ประชาธิปไตย…คำที่คุ้นเคยแต่ใครเอยจะรู้ว่า แท้จริงแล้วประชาธิปไตยที่เข้าใจกันมานั้นมีที่มาอย่างไร

Democracy แรกเริ่มเดิมทีจากรากคำภาษากรีกโบราณ มาจากสองคำผสมกันระหว่างคำว่า Demos ที่หมายถึงประชาชน กับ Krator ที่หมายถึงการปกครอง เมื่อรวมกันแล้วก็หมายความว่า “การปกครองโดยประชาชน”

ในยุคกรีกโบราณที่ประชาธิปไตยถือกำเนิดขึ้นนั้น อริสโตเติล ปราชญ์นักคิดชื่อดังผู้สนับสนุนประชาธิปไตยคนแรกๆกลับไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตยที่มี “การเลือกตั้ง” ในแบบที่เป็นอยู่

ในสมัยนั้นอริสโตเติลสนับสนุนให้ใช้การ “จับฉลาก” เลือกผู้ที่จะเข้ามาทำงานหรือตัดสินใจ เพราะอริสโตเติลรู้ว่าคนเรานั้นโลภและเขลาเกินกว่าที่คิด ทำให้ไม่มั่นใจว่าถ้าต้องโหวตกันก็จะมวลหมู่มากก็จะพ่ายแพ้ต่อปัญญา

เหมือนที่มีคนกล่าวว่า “ความเขลาจะมีชัยเหนือปัญญา และปริมาณจะสำคัญกว่าความรู้”

ว่าไปก็คือแนวคิดว่า “ประชานิยม” ในทุกวันนี้ ที่ผู้เขียนเชื่อว่าจะเป็นตัวการพาประชาธิปไตยไปสู่ความเสียหาย เพราะประชานิยมคือการที่พรรคต่างๆแข่งขันกันเอาใจประชาชนหมู่มาก ด้วยนโยบายต่างๆเพื่อกระตุ้นให้คนส่วนมากเลือกตัวเอง จนไม่มีใครกล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ดีต่อประชาชนหมู่มากจริงๆ

ถ้าจะเปรียบก็คงเหมือนพ่อแม่ตามใจลูกเพราะกลัวว่าลูกจะไม่รักกระมัง

ประชาธิปไตยแบบประชานิยมคือการเมืองของการกระตุ้นเร้า มากกว่าการเมืองเหตุผล แต่เหนือไปกว่านั้นมันคือการเมืองที่เบี่ยงเบนความสนใจของผู้คน ไปจากประเด็นสำคัญที่ต้องการความใส่ใจอย่างจริงจัง

กลับไปที่กรีกโบราณต้นกำเนิดของประชาธิปไตยอีกครั้ง ในสมัยนั้นประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของทุกคน แต่เป็นแค่เรื่องของชนชั้นสูงที่ร่ำรวยพอไม่ต้องทำมาหากิน จนมีเวลามาถกเถียงเรื่องความคิดและการปกครอง

ซึ่งคนกลุ่มนี้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือที่ดินจนไม่ต้องทำกิน ก็มีสัดส่วนเพียงน้อยนิดที่ไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ

กรีกเองก็ไม่เคยมีความคิดที่จะแบ่งปัน “ประชาธิปไตย” ให้กับชาติอื่นแต่อย่างไรในตอนนั้น ประชาธิปไตยเลยเป็นเสมือนเครื่องเชิดชูสถานะของตนให้เหนือกว่าในความคิดของชาวกรีก

จากกรีกสู่โรมัน ประชาธิปไตยก็ปรับเปลี่ยนไปในชื่อใหม่ที่เรียกว่า “สาธารณรัฐนิยม” จนเข้าสู่ยุคเผด็จการอย่างไม่มีวันหวนกลับเมื่อซีซาร์เข้ามาปกครอง จากสาธารณรัฐก็เลยกลายเป็นจักรวรรดิโรมันจนท้ายที่สุด

พอพูดถึงประชาธิปไตยทุกวันนี้เรามักนึกถึงเรื่องของ “สิทธิ” มากกว่า “หน้าที่” แต่อยากจะบอกว่าแต่เดิมของประชาธิปไตยจนถึงยุคเรเนซองส์นั้น ไม่เคยมีแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิ” แบบทุกวันนี้

สิทธิแต่กำเนิดในประชาธิปไตยทุกวันนี้คือแนวคิดแบบสมัยใหม่เมื่อไม่นานมานี้ แต่เดิมกรีกผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตยมีแนวคิดว่า คนจะมีสิทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อทำตัวเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นตามหน้าที่เท่านั้น ไม่ใช่แบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ผู้คนนั่งๆนอนๆเรียกร้องสิทธิของตัวเองเป็นประจำ

ดังนั้นแต่เดิมประชาธิปไตย หรือการปกครองโดยประชาชน หมายถึงหน้าที่ที่รัฐเรียกร้องจากประชาชน ไม่ใช่สิทธิ์

อาจกล่าวได้ว่าประชาธิปไตยทุกวันนี้เป็นลูกผสมระหว่าง “สาธารณรัฐนิยม” กับ “เสรีนิยม” ก็ว่าได้

และก็มีการแบ่งที่ค่อนข้างเห็นชัดเจนเป็นสองฝ่าย เมื่อดูจากรัฐธรรมนูญของฝั่งอเมริกา กับยุโรปที่แตกต่างกันชัดเจน

รัฐธรรมนูญอเมริกานั้นเน้นไปทางจารีตปัจเจกชนนิยมที่เข้มแข็ง ผิดกับฝั่งยุโรปที่รัฐธรรมนูญนั้นเน้นไปทางจารีตประชานิยมที่แข้มแข็งกว่า

ทั้งนี้เพราะตอนรากฐานของรัฐธรรมนูญทั้งสองทวีปต่างกัน อเมริกาถือกำเนิดมาจากชนชั้นพ่อค้า หรือผู้ที่มีที่ดินทรัพย์สินของตัวเอง เลยต้องการความเป็นปัจเจกชนมาก เมื่อเทียบกับทางยุโรปที่เริ่มจากชนชั้นชาวนา หรือผู้ที่อยู่ใต้กรรมสิทธิ์ของพวกอภิชน หรือขุนนางท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของที่ดินผืนใหญ่ เลยเป็นเรื่องของการเรียกร้องสิทธิ์ของตนให้มากขึ้นเพื่อเท่าเทียม

พูดถึงเรื่องสิทธิ หรือความเสมอภาค แต่ไหนแต่ไรไม่ได้หมายถึงความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ แต่เป็นความเสมอภาคของความเป็นพลเมือง

การเกณฑ์ทหารแต่เดิมนั้นคือการทำลายระบบอภิสิทธิ์ชน เพราะให้ประชาชนคนธรรมดาสามารถเลื่อนขั้นทางสังคมได้ด้วยตัวเอง ในสมัยนโปเลียนปกครอง

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าแปลกของประชาธิปไตยทุกวันนี้คือ แม้แต่อัตตาธิปไตยหรือเผด็จการทุกวันนี้ ยังต้องการการยอมรับและยินยอมจากประชาชนทั้งนั้น ไม่มีเผด็จการใดที่ไม่ต้องการการยอมรับจากประชาชนอีกต่อไป

แม้ประชาชนโดยรวมไม่อาจปกครองตัวเองได้ แต่พวกเขาทำลายรัฐบาลได้ นี่คือพลังของประชาชน

ส่วนพวกประชาธิปไตยสุดโต่งอาจกล่าวได้ว่า การคุกคามประชาธิปไตยนับว่าเป็นสิทธิทางประชาธิปไตยเหมือนกัน

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของหนังสือ ประชาธิปไตย ความรู้ฉบับพกพาเล่มนี้ ถ้าอยากรู้มากกว่านี้ผมแนะนำให้หามาอ่าน

หลายครั้งที่เราคิดว่าเรารู้จักและเข้าใจสิ่งที่เราคุ้นเคยมานานแล้ว แต่บางครั้งเราก็เพิ่งรู้ว่าแท้จริงแล้วที่เรารู้นั้นเป็นแค่เศษเสี้ยวเดียวของทั้งหมดเลยจริงๆ

#อ่านแล้วเล่า Democracy ประชาธิปไตย ความรู้ฉบับพกพา

Benard Crick เขียน
อธิป จิตตฤกษ์ แปล
สำนักพิมพ์ Openworlds

เล่มที่ 110 ของปี 2018
20180921

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/