Twilight of Democracy สนธยาประชาธิปไตย

สรุปหนังสือ Twilight of Democracy สนธยาประชาธิปไตย หนังสือที่ทำให้เข้าใจว่าทำไมคนดีๆ ถึงกลายเป็นเผด็จการ สำรวจแรงดึงดูดอันหอมหวานแห่งอำนาจนิยมที่ทำให้ปัญญาชนหัวก้าวหน้าทั่วโลกหวั่นไหว แปรพักตร์ และไม่มีวันยอมรับตัวเอง นี่คือหนังสือเล่มโปรดของ Barack Obama ในปี 2020
หนังสือเล่มนี้เล่าให้เราเห็นภาพว่าเหตุใดหลายประเทศในยุโรปจึงค่อยๆ ถูกดึงจากประชาธิปไตยไปเป็นเผด็จการมากขึ้น และเหตุใดบางกลุ่มคนจึงยอมรับในอำนาจนิยมโดยเต็มใจ ยอมที่จะละทิ้งอำนาจประชาธิปไตยในมือไปให้กับเผด็จการบางกลุ่มคน
หนังสือเล่มนี้บอกให้รู้ว่าระบบการปกครองแบบราชาธิปไตยเดิมที่ถูกกุมอำนาจโดยบางกลุ่มคนไม่ได้หายไปตามกาลเวลา เพียงแค่รูปแบบของอำนาจถูกเปลี่ยนผ่านตามช่วงเวลากลายเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตยแบบกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ
เดิมทีราชาธิปไตยเดิมคือการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จโดยคนบางกลุ่มหรือสกุลเท่านั้น แล้วก็เอาสายเลือดหรือพิธีกรรมต่างๆ มาเป็นตัวกีดกั้นกลุ่มใหม่ที่จะเข้าถึงอำนาจในมือได้ จากนั้นอำนาจแบบเบ็ดเสร็จก็ถูกเปลี่ยนผ่านในรูปแบบเผด็จการต่างๆ ปากอ้างว่าเพื่อคนส่วนมากแต่แท้จริงแล้วคือเพื่อพวกพ้องตัวเองที่จะได้เข้าถึงอำนาจและเป็นชนชั้นที่สูงกว่า (แค่ละทิ้งระบบสายเลือดออกไป)
ระบบใหม่ที่เกิดหลังจากระบบราชาธิปไตยก็ล้วนแต่กำหนดข้อจำกัดบางอย่างในการเข้าถึงอำนาจการปกครอง ไม่ว่าจะด้วยเอาความรู้เฉพาะกลุ่มเป็นตัวกีดกั้น จึงทำให้น้อยคนนักสามารถเข้าถึงอำนาจที่ถูกอ้างว่าเพื่อประชาชนทุกคนจริงๆ
หรือแม้แต่ประชาธิปไตยจอมปลอมแบบพรรคเดียวกุมอำนาจเบ็ดเสร็จก็มีให้เห็นมากมาย แม้ปากจะอ้างว่าเปิดกว้างให้มีพรรคฝ่ายค้านได้ แต่ถ้าฝ่ายค้านหรือผู้ที่เห็นต่างแสดงออกอะไรที่ไม่ถูกใจก็พร้อมจำกำราบหรือกำจัดออกไปในทันที
และหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เข้าใจว่าเหตุใดคนบางกลุ่มถึงเลือกที่จะละทิ้งประชาธิปไตยหันหน้าซบอำนาจนิยม เช่นเผด็จการ หรือใครสักคนหรือกลุ่มคนเล็กๆ มากุมอำนาจปกครองตัวเองต่อไป
เพราะประชาธิปไตยแท้จริงแล้วมีความซับซ้อนในตัวเอง ประชาธิปไตยคือการถกเถียงท่ามกลางความเห็นต่าง ต้องเปิดกว้างรับฟังทุกเสียงที่ไม่ใช่แค่เสียงข้างมาก หรือบางคนที่เลือกอำนาจนิยมก็มักจะมากับข้ออ้างว่าประชาธิปไตยนั้นอ่อนแอเกินไป ไม่เด็ดขาด หรือต้องอิงกับคนจำนวนมากเกินไปที่อาจไม่ได้มีสติปัญญาเทียบเท่าตัวเอง
หรือเหตุผลที่หนังสือเล่มมนี้ให้มาสุดท้ายก็น่าสนใจ กลุ่มคนที่ไม่ชอบประชาธิปไตยคือกลุ่มที่เสียผลประโยชน์จากการเปิดกว้างนี้ หรือเป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถเติบโตได้ท่ามกลางระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง
บางครั้งสื่อบันเทิงอย่างภาพยนต์ก็ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธทางการเมือง ตอนประเทศอังกฤษจะโหวต Brexit ว่าจะเอาตัวเองออกจากยุโรปหรือไม่ก็บังเอิญมีภาพยนต์สองเรื่องดังอย่าง Dunkirk และ Churchill ออกฉายในเวลาใกล้เคียงกัน สองภาพยนต์เรื่องนี้ทำให้คนดูเห็นภาพว่าประเทศอังกฤษนั้นยิ่งใหญ่และสามารถรับมือเรื่องยากๆ ได้ด้วยตัวเองมาแต่ไหนแต่ไร
ตอน Brexit เองก็มีการสร้างวิดีโอโฆษณาสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าถ้าคนอังกฤษโหวตให้ตัวเองออกจาก Brexit นั้นจะเหลือเงินภาษีมากมายขนาดไหน ไหนจะข้อดีที่ไม่ต้องรับผู้อพยพชาวตุรกีในเวลานั้นอีกมากมาย เรียกได้ว่ามีแต่การบอกเล่าข้อดีโดยไม่ได้มีข้อเสียมาแย้งสักเท่าไหร่
การปลุกระดมทางการเมืองในวันนี้สะดวกสบายกว่ายุคก่อนอินเทอร์เน็ตมาก เราไม่จำเป็นต้องออกไป Hipark หรือออกไปตั้งเวทีปราศัยแบบวันวาน เพราะเราสามารถสร้างโพสง่ายๆ ที่สามารถกระตุ้นอารมณ์คนมากมายทั้งฝ่ายที่เห็นต่างให้แชร์ออกไปมากมาย หรือกระตุ้นให้ฝ่ายที่เห็นต่างแสดงออกในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ง่ายๆ
หรือแม้แต่การสื่อสารแบบเจาะตรงเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายทางการเมืองก็เป็นเรื่องง่าย เพราะระบบโฆษณาจากโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ มีรายการความสนใจให้เราเลือกปรับแต่งได้มากมาย เราอยากจะเข้าถึงคนกลุ่มไหนก็แค่เลือกแล้วหยอดเงินลงไป เพราะจากพฤติกรรมการกดและอ่านของเราทุกคนถูกเก็บรวบรวมไว้แล้วนำมาวิเคราะห์จับกลุ่มความเห็นหรือความสนใจที่เหมือนกันโดยไม่รู้ตัว
และนั่นก็หมายความว่าเราสามารถทำการสื่อสารออกไปแบบ Personalized Communication ยังกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่มีความเห็นทางการเมืองต่างกันได้ในไม่กี่คลิ๊ก เพื่อให้แต่ละกลุ่มกระทำตามเป้าหมายที่ต้องการในท้ายที่สุด ไม่ว่าจะกระตุ้นให้ออกไปเลือกตั้งมากขึ้น กระตุ้นให้เปลี่ยนพรรคที่จะเลือก หรือแม้แต่กระตุ้นให้เบื่อการเมืองแล้วไม่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพื่อจะลดคะแนนเสียงของคู่แข่งก็ตาม
หนังสือเล่มนี้ยังบอกว่าตอนแคว้น Catalunya ต้องการแยกเอกราชออกจากประเทศสเปน ก็มีบริษัทเทคโนโลยีที่ทำเรื่อง Big Data ที่มีชื่อว่า Alto Data Analytics ที่เก็บ Data การโพสและการแสดงความเห็นของผู้คนบนโซเชียลมีเดียแล้วนำมาวิเคระห์จับกลุ่มออกเป็น Segments ต่างๆ จากนั้นก็วิเคราะห์หา Insight ว่าแต่ละกลุ่มที่เห็นต่างนั้นมีจุดอ่อนแบบไหน เมื่อเข้าใจ Insight ก็นำมากำหนดกลยุทธ์เพื่อประเมินว่าจะต้องทำอย่างไรต่อเพื่อให้ได้ในผลลัพธ์ที่ต้องการ
และทั้งหมดนี้ก็คือหนังสือ Twilight of Democracy สนธยาประชาธิปไตยที่จะทำให้เราเข้าใจและรู้เท่าทันสถานการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่กำลังร้อนแรงในบ้านเรา
เราจะเข้าใจว่าเหตุใดเผด็จการหรืออำนาจนิยมจึงยังคงไม่หายไปจากโลกประชาธิปไตยใบนี้ และต่อให้เป็นประชาธิปไตยก็ใช่ว่าจะเป็นแบบเต็มใบ แต่กลับเป็นประชาธิปไตยที่ห้ามคนเห็นต่างหรือโต้แย้งต่ออำนาจรัฐในปัจจุบัน
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 21 ของปี

สรุปหนังสือ Twilight of Democracy สนธยาประชาธิปไตย
ทำไมคนดีๆ ถึงกลายเป็นเผด็จการ สำรวจแรงดึงดูดอันหอมหวานแห่งอำนาจนิยมที่ทำให้ปัญญาชนหัวก้าวหน้าทั่วโลกหวั่นไหว แปรพักตร์ และไม่มีวันยอมรับตัวเอง
Anne Applebaum เขียน
พชร สูงเด่น แปล
สำนักพิมพ์ Sophia
อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ในอ่านแล้วเล่าต่อ > https://www.summaread.net/category/politics/
สั่งซื้อออนไลน์ > https://bit.ly/2ZUZFr7