เป็นหนึ่งในหนังสืออีกเล่มที่ได้มาจากงานหนังสือเมื่อนานพอสมควร (จำไม่ได้ว่าหนึ่งหรือสองปีแล้ว) หลังจากช่วงนี้ได้หยิบหนังสือแนวการเมืองการปกครอง และหนังสือในชุด “ความรู้ฉบับพกพา” ของสำนักพิมพ์ Openworlds มาอ่านหลายเล่ม ก็เลยเกิดการอยากอ่านต่อเนื่องไปเรื่อยๆเพื่อเพิ่มความรู้เรื่องการเมืองการปกครองไว้ประดับสมองกับเค้าบ้าง
ภูมิรัฐศาสตร์ หมายถึงอะไร สารภาพตรงๆอ่านจนจบแล้วผมก็ยังไม่มีคำสรุปนิยามที่สั้นตรงใจจนสามารถเขียนออกมาได้ แต่ในความรู้สึกผมหลังอ่านจบผมรู้สึกว่าคำนี้เหมือนกับการนิยามให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตั้งแต่แผนที่ กลุ่มชาติพันธุ์ ภาพยนต์ หรือแม้แต่ของเล่น กลายเป็นตัวแทนทางการเมืองได้
หรือแม้แต่สามารถปลูกฝังแนวคิดผ่านสิ่งเหล่านี้ได้อย่างน่าทึ่งปนน่ากลัว ถ้าถูกนำไปชักจูงใช้ในทางที่ผิด อารมณ์คล้ายๆ Propaganda อย่างไงอย่างงั้น
เช่น หลังจากเหตุการณ์การก่อการร้ายที่ตึกแฝดในนิวยอร์ก ชาวตะวันออกกลาง หรืออิสลาม ก็กลายเป็นภาพแทนของกลุ่มผู้ที่น่ากลัวของสังคม หรือเป็นเป้าหมายให้คนผิวขาวทั่วไปต้องเฝ้าจับตามอง
หรือการฉายภาพว่าประเทศแถบตะวันออกกลางเหล่านั้นคือแหล่งซ่องซุมของกองกำลังก่อการร้ายก็ว่าได้
ในอดีตช่วงสงครามเย็นระหว่างสองแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมือง ระหว่างสหรัฐกับโซเวียต ประธานาธิบดีเรแกน Ronald Reagan เรียกสหภาพโซเวียตว่าเป็น “จักรวรรดิแห่งความชั่วร้าย” หรือ Evil Empire
ก็ชัดเจนว่าทำให้สหรัฐกลายเป็นพลังความดีงามของโลกไปในคราวเดียว ผู้นำโซเวียตเองถูกเปรียบให้เป็นดั่ง Darth Vader ที่ไม่มีใครในสหรัฐไม่รู้จักตัวละครนี้
ดังนั้นการสร้างภาพแทนก็เป็นส่วนหนึ่ง เหมือนกับการตีตราให้กับอะไรก็ตามเพื่อเป้าหมายทางการเมืองนั่นเอง
เหมือนคนไทยที่ถูกบางประเทศฉายภาพว่าเป็นคนขี้เกียจ ทั้งที่ความจริงแล้วในความเป็นคนไทยนั้นมีมิติที่หลากหลายกว่านั้น
กำแพงเองก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทรงพลังมาแต่ไหนแต่ไร
กำแพงเองในฐานะเครื่องมือที่ใช้ในการแบ่งแยก แยกระหว่างผู้ถูกปกป้อง และผู้ที่ควรต้องกำจัดไป อย่างที่ครั้งหนึ่งอิสราเอลเคยสร้างกำแพงในเขต West Bank โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องประชาชนชาวอิสราเอลจากชาวปาเลสไตน์ ในสายตาคนทั่วไปชาวปาเลสไตน์กลายเป็นคนผิดโดยไม่รู้ตัวไปแล้วด้วยกำแพงนี้
หรือการใช้การกล่าวอ้างเหนือเขตแดนที่เป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศ เพื่อเรียกเสียงสนับสนุนจากประชาชนก็ทำได้
ครั้งหนึ่งรัฐบาลอาร์เจนตินาใช้วิธีการดังกล่าวเพื่อเรียกเสียงสนับสนุนจากประชาชนทั้งประเทศ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลนี้เองที่เคยทั้งจับกุมประชาชนที่เห็นต่างอย่างโหดร้าย ยังไม่วายต้องนับที่เคยสังหารประชาชนมาแล้วมากมาย สามารถพลิกความนิยมในหมู่ประชาชนให้มาเป็นพ้องกันได้ด้วยการสร้างศัตรูร่วมของชาติ ด้วยการประกาศไม่ยอมรับสหราชอาณาจักรที่มีสิทธิเหนือดินแดนหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ว่าควรเป็นดินแดนของอาร์เจนตินาไม่ใช่อังกฤษที่อยู่ห่างไปอีกหลายพันไมล์หรือค่อนโลก
การกลายเป็นชาติได้ด้วย Facebook ก็เป็นอีกบางช่วงบางตอนในเล่มที่น่าสนใจ
เรื่องเริ่มจากว่าก่อนหน้านี้ชาวโคโซโว ยังไม่ถูกยอมรับจากประเทศเซอร์เบียในการประกาศเอกราชแยกตัวเองออกมา ทำให้ชาวโคโซโวที่จะใช้ Facebook ต้องเลือกว่าตัวเองเป็นชาวเซอร์เบีย ไม่ก็ แอลเบเนีย แบบไม่เต็มใจ
แต่ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2013 ทาง Facebook ก็ตัดสินใจลงรายชื่อประเทศ “โคโซโว” ให้เป็นตัวเลือกของผู้ใช้งานในการนิยามตัวตนของตัวเอง ผลคือมีผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 200,000 คนเปลี่ยนเป็นชาวโคโซโวในทันที จนเป็นแรงกระเพื่อมให้เกิดการยอมรับเอกราชของโคโซโวในระดับนานาชาติในเวลาต่อมา
ท่อส่งก๊าซก็เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงอำนาจทางด้านภูมิรัฐศาสตร์อยู่ไม่น้อย อย่างท่อส่งก๊าซจากรัสเซียไปยังหลายประเทศในยุโรป ครั้งหนึ่งเคยมีการงดส่งก๊าซออกไปในช่วงหน้าหนาว จนทำเอาหลายประเทศในยุโรปต้องหนาวไปตามๆกันเพราะไม่มีก๊าซใช้ทำความร้อนในหน้าหนาวปีนั้น
ท่อส่งก๊าซเลยกลายเป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอำนาจด้านพลังงานของรัสเซีย
เช่นกันกับ “ของเล่น” ที่เราอาจมองเป็นเรื่องเล่นๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วของเล่นนี่แหละที่เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังภูมิรัฐศาสตร์ที่ดีที่สุด
อย่างของเล่นเด็กในช่วงยุคหนึ่งก็ปลูกฝังให้ฝ่ายถูกคือทหารสัมพันธมิตร หรือสหรัฐ และฝ่ายผิดคือกองกำลังนาซีเยอรมัน หรือกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์
ของเล่นที่เคยคิดว่าช่วยสร้างจินตนาการ เลยกลายเป็นของเล่นเพื่อปูพื้นฐานการเมืองการปกครองตั้งแต่เด็กไปโดยไม่รู้ตัว
ภาพยนต์เองก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์หรือการเมืองชั้นดี หลังจากช่วงการก่อการร้าย 9/11 ทางประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช มีการเรียกประชุมกับเหล่าสตูดิโอผู้สร้างภาพยนต์และผู้กำกับมากมาย เพื่อขอความเห็นและความร่วมมือในการทำให้ประชาชนรับรู้ถึงภัยของการก่อการร้าย และขอแรงร่วมมือจากประชาชนในการสนับสนุนสงครามก่อการร้ายไปพร้อมกัน
เราจะเห็นว่าช่วงหนึ่งหนังเกี่ยวกับการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายมีมากเหลือเกิน ดังนั้นเลยรู้ว่ามันไม่ใช่แค่กระแสของผู้สร้างที่คิดตรงกันเท่านั้น แต่มีการร่วมกันคิดให้ออกมาเป็นในทิศทางที่ตรงกันต่างหาก
แผนที่เองก็เป็นเครื่องมือสำคัญมาโดยตลอด แต่เชื่อมั้ยว่าแค่กลับด้านที่ฉายภาพให้คนเห็น ก็ทำให้ประชาชนเกิดการตระหนักกลัวและสนับสนุนเป้าหมายทางการเมืองของรัฐอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ครั้งหนึ่งสหรัฐเคยผลักดันยุคอวกาศการบินสมัยใหม่ ด้วยการฉายภาพให้เห็นผ่านแผนที่ว่าสหรัฐกับสหภาพโซเวียตนั้นใกล้กันนิดเดียว
จากเดิมที่ภาพแผนที่โลกทั่วไปมีสหรัฐอยู่ริมซ้ายสุด และสหภาพโซเวียตอยู่ริมขวาสุด ในความรู้สึกประชาชนเมื่อมองโลกจากมุมมองนี้รู้สึกว่าภัยของคอมมิวนิสต์โซเวียตนั้นไกลตัวเหลือเกิน
แต่ทางรัฐบาลสหรัฐได้ทำภาพแผนที่ขึ้นมาใหม่ โดยนำภาพแผ่นน้ำแข็งอาร์กติกมาเป็นศูนย์กลาง และเห็นภาพว่าด้านบนของสหรัฐกับด้านบนของสหภาพโซเวียตนั้นใกล้กันแค่แผ่นน้ำแข็งกั้นกลางเท่านั้นเอง
โลกใบเดิม แค่เปลี่ยนมุมมอง ก็ทำให้ประชาชนสหรัฐส่วนใหญ่ตระหนักถึงภัยของสหภาพโซเวียต จนกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดยุคพัฒนาการบินและอวกาศเพื่อให้แข่งขันกับสหภาพโซเวียตได้มากมาย
จีนเองก็เคยทำแผนที่ขึ้นมาใหม่โดยไม่ถามเสียงชาวโลก หรือกลุ่มประเทศทางทะเลจีนใต้เหมือนกัน โดยแผนที่ใหม่ของจีนอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้มากมายจนไปลุกล้ำสิทธิ์ของหลายประเทศ ไม่ว่าจะฟิลิปปินส์ เวียดนาม ใต้หวัน และญี่ปุ่น จนกลายเป็นข้อพิพาทที่หลายประเทศเรียกร้องให้จีนยกเลิกการใช้แผนที่นั้นซะ
ธงชาติเองก็เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ทรงพลังมาช้านาน ครั้งหนึ่งตอนที่สหรัฐส่งคนขึ้นไปบนดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรกของโลก เราจำได้ว่านักบินอวกาศคนนั้นได้ปักธงชาติสหรัฐไว้บนดวงจันทร์ เป็นภาพที่คนส่วนใหญ่บนโลกจำได้เมื่อพูดถึงเหตุการณ์นี้
แต่รู้มั้ยว่ามีการวิเคราะห์มาว่าการปักธงชาติสหรัฐบนดวงจันทร์นั้นบ่งบอกทางการเมืองได้สองอย่าง หนึ่ง สหรัฐเป็นชาติแรกในโลกที่ไปดวงจันทร์ได้สำเร็จ กับอย่างที่สองคือ สหรัฐอาจอ้างสิทธิ์บนดวงจันทร์ได้เป็นชาติแรกในโลกอีกด้วย
เห็นมั้ยครับว่าภูมิรัฐศาสตร์นั้นเป็นหัวข้อที่กว้างขวางมากจนยากจะสรุปให้ได้ในไม่กี่ประโยค ไม่เหมือนกับหนังสือเล่มอื่นๆที่พออ่านจบผมก็สามารถสรุปแบบง่ายๆให้คุณได้เลย
แต่แม้จะยาก แต่ยิ่งอ่านก็ยิ่งน่าหลงไหล ถึงแนวคิดการใช้การครอบงำทางความคิดผ่านสิ่งต่างๆรอบตัว ที่เราอาจโดนชี้นำอยู่ตลอดโดยไม่รู้ตัว
Geopolitics A Very Short Introduction
ภูมิรัฐศาสตร์ ความรู้ฉบับพกพา
Klaus Doods เขียน
จิตติภัทร พูนขำ แปล
สำนักพิมพ์ Openworlds
เล่มที่ 113 ของปี 2018
อ่านเมื่อ 2018 10 05