สรุปหนังสือ For Money to Change The World เงินเปลี่ยนโลก กิรญา เล็กสมบูรณ์ เขียน เมื่อเงินขับเคลื่อนโลก อยากเปลี่ยนโลกแค่เปลี่ยนทิศทางเงิน

สรุปหนังสือ For Money to Change The World เงินเปลี่ยนโลก หนังสือที่จะทำให้คุณรู้ว่าโลกใบนี้ขับเคลื่อนด้วยเงินขนาดไหน และเงินขับเคลื่อนโลกใบนี้มานานเท่าไหร่แล้ว อย่างโลกรถยนต์ทุกวันนี้ที่อยู่ระหว่างทางเลือกของพลังงานไฟฟ้ากับพลังงานน้ำมันฟอสซิลเดิม สาเหตุหนึ่งที่พลังงานไฟฟ้าน่าจะเอาชนะขาดไม่ได้ง่ายๆ ก็เพราะบรรดาธนาคารทั้งหลายล้วนลงเงินลงทุนไปกับบริษัทน้ำมันดั้งเดิมไปมหาศาล

ลองคิดภาพว่าถ้าคุณปล่อยเงินให้บริษัทน้ำมันกู้ไปหลายหมื่นหลายแสนล้านดอลลาร์ คุณจะยอมปล่อยให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเข้ามาทำให้โอกาสที่เงินลงทุนที่คุณให้ไปจะเสียหายได้ง่ายๆ หรอ

หรือการผลิตไฟฟ้าในบ้านเราก็ถูกขับเคลื่อนด้วยเงินเช่นกัน ที่บ้านเราค่าไฟแพงขึ้นทุกวันๆ ไม่ใช่เพราะการไฟฟ้าไม่มีกำลังการผลิตแล้ว แต่การไฟฟ้าถูกจำกัดการผลิตไฟในตัวเอง และถูกสั่งให้ต้องไปซื้อพลังงานทางเลือกจากเอกชนจำนวนมหาศาลแทน

เงินเปลี่ยนโลกยุคเริ่ม

ถ้าย้อนกลับไปให้นานกว่านี้หน่อย ยุคล่าอาณานิคมของยุโรปเองก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ใช้เงินเปลี่ยนโลกเช่นกัน บริษัทสำรวจอินเดียของอังกฤษกับดัตช์ ที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ Dutch East Indian Company กับ East India Company ของ British (ได้ยินบ่อยๆ ในภาพยนต์เรื่อง Pirate of The Caribbean) แม้ชื่อบริษัทจะคล้ายกันมากต่างกันแค่ว่ามาจากประเทศไหน แต่วิธีการรวมเงินระดมทุนนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง

ฝั่งอังกฤษเองใช้การรวมเงินระดมทุนจากชนชั้นสูง แต่ทางฝั่งดัตช์เองนั้นระดมเงินจากประชาชนทุกคนที่สนใจจริงๆ คนที่เอาเงินมาลงทุนก็จะได้รับใบหุ้นบริษัทไป เรียกได้ว่าบริษัท Dutch East Indian Company เป็นบริษัทมหาชนแรกของโลกก็ว่าได้

ในช่วงเวลาเดียวกันทางอังกฤษก็เกิดวัฒนธรรมกาแฟขึ้นมา มีร้านกาแฟผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วกรุงลอนดอน ร้านกาแฟดังๆ ที่เป็นจุดกำเนิดของโลกการเงินสมัยใหม่ก็อย่างเช่น ร้านกาแฟโจนาธาน Jonathan’s Coffee

Jonathan’s Coffee ร้านกาแฟที่มีการเขียนราคาหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ลงบนกระดานและกระดาษในปี 1698 จนกลายเป็นศูนย์รวมบรรดานักซื้อขายหุ้น นักลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า กลายเป็นจุดศูนย์กลางของเหล่าโบรกเกอร์ทั่วลอนดอน จนทำให้ลอนดอนค่อยๆ กลายเป็นศูนย์กลางการเงินโลกในท้ายที่สุด

ส่วนอีกหนึ่งร้านกาแฟสำคัญที่สร้างประวัติศาสตร์การเงินโลกด้านธุรกิจประกันภัยก็คือ Lloyd’s Coffee House ร้านกาแฟธรรมดาที่รวมเหล่านักเดินเรือ คนที่เกี่ยวกับการเดินเรือทั้งหลายไว้อย่างน่าสนใจ เหล่าคนเดินเรือมักมารวมตัวที่ร้านกาแฟแห่งนี้กัน จนค่อยๆ ก่อให้เกิดการแชร์ข้อมูลของเรือแต่ละลำ จนนำไปสู่การเกิดบริษัทประกันภัยระดับโลกอย่าง Lloyd’s Insurance ในท้ายที่สุด

นี่คือจุดเริ่มต้นของเงินเปลี่ยนโลกที่ชัดเจนยุคแรก ลองมาดูเงินเปลี่ยนโลกยุคถัดมาอีกสักนิดดีกว่า

เงินเปลี่ยนโลกให้กลายเป็นฟองสบู่

ฟองสบู่ คำนี้ใครที่พอจะรู้เรื่องการเงินการลงทุนอยู่บ้าง ต่างพอเข้าใจดีว่าหมายถึงภาวะที่คนเห่ออะไรกันมากๆ จนทำให้ราคามันลอยสูงขึ้น แต่ท้ายที่สุดมันก็แตกไป ถ้าง่ายที่สุดใกล้ตัวที่สุดก็คงจะเป็นพวกกระแสการลงทุนในคริปโตต่างๆ ที่ช่วงนึงคนรวยกันเร็วมาก แต่ลงท้ายก็เจ๊งกันมากกว่ารวย

ฟองสบู่หนึ่งที่น่าสนใจของฝั่งอเมริกาที่ก่อให้เกิดยุค Long Depression (ยังไม่ใช่ Great Depression) คือฟองสบู่หุ้นรถไฟ ยุคนั้นอเมริกานิยมสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมเมืองและรัฐต่างๆ มากมายที่กว้างใหญ่ และก็บอกว่าบรรดาที่ดินที่อยู่รอบสถานีรถไฟต่างๆ จะกลายเป็นที่ดินมูลค่าสูง จะก่อให้เกิดการค้าขายและผู้คนเดินทางมากมาย จากคำโฆษณานั้นก็ทำให้หุ้นรถไฟอเมริกากลายเป็นฟองสบู่ดีๆ ที่ทำเอาผู้คนหลงเชื่อติดดอยเสียหายกันมหาศาล

เปลี่ยนโลกของเงินด้วยกฏหมายเอื้อเศรษฐี

แน่นอนว่านักลงทุนทุกคน เจ้าของเงินทุกคนล้วนอยากหาทางเก็บรักษาเงินที่หามานั้นไว้กับตัวให้ได้มากที่สุด การหาทางหลบเลี่ยงภาษีอย่างถูกกฏหมายกลายเป็นเรื่องปกติของคนรวย ควรเอาเงินไปลงทุนแบบไหนจึงจะทำให้ได้การลดหย่อนมากที่สุด หรือถ้าไม่เสียภาษีเลยจะถือว่าสวรรค์ที่สุดครับ

ทำให้บางประเทศหรือบางรัฐ เขียนกฏหมายด้านการเงินและภาษีขึ้นมาใหม่ เพื่อเอื้อให้บรรดามหาเศรษฐีทั้งหลายโยกย้ายเงินมายังประเทศเหล่านั้น ไม่ว่าจะหมู่เกาะโน้น ดินแดนนั้น หรือแม้แต่บางรัฐในอเมริกาก็มีจำนวนบริษัทจดทะเบียนเยอะกว่าจำนวนประชากรทั้งรัฐนั้นก็เพราะกฏหมายทางการเงิน นั่นก็คือรัฐเดลาแวร์

รัฐเดลาแวร์ออกแบบกฏหมายใหม่ให้กลายเป็นสวรรค์ทางการเงินของบรรดามหาเศรษฐี จดทะเบียนบริษัทที่รัฐอื่นอาจเสียภาษีปกติ แต่ถ้ามาจดทะเบียนบริษัทที่รัฐนี้จะเสียภาษีน้อยมาก

ส่วนถ้าถามว่ารัฐเหล่านี้ทำแบบนั้นไปจะได้อะไร ได้ภาษีน้อยกว่ารัฐอื่นจะได้เปรียบอย่างไร คิดภาพรัฐหรือประเทศที่ดูดกันดานไม่มีใครอยากมาลงทุน แต่พอออกสิทธิพิเศษทางภาษีให้กับบรรดามหาเศรษฐีหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ การที่ภาษีต่างกันไม่กี่เปอร์เซนต์ก็ส่งผลให้ประหยัดเงินไปได้ไม่รู้กี่พัน กี่หมื่น หรือกี่แสนล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว

ทำให้รัฐอย่างเดลาแวร์เองที่มีประชากรอยู่อาศัยไม่ถึงล้าน กลับมีบริษัทมาจดทะเบียนมากกว่า 1.6 ล้านบริษัทแล้ว ฉะนั้นการออกกฏหมายให้หลบเลี่ยงภาษีได้ง่าย จึงเป็นการดึดดูดเม็ดเงินภาษีจากที่อื่นให้ไหลเข้ามานั่นเองครับ

อย่างบ้านเราก็มีสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับบริษัทในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสียภาษีในอัตราพิเศษมาก ถ้าอยากรู้ก็ไปเสิร์จหาข้อมูลกันต่อนะครับ

สวิตเซอร์แลนด์ สวรรค์ของมหาเศรษฐี

พูดถึงเรื่องการหลบเลี่ยงภาษี การดูแลรักษาเงินของมหาเศรษฐี คงจะไม่พูดถึงประเทศสวิตเซอร์แลนด์แห่งนี้ไม่ได้ เพราะประเทศสวิตเซอร์แลนด์ขึ้นชื่อเรื่องนี้เป็นอย่างมาก พวกเขาเริ่มมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่รับฝากเงินของทั้งชาวยิว และนาซีควบคู่กัน แถมยังเอาเงินทั้งหมดไปเก็บยังฐานทัพต่างๆ

ทุกวันนี้สวิตเซอร์แลนด์ถึงขั้นออกเป็นกฏหมายว่า การเปิดเผยข้อมูลลูกค้าในธนาคารถือเป็นความผิดทางอาญา ทำให้ประเทศนี้เป็นสวรรค์ของคนมีเงินไม่ว่าจะขาว เทา หรือดำ อย่างที่สุดจริงๆ

from Bench to Bank จากม้านั่งแลกเงินสู่ธนาคารฝากเงิน

จากจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนเงินตราในสมัยโรมันที่มักทำกันที่ม้านั่งในตลาด ที่เรียกว่า Bancu แล้วในภาษีอิตาลีก็เรียกว่า Banco จนมาถึงภาษีอังกฤษที่กลายเป็น Bank ที่กลายเป็นเคาเตอร์ฝากเงินจริงจัง หรือกลายเป็นธนาคารหรูหราสำหรับลูกค้าชั้นดีไม่กี่คน

สุดท้ายสรรพากรไทยก็ล้ำสมัยด้วยการใช้ Blockchain คืนเงินภาษีนะ

ใครจะไปคิดว่าหน่วยงานไทยๆ อย่างสรรพากรนั้นจะทันสมัยมานานแล้ว เพราะวิธีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาใช้เงินในบ้านเรานั้นจะทำผ่านเทคโนโลยี Blockchain ที่มีชื่อว่า Thailand VRT

ทำให้การคืนเงินมีความปลอดภัย มั่นใจ ไม่ซ้ำซ้อน เรียกได้ว่าเป็นความน่าภูมิใจของประเทศไทยเราที่คนไทยจำนวนไม่น้อยไม่รู้ อย่างน้อยก็มีผมที่เพิ่งรู้คนนึงนี่แหละ

สรุปหนังสือ For Money to Change the World เงินเปลี่ยนโลก

รู้มั้ยครับว่าแม้เงินดอลลาร์จะกลายเป็นเงินตราหลักของโลก แต่ทุกวันนี้เงินดอลลาร์ก็ถูกใช้แค่ 25% ของโลกเท่านั้น แต่ในยุคสมัยหนึ่งเงินปอนด์ของอังกฤษกลับเคยถูกใช้ทั่วโลกมากกว่า 80% น่าจะเรียกว่าเป็นเงินตราของโลกสกุลแรกมากกว่า ทำให้ลอนดอนในยุคนั้นกลายเป็นศูนย์กลางการเงินโลก และก็ยังคงได้รับสมญานามนั้นถึงทุกวันนี้

สิงค์โปรเองก็เป็นชาติที่รุ่งเรืองขึ้นมาได้ก็เพราะวางเป้าตัวเองเป็นศูนย์กลางการเงินโลก ที่เชื่อมต่อกระแสเงินทั่วโลกที่เริ่มต้นจากลอนดอน ไปอเมริกา และข้อมูลทางการเงินแทนที่จะจบแค่นั้นรอหยุดพักให้ลอนดอนเปิดทำการ ก็ถูกส่งต่อให้สิงค์โปรรับกระแสเงินนั้นต่อ ในการเตรียมพร้อมส่งต่อให้ตลาดเงินในลอนดอนเปิดทำการในวันถัดไป

จากจุดเชื่อมต่อของการไหลเวียนข้อมูลเงินนี้เองทำให้โลกการเงินทุกวันนี้ไม่มีคำว่าหยุดพัก เงินหมุนตามความสว่างของแสงไฟไปเรื่อยๆ ระหว่างที่เรากำลังหลับอยู่แต่เงินทั้งหลายกลับทำงานกันครึกครื้นไม่มีหลับ

และนี่ก็คือเรื่องราวของเงินที่เปลี่ยนโลกเราอยู่ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคตต่อไปอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง อยากเปลี่ยนโลกเริ่มจากการเปลี่ยนทิศทางเงิน อยากให้โลกหมุนไปทางหัน ไหนกระแสเงินไปทางนั้นครับ

อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือ เล่มที่ 2 ของปี 2024

สรุปหนังสือ For Money to Change The World เงินเปลี่ยนโลก
เพราะอนาคตคือคือดอกผลจากการลงทุนในวันนี้ เราจะใช้เงินเพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ในการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างไร
กิรญา เล็กสมบูรณ์
สำนักพิมพ์ GYPZY

อ่านสรุปหนังสือแนวการเงินในอ่านแล้วเล่าต่อ : https://www.summaread.net/category/finance/

สั่งซื้อออนไลน์
https://shope.ee/1LHawG1dwb
https://shope.ee/4VEci5y7Yv

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/