สรุปหนังสือ The Art of Screen Time ฉบับแปลไทย หน้าจอ-โลกจริง สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล สำนักพิมพ์ Bookscape อ่านแล้วเล่า

สรุปหนังสือ The Art of Screen Time หน้าจอ-โลกจริง สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล ของสำนักพิมพ์ Bookscape เล่มนี้ทำให้เข้าใจ Insight การใช้หน้าจอของคนยุคใหม่ไปจนถึงคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับกันว่ามือถือเป็นหนึ่งในปัจจัย 5 ของการใช้ชีวิตที่ขาดไม่ได้เสียแล้ว

เราลืมกระเป๋าเงินยังออกจากบ้านไปยืมเงินเพื่อนได้ แต่ถ้าเราลืมมือถือเราไม่สามารถออกจากบ้านแล้วไปยืมมือถือเพื่อนใช้ได้ เพราะเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้เป็นอะไรที่ Personalized แบบสุดๆ เรียกได้ว่าจอใครจอมัน ยิ่งเป็นแฟนกันยิ่งไม่อยากให้ดูจอของกันและกันเลย

เมื่อเราก้าวเข้าสู่ยุคของ Smartphone ก็นำมาสู่พฤติกรรมใหม่ที่ทำให้คนยุคก่อนหลายคนกังวลใจว่าเด็กยุคใหม่ในวันนี้ติดหน้าจอโทรศัพท์มือถือกันมากเกินไปจนเป็นกังวลกันมากมาย

เพราะในยุค 1970 เด็กในวันนั้นกว่าจะเจอสื่อหรือหน้าจอก็ปาไปอายุสองขวบ แต่เด็กทุกวันนี้เจอหน้าจอหรือเข้าถึงสื่อได้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 4 เดือนด้วยซ้ำ ถ้าคุณไม่เชื่อก็ลองนึกภาพพ่อแม่พาลูกไปร้านอาหารแล้วเปิด YouTube ให้ลูกดูเพื่อตัวเองจะได้กินข้าวแบบเงียบๆ นึกออกใช่ไหมครับ

และการที่เด็กในวันนี้เจอกับหน้าจอที่เร็วกว่าวันที่ผู้ใหญ่ในวันนี้เจอตอนวัยเด็กมาก ก็ยิ่งทำให้พวกผู้ใหญ่รวมไปถึงทั้งสังคมเกิดอาการตื่นกลัวกันว่าหน้าจอมือถือจะทำให้เด็กสมาธิสั้น หรือเกิดอาการติดหน้าจอเกินไปจนทำให้สมองไม่พัฒนา เพราะพวกเขาทุกคนล้วนไม่เคยมีประสบการณ์ดังกล่าวมาก่อน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะกลัวความแปลกใหม่เพราะผู้ใหญ่ส่วนใหญ่เกิดมาอย่างดีก็มีแค่จอทีวี ซึ่งจอทีวีก็เป็นอะไรที่ต้องแชร์กันดูกับคนทั้งบ้าน

แต่กับหน้าจอมือถือนั้นเป็นคนละเรื่องกัน เพราะจออื่นๆ ที่เคยมีมาล้วนเป็น Sharing Screen หรือต่อให้มีทีวีส่วนตัวในห้องก็ยังไม่สามารถดูอะไรแบบตามใจได้ในทันที แต่หน้าจอมือถือนั้นเป็นสิ่งที่เรียกว่าส่วนตัวหรือ Personalized Screen แบบสุดๆ หน้าจอเล็กๆ นี้กลับสามารถดึงดูดเวลาจากเราไม่ได้ไม่รู้จบ แถมหัวใจสำคัญคือจากเดิมถ้าเราจะดูดาราที่ชอบสักคนเราต้องทนดูเรื่องราวทั้งหมดที่มีดาราคนอื่นๆ ร่วมด้วย แต่พอเป็นหน้าจอมือถือที่ Personalized Screen เราสามารถกดเลือกดูเนื้อหาหรือคลิปบน YouTube ที่มีแต่ดาราคนนั้นได้สบายๆ แบบไม่รู้จบ ในแบบที่ไม่ต้องมีตัวละครอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องสักฉากเลยก็ได้

ผมชอบอย่างหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้เปรียบเทียบคือเค้าบอกว่าอย่ามองว่าการติดหน้าจอเหมือนการติดบุหรี่ แต่ให้มองว่าการติดหน้าจอมือถือเหมือนกับการติดอาหารมากกว่า

เพราะบุหรี่นั้นมีแต่โทษต่อให้ไม่ติด แต่อาหารนั้นถ้ากินอย่างพอเหมาะพอดีก็จะเกิดคุณมากกว่าโทษ แต่แน่นอนว่าถ้ากินมากเกินไปก็จะเกิดโทษต่อสุขภาพอย่างมาก

เพราะหลายคนในวันนี้ก็เข้าถึงโอกาสใหม่ๆ ไปจนถึงมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมมากก็ด้วยการเข้าถึงแหล่งความรู้ผ่านหน้าจอมือถือหรืออินเทอร์เน็ต เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ทางออนไลน์ผ่านหน้าจอเช่นเดียวกัน จากเดิมที่อาจจะไม่เคยมีลูกค้าแวะมาที่ร้านเลยสักคนเพราะอยู่ในทำเลที่แย่มาก แต่พอมีร้านค้าออนไลน์ก็สามารถค้าขายกับคนได้มากมาย อย่างร้านอาหารตามสั่งแถวบ้านผมปิดหน้าร้านจริงมาเปิดขายแต่บน LINE MAN, GRAB, Food Panda หรือ Robinhood ก็มีรายได้ดีกว่าตอนเปิดหน้าร้านขายด้วยซ้ำครับ

ดังนั้นเราอย่าโทษหน้าจอเพราะหน้าจอโดยตัวมันเองไม่ได้มีพิษภัย แต่จงโทษพฤติกรรมตัวเองของการเสพติดบางอย่างมากเกินไป ซึ่งก็รวมไปถึงการติดหน้าจอและใช้เวลากับเนื้อหาที่ไม่มีประโยชน์เสียมากกว่า

แล้วที่สื่อเก่าชอบบอกว่าหน้าจอมือถือเข้ามาแย่งเวลาจากสื่อเก่าๆ อย่าง TV ไป แต่ในความเป็นจริงแล้วเมื่อทำการสำรวจพฤติกรรมการเสพสื่อพบว่าช่วงเวลาที่คนใช้ไปกับทีวีไม่ได้ลดลงจากเดิมมากนัก แต่มือถือเข้ามาสร้างช่วงเวลาใหม่ๆ ในการเสพสื่อต่างหากครับ

ลองคิดดูซิว่าเดิมทีเวลาเราไปไหนมาไหนเราก็ต้องมองวิวรอบข้าง อย่างมากก็หยิบหนังสือหรือแมกกาซีนขึ้นมาอ่าน หรือก็อาจจะมองป้ายบิลบอร์ดโฆษณาเพื่อฆ่าเวลาระหว่างนั้น

แต่พอมีมือถือเข้ามาเราก็สามารถใช้ช่วงเวลาสั้นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างวันไปกับหน้าจอเล็กๆ ของเราเองได้ง่ายๆ เมื่อสะสมช่วงเวลาเล็กๆ มากมายก็ทำให้กลายเป็นช่วงเวลาที่ใหญ่มากในแต่ละวัน

แถมพฤติกรรมคนทุกวันนี้ต่อให้เล่นมือถือก็ยังอดเปิดทีวีไว้ไม่ได้ ดูทีวีไปสักพักสลับมาดูหน้าจอมือถือ หรือดูหน้าจอมือถือไปพอได้ยินเสียงปึงปังจากหน้าจอก็ทำให้เงยหน้าขึ้นมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นในจอทีวีกันแน่นะ

ส่วนที่บอกว่าเด็กสมัยนี้ติดหน้าจอมากเกินไปจนผู้ใหญ่เป็นกังวลนั้นไม่ได้เกิดแค่กับหน้าจอมือถือเท่านั้น แต่พฤติกรรมนี้เกิดมาจากเนื้อหารายการต่างๆ ในทุกหน้าจอล้วนตัดภาพเพื่อเรียกความสนใจจากคนดูตลอดเวลา ถึงให้ไม่ใช่หน้าจอมือถือเด็กก็ติดหน้าจอทีวีได้ง่ายๆ

ยังคงจำได้ใช่มั้ยครับว่าทำไมตอนเราเด็กๆ ถึงติดทีวีและสามารถดูได้ทั้งวัน และตอนนั้นเราก็ถูกพ่อแม่ว่าเป็นประจำว่าติดหน้าจอทีวีไม่ยอมลุกไปไหน เพราะเนื้อหาในจอต่างๆ ถูกออกแบบมาให้เรียกร้องความสนใจจากผู้ดูให้ได้มากที่สุด มีการทดลองมาแล้วว่าถ้าอยากให้เด็กสนใจเนื้อหารายการทีวีมากขึ้นก็แค่ตัดสลับภาพให้เร็วขึ้นเท่านั้นเอง

แล้วการที่มีคนบอกว่าการติดมือถือทำให้เราทำงานแย่ลง หรือเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง แท้จริงแล้วไม่ใช่เพราะการติดมือถือหรอกครับที่ทำให้เด็กสมัยนี้อาจจะเรียนไม่รู้เรื่อง แต่ทุกการติดอะไรก็ตามที่ดึงเวลาจากเรามากเกินไปล้วนทำให้เราคิดและตัดสินใจได้แย่ลงเป็นธรรมดา

เพราะปัญหาของการที่การเรียนมีปัญหาหรือการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ล้วนมาจากการที่เราติดอะไรบางอย่างจนเรามีเวลานอนน้อยเกินไป เมื่อเรานอนน้อยเกินไปสมองก็เลยไม่ได้พักฟื้นอย่างเต็มที่ ผลคือเรามีสมองเหลือให้ใช้งานน้อยลงจนผลทำให้คุณภาพทุกอย่างตกลงอย่างเห็นได้ชัดครับ

ส่วนพ่อแม่ก็มักจะยื่นหน้าจอให้ลูกเพราะตัวเองก็อยากมีเวลาส่วนตัวบ้าง เอาจริงๆ ก็คือเวลาในการเล่นหน้าจอของตัวเองนี่แหละครับ พอยื่นหน้าจอให้เด็กนานเกินไปก็ส่งผลให้ลูกเลี้ยงยากเพราะติดการตัดสลับของภาพที่ต้องเรียกความสนใจตลอดเวลา

แถมการที่พ่อแม่สมัยนี้ชอบห้ามลูกๆ เล่นโซเชียลมีเดียเพราะกลัวลูกจะติดหรือเจอคนอันตราย แต่พ่อแม่สมัยนี้นี่แหละครับที่ตัวดีชอบเอารูปลูกๆ ของตัวเองขึ้นไปโพสบนโซเชียลมีเดียมากมาย จนทำให้ไม่แน่ใจว่าอีกหน่อยพอลูกโตขึ้นมาแล้วรู้สึกว่าไม่ชอบรูปที่พ่อแม่ตัวเองโพสไปจะทำอย่างไร ใครจะได้สิทธิ์ความเป็นเจ้าของรูปภาพดังกล่าว เป็นพ่อแม่คนโพสหรือเป็นของเจ้าตัวที่ถูกถ่าย ผมว่าปัญหานี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในวันหน้าของการขอควบคุมข้อมูลของตัวเองที่กระจัดกระจายเพราะพ่อแม่ที่ติดโซเชียลมีเดียครับ

สิ่งสำคัญของคนในวันนี้ไม่ใช่การไม่ใช้หน้าจอหรืองดใช้อินเทอร์เน็ต แต่เป็นการใช้หน้าจอกับอินเทอร์เน็ตอย่างไรให้เกิดการได้เปรียบในวันที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน

แต่ในขณะเดียวกันเมื่อการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เป็นเรื่องง่าย ทำให้เด็ก Gen Z หรือ Alpha ยุคใหม่ต้องเรียนรู้ทักษะการเลือกข้อมูลมาใช้อย่างฉลาด ต้องรู้จักตั้งคำถามถึงที่มาของข้อมูลตรงหน้าว่าข้อมูลใดน่าเชื่อถือมากที่สุด แหล่งที่มาของข้อมูลน่าเชื่อถือไหม คนรุ่นใหม่ต้องรู้จักฉลาดในการสังเคราะห์ Data มากล้นให้กลายเป็นข้อมูลในแบบของเราแล้วถ่ายทอดออกมาให้ได้ครับ

และการเล่นบนหน้าจอก็ต้องถูกออกแบบใหม่ให้เข้ากับวิถีชีวิตยุคนี้ ต้องทำให้คนเอาเรื่องในจอออกมาต่อยอดที่นอกจอ ทั้งเอามาพูดคุยกับคนรอบตัว เหมือนที่เราดู Netflix หรือเห็นเรื่องราวในมือถือแล้วเอามาเม้ามอยกันนอกจอในชีวิตจริงครับ

แล้วการที่ผู้ใหญ่มักบอกว่าเด็กสมัยนี้ชอบโวยวายเอาแต่ใจ แต่หนังสือเล่มนี้ก็ชวนให้สังเกตว่า เวลาเด็กๆ กวนเราก็เพราะพวกเขาอยากได้ความสนใจจากเรา พวกเขาอยากให้ผู้ใหญ่อย่างเราเลิกสนใจแต่หน้าจอมือถือของตัวเอง เด็กบางคนจึงชอบดึงโทรศัพท์ของผู้ใหญ่ไป เพราะถ้าเห็นผู้ใหญ่สนใจหน้าจอเล็กๆ นั้นมากพวกเขาก็ย่อมอยากจะรู้ว่าไอ้เจ้าหน้าจอเล็กๆ นั้นมีอะไรน่าสนใจ

อีกเรื่องหนึ่งในหนังสือ The Art of Screen Time ที่น่าสนใจคือพบว่าตั้งแต่เรามีสมาร์ทโฟนเข้ามาก็ส่งผลให้อุบัติเหตุในเด็กนั้นเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะในสระว่ายน้ำ หรือในสนามเด็กเล่นสวนสาธารณะ นั่นก็เพราะว่าพ่อแม่เมื่ออยู่กับลูกก็อาจจะไม่ได้ใช้เวลาทั้งหมดโฟกัสอยู่กับลูก เราคงเห็นพ่อแม่สมัยนี้แม้จะอยู่กับลูกแต่ก็ต้องคุยงานหรือตอบอีเมลเป็นประจำ แต่ทั้งหมดนี้ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องอันตรายคอขาดบาดตาย แต่ก็อย่าลืมนะครับว่าเพราะเจ้าโทรศัพท์มือถือนี้แหละที่ทำให้พ่อแม่สามารถออกมาจากออฟฟิศแล้วใช้เวลาอยู่กับลูกได้มากกว่าเดิม แม้จะไม่ได้โฟกัสที่ลูกตลอดเวลาเหมือนเดิมเท่านั้นเอง

พ่อแม่ต้องรู้จักปล่อยให้ลูกอยู่กับตัวเอง เรียนรู้ที่จะเล่นกับตัวเอง ไม่ต้องคอยให้ความสนใจกับลูกตลอดเวลาก็ได้ บางครั้งเด็กอาจจะร้องเล็กน้อยเพื่อเรียกความสนใจที่เกินจำเป็น แต่ถ้าเรารับรู้แต่ไม่เข้าไปหาในทันทีพวกเขาก็จะรู้จักเล่นกับตัวเองได้เป็นระยะเวลานานกว่าที่หลายคนคาดคิดไว้

สุดท้ายนี้เทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตคนยุคใหม่จริงๆ ไม่ใช่แค่โทรศัพท์มือถือ แต่เป็นเทคโนโลยี AI อย่าง Voice command หรือการสั่งการด้วยเสียง หรือ Computer vision การเข้าใจภาพตรงหน้าของคอมพิวเตอร์ และถ้าเมื่อไหร่คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจภาษามนุษย์หรือที่เรียกว่า natural language processing หรือที่เรียกย่อๆ ว่า NLP ได้ เมื่อนั้นแหละครับความสัมพันธ์ระหว่างเรากับอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไปตลอดการ หรือแม้แต่การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองก็ตามครับ

สรุปสั้นๆ ได้ว่า เราต้องฉลาดในการใช้อินเทอร์เน็ตและมือถือ ให้เหมือนกับการฉลาดกินเพื่อทำให้เราได้เปรียบคนรอบข้างที่กินไปเรื่อยจนย้อนไปทำลายสุขภาพครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 48 ของปี 2020

สรุปหนังสือ The Art of Screen Time ฉบับแปลไทย หน้าจอ-โลกจริง สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล สำนักพิมพ์ Bookscape อ่านแล้วเล่า

สรุปหนังสือ The Art of Screen Time แปลไทย
หน้าจอ-โลกจริง สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล
Anya Kamenetz เขียน
บุญยนุช ชมแป้น แปล
สำนักพิมพ์ Bookscape

20201130

อ่านสรุปหนังสือแนว Digital & Technology ในอ่านแล้วเล่าต่อ > https://www.summaread.net/category/digital/

สนใจสั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ > https://bit.ly/3p2vCF9

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/