สรุปหนังสือ ฉลาดกว่า AI รู้เท่าทันขีดความสามารถของ AI เพื่อเตรียมตัวสู่โลกยุคใหม่ AI Disruption อะไรบ้างที่ AI ทำได้ดี และเราควรทำอะไรต่อดี

สรุปหนังสือฉลาดกว่า AI ฉบับแปลไทยของสำนักพิมพ์ Amarin How To เล่มนี้ เขียนที่หน้าปกบอกว่าเป็นหนังสือ AI ที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น เป็นหนังสือที่ผมได้รับมานานมาก แต่ก็เพิ่งจะได้อ่านจบเอาเมื่อตอนปลายปี 2022 เอง เรียกว่าเป็นหนังสือ AI ที่ไม่ต้องแบกกระไดมาอ่าน เพราะไม่ได้ใช้ศัพท์แสงสูงอะไรมาก เรียกได้ว่าเล่าเรื่อง AI ในภาษาชาวบ้านที่ใครๆ ก็อ่านเข้าใจได้

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้บอกเรื่องเทคนิคใดๆ ให้ปวดหัว แต่บอกเปรียบเปรยว่า AI ในวันนั้น(วันที่เขียนหนังสือเล่มนี้) นั้นฉลาดขนาดไหน หลายส่วนก็ยังคงคล้ายกับความสามารถของ AI ในปัจจุบัน ซึ่งที่หลายคนกังวลว่าเราจะตกงานเพราะ AI ใช่หรือไม่ ส่วนตัวผมบอกได้เลยว่าทั้งใช่และไม่ใช่ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะปล่อยให้ตัวเองตกรุ่นไวขนาดนั้นหรือเปล่า

เพราะการก้าวเข้ามาของ AI Disruption คือการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน การใช้ชีวิต อุตสาหกรรมทั้งหลายและธุรกิจทั้งหมด

ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เหมือนกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคก่อน ทำให้ชนชั้นแรงงานจำนวนมากไม่มีงานทำ เพราะมีเครื่องจักรออกแรงแทน โดยเฉพาะงานที่ต้องทำซ้ำๆ ซากๆ เป็นแพทเทิร์นเดิมๆ ทั้งหลาย งานเหล่านี้ล้วนเอาเครื่องจักรมาแทนได้สบาย

เหมือนที่ Adam Smith บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ ผู้ที่ใช้คำว่า “มือที่มองไม่เห็น” เคยบอกว่าถ้าเราแบ่งงานออกเป็นส่วนต่างๆ แล้วให้คนช่วยกันทำ อย่างงานทำเข็ม เราจะสามารถผลิตเข็มได้เยอะขึ้นมาก กว่าการใช้คนงานจำนวนเท่ากัน ค่อยๆ ทำเข็มให้เสร็จไปทีละคน

มันคือการคิดระบบสายพานการผลิต ให้คนหนึ่งคนรับผิดชอบหนึ่งส่วน ทำให้การทำซ้ำเกิดการสะสมทักษะความชำนาญ ทำให้การผลิตในภาพรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

และเมื่องานทั้งหมดถูกแยกออกมาเป็นส่วนๆ และมีรูปแบบการทำงาน การผลิตที่ทำซ้ำเหมือนๆ เดิม ก็ส่งผลให้เครื่องจักรเข้ามาแทนที่ได้ไม่ยาก และนั่นก็คือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งสำคัญ ที่ทำให้โลกเราก้าวกระโดดพัฒนาไปอย่างไว

คำถามสำคัญคือ ชนชั้นแรงงานไม่ค่อยมีงานออกแรงให้ต้องทำ แล้วพวกเขาจะไปไหน

ไปไหนไม่รู้อันนี้บอกไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ คือการปฏิวัติอุตสาหกรรม การเข้ามาของเครื่องจักรก่อให้เกิดงานใหม่ๆ ก่อให้เกิดคนทำงานออฟฟิศเพิ่มขึ้นมหาศาล ก่อให้เกิดชนชั้นคนทำงานที่เรียกว่า White Collar ครับ

นั่นคือการปฏิวัติอุตสาหกรรม แรงงานถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร และพลังงานไอน้ำหรือไฟฟ้า และการปฏิวัติครั้งสำคัญที่เรากำลังเผชิญกันอยู่คือ การปฏิวัติ AI

แน่นอนว่า AI เข้ามาแทนที่งานที่ต้องคิดและทำซ้ำๆ แบบเดิมๆ แบบที่พอจะคาดเดาได้ไม่ยาก ขอให้พอมีรูปแบบในการทำงานระดับหนึ่ง เช่น การอ่านฟิล์มเอ็กซ์เรย์ การวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินว่าควรจะอนุมัติให้ผู้กู้คนไหนบ้าง การขับรถที่รู้แล้วว่าหลักการสำคัญคือห้ามชนคันหน้า รักษารถในเลน และหาจังหวะเปลี่ยนเลนที่ปลอดภัยเมื่อต้องเลี้ยวเปลี่ยนทาง

หรือแม้แต่งานประเภทช่วยวิเคราะห์ สรุปข้อมูล พวกนี้ก็เริ่มมี AI เข้ามาทำหน้าที่แทนให้เราแล้ว นั่นหมายความว่างานอะไรประเภทนี้จะถูกเอา AI เข้ามาช่วยงาน ส่วนคนที่เคยทำงานตรงนี้ก็ต้องเลือกว่า จะปล่อยให้ AI แย่งงานไปเฉยๆ หรือจะเรียนรู้ที่จะทำงานกับ AI แทน

เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลสำคัญ สุดท้ายยังต้องใช้วิจารณญาณของมนุษย์เป็นผู้คนเฟิร์มการตัดสินใจแทน หรือการจะถ่ายทอดผลการวิเคระห์ของ AI ให้กับคนอื่นเข้าใจ ก็ยังจำเป็นต้องใช้คนเข้ามาสื่อสารกับคน หรือที่เรียกว่าเป็น Analytics Translator ครับ

ส่วนตัวผมเริ่มเรียนรู้การใช้ Open AI Chat GPT บอกได้เลยว่าเสพติดมาก จนผมยอมสมัครแบบเสียเงินเพื่อจะได้ถามได้เร็วๆ ไม่สะดุดแล้วตอนนี้ มันช่วยหาข้อสรุปให้ผมได้ไวๆ ช่วยเอาข้อมูลใหม่ๆ ที่ไม่คาดคิดมาให้ตรงหน้า แต่ที่สำคัญกว่าในการใช้ AI คือเราต้องรู้ว่าอะไรที่เชื่อได้ และอะไรที่เชื่อไม่ได้

เราต้องรู้กว้างพอจะรู้ว่าอะไรจริงไม่จริง และเราต้องพอจะรู้ลึกในบางเรื่องที่ถาม เพื่อจะได้เอาไปต่อยอดได้มากกว่าแค่ที่ AI จั่วหัวมาให้

ดังนั้นถ้าใครไม่อยากตกงานยุค AI ผมคิดว่าไม่ยากครับ แค่หาทางใช้ AI ให้เป็นประโยชน์ มอง AI เป็นเครื่องมือช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น เท่านี้เราก็จะยังอยู่รอดต่อไปในโลกยุคใหม่ AI Disruption ได้ไม่ยาก

อีกหนึ่งคำถามที่หลายคนสงสัย AI มันฉลาดแต่กำเนิดเลยไหม หรือเราต้องสอนมันอย่างไรให้มันฉลาด

หนังสือเล่มนี้ก็ฉายภาพให้เข้าใจว่าการจะสอน AI ให้ฉลาดนั้นจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ดี และผู้สอนที่ฉลาดก่อน

การสอน AI ก็เหมือนกับการสอนเด็กคนหนึ่งให้รู้จักแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไร เพื่อจะได้รู้ว่าควรจะตัดสินใจแบบไหนถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้

เหมือนกับการสอนให้เด็กรู้จักแยกความแตกต่างระหว่างสตรอว์เบอร์รี่กับมะนาว ถ้าเป็นคนเราก็ต้องเอาภาพมาให้เด็กเรียนรู้ดูจำนวนหนึ่ง จากนั้นเด็กจะเริ่มแยกแยะความแตกต่างระหว่างสตรอว์เบอร์รี่กับมะนาวได้ดีขึ้น

เพียงแต่ถ้าเป็น AI ภาพที่ใช้สอนจะต้องมากกว่านั้นหน่อย (จริงๆ ไม่หน่อยแต่มหาศาล) แต่พอมันเรียนรู้ที่จะแยกแยะได้แล้วการจะให้มันมาช่วยงานแยกแยะผลไม้สองชนิดนี้ใส่ถุงก็จะเป็นเรื่องที่สบายสุดๆ ไปเลยครับ

ระหว่างที่มันเริ่มทำการแยกแยะผลไม้สองชนิดนี้ด้วยตัวเอง แรกๆ อาจทำได้ไม่ดีพอ ยังต้องอาศัยมนุษย์ผู้สอน AI เข้ามาช่วยตรวจคำตอบที่ AI เลือกอีกที

แต่พอผ่านไปสักพักเจ้า AI ก็จะฉลาดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอัตราความแม่นยำสูงมาก แทบจะ 99.99% เรียกได้ว่าค่าผิดพลาดอยู่ในสัดส่วนที่รับได้ เมื่อเทียบกับต้นทุนที่ต้องใช้มนุษย์มาทำงานแทนชั่วโมงต่อชั่วโมง พอนึกภาพการทำงานในยุค AI Disruption ออกบ้างแล้วใช่ไหมครับ

แต่สิ่งที่ยังคงเป็นความท้าทายต่อ AI คือบริบทแบบมนุษย์

หมายความว่าการให้ AI แยกคำถามง่ายๆ ระหว่าง “อร่อย” กับ “ไม่อร่อย” นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก

เช่น ถ้าเราพิมพ์ถาม Google หรือพูดถาม Siri หรือ AI ตัวใดก็แล้วแต่ว่า “ช่วยแนะนำร้านอาหารญี่ปุ่นอร่อยๆ ระแวกนี้ให้หน่อย” เราจะได้คำตอบที่แม่นยำแทบไม่ผิดหวัง ยกเว้นจะโดนรีวิวหลอกเท่านั้นเอง

แต่ถ้าเราถาม AI เพิ่มไปนิดนึงว่า “ช่วยบอกร้านอาหารที่ไม่อร่อย 10 ร้านให้หน่อย” แน่นอนว่าเจ้า AI ยังไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่าง “อร่อย” กับ “ไม่อร่อย” ข้อมูลที่ได้ก็จะเป็นข้อมูลร้านอร่อยเหมือนเดิม หรือร้านที่ได้รีวิวดีๆ เหมือนเดิม

พอเห็นความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับ AI ไหมครับ

ดังนั้นก่อนจะใช้เครื่องมือใด เราต้องเข้าใจหลักการ วิธีการ และข้อจำกัดของเครื่องมือนั้นให้ลึกซึ้งก่อน

AI ก็เช่นกัน ก่อนจะเชื่อสิ่งใดที่ AI บอก เราต้องเข้าใจให้มากพอก่อนเชื่อใจ

และนี่ก็เป็นสรุปภาพรวมของหนังสือ ฉลาดกว่า AI เล่มนี้ หนังสือที่จะทำให้เรารู้ว่าการก้าวเข้ามาของ AI Disruption ไม่ได้เข้ามาทำลายล้างมนุษย์ แต่เข้ามาช่วยให้มนุษย์เราทำสิ่งที่อยากทำได้ดีขึ้น ไวขึ้น

แต่ในขณะเดียวกันกับคนที่ไม่พร้อมปรับตัวเรียนรู้ทำงานกับ AI ก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างเลี่ยงไม่ได้ และก็ดูเหมือนว่าจะมีคนไม่น้อยที่น่าจะปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่ได้ยาก หวังว่าคุณที่อ่านสรุปหนังสือเล่มนี้ จะไม่ใช่คนเหล่านั้นครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 46 ของปี 2022

สรุปหนังสือ ฉลาดกว่า AI รู้เท่าทันขีดความสามารถของ AI เพื่อเตรียมตัวสู่โลกยุคใหม่ AI Disruption อะไรบ้างที่ AI ทำได้ดี และเราควรทำอะไรต่อดี

สรุปหนังสือ ฉลาดกว่า AI
รู้เท่าทันขีดความสามารถของ AI เพื่อจะขัดเกลาทักษะที่คุณมีให้เหนือกว่า
อาราอิ โนริโกะ เขียน
อาคิรา รัตนาภิรัต แปล
สำนักพิมพ์ howto

อ่านสรุปหนังสือแนว AI ในอ่านแล้วเล่าต่อ > https://www.summaread.net/category/ai/

สั่งซื้อออนไลน์ > https://www.naiin.com/product/detail/526741

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/