เพราะเราไม่ได้เห็นโลกตามความจริง แต่เราจะเห็นโลกตามความคิด สถานการณ์เดียวกันคนนึงมองเห็นแต่ปัญหา แต่อีกคนกลับมองเห็นโอกาส

ตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหลายคนเห็นความล่มสลาย แต่คนอีกไม่น้อยมองเห็นโอกาสใหม่ๆ

ดังนั้นถ้าใครบอกว่าเพราะโลกมันไม่ดี หรือเพราะตอนนี้มีแต่เรื่องแย่ๆ อยากให้ลองปรับความคิด เปลี่ยนทัศนคติดูซักนิด แล้วคุณจะพบเรื่องดีๆที่ไม่เคยคิดอีกเยอะ

หนังสือเล่มนี้อยู่ในชุด ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ เล่มที่ 29 ของ หนุ่มเมืองจันท์ ตั้งแต่โดนลูกน้องเก่าหลอกให้อ่านเล่มนึง จนเสพย์ติดต้องตามเก็บย้อนหลังจนอ่านครบทุกเล่มแล้วครับวันนี้

เนื้อหาในเล่มนี้มีหลายหน้าที่น่าสนใจมาก ปกติเวลาผมเจออะไรน่าสนใจ ผมจะขีดต้นประโยคของช่วงที่หน้าสนใจ และพับมุมล่างของเล่มไว้ เพราะมุมบนผมเอาไว้พับตอนหยุดพักเวลาจะกลับมาอ่านต่อ

อย่าง ทฤษฎีความสุขของไอน์สไตน์ เคยได้ยินมาก่อนมั้ยครับ?

ผมคนนึงแหละที่ไม่เคย จนได้พบว่าทฤษฎีความสุขของไอน์สไตน์เองน่าจะได้รางวัลโนเบลอีกซักรอบ ในสาขาสันติภาพโลก เพราะทฤษฎีนั้นบอกไว้ว่า “ชีวิตที่เงียบสงบและเรียบง่าย นำไปสู่ความสุขมากกว่าการแสวงหาความสำเร็จที่มีแต่ความวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา”

ครับ ถ้าเรารู้จักใช้ชีวิตให้ง่ายแบบที่ไอน์สไตน์ว่า ลดเรื่องราวและสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปจากชีวิต ก็จะได้พบความสุขบ่อยขึ้น

Less conditions more happiness เงื่อนไขน้อย ก็สุขเยอะครับ

หรือ โลกที่เห็นว่าเด็กคนนึงฉลาดหรือโง่ ที่วัดจากผลการสอบ

ผู้ชายคนนึงเคยถูกอาจารย์บอกว่า “โง่” ไม่ใช่โง่ธรรมดานะครับ แต่เป็น “โง่มาก” แต่มาวันนี้ชายคนนั้นกลับเป็นชายที่ทำให้ใครหลายคนต้องหลงรัก โดยเฉพาะสาวๆ และเชื่อได้ว่าน้อยคนที่จะไม่รู้จักผู้ชายคนนี้

บอย โกสิยพงษ์ ครับ

ตอนเด็ก บอย เรียนหนังสือไม่เก่งเลย ทั้งที่ตั้งใจแค่ไหน หรือพยายามเท่าไหร่ก็แข่งกันได้ที่โหล่กับเพื่อนมาตลอดจนอาจารย์พากันปวดหัว แต่โชคดีที่แม่ของบอยเข้าใจ ไม่เคยต่อว่าบอยเลย แม่ของบอยบอกว่า บางทีโรงเรียนนี้อาจไม่ได้เหมาะกับเรา ไปหาที่อื่นเรียนดีกว่าลูก

โอ้โห ถ้าเป็นแม่ผมนี่ คงสวดไปทั้งชีวิตแน่ๆครับ

มาวันนี้บอยเป็นชายที่ถ้าจะใช้คำว่า “ประสบความสำเร็จ” ก็ยังน้อยไป บอยให้ข้อคิดเปรียบเทียบที่น่าสนใจ ที่ผมอยากจะเอามาเล่าต่อให้คนที่กำลังเป็น “พ่อแม่” ฟัง

บอย บอกว่า มนุษย์เรามีความถนัดไม่เหมือนกัน ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเอาสัตว์ทั้งป่าไปสอบด้วย “ข้อสอบชุดเดียวกัน”

เราจะเอาปลาไปแข่งปีนต้นไม้กับลิงไม่ได้ ดังนั้นในโลกของโรงเรียน ที่วัดกันแค่ “วิทย์” หรือ “ศิลป์” นั้นไม่สามารถวัดความฉลาดของเด็กทุกคนได้เท่าเทียมกัน

ถ้าใครที่กำลังเรียนไม่เก่ง ขอให้รู้ไว้ว่าคุณไม่ใช่คนโง่อย่างที่เค้าว่า คุณแค่ไม่เข้ากับมาตรฐานที่คับแคบของการศึกษา และขอให้คุณมีความพยายามตั้งใจหาสิ่งที่ตัวเองรักให้เจอ

ถึงจะไม่ประสบความสำเร็จโด่งดัง แต่คุณก็จะประสบความสำเร็จในฐานะ “มนุษย์” คนนึงครับ

พี่นิค บอสใหญ่ค่ายเพลง Genie Records ที่มีศิลปินดังในมืออย่าง Bodyslam, Bigass, Paradox, Instinct และ เคลียร์ พูดถึงการดูแลศิลปินที่ขึ้นชื่อเรื่องความคิดว่าใช้หลักการแบบปรัชญา ปล่อย แบบ ไม่ปล่อย

ศิลปินทุกคนมีความโลกส่วนตัวสูง ไม่ต้องการให้ใครตีกรอบ หรือขัดเส้น พี่นิคก็เลยมีสูตรในการดูแลศิลปินให้ไปถึงเป้าหมายที่ตัวเองต้องการว่า ไม่ตีเส้นให้เขาไต่ แต่จะทำถนนให้เค้าเดิน

สองอย่างนี้พาไปสู่เป้าหมายเหมือนกัน แต่ในความรู้สึกต่างกันลิบ

อย่างแรกการตีเส้นคือการจำกัดไปหมดทุกอย่าง ทำให้ศิลปินอึดอัดหรือไม่มีความสุขเพราะไม่ได้เป็นตัวของตัวเองได้

ส่วนอย่างหลังการเดินบนถนนนั้น ศิลปินสามารถเอียงซ้าย เหล่ขวา ออกนอกเส้นกลางถนนได้ แต่ยังอยู่บนถนนที่สร้างไว้ ยังได้ความรู้สึกในการเป็นตัวของตัวเองอยู่ และก็ถึงเป้าหมายปลายทางได้เหมือนกัน

นี่คือเคล็ดลับการดูแลศิลปินของพี่นิคครับ

หรือโลกของการทำ Brand Loyalty ที่ไม่เหมือนใครของ Naraya แบรนด์กระเป๋าผ้าสวยๆแต่กลับราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ พูดได้ว่าแบงก์ร้อยใบเดียวก็ซื้อได้ หรือถ้ามีสองใบยิ่งเลือกได้สบายเลย

ปกติแล้วการสร้างแบรนด์รอยัลตี้ คือการทำให้ลูกค้าจงรักภักดีกับเรา ไม่นอกใจไปหาแบรนด์อื่นใช่มั้ยครับ

แต่กับแบรนด์ Naraya นั้นคิดใหม่มองโลกนี้อีกมุมว่า แบรนด์รอยัลตี้ของเค้าคือ การจงรักภักดีกับลูกค้า จนทำให้ลูกค้าไม่อยากนอกใจไปที่อื่น

เวลานารายาออกกระเป๋าใหม่ จะให้พนักงานสอบถามความเห็นของลูกค้าว่าคิดยังไง ชอบไม่ชอบ แล้วถ้าไม่ชอบนั้นไม่ชอบตรงไหน ไม่ใช่แค่เก็บข้อมูลจากไม่กี่สาขาพอเป็นพิธี แต่เก็บจากทุกสาขาทั่วโลก

ทีนี้พอได้ข้อมูลมาก็เอามาปรับปรุงให้ดีขึ้น ให้ตรงกับใจลูกค้ามากขึ้น นี่แหละครับ เคล็ดลับการสร้างแบรนด์รอยัลตี้ที่ใครๆก็เลียนแบบได้ แต่กลับไม่มีใครทำ

ขอตัดใจเล่าเรื่องสุดท้ายไว้ให้ฟัง

โรงพยาบาลแห่งหนึ่งให้ทีมซ่อมบำรุงรถยนต์สูตรหนึ่ง หรือ Formula 1 มาเป็นที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้น เพราะทีมซ่อมบำรุงรถ F1 นั้น เราจะเห็นกันดีว่าใช้ทุกวินาทีได้มีประโยชน์สูงสุด

เวลารถวิ่งเข้ามาจอดนั้นแทบไม่ต้องมีใครบอกใครว่าต้องทำอะไร ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองได้เสร็จพร้อมกันในไม่กี่วินาที และเมื่อทุกคนทำหน้าที่ตัวเองได้ดีเยี่ยม ผลก็คือทีมของตัวเองก็มีโอกาสชนะสูงขึ้น

การทำงานในส่วนห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลก็เหมือนกันครับ ทุกวินาทีมีความหมายมากกว่าการแข่ง F1 เพราะนั่นหมายถึงชีวิต ชีวิตที่ไม่อาจสูญเสียได้ของใครบางคน

แต่ในการทำงานจริงมักจะเกิดปัญหา การทำงานที่ไม่รวดเร็วอย่างสอดคล้องกัน ทีม F1 ที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเลยดูวิธีการทำงาน แล้วออกแบบระบบการทำงานใหม่ ให้แต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองได้รวดเร็ว โดยลดการขัดแย้งหรือผิดพลาดระหว่างกันให้น้อยที่สุด

ผลจากการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นแบบรถ F1 คืออัตรารอดชีวิตสูงขึ้น ไม่รู้ว่าจะมีแจกบัตร F1 ให้ไปดูหลังออกจากห้องฉุกเฉินด้วยมั้ยครับ

ถ้าเรามองโลกของการทำงานในโรงพยาบาลว่าต้องใช้คนที่ทำงานในโรงพยาบาลเท่านั้น เราก็คงจะได้มุมมองเดิมๆ แต่เมื่อโรงพยาบาลมองว่าต้องการมุมมองทางด้านประสิทธิภาพขั้นสูงสุด ก็เลยได้ทีม F1 เข้ามาช่วย

โลกที่เห็น เป็นอย่างที่คิดจริงๆครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 74 ของปี 2018

โลกที่เห็น เป็นอย่างที่คิด
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจเล่มที่ 29
หนุ่มเมืองจันท์เขียน
สำนักพิมพ์มติชน

20180601

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/