ต้องบอกนี่ไม่ใช่หนังสือการตลาดแต่ชื่อหนังสือโคตรการตลาดมากๆ เพราะลำพังแค่ชื่อหนังสือ นี่เงินเดือนหรือเงินทอน ก็สามารถเรียกความสนใจให้คนต้องหยุดหันมามองพร้อมกับอุทานในใจว่า “หืม อะไรนะ?” เพราะชื่อหนังสือช่างเป็นเรื่องจริงที่เสียดแทงใจคนส่วนใหญ่ในประเทศ ในวันที่ชักหน้าไม่ค่อยจะถึงหลัง ในวันที่มีเงินเดือนเท่าไหร่ก็ไม่ค่อยพอใช้ ในวันที่เราถูกโฆษณามากมายหล่อหลอมให้ซื้อข้าวของต่างๆ กันเข้าไป ในวันที่เงินเดือนขึ้นแต่ละปีขึ้นไม่ทันกับอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลให้เงินที่มีมูลค่าลดลงทุกวัน ดังนั้นแว๊บแรกตอนโอมศิริ วีระกุล ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้บอกว่า “พี่หนุ่ยครับ ผมออกหนังสือเล่มใหม่แล้ว อยากส่งให้พี่หน่อย” ผมคิดในใจตอนแรก หนังสือการเงินอีกละ ตกปากรับคำรับไปงั้นๆ แหละ เอามากองดองๆ ไว้อีกเล่มเพื่อไม่ให้เสียน้ำใจเพื่อนแล้วกัน

แต่พอได้เห็นหน้าปกชื่อหนังสือเล่มนี้ก็นั่นแหละครับ มันช่างกระตุกต่อมความสนใจของผมมากๆ ทำเอาผมรีบหยิบขึ้นมาอ่านโดยทันทีครับว่าหนังสือเล่มนี้มันจะหยิบเอาชีวิตจริงตอนเป็นพนักงานเงินเดือนที่รู้สึกประจำเมื่อเงินเดือนออกว่า นี่เงินเดือนหรือเงินทอนวะ?

หนังสือนี่เงินเดือนหรือเงินทอนของโอมเล่มนี้อ่านง่าย แต่ไม่ใช่แค่อ่านง่ายอ่านเพลิน แต่ยังอ่านสนุกได้ความรู้พร้อมสาระ แถมยังแอบรู้สึกว่าโอมใส่เรื่องราวการตลาดเข้าไปไม่น้อย เอาเป็นว่าในฐานะที่ผมเป็นแฟนคลับหนังสือโอมมานานก่อนจะรู้จักกัน ตั้งแต่หนังสือเปิดเทอมใหญ่วัยทำงาน และก็มาจนหนังสือเล่มล่าสุดของโอมเล่มนี้ครับ

ถ้าอย่างนั้นผมขอหยิบบางช่วงบางตอนในหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเล่าเพื่อเรียกน้ำลายเรียกน้ำย่อยของคุณให้อยากซื้อทั้งเล่มมาอ่านแบบเต็มๆ โดยไม่มีอะไรขวางกั้นก็แล้วกัน

การตลาดชิ้นสุดท้าย

โอมเล่าว่าวันหนึ่งเขาถูกพ่อค้าขายสลักตกด้วยคำว่า “วันนี้ขายดีมาก กล่องสุดท้ายแล้ว ไม่ซื้อติดมือไปชิมหน่อยหรอครับ”

ประโยคนี้ทำให้โอมที่ไม่คิดจะซื้อสลัดกลับบ้านต้องยอมใจควักเงินซื้อสักหน่อยด้วยคำว่า “กล่องสุดท้ายแล้ว”

สำหรับผมรู้สึกปิ๊งกับไอเดียการขายแบบนี้มาก เพราะคำว่ากล่องสุดท้าย ชิ้นสุดท้าย หรือถุงสุดท้าย มันกลายเป็นการการันตีโดยกลายๆ ว่าของร้านนี้ต้องดีจริงไม่อย่างนั้นไม่ขายจนหมดเกลี้ยงจนเหลือแค่ชิ้นสุดท้ายหรอก

ได้ยินแบบนี้แล้วก็อย่าลืมเอากลยุทธ์นี้ไปปรับใช้กันนะครับ อะไรก็ตามที่คุณขายให้เติมคำว่า “…สุดท้ายแล้วนะครับ” ผมเชื่อว่าประโยคนี้มีพลังมากพอจะทำให้คนยอมควักเงินซื้อไปลองกินเป็นคนสุดท้ายของร้านคุณได้ไม่ยาก

แล้วคุณค่อยหยิบชิ้นสุดท้ายอีกชิ้นขึ้นมาวางขายอีกรอบก็ยังไม่สายครับ

แค่เปลี่ยน Font ก็ประหยัดได้หลายแสน

ก็ใครจะไปคิดหละครับว่าแค่เปลี่ยน Font ในการพิมพ์งานหรือพิมพ์เอกสารต่างๆ ออกมาจะสามารถช่วยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาประหยัดงบประมาณไปได้กว่า 11,000 ล้านบาท

เรื่องมีอยู่ว่าซูเวียร์ เมอร์ชานดานี เขาเสนอไอเดียในการประหยัดงบประมาณฝ่ายจัดการเอกสารของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไปกว่า 370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการที่เขาสังเกตเห็นว่าบรรดาใบปลิวต่างๆ ที่พิมพ์แจกกันมากมายตลอดทั้งปีของโรงเรียนที่เธอเรียนอยู่ ณ เวลานั้น นอกจากจะหันมาใช้กระดาษรียูสแล้วน่าจะสามารถประหยัดหมึกในการพิมพ์ลงไปได้โดยที่ทำให้เนื้อหาที่ต้องการสื่อสารไม่ได้ลดความเข้าใจไปแต่อย่างไร

เธอได้ทำการทดสอบการพิมพ์ข้อความแบบเดียวกันจากหลายๆ Font หรือรูปแบบตัวอักษรจนค้นพบว่าฟอนต์ของ Garamond นั้นสามารถประหยัดหมึกพิมพ์ได้มากกว่าฟอนต์ประเภทอื่นๆ เพราะ Garamond เป็นฟอนต์ที่มีลักษณะไม่หนามากนั่นเอง

จากการทดลองง่ายๆ แค่นี้เธอเอาไปคำนวนกับค่าใช้จ่ายของโรงเรียนที่ต้องพิมพ์ในแต่ละปีพบว่าถ้านำวิธีที่เธอค้นพบไปใช้จะสามารถประหยัดหมึกลงไปได้กว่า 24%

แล้วเมื่อนำ 24% ไปคูณกับสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาต้องพิมพ์ทั้งปีก็สามารถตีเป็นเงินได้มากกว่า 11,000 ล้านบาทเชียวครับ

ก่อนอายุเท่านี้จะมีเงินเท่าไหร่

ผมชอบบทนี้เป็นการส่วนตัว โอมเล่าให้ฟังว่าเขาเคยถูกน้องคนนึงถามว่าถ้าเราอายุเท่านี้เราควรมีเงินเท่าไหร่ หรือมีทรัพย์สินเท่าไหร่ นี่คงเป็นคำถามสุดคลาสสิคที่มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ชอบถามตัวเองประจำเพราะมักเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเสมอ

เรามักรู้สึกว่าชีวิตเราด้อยเมื่อเราเปรียบเทียบกับคนที่อายุใกล้เคียงกันแต่กลับดูประสบความสำเร็จมากกว่า แล้วจากคำถามที่มักจะถามกันว่าอายุเท่านี้ควรมีเงินเท่าไหร่ก็ทำให้เรามักติดอยู่กับการเก็บเงินให้ได้มากที่สุดจนเกินไป หรือถ้าจะเป็นการลงทุนก็มักจะไปลงทุนกับอะไรที่มองแต่ผลกำไรสูงสุดที่คาดว่าจะได้ จนลืมคิดไปว่าการลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวเองเพื่อให้สามารถสร้างเงินในอนาคตได้ง่ายกว่านี้

โอมเล่าว่าเขาเองก็เคยไปลงทุนทำร้านอาหารแล้วก็เสียเงินหลักแสนไปเปล่าๆ เมื่อถูกถามว่าเสียดายไหมโอมก็บอกตรงๆ ว่าเสียดาย แต่สิ่งที่โอมรู้สึกว่าได้กำไรจากการเสียเงินหลักแสนไปก็คือประสบการณ์ที่หาจากที่ไหนไม่ได้ เพราะความล้มเหลวหลักแสนเป็นครูชั้นดีให้โอมได้เรียนรู้ เรียกได้ว่าต่อให้คุณเอาเงินหลักแสนไปลงหลักสูตรโก้ๆ เก๋ๆ ก็ไม่มีที่ไหนให้ประสบการณ์จริงที่เข้มข้นแบบนี้ได้

ที่ผมอินเรื่องนี้เพราะทำให้ผมนึกถึงผู้เรียนคนหนึ่งที่เคยมาลงเรียนคอร์ส Service design for marketing กับผมว่า หัวหน้าเขาถามว่าจ่ายเงินมาลงเรียนคลาสนี้แล้วจะได้อะไรกลับไป ให้ทำรายงานคำนวน ROI หรือ Return of Investment กลับมาบอกที

ผมบอกว่าชีวิตจริงเราจะมัวมาคิดแบบนี้ไม่ได้ เพราะถ้าเราเอาแต่คำนวนหา ROI ชีวิตเราคงไม่ได้เดินหน้าไปสู่เส้นทางใหม่เป็นแน่ การคำนวน ROI ได้มันมาจากคำนวนในอดีตแล้วเอามาคาดการณ์ว่าถ้าทำแบบเดิมซ้ำอีกเราน่าจะได้ผลลัพธ์กลับมาแบบไหน สิ่งหนึ่งที่ผมแนะนำไปคือให้เปลี่ยนจาก ROI เป็น ROL หรือ Return of Learning หรือถ้าเรามีงบให้เรียนรู้สิ่งใหม่ได้โดยไม่ทำให้ธุรกิจเสียหายปีละเท่าไหร่กัน

ส่วนตัวผมเองก็กันเงินส่วนหนึ่งไว้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ปีนี้ผมจัดงาน Hackatron ของตัวเองขึ้นมาโดยไม่มีประสบการณ์ใดๆ ควักเงินส่วนตัวไปร่วมแสนเพราะอยากจะได้ประสบการณ์แบบทันใจแต่เข้มข้น ซึ่งก็พบว่าเป็นการลงทุนเพื่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่คุ้มค่ามาก เพราะไม่มีที่ไหนหรอกครับที่จะสอนให้คุณได้อย่างถึงพริกถึงขิงเท่ากับการลงทุนทำเอง

หรือผมลงทุนในการจะทำบริษัทใหม่ที่จะสร้าง Digital Product บางอย่างขึ้นมา แน่นอนว่าถ้าผมไปลงเรียนทั่วไปก็คงจะพอรู้ได้ แต่จะมีอะไรได้รู้ลึกและรู้จริงยิ่งกว่าการทดลองสร้างมันขึ้นมาเพื่อเรียนรู้ว่าถ้ามันจะผิดพลาดมันจะผิดพลาดแบบไหนอย่างไรได้บ้าง

จะเรียกเก๋ๆ ว่า Sandbox ก็ได้ครับ แต่ไม่ใช่ปราสาททรายอย่างที่ใครเขาว่ากันนะ แต่เป็น Sandbox ที่พร้อมสำหรับความผิดพลาดในระดับเล็กๆ ก่อนจะขยายไปสู่การสเกลที่ใหญ่ขึ้นในวันหน้าครับ

ดังนั้นผมอยากจะทิ้งท้ายในบทนี้ไว้ว่าถ้าคุณอายุยังน้อย ยังอยู่ในวัยเลขสองหรือเลขสามต้นๆ ผมอยากให้คุณแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาลงทุนกับตัวเองให้มากขึ้น เพราะตัวคุณเองนี่แหละครับคือเครื่องมือทำเงินที่ดีที่สุดตลอดชีวิต

ลงทุนกับความรู้ใหม่ ลงทุนกับการมีคอนเนคชั่น แล้วก็อย่าลืมลงทุนกับการให้คนอื่นมากกว่าเดิมทุกวัน เพราะมีแต่การให้เท่านั้นแหละครับที่จะทำให้คุณได้รับกลับมา

รับสมัครงานขายลูกชิ้น ไม่มีเงินเดือนให้

ผมขอปิดท้ายด้วยบทนี้จากหนังสือนี่เงินเดือนหรือเงินทอน ผมชอบบทนี้มากตรงที่โอมเล่าให้ฟังว่ามีชายคนหนึ่งต้องการขยายธุรกิจขายลูกชิ้นของตัวเองให้เร็วที่สุด แต่ในขณะเดียวกันตัวเขาเองในตอนนั้นก็ไม่มีทุนรอนมากพอที่จะจ้างคนออกไปกระจายขายลูกชิ้นให้เร็วทันใน

แต่ในขณะเดียวกันเจ้าตัวก็มีภาระหนี้สินที่ต้องรีบจ่ายให้หมดในแต่ละเดือน เมื่อคำนวนแล้วพบว่าต้องขายให้ได้กำไรวันละ 3,333 บาท คำถามคือทำอย่างไรถึงจะขยายการขายให้ทันโดยที่ไม่มีต้นทุนในการจ้างคนออกไปขายได้มากมาย

เขาเลยทำประกาศรับสมัครงานที่โคตรจะการตลาดอีกแล้วด้วยคำว่า “รับสมัครงานขายลูกชิ้น ไม่มีเงินเดือนให้”

เมื่อเจ้าป้ายประกาศแบบนี้ก็ทำเอาหลายคนสงสัย แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้คนที่สนใจเดินเข้ามาถามรายละเอียดว่ามันเป็นอย่างไรที่ว่าไม่มีเงินเดือนให้ เพราะเจ้าตัวบอกว่าให้เป็นเปอร์เซนต์ยอดขายส่วนแบ่งแทน

เรียกได้ว่าป้ายประกาศรับสมัครงานเดียวกันกลายเป็นทั้งโฆษณาชั้นดีในตัว และก็ยังกลายเป็นเครื่องคัดกรองคนที่ใช่เท่านั้น หลังจากติดป้ายไปไม่นานก็สามารถขยายตัวแทนนำไปขายได้มากพอ จนในที่สุดแล้วเข้าก็ทำยอดขายได้วันละ 3,333 บาทในไม่นาน และหลังจากนั้นก็สามารถขายได้เกินกว่าภาระหนี้สินที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน

สรุปส่งท้ายกับหนังสือนี่เงินเดือนหรือเงินทอน

ผมต้องขอชมโอมศิริ วีระกุล จริงๆ ครับที่สามารถเขียนหนังสือสอนการใช้เงินและหาเงินแบบคนทั่วไปธรรมดาอ่านได้สนุก และยังได้ความรู้สาระ ที่สำคัญยังมีเรื่องราวการตลาดแทรกเข้าไปให้เราได้เก็บเอาไปใช้ในการหาเงินเสริมหารายได้เพิ่มในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจแสนจะฝืดเคืองแบบนี้

หนังสือนี่เงินเดือนหรือเงินทอนผมขอยกให้เป็นหนังสือที่ตั้งชื่อได้โคตรจะการตลาดที่สุดเท่าที่จำความได้ นอกจากผู้เขียนจะหน้าตาดีและนิสัยดีแล้ว ยังคงเป็นคนอารมณ์ดีจนผมแอบหมั่นใส้ ผู้ชายอะไรช่างเพอร์เฟ็คจริงๆ มีข้อเสียกับเขาบ้างไหมนี่

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 12 ของปี

สรุปหนังสือ นี่เงินเดือนหรือเงินทอน
30 ความเรียงเรื่องชีวิตและการเงินฉบับอารมณ์ดี ที่จะช่วยให้เงินเดือนของเราไม่กลายเป็นเงินทอน
โอมศิริ วีระกุล เขียน
สำนักพิมพ์ซีเอ็ด

อ่านสรุปหนังสือการเงินในอ่านแล้วเล่าต่อ > https://www.summaread.net/category/finance/

สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ > https://bit.ly/374TYad

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/