony น้อยมาก

แต่รู้มั้ยครับว่าพวกเขาไม่ได้หายไปไหน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาพวกเขาทำโน่นนี่นั่นมากมาย สร้างธุรกิจใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะกล้องดิจิทัลของโซนี่ก็ดีจนขึ้นชื่อ ไม่นับถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าตระกูลหนึ่งที่ทุกวันนี้แม้จะผ่านมาร่วม 20 ปี แต่ก็ยังทำยอดขายได้ดีถล่มทลาย นั่นก็คือ Play Station ครับ

ดูเหมือนว่าเจ้าเครื่องเล่นเกมที่เคยคิดว่าจะทำยอดขายเล่นๆ กลายเป็นทำยอดขายถล่มทลายทั่วโลก ถึงขั้นมีวิกฤตของขาดตลาดให้เห็นเป็นประจำ ยังไม่นับถึงระบบ Play Station Digital Ecosystem อีก ที่สามารถทำเงินให้กับ Sony ทุกวันนี้จนกลายเป็นรายได้หลักอีกช่องทางหนึ่ง

บริษัทญี่ปุ่น ซื้อธุรกิจต่างชาติอย่างมีกลยุทธ์

การซื้อธุรกิจโดยทั่วไปมักทำเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทในระยะสั้น แต่กับบริษัทญี่ปุ่นนั้นคิดต่างกัน เพราะเค้าซื้อธุรกิจต่างชาติเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับบริษัทในระยะยาว อย่างการที่บริษัทยาง Bridgestone จ่ายเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์เพื่อควบรวมกิจการกับ TomTom Telematics บริษัทที่พัฒนาระบบนำทางสัญชาตดัตช์

คำถามคือ บริษัทยางจะซื้อบริษัทระบบแผนที่นำทางไปทำไม จะเอามาแข่งกับ Google Maps ให้คนใช้หรือ ?

เปล่าครับ พวกเขาซื้อเพราะมีกลยุทธ์จะพัฒนาระบบรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งการจะทำให้รถยนต์ขับเองได้นั้นต้องอาศัย Data การขับรถมากมาย และดาต้านั้นก็ไม่ได้มาจากไหน มาจากระบบนำทางของ TomTom Telematics นั่นเอง

วิธีการจ่ายเงิน CEO แบบญี่ปุ่น ไม่เน้นโบนัสระหว่างปี แต่เน้นโบนัสก้อนใหญ่หลังเกษียณ

น่าสนใจตรงที่ว่าปกติถ้าเป็น CEO บริษัทใหญ่ๆ ในตะวันตก มักจะเน้นการจ่ายผลตอบแทนสูงๆ ระหว่างปีทำงาน โบนัสมหาศาลเพื่อกระตุ้นให้ CEO ทำกำไรเยอะๆ แต่กลับประเทศญี่ปุ่นนั้นใช้กลยุทธ์อีกแบบหนึ่ง เลือกที่จะให้เงินเดือนหรือโบนัสกับ CEO ระหว่างช่วงปีทำงานปกติ ไม่ได้มากเป็นพิเศษจนน่าอิจฉา เพราะป้องกันไม่ให้ CEO ทำอะไรหรือหวาที่เน้นผลงานในระยะสั้น

แต่ถ้าในระยะเวลา 6 ปีของการดำรงตำแหน่ง CEO นั้นทำผลงานได้ดี ก็จะได้รับผลตอบแทนเป็นโบนัสก้อนโตหรือที่เรียกว่าเงินเกษียณแทน

ด้วยกลยุทธ์การจ่ายค่าตอบแทนสูงแบบหลังลงจากตำแหน่ง ทำให้ CEO บริษัทญี่ปุ่นสามารถตัดสินใจเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาวได้ดีขึ้น ผมว่านี่เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ ที่อยากให้บริษัทยุคใหม่ลองเอาไปคิดกัน หลายครั้งเราตัดสินใจเพื่อผลตอบแทนระยะสั้น จนทำให้เราไม่มีกลยุทธ์บริษัทระยะยาวอย่างน่าเสียดายครับ

ไม่เน้นการซื้อขายบริษัททิ้ง แต่จะขายก็ต่อเมื่อได้คนที่เหมาะสมมารับช่วงต่อ

ดูเหมือนที่บริษัทใหญ่ๆ ญีปุ่นดูจะปรับตัวให้ไวทันโลกนั้นช้ามาก เหตุผลหนึ่งเพราะแนวคิดการดูแลกันจนแก่ การไม่ทิ้งขว้างกัน การไม่มองคนทำงานเป็นแค่ทรัพย์สินบริษัท แต่มองว่าพวกเขาก็มีหัวจิตหัวใจ ทำให้บริษัทญี่ปุ่นนั้นเวลาจะขายกิจการไหนออกไปจากบริษัทเดิมต้องทำอย่างรอบคอบ ทำอย่างระมัดระวัง

ไม่ได้ตัดสินใจจากใครจ่ายให้สูงสุด แต่ตัดสินใจจากการพิจารณาว่าเจ้าของใหม่ที่จะซื้อบริษัทนั้นไปจะสามารถนำพาบริษัทเดิมของตัวเองให้ไปต่อได้จริงหรือเปล่า

แทบจะเป็นการหาบ้านให้น้องเลยทีเดียว

Data Monetization ต่อยอดสร้างธุรกิจใหม่จากดาต้าที่มีแบบญี่ปุ่น

การทำ Data Monetization หรือการคิดหาทางว่าจากดาต้าที่มีเราจะเอาไปต่อยอดทำเงินอย่างไรได้บ้าง กลายเป็นโจทย์สำคัญของธุรกิจในวันนี้ ซึ่งก็เป็นหนึ่งหน้าที่สำหรับ Data-Driven Advisor อย่างผมเหมือนกัน แต่หนังสือ The Business Reinvention of Japan ญี่ปุ่นใหม่ พลิกเกมธุรกิจพิชิตโลก เล่มนี้มีเคสหนึ่งน่าสนใจมาก มันคือบริษัทจัดหางานญี่ปุ่นที่โด่งดังมาก มีข้อมูลผู้สมัครงานหลายสิบล้านรายที่ทั้งเริ่มต้นทำงานใหม่ และคนที่ต้องการย้ายงานใหม่ไปเติบโตขึ้น

พวกเขาต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ การให้เช่าอพาร์ตเมนต์ และก็บริการจัดงานแต่ง ไปจนถึงบริการจองร้านเสริมสวย และร้านอาหาร เพราะทุกครั้งที่เมื่อเราย้ายงานใหม่ ก็มีโอกาสที่เราจะย้ายบ้านหรืออพาร์ตเมนต์ตามไปด้วย ก็เลยสร้างอีกธุรกิจหนึ่งขึ้นมารองรับในจุดนี้

ส่วนการแต่งงานไม่ต้องสืบ เป็นธรรมเนียมของคนทำงานญี่ปุ่นอยู่แล้ว ว่าอายุจะเข้าเลข 3 ต้องแต่งงานให้ได้ ทั้งหมดนี้คือการคิดต่อยอดว่าจาก Data หรือข้อมูลกลุ่มคนที่มีเราจะเอามาต่อยอดทำเงินได้อย่างไรครับ

ดังนั้นวันนี้ใครมีฐานข้อมูลอะไรอยู่ ลองหาเวลาไปสำรวจแล้วคิดดูว่าเราน่าจะทำอะไรกับพวกเขาต่อได้บ้าง

สรุปหนังสือ The Business Reinvention of Japan ญี่ปุ่นใหม่ พลิกเกมธุรกิจพิชิตโลก

เป็นหนังสือที่ทำให้เราเห็นภาพว่าตอนนี้ญี่ปุ่นไม่ได้นิ่ง ไม่ได้มีแต่การท่องเที่ยวที่น่าสนใจ แต่ยังมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย ไปจนถึงวิธีการปรับตัวให้เข้ากับโลกใบใหม่ที่มีการแข่งขันสูง ภายใต้การยังรักษาความดีงามแบบญี่ปุ่นไว้ควบคู่กัน

แม้ว่าพวกเขาดูจะก้าวช้า แต่ทว่าแต่ละก้าวช่างหนักแน่นอย่างปฏิเสธไม่ได้ คำถามคือแล้วธุรกิจคุณหละมีกลยุทธ์จะปรับตัวอย่างไร ถ้าไม่รู้จะไปทางไหน ลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน ผมว่าจะช่วยเปิดมุมมองต่างๆ ให้คุณได้เห็นภาพกว้างที่จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีขึ้นครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 28 ของปี 2023

สรุปหนังสือ The Business Reinvention of Japan ญี่ปุ่นใหม่ พลิกเกมธุรกิจพิชิตโลก
สองทศวรรษที่สูญหาย แท้จริงือการพลิกกลยุทธ์ทุกหย่อมหญ้า ในความแช่มช้า ไม่ทิ้งอัตลักษณ์แห่งความประณีต ญี่ปุ่นโอบรับวิถีใหม่ เพื่อแทรกซึมเข้าสู่ใจกลางของธุรกิจทั้งโลก
Ulrike Schaede เขียน ศาสตราจารย์ผู้คร่ำหวอดด้านธุรกิจญี่ปุ่น แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานดิเอโก
นุชนาฎ เนตรประเสริฐศรี แปล
สำนักพิมพ์ howto

อ่านสรุปหนังสือที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นต่อ : https://www.summaread.net/category/japan/

สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ทางออนไลน์
https://shope.ee/7f9qdr4cF5
https://shope.ee/8A67EnAphB
https://shope.ee/6AL2r8IBEc

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/