สรุปหนังสือหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องเศรษฐศาสตร์แบบไม่ได้มากศัพท์วิชาการ แต่ฉลาดด้วยการหยิบเอาเรื่องใกล้ตัวเรามาสอนให้เข้าใจเศรษฐศาสตร์แบบง่ายๆ แถมยังสนุกอีกด้วย

จากชื่อหนังสือที่เริ่มจากการตั้งคำถามว่า “ถ้าอยากได้ชุดเกราะ Iron Man เราต้องจ่ายเท่าไหร่?”

น้อยคนนักในวันนี้ที่จะไม่รู้จัก Iron Man นี่คือสิ่งที่ผู้เขียน Park Byung-Ryul เลือกหยิบมาเป็นชื่อหนังสือ และหนึ่งตอนที่ใช้อธิบายเรื่องกฏแห่งอุปสงค์อุปทาน ด้วยการบอกว่าถ้าทั้งโลกมีแค่ Tony Stark ที่สามารถสร้างชุดเกราะ Iron Man ได้ นั่นยิ่งทำให้ราคาขายสูงจากการผูกขาดตลาด แถมจากที่เคยคิดว่ายิ่งซื้อจะยิ่งถูก อาจะกลายเป็นยิ่งซื้อยิ่งแพง เพราะไม่ต้องการขายเยอะเกินไปจนทำให้ผู้ที่ซื้อไปแกร่งเกินตัวก็ได้ครับ

เห็นมั้ยครับว่า Iron Man ยังเอามาใช้อธิบายวิชาเศรษฐศาสตร์ได้ ถ้าบรรดาอาจารย์ทั้งหลายใช้เรื่องใกล้ตัวมาสอนเด็กนักเรียนนักศึกษาได้ สังคมเราคงมีแต่อัจฉริยะเต็มไปหมดครับ

แล้วไม่ใช่แค่ Iron Man ในเล่มที่เลือกเอามาเล่าแบบเศรษฐศาสตร์ แต่ยังเต็มไปด้วยเรื่องใกล้ตัวมากมายอย่าง Avenger Team หรือนักเบสบอลชื่อดัง หรือแม้แต่วรรณกรรมสุดคลาสสิคอย่าง Romeo & Juliet ที่เอามาสอนให้เศรษฐศาสตร์กลายเป็นเรื่องสนุก

เพราะความจริงแล้ววิชาเศรษฐศาสตร์นั้นไม่ได้ซับซ้อนและไกลตัวอย่างที่เราเชื่อกัน แต่วิชาเศรษฐศาสตร์นั้นเป็นเรื่องที่เราทุกคนใช้ในชีวิตประจำวันไม่รู้ตัว เพราะวิชาเศรษฐศาสตร์นั้นว่าด้วย “การเลือก” และการที่เราต้องเลือกนั้นก็มาจากความจำกัดหรือขาดแคลน ไม่ว่าจะด้วยเงิน หรือด้วยเวลาก็ตาม เช่น ในวันหยุดยาวที่กำลังจะมาถึง เราจะเลือกอะไรดีระหว่างนอนอยู่บ้านหรือออกไปเที่ยว แบบไหนจะก่อให้เกิดอรรถประโยชน์สูงสุดกับเรา หรือถ้าเราเลือกออกไปเที่ยวแล้วเราจะไปเที่ยวไหนดี ระหว่างในประเทศกับต่างประเทศ เที่ยวในประเทศอาจประหยัดเงินกว่า แต่ก็อาจไม่ได้ความสุขสำราญเท่ากับการเที่ยวต่างประเทศ

เห็นมั้ยครับแค่การจะเลือกใช้วันหยุดยังไงก็ว่าด้วยวิชาเศรษฐศาสตร์แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ส.ว. หรือรัฐมนตรีว่าการใดๆก็เข้าใจวิชาเศรษฐศาสตร์ได้ไม่ยาก

วิชาเศรษฐศาสตร์บอกว่าสิ่งใดจะมีค่านั้นแค่ความหายากยังไม่พอ แต่ต้องมีความต้องการสิ่งนั้นด้วย เช่น เพชร มีค่าเพราะหายากมากและมีความต้องการสูง ผู้หญิงทุกคนอยากได้เพชร หรือแหวนเพชรเม็ดใหญ่ๆ

แต่เช่นด้วยกัน เพชร อาจไม่มีค่าถ้าใครคนนึงติดอยู่กลางทะเลทรายแล้วขาดน้ำมา 3 วัน เค้าย่อมจะเห็นว่าน้ำหนึ่งขวดนั้นมีค่ามากกว่าเพชรในเวลานั้น แต่ถ้าที่เค้าอยู่ไม่ได้ขาดแคลนน้ำเหมือนกลางทะเลทราย มันก็จะไม่ได้มีค่ามากกว่าเพชรอีกต่อไป

แล้วในความขาดแคลนทางเศรษฐศาสตร์นั้นก็ยังเกี่ยวกับการเลือกอาชีพด้วย

ถ้าเราอยากมีรายได้มากๆ ก็ให้เลือกทำอาชีพที่คนขาด เช่น ในวันนี้หาคนทำด้าน data ยากมาก เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ น้อยคนนักจะมีความสามารถ ทำให้ค่าตัวค่าจ้างสูงมาก เหตุการณ์เดียวกันนี้ก็เคยเกิดขึ้นเมื่อสิบปีก่อนกับสายงาน digital ในวันนี้อินเทอร์เน็ตเพิ่งเริ่มบูม โซเชียลมีเดียเพิ่งมาก ใครก็ตามที่เข้าใจเรื่องเว็บ เข้าใจเรื่องดิจิทัล รู้จักโซเชียลมีเดีย ต่างโดยบริษัทต่างๆซื้อตัวกันเป็นว่าเล่นครับ

ถ้าอยากรวยให้เลือกงานที่ไม่มีคนทำแต่มีความต้องการสูงนั่นเองครับ

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยสินค้าต่ำต้อย ที่เมื่อเศรษฐกิจดียอดขายตก เช่น มาม่า หรือ การโดยสารโดยใช้รถเมล์ เพราะพอเศรษฐกิจดีคนก็อยากกินดีมากขึ้น หรืออาจเปลี่ยนไปนั่งแท็กซี่มากขึ้น หรือแม้แต่ซื้อรถเพิ่มขึ้นก็ได้ครับ

เรื่องเศรษฐศาสตร์กับการท่องเที่ยวก็น่าสนใจ

ที่ประเทศเกาหลีใต้เกิดปัญหาว่าคนไม่ชอบเที่ยวในประเทศ เพราะต้นทุนในการเที่ยวในประเทศนั้นต่ำกว่าการเที่ยวต่างประเทศโดยเฉพาะในแถบ south east asia แค่นิดเดียว คนเกาหลีเลยชอบบินไปเที่ยวต่างประเทศเวลาหยุดยาว ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศนั้นซบเซามาก

ดังนั้นกลยุทธ์ของการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ต้องเปลี่ยนเป็นทำยังไงก็ได้ให้คนเสียดายถ้าไม่ได้เที่ยวในประเทศวันนี้ ทำให้คนรู้สึกว่าการเลือกเที่ยวเกาหลีใต้นั้นเป็นเรื่องที่คุ้มค่ามาก มากกว่าแค่เรื่องค่าใช้จ่ายในการเที่ยวครับ

เรื่องต้นทุนจม หรือ Sunk Cost ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นก็น่าสนใจ เค้าบอกว่า “อย่าเสียดายน้ำที่หกไปแล้วครึ่งแก้ว”

ก็เหมือนกับ “เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย” สุภาษิตไทยบ้านเรานี่แหละครับ ที่บอกให้คนรู้ว่าอะไรที่เสียแล้วก็ทิ้งมันไป อย่ามัวไปเสียดายเพราะเวลาไม่คืนกลับมา คนเรามักเกิดอาการที่เรียกว่าความเสียดายเมื่อเราลงทุนลงแรงกับอะไรบางอย่างไปเสมอ

ดังนั้นถ้าคิดในทางเศรษฐศาสตร์คือให้มองไปข้างหน้าอย่าย้อนไปข้างหลัง ถ้ารู้ว่ายังดึงดันทำมันต่อไปแล้วจะมีแต่เสียมากขึ้นก็รีบๆทิ้งมันไปซะ

บางคนเอาเรื่องต้นทุนจมของชีวิตมาเป็นปมด้อยให้ตัวเองไม่พัฒนา เช่น อ้างว่าเพราะบ้านไม่รวย หน้าตาไม่ดี การศึกษาไม่หรู เลยทำให้ตัวเองไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่อดีตเราแก้ไขไม่ได้ แต่ถ้าเรามุ่งไปข้างหน้าแล้วค่อยๆแก้ไขให้มันดีขึ้นสุดท้ายเราก็จะไปได้ไกลกว่าที่คิดครับ

อีกความรู้ที่น่าสนใจคือ Cinderella Complex หรือคนที่ไม่พอใจกับชีวิตตัวเองแต่ก็กลับไม่ลงมือทำอะไร เอาแต่เฝ้ารอว่าซักวันจะมีใครซักคนเข้ามาเปลี่ยนทำให้ชีวิตดีขึ้น เหมือนกับนิทานเรื่อง Cinderella ยังไงล่ะครับ ตั้งใจเป็นคนใช้ในบ้านไม่หืออือ เอาแต่เฝ้ารอเจ้าชาย

อีกความรู้ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ Ringelmann effect หรือแปลเป็นไทยง่ายๆว่า “มากคนมากความ” การมีคนเยอะขึ้นไม่ได้ทำให้เกิดประสิทธิภาพหรือผลงานมากขึ้นตามจำนวนคนเสมอไป

ทางแก้ก็ง่ายมาก แค่เอาคนออกไปบ้างซักครึ่งนึง แล้วทุกอย่างก็จะกลับมารวดเร็วเหมือนเดิม

หนังสือเล่มนี้ยังบอกอีกว่านโยบายการแจกเงินให้ประชาชนไปใช้ของรัฐบาลทั้งหลายนั้นมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ

เพราะนโยบายนี้รัฐบาลหวังว่าประชาชนจะเอาเงินส่วนเพิ่มที่ได้เอาจับจ่ายใช้สอย จนเกิดเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเงินหมุนเวียนของทุกคนพร้อมกัน เหมือนช่วยกันติดเครื่องยนต์เศรษฐกิจขึ้นมาอีกครั้งครับ

แต่ในความเป็นจริงคนส่วนใหญ่เลือกที่จะเก็บออมเงินนั้นไว้แทนการใช้ เพราะเมื่อไหร่ที่คนรู้สึกว่าเงินที่ได้มานั้นเป็นแค่ชั่วคราวไม่ถาวร เค้าก็จะเลือกที่จะไม่ใช้เงินเพราะความเสียดายว่าจะเสียไป

แต่ถ้าประชาชนรับรู้ว่าเงินที่ได้เปล่านั้นจะได้อย่างต่อเนื่อง แบบนี้ถึงจะทำให้ประชาชนกล้าใช้เงินที่ได้มาเปล่า เพราะรู้ว่าต่อให้ใช้หมดก็ได้มาใหม่ ดังนั้นใช้ไปก็ไม่มีอะไรเสียหาย มีแต่จะยิ่งเสียดายถ้าไม่รีบใช้เพราะของที่อยากได้อาจหมดก่อนก็ได้

ความรู้สุดท้ายที่ผมประทับใจมากกับหนังสือเล่มนี้ ที่ทำให้ผมหายสงสัยว่าทำไมสหรัฐอเมริกาและเงินดอลลาร์ถึงกลายเป็นหัวใจของเศรษฐกิจโลก

เพราะตอนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทองคำที่เป็นทุนสำรองของเงินตราทั่วโลกถูกโอนย้ายมาที่สหรัฐเป็นส่วนใหญ่ ตอนนั้นชาติไหนจะผลิตเงินจะต้องมีทองคำหนุนหลังในมูลค่าเท่ากัน ทำให้เกิดภาวะทองคำขาดแคลนจนไม่สามารถพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นได้ แล้วก็ก่อให้เกิดภาวะเงินฝืด

ทางสหรัฐเลยก่อตั้งระบบแลกเงิน Bretton Woods System ที่ระบุว่าต่อไปนี้ทุกๆ 35 ดอลลาร์อเมริกาจะแลกทองคำได้ 1 ออนซ์ ทำให้ประเทศต่างๆทั่วโลกไม่ต้องสะสมทองคำเพื่อผลิตเงินอีกต่อไป แค่เก็บเงินดอลลาร์ไว้เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนก็พอ

แต่แล้ว 30 ปีผ่านไประบบดังกล่าวที่กลายเป็นหัวใจสำคัญของการค้าโลกก็พังทลายลง เมื่อประธานาธิบดี Nixon ประกาศยกเลิกระแบบแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์กับทองคำ แต่กลับประกาศกร้าวกับชาวโลกว่า ต่อไปนี้สหรัฐจะยกเลิกระบบแลกเปลี่ยนทองเงินดอลลาร์กับทองคำที่เคยใช้มา ถ้าชาติไหนไม่อยากใช้เงินดอลลาร์เป็นตัวกลางก็ไม่ต้องใช้

แต่ประกาศว่าทั่วโลกต่างเสพย์ติดความสะดวกสบายของการใช้ดอลลาร์เป็นตัวกลาง เลยทำให้เงินดอลลาร์นั้นยังคงมีอิทธิพลต่อโลกเสมอมาจนทุกวันนี้

และทั้งหมดนี้ก็คือสรุปหนังสือที่ว่าด้วยวิชาเศรษฐศาสตร์ที่อยากให้เหล่าอาจารย์เศรษฐศาสตร์หรือศาสตร์อื่นๆได้อ่านกัน เผื่อว่าจะเกิดไอเดียในการเปลี่ยนเรื่องรอบตัวง่ายๆให้กลายเป็นการสอนให้คนเข้าใจเรื่องยากๆได้แบบที่หนังสือเล่มนี้ทำ

เมื่อเริ่มอ่านไปซักบทแล้วคุณจะคิดเหมือนผมว่า “ถ้าตอนนั้นอาจารย์สอนแบบนี้เราก็คงไม่ต้องดรอปหรือเกลียดวิชานี้แล้ว”

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 31 ของปี 2019

สรุปหนังสือ เศรษฐศาสตร์เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
How much is the Iron man suit?
Park Byung-Ryul เขียน
ตรองสิริ ทองคำใส แปล
สำนักพิมพ์ Short Cut ในเครือ Amarin

20190518

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/