สรุปหนังสือ Shoe Dog บันทึกความทรงจำโดยผู้ก่อกำเนิด Nike Phil Knight เขียน ไอริสา ชั้นศิริ แปล สำนักพิมพ์ Amarin How to

สรุปหนังสือ Shoe Dog หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง NIKE จากผู้ก่อตั้ง

เธอจะต้องวิ่งจนสุดเรี่ยวแรง เพื่อที่จะได้อยู่ ณ จุดเดิม แต่ถ้าเธออยากจะไปยังที่อื่น เธอต้องวิ่งให้เร็วขึ้นกว่าเดิมอย่างน้อยสองเท่า

Through the looking-glass

แค่ประโยคเปิดส่วนแรกของเล่ม ก็ทำเอาขนลุกแล้ว เพราะประโยคนี้บอกถึงการแข่งขันในโลกธุรกิจได้ดีจริงๆ เราต้องทำงานแทบตายเพื่อให้ยังอยู่ในโลกธุรกิจหรือไม่ปิดตัวได้ แต่เราต้องทำงานจนเกือบตาย เพื่อให้ตำแหน่งทางธุรกิจเราขยับไปอีกขั้น

การทำธุรกิจไม่ง่ายนะครับ เพราะคุณจะเต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย ทำไมลูกค้าถึงต้องเลือกคุณ ถ้าใครมีคำตอบข้อนี้ได้จริงๆ ผมว่าคุณได้เปรียบคนอื่นไปกว่า 80% ในธุรกิจที่คุณทำแล้ว

จากตัวแทนขายรองเท้าวิ่ง Onitsuka สู่ผู้สร้างแบรนด์ Nike

แรกเริ่มเดิมที Phil Knight หรือผู้ก่อตั้ง Nike เป็นนักวิ่งมาก่อน ก็เลยมีความรู้ประสบการณ์เรื่องการเลือกรองเท้าวิ่งเป็นอย่างดี จนกระทั่งได้ไปเจอกับรองเท้าแบรนด์ดังอย่าง Onitsuka ซึ่งผมเองก็เพิ่งรู้ว่าสมัยก่อนนานมากๆ รองเท้าแบรนด์นี้ทำรองเท้าวิ่งเป็นหลักครับ

ด้วยคุณภาพที่ดี ราคาที่ถูก ทำให้ Phil Knight เห็นโอกาสที่จะเอารองเท้าวิ่งจากญี่ปุ่นแบรนด์นี้เข้ามาขาย ขายได้ไปสักพักก็เจอคู่แข่งจากทั้งภายในและภายนอก ทั้งจากการที่ Onitsuka เองก็พยายามหาตัวแทนใหม่ในประเทศอเมริกาเพื่อขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้น หรือจากภายในประเทศเองที่มาจากกลุ่มผู้ผลิตรองเท้าตั้งใจวางยาให้ Nike ต้องเสียภาษีเพิ่มมหาศาล

หรือแม้แต่กับนายธนาคารที่ดูจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีทำธุรกิจของ Phil Knight ในเวลานั้นเท่าไหร่นัก คือขายได้เท่าไหร่ก็เอาเงินทั้งหมดไปซื้อรองเท้าใหม่มาขายเพิ่ม แล้วก็ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนทำให้บริษัทไม่มีเงินสดติดตัวเลย เรียกว่าแม้จะทำยอดขายได้หลายล้านแต่ก็เป็นการจัดการเงินแบบเดือนชนเดือน งวดชนงวด จนในที่สุดธนาคารที่เคยให้กู้เงินมาแต่แรกก็ไม่สนับสนุนเขาอีกต่อไป จนทำให้เขาได้ไปพบกับพาร์ทเนอร์ใหม่ที่เป็นกลุ่มทุนญี่ปุ่น ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำธุรกิจที่อเมริกาในเวลานั้นครับ

และอีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือรองเท้าวิ่ง Onitsuka ในเวลานั้นแม้จะคุณภาพดีและราคาถูก แต่กลับถูกออกแบบมาเพื่อไซส์เท้าคนเอเซียตะวันออก ซึ่งก็ไม่ได้ตอบรูปเท้าคนตะวันตกที่นอกจากจะใหญ่กว่า กว้างกว่า แต่ยังรวมไปถึงน้ำหนักตัวที่มากกว่าด้วย

ทำให้ผู้ก่อตั้งต้องออกแบบรองเท้าใหม่ หรือเสริมจากดีไซน์เดิมหลายครั้ง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้ Onutsuka ที่เอามาขายที่อเมริกาในวันนั้นประสบความสำเร็จกับกลุ่มนักวิ่งที่สุดครับ

ที่น่าตลกคือตอน Phil Knight บินไปเจรจาขอเป็นตัวแทนขายรองเท้าวิ่ง Onitsuka ในประเทศอเมริกาครั้งแรกนั้น พวกเขายังไม่ได้ทำการก่อตั้งหรือจดทะเบียนบริษัทขึ้นมาจริงๆ ทำให้ตอนที่จับมือตกลงก่อนเซ็นสัญญาร่วมกันทำงาน ทาง Onitsuka ถามว่าบริษัทคุณชื่ออะไร

Phil Knight ก็เลยเหลือบไปเห็นริบบิ้นสีน้ำเงินที่ผูกกระเป๋าตัวเองไว้ เขาเลยบอกกับทาง Onitsuka ว่าบริษัทของเขาที่อเมริกาชื่อ Blue Ribbon ครับ

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การจะทำธุรกิจไม่ต้องรอให้พร้อม เพราะหลายครั้งก็มีเรื่องไม่คาดคิดโผล่ขึ้นมาให้ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป

หนุ่ย การตลาดวันละตอน

ส่วนที่มาของ Logo และชื่อแบรนด์ Nike นั้นก็แยกส่วนกัน อันดับแรกชื่อนั้นใช้คำว่า “บังเอิญ” ได้ชื่อนี้มาโดยที่ผู้ก่อตั้งก็ไม่คาดคิดว่าจะใช้ชื่อนี้ ตอนที่เขาต้องสร้างแบรนด์รองเท้าใหม่ของตัวเอง หลังจากตัดขาดกับ Onitsuka ที่ญี่ปุ่นแล้ว ตอนนั้นมีมากมายหลายชื่อ แต่สุดท้ายชื่อนึงที่มีทีมงานคนสำคัญส่งมาให้คือคำว่า Nike ที่แม้เจ้าตัวจะไม่ได้ชอบชื่อนี้มาก แต่บังเอิญชื่อนี้มีความหมายที่ดี นั่นก็คือมาจากเรื่องราวในตำนานเทพกรีกปกรณัม ไนกี้ หรือ Nike มาจากคำว่า “ชัยชนะ” เป็นสิ่งที่เทพี Athena เป็นผู้นำพาชัยชนะมาให้ในตำนาน

แต่ตอนได้ชื่อนี้มาเป็นชื่อแบรนด์ ไม่ได้มีการคิดอะไรที่ลึกซึ้งแบบนี้นะครับ เพราะตอนนั้นมีตัวเลือกหลายตัวเลือกมาๆ แล้วก็บังเอิญมาจบที่ชื่อนี้แบบที่ Phil Knight ก็ไม่แน่ใจ แต่มันต้องมีชื่อแล้วในเวลานั้น และเรื่องนี้เองก็ทำให้คิดถึงหลายๆ เรื่องราวของชื่อแบรนด์ดังๆ ที่เราคุ้นหู ที่ส่วนใหญ่ก็มักมาจากความไม่ได้ตั้งใจจะใช้ชื่อนี้

แต่เมื่อใดก็ตามที่แบรนด์นั้นประสบความสำเร็จ เริ่มเป็นที่คุ้นหู ชื่อใดก็พร้อมไพเราะเสนาะหู ดังนั้นผมอยากจะบอกคนที่กำลังจะสร้างแบรนด์ของตัวเองว่า อย่าคิดมากเรื่องชื่อเลยครับ เอาให้มันใช้งานได้ ไม่ได้มีความหมายที่ดีก็เพียงพอแล้ว สำคัญคือการโฟกัสกับธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เมื่อนั้นใครๆ ก็จะบอกว่าชื่อแบรนด์คุณนั้นไพเราะและมีความหมายดี เหมือนอย่างที่ผมเองก็ไม่ได้ชอบชื่อ การตลาดวันละตอน ตั้งแต่วันแรกที่ทำเพจ แต่พอหลังๆ คนเริ่มติดและชอบมัน ก็ทำให้ชื่อนี้มันดีด้วยตัวมันเองครับ

ส่วน Logo Design ที่เป็นรูปเหมือนเครื่องหมายถูก หรือที่เราเรียกกันว่า Swoosh สัญลักษณ์นี้ถูกออกแบบมาก่อนที่จะได้ข้อสรุปเรื่องชื่อแบรนด์ด้วยซ้ำ

สาเหตุเพราะรองเท้าที่ออกแบบมาใหม่นั้นจำเป็นต้องมีโลโก้ หรือสัญลักษณ์อะไรสักอย่าง ซึ่งทาง Phil Knight ก็กลับมาหานักออกแบบกราฟิกคนที่ใช้งานประจำว่า อยากได้อะไรสักอย่างที่ดูแล้วรู้สึกถึงความเคลื่อนไหว

ซึ่งนักออกแบบตอนนั้นก็เอาภาพที่ดูคล้ายๆ กันหมดมาให้เลือก มีลักษณ์คล้ายๆ โลโก้ทุกวันนี้ จากนั้นก็ถูกคราฟให้ชัดเจน มีทั้งความรู้สึกเหมือนเครื่องหมายถูก และก็ยังบังเอิญดูเหมือนปีกอะไรสักอย่าง แถมในเวลานั้นเองเหล่าผู้ก่อตั้งและทีมงานชุดแรกของบริษัทก็ไม่ได้ชอบดีไซน์นี้เท่าไหร่นัก

แต่ทุกคนรู้ว่าต้องเลือกแล้ว เพราะมันต้องถูกนำไปใช้งานแล้ว เห็นไหมครับว่าท้ายที่สุดพอธุรกิจประสบความสำเร็จ โลโก้ที่ไม่ชอบทีแรกก็ดูสวยงามตราตรึงใจในทุกคน

การแบ่งหุ้นที่ยุติธรรมของสองผู้ก่อตั้ง NIKE 51/49

ตอนที่สองผู้ก่อตั้งแบรนด์ NIKE จะเริ่มจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ ซึ่งโดยปกติแล้วถ้าเริ่มกันสองคนแบบเท่าเทียมกัน ก็มักจะหารสองตกกันที่ 50/50

แต่เรื่องราวของ NIKE นั้นต่างออกไปอย่างน่าสนใจ บาวเวอร์แมน ผู้เป็นอดีตโค้ชวิ่งของ Phil Knight และเป็นหุ้นส่วนตอนเริ่มตั้งบริษัทแรกของ NIKE นั่นก็คือ Blue Ribbon แทนที่จะแบ่งกันแบบ 50/50 เหมือนปกติ บาวเวอร์แมนเลือกจะให้ Phil Knight ถือหุ้นมากกว่าอยู่ที่ 51/49 ด้วยเหตุผลว่าตัวเองไม่ชอบบริหาร ตัวเขาชอบหมกมุ่นกับการออกแบบรองเท้าวิ่งให้ดีขึ้นมากกว่าครับ

ทำให้ Phil Knight มีอำนาจในการบริหารธุรกิจอย่างเต็มที่ ส่วนบาวเวอร์แมนเองก็ได้เล่นกับรองเท้าวิ่งรุ่นต่างๆ อย่างเต็มเหนี่ยว ผลคือแต่ละคนได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ นั่นเลยทำให้บริษัทแรกของ Nike นั้นประสบความสำเร็จจนเป็นแบรนด์ที่ยิ่งใหญ่คับโลกจนถึงทุกวันนี้

กลยุทธ์การตลาด Direct to Target ลูกค้าอยู่ตรงไหน เข้าไปขายที่ตรงนั้น

กลยุทธ์การขายที่ง่ายที่สุด ได้ผลดีที่สุดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็คือ Targeted Marketing หรือการระบุกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้ชัดเจน แล้วก็พาตัวเองไปอยู่ตรงหน้าพวกเขาให้ได้มากที่สุด

ในช่วงปี 1964 เทคโนโลยีการตลาดยังไม่ล้ำหน้าอย่างทุกวันนี้ สิ่งที่พวกเขาทำคือแทนที่จะเอารองเท้าเข้าไปขอวางขายตามร้านขายรองเท้ากีฬา หรือร้านรองเท้าทั่วไป พวกเขาเลือกที่จะไปปรากฏตัวทุกงานวิ่ง เพื่อให้บรรดานักวิ่ง โค้ช และแฟนๆ ได้เห็น Nike มากที่สุดครับ

ผลคือยอดขายมาทันมีเมื่อบรรดานักวิ่งและโค้ชได้ลองจับ ลองสัมผัส หรือแม้แต่ลองใส่ นี่คือกลยุทธ์การตลาดแบบ Targeted Marketing ที่วันนี้สามารถทำได้อย่างง่ายดายและแม่นยำ เพียงแต่นักการตลาดอาจไม่ค่อยใส่ใจที่จะระบุกลุ่มเป้าหมายลงไปให้ชัดเจน เพราะมักกลัวว่าถ้าเราเลือกกลุ่มเป้าหมายมากไปจะกลายเป็นเข้าถึงคนได้น้อยกว่า จนทำให้ยอดขายไม่มา

แต่ลืมไปว่าการเข้าถึงคนจำนวนมากที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายกับเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เป็นการเสียงบประมาณทางการตลาดไปอย่างน่าเสียดายครับ

ดังนั้นการเจอคนที่ใช่แค่กลุ่มเดียว ดีกว่าการเจอคนที่ไม่มีโอกาสซื้อแบรนด์เรานับล้าน

The Power of Believe

Phil Knight บอกว่าตัวเขาเองอินกับการทำธุรกิจรองเท้ามากกว่างานอื่นๆ ที่เคยทำมา เขามองว่าตัวเองไม่ได้ขายรองเท้า แต่เขารู้สึกว่าถ้าผู้คนได้ออกมาวิ่งกันมากขึ้นสักหน่อย วิ่งกันให้ได้สักสองสามไมล์ทุกวัน โลกนี้จะดีขึ้น และเขาก็เชื่อว่าในเวลานั้น รองเท้าวิ่ง Onitsuka Tiger นั้นเหมาะจะใส่วิ่งมากกว่ารองเท้าวิ่งแบรนด์อื่นๆ ในตอนนั้น

จุดนี้น่าสนใจ จะเห็นว่า Believe นั้นสามารถผลักดันให้คนเราทำอะไรที่คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้ ให้สำเร็จจนได้ ดังนั้นก่อนจะเริ่มต้นธุรกิจใด จงถามตัวเองให้แน่ชัดว่าเราทำสิ่งนี้ไปเพราะอะไร เราแค่ต้องการเงิน หรือเราต้องการช่วยให้ชีวิตผู้คนดีขึ้นด้วยสิ่งนั้น และตัวเองก็เชื่อจริงๆ ว่าสิ่งนั้นจะทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้นได้ครับ

Customer Centric Marketing

ต่อจากพารากราฟบน หนึ่งในพนักงานคนแรกๆ ของ Phil Knight เองมีวิธีทำการตลาดกับลูกค้าที่ไม่เหมือนแบรนด์รองเท้าอื่นทำ สมัยนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีเว็บบอร์ด การโทรศัพท์หากันก็ยังยาก จึงต้องใช้การส่งจดหมายเพื่อติดต่อสื่อสารระหว่างกันเป็นหลัก

พนักงานขายคนนั้นที่ขายรองเท้าให้กับกลุ่มนักวิ่งมากมายจึงได้ทำการตอบจดหมายพูดคุยกับลูกค้าทุกคนที่มีอาการเจ็บปวดจากการวิ่ง เรียกได้ว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว ลำพังการขายรองเท้าอาจโดนคู่แข่งเข้ามาแย่งไปได้ง่าย แต่การสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ใช้สินค้าเราแบบนี้นั้นยากที่ใครจะแข่งตามไหวหรือเลียนแบบได้ในทันใดครับ

จำไว้ว่าการตลาดที่ดีคือการทำเรื่องง่ายๆ แต่น่าเบื่อแบบนี้ ไม่ต้องทำท่ายาก แค่ทำในสิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่อยากทำก็พอ

ถ้าเป็นทุกวันนี้มันคือการตลาดแบบ CRM ที่สะสม Customer Data เอาไว้อยู่เรื่อยๆ โดยมีจดหมายเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า เอาแนวคิดแบบนี้ไปใช้ต่อยอดธุรกิจกันนะครับ ว่าเราจะผูกสัมพันธ์กับลูกค้าให้ติดเราหนึบยาวๆ อยู่กันนานๆ ได้อย่างไร

Community Centric Marketing

นอกจากการตอบจดหมายถึงนักวิ่งที่มีอาการเจ็บปวดจากการวิ่งแล้ว พวกเขายังทำร้านค้าแรกของตัวเองให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับเหล่านักวิ่งมารวมตัวพูดคุยกัน มีหนังสือแมกาซีนเกี่ยวกับการวิ่งให้อ่านสบายๆ มีเก้าอี้นุ่มๆ ให้คนได้พูดคุยกัน แม้ทั้งหมดนี้ที่ทำลงไปจะวัดผลตรงๆ ไม่ได้ในแง่ของบัญชี

แต่ในแง่ของการสร้างแบรนด์แล้วทุกคนรับรู้ว่ามันจะส่งผลดีกับแบรนด์ในระยะยาว

คำถามสำคัญ วันนี้คุณสร้างพื้นที่ให้กลุ่มลูกค้าคุณมารวมตัวพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันหรือยัง

Data-Driven Decision

ตอนต้องเปิดสาขาใหม่ที่อีกฝั่งของประเทศ ตอนแรกคิดกันไม่ตกว่าควรจะเปิดที่เมืองไหนดี จนกระทั่งมีคนหนึ่งบอกว่าควรเป็นที่เมือง Boston เพราะมีคำสั่งซื้อรองเท้ามากมายทางไปรษณีย์มาจากเมืองนั้น และนี่ก็เป็นตัวอย่างการใช้ Data-Driven Decision ในวันที่เรายังมีแค่กระดาษอยู่เลยครับ

Credibility is Brand

ความน่าเชื่อถือหรือความไว้วางใจเป็นอะไรที่สำคัญมาก เราทำกับลูกค้าแบบไหน ให้บริการลูกค้าอย่างไร มอบสินค้าแบบไหนให้ลูกค้าไป จะส่งผลต่อภาพลักษณ์และความไว้ใจที่ลูกค้ามีกับเราในอนาคต

ตอนที่บริษัท Blue Ribbon เปลี่ยนจากการขายรองเท้าวิ่ง Onitsuka Tiger มาเป็นแบรนด์น้องใหม่แรกเกิดอย่าง Nike ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนมากมายมาขอซื้อแม้ยังไม่เคยใช้งานจริงมาก่อน หรือแม้แต่ยังไม่เห็นใครใช้ด้วยซ้ำ

จนผู้ก่อตั้งยังงงจนต้องถามลูกค้าว่า ทำไมถึงซื้อแบรนด์ใหม่ได้อย่างง่ายดายโดยไม่ถามอะไรมากมายสักคำ ลูกค้าให้เหตุผลว่าพวกเขาเคยซื้อรองเท้าจาก​ Blue Ribbon มาก่อน และรองเท้าที่ Blue Ribbon ขายก็เป็นของดีมีคุณภาพ เรียกได้ว่าขายของตามคำสัญญาที่ให้ไว้ ไม่ใช่สักแต่ว่าขายไปเรื่อยโดยไม่รักษาสัญญาเหมือนวันที่โฆษณาให้มาซื้อเลย

ดังนั้นจะเห็นว่าการสร้างแบรนด์ก็ง่ายนิดเดียว แค่รักษาสัญญาที่ให้ไว้ให้ได้ อะไรที่ทำไม่ได้อย่าพูด เพราะผู้คนจะจดจำในสิ่งที่คุณทำ ถ้าคุณทำสวนทางกับคำพูด บอกได้เลยว่าพวกเขาไม่มีทางลืมง่ายๆ แน่

จับศัตรูมาเป็นมิตร

มีครั้งหนึ่งพวกเขาเจอสินค้าลอกเลียนแบบได้แบบเหมือนมาก และคุณภาพก็แทบไม่ต่างกัน ที่สำคัญคือตั้งราคาขายถูกกว่าเยอะ

Phil Knight แทนที่จะแจ้งความจับฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีใหญ่โต กลับเลือกที่จะยื่นข้อเสนอให้เจ้าของโรงงานนั้นมาผลิตรองเท้าให้เขาแทน เพื่อแลกกับข้อเสนอว่าถ้าไม่งั้นจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมหาศาลแน่

แน่นอนว่าเจ้าของโรงงานเลือกแบบแรกอยู่แล้ว

เรื่องนี้ทำให้คิดถึงเคสของผู้ผลิตหลังคารายหนึ่งของไทย เคยเจอคู่แข่งผลิตหลังคาคุณภาพได้ดีไม่แพ้กัน แต่สามารถทำราคาได้ต่ำกว่ามาก

ทีแรกทีมการตลาดก็แก้โจทย์ผิด มัวแต่ไปลดราคาสู้จนตัวเองเจ็บหนักเพราะสู้ด้วยการเฉือนเนื้อตัวเองไม่ได้นาน สุดท้ายเมื่อลองดีดตัวเลขดูพบว่าเราสามารถซื้อธุรกิจคู่แข่งเพื่อจบการแข่งขันได้

เรียกว่าเป็นการพลิกเกมการแข่งขันไปโดยสิ้นเชิง ก็ถ้าสู้ไม่ได้ก็จับเข้าร่วมเสียเลย

สรุปหนังสือ Shoe Dog

สรุปหนังสือ Shoe Dog บันทึกความทรงจำโดยผู้ก่อกำเนิด Nike Phil Knight เขียน ไอริสา ชั้นศิริ แปล สำนักพิมพ์ Amarin How to

หนังสือเล่มนี้ออกไปทางเรื่องเล่ามากกว่าหนังสือธุรกิจทั่วไป ออกเป็นนิยายทางธุรกิจหน่อยๆ เรื่องราวจากความทรงจำของ Phil Knight ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Nike ที่ใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบไล่ไปทีละปี จนถึงปีที่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ และตัวเขาเองก็สามารถใช้ชีวิตดังฝันได้พร้อมกับกลายเป็นเศรษฐีระดับโลก

ใครอยากรู้ว่ากว่าจะเป็น Nike นั้นเจอเรื่องราวอะไรบ้าง ผมแนะนำหนังสือเล่มนี้ครับ และใครที่อยากเป็นผู้ประกอบการ เริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง ผมก็ยิ่งแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้เช่นเดียวกัน

แล้วคุณจะรู้ว่าโลกของธุรกิจนั้นสนุกกว่าที่คิด แต่ในขณะเดียวกันก็เหนื่อยยากแสนเข็ญเสียเหลือเกิน

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 2 ของปี 2023

สรุปหนังสือ Shoe Dog บันทึกความทรงจำโดยผู้ก่อกำเนิด Nike
เรื่องราวการก่อเกิดแบรนด์ระดับตำนาน ครั้งแรกจากผู้ก่อตั้ง ผู้ฝังให้ใจและวิญญาณให้กับ Nike
Phil Knight เขียน
ไอริสา ชั้นศิริ แปล
สำนักพิมพ์ Amarin How to

อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ต่อ > https://www.summaread.net/category/business/
สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ทางออนไลน์ > https://www.naiin.com/product/detail/230818

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/