สรุปหนังสือ อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ทำให้รู้ว่าการสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมนั้นไม่ได้เกิดจากนโยบายภาครัฐเท่าไหร่นัก แต่กลับเกิดจากคนธรรมดาที่ต้องหาเลี้ยงปากท้อง ต้องปากกัดตีนถีบหาทางใช้ความคิดเพื่อให้ชีวิตนั้นรอดได้
เพราะนโบายของภาครัฐจากการเฝ้าศึกษาของผู้เขียน วิริยะ สว่างโชติ ในสองประเทศอย่างญี่ปุ่นและอินโดนีเซียพบว่านโยบายของภาครัฐนั้นไม่ได้ตอบสนองกลุ่มคนสร้างสรรค์ที่แท้จริง เพราะนโบายของภาครัฐเองก็ทำไปเพื่อเอื้อให้เกิดการตอบสนองต่อภาคเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ตอบสนองต่อการต้องการสร้างสรรค์ที่แท้จริงของคนสร้างสรรค์จริงๆเลย
เศรษฐกิจสร้างสรรค์เกิดขึ้นมาจากความอิ่มตัวของเศรษฐกิจการผลิตจำนวนมาก หรือ economic of scale แต่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็ไม่ใช่คู่แข่งของเศรษฐกิจแบบระบบสายพานการผลิตจำนวนมาก เพราะสินค้าเหล่านั้นมีราคาถูก แต่สินค้าค้าสร้างสรรค์นั้นมีราคาแพงกว่ามาก สองสิ่งนี้เลยทำมาเพื่อตอบความต้องการคนละอย่างกันสิ้นเชิง
แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนทั่วไปจะไม่ต้องการสินค้าหรือบริการที่สร้างสรรค์ เพราะคนทั่วไปก็เบื่อสินค้าแบบแมสๆทั่วไปได้ ก็เป็นไปได้ที่คนทั่วไปเองก็อยากจะมีอะไรที่แตกต่างหรือมีความเป็น Artisan เป็นของตัวเองบ้าง
และความสร้างสรรค์ก็ไม่ใช่แค่การขายสินค้า หรือวัตถุดิบที่ใช้ผลิตแบบระบบเศรษฐกิจเดิม แต่เป็นการขายลิขสิทธิ์ การใช้สิทธิร่วม หรือการจดสิทธิบัตรทางปัญญา
และในยุคเศรษฐกิจใหม่อย่างทุกวันนี้ เทคโนโลยีข่าวสารและความรู้ คือรากฐานสำคัญของการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจใหม่ ถ้าพูดให้ง่ายก็คือพวก digital content ทั้งหลาย เช่น สติกเกอร์ไลน์ที่คิดและทำครั้งเดียว สามารถสร้างรายได้ซ้ำเป็นล้านครั้งโดยไม่ต้องผลิตอะไรเพิ่มซักนิด หรือหนึ่งวิดีโอบน Netflix สามารถให้คนดูพร้อมกันได้เป็นล้านโดยไม่ต้องมีต้นทุนการทำซ้ำใดๆ
จะเป็นว่านิยามของความสร้างสรรค์เปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมเสมอ แต่ก่อนเคยเป็นของทำมือหายากถึงจะถูกนิยามว่าสร้างสรรค์ วันนี้กลายเป็นสื่อดิจิทัลแทนครับ
เมืองไทยเองก็มี Click Radio F.M. 98 เป็นพื้นที่ให้วัยศิลปินไทยได้ออกมาแสดงผลงานสร้างสรรค์ของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในช่วงนั้น จนทำให้ศิลปินไทยหน้าใหม่แจ้งเกิดมากมาย พร้อมกับการเกิดขึ้นของเทศกาลดนตรี Fat Festival
Dudesweet เองก็เป็นอีกกลุ่มคนสร้างสรรค์ ที่รวมตัวกันเพราะเบื่อดนตรีแบบแมสๆที่นิยมเปิดในผับในช่วงเวลานั้น จนกลายมาเป็นกลุ่มที่จัดปาร์ตี้และเปิดดนตรีทางเลือกที่ตัวเองต้องการ จน Dudesweet ในวันนี้กลายเป็นขวัญใจของกลุ่มคนฟังดนตรีนอกกระแสจนถึงวันนี้
Homeless Dawg ที่เป็นแบรนด์แฟชั่นท้องถิ่นแนว Street Culture จากคนไร้บ้านที่เมืองบันดุง ที่ต้องทำเพื่อเลี้ยงปากท้อง จากความขาดแคลนอย่างยากแค้น จนสามารถสร้างธุรกิจเล็กๆของตัวเองจนกลายเป็นที่นิยมของเฉพาะกลุ่มคนและโตได้
บาร์คิตตี้ที่โอซากาที่ว่ากันว่าเป็นบาร์ที่สร้างสรรค์ เพราะไม่เหมือนบาร์ไหนๆที่กำลังนิยมกันในย่านนั้น ก็ไม่ได้เกิดจากการสนับสนุนใดๆของภาครัฐหรือนโยบาย แต่เกิดจากความอยากทำและประจวบกับบาร์เดิมกำลังจะปิดตัวลง ทำให้เช่าได้ในราคาที่ต่ำลงกว่าบาร์อื่น
แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้บอกว่าการสนับสนุนของนโยบายจากภาครัฐไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี เพียงแต่พวกเขาที่เป็นคนสร้างสรรค์เหล่านี้เค้าทำจากความสนุก และความจำเป็นของปากท้องครับ
ทั้งหมดนี้บอกให้รู้ว่า ความคิดสร้างสรรค์นั้นเกิดมาจากความจำเป็น หรือการต้องเอาชนะข้อจำกัดบางอย่าง ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดมาจากความสะดวกสบายอย่างที่ใครบางคนเชื่อ และจากประสบการณ์ตรงของผมในฐานะที่เคยเป็นครีเอทีฟ และยังเป็นคนที่อยู่ในสายงานด้านความคิดสร้างสรรค์มาร่วมสิบกว่าปีจนถึงวันนี้ ยิ่งมีความกดดัน ความคิดสร้างสรรค์ยิ่งจำเป็นต้องเกิดขึ้นมา
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 40 ของปี 2019
สรุปหนังสือ อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์
วิริยะ สว่างโชติ เขียน
อ่านครั้งแรกเมื่อ 2019 07 02
อ่านสรุปหนังสือแนว Creativity เพิ่มเติม https://www.summaread.net/category/creativity/
สนใจสั่งซื้อได้ที่ http://www.chulabook.com/description.asp?barcode=9786164687660