จากเพจเฟซบุ๊คสุดกี๊ค สู่หนังสือ Pop Science สุดซี้ด

ใครจะคิดว่าเรื่องเซ็กส์กับสัตว์นั้นจะแปลกประหลาดเกินจินตนาการได้ถ้าไม่ได้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ หรือไม่ได้รู้จักเพจ “สัตว์โลกสัปดน” ที่คนเขียนสร้างเพจไว้

ใครบ้างจะรู้ว่าการกำหนดเพศนั้นไม่ได้มาจากแค่โครโมโซมเหมือนมนุษย์เท่านั้น แต่ในสัตว์หลายจำพวกเช่น จรเข้ สามารถกำหนดเพศของลูกที่กำลังจะฟักออกมาจากไข่ด้วยอุณหภูมิ! ใช่ครับ แค่อุณหภูมิก็สามารถเลือกเพศได้แล้ว ถ้าอยากได้จรเข้เพศผู้ก็ต้องให้อยู่ในอุณหภูมิช่วง 30 องศาเซลเซียล แต่ถ้าอยากได้เพศเมียก็ต้องให้ร้อนขึ้นอีกหน่อยเป็นช่วง 32-34 องศาเซลเซียล (ถ้าจำสลับเพศก็ต้องขออภัยเพราะพยายามเปิดหาข้อมูในเล่มอีกรอบแล้วไม่เจอ)

ส่วนสัตว์บางจำพวกอย่างหอยทางนั้นเป็นสัตว์ที่สามารถสลับเพศได้ในตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดนจิ้มก่อน ถ้าใครแพ้โดนจิ้มก่อนก็จะต้องกลายเป็นตัวเมียที่คอยอุ้มท้องต่อไป จนคราวหน้าค่อยหวังจะได้กลายเป็นเพศผู้

ส่วนมนุษย์เรานั้นคุ้นเคยกันดีว่าเราถูกกำหนดเพศด้วยโครโมโซมที่แลกเปลี่ยนกันของพ่อและแม่ในระหว่างช่วงอายุครรภ์ 6 สัปดาห์ ช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนกำหนดให้เกิดการเลือกเพศขึ้นมา แต่รู้มั้ยว่าเราทุกคนล้วนเคยเป็นเพศหญิงมาก่อนทั้งนั้น ก่อนจะถูกฮอร์โมนกำหนดให้ร่างกายเราเปลี่ยนกลายเป็นชายขึ้นมา ไม่น่าเชื่อว่าผมเองจะเคยเป็นหญิงมาก่อนในช่วง 6 สัปดาห์แรกที่อยู่ในท้องแม่

ถัดจากเรื่องเพศก็ว่าด้วยเรื่องของการเกี้ยวพาราสี หรือจีบกันเพื่อให้ได้มีโอกาสในการขยายเผ่าพันธ์หรือโอกาสในการฟีทเจอริ่งกันนั่นเอง การเกี้ยวพาราสีของสัตว์ที่นึกง่ายๆก็คือนกยูง ที่นกยูงตัวผู้ที่จะได้หญิงงาม(หรือนกที่งาม)ไปครองนั้นคือต้องมีแพนหางที่ใหญ่ สีสันสะดุดตา เพื่อดึงดูดตัวเมียให้ยอมเปิดอู่ผสมพันธ์กัน แต่ในความเป็นจริงที่ย้อนแย้งตามธรรมชาติคือหางที่ใหญ่และมีสีสันสะดุดตาของนกยูงตัวผู้นั้นไม่ได้ช่วยอะไรในการหากิน ใช้ชีวิต หรือมีชีวิตรอดที่ยาวนั้นแม้แต่นิดเดียว ประโยชน์เดียวของหางที่ใหญ่ยาวและสีสันสวยงามก็คือการหาคู่ที่ง่าย ถ้าอย่างนั้นการมีหางที่ใหญ่และมีสีสันดึงดูดศัตรูนักล่านั้นจะช่วยอะไรล่ะ..

..นักวิทยาศาสตร์ต่างพากันคาดเดาไปต่างๆนาๆจนมาลงเอยที่ข้อสันนิฐานว่า น่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่บอกถึงความกล้าเสี่ยงตาย แต่ยังเอาตัวรอดมาได้ เพราะด้วยหางที่ใหญ่และสีสันเรียกแขก(ภาษาเด็กแว้นคงเรียกว่า เรียกตีน) ขนาดนี้แต่ยังรอดมาจนสามารถรำแพนหางโชว์ตัวเมียโดยยังไม่ตายได้ ก็น่าจะมีความสามารถเก่งกาจพอตัวเชียวล่ะ ตัวเมียก็เลยเลือกตัวที่หางแพนใหญ่และสีสันสวยงามไป

แต่ในบรรดาสัตว์โลกทั้งหลายเราจะพบว่าความสวยงาม หรือสิ่งที่โดดเด่นด้วยลักษณะนั้นล้วนอยู่ในเพศผู้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนกที่มีสีสันสวยงามก็ล้วนเป็นเพศผู้ ไก่ที่มีขนสวยงามก็เป็นเพศผู้ สิงโตที่สวยงามมีแผงคอใหญ่ฟูก็เป็นเพศผู้ เพื่อดึงดูดให้เพศเมียเข้ามาเลือกตัวเองที่จะฟีทเจอริ่งด้วย แต่ไหงมนุษย์จึงแทบจะเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวบนโลกที่ความสวยงามไปอยู่กับเพศเมีย น่าแปลกใจเหมือนกันนะครับ

แต่ความแปลกใจนี้ก็ถูกสรุปด้วยข้อสันนิฐานของนักวิชาการที่ว่า เพราะมนุษย์นั้นโดยอดีตกาลไม่ได้ต้องการตัวผู้ที่สวยงาม แต่ต้องการตัวผู้ที่มีความสามารถ และรักเดียวใจเดียว หรืออย่างน้อยก็อยู่ด้วยกันช่วยเลี้ยงลูกจนลูกเติบใหญ่หากินเองได้ เพราะมนุษย์นั้นเป็นสัตว์ในไม่กี่ชนิดที่พอคลอดออกมาแล้วทารกนั้นก็ยังต้องอยู่ในภาวะพึ่งพาสิ่งรอบตัวอย่างมากและเป็นเวลานาน ไม่เหมือนกับสัตว์อื่นที่คลอดมาแล้วก็แทบจะหากินเองได้เลยด้วยซ้ำ อย่างน้อยก็สามารถเดินเข้าหาเต้านมแม่เพื่อดูดกินได้ ผิดกับทารกมนุษย์โดยสิ้นเชิง

นี่เลยน่าจะเป็นเหตุผลที่ความสวยงามถูกคัดเลือกให้อยู่กับเพศเมียโดยธรรมชาติ เพื่อดึงดูดให้เพศผู้นั้นเลือกเพศเมีย ผิดกับสัตว์ที่เพศเมียเป็นผู้เลือกเพศผู้ นี่ไม่ได้จะเป็นการเหยียดเพศของหนังสือเล่มนี้แต่อย่างไร แต่นำเสนอในมุมมองที่น่าสนใจที่ผมก็เพิ่งจะเคยคิดในมุมนี้เหมือนกัน

ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่อาจหยิบมาเล่าได้ทั้งหมด แต่ขอหยิบหนึ่งเรื่องที่เกี่ยวกับคนเราที่สุดก็ในเรื่องของจู๋เป็ด ใครจะรู้บ้างว่าจู๋เป็ดนั้นยาวถึง 42 เซนติเมตรโดยประมาณ อาจฟังดูน่าทึ่งแล้วแต่คุณจะรู้สึกทึ่งยิ่งกว่าเมื่อรู้ว่านั่นนับเป็นความยาวสองเท่าตัวของตัวมัน เพราะตัวเป็ดนั้นมีขนาดยาวประมาณแค่ 20 เซนติเมตรโดยประมาณ แถมยังสามารถฟีทเจอริ่งกับเพศเมียกลางอากาศได้ด้วย

น่าทึ่งมั้ยล่ะครับ

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/