สรุปหนังสือ Lovable Japan เมืองนี้ที่(คน)รัก เล่าเบื้องหลังการออกแบบเมืองด้วยใจที่เต็มไปด้วยรัก ปริพนธ์ นำพบสันติ โบ๊ท JapanPerspective เขียน

สรุปหนังสือ Lovable Japan เมืองนี้ที่คนรัก เขียนโดยปริพนธ์ นำพบสันติ หรือ โบ๊ท JapanPerspective เล่าเบื้องหลังการออกแบบเมืองด้วยใจที่เต็มไปด้วยรัก ผมเลือกหยิบมาอ่านเพราะกำลังจะเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นอีกครั้ง ความจริงที่กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบ และเขียนสรุปออกมาเป็นบทความนี้ ก็กำลังเขียนอยู่บนเครื่องบินที่กำลังแล่นผ่านท้องฟ้าจากกรุงเทพถึงสนามบินนาริตะอยู่

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ผมไปก็จัดว่าหลายครั้ง น่าจะครั้งที่ 6 หรือ 7 ได้แล้วในตอนนี้ ไปทีไรก็ชอบทุกที ไปกี่ทีก็ไม่เคยคิดเบื่อหรืออยากกลับกลางคัน (ผิดกับตอนไปปารีสแฮะ) ไหนๆ ก็คิดว่าตัวเองมาเที่ยวญี่ปุ่นบ่อยพอสมควร เลยอยากรู้ว่ามีอะไรอีกบ้างที่เรายังไม่รู้และถ้ารู้ก็จะทำให้การเที่ยวญี่ปุ่นของเราสนุกขึ้น ก็เลยเป็นที่มาของการหยิบหนังสือบอกเล่าเรื่องราวเมืองในประเทศญี่ปุ่น ว่าเค้าออกแบบเมืองอย่างไรให้ใครๆ ก็หลงรัก อย่างน้อยก็ผมคนนึงแหละที่รักการมาเดินเที่ยวเล่นที่ประเทศนี้มาก

1. POPS พื้นที่สาธารณะโดยเอกชน Privately Owned Public Space

หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมรู้ว่าพื้นที่สาธารณะกว้างขวางใหญ่โตมากมายทั่วโตเกียวนั้นมีไม่น้อยเลยที่เป็นเจ้าของโดยเอกชน ไม่ใช่รัฐ ที่บรรดาทางเดินถนนกว้างขวางสะอาดสะอ้าน เดินได้แบบสบายหูสบายตา นั้นเป็นเจ้าของโดยเอกชนก็มาก ตั้งแต่การออกแบบ สร้าง ไปจนถึงดูแลรักษาให้พื้นที่เหล่านั้นดูดีเสมอ

และพื้นที่เหล่านั้นเราก็ไม่รู้สึกถึงความเป็นเอกชนแบบกรุงเทพบ้านเรา ไม่มีเจ้าหน้า รปภ ที่มาคอยสอดส่องไล่เราไม่ให้นั่ง เพราะเค้าออกกฏชัดเจนว่าต้องให้ทุกคนเข้าถึงและใช้งานพื้นที่ดังกล่าวได้โดยอิสระ มีตั้งแต่เปิดให้ใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมงสำหรับภายนอก หรือถ้าสำหรับภายในอาคารก็เปิดให้ใช้งานได้ตามเวลาเปิดปิดตึก

และปัจจัยสำคัญที่ทำให้เอกชนต้องลงทุนแบ่งพื้นที่มาทำเป็นพื้นที่สาธารณะก็เพราะว่า เอื้อให้การก่อสร้างตึกอาคารสามารถสูงมากขึ้นได้ และนั่นก็ทำให้ค่าเช่าอาคารพื้นที่นั้นสูงตามแม้จะใช้พื้นที่ก่อสร้างจริงลดลง ถือว่าเป็นการออกแบบกฏที่วินวินทุกฝ่ายจริงๆ ครับ

อยากเห็นอะไรแบบนี้ในบ้านเราจัง เหมือนจะเริ่มเห็นบางตึกบ้างแล้วอย่างเช่นที่ย่านสีลม แต่ก็หวังว่าจะเห็นอะไรที่ดูเป็นประเทศพัฒนาแล้วแบบญี่ปุ่นเขาบ้าง ถ้านักการเมืองใส่ใจในการออกกฏหมายให้เอื้อกับประชาชนคนเดินถนนมากกว่านายทุนคนนั่ง Luxury Car เมืองไทยหรือกรุงเทพคงน่าอยู่ขึ้นไม่น้อยกว่านี้แน่นอนครับ

2. Sho Ten Gai โชเทนไก ถนนคนเดิน ตลาดนัดร้านรวงชาวบ้าน

บรรดาถนนสายยาวๆ ที่รวมร้านค้ามากมายอย่างที่ Osaka นั้นผมเพิ่งรู้ว่ามันมีชื่อเรียกว่า โชเทคไก ก็จากหนังสือ Lovable Japan เล่มนี้เอง

มันคือแนวคิดที่รักษาร้านค้าของผู้ประกอบการรายย่อยตัวเล็กๆ อย่าง SME ไว้ให้ไม่สูญหายไปเมื่อเจอทุนใหญ่จากห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ เมื่อรวมร้านค้ารายย่อยมากมายเข้าด้วยกันและเราก็สามารถเดินรับลมไปเรื่อยๆ ได้ ก็กลายเป็นอีกหนึ่งสเน่ห์ของเมืองญี่ปุ่นที่ผมคนนึงแหละตกหลุมรัก เวลาไปเดินย่านไหนก็พยายามหาตรอกซอกซอยถนนคนเดินเหล่านี้ ที่มักจะมีร้านลับจริงๆ มากมายที่อร่อยและดีให้กินไม่รู้จบครับ

หนังสือเล่มนี้ให้ลายทางไปเดิน Sho Ten Gai ใหม่ในทริปคราวนี้ผม อย่าง

  • Sugamo Jizo-Don ถูกขนานนามว่าเป็น “ฮาราจูกุของคุณยาย”
  • Yanaka Ginza
  • Togoshi Ginza เห็นบอกว่ายาวตั้ง 1.3 กิโลเมตร

ทริปนี้ผมน่าจะสนุกขึ้นด้วยหนังสือเล่มนี้เลยจริงๆ

3. เหตุผลที่รถญี่ปุ่นห้ามติดฟิล์มที่กระจก 3 ด้าน ฝั่งหน้ารถ

ถ้าใครมาญี่ปุ่นแล้วชอบสังเกตหน่อยจะเห็นว่า บรรดารถยนต์บนท้องถนนบ้านเค้านั้นกระจกหน้ารถทั้ง 3 บาน คือกระจกข้างฝั่งคนขับ ฝั่งคนนั่งข้างคนขับ และฝั่งหน้ารถตรงๆ นั้นจะใสแจ๋วแบบไม่ได้ติดฟิล์มกันแดดแต่อย่างไร

เพราะกฏหมายเค้าห้ามเลยครับ เนื่องจากต้องการให้คนขับมองคนข้างนอกเห็นได้สะดวกเพื่อเพิ่มความปลอดภัย อ่านถึงตรงนี้คุณอาจคิดว่า ก็ฟิล์มกันแดดในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ นั้นข้างนอกทึบแต่ข้างในออกจะใสแจ๋วมีตั้งมากมาย แต่คนในประเทศนี้เขาคิดละเอียดกว่านั้น

เขาพบว่าถ้าให้คนที่เดินถนนและกำลังจะข้ามถนนได้มองเข้ามาในรถก็จะพอคาดการณ์ได้ว่าคนขับกำลังจะตัดสินใจไปทางไหน เรียกได้ว่ารู้เขารู้เรา มองเห็นสองฝั่งแบบโปร่งใสนั่นเอง

แล้วยิ่งพอหน้ารถไม่ติดฟิล์มทำให้เราเห็นหน้าคนขับชัดเจน เราก็เหมือนจะสื่อสารกับเขาผ่านสายตาและท่าทางได้ไม่ยาก ไปจนถึงทำให้คนขับรู้ตัวว่าถ้าทำอะไรไม่ดี ขับรถอันตรายไม่หยุดในทางข้าม คนรอบข้างที่เดินฟุตบาทจะจำหน้าเขาได้ไม่ยากเลยทีเดียว

ส่วนกระจกด้านหลังทั้ง 3 บานที่เป็นฝั่งคนนั่งข้างหลังนั้นจะติดทึบเท่าไหร่ก็ได้ กฏหมายญี่ปุ่นไม่มีห้ามไว้ครับ

เป็นหลักคิดที่หลักแหลมมาก พอย้อนกลับมาดูบ้านเราก็พบว่าอยากติดเข้มเท่าไหร่ก็ตามใจ ขอแค่ไม่เป็นฟิล์มแบบปรอทก็พอ ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าเปลี่ยนมาใช้กฏแบบเดียวกันความปลอดภัยบนท้องถนนจะเพิ่มขึ้นหรือไม่

อย่างน้อยคนขับก็คงมีสำนึกขึ้นเพราะถูกมองหน้ามองตาได้ชัดเจนมั้งครับ

4. อำลาจนลับสายตา การอำลาแบบญี่ปุ่น

หนึ่งใน Excellence Service Mind ของญี่ปุ่นที่ผมเคยเจอมากับตัวและอยู่ในหนังสือ Lovable Japan เมืองนี้ที่คนรัก คือการอำลาจนลับสายตา มันคือการอำลาแบบญี่ปุ่นนั่นเอง

หลายปีก่อนผมเคยแวะช้อปปิ้งซื้อของที่ร้าน Isse Miyake ที่สาขา Ginza ตอนนั้นผมเข้าไปซื้อกระเป๋าใบหนึ่ง ทางร้านก็ดูแลอย่างดี ใส่ถุงมือจับสินค้ามาให้ลองจนพอใจ พอตัดสินใจซื้อก็ถือถุงมาส่งที่หน้าประตูร้านแล้วโค้งคำนับ

แต่แค่นี้มันเฉยๆ ครับ เพราะแบรนด์ดีๆ ที่ไหนก็ทำ แต่ที่ไม่เฉยสำหรับผมเลยในตอนนั้นคือพนักงานยืนอยู่หน้าร้านแบบนั้นจนกว่าผมจะลับสายตาจริงๆ จึงจะค่อยกลับเข้าร้านไปให้บริการลูกค้าคนใหม่

เพราะหลังจากผมรับถุงมาเดินไปได้สักพักก็หันกลับมาหน้าร้าน เพื่อจะถ่ายรูปเก็บบรรยากาศความประทับใจหลังเสียเงินไปหลายสักหน่อย ปรากฏว่ายังเห็นพนักงานคนเดิมยืนเฝ้าผมอยู่ตรงหน้าประตูร้านจุดเดิม แล้วก็ก้มโค้งคำนับอย่างสวยงาม พร้อมกับพูดขอบคุณเป็นภาษาญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ตอนนั้นผมรู้สึกเซอร์ไพรซ์และประทับใจอย่างมาก

ผมเลยลองเดินไปอีกสักหน่อยแล้วหันกลับมา ปรากฏว่าพนักงานยังโค้งคำนับด้วยรอยยิ้มพิมพ์ใจพร้อมกับกล่าวขอบคุณให้ผมพอได้ยิน ผมเลยรู้สึกติดใจว่าพนักงานคนนั้นจะอยู่แบบนี้ไปจนถึงเมื่อไหร่นะ เขาจะทนโค้งคำนับขอบคุณผมสักกี่ครั้งถึงจะกลับเข้าไปทำงานต่อ

กลายเป็นว่าไม่ว่าผมจะหยุดแล้วหันกลับไปที่หน้าร้านกี่ครั้ง พนักงานก็จะโค้งคำนับและพูดขอบคุณด้วยรอยยิ้มโดยไม่ชักสีหน้า ต่อให้ผมหันไปแล้วหันกลับ แล้วหันไปอีกครั้งภายในห้าวินาที คือเด็กสามขวบดูก็รู้ว่าจงใจแกล้ง แต่พนักงานของร้าน Issey Miyake ก็ยังคงทำแบบเดิมซ้ำๆ ด้วยรอยยิ้มที่จริงใจสุดๆ

จนสุดท้ายผมเดินออกจากร้านไปร่วมรอยเมตร เกือบจะพันปากซอย ผมลองหันกลับไปอีกรอบพนักงานก็ยังทำแบบเดิมเป๊ะๆ แต่พอผมพันขอบตึกปากซอยไปแล้วลองก้าวท้าวหันกลับมา ปรากฏว่าไม่เห็นพนักงานคนนั้นอีกแล้วครับ

นี่คือการออกแบบ Service Design แบบมี Service Mind ที่ประทับใจผมสุดๆ แบรนด์ที่ดีคือแบรนด์ที่ใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ ทำสิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้แต่แบรนด์ส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยอยากทำ

ลองเอาวิธีการดูแลลูกค้าที่ทำให้ลูกค้าต้องอึ้งแบบ อำลาจนลับตาสาย ของญี่ปุ่นไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตัวเองดู จะเห็นว่าต้นทุนแทบจะเป็นศูนย์บาท แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความประทับใจไม่รู้ลืมของลูกค้าเหมือนที่ผมยังคงจำได้แม้จะผ่านมาเกือบสิบปีแล้ว

สรุปหนังสือ Lovable Japan เมืองนี้ที่(คน)รัก

สรุปหนังสือ Lovable Japan เมืองนี้ที่(คน)รัก เล่าเบื้องหลังการออกแบบเมืองด้วยใจที่เต็มไปด้วยรัก ปริพนธ์ นำพบสันติ โบ๊ท JapanPerspective เขียน

จริงๆ ในหนังสือเล่มนี้ยังมีรายละเอียดอีกมากของการออกแบบเมืองในประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่ได้มีแค่โตเกียวหรือโอซากาที่คนไทยชอบไปเที่ยวกัน แต่มันคือการออกแบบทุกเมืองทั่วประเทศให้คนอยู่ใช้ชีวิตง่าย ส่วนคนที่มาเที่ยวไม่ว่าชาติไหนก็ล้วนตกหลุมรัก

ใครที่มีแพลนกำลังจะไปเที่ยวญี่ปุ่นเร็วๆ นี้ ผมอยากให้ลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านดู แล้วจะอินกับการเดินเที่ยวมากขึ้นครับ

อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือ เล่มที่ 19 ของปี

สรุปหนังสือ Lovable Japan เมืองนี้ที่(คน)รัก
เล่าเบื้องหลังการออกแบบเมืองด้วยใจที่เต็มไปด้วยรัก
ปริพนธ์ นำพบสันติ (โบ๊ท JapanPerspective) เขียน
สำนักพิมพ์ broccoli

อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ในอ่านแล้วเล่าต่อ : https://www.summaread.net/category/japan/

สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ทางออนไลน์ : คลิ๊ก

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/