หนังสือที่เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชื่อดังอย่าง Paul Krugman ที่ชำแหละเรื่องราววิกฤตการเงินกับเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ Hamberger Crisis ให้คนธรรมดาที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์หรือสายการเงินก็เข้าใจได้ว่า ทั้งหมดทั้งมวลแล้วล้วนเป็นละครเรื่องเก่า พล็อตเดิม แค่เปลี่ยนเสื้อผ้าหน้าผมตัวละครกับฉากใหม่ๆเท่านั้นเอง
อยากเห็นเศรษฐกิจล่มจมทั้งประเทศหรอ ไม่ยาก แค่เราทุกคนไปถอนเงินออกจากธนาคารพร้อมกัน แค่นั้นเศรษฐกิจของประเทศนั้นก็เป็นจุลแล้ว แถมรับประกันด้วยว่าประเทศคู่ค้าที่เกี่ยวข้องก็ต้องเจ็บตามกันแน่ๆ

ทำไมแค่การถอนเงินพร้อมกันของทุกคนถึงทำให้เศรษฐกิจเล่มได้ล่ะ?
เพราะธนาคารของพวกคุณไม่ได้มีเงินสดไว้มากพอสำหรับให้ทุกคนได้ถอนออกไปพร้อมกันในครั้งเดียวน่ะซิครับ
เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นแล้วที่สหรัฐอเมริกาในยุค 1930 ที่ผู้คนแห่กันไปถอนเงินออกจากธนาคารแห่งหนึ่ง จนเกิดภาวะตื่นตัวหรือควรจะเรียกว่า “ตื่นตูม” กันแห่ออกไปถอนเงินจนทำให้ธนาคารมีเงินสดไม่พอจ่าย เป็นเหตุให้ธนาคารล้มตามๆกัน และเศรษฐกิจล่มจมหรือตกต่ำครั้งใหญ่ที่มีชื่อเรียกกันว่า Great Depression มาแล้ว
เพราะหลักการของธนาคารคือ เมื่อเราไปฝากเงินที่ธนาคารเค้าก็จะเอาเงินฝากเราไปลงทุนทำอย่างอื่นให้งอกเงยเกิดกำไรดอกเบี้ย เพื่อเอามาเป็นค่าเช่าสำนักงาน เงินเดือนพนักงาน ป้ายโฆษณา รวมไปถึงดอกเบี้ยเงินฝากอันน้อยนิดของเรานี่แหละครับ
ดังนั้นธนาคารจึงไม่ได้เก็บเงินสดทั้งหมดของเราไว้ แต่มันถูกเอาไปกระจายอยู่ในรูปแบบสินทรัพย์อื่นๆที่ไม่ใช่ตัวเงิน ตัวเงินจริงๆนั้นจะถูกเก็บไว้แค่จำนวนเล็กน้อยที่ผ่านการคำนวนค่าเฉลี่ยมาแล้วว่า ในแต่ละวันของแต่ละช่วงนั้นจะมีความต้องการใช้เงินสดมากน้อยแค่ไหน แล้วก็เตรียมไว้ให้เพียงพอเผื่อเหลืออีกนิดหน่อยไม่ให้เกิดการขาดแคลนเงินสด
การที่ผู้คนเอาเงินไปฝากธนาคารแทนการเก็บทั้งหมดไว้กับตัวก็ด้วยความ “เชื่อมั่น” ว่าเงินทองของเราจะปลอดภัยเมื่ออยู่ในธนาคารมากกว่าอยู่ที่หีบใต้เตียงที่บ้าน และเราจะเรียกใช้เมื่อไหร่ก็ได้ที่เราต้องการ
สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง จนถึงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ก็ล้วนเกิดจาก “ความเชื่อ” ที่ถูกสั่นคลอนของมวลชนจนทำให้เกิด “ฟองสบู่” และ “วิกฤตการเงิน” ตามมา
ฟองสบู่คืออะไร?
เป็นศัพท์ทางการเงินที่ฟังดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะก่อนจะเกิดวิกฤตทางการเงินจนกระทบเศรษฐกิจทั้งหลาย มักจะมีจุดเริ่มต้นมาจาก “ฟองสบู่” ที่ว่านี้เสมอ ยกตัวอย่างง่ายๆแล้วกันครับ
ตอนต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 บ้านเรานั้น ก่อนหน้านั้นจะเห็นว่าเกิดโครงการก่อสร้างต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะบ้าน ตึก อพาร์ทเมนท์ คอนโด และอื่นๆที่เรายังพอเห็นโครงสร้างที่ถูกทิ้งร้างไว้จนวันนี้ ในตอนนั้นใครๆก็แห่กันสร้างโครงการต่างๆเหล่านี้ขึ้นมา เพราะพอมีคนนึงทำแล้วได้กำไรดี ก็เลยชวนเพื่อนมาทำแล้วได้กำไรดี สุดท้าย “ทุกคน” ก็คิดตรงกันว่าทำแล้วก็จะได้กำไรดีเหมือนๆกับที่เค้าทำกัน ก็เลยเกิดโครงการมากมายเต็มกรุงเต็มไปหมด
จากนั้นก็เป็นเรื่องของ “เงินกู้” หรือ “เงินทุน” เพราะถ้าไม่มีทุนก็ไม่มีโครงการ
“เงินกู้” ที่ไม่ได้มีแค่ธนาคารเพื่อการออมโดยตรง แต่ในตอนนั้นเต็มไปด้วย “ธนาคารเพื่อการลงทุน” หรือที่เรียกกันว่า “วาณิชธนกิจ” โดยธนาคารเพื่อการลงทุนพวกนี้จะปล่อยให้กู้ค่อนข้างง่ายในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าธนาคารเพื่อการออมทั่วไปที่มีกฏระเบียบมากกว่า คำถามสำคัญต่อไปคือ…แล้วธนาคารเพื่อการลงทุน หรือ วาณิชธนกิจ ที่เกิดขึ้นมากมายเหล่านี้เอาเงินทุนที่มากมายไม่แพ้กันมากจากกไหน?
ต่างประเทศ
ในตอนนั้นประเทศอย่างญี่ปุ่น อยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะงักชะงัน จนการเก็บเงินในประเทศนั้นให้ผลตอบแทนต่ำมาก ก็เลยเอาเงินที่นอนนิ่งๆอยู่มาปล่อยกู้ที่นอกประเทศที่ได้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า แต่ก็ยังคงถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยของประเทศปลายทางอยู่ดี จึงทำให้เกิดการกู้เงินในรูปแบบเงินตราต่างประเทศสูงในบ้านเราตอนนั้น แล้วเอาเงินอย่างดอลลาร์ที่เป็นสกุลเงินมาตรฐานที่กู้มาๆแปลงเป็นเงินบาท เลยทำให้พอค่าเงินลอยตัวหลายธุรกิจล้มพังกันระนาว เพราะจากที่เคยเป็น 25 บาทกลายเป็นพุ่งไปเกือบเท่าตัว
วิกฤตเริ่มเกิดเมื่อความเชื่อมั่นเริ่มขาด
เมื่อฟองสบู่กำลังโตจากการที่ทุกคนเชื่อมั่นว่ามันจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ ราคาอสังหาก็สูงขึ้นเรื่อยๆ การลงทุนก็มากขึ้นเรื่อยๆ การให้กู้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทีนี้พอเริ่มมีวาณิชธนกิจรายนึงกระทบโดนเรียกเงินคืนจากนักลงทุน แล้วตัวเองมีเงินสดไม่พอ ก็ต้องรีบเทขายสินทรัพย์ที่มีในมือออกไป จนทำให้ราคาสินทรัพย์ในตลาดที่เคยพุ่งก็กลายเป็นตกลง จากนั้นพอตลาดเริ่มเห็นทีท่าไม่ดีก็เริ่มเทขายของตัวเองบ้างเพราะกลัวว่าตัวเองจะไม่ได้กำไรมากพอ ก็กลายเป็นเทกันขายทั้งตลาดจนทำเอาราคาพังไม่เป็นท่า
ทีนี้เมื่อมีแต่อุปทาน แต่ขาดอุปสงค์ ทุกอย่างก็เลยกลายพังพินาศจนกลายเป็นวิกฤตตามๆกันไป
ผู้เขียนเปรียบเทียบว่า “ฟองสบู่” ทางเศรษฐกิจก็เหมือนกับ “แชร์ลูกโซ่” ที่ยังทำกำไรได้ดีตราบที่ยังมีคนหน้าใหม่ๆเข้ามา จนพอทุกอย่างถึงขีดสุดกว่าทุกคนจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว
ด้วย Pattern เดียวกันนี้อยู่ในวิกฤตฟองสบู่แทบทุกรูปแบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วบนโลก ไม่ว่าจะฟองสบู่ดอทคอมที่อเมริกา หรือฟองสบู่อสังหาที่ญี่ปุ่นก็ด้วย ไปจนถึงฟองสบู่บ้านเราที่กลายเป็นต้มยำกุ้ง และฟองสบู่อสังหาในอเมริกาจนกลายเป็นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
ทั้งหมดนี้บอกให้รู้ว่าเศรษฐกิจในระดับโลกนั้นช่างบอบบางยิ่งกว่าอะไร ทางเดียวที่เราจะไม่กระทบไปกับวิกฤตทางเศรษฐกิจใดๆเลยก็คือไม่พึ่งพาปัจจัยใดๆภายนอก พูดง่ายๆก็คือปลูกข้าว ปลูกผัก และเลี้ยงหมู เห็ด เป็ด ไก่ เอาไว้กินเอง เพราะต่อให้โลกภายนอกที่การพึ่งพาเชื่อมต่อกันล่มสลาย แต่ครัวในบ้าน ข้าวในหม้อเราก็ยังดีอยู่
แต่ในความเป็นจริงจะมีซักกี่คนทำได้แบบนั้น ผมคนนึงที่อยากแต่ก็รู้ตัวว่ายังทำไม่ได้
หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมมองกระแสเรื่องสกุลเงินดิจิทัลหรือที่เรียกว่า cryptocurrency ไม่ว่าจะ Bitcoin หรือ Ethereum ว่าอาจจะเหมือนฟองสบู่ดอทคอมที่เคยเกิดขึ้นมาก็ได้
บางครั้งบทเรียนที่มาในรูปแบบวิกฤตก็มาเพื่อให้เราได้เรียนรู้ และรู้ว่าจะใช้มันยังไงให้เกิดประโยชน์สูงสุด เหมือน .com ทุกวันนี้ที่กลายเป็นหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลไปทั่วทุกมุมโลก

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 38 ของปี 2018
เศรษฐวิบัติ ฉบับปรับปรุง
The Return of Depression Economics and the Crisis of 2008
Paul Krugman เขียน
ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ แปล
สำนักพิมพ์ มติชน
20180406