สรุปหนังสือ you look like a thing and i love you หรรษาปัญญาประดิษฐ์ Janelle Shane เขียน ทีปกร วุฒิพัทยามงคล แปล สำนักพิมพ์ ​SALT

สรุปหนังสือ You Look Like a Thing and I Love You หรรษาปัญญาประดิษฐ์ หนังสือที่มาบอกเล่าอธิบายว่าปัญญาประดิษฐ​์ AI หรือ Algorithm นั้นทำงานอย่างไร เพราะวันนี้เราอยู่ในยุค AI Driven Everything​ โดยไม่รู้ตัวมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นการเข้าใจว่า AI ที่เราใช้อยู่มันให้คำตอบหรือแสดงผลแบบนี้ เพราะมันมีชุดความคิด Algorithm แบบไหน เพื่อที่เราจะได้รู้เท่าทันว่าจะใช้งาน AI รอบตัวอย่างไรให้เกิดประโยชน์มากที่สุดครับ

อย่างไร ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI อยู่รอบตัวและอยู่ในมือเราทุกคนแล้ว โทรศัพท์มือถือที่เราใช้ก็เต็มไปด้วย AI ไม่ว่าจะเป็น AI ใน TikTok ที่มันเรียนรู้จากพฤติกรรมการชอบดูคลิปของเราว่าเราน่าจะชอบดูคลิปแบบไหน หรือ Facebook เองที่มักจะฉลาดในการแนะนำโฆษณาแบบรู้ใจ เสมือนว่ามันแอบฟังเราว่าเราพูดหรือคิดอะไร ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ต้องฟังก็รู้ได้ แค่เรากดอะไรนิดหน่อยมันก็จับสัญญาณได้แล้วรู้เลย

หรือ AI ในแป้นพิมพ์มือถือ ที่พอเราพิมพ์ไปไม่กี่ตัวอักษร ข้อความเต็มๆ ก็มักจะโผล่ขึ้นมาอย่างแม่นยำ จนทำให้เราประหยัดเวลาการพิมพ์ไปได้มาก ยังไม่พูดถึง AI ในระบบรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla ที่เรียกว่า Autopilot ที่มันสามารถช่วยขับรถให้เราได้ดีมากกว่าที่คิด แม้จะยังขับรถแทนเราไม่ได้ 100% แต่จากประสบการณ์ที่ผมใช้งานจริงมาปีกว่า ระบบ Autopilot สามารถช่วยขับรถแทนผมได้มากถึง 95% ครับ

แต่ก่อนเราจะปล่อยให้ ​Autopilot ในรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ หรือ Tesla ขับรถแทนเราเป็นหลัก ผมเองก็ได้ลองทำความเข้าใจและเรียนรู้กับเจ้าระบบนี้มานานพอควร ผ่านระยะทางกว่า 50,000 กิโลเมตรมาแล้ว จะเล่าให้ฟังแบบนี้ครับ

AI กับ Autopilot ใน Tesla ระบบช่วยขับอัจฉริยะ ที่ลดภาระการขับรถเราได้มากถึง 90%

Autopilot ใน Tesla เป็นแค่ระบบช่วยขับ ย้ำว่า ช่วยขับ ยังไม่ได้ขับแทนเรา 100% มันทำได้แค่ช่วยเราขับได้ในสถานการณ์ส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องใช้การตัดสินใจซับซ้อน อย่างการรักษารถยนต์ให้อยู่ในเลน ไม่หลุดออกนอกเลนไปชนกับรถที่ขับมาดีๆ ในเลนข้างๆ ต่อให้ถนนมีการไปทางซ้ายหรือขวา ตราบใดยังอยู่ในเลนเดิม เจ้าระบบ Autopilot ใน Tesla ก็ยังประคองรถให้อยู่ในเลนต่อไปได้

ถัดมาระบบ Autopilot ใน Tesla ยังสามารถกำหนดค่าความเร็วที่เราต้องการได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ถ้าข้างหน้ามีรถยนต์อยู่ ก็จะทำการปรับความเร็วให้สัมพันธ์กัน และเว้นระยะห่างให้ปลอดภัยถ้าจำเป็นต้องเบรกฉุกเฉินในความเร็วที่ขับอยู่

ดังนั้นด้วยสองระบบหลักคือการประคองรถให้อยู่ในเลน ไม่หลุดจากเลนตัวเองไปชนคันอื่น กับการตั้งค่าความเร็วได้ แต่ก็ยังรักษาระยะห่างจากคันหน้า ไม่เร็วเท่อท่าวิ่งไปชนท้ายเขา

ที่เพิ่มมาก็คือระบบ Autopilot จะอ่านสถาพถนนโดยรอบว่ามีคนอยู่ตรงหน้ามั้ย เพื่อจะได้ทำการเบรกไม่ชนกับคนเข้า อย่างเคสรถสองแถวในไทยแล้ว Tesla เบรกหัวทิ่มก็เพราะว่าวิศวกร AI ไม่ได้สอนให้ระบบรู้ว่ามันคือการที่คนยืนอยู่ในรถ เพราะประเทศของวิศวกรที่อเมริกาเขาไม่มีรถสองแถว และไม่มีคนนั่งท้ายรถกระบะแบบบ้านเรา

เจ้า AI ใน Autopilot ของ Tesla ก็เลยสับสนว่าตกลงมันคือรถ หรือมันคือคนกันแน่ มันจะอ่านค่าสลับไปมาแบบที่มองจากหน้าจอก็รู้ว่าสับสนหนักมาก

ที่สำคัญระหว่างการใช้ระบบ Autopilot ช่วยประคองรถให้อยู่ในเลน และขับตามความเร็วที่เรากำหนดโดยยังรักษาระยะห่างจากคันหน้าอยู่นั้น เรายังต้องทำการจับพวงมาลัยอยู่เรื่อยๆ อาจจะทุก 15 – 60 วินาที เพื่อให้ระบบรู้ว่าเรายังโฟกัสถนนอยู่ ไม่ได้หลับ ยังพร้อมเข้าควบคุมรถยนต์เสมอหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นได้ครับ ส่วนถ้าจะทำการเปลี่ยนเลน แซง หรือเลี้ยวตามแยก ระบบ Autopilot ยังไม่สามารถทำตรงนั้นได้ เราที่เป็นคนขับต้องทำการขับในส่วนนั้นเอง แต่ถ้าเมื่อไหร่ต้องการให้เกาะเลนไปยาวๆ รักษาความเร็วไปเรื่อยๆ อันนี้สบาย ผมใช้ขับไปไหนต่อไหนเป็นประจำครับ

แต่ถ้าคุณอัปเกรดระบบ Autopilot ใน Tesla ไปอีกระดับเป็น Enhanced Autopilot ที่ต้องจ่ายเงินซื้อเพิ่มในราคา 122,000 บาท ระบบ Autopilot จะฉลาดขึ้น มันจะมองหาจังหวะแซงให้เราเอง และก็ทำการแซงให้เราออก จะเปลี่ยนเลนให้เราเอง แต่เรื่องเลี้ยวอันนี้มันยังไม่ทำให้

ดังนั้นจากประสบการณ์ที่ผมใช้ Autopilot มานานเกือบจะสองปีแล้ว ผมกล้าพูดว่าผมใช้ระบบ ​Autopilot ใน Tesla ขับเป็นหลักไม่น้อยกว่า 90% ในทุกครั้ง ทุกวันที่ใช้รถ จะมีแค่ 10% หรือน้อยกว่านั้นที่ผมต้องควบคุมรถยนต์ด้วยตัวเอง เช่น การเลี้ยว หรือการขับในสถานที่ยากๆ ซอยแคบๆ อะไรแบบนี้เป็นต้น

แล้วถ้ารถคันเลนข้างๆ เบียดเข้ามาในเลนเรา ตัวรถส่วนใหญ่จะเลือกเบรกแทนที่จะเหยียบเร่งเพื่อแซงหนีเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นบางสถานการณ์ที่รถประเมินแล้วว่าเบรกอันตรายกว่าเร่ง มันก็จะเร่งแซงแถมยังหักพวงมาลัยหลบให้ แล้วก็หักพวงมาลัยกลับมาที่เลนให้ด้วยครับ

ส่วนถ้าจะมีรถคันหลังมาชน รถก็จะเร่งความเร็วขึ้นเพื่อเลี่ยงการชน หรือลดแรงชนอัตโนมัติอีกด้วย

นี่แหละครับ AI ในรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ที่เราเรียกกันติดปากว่า Autopilot และผมอยากบอกว่าทุกวันนี้รถยนต์ส่วนใหญ่ก็มีระบบช่วยขับหมดแล้ว ส่วนแต่ละคันอาจเก่งมากน้อยต่างกัน เกาะเลนได้เป๊ะต่างหาก แต่หลักการส่วนใหญ่คือทำงานเหมือนกัน รักษารถอยู่ในเลน กับรักษาความเร็วให้สัมพันธ์กับคันหน้าครับ

จะเห็นว่าพอเราเข้าใจวิธีคิดของ AI ใน Tesla แล้วเราก็จะรู้ว่าจะวางใจให้รถมันขับแทนเราได้แค่ไหน หรือจังหวะไหนที่เรารู้ว่า Autopilot เอาไม่อยู่ จัดการไม่ไหว เราก็ต้องพร้อมเข้าไปควบคุมพวงมาลัยขับแทนในทันที

ฉะนั้นจะเห็นว่าเจ้า Autopilot ที่เป็น AI ใน Tesla นั้นยังไม่ได้ฉลาดล้ำขนาดที่เราจะกดจุดหมายปลายทาง แล้วนอนหลับระหว่างทางไปตื่นกลางทางได้ในตอนนี้ แต่ในอนาคตอันใกล้นั้นไม่แน่ แต่มันจะเร็วขึ้นมากถ้ากฏหมายใหม่ทั่วโลกออกมาว่าต่อไปนี้ห้ามคนขับ ให้รถขับเองเป็นหลัก เพราะรถแต่ละคันจะสื่อสารกันเอง ทำให้การตัดสินใจระหว่าง AI ด้วยกันเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

ทั้งหมดที่ Autopilot ใน Tesla ทำได้ก็มาจากการ Train AI ของคนผู้สอนว่าอยากให้มันขับอย่างไร ถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ต้องตัดสินใจอย่างไร มันคือการจำลองความคิดของมนุษย์คนหนึ่งออกมาเป็น Algorithm เป็นหลักคิดให้ AI นำไปใช้ตัดสินใจต่อ

ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องที่รู้มาที่ไปของ AI แต่ละตัวที่เราใช้งาน มองให้ออกถึงวัตถุประสงค์เบื้องหลังของการทำงาน AI แต่ละตัว คิดให้ทะลุถึงการ Train AI แต่ละตัวว่าน่าจะใช้ Data แบบไหน เพื่อที่เราจะได้ใช้มันอย่างเข้าใจ และรีดความสามารถมันได้เต็มประสิทธิภาพ

AI กับงานด้านการแพทย์

อย่างการ Train AI ให้มองหามะเร็งผิวหนังจากภาพถ่าย บังเอิญผู้สอนก็เอาภาพถ่ายผิวหนังทั่วไปมาสอนมัน ควบคู่กับภาพถ่ายผิวหนังที่ถูกวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่าเป็นมะเร็ง กลายเป็นว่าพอถึงเวลาให้ AI ลองคัดแยกภาพถ่ายผิวหนังที่น่าจะเป็นมะเร็งผิวหนังจริง กลายเป็นว่ามันไม่ได้มองหาจุดด่างดำ หรือเม็ดสีความแปลกในผิวหนัง แต่มันกลับมองหาว่าภาพไหนบ้างที่มีแถบไม้บรรทัดกำกับอยู่ด้านข้าง แล้วก็ตัดสินใจว่าภาพนั้นน่าจะมีเซลล์มะเร็งแน่นอน

พอย้อนกลับมาคิดดูก็เพราะว่าตอนผู้สอน AI ป้อน Data ภาพถ่ายไปเทรนมัน ก็ดันเลือกภาพที่วินิจฉัยเสร็จแล้วในรูปแบบภาพถ่ายทางการแพทย์เข้าไป แล้วภาพถ่ายทางการแพทย์ก็จะมีสเกลไม้บรรทัดกำกับ เพื่อให้รู้ขนาดที่ชัดเจน แต่กับภาพถ่ายผิวหนังปกติที่ไม่ได้เป็นมะเร็ง เป็นภาพถ่ายใหม่ เป็นภาพจาก Stockphoto ผลคือเจ้า AI ดันจำจาก Pattern ของไม้บรรทัด มากกว่าจะเป็นเม็ดสีในผิวจริงๆ

ทีมงานก็เลยต้องไปจัดการลบ Bias ใน Data ภาพถ่ายให้หมดแล้ว Train AI ใหม่ ทำภาพกลุ่มมะเร็งและไม่เป็นมะเร็งให้ไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องของคุณภาพของภาพ เฉดสี ความคมชัด ต้องทำให้เหมือนกันมากที่สุด แต่แค่มีคำตอบรุบะว่าภาพไหนเป็นมะเร็ง ภาพไหนไม่เป็นมะเร็ง หลังจากการแก้ไขก็ทำให้เจ้า AI ฉลาดขึ้น มองหา Pattern ของเซลล์เม็ดสีมะเร็งผิวหนังในภาพถ่ายได้อย่างแม่นยำขึ้น สุดท้ายก็นำไปสู่การลดงานของเจ้าหน้าที่อ่านภาพถ่ายทางการแพทย์ได้มาก เลือกส่งเฉพาะภาพที่ดูน่าจะเป็นมะเร็งขึ้นมาให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นมนุษย์ตัดสินใจขั้นสุดท้ายอีกที

AI กับงานเขียน

งานเขียนที่ดูเป็นศิลป์มากกว่าศาสตร์ ที่เชื่อว่าต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เท่านั้นจึงจะเขียนให้คนอยากอ่านได้ อันนี้จริงครับ ไม่เถียง แต่ถ้าเป็นงานเขียนประเภทแค่ข้อมูลรายงาน อัปเดทข่าวสารสั้นๆ ง่ายๆ พวกนี้ถูกส่งให้ AI เข้ามาช่วยเขียนรายงานข่าวทั่วไป อย่างข่าวการแข่งขันกีฬาฟุตบอลท้องถิ่น ที่ถ้าเอาคนมาเขียนจะไม่คุ้มค่าแรง แต่ถ้าให้ AI เขียนอันนี้ประหยัดต้นทุนมาก

Washington Post ใช้ AI ผลิตบทความรายงานผลกีฬาทั่วไปตั้งแต่ปี 2016 มันไม่ได้เข้ามาแย่งงานคน แต่มันเข้ามาทำงานที่ใช้คนทำแล้วไม่คุ้ม และในอนาคตอันใกล้ AI จะเข้ามาช่วยในการทำคอนเทนต์เขียนข่าวรายงานมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าคนที่ทำงานกลางๆ ไประดับพื้นๆ จะถูก AI แทนที่ได้ไม่ยาก นั่นหมายความว่าบรรดานักข่าวต้องขยับไปทำงานเขียนบทความวิเคราะห์ยากๆ ที่ท้าทายแทน ไปเขียนข่าวแนวสืบสวนสอบสวนที่ซับซ้อน

ยังไม่ต้องพูดถึงการมาของ Generative Image ที่เป็น AI สร้างรูปภาพต่างๆ ให้เราได้แค่พิมพ์บอกมัน ทำให้การออกแบบชิ้นงานอาร์ตเวิร์คสวยๆ จากเดิมที่ต้องใช้ทั้งคนมีฝีมือ และใช้เวลาในการคราฟงาน เหลือแค่การเขียน Prompt ให้เป็นแล้วให้ AI Gen ภาพใหม่ออกมาจนกว่าจะถูกใจเรา

สรุปหนังสือ You Look Like a Think and I Love You หรรษาปัญญาประดิษฐ์

สรุปหนังสือ you look like a thing and i love you หรรษาปัญญาประดิษฐ์ Janelle Shane เขียน ทีปกร วุฒิพัทยามงคล แปล สำนักพิมพ์ ​SALT

จริงๆ หนังสือเล่มนี้ยังมีเรื่องราวอีกมากมายเกี่ยวกับ AI ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Algrithm ที่น่าสนใจมากมาย ทั้งฟาร์มแมลงสาบที่ใช้ AI ควบคุมให้เกิดผลผลิตมากที่สุด การใช้ AI ในการคัดเลือกใบสมัครคนทำงานของบริษัทใหญ่ๆ ที่ให้ HR อ่านไม่มีวันหมดสิ้นแน่นอน

หลักใหญ่ใจความของหนังสือเล่มนี้คือ สอนให้เราใช้ใจว่า AI มันคิดและทำงานอย่างไร เพื่อให้เรารู้เท่าทันเจ้า AI ทั้งหลาย ที่อยู่รอบตัวและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรามากขึ้นทุกวัน เพราะโลกวันนี้ถ้าจะใช้คำว่า AI Driven Everything ก็ไม่ผิดครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 32 ของปี

สรุปหนังสือ You Look Like a Thing and I Love You หรรษาปัญญาประดิษฐ์
เบื้องหลังการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังเปลี่ยนโลกใบนี้ให้กลายเป็นสถานที่อันน่าอัศจรรย์
Janelle Shane เขียน
ทีปกร วุฒิพัทยามงคล แปล
สำนักพิมพ์ ​SALT

อ่านสรุปหนังสือแนว AI ในอ่านแล้วเล่าต่อ : https://www.summaread.net/category/ai/

สั่งซื้อออนไลน์
https://shope.ee/B3xppHC1F
https://shope.ee/A9rJkDNObI
https://shope.ee/8pLw9mWT2t
https://shope.ee/2L8SPqcw0i

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/