สรุปหนังสือ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ Toyotomi Hideyoshi จากชาวนาสู่โชกุนผู้กุมอำนาจญี่ปุ่น เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป เขียนสำนักพิมพ์ Gypzy

สรุปหนังสือชีวประวัติ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ Toyotomi Hideyoshi ซามูไรผู้สร้างโอกาสเพื่อยึดแผ่นดิน หนึ่งในหนังสือชุดสามวีรบุรุษผู้รวมแผ่นดินญี่ปุ่น

จากสรุปหนังสือชีวประวติของโอดะ โนบุนางะ เล่มก่อนหน้า โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ผู้นี้เคยเป็นบริวารหรือลูกน้องคนสนิทของโนบุนางะมาก่อน แต่แล้วพอโอดะสิ้นชีพไป ตัวเขาก็ได้หาจังหวะยึดครองอำนาจจนสามารถรวบรวมแผ่นดินญี่ปุ่นจนเป็นหนึ่งได้แทนนายเก่าที่ไม่อาจทำได้ บวกกับยังสามารถสร้างกองทัพไปรุกรานเกาหลีได้ แม้จะพ่ายแพ้กลับมาจนทำให้อำนาจสั่นคลอนในท้ายที่สุด

เรามาดูกันดีกว่าว่าซามูไรผู้ยิ่งใหญ่คนนี้มาเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจให้คนรุ่นหลังอย่างเราได้เรียนรู้บ้างครับ

เมื่อชาวนาพยายามมากพอก็กลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในแผ่นดินได้

เดิมทีในประวัติศาสตร์การปกครองญี่ปุ่น ผู้ที่จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่จนถึงขั้นเป็นผู้นำผู้ปกครองแผ่นดินได้ ต้องมีเชื้อสายสืบทอดจากชนชั้นสูงมา จะมาเป็นลูกชาวบ้านชานาไม่อาจเป็นได้

แต่กับฮิเดโยชินั้นไม่ แม้ตัวเขาจะมีชาติกำเนิดมาจากชนชั้นชาวนา แต่ด้วยความอดทน พยายาม อุตสาหะ ก็ทำให้ตัวเขาสามารถหาทางฝันฝ่าไต่เต้าขึ้นไปจนถึงกลายผู้นำที่กุมชะตาประเทศญี่ปุ่นได้

ใครที่มัวแต่โทษชาติกำเนิด โทษปัจจัยแวดล้อม ลองมองหาโอกาสที่ตัวเองจะลงมือทำเพื่อค่อยๆ สร้างฐานบารมีให้ตัวเองก้าวหน้าขึ้นสูงไปเรื่อยๆ แบบโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ดูนะครับ

ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน

การที่เราก้าวหน้าได้ดิบได้ดีไม่ได้การันตีว่าคนรอบตัวจะยินดีกับเราเสมอไป เพราะการที่เราก้าวหน้าในชีวิตก็หมายความว่าย่อมมีบางคนที่ไม่ได้ก้าวขึ้นมาตรงที่นั้นเพราะเราเอาไปแล้ว หรืออาจถึงขั้นมีคนที่ต้องก้าวถอยหลังลงไปเพราะการก้าวเข้ามาของเรา

ดังนั้นฮิเดโยชิเองก็นับว่าเป็นนายทหารหนุ่มที่ก้าวหน้าเร็วมากจนทำให้เป็นที่ขัดตาขัดใจของบรรดาซามูไรรุ่นเดียวกัน และช่วงแรกฮิเดโยชิก็ไม่ได้สนใจความไม่พอใจเหล่านั้น เพราะมองว่าตัวเองทำงานตามความสามารถ เมื่อทำได้ดีก็ควรจะได้ผลตอบแทนที่ดีเป็นปกติ

ทำให้วันหนึ่งตัวเองถูกใส่ร้ายป้ายสีจนต้องอัปเปหิตัวเองออกมาจากสังคมที่เคยอยู่ จากคนที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นจนรุ่งริ่งพเนจร แม้เจ้านายเขาจะรู้ว่าตัวเขาถูกใส่ร้ายป้ายสี แต่ก็ไม่อาจออกตัวปกป้องได้เพราะจะทำให้การปกครองทั้งหมดเสียหาย เลยยอมตัดใจไล่ฮิเดโยชิไป และนั่นก็กลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ตัวเขาได้รู้ว่า “ทำดีได้แต่อย่าเด่นจะเป็นภัย เพราะไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน” จนทำให้เขากลายเป็นเสือซุ่มเงียบที่คอยถ่อมตัวอยู่เสมอเมื่อเข้าร่วมกับโอดะ โนบุนางะ

ทำเกินงาน

มีคนจำนวนไม่น้อยชอบคิดว่า “จะทำเกินหน้าที่ไปทำไม ทำไปก็ไม่ได้เงินเพิ่มหรอก” ถูกครับ ทำไปก็ไม่ได้เงินเพิ่มหรอก แต่ถ้าจะให้ถูกกว่านั้นคือ “ทำไปก็ไม่ได้เงินเพิ่ม…ในทันที หรอก”

เพราะการจะทำให้สิ่งใดผลิดอกออกผลล้วนต้องใช้เวลา กับการทำงานเกินหน้าที่ก็เช่นกัน อย่างฮิเดโยชิเองก็มีเรื่องเล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งในคืนที่หิมะตก อากาศหนาวเย็นสุดๆ ตัวเขารับอาสาเฝ้ายามหน้าห้องโนบุนางะตอนกลางคืน

คืนนั้นโนบุนางะ ออกมาข้างนอกแล้วกำลังจะใส่รองเท้าแตะที่วางไว้กลับพบว่าอุ่นผิดปกติทั้งที่หิมะตกอากาศหนาวเย็นมาก ก็เลยถามฮิเดโยชิแบบทีเล่นทีจริงว่า “ทำอย่างไรรองเท้าถึงอุ่นหรือเจ้านั่งทับมันไว้”

ฮิเดโยชิบอกว่าตัวเองไม่กล้านั่งทับรองเท้าของโนบุนางะผู้เป็นนายหรอก แต่ที่รองเท้าอุ่นเพราะฮิเดโยชิเอารองเท้าแตะคู่นั้นไปซุกไว้ในเสื้อแล้วกอดแนบอกให้มันอุ่นตลอดเวลา พอถอดเสื้อให้ดูก็พบว่าหน้าอกของฮิเดโยชิเป็นรอยรองเท้าแตะจริงๆ ดังที่พูดมา

ผลคือโนบุนางะก็ยิ่งเพิ่มความไว้ใจในลูกน้องคนนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพิ่มเงินเพิ่มตำแหน่งให้เรื่อยๆ ในท้ายที่สุด แต่ต้องบอกว่าไม่ใช่เพราะการกอดรองเท้าให้อุ่นไว้ในเสื้อ แต่เพราะฮิเดโยชิทำอะไรแบบนี้สม่ำเสมอจนนายวางใจว่าไม่ได้ทำเป็นครั้งคราวเพราะหวังผลตอบแทนระยะสั้น

ใส่ใจคนหน้างาน

หลายครั้งงานไม่เดินเพราะผู้บริหารชอบเอาแต่สั่งแล้วนั่งรอดูผลลัพธ์ในห้องแอร์ที่ออฟฟิศ ในสมัยนั้นก็เช่นกัน มีตอนหนึ่งที่โอดะ โนบุนางะ สั่งการให้ซ่อมแซมกำแพงปราสาทให้เรียบร้อย แต่ผ่านไปหลายเดือนและหลายคนที่เข้ามาคุมงานก็ไม่เคยทำให้การซ่อมกำแพงนี้สำเร็จสักที

ฮิเดโยชิ เลยอาสาเป็นผู้จัดการซ่อมแซมให้ เขาไม่ได้เริ่มต้นด้วยการสั่ง แต่เริ่มต้นด้วยการสั่งเหล้ายาอาหารมาเลี้ยงช่างก่อสร้างคนทำงานแบบจัดเต็มก่อนเริ่มงาน ก็เพื่อซื้อขวัญกำลังใจให้คนหน้างานอยากทำงานให้ หลังกินเลี้ยงเสร็จวันถัดมาก็มีการแบ่งกลุ่มการทำงานที่ชัดเจน

แต่ละกลุ่มซ่อมแค่คนละส่วนของกำแพงนั้น ส่งผลให้ผลงานของแต่ละกลุ่มเห็นได้ชัดว่ากลุ่มไหนอู้ กลุ่มไหนตั้งใจทำงาน จากการทำแบบนั้นทำให้กำแพงปราสาทสามารถซ่อมเสร็จได้ในเวลาแค่ 3 วัน

โนบุนางะยิ่งชอบใจและตบรางวัลให้เขามากยิ่งกว่าตอนแรกที่สัญญาว่าจะให้ไว้ แถมยังเลื่อนตำแหน่งให้ตัวเขากลายเป็นนายทหาร ทำให้เขาสามารถยกระดับตัวเองขึ้นมาเทียบเท่าขุนนางระดับล่างได้ในเวลานั้น

การใส่ใจคนหน้างานนั้นสำคัญ ต้องลงไปคลุกคลีกับเขาถ้าอยากให้เขาทำงานให้เรามากกว่าเดิม

ถ้าชนะแล้วไม่ได้อะไร ถ้อยทีถ้อยอาศัยดีกว่า

สมัยโอดะ โนบุนางะ ผู้เป็นนายของโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ นั้นเป็นผู้ปกครองที่ได้ชื่อว่าโหดเหี้ยมและเด็ดขาดที่สุด เลือกรบมากกว่าเจรจา เน้นการประกาศศึกสงครามเพื่อให้ทั้งแผ่นดินได้รู้ว่าตัวเขาคือผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด

แต่กับฮิเดโยชินั้นมองต่าง ตัวเขาเห็นว่าถ้าชนะไปแล้วมีแต่ความเสียหายหนักทั้งสองฝ่าย การชนะศึกนั้นไปกลับไม่เกิดประโยชน์อะไรด้วยซ้ำ สู้ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยถอยกันคนละก้าว หาทางเจรจาหาทางลงร่วมกันย่อมเกิดประโยชน์มากกว่า

มันไม่ใช่การประนีประนอม แต่เป็น Win Win คือทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันโดยลดความสูญเสียไปให้มากที่สุด และนั่นทำให้ในสมัยของฮิเดโยชินั้นมีแต่ผู้เข้ามาสวามิภักดิ์จำนวนมาก ตัวเขาจึงกลายเป็นผู้ที่สามารถรวมอำนาจทั้งแผ่นดินญี่ปุ่นไว้ในช่วงชีวิตของเขาได้

เทียบกับนายผู้ชอบการรบพุ่งทำให้การรวบรวมแผ่นดินไปไม่ถึงฝั่ง ดังนั้นก่อนคิดจะเอาชนะคะคานเรื่องอะไร ลองชั่งใจให้แน่ก่อนว่าชัยชนะนั้นเราได้มากกว่าเสีย

สร้างปราสาทเพื่อทำลายประสาทศัตรู

ใช่ครับ คุณอ่านไม่ผิด ครั้งหนึ่งฮิเดโยชิได้ทำการแอบซุ่มสร้างปราสาทขนาดใหญ่บนภูเขาตอนที่กำลังรบพุ่งอยู่กับศัตรูอย่างตระกูลโฮโจ

แน่นอนว่าการสร้างปราสาทให้เสร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งที่เขาทำคือการแอบสร้างอย่างเงียบๆ แล้วให้ต้นไม้ใหญ่บนเขาเป็นที่กำบัง จนพอสร้างเสร็จเรียบร้อยตัวเขาถึงได้สั่งทหารให้โค่นต้นไม้ที่บังอยู่ทั้งหมดออก

กลายเป็นว่าฝ่ายศัตรูตกใจหนักจนเสียขวัญไม่อยากรบ เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมฝั่งตรงข้ามอย่างฮิเดโยชิจึงสามารถสร้างปราสาทได้เสร็จในวันเดียว เพราะวันก่อนหน้ายังเห็นแต่ต้นไม้อยู่เลย

ท้ายที่ทหารหลายคนในกองทัพศัตรูได้ทยอเข้ามามอบตัวและเข้าร่วมด้วย จนทำให้ทั้งกองทัพยอมแพ้ และฮิเดโยชิเองก็ได้ชัยชนะไปแบบไม่ต้องเสียเลือดเนื้อเสียทีเดียว

กลยุทธ์อ้างบุญเพื่อลดอาวุธ

หลังจากฮิเดโยชิได้รวบแผ่นดินญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ ตัวเขาก็ยังไม่วางใจเพราะในเวลานั้นยังมีกองกำลังอิสระอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะกองทัพชาวนาติดอาวุธ หรือกองกำลังพระสงฆ์ที่แข็งแกร่งมาก

ตัวเขาเลยได้คิดกลยุทธ์ขึ้นมาว่าจะทำลายความสามารถในการรบของคนเหล่านั้น นั่นเลยเป็นที่มาของไอเดียล่าดาบในสมัยการปกครองของฮิเดโยชิ

แต่การจะล่าดาบ หรือการขอริบดาบชาวชาวบ้านพระสงฆ์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อยู่ดีๆ ใครจะมอบดาบให้ ก็เลยต้องมีกลยุทธ์สักหน่อย นั่นก็คือการป่าวประกาศว่าจะมีการสร้างพระพุทธ์รูปบูชาเพิ่ม เลยต้องการเหล็กดีๆ มาหลอมเพื่อสร้างพระให้คนกราบไว้ แล้วก็หลอกล่อเพิ่มเติมด้วยการบอกว่าจะส่งผลให้ได้บุญอย่างมากจนส่งต่อถึงชาติหน้าว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น

ชาวบ้านจำนวนมากยินดีบริจาคดาบหรืออาวุธที่มีให้ ส่วนผู้ที่ไม่เต็มใจก็ถูกมองว่าเป็นคนบาป ท้ายที่สุดคนจำนวนมากไม่กล้าขัดขืน นี่คือกลยุทธ์การล่าดาบ ลดศัตรู ด้วยการอ้างบุญทำให้คนปฏิเสธลำบาก

สรุปหนังสือ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ Toyotomi Hideyoshi

สรุปหนังสือ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ Toyotomi Hideyoshi จากชาวนาสู่โชกุนผู้กุมอำนาจญี่ปุ่น เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป เขียนสำนักพิมพ์ Gypzy

นี่คือซามูไรคนที่สองในยุคเซ็นโงกุ ยุคแย่งชิงอำนาจเพื่อรวบรวมญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่ง คนแรกคือโอดะ โนบุนางะ ผู้มีฝันแต่ไม่อาจบรรลุได้ด้วยกำลังและความรุนแรง จนกลายเป็นบทเรียนให้ฮิเดโยชิเองเลือกที่จะไม่เน้นความรุนแรงหรือการรบพุ่งเป็นหลัก แต่เน้นการเจรจา การร่วมมือจนทำให้สามารถรวบรวมญี่ปุ่นเป็นหนึ่งเดียวได้

แต่ทั้งหมดยังไม่จบเท่านี้ เรื่องนี้จะถูกปิดท้ายด้วยโชกุนตระกูลสุดท้ายในประเทศญี่ปุ่น นั่นก็คือ โตคุงาวะ อิเอยาสึ ผู้ที่สามารถรวบรวมญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งแบบเบ็ดเสร็จ ผู้ที่ดำเนินนโยบายปิดประเทศญี่ปุ่นจนทำให้เกิดความสงบขึ้นสองร้อยกว่าปี จนเกิดการปรากฏตัวของเรือดำ หรือเรือรบจากสหรัฐอเมริกา

บทสรุปตอนหน้าของสามวีรบุรุษผู้รวมแผ่นดินญีปุ่นจะเป็นอย่างไร ติดตามเพจอ่านแล้วเล่าไว้ได้เลยครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 16 ของปี

สรุปหนังสือ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ Toyotomi Hideyoshi
สร้างโอกาสเพื่อยึดแผ่นดิน
ชุดสามวีรบุรุษผู้รวมแผ่นดินญี่ปุ่น
เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป เขียน
สำนักพิมพ์ Gypzy

อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ในอ่านแล้วเล่าต่อ: https://www.summaread.net/category/japan/

สั่งซื้อออนไลน์: https://shope.ee/605P2lF0bX

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/