หนังสือที่เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชื่อดังอย่าง Paul Krugman ที่ชำแหละเรื่องราววิกฤตการเงินกับเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ Hamberger Crisis ให้คนธรรมดาที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์หรือสายการเงินก็เข้าใจได้ว่า ทั้งหมดทั้งมวลแล้วล้วนเป็นละครเรื่องเก่า พล็อตเดิม แค่เปลี่ยนเสื้อผ้าหน้าผมตัวละครกับฉากใหม่ๆเท่านั้นเอง

อยากเห็นเศรษฐกิจล่มจมทั้งประเทศหรอ ไม่ยาก แค่เราทุกคนไปถอนเงินออกจากธนาคารพร้อมกัน แค่นั้นเศรษฐกิจของประเทศนั้นก็เป็นจุลแล้ว แถมรับประกันด้วยว่าประเทศคู่ค้าที่เกี่ยวข้องก็ต้องเจ็บตามกันแน่ๆ

ทำไมแค่การถอนเงินพร้อมกันของทุกคนถึงทำให้เศรษฐกิจเล่มได้ล่ะ?

เพราะธนาคารของพวกคุณไม่ได้มีเงินสดไว้มากพอสำหรับให้ทุกคนได้ถอนออกไปพร้อมกันในครั้งเดียวน่ะซิครับ

เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นแล้วที่สหรัฐอเมริกาในยุค 1930 ที่ผู้คนแห่กันไปถอนเงินออกจากธนาคารแห่งหนึ่ง จนเกิดภาวะตื่นตัวหรือควรจะเรียกว่า “ตื่นตูม” กันแห่ออกไปถอนเงินจนทำให้ธนาคารมีเงินสดไม่พอจ่าย เป็นเหตุให้ธนาคารล้มตามๆกัน และเศรษฐกิจล่มจมหรือตกต่ำครั้งใหญ่ที่มีชื่อเรียกกันว่า Great Depression มาแล้ว

เพราะหลักการของธนาคารคือ เมื่อเราไปฝากเงินที่ธนาคารเค้าก็จะเอาเงินฝากเราไปลงทุนทำอย่างอื่นให้งอกเงยเกิดกำไรดอกเบี้ย เพื่อเอามาเป็นค่าเช่าสำนักงาน เงินเดือนพนักงาน ป้ายโฆษณา รวมไปถึงดอกเบี้ยเงินฝากอันน้อยนิดของเรานี่แหละครับ

ดังนั้นธนาคารจึงไม่ได้เก็บเงินสดทั้งหมดของเราไว้ แต่มันถูกเอาไปกระจายอยู่ในรูปแบบสินทรัพย์อื่นๆที่ไม่ใช่ตัวเงิน ตัวเงินจริงๆนั้นจะถูกเก็บไว้แค่จำนวนเล็กน้อยที่ผ่านการคำนวนค่าเฉลี่ยมาแล้วว่า ในแต่ละวันของแต่ละช่วงนั้นจะมีความต้องการใช้เงินสดมากน้อยแค่ไหน แล้วก็เตรียมไว้ให้เพียงพอเผื่อเหลืออีกนิดหน่อยไม่ให้เกิดการขาดแคลนเงินสด

การที่ผู้คนเอาเงินไปฝากธนาคารแทนการเก็บทั้งหมดไว้กับตัวก็ด้วยความ “เชื่อมั่น” ว่าเงินทองของเราจะปลอดภัยเมื่ออยู่ในธนาคารมากกว่าอยู่ที่หีบใต้เตียงที่บ้าน และเราจะเรียกใช้เมื่อไหร่ก็ได้ที่เราต้องการ

สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง จนถึงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ก็ล้วนเกิดจาก “ความเชื่อ” ที่ถูกสั่นคลอนของมวลชนจนทำให้เกิด “ฟองสบู่” และ “วิกฤตการเงิน” ตามมา

ฟองสบู่คืออะไร?
เป็นศัพท์ทางการเงินที่ฟังดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะก่อนจะเกิดวิกฤตทางการเงินจนกระทบเศรษฐกิจทั้งหลาย มักจะมีจุดเริ่มต้นมาจาก “ฟองสบู่” ที่ว่านี้เสมอ ยกตัวอย่างง่ายๆแล้วกันครับ

ตอนต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 บ้านเรานั้น ก่อนหน้านั้นจะเห็นว่าเกิดโครงการก่อสร้างต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะบ้าน ตึก อพาร์ทเมนท์ คอนโด และอื่นๆที่เรายังพอเห็นโครงสร้างที่ถูกทิ้งร้างไว้จนวันนี้ ในตอนนั้นใครๆก็แห่กันสร้างโครงการต่างๆเหล่านี้ขึ้นมา เพราะพอมีคนนึงทำแล้วได้กำไรดี ก็เลยชวนเพื่อนมาทำแล้วได้กำไรดี สุดท้าย “ทุกคน” ก็คิดตรงกันว่าทำแล้วก็จะได้กำไรดีเหมือนๆกับที่เค้าทำกัน ก็เลยเกิดโครงการมากมายเต็มกรุงเต็มไปหมด

จากนั้นก็เป็นเรื่องของ “เงินกู้” หรือ “เงินทุน” เพราะถ้าไม่มีทุนก็ไม่มีโครงการ
“เงินกู้” ที่ไม่ได้มีแค่ธนาคารเพื่อการออมโดยตรง แต่ในตอนนั้นเต็มไปด้วย “ธนาคารเพื่อการลงทุน” หรือที่เรียกกันว่า “วาณิชธนกิจ” โดยธนาคารเพื่อการลงทุนพวกนี้จะปล่อยให้กู้ค่อนข้างง่ายในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าธนาคารเพื่อการออมทั่วไปที่มีกฏระเบียบมากกว่า คำถามสำคัญต่อไปคือ…แล้วธนาคารเพื่อการลงทุน หรือ วาณิชธนกิจ ที่เกิดขึ้นมากมายเหล่านี้เอาเงินทุนที่มากมายไม่แพ้กันมากจากกไหน?

ต่างประเทศ

ในตอนนั้นประเทศอย่างญี่ปุ่น อยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะงักชะงัน จนการเก็บเงินในประเทศนั้นให้ผลตอบแทนต่ำมาก ก็เลยเอาเงินที่นอนนิ่งๆอยู่มาปล่อยกู้ที่นอกประเทศที่ได้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า แต่ก็ยังคงถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยของประเทศปลายทางอยู่ดี จึงทำให้เกิดการกู้เงินในรูปแบบเงินตราต่างประเทศสูงในบ้านเราตอนนั้น แล้วเอาเงินอย่างดอลลาร์ที่เป็นสกุลเงินมาตรฐานที่กู้มาๆแปลงเป็นเงินบาท เลยทำให้พอค่าเงินลอยตัวหลายธุรกิจล้มพังกันระนาว เพราะจากที่เคยเป็น 25 บาทกลายเป็นพุ่งไปเกือบเท่าตัว

วิกฤตเริ่มเกิดเมื่อความเชื่อมั่นเริ่มขาด

เมื่อฟองสบู่กำลังโตจากการที่ทุกคนเชื่อมั่นว่ามันจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ ราคาอสังหาก็สูงขึ้นเรื่อยๆ การลงทุนก็มากขึ้นเรื่อยๆ การให้กู้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทีนี้พอเริ่มมีวาณิชธนกิจรายนึงกระทบโดนเรียกเงินคืนจากนักลงทุน แล้วตัวเองมีเงินสดไม่พอ ก็ต้องรีบเทขายสินทรัพย์ที่มีในมือออกไป จนทำให้ราคาสินทรัพย์ในตลาดที่เคยพุ่งก็กลายเป็นตกลง จากนั้นพอตลาดเริ่มเห็นทีท่าไม่ดีก็เริ่มเทขายของตัวเองบ้างเพราะกลัวว่าตัวเองจะไม่ได้กำไรมากพอ ก็กลายเป็นเทกันขายทั้งตลาดจนทำเอาราคาพังไม่เป็นท่า

ทีนี้เมื่อมีแต่อุปทาน แต่ขาดอุปสงค์ ทุกอย่างก็เลยกลายพังพินาศจนกลายเป็นวิกฤตตามๆกันไป

ผู้เขียนเปรียบเทียบว่า “ฟองสบู่” ทางเศรษฐกิจก็เหมือนกับ “แชร์ลูกโซ่” ที่ยังทำกำไรได้ดีตราบที่ยังมีคนหน้าใหม่ๆเข้ามา จนพอทุกอย่างถึงขีดสุดกว่าทุกคนจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว

ด้วย Pattern เดียวกันนี้อยู่ในวิกฤตฟองสบู่แทบทุกรูปแบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วบนโลก ไม่ว่าจะฟองสบู่ดอทคอมที่อเมริกา หรือฟองสบู่อสังหาที่ญี่ปุ่นก็ด้วย ไปจนถึงฟองสบู่บ้านเราที่กลายเป็นต้มยำกุ้ง และฟองสบู่อสังหาในอเมริกาจนกลายเป็นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

ทั้งหมดนี้บอกให้รู้ว่าเศรษฐกิจในระดับโลกนั้นช่างบอบบางยิ่งกว่าอะไร ทางเดียวที่เราจะไม่กระทบไปกับวิกฤตทางเศรษฐกิจใดๆเลยก็คือไม่พึ่งพาปัจจัยใดๆภายนอก พูดง่ายๆก็คือปลูกข้าว ปลูกผัก และเลี้ยงหมู เห็ด เป็ด ไก่ เอาไว้กินเอง เพราะต่อให้โลกภายนอกที่การพึ่งพาเชื่อมต่อกันล่มสลาย แต่ครัวในบ้าน ข้าวในหม้อเราก็ยังดีอยู่

แต่ในความเป็นจริงจะมีซักกี่คนทำได้แบบนั้น ผมคนนึงที่อยากแต่ก็รู้ตัวว่ายังทำไม่ได้

หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมมองกระแสเรื่องสกุลเงินดิจิทัลหรือที่เรียกว่า cryptocurrency ไม่ว่าจะ Bitcoin หรือ Ethereum ว่าอาจจะเหมือนฟองสบู่ดอทคอมที่เคยเกิดขึ้นมาก็ได้

บางครั้งบทเรียนที่มาในรูปแบบวิกฤตก็มาเพื่อให้เราได้เรียนรู้ และรู้ว่าจะใช้มันยังไงให้เกิดประโยชน์สูงสุด เหมือน .com ทุกวันนี้ที่กลายเป็นหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลไปทั่วทุกมุมโลก

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 38 ของปี 2018

เศรษฐวิบัติ ฉบับปรับปรุง
The Return of Depression Economics and the Crisis of 2008

Paul Krugman เขียน
ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ แปล
สำนักพิมพ์ มติชน

20180406

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/