สรุปหนังสือ ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว ประวัติบริษัท CP บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ส่งผลต่อ GDP ประเทศมากที่สุดในวันนี้ ธนินทร์ เจียรวนท์ เขียน

สรุปหนังสือ ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว เรื่องราวชีวประวัติของธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งบริษัท CP ที่วันนี้กลายเป็นอาณาจักรยักษ์ใหญ่ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและประเทศไทยมหาศาล หนังสือเล่มนี้ทำให้เราได้รู้ประวัติความเป็นมาของบริษัท CP และบริษัทอื่นๆ ในเครือพอสมควร

ส่วนตัวผมชอบชื่อหนังสือเล่มนี้ เพราะทำให้ผมนึกถึงตอนนักข่าวไปสัมภาษณ์นักแบตโลกของไทยว่า พอชนะเหรียญทองแล้วอยากทำอะไร เธอตอบอยากพักสัก 2 วัน นักข่าวสงสัยว่าทำไมถึงพักแค่สองวัน เพราะถ้าพักนานกว่านั้นแล้วกลับไปซ้อมร่างกายจะจำไม่ได้

ดังนั้นขอให้จำไว้ว่า เวลาเราเห็นใครก็ตามที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมากๆ คนที่ไม่ได้รวยเพราะใช้สมบัติพ่อแม่ คนเหล่านี้ล้วนทำงานหนักแบบไม่เคยพัก คนเหล่านี้ทำงานแบบไม่มีวันหยุด ตลอดเวลาในหัวคิดเรื่องการทำธุรกิจอยู่ตลอด ว่าจะต่อยอดแบบไหนดีที่จะพาธุรกิจไปให้ได้ไกลกว่านี้

เสี่ยงแบบที่เสียได้

คุณธนินทร์ เจียรวนนท์ พูดถึงเรื่องความเสี่ยง เสี่ยง 30 ชนะ 70 ถ้าความเสี่ยงนั้นไม่ทำให้เราล้มละลาย เขาก็พร้อมจะเสี่ยง เป็นเรื่องราวของการทำธุรกิจของคุณธนินทร์ ตั้งแต่การทำธุรกิจโทรศัพท์บ้านตอนแรก จากเดิมกว่าจะขอโทรศัพท์บ้านจากองค์การโทรศัพท์ได้ทีนั้นวุ่นวายและใช้เวลานานมาก พอมี Telecom Asia เข้ามาการติดตั้งโทรศัพท์บ้านก็เป็นเรื่องง่าย ตั้งแต่ตอนไปยื่นเรื่องขอก็รอไม่กี่วัน นานสุดอย่างไรก็ไม่เกินเดือน สายก็เดินเข้าบ้านพร้อมเครื่องเรียบร้อย

ผมยังจำโมเมนต์นั้นได้เลย สมัยเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน อินเทอร์เน็ตกำลังมา เกมออนไลน์กำลังบูม ผมไปยื่นขอโทรศัพท์บ้านเพิ่มกับ True แปบเดียวได้ทั้งโทรศัพท์บ้านเบอร์ใหม่ ได้ทั้งเน็ตความเร็วสูง ADSL ควบคู่กัน

สมัยนั้นเคยขอ TOT บอกเลยว่านานมากจนต้องตามแล้วตามอีก ทุกวันนี้ TOT เป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ที่รู้ๆ คือหลังจากนั้นมาไม่เคยคิดกลับไปใช้บริษัท TOT อีกถ้าไม่จำเป็น

ส่วนตัวแนวคิดความเสี่ยงที่ไม่ทำให้ล้มละลาย ก็เป็นสิ่งที่ยึดถือในการทำธุรกิจมานาน หลายครั้งบริษัทมักกลัวความเสี่ยงจนไม่กล้าริเริ่มลงทุนทำอะไรใหม่ จนลืมคิดไปว่าการไม่เสี่ยงก็ถือเป็นความเสี่ยงแบบหนึ่ง

เสี่ยงที่จะไม่มีนวัตกรรมอะไรใหม่ เสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และสุดท้ายคือเสี่ยงที่จะสูญเสียตลาดให้คู่แข่งทั้งรายใหม่ และรายใหญ่ไปมากที่สุดครับ

ฉะนั้นอะไรเสี่ยงได้เสี่ยง แต่การเสี่ยงทางธุรกิจคือการประเมินแล้วว่าถ้าทำแล้วสูญบริษัทก็ยังไม่สิ้น แต่อย่าเสี่ยงแบบการพนัน ประเภทหมดหน้าตักแล้วมานั่งลุ้นตอนท้ายว่าจะออกเบอร์ไหน

Up Branding ให้ดูล้ำ แต่ต้องไม่ล้ำจนกลุ่มเป้าหมายไม่เข้าใจ

นั่นคือที่มาของปุ๋ยตราเรือบิน ที่คุณธนินทร์ต้องการให้คนอื่นรู้สึกว่าตัวเองทันสมัยขึ้น สมัยที่ยังทำการคัดเมล็ดพันธุ์พืชบรรจุลงซองกระดาษและกระป๋องสังกะสีแบบเดิมๆ เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าการจะสร้างแบรนด์ใหม่ในกลุ่มเป้าหมายเดิม ต้องศึกษาให้ดีว่าแบบไหนที่ดูล้ำสมัยสำหรับเขา แต่ไม่ได้ล้ำจนหลุดโลกความเข้าใจของเขาครับ

ครั้งหนึ่งไก่เคยแพงกว่าหมู

น่าสนใจมากครับ หนังสือเล่มนี้ทำให้รู้ว่าในอดีตครั้งหนึ่งไก่เคยเป็นสินค้าที่แพงกว่าหมู มีแต่คนรวยเท่านั้นที่กินไก่ได้ เพราะสมัยก่อนไก่นั้นเลี้ยงให้รอดยาก ส่วนใหญ่ตายระหว่างทาง แล้วที่รอดมาก็มักไม่มีมาตรฐาน เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ทำให้ที่เหลือจะขายได้ยิ่งน้อยลงไปอีก สุดท้ายในสมัยก่อนจึงมีคนแค่ 3% เท่านั้นที่กินไก่ได้

คุณธนินทร์เล่าว่ามีภัตราคารแห่งหนึ่งชื่อ “ชายทะเลจันทร์เพ็ญ” เมนูเลื่องชื่อคือไก่ย่าง สมัยนั้นร้านอยู่ไกลมากต้องขับรถไปกินเอง ใครได้กินถือว่าเป็นเศรษฐี เพราะสมัยนั้นไก่แพงกว่าหมูเท่าตัว

แต่พอ CP เข้ามาบริหารจัดการการเลี้ยงไก่ ทำทุกอย่างให้มีมาตรฐานจนไก่เลี้ยงรอดได้ง่ายขึ้น จนสุดท้ายทุกวันนี้ราคาเนื้อไก่ก็ถูกมาก เข้าถึงได้ทุกชนชั้นไม่ได้มีแค่คนรวยเท่านั้นที่กินไก่ไหวอีกต่อไป

ด้วยการไปเรียนรู้จากบริษัทระดับโลกอย่าง อาเบอร์ เอคอร์ส จึงรู้ว่าต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงถึงจะเลี้ยงไก่ให้รอดและเติบโตมีมาตรฐาน จากเดิมเลี้ยงกันตามองค์ความรู้ของเกษตรกรแต่ละคน ลดความรู้นั้นทำให้เป็นมาตรฐานด้วยเครื่องไม้ เครื่องมือ เทคโนโลยีต่างๆ ทำให้คนที่ไม่มีความรู้มาก็สามารถเลี้ยงไก่ได้

ลดขั้นตอนการเลี้ยงไก่ลงให้น้อยที่สุด จากที่เคยมีหลายขั้นตอนก็เหลือแค่ขั้นตอนเดียว สมัยก่อนต้องไปซื้อหาอุปกรณ์ต่างๆ เอง เอามาเลี้ยงเองตามความรู้เท่าที่มีของแต่ละคน เลี้ยงเสร็จก็ต้องไปวิ่งหาตลาดคนรับซื้อเอง เรียกได้ว่ามีหลายช่วง หลายทอด

ทุกวันนี้คนเลี้ยงไก่สามารถหาทุกอย่างได้จาก CP เลี้ยงเสร็จก็สามารถมาขายกับทาง CP ลดขั้นตอนที่เคยยุ่งยาก ให้คนเลี้ยงไก่โฟกัสแค่ทำตามขั้นตอนการเลี้ยงที่ถูกต้อง ใช้เครื่องมือที่เหมาะสม เรื่องอื่นที่เคยยุ่งยากทาง CP จัดการให้

บางคนเรียกสิ่งนี้ว่า “ผูกขาด” บางคนก็บอกว่ามันคือการทำให้ทุกอย่างสะอาด เรียบง่าย และเป็นระบบ

ขึ้นอยู่กับมุมมองที่มอง แต่ส่วนตัวผมคิดว่าถ้าเกษตรกรคนเลี้ยงไก่สามารถเลือกได้ว่าจะเอาไปขายที่ไหน กับใครก็ตามที่ให้ราคาดีที่สุดกับตัวเองได้ ก็ไม่รู้สึกว่าผูกขาดอย่างไร

หมูที่ไม่หมู

หลังจาก CP พัฒนาการเลี้ยงไก่ให้มีมาตรฐานเสร็จแล้ว ก็มาสู่การเลี้ยงหมู ที่แม้จะขายถูก แต่ถูกเพราะต้องขายทิ้ง เนื่องจากไม่มีมาตรฐานในการเลี้ยงให้เนื้อหมูออกมาดีมีคุณภาพ

ครั้งแรกที่ CP หัดเลี้ยงหมูได้ทำการเลี้ยงในโรงเรือน เพราะนำหมูเข้ามาเลี้ยงทั้งตัว ต้นทุนเลยสูงมาก หมู CP วันแรกเลยแพงกว่าหมูพื้นเมืองทั่วไปมาก ผลคือต้นทุนสูง ขายแพง แต่ชาวบ้านคนทั่วไปยังมีรายได้ต่ำ สรุปขาดทุนในวันนั้น แต่ก็ไม่ท้อ เริ่มต้นใหม่อีกครั้งให้ดีขึ้น

กุ้งที่เขาว่าผูกขาด

น่าสนใจที่หนังสือความสำเร็จดีใจได้วันเดียวเล่มนี้บอกว่า สมัยก่อนตอนเมืองไทยหัดเลี้ยงกุ้งเป็นฟาร์ม สมัยนั้นไม่มีใครลงทุนจะพัฒนาสายพันธุ์กุ้งอย่างจริงจัง ต่างก็ล้วนแต่ซื้อพันธุ์กุ้งมาจากต่างประเทศทั้งนั้น แต่ CP เป็นเจ้าเดียวที่พัฒนาพันธุ์กุ้งของตัวเองขึ้นมาอย่างยากลำบาก และทุกวันนี้คนอื่นก็หาพันธุ์กุ้งไม่ได้ เลยต้องไปหาที่ CP เจ้าเดียว

น่าสนใจครับ

เริ่มลงทุนตอนทุกอย่างไม่พร้อม

เป็นเรื่องราวช่วงที่ CP ก้าวออกนอกประเทศไปลงทุนในประเทศจีน วันนั้นเมืองจีนยังไม่พร้อม คนไม่พร้อม น้ำไม่พร้อม ไฟไม่พร้อม ถนนไม่พร้อม และกฏหมายเองก็ยังไม่พร้อม

แต่คุณธนินทร์ก็ให้แนวคิดว่า เราไม่รอให้เขาทำให้พร้อม แต่เราจะเข้าไปทำให้ความพร้อมนั้นเกิดขึ้น มันคือการสร้างโอกาสและตลาดขึ้นมาใหม่ แม้จะยากมากในตอนเริ่ม แต่ถ้าสำเร็จได้ทุกอย่างก็จะง่ายในตอนท้าย

หนึ่งในธุรกิจที่ CP ทำในประเทศจีนคือการผลิตมอเตอร์ไซค์ราคาถูกขายคนจีน ตอนนั้นใครๆ ก็บอกว่าต้อง ​Honda เท่านั้น แต่พอคุณธนินทร์ไปเจรจามาทางฮอนด้ายังไม่สนใจลงทุนในจีน แต่ก็ยังใจดียอมขายเทคโนโลยีให้ถูกๆ

แต่เนื่องจากประเทศจีนเวลานั้นเหมาะกับเทคโนโลยีที่ถูกๆ เพราะมันเก่าตกรุ่นไปแล้วมากกว่าเทคโนโลยีใหม่ เทคโนโลยีใหม่คิดจากสภาพถนนหนทางบ้านเมืองแบบทันสมัยในเวลานั้น แต่ประเทศจีนในเวลานั้นยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาอย่างมาก เทคโนโลยีเก่าตกรุ่นที่ได้มาในราคาถูกกลับลงตัวกับธุรกิจมากที่สุด

สุดท้ายเลยออกมาเป็นมอเตอร์ไซค์เทคโนโลยีฮอนด้าชื่อ ซิ่งฝู ที่ขายดีมากในจีนเพราะอึด ถึก ทน เหมาะกับสถาพถนนสุดๆ ครับ

สรุปหนังสือ ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว ธนินทร์ เจียรวนนท์

หนังสือที่ทำให้เข้าใจที่มาที่ไปของบริษัท CP จากคุณธนินทร์ เจียรวนนท์ ผู้ปลุกปั้นจากบริษัทเล็กๆ ให้กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ส่งผลสำคัญต่อ GDP ประเทศไทยมหาศาล ทำให้เห็นภาพการพยายามทำทุกอย่างให้เป็นระบบ ความกล้าเสี่ยง และการเน้นเพิ่มผลผลิตหรือประสิทธิผลให้มากขึ้น

คุณธนินทร์บอกว่าคนเพิ่มขึ้น แต่ที่ดินเท่าเดิม เราเลยต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้ผลิตได้มากขึ้นจากทรัพยากรเท่าเดิมแทน

หนังสือเล่มนี้สอนแง่คิดทั้งการทำธุริกจ ไปจนถึงการใช้ชีวิตก็มาก เป็นหนังสือดีอีกเล่มที่อยากให้เปิดใจลองอ่าน ผมเชื่อว่าคุณจะได้ข้อคิดดีๆ ไม่น้อยครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 30 ของปี 2023

สรุปหนังสือ ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว ประวัติบริษัท CP บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ส่งผลต่อ GDP ประเทศมากที่สุดในวันนี้ ธนินทร์ เจียรวนท์ เขียน

สรุปหนังสือ ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว
หนังสือที่เป็นกำลังใจให้นักธุรกิจทุกคน สู้ต่อไป
ธนินทร์ เจียรวนท์ เขียน
สำนักพิมพ์มติชน

อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ในอ่านแล้วเล่าต่อ : https://www.summaread.net/category/biography/

สั่งซื้อออนไลน์
https://shope.ee/3L0ughvb3t
https://shope.ee/40GbU08u7w
https://shope.ee/VgjJaM1yE

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/