สรุปหนังสือ China Next Normal วิกฤตและโอกาสของจีนในโลกหลังโควิด สำนักพิมพ์ Bookscape อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียน เกิดก่อน ปรับก่อน รอดก่อน

หนังสือ Chine Next Normal วิกฤตและโอกาสของจีนในโลกหลังโควิดเล่มนี้เล่าให้เห็นภาพความเป็นมาของจีน และสิ่งที่กำลังเป็นไป โดยที่เราคนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ เรารู้แค่ว่าเจ้าเชื่อไวรัส COVID-19 เกิดการระบาดครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น จากนั้นก็เกิดการล็อคดาวน์ แล้วเชื้อโควิด19 ก็เริ่มแพร่ระบาดออกไปทั่วโลก จากนั้นพี่จีนก็เป็นชาติแรกของโลกที่สามารถจำกัดการระบาดของเชื้อด้วยการล็อคดาวน์ห้ามผู้คนออกนอกบ้านอย่างจริงจังเป็นระยะเวลานานกว่า 14 วัน ทำเอาหลายประเทศทั่วโลกอึ้งกันมากที่กล้าทุบเศรษฐกิจให้หยุดชะงักได้ขนาดนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็ปรากฏว่าการล็อคดาว์ได้ผลดี จากนั้นก็เริ่มกลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง แล้วเศรษฐกิจก็ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความเร็วเต็มที่เท่าที่สามารถจะเป็นได้

หลังจากนั้นหลายประเทศเริ่มเกิดการระบาดระลอกสอง หรือแม้แต่ระลอกสาม หรือแม้แต่บางที่การแพร่ระบาดไม่มีท่าทีว่าจะหยุดยั้งหรือเบาลงเลยก็ตาม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ครั้งนี้ทำให้ธุรกิจในโลกทั้งหมดต้องรู้จัก Digital Transformation ในแบบของตัวเองแบบรวดเร็วแทบจะภายในระยะเวลาไม่กี่วัน จากไม่เคยคิดว่าจะทำทางออนไลน์ได้ก็ต้องหาทางทำให้ได้ถ้าไม่อยากจะต้องปิดตัวลงไป

ถ้าอย่างนั้นเราลองมาดูกันนะครับว่า 10 ประเด็นที่น่าสนใจจากหนังสือ China Next Normal วิกฤตและโอกาสของจีนในโลกหลังโควิดที่เขียนโดยคุณอาร์ม ตั้งนิรันดร จะเป็นอย่างไร บอกสั้นๆ ก่อนได้เลยว่าอ่านง่าย แถมยังสนุกด้วย และที่สำคัญคือเปิดโลกเรื่องจีนให้ผมได้รู้จักจีนในแบบที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยจริงๆ

1. จีนวันนี้ไม่จนและไม่ทนเป็นโรงงานผู้ผลิตของโลกอีกต่อไป

แต่ก่อนหลายประเทศที่พัฒนาแล้วจากทั่วโลกล้วนแห่แหนเข้าไปลงทุนที่จีนเป็นอย่างมาก ด้วยความได้เปรียบสองอย่างของจีนเมื่อไม่กี่สิบปีก่อน นั่นก็คือจำนวนแรงงานที่มีมากมายมหาศาล บวกกับจำนวนค่าแรงที่ถูกมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศรอบข้างรวมถึงประเทศไทยบ้านเราครับ

แต่ไม่กี่ปีผ่านมาคนชั้นล่างของจีนที่เคยได้รับค่าแรงถูกก็กลายเป็นชนชั้นกลางมากมาย ส่งผลให้แรงงานราคาถูกในจีนไม่เหลือเหมือนเดิมอีกต่อไป ทำให้บุญเก่าที่เคยมีแรงงานหนุ่มสาวมากมายจำนวนมากที่พร้อมขายแรงงานในราคาถูก กลายเป็นชนชั้นกลางมากมายที่ค่าตัวไม่ถูกและพร้อมที่จะเลือกมากเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ดีที่สุดที่ตัวเองจะหาได้

ดังนั้นรัฐบาลจีนต้องหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจแบบใหม่ให้ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ แล้วนั่นก็ส่งผลถึงการลงทุนในประเทศที่เปลี่ยนทิศทางไปจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก Hamburger Crisis เมื่อปี 2008 เพราะวิธีเดิมไม่สามารถใช้ได้ในบริบทของจีนใหม่ที่เริ่มร่ำรวยขึ้นมาแล้ว

2. Digital Infrastructure หมากเด็ดของรัฐบาลจีนที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแรง

เดิมทีในปี 2008 รัฐบาลจีนกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศสวนกระแสการตกต่ำของวิกฤตเศรษฐกิจโลกอย่าง Hamburger Crisis ที่เคยทุ่มลงทุนในการสร้างถนน สะพาน เส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือสร้างสิ่งที่เรียกว่า Infrastructure พื้นฐานที่จะส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น

แต่ในวิกฤตเศรษฐกิจโลก 2020 จาก COVID-19 นี้รัฐบาลจีนไม่ได้ทุ่มเงินไปทำในสิ่งเดิม แต่พวกเขาเลือกที่จะทุ่มลงทุนใน Digital Infrastructure แทนเพื่อที่จะขยายโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ที่ต้องอาศัยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่าง 5G ต้องอาศัยการขนถ่าย Data ปริมาณมหาศาลทุกเสี้ยววินาที

เพราะเศรษฐกิจยุคใหม่คือยุคของ Big Data ใครสามารถเอา Data ทั้งหมดมาเชื่อมโยงกันได้ และนั่นก็ต้องพึ่งพาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงอย่าง 5G เพื่อจะสามารถพัฒนา AI ให้ฉลาดกว่าคู่แข่ง ก็จะกลายเป็นชาติมหาอำนาจใหม่หลังจากนี้ เพราะในโลกที่ทุกคนเชื่อมโยงกันแค่ปลายนิ้ว การจะค้าขายกันข้ามทวีปก็เกิดขึ้นได้ภายในเสี้ยววินาที เมื่อถนนหนทางการขนส่งพร้อมรอบด้าน เหลือก็แค่จะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ไกลกันสามารถค้าขายกันได้ง่ายเหมือนเดินไปร้านสะดวกซื้อหน้าปากซอย

3. Technocrat เมื่อรัฐบาลจีนใช้เทคโนโลยีปกครอง เตรียมพร้อมสู่เศรษฐกิจ New Normal หลังโควิดโดยไม่รอว่าเมื่อไหร่วัคซีนจะมา

ประเทศจีนในวันนี้ Technocrat หรือการปกครองด้วยเทคโนโลยีทั้ง Big Data, AI และ 5G พวกเขามองเกมข้ามช็อตไปไกลกว่าแค่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดและฟื้นคืนเศรษฐกิจให้กลับมาเหมือนเดิมได้อย่างไร แต่พวกเขามองไปยังโลกเศรษฐกิจยุคใหม่หลังโควิด New Normal Economy เมื่อคนมากมายคุ้นเคยกับการออนไลน์ ชินกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้นใครพร้อมก่อนก็จะกลายเป็นมหาอำนาจลำดับถัดไปในโลกใบใหม่หลังโควิด19 ครับ

ดังนั้นในระหว่างการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 จีนเองก็ทำการสร้างระบบการเชื่อมโยงข้อมูลและติดตามเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส จากเดิม Data อาจจะถูกเก็บไว้กระจัดกระจายกัน มาตอนนี้พวกเขาเลยใช้โอกาสนี้ในการทำให้ทุก Data สามารถเชื่อมต่อกันได้ด้วยความจำเป็น จากนั้นก็ข้ามไปลงทุนในเรื่องของ HealthTech และ EdTech ที่มาแรงเหลือเกินในช่วงโควิด

เพราะเมื่อคนจำนวนมากออกจากบ้านไม่ได้ การพบหมอหาแพทย์ทางออนไลน์ก็เลยกลายเป็นเรื่องที่ต้องหัดไปพร้อมกัน วันนี้ที่จีนมีบริษัทด้าน HealthTech มากมาย ถ้าเจ็บป่วยไม่สบายก็อาจจะแค่คุยกับ Chatbot แล้วให้ AI ประมวลผล หรืออาจจะต้องมีการติดตามอุณหภูมิร่างกายตัวเองทุกเช้าเพื่อจะได้บอกให้รู้ว่าเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่

ส่วนในเรื่องของ EdTech ก็ถือโอกาสแจ้งเกิดในช่วงโควิด เพราะเมื่อชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไป คนเริ่มมีเวลาว่างมากขึ้นบวกกับเริ่มเรียนรู้แล้วว่าสกิลเดิมที่มีจะไม่เพียงพอในยุค Digital Transformation ที่รวดเร็วและรุนแรงเหลือเกินเพราะโควิด19 ครับ

นี่คือการที่รัฐบาลจีนมองเกมข้ามช็อตออกไปไม่ใช่แค่หยุดยั้งการแพร่ระบาด หรือจะเยียวยาดูแลรักษาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในวันนี้ให้ไม่ล้มได้อย่างไร พวกเขายังมองไปถึงเศรษฐกิจยุคใหม่ New Normal หรือ Next Normal ลูกต่อไปด้วยซ้ำ ด้วยการสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและดาต้าทั้งหมดไว้ให้พร้อมเพื่อให้ตัวเองได้ก้าวเข้ามาเป็นมหาอำนาจในด้านนี้

4. Employee Transformation งานออฟไลน์ไม่มีก็ต้องจับมาช่วยทำออนไลน์

อีกหนึ่งวิธีการปรับตัวของธุรกิจในจีนช่วงโควิด19 ที่ต้องล็อคดาวน์ก็น่าสนใจครับ หลายบริษัทที่มีพนักงานทำในส่วน Services มากมาย พอตอนนี้ไม่สามารถ Service ใครได้เพราะไม่มีใครให้เข้าใกล้ ทางบริษัทก็เลยจับพนักงานเหล่านั้นย้ายมาทำหน้าที่ช่วยขายของทางออนไลน์แทนเลย

เช่น พนักงานออฟฟิศเดิมอาจจะไม่มีอะไรให้ทำในช่วงโควิด ก็เอามาช่วยในซูเปอร์มาร์เก็ตหยิบจับของเอาไปแพ็คเตรียมส่งให้ลูกค้าที่แห่กันมาสั่งออนไลน์แทน

หรือพนักงานเครื่องสำอางที่เคยอยู่หน้าเคาเตอร์เดิมก็เปลี่ยนให้มา LIVE ขายในออนไลน์แทนทั้งวัน เรียกได้ว่าทุกคนต่างดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองยังทำงานได้ เพื่อให้บริษัทยังมีรายได้ และเพื่อให้ยังได้รับเงินเดือนในช่วงล็อคดาวน์กักตัวอยู่บ้านครับ

และแม้ตอนนี้จะเลิกล็อคดาวน์แล้วในหลายประเทศ แต่จากรายงานหลายๆ ฉบับต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยบนออนไลน์ไม่ได้ลดลงกลับไปเท่าเดิมในช่วงก่อนโควิด19

ผู้คนมากมายได้เรียนรู้การทำสิ่งต่างๆ บนออนไลน์ ได้เรียนรู้ว่าทุกสิ่งสามารถหาซื้อทางออนไลน์แล้วมาส่งที่บ้านได้อย่างปลอดภัย ได้เรียนรู้ว่าการโอนเงินให้กันไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแม้ตัวเองจะสูงวัยแล้วก็ตาม

5. Next Normal ของธุรกิจร้านอาหาร

อย่างที่รู้กันว่า​ Food Delivery โตแบบพุ่งทะยานในช่วงล็อคดาวน์เหมือนกันทุกประเทศทั่วโลก แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนใครในจีนก็คือพวกเขาซีเรียสกับเรื่องความปลอดภัยมาก ว่าถ้าสั่งกินไปแล้วจะไม่ติดโควิด19 จากคนทำหรือร้านอาหารใช่ไหม พวกเขาเลยออกมาตรการใหม่ว่าต่อไปนี้ทุกกล่องที่ส่งหาลูกค้า จะต้องมีชื่อคนทำอาหารแปะติดไว้ที่ข้างกล่อง พร้อมกับบอกข้อมูลอุณหภูมิร่างกายของคนทำอาหารด้วย

เรียกได้ว่าถ้าต่อให้กินแล้วมีเชื้อติดไปก็สามารถตามย้อนกลับไปหาต้นตอได้ไม่ยาก ไม่ใช่ต้องมานั่งเดาว่าติดจากใครกันแน่นะ

อีกแง่มุมหนึ่งของธุรกิจร้านอาหารที่ปรับตัวได้อย่างน่าสนใจในช่วงโควิด19 ก็คือ จากเดิมร้านอาหารต้องปรุงให้สุกสำเร็จก่อนส่งให้ลูกค้า แต่ตอนนี้กลายเป็นเริ่มมีการปรุงแบบเกือบสุกเพื่อให้ลูกค้าที่ได้รับสามารถเอาไปทำให้ร้อนเพื่อสุกพร้อมกินในขั้นตอนสุดท้าย เรียกได้ว่ากินได้อย่างสบายใจปลอดภัยไร้โควิด19 แถมยังอร่อยเหมือนเดิมด้วยครับ

เพราะถ้าอาหารปรุงสุกแล้วพอเอาไปทำให้ร้อนอีกรอบก็อาจจะเสียรสชาติเดิมที่ทางร้านตั้งใจ ดังนั้นทางออกนี้ของร้านอาหารจึงเป็นอะไรที่เซอร์ไพรซ์ผมสุดๆ

6. ชาติใดอยากเป็นมหาอำนาจ ชาตินั้นต้องเป็นแพลตฟอร์ม

คำว่าแพลตฟอร์มในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่โซเชียลมีเดียอย่างที่เราคุ้นเคย แต่แพลตฟอร์มหมายถึงการเป็นตัวกลางให้คนสองฝ่ายได้มาเจอกันผ่านตัวเอง เหมือนที่สหรัฐอเมริกาได้เป็นมหาอำนาจโลกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เพราะเขาให้ทั่วโลกใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ ด้วยการที่สหรัฐบอกว่าทุกดอลลาร์ของตัวเองจะมีทองคำหนุนหลังไม่เสื่อมคลาย

ทำให้ทุกชาติวางใจกล้าใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวกลาง

แต่พอวันหนึ่งสหรัฐเริ่มแบกทองคำที่ต้องหนุนหลังเงินทุกดอลลาร์ที่พิมพ์ออกไปไว้ไม่ไหว พวกเขาก็เลยประกาศว่าต่อไปนี้เงินดอลลาร์สหรัฐจะไม่มีทองคำหนุนหลังเท่าเดิมที่เคยประกาศ แต่ความน่าเชื่อถือของเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีค่ายิ่งกว่าทองคำ ก็คือความยิ่งใหญ่ของเศรษฐกิจสหรัฐในตอนนั้น บวกกับทุกชาติต่างก็ติดสบายด้วยการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว

ดังนั้นเงินดอลลาร์สหรัฐจึงยังกลายเป็นตัวกลางแม้จะไม่ได้มีทองคำหนุนหลังแบบเดิม และนั่นก็หมายความว่าเงินดอลลาร์สหรัฐคือแพลตฟอร์มในการค้าขายระหว่างประเทศของโลกทั้งใบ เพราะทุกคนต่างเชื่อถือในเงินสกุลดอลลาร์ชาตินี้

แน่นอนว่าจีนเองก็ไม่พร้อมที่จะให้เงินหยวนเป็นสกุลแลกเปลี่ยนกลางของโลก แต่พวกเขาพร้อมในแง่ของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่กระจายอยู่มากมายบนโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะ WeChat, Alibaba, Tencent, TikTok หรืออื่นๆ ที่พูดชื่อทั้งวันก็คงไม่หมด

เมื่อเอา Data ของหมดที่เกิดขึ้นจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็ทำให้จีนกลายเป็นชาติมหาอำนาจบนดิจิทัลได้ไม่ยาก บวกกับเทคโนโลยี 5G ของบริษัทจีนอย่าง Huawei ที่กลายเป็นที่ถูกใช้กันมากมายในหลายประเทศทั่วโลก

เห็นหรือยังครับกับนิยามของคำว่าแพลตฟอร์มหรือตัวกลาง ที่จีนเริ่มเข้ามาถือครองพื้นที่ในส่วนนี้และก็เป็นการขยายอำนาจบนโลกดิจิทัลในยุคดาต้าไปอย่างมั่นคง

7. เหตุใดจีนถึงไม่แคร์ฮ่องกงเท่าวันวาน?

ผมเพิ่งรู้เรื่องนี้ก็จากที่คุณอาร์ม ตั้งนิรันดร บอกว่า ที่แต่ก่อนจีนไม่ค่อยกล้าอะไรกับฮ่องกงมากเพราะเศรษฐกิจฮ่องกงสำคัญต่อ GDP ทั้งประเทศจีนมาก

ตอนที่จีนได้รับฮ่องกงคืนจากอังกฤษในปี 1997 จีนต้องปฏิบัติกับฮ่องกงเป็นพิเศษกว่าทุกเมืองในจีนเพราะตอนนั้นเศรษฐกิจฮ่องกงมีขนาดถึง 18% ของ GDP จีนทั้งประเทศ

แต่มาวันนี้เศรษฐกิจจีนเองเติบโตอย่างแข็งแกร่งมากและนั่นก็ทำให้ขนาดความสำคัญทางเศรษฐกิจของฮ่องกงลดความสำคัญลงไป วันนี้ขนาดของเศรษฐกิจฮ่องกงเหลือแค่ 3% ของ GDP จีนทั้งประเทศเท่านั้น ดังนั้นพวกเขาจึงกล้าทำอะไรก็ได้กับฮ่องกงเพราะเริ่มไม่ได้เป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจจีนแล้ว

พอรู้แบบนี้แล้วเศร้าแทนคนฮ่องกงที่กำลังประท้วงกันพอสมควรเลยครับ

8. สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐเกิดช้าไป 10 ปี

ตอนนี้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนมากนัก แต่ถ้าเป็นสิบปีก่อนจีนอาจจะพังได้ไม่ยาก เพราะสิบปีก่อนเศรษฐกิจจีนพึ่งพาการส่งออกมาถึง 32% รัฐบาลจีนเลยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่เป็นลดการพึ่งพาการส่งออกลง แล้วหันมากระตุ้นการเติบโตภายในประเทศแทน ทุกวันนี้ตัวเลขการส่งออกจีนนับเป็นแค่ 19% ของเศรษฐกิจทั้งหมด

และจาก 19% นั้นก็ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาแค่ 18.4% เท่านั้น เรียกได้ว่าสหรัฐอเมริกาไม่ใช่ลูกค้าหลักของจีนอีกต่อไป แต่ถ้าเป็นเมื่อสิบปีก่อนที่เศรษฐกิจจีนยังพึ่งพาการส่งออกมาก และการส่งออกจากจีนส่วนมากก็ส่งไปยังสหรัฐ สงครามการค้าในวันนี้คงจะทำให้จีนต้องตกที่นั่งลำบากได้ง่ายๆ

ว่าแต่ก็นึกย้อนดูว่าเศรษฐกิจของไทยเราอยู่ได้จากข้างใน หรือเน้นพึ่งพาแต่การส่งออกเป็นเส้นเลือดหลักก็ไม่รู้นะครับ

9. เหตุใดคนจีนถึงขยันออมไม่ค่อยใช้เงิน?

ที่คนจีนออมเงินเก่งไม่ใช่เพราะพวกเขาอยากออม แต่เป็นเพราะพวกเขาไม่เชื่อมั่นในสวัสดิการของรัฐ ไม่เชื่อมั่นในระบบการศึกษาหรือโรงเรียนของจีนว่าจะดีพอ ไม่เชื่อมั่นในระบบการแพทย์ของรัฐว่าจะดูแลรักษาพวกเขาได้ และก็ไม่เชื่อมั่นว่าถ้าพวกเขาแก่ตัวไปรัฐจะดูแลในวัยเกษียณได้ดี

นั่นเลยทำให้คนจีนชนชั้นกลางไปจนถึงชนชั้นล่าง โดยเฉพาะคนจีนในชนบทจำนวนมากเลือกที่จะเก็บเงินเอาไว้มากกว่าจะใช้ เมื่อคนไม่ใช้เงินก็ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ยาก ทางการจึนจึงต้องหาทางแก้ปัญหาเรื่องความไว้ใจในสวัสดิการของรัฐกับทุกคนให้จงได้

ถ้ารัฐบาลทำได้ผู้คนก็จะกล้าเอาเงินที่เก็บออกมาใช้ เพราะมั่นใจว่าถ้าเจ็บป่วยไปรัฐก็ดูแล มั่นใจว่าถ้าแก่ตัวไปก็จะไม่ลำบากหรือน่าสมเพช

เรื่องนี้น่าสนใจเหมือนที่ผมเคยอ่านเจอผ่านๆ จากคอนเทนต์หนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ที่คนยุโรปหรือฝรั่งเศสถามกับคนอเมริกันว่ายูจะทำงานเยอะๆ ไปทำไม คนอเมริกันบอกว่าไอจะได้รวยๆ แล้วสบาย คนฝรั่งเศสเลยบอกว่าแสดงว่ารัฐบาลประเทศยูดูแลยูไม่ดีน่ะซิ ที่ฝรั่งเศสไม่เห็นต้องรวยก็มีชีวิตที่ดีได้

พูดแล้วก็คิดถึงบ้านเรา นอกจากสวัสดิการยังไม่ดีคนจำนวนมากยังไม่มีเงินให้ออม แถมประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบเต็มตัว คิดไม่ออกเลยว่าถึงตอนนั้นพอเราแก่ตัวไปแล้วจะใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไรครับ

10. ทำให้เกษตรกรในชนบทรวยขึ้นด้วยการขยายเมืองและชนชั้นกลาง

ข้อนี้น่าสนใจตรงที่ว่าบ้านเราหรือที่อื่นๆ มักหาทางช่วยเกษตรกรให้มีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการให้ทำเกษตรออร์แกนิค ด้วยการให้ปลูกพืชอินทรีย์ ให้เลี้ยงสัตว์แบบธรรมชาติ แต่ที่จีนเค้ามีอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจมาก ตรงที่เข้าทำให้เกษตรกรในชนบทรวยขึ้นด้วยการเพิ่มชนชั้นกลางในเมืองเข้าไปอีก

นั่นก็เพราะถ้าเมืองขยายตัวขึ้นแรงงานในชนบทก็จะเข้าไปหางานในเมืองทำ ทำให้แรงงานภาคการเกษตรในชนบทน้อยลง แต่คำถามสำคัญคือจะทำอย่างไรให้แรงงานที่น้อยลงยังสามารถสร้างผลผลิตได้เท่าเดิมเป็นอย่างน้อย หรือให้ดีคือต้องได้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

นั่นก็เลยเป็นการเอาเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานที่หายเข้าไปสู่สังคมเมือง แล้วทีนี้เมื่อชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นกำลังการซื้อก็เพิ่มเติม พอกำลังการซื้อเพิ่มขึ้นมาเราก็มักจะอยากกินของที่ดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อนั้นก็จะมี Demand มากมายที่อยากกินพืชผลออร์แกนิคหรือเนื้อสัตว์แบบดีๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกษตรกรในชนบทมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการขยายตัวของเมืองและชนชั้นกลางครับ

ช่างเป็นการคิดแบบข้ามช็อตที่มีอะไรให้เรียนรู้ได้มากจริงๆ

สรุปส่งท้ายหนังสือ China Next Normal เล่มนี้

แม้โลกเราจะยังไม่ผ่านพ้นโควิด19 ไป แม้ว่าวัคซีนกำลังจะใกล้เข้ามาแต่ก็ไม่รู้เมื่อไหร่ แต่แทนที่เราจะเลือกใช้ชีวิตเพื่อรอความหวังที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมในปี 2019 ก่อนที่เจ้าเชื้อไวรัสโควิด19 จะแพร่ระบาด ทำไมเราไม่เริ่มมองข้ามช็อตออกไปให้ไกลขึ้นสู่ชีวิตแบบ New Normal และ Next Normal จริงๆ

เมื่อคนมากมายคุ้นชินกับการทำอะไรๆ บนออนไลน์ด้วยตัวเอง เมื่อเราก้าวเข้าสู่ยุค Cashless Society ที่น่าจะเต็มตัวก็ว่าได้ ร้านอาหารไหนๆ ก็มี QR Code ให้สแกนหรือพร้อมรับเงินโอนกันทั้งนั้น

เราเรียนรู้ที่จะหาหมอทางออนไลน์ในช่วงโควิด และเราก็เรียนรู้ที่จะเรียนจบทั้งเทอมที่สามารถสอบจนเกรดออกทางออนไลน์ได้ถ้วนหน้า

เราเรียนรู้ที่จะเรียนรู้ว่าสกิลเดิมไม่เพียงพอต่อโลกใบใหม่อีกต่อไป เพราะความรู้ในวันนี้นั้นหมดอายุไว เราจึงเรียนรู้ว่าเราต้องอัพสกิลใหม่ๆ ทางออนไลน์อยู่ตลอดเวลา

ผมเลยอยากแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้กับทุกคน ทั้งคนที่เป็นนักการตลาด คนที่เป็นผู้บริาหาร หรือคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ได้รู้จักกับโลกหลังโควิดในแบบของจีนที่มองข้ามช็อตออกไปได้ไกลจริงๆ

แม้ไวรัสจะเกิดขึ้นที่จีนเป็นที่แรก แต่พวกเขาก็สามารถคุมให้อยู่หมัดจนสามารถกลับใช้ดำเนินเศรษฐกิจแบบ New Normal ใหม่ได้เป็นชาติแรกเช่นกันครับ

จีนในวันนี้ไม่เหมือนจีนเมื่อสิบปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง แต่ประเทศไทยในวันนี้ไม่รู้ว่าต่างจากสิบปีก่อนไปมากพอแล้วหรือยัง ขอให้ไทยกลายเป็นไทยใหม่แบบ New Normal หรือ Next Normal ที่ทำให้ชาติอื่นต้องมาเรียนรู้จากเรา เห็นไทยเราเป็น Idol และอยากทำตามครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 47 ของปี 2020

สรุปหนังสือ China Next Normal วิกฤตและโอกาสของจีนในโลกหลังโควิด สำนักพิมพ์ Bookscape อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียน เกิดก่อน ปรับก่อน รอดก่อน

สรุปหนังสือ China Next Normal
วิกฤตและโอกาสของจีนในโลกหลังโควิด
อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียน
สำนักพิมพ์ Bookscape

20201124

อ่านสรุปหนังสือที่เกี่ยวกับจีนในอ่านแล้วเล่าต่อ > https://www.summaread.net/category/china/

สนใจสั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ > https://bit.ly/3o4lJpZ

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/