เป็นหนังสือที่ Steve Case ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจมาจาก The Third Wave เมื่อกว่าสามสิบปีก่อน ที่เขียนโดย Alvin Toffler จนกลายมาเป็น The Third Wave ภาคใหม่ในยุคอินเทอร์เน็ต
ถ้าจะบอกว่า Steve Case เป็นผู้บุกเบิกอินเทอร์เน็ตให้กลายเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในอเมริกาเข้าถึงได้ก็ไม่ผิด เพราะเค้าเป็นผู้ก่อตั้ง AOL (American Online) ที่เป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่รายแลกของโลกก็ว่าได้
ว่ากันว่าในช่วงที่บริษัท AOL มีมูลค่าสูงสุดนั้น มากถึง 1.6 แสนล้านดอลลาร์ ถ้าเทียบกับค่าเงินเฟ้อย้อนหลังกลับไปในช่วงนั้น น่าจะมีมูลค่าเกินกว่า Facebook ในวันนี้ด้วยซ้ำ
เพราะ AOL ในวันนั้นเป็นเปรียบเสมือนทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ตที่คนทุกวันนี้ใช้ ไม่ว่าจะ Google, Facebook, Twitter, Messenger หรือ Line ที่เราคุ้นกัน ทุกอย่างใช้บน AOL จบในแพลตฟอร์มเดียว แถมยังรวมถึงบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ในช่วงแรกไม่ได้เป็นราคาเหมา แต่เป็นราคาตามชั่วโมงการใช้งาน ก่อนจะปรับตาม Microsoft ในตอนหลังที่เปิดตัว Messenger ตามมาในตอนท้าย
กลับไปที่ชื่อหนังสือ “คลื่นลูกที่สามแห่งยุคอินเทอร์เน็ต” ก่อนจะไปรู้จักนิยามของคลื่นลูกที่สาม งั้นเราย้อนกลับไปรู้จักคลื่นลูกแรก และลูกที่สองก่อนดีมั้ย
คลื่นลูกที่หนึ่งของยุคอินเทอร์เน็ต เป็นยุคที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้ว่าอินเทอร์เน็ตคืออะไร มีแค่คนส่วนน้อยนิช(niche)เท่านั้นที่พอจะรู้จักและเข้าถึงได้ ด้วยอุปสรรคจากอุปกรณ์เครื่องมือในการเข้าถึง
ดังนั้นสิ่งสำคัญในยุคนี้คือการวางโครงสร้างพื้นฐานให้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และง่ายขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่คลื่นลูกถัดไปที่จะตามมา
คลื่นลูกที่สองของยุคอินเทอร์เน็ต เป็นยุคที่บริษัทเริ่มเอาอินเทอร์เน็ตมาต่อยอดจนเกิดเป็นธุรกิจใหม่ๆมากมาย ไม่ว่าจะ Google, Yahoo, Amazon, Paypal, Zappos หรือ Facebook
เพราะหลังจากคลื่นลูกที่หนึ่งทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายๆ ก็มีกลุ่มคนที่เห็นโอกาสมากมายจากจุดนี้ ก่อให้เกิดบริษัทเกิดใหม่ไม่ว่าจะในช่วงยุคฟองสบู่ดอทคอมในช่วงนึง จนถึงยุคบริษัทอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูอีกครั้ง เกิดสตาร์ทอัพอินเทอร์เน็ตมากมายตามมา จนโลกพร้อมเข้าสู่คลื่นลูกถัดไปในปัจจุบัน
คลื่นลูกที่สามของยุคอินเทอร์เน็ต เป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตจะไม่ใช่แค่ส่วนเสริมส่วนหนึ่งของชีวิต แต่จะกลายเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้อีกต่อไปของการใช้ชีวิต
จากเรื่องของ IoT (Internet of Thing) ที่สิ่งของบางอย่างเริ่มเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ กลายเป็นเรื่องของ IoE (Internet of Everything) ทุกอย่างเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตหมด และพอทุกอย่างเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตหมด ก็จะทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตทุกด้านของเราเปลี่ยนไปแบบไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป
เช่น เสื้อผ้าในตู้ที่สามารถบอกเราได้ว่าเราใส่ตัวไหนมากน้อยกี่ครั้ง แล้วถ้าคุณหยิบเสื้อตัวนี้ มันก็จะบอกคุณผ่านมือถือได้ว่าคุณควรใส่กับกางเกงสีไหนให้ดูเข้ามากที่สุด
หรือ ร้านอาหารที่มีระบบกล้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ทำให้เวลาคุณเดินเข้าไปที่ร้าน หน้าจอสั่งอาหารหรือพนักงานที่เพิ่งมาทำงานใหม่เป็นวันแรก จะสามารถทักชื่อเล่นคุณได้เพื่อให้คุณรู้สึกพอใจ (คนเราพอใจที่สุดเวลามีคนเรียกชื่อตัวเองด้วยน้ำเสียงที่เป็นมิตรครับ) จากนั้นก็ถามว่าเมนูอาหารจานล่าสุดที่คุณมากินเมื่อสัปดาห์ก่อนอร่อยถูกปากมั้ย เพราะรู้ว่าคุณไปรีวิวไว้ดีบนอินเทอร์เน็ต แล้วก็ถามว่าคุณจะรับเมนูเดิมอีกครั้งมั้ย และยังแนะนำให้คุณสั่งอย่างอื่นที่กินเข้ากันได้เพิ่มขึ้นด้วย
นี่แหละครับ ยุค IoE หรือ Internet of Everything ทุกอย่างเชื่อมต่อกันหมดเพื่อทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้น แต่ความเป็นส่วนตัวก็จะหมดไปโดยสิ้นเชิง
ในคลื่นลูกที่สามนี้ บริษัทใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นจะไม่ใช่บริษัทอินเทอร์เน็ต หรือเทคโนโลยีโดยสิ้นเชิงอีกต่อไป จะไม่ใช่ Facebook ที่สอง หรือ YouTube ถัดไปในชื่อใหม่ที่จะผงาดขึ้นมายิ่งใหญ่ แต่จะเป็นบริษัทที่มีแนวคิดในการปรับปรุงการใช้ชีวิตในแต่ละด้านให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ Uber และ Airbnb ที่เปลี่ยนปัญหาในชีวิตประจำวันให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ ด้วยอินเทอร์เน็ตแทน
หรือแม้แต่ Tesla หรือบรรดารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติทั้งหลายที่กำลังเกิดขึ้น ต่างก็เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่การใช้โอกาสจากอินเทอร์เน็ตเหมือนบริษัทในยุคคลื่นลูกที่สองอีกต่อไป
พอพูดถึงเรื่องการขับเคลื่อนอัตโนมัติของรถยนต์ จะรู้มั้ยครับว่าที่จริงแล้วบริษัทแรกๆที่สร้างระบบนี้ขึ้นมาเป็นรายแรกได้ไม่ใช่บริษัทสตาร์ทอัพเทคโนโลยีสุดล้ำที่ไหน แต่เป็นบริษัทรถไถของเกษตรกรอย่าง John Deer อารมณ์ก็เหมือนกับคูโบต้าบ้านเรานี่แหละครับ
ระบบรถไถของเกษตรกรจาก John Deere นั้น สามารถขับเคลื่อนไถนาทำเกษตรเองผ่าน GPS ได้มานานหลายสิบปีแล้ว เพียงแต่ John Deere ไม่เคยคิดมาก่อนว่าสิ่งที่ตัวเองมีจะสามารถนำมาต่อยอดกับชีวิตประจำวันได้ขนาดนี้
หรืออีกตัวอย่างใกล้ตัวคือ iTune จาก Apple ที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมเพลงให้ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป
แรกเริ่มเดิมทีตลาดการดาวน์โหลดเพลงออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ครับ ก่อนจะมี iTune และ iPod ก็มีหลายเจ้าดันเว็ปหรือแพลตฟอร์มทำนองนี้มามาก แต่ไม่เกิดเป็นดาวค้างฟ้าแบบ iTune ได้เลยซักราย
Apple เข้าไปบอกค่ายเพลงทั้งหลายว่า “ไม่ต้องกลัว” ถ้าจะให้เราขายเพลงให้ เพราะมีคนใช้ Mac ของตัวเองแค่ 2% ทั้งนั้นเองถ้าเทียบกับตลาดคอมพิวเตอร์ทั้งหมด โดยทางค่ายเพลงก็ชะล่าใจปล่อยให้ Apple ได้ลิขสิทธิ์ไป จนในสุดท้าย iTune ก็ไม่ได้จำกัดแค่ในผู้ใช้ Mac OS อีกต่อไป ตั้งแต่เปิดให้ Windows ก็ดาวน์โหลด iTune เพื่อไปซื้อเพลงได้เหมือนกัน
อีกหนึ่งประโยคที่ผมชอบมากจากหนังสือเล่มนี้คือ Wayne Gretzky นักฮอกกี้ผู้ยิ่งใหญ่ถึงกลยุทธ์การเล่นของเขาไว้ว่า “ผมไม่ได้โฟกัสกับลูกฮอกกี้ แต่โฟกัสว่าลูกจะไปทางไหน”
นั่นแหละครับ การเล่นเกมส์แบบผู้ชนะ ไม่ได้วิ่งตามใคร แต่มองแนวโน้มที่โลกจะเดินไปแทน
และอีกสิ่งสำคัญของธุรกิจที่จะเติบโตและยิ่งใหญ่ได้ในยุคคลื่นลูกที่สามคือ “รัฐบาล”
เพราะจากประสบการณ์ของเค้าบอกว่า รัฐบาล ยังคงเป็นพลังงานที่สำคัญทั้งในแง่ของทรัพยากรที่มี หรืออำนาจทางกฏหมาย ที่สามารถส่งเสริมหรือกำจัดไอเดียได้ ดังนั้นการรู้จักใช้รัฐบาลหรือกฏระเบียบให้เป็น จะทำให้แนวคิดใหม่ๆของคุณไปได้ไกลและไปได้เร็วกว่าที่คิด
และไม่ว่ายังไงโลกทั้งใบก็จะเปลี่ยนไปโดยไม่รอคุณ ถ้าคุณตามไม่ทันก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่ถ้าอยากนำหน้าก็ต้องออกแรงวิ่งกันหน่อย
“เพราะยุคหินไม่ได้สิ้นสุดเพราะหินหมด แต่สิ้นสุดเพราะเราประดิษฐ์สิ่งที่ดีกว่า” ไม่มีใครสนใจหรอกว่า “ดีที่สุด” ของวันนี้คืออะไร เพราะพอพรุ่งนี้ไปสิ่งที่ดีกว่าดีที่สุดของวันนี้ก็พร้อมจะมาแทนที่เสมอ
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 57 ของปี 2018
The Third Wave
คลื่นลูกที่สามแห่งยุคอินเทอร์เน็ต
อ่านเมกะเทรนด์ล่วงหน้า เห็นโอกาสพลิกโฉมธุรกิจ
Steve Case เขียน
นรา สุภัคโรจน์ แปล
สำนักพิมพ์ Nation Books
20180509