Factfulness หนังสือเล่มนี้ทำให้เข้าใจความจริงของโลกอย่างที่ควรจะเป็น เพราะเค้าบอกว่าคนส่วนใหญ่แม้แต่เหล่าคนที่ฉลาดที่สุด รวยที่สุด หรืออยู่ในประเทศที่เจริญที่สุดของโลก ก็ยังมีความรู้ความเข้าใจที่ผิดไปต่อโลกมาก

มากขนาดไหนหรอครับ ก็มากขนาดที่ว่าจากคำถาม 13 ข้อ ให้ควายทายยังถูกมากกว่าเลย

ผมมีคำถามทั้ง 13 ข้อที่ว่าให้คุณทาย ลองดูนะครับว่าคุณจะตอบถูกกี่ข้อในประเทศทั้งหมดในโลกที่มีรายได้ทุกวันนี้ มีเด็กผู้หญิงจำนวนเท่าไหร่ที่จบการศึกษาระดับประถม

1.ในประเทศทั้งหมดในโลกที่มีรายได้น้อยทุกวันนี้ มีเด็กผู้หญิงจำนวนเท่าไหร่ที่จบการศึกษาระดับประถม
A. ร้อยละ 20
B. ร้อยละ 40
C. ร้อยละ 60

2. ประชากรส่วนใหญ่ของโลกอาศัยอยู่ใน
A. ประเทศที่มีรายได้น้อย
B. ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง
C. ประเทศที่มีรายได้สูง

3. 20 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของประชากรโลกที่อยู่อย่างยากจนข้นแค้นมีจำนวน
A. เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
B. ใกล้เคียงเดิม
C. ลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง

4. อายุเฉลี่ยของคนในโลกปัจจุบันนี้อยู่ที่
A. 50 ปี
B. 60 ปี
C. 70 ปี

5. ทุกวันนี้มีเด็กอายุ 0-15 ปีจำนวนสองพันล้านคนบนโลก ในปี 2100 จะมีเด็กจำนวนเท่าไหร่ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ
A. สี่พันล้านคน
B. สามพันล้านคน
C. สองพันล้านคน

6. องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าในปี 2100 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 4 พันล้านคน ด้วยเหตุผลหลักคือ
A. มีเด็ก (อายุน้อยกว่า 15 ปี) จำนวนมากขึ้น
B. มีผู้ใหญ่ (อายุ 15-74 ปี) จำนวนมากขึ้น
C. มีคนสูงอายุ (อายุมากกว่า 75 ปี) จำนวนมากขึ้น

7. จำนวนคนที่เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
A. เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว
B. ใกล้เคียงเดิม
C. ลดลงเหลือน้อยกว่าครึ่ง

8. ปัจจุบันมีคนอาศัยบนโลกประมาณ 7 พันล้านคน ภาพใดแสดงที่อยู่ของคนบนโลกได้ดีที่สุด (ภาพคน 1 คนแทนประชากรหนึ่งพันล้านคน)

9. มีเด็กอายุ 1 ปีจำนวนเท่าไหร่ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคในปัจจุบัน
A. ร้อยละ 20
B. ร้อยละ 50
C. ร้อยละ 80

10. ผู้ชายอายุ 30 ปีทั่วโลกเคยผ่านการเรียนหนังสือในโรงเรียนเฉลี่ย 10 ปี ผู้หญิงอายุเท่ากันมีเวลาเรียนเฉลี่ยเท่าไหร่
A. 9 ปี
B. 6 ปี
C. 3 ปี

11. ในปี 1996 เสือ หมีแพนด้า และแรดดำ ถูกจัดว่าเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ สัตว์ในกลุ่มนี้ปัจจุบันยังเหลือกี่ชนิดที่ยังคงใกล้สูญพันธุ์
A. 2 ชนิด
B. 1 ชนิด
C. 0 ชนิด

12. ประชากรโลกจำนวนเท่าไหร่ที่เข้าถึงไฟฟ้า
A. ร้อยละ 20
B. ร้อยละ 50
C. ร้อยละ 80

13. ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศเชื่อว่า อีก 100 ปีข้างหน้าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะ…
A. เพิ่มขึ้น
B. เท่าเดิม
C. ลดลง

จดคำตอบที่คุณเลือกไว้ครบทั้ง 13 ข้อหรือยังไครับ ถ้าครบแล้วนี่คือเฉลย ไม่ต้องตกใจไปเพราะคนส่วนใหญ่ก็เข้าใจโลกผิดเหมือนคุณ
1: C, 2: B, 3: C, 4: C, 5: C, 6: B, 7: C, 8: A, 9: C, 10: A, 11: C, 12: C, 13: A

ประเทศที่มีความสุขและดูจะฉลาดที่สุดในโลกอย่างสวีเดนกับนอร์เวย์ยังตอบคำถามชุดนี้ถูกแค่ 25% เองครับ ส่วนอีกหลายประเทศที่เหลือต่ำกว่านี้จนไม่น่าดูเลยครับ

ดังนั้นที่ผู้เขียนบอกว่าขนาดให้ลิงหรือควายมาตอบยังถูกมากกว่าเราเลย เพราะเดาจากค่าเฉลี่ย 1 ใน 3 ที่น่าจะถูกซัก 33% น่ะครับ

ดังนั้นถ้าเรากลับไปดูที่คำตอบของคำถามทีละข้อเราจะพบว่าโลกนั้นดีกว่าที่เราคิดไว้มาก หรือตอนนี้คุณอาจจะเริ่มคิดว่ามันดูดีจนไม่น่าเชื่อใช่มั้ยครับ

เริ่มจากภาพแรก กราฟข้อมูลระหว่างอายุขัยของประชากรกับรายได้ในปี 2018 ของทั้งโลก
world current situation

จุดกลมๆคือตัวแทนของประเทศ วงกลมยิ่งใหญ่ยิ่งบอกให้รู้ว่ามีประชากรมาก วงกลมใหญ่สุดสองด้านซ้ายมือคือประเทศอินเดีย ส่วนขวามือคือประเทศจีน จะเห็นว่าประเทศไทยนั้นถูกจัดว่ารวยกว่าจีนนิดหน่อยด้วยซ้ำ แถมยังเป็นประเทศที่เศรษฐกิจค่อนไปทางดี อยู่ในระดับประเทศที่มีรายได้ Level 3 จาก 4 Level ในระดับโลกครับ

ทีนี้ลองมาดูย้อนหลังตั้งแต่ปี 1800 กันหน่อยว่า ตลอดระยะเวลา 218 ปีที่ผ่านมาอายุขับประชากรโดยเฉลี่ยและรายได้ต่อหัวของคนไทยมีพัฒนาการเป็นอย่างไรครับ

Thailand income and age development

จากรูปจะเห็นว่าประเทศไทยนั้นมีช่วงอายุขัยของประชากรโดยเฉลี่ยดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงปี 1930-1950 แล้วรายได้ก็พุ่งทะยานไปข้างหน้าตั้งแต่ช่วงปี 1949-1996 ก่อนจะฟองสบู่แตก แล้วก็มีรายได้ถดถอยลงเล็กน้อยแต่จากนั้นก็พัฒนาก้าวหน้าเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

ใครที่อ่านถึงตรงนี้แล้วอยากลองเล่นเครื่องมือที่ผมเอารูปมาให้ดูบ้าง อดใจรอตอนท้ายเดี๋ยวผมแชร์ลิงก์ให้ครับ แต่ตอนนี้อ่านสรุปกันต่อก่อน

ส่วนความรู้ที่เราเคยรู้มาว่าโลกเรานั้นแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ คือกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว หนังสือเล่มนี้บอกให้คุณอัพเดทความรู้นี้ใหม่ได้แล้ว เพราะความรู้นี้เปรียบเสมือนที่คุณยังใช้ Windows95 ในวันนี้ยังไงยังงั้น

จากข้อมูลจะเห็นว่าประเทศส่วนใหญ่อยู่ตรงกลางและค่อนไปทางพัฒนาเท่าเทียมกับประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วที่เราเคยเชื่อ และก็แทบจะไม่มีช่องว่างตรงกลางระหว่างกลุ่มประเทศให้เห็นเหมือนสมัย 30 ปีก่อน ที่สำคัญกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่นั่นแหละที่กำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะเศรษฐกิจพวกเค้าทั้งหลายกำลังหยุดชะงักหรือแทบจะไม่โตมานานมาก และก็กำลังถูกไล่หลังตามมาเรื่อยๆจนแทบจะหายใจรดต้นคอกันแล้วครับ

หนังสือเล่มนี้บอกให้เราแบ่งกลุ่มประชากรใหม่ไม่ใช่กลุ่มประเทศ 3 รูปแบบที่กล่าวอ้างไป แต่ให้แบ่งออกเป็นกลุ่มประชากรที่มีชีวิตอยู่ด้วยรายได้ต่ำกว่า 2 ดอลลาร์ ต่อวัน กับกลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่อวันอยู่ที่ 2-8 ดอลลาร์ แล้วก็กลุ่มประชากรที่มีรายได้ 8-32 ดอลลาร์ต่อวัน กับสุดท้ายกลุ่มประชากรที่มีรายได้มากกว่า 32 ดอลลาร์ต่อวันขึ้นไป

เพราะในประเทศเดียวกันก็ยังมีความต่างชั้นกันทางรายได้ ไม่มีประเทศไหนที่ทุกคนรวยกันถ้วนหน้า หรือจนทั่วทั้งแผ่นดิน

4 income levels

การแบ่งกลุ่มประชากรออกเป็น 4 ช่วงรายได้ทำให้เราเข้าใจชีวิตจริงมากขึ้น เริ่มจากกลุ่มแรกที่ยากจนมากนั่นคือคนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด ไม่มียานพาหนะใดๆช่วยทุ่นแรง ไม่มีไฟฟ้าใช้ และขาดแคลนอาหาร ส่วนกลุ่มที่สองถัดมานั้นมีจักรยานใช้ ซึ่งจักรยานก็สามารถทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นมาก มีไฟฟ้า มีเตาหุงหาอาหารใช้ ทำให้มีอาหารกินอิ่มท้อง จนสามารถซื้อเสื้อผ้าใหม่ใส่ได้บ้างครับ

ส่วนกลุ่มที่สามที่มีช่วงรายได้ต่อวันอยู่ที่ 8-32 ดอลลาร์ คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงน้ำประปา ไฟฟ้า แก๊สหุงต้ม ตู้เย็น หรือแม้แต่มอเตอร์ไซค์ ชีวิตคนกลุ่มนี้จะดีขึ้นมาก มากจนสามารถพาครอบครัวไปเที่ยวทะเลภูเขาได้ปีละครั้งเป็นอย่างน้อย

ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่มีรายได้ต่อวันมากกว่า 32 ดอลลาร์ ก็คือคนที่กำลังอ่านข้อความนี้อยู่ในตอนนี้ครับ

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วประชากรที่กำลังใช้ชีวิตอย่างยากจนข้นแค้นบนโลกนั้นมีสัดส่วนอยู่ที่ 9% แต่ถ้าเอาประชากรที่ใช้ชีวิตอย่างปานกลางและร่ำรวยรวมกันก็มีมากถึง 91% แบบนี้ยังคิดว่าโลกเราเลวร้ายขึ้นทุกวันอยู่หรือเปล่าครับ

บางคนอาจคิดว่าก็เพราะคนรวยมันรวยมากขึ้น ซึ่งผมก็เคยเชื่ออย่างนั้น แต่หนังสือเล่มนี้ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจเอามาแชร์ว่า กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุด 10% ของประเทศบราซิลนั้นแท้จริงแล้วกำลังจนลงถึง 20-25% เมื่อเทียบรายได้จากเมื่อปี 1990 กับปี 2015

เห็นมั้ยครับว่าความจริงแล้วเราไม่ได้ลำบาก โลกไม่ได้แย่ ชีวิตเราสะดวกสบายกว่าที่คิด แต่ที่เราคิดว่าแย่ก็เพราะเรามักจะเห็นแต่ข่าวร้ายผ่านสื่อรอบตัวเป็นประจำ ซึ่งเรื่องนี้สื่อก็ไม่ผิด เพราะถ้าอยู่ดีๆหนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า วันนี้ท้องฟ้าปลอดโปร่ง เครื่องบินไม่ตก ทุกอย่างราบรื่นดี แล้วใครจะอยากซื้อหนังสือพิมพ์อ่านจริงมั้ยครับ

อย่างปี 2016 ที่ผ่านมาที่เราจะเห็นข่าวเครื่องบินตกบ่อยเป็นพิเศษ จนทำให้หุ้นของกลุ่มบริษัทสายการบินนั้นกระทบไม่น้อย แต่ในความเป็นจริงแล้วน้อยคนนักจะรู้ว่าทั้งปี 2016 นั้นมีเที่ยวบินที่ลงจอดอย่างปลอดภัยไม่น้อยกว่า 40,000,000 เที่ยวบิน ถ้าเอามาเทียบกับเครื่องบินที่ตกในปีนั้นซึ่งมี 10 ครั้ง ก็เทียบเป็นเปอร์เซนต์ได้แค่ 0.000025% เท่านั้นครับ

หรือความเชื่อเรื่องคนจะล้นโลกก็เหมือนกัน ก่อนหน้านี้เราเคยเชื่อว่าในอนาคตประชากรจะล้นโลกจนเราต้องอดตาย โลกต้องพังทลายย่อยยับ แต่ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติบอกแล้วว่า โลกเราผ่านจุดที่ประชากรพุ่งทะยานมาแล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วงกำลังลดอัตราการเกิดลงพร้อมกันทั่วโลก ซึ่งคาดได้ว่าภายในปี 2100 จะมีประชากรคงที่ราวๆ 11,000 ล้านคนเท่านั้นครับ

ที่อัตราการเกิดน้อยลงเพราะผู้หญิงได้รับการศึกษามากขึ้น แล้วพวกเธอก็มีตัวเลือกในชีวิตมากขึ้น จนทำให้เธอสามารถมีลูกได้น้อยลงแต่เลี้ยงดูทุกคนได้แข็งแรง ผิดกับตอนที่ยังอยู่แบบยากจนไม่มีการศึกษา พวกเธอจำเป็นต้องมีลูกมากเพื่อเผื่อว่าลูกคนไหนจะไม่สามารถอยู่รอดจนโตได้

แต่ด้วยการรักษาพยาบาลและสาธารณสุขที่ดีขึ้นมากทั่วโลก ทำให้อัตราการเสียชีวิตของทารกและเด็กนั้นลดลงต่ำมากพร้อมกันทั่วโลก ดังนั้นประชากรจะไม่ล้นโลกอย่างที่เคยกังวลกันขนาดนั้นหรอกครับ แล้วคุณรู้มั้ยครับว่าตอนนี้หลายประเทศในโลกกำลังประสบภาวะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกันถ้วนหน้า ลำพังประเทศไทยเองอัตราการมีลูกก็ต่ำถึง 1.6 เรียกได้ว่าผลิตคนรุ่นใหม่มาไม่ทันทดแทนคนรุ่นเราในวันนี้ไปแล้วครับ

10 facts in Factfulness book

ผู้เขียนบอกว่าอย่ามองข้ามการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ เพราะแม้จะดีขึ้นแค่ปีละ 1% แต่ภายใน 75 ปีก็เท่ากับว่าดีขึ้นเท่าตัว หรือถ้าดีขึ้นปีละแค่ 3% แค่ 24 ปีมันก็จะสะสมทวีคูณเป็นเท่าตัวเช่นกันครับ

สุดท้ายถ้าใครยังคิดว่าโลกในวันนี้มันเลวร้าย ผมแนะนำให้คุณลองนึกย้อนกลับไปมองชีวิตตัวเองเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แล้วลองนึกดูดีๆว่าหลายสิ่งที่คุณมีในวันนี้ ในวันนั้นคุณเคยคิดว่าจะได้มีอย่างนี้มั้ย

หรือถ้าคุณยังคลางแคลงใจ ก็ลองไปนั่งคุยกับพ่อแม่คุณ หรือปู่ย่าคุณดูก็ได้ ว่าชีวิตเค้าตอนที่อายุเท่าคุณในตอนนี้นั้นเค้ากินอยู่อย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร ได้เรียนหนังสือมั้ย เคยไปเที่ยวไกลสุดแค่ไหน แล้วอะไรคือความบันเทิงที่สุดในชีวิต

แล้วคุณจะรู้ว่าโลกที่คุณอยู่ในวันนี้ ชีวิตที่คุณมีในวันนี้ ทุกอย่างรอบตัวคุณทุกวันนี้นั้นดีกว่าที่คุณเคยคิดไปเองเยอะเลยครับ

สุดท้ายนี้ผมวางลิงก์เว็บของหนังสือเล่มนี้ให้ Gapminder ให้คุณลองเข้าไปเล่นกับ Data และเครื่องมือต่างๆดู เพื่อที่คุณจะได้อัพเดทความรู้เกี่ยวกับโลกเราในวันนี้ให้ถูกต้องครับ

https://www.gapminder.org/tools/

เพราะถ้าคุณยังเอาแผนที่เมื่อ 30 ปีก่อนมานำทางชีวิตในวันนี้ คุณคงพลาดถนนตัดใหม่หลายสาย พลาดห้างใหม่ๆร้านกาแฟดีๆในวันนี้มากมาย รีบอัพเดทแผนที่ความรู้ของคุณเพื่อจะได้พาชีวิตและอนาคตไปได้ถูกทางครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 34 ของปี 2019

สรุปหนังสือ Factfulness จริงๆแล้วโลกดีขึ้นทุกวัน
ปราบ 10 สัญชาตญาณจอมลวงที่ทำให้คุณเข้าใจโลกผิดมาโดยตลอด และมองไม่เห็นคุณค่าที่โลกหยิบยื่นให้
Hans Rosling ร่วมกับ Ola Rosling และ Anna Rosling Ronnlund เขียน
นายแพทย์นที สาครยุทธเดช แปล
สำนักพิมพ์ Amarin How > to

20190601

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/