สรุปหนังสือ Digital Body Language รู้หน้า(จอ)ไม่รู้ใจ ถอดรหัสภาษากายดิจิทัล สุญญาตา เมี้ยนละม้าย แปล สำนักพิมพ์ Bookscape

สรุปหนังสือ Digital Body Language รู้หน้าจอไม่รู้ใจ หนังสือที่ทำให้เราเข้าใจถึงมรรยาทการใช้ดิจิทัลในการสื่อสาร เพราะทุกวันนี้เราอยู่ในสังคมดิจิทัลเต็ม 100% มาสักระยะ แต่เรากลับไม่รู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรทางดิจิทัลต่อกันจึงจะไม่เสียมรรยาท เพราะแต่ละคนก็มีหลักคิดที่แตกต่างกันถึงการมีมรรยาทในการส่งข้อความ ถ้าจะมีหนังสือสักเล่มเป็นหนังสือเรียนมรรยาทผู้ดีดิจิทัล ผมว่าคงต้องหนังสือเล่มนี้แหละ

เพราะทุกวันนี้การสื่อสารระหว่างการทำงานเกิดขึ้นบนช่องทางดิจิทัลมากกว่า 70% เราต้องส่งอีเมล พิมพ์แชท ไปจนถึงประชุมออนไลน์ คุณคิดดูซิว่าถ้าเราไม่รู้จักการวางตัวทางดิจิทัลที่ดี มี Digital Manner ที่ดี เราจะทำให้คนอื่นรู้สึกแย่โดยไม่รู้ตัวได้มากขนาดไหน

อย่างการเขียนอีเมลสั้นๆ ห้วนๆ คนหนึ่งอาจมองว่าเป็นการกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ ประหยัดเวลาของเพื่อนร่วมงานผู้อ่าน แต่ในมุมของผู้อ่านอาจมองว่าคนนี้ไม่มีมรรยาทการอีเมลคุยงานเลย เขียนอีเมลเหมือนสั่งๆๆ นี่แหละครับมุมมองต่อ Digital Manner ที่แตกต่างกัน

หรืออย่างการยิงนัดทางอีเมลเพื่อเรียกเข้าประชุมด่วนนาทีสุดท้าย เป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นประจำในการทำงาน แต่สิ่งนี้ทำให้คนได้รับอีเมลรู้สึกแย่มาก ผู้ส่งช่างไม่มีมรรยาทการทำงานเอาเสียเลย คิดว่าคนรับว่างตลอดเวลาหรือไงถึงได้เอาแต่ส่งอีเมลยิงนัดมาโดยไม่ถามไถ่ก่อน

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่รับนัดประชุมใดๆ ถ้าไม่เคยมีการคุยกันด้วยวาจา ไม่ว่าจะด้วยการเห็นหน้า หรือด้วยการยกหูโทรหาคุยกันก่อน หรืออย่างน้อยต้องส่งข้อความ LINE มาถามว่าผมว่างในเวลาที่จะส่งนัดมาหรือเปล่าครับ

แล้วพอเข้าประชุมเสร็จ มรรยาทดิจิทัลที่ไม่ดีวันนี้ก็คือการแอบมองโทรศัพท์ในการประชุม ทำให้คนที่กำลังพูดอยู่รู้สึกไม่ดี รู้สึกว่าคนนี้ไม่สนใจฟัง ไม่มีมรรยาทเอาเสียเลย ยิ่งถ้าหยิบโทรศัพท์ขึ้นมากดบอกเลยว่ายิ่งเสียมรรยาทอย่างมาก ดังนั้นรู้แบบนี้แล้วพึงจำไว้ เก็บโทรศัพท์มือถือไว้ในกระเป๋าอย่าหยิบขึ้นมาวางบนโต๊ะให้มันล่อตาล่อใจเรา หรือให้ดีที่สุดคือเอาไว้บนโต๊ะทำงานนอกห้องประชุม ไม่ต้อพามันเข้ามาประชุมด้วยเป็นดีที่สุดครับ

Digital Writing กลายเป็น Soft Skill สำคัญมากของคนทำงานยุคดิจิทัลทุกวันนี้

เพราะหลังจากประชุมเสร็จก็ต้องมีการเขียนสรุปการประชุมแล้วส่งอีเมลให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ใครสามารถเขียนสรุป Minute Meeting ได้ดีจะได้รับการชื่นชมและโอกาสในการก้าวหน้ามากกว่าคนที่ทำไม่ได้ ไปจนถึงสามารถส่งอีเมลได้ตรงประเด็นแต่ยังมีมรรยาทอยู่ในนั้นไหม ในวันที่กว่า 70% เราสื่อสารผ่านช่องทางดิจิทัลกับเพื่อนร่วมงานและคนรอบข้างเป็นหลัก ดังนั้นถ้าเขียนไม่ชัดเจนคนอื่นก็เข้าใจสารที่ต้องการผิด ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจได้ง่ายๆ เลย

การประชุมออนไลน์ทาง Zoom เองความเร็วเน็ตก็มีผลต่อความรู้สึกคนที่ร่วมประชุมว่าเรามีมรรยาททางดิจิทัลหรือเปล่า

เพราะถ้าเกิดเน็ตช้าทำให้เราตอบสนองเพื่อนร่วมงานดีเลย์ไปแค่ 1.2 วินาที ก็เพียงพอที่จะทำให้ฝ่ายที่ถามเรามองว่าเราไม่ค่อยมีส่วนร่วมในการประชุมสักเท่าไหร่

อำนาจมากตอบช้า อำนาจน้อยต้องรีบตอบ

ถ้าสังเกตการตอบข้อความหรือว่าตอบอีเมล ในสังคมการทำงานนั้นมักจะเห็นว่าบรรดาหัวหน้าหรือผู้บริหารนั้นมักจะตอบข้อความหรืออีเมลจากลูกน้องช้า แต่กับลูกน้องนั้นถ้าถูกหัวหน้าหรือผู้บริหารถามมักจะเร่งรีบตอบด้วยความเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ทั้งที่ในความจริงแล้วทุกคนควรรีบตอบด้วยความเร็วเท่ากัน ตอบทันทีที่สะดวก แต่ก่อนอื่นต้องไม่ขยันส่งอีเมลที่ไม่จำเป็นเข้ามา ยิ่งเป็นหัวหน้าหรืออยู่ในระดับสูงยิ่งต้องมีมรรยาททางดิจิทัลไม่ให้ขาดตกบกพร่องจนลูกน้องเอาไปนินทาได้ ว่าหัวหน้าเป็นคนไม่มีมรรยาท อีเมลไปเมื่อวานวันนี้ยังไม่ตอบ หรือส่งข้อความไปจะข้ามวันแล้วยังไม่กดอ่านเลย

มรรยาทการใช้ Emoji หรือเครื่องหมายต่างๆ ในการสื่อสารทางดิจิทัล

ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายตกใจ ! ที่วันนี้คนมักชอบใส่เข้าไปในข้อความกัน ไม่รู้ว่าจะเพื่อให้รู้สึกต้องสนใจเป็นพิเศษ หรือใส่เพื่อให้รู้สึกขำขัน ก็เลยเกิดคำถามว่าควรใส่เครื่องหมายตกใจ ! ในข้อความที่ส่งไปแค่ไหนถึงจะกำลังดี

ส่วนเครื่องหมายคำถามก็เช่นกัน ถ้าตัวเดียวถือว่าจริงจังหรือเปล่า ถ้าส่งไปสองตัวติดกันถือว่าซีเรียสไหม หรือถ้าส่งไป 5 ตัวติดกันถือว่าติดตลกหรือเปล่า ตรงจุดนี้ต้องระวัง เพราะการพิมพ์ทุกวันนี้แทบไม่ต่างจากการพูด เราล้วนแต่สื่อสารผ่านการพิมพ์บนหน้าจอหรืออุปกรณ์ดิจิทัลมากกว่าการพูดคุยออกเสียงกันมาสักระยะใหญ่ๆ แล้ว

Emoji ก็ต้องใช้อย่างเข้าใจ เพราะบริบทในบางประเทศนั้นผู้คนอาจมีความเข้าใจที่แตกต่างกัน เรื่องนี้ต้องระวังเมื่อสื่อสารกับคนต่างชาติ ต่างภาษา เรียนรู้มรรยาท Emoji ประเทศเค้าให้มาก แล้วคุณจะได้ไม่พลาดสื่อสารผิดจนทำให้ธุรกิจเสียหายได้

แล้วยิ่ง Context การใช้ Emoji แต่ละช่วงวัยก็ต่างกัน คนวัยอายุเยอะอาจรู้สึกว่าการส่ง Emoji แนบมาในข้อความหรืออีเมลดูไม่เป็นมืออาชีพ แต่กับคนที่อยู่ในวัยอายุน้อยกลับมองว่าการส่งข้อความหรืออีเมลโดยไม่มี Emoji แทรกเข้ามาเลยดูเป็นคนหยาบกร้านมากๆ

สรุปหนังสือ Digital Body Language รู้หน้าจอไม่รู้ใจ

สรุปหนังสือ Digital Body Language รู้หน้า(จอ)ไม่รู้ใจ ถอดรหัสภาษากายดิจิทัล สุญญาตา เมี้ยนละม้าย แปล สำนักพิมพ์ Bookscape

นี่คือหนังสือสอนมรรยาททางดิจิทัลที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง อ่านจบก็ทำให้เราสำรวจตัวเองได้ทันทีว่าเราเป็นคนที่บกพร่องในเรื่อง Digital Manner อยู่มากน้อยแค่ไหน ควรต้องปรับตัวอย่างไร พิมพ์ข้อความแบบไหน ส่งข้อความเมื่อไหร่ เวลาประชุมควรทำตัวอย่างไร นี่คือหนังสือที่ผมขอยกให้เป็นหนึ่งในแบบเรียนที่ทุกคนควรได้อ่านสักครั้ง

เมื่อการสื่อสารส่วนใหญ่กว่า 70% เราเกิดขึ้นบนหน้าจอผ่านข้อความตัวอักษรที่วิ่งไปมา ดังนั้นการเข้าใจมรรยาททางดิจิทัลไว้ย่อมทำให้เราได้เปรียบมากกว่า และจากประสบการณ์ผมอยากบอกว่า เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้แหละครับเมื่อทำต่อเนื่องสะสมกันนานพอมันจะช่วยให้เราประสบความสำเร็จและมีชีวิตที่ง่ายขึ้นได้มาก

อ่านแล้วเล่ม สรุปหนังสือ 39 ของปี 2023

สรุปหนังสือ Digital Body Language รู้หน้า(จอ)ไม่รู้ใจ
ถอดรหัสภาษากายดิจิทัล เพื่อการสื่อสารธุรกิจ-สานสัมพันธ์ ในชีวิตยุคใหม่
Erica Dhawan เขียน
สุญญาตา เมี้ยนละม้าย แปล
สำนักพิมพ์ Bookscape

อ่านสรุปหนังสือสำนักพิมพ์นี้ในอ่านแล้วเล่าต่อ : https://www.summaread.net/category/bookscape/

สั่งซื้อออนไลน์ : https://shope.ee/4fXt75xUqP

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/