Tag

bookscape

Browsing

ถ้าใครอยากจะเข้าใจภาพรวมของโลกในวันนี้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง โลกกำลังจะไปทางไหน หรือแม้แต่ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารล้นเกินจนไม่รู้ว่าควรต้องรู้อะไร หนังสือเล่มนี้คือคำตอบครับ

GLOBAL CHANGE ของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ มาถึงเล่มที่ 5 แล้ว ถ้าใครที่จะมาเริ่มจากเล่ม 5 ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่เข้าใจ เพราะอาจารย์เขียนเป็นบทสั้นๆไม่กี่หน้าที่อ่านจบในตัวเองได้ ดังนั้นถ้าอ่านเล่ม 5 แล้วชอบ จะย้อนกลับไปหาเล่ม 1-4 หรือผลงานเก่ากว่านี้ของอาจารย์มาอ่านก็ได้ครับ เพราะผมเป็นคนนึงที่รู้สึกว่าเนื้อหาที่อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ เขียนไม่เคยเก่าตามกาลเวลา เพราะแก่นแต่ละเรื่องนั้นแข็งแรงเสียจริง

หนังสือเล่มนี้อัพเดทความรู้หลายสิ่งที่ทั้งจำเป็นในวันนี้ และควรรู้ล่วงหน้าก่อนวันพรุ่งนี้จะมาถึง ที่สำคัญคือหลายช่วงหลายตอนก็บอกให้เรารู้ว่ารู้อะไรไม่เท่ารู้เท่าทันตัวเอง

เพราะอย่างที่บอกไปครับว่าในวันนี้เราเต็มไปด้วยข้อมูลมากมาย เต็มไปด้วยความรู้มากมายอยู่บนอินเทอร์เน็ต แต่สิ่งที่เรากลับรู้น้อยลงเรื่อยๆคือรู้จักตัวเอง เราส่วนใหญ่ในวันนี้นั้นรู้จักโลกภายในน้อยกว่าโลกภายนอกมาก จนน่ากลัวว่าความรู้ทั้งหมดที่เรามีอาจเข้าข่ายสุภาษิตว่า “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด”

และสิ่งที่ควรรู้ในวันนี้ที่หนังสือ Global Change เล่มที่ 5 เล่มนี้บอกไว้มีดังนี้ครับ

รู้เท่าทันชีวิต

รู้จักใช้ชีวิตให้ทะนุถนอมกันไว้บ้าง เรามักใช้ชีวิตแบบเกินร้อยจนลืมไปว่าเราเกิดมามีชีวิตเดียว ทีทองคำเส้นนึง โทรศัพท์เครื่องนึง หรือรถคันนึงเรายังถนอมแทบตาย แต่ทำไมกับร่างกายเรากลับไม่เคยถนอมมันเท่านั้นเลย ทั้งที่มูลค่ามันสูงกว่ากันเยอะจนยากจะเปรียบเทียบได้ด้วยซ้ำ

รู้จักยุคหลังสมาร์ตโฟน

ในวันที่ยอดขายสมาร์ตโฟนไม่ได้โตวันโตคืนเหมือนก่อน เพราะเรากำลังจะเข้าสู่ยุค IoT หรือ Internet of Thing อย่างเต็มตัว เรากำลังอยู่ในยุคที่อะไรๆรอบตัวก็ต่อเน็ตมากขึ้น เรากำลังเปลี่ยนผ่านจากยุค mobile internet ไปสู่ยุค data-centered computing era หรือยุคที่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ใช้ข้อมูลเป็นศูนย์การแทนแล้วครับ

รู้จักสื่อสารกับคนรอบตัวให้เป็น

ในวันที่เราส่วนใหญ่ก้มหน้ามองจอส่วนตัวเป็นประจำ ทำให้ทักษะการติดต่อสื่อสารหรือร่วมมือระหว่างกันกลายเป็นทักษะสำคัญในการทำงานของยุคนี้ ดังนั้นถ้าใครที่บอกว่าตัวเองเป็นคนสื่อสารไม่เก่ง หรือไม่ถนัดพูดคุยกับคนที่ไม่สนิท ก็ลองให้เริ่มจากการขอความเห็นจากคนที่เราต้องการพูดคุยด้วยแต่ไม่กล้าดู วิธีนี้ผู้เชี่ยวชาญรับรองว่าช่วยได้ครับ

เพราะการขอความเห็นทำให้เกิดการตอบสนองและไว้ใจโดยธรรมชาติ ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเค้าได้รับการยอมรับจากเรา เพราะเราขอความเห็นเค้า แล้วเมื่อเริ่มต้นได้แล้วก็อย่าลืมรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ ไม่งั้นถ้าต้องขอความเห็นเรื่องเดิมอยู่บ่อยๆจะดูกลายเป็นคนไม่เอาไหนไปนะครับ

รู้จัก Cybercrime

หรืออาชญากรรมทางโลกไซเบอร์ ในวันนี้โจรผู้ร้ายเข้าใกล้เราได้โดยไม่ต้องอยู่ใกล้ตัว ด้วยอินเทอร์เน็ตเค้าอาจจะล้วงข้อมูลทุกอย่างเราไป ไม่ใช่แค่เลขบัตรเครดิต แต่อาจจะเป็นความลับทางธุรกิจอย่างหมดเปลือก หรือแม้แต่สั่งให้กล้องและไมค์ของอุปกรณ์รอบตัวเราทำงานโดยที่เราไม่รู้ตัว ทีนี้ก็บันเทิงเลยล่ะครับ

แต่ที่น่ารู้ก็คือคำว่า cyber ไม่ใช่คำใหม่ แต่เป็นคำที่มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณที่เรียกว่า cybernatic หมายถึง มีความสามารถในการผลักดันไปในทิศทางที่ต้องการหรือการปกครอง จนถูกเอามาใช้อีกครั้งกับการควบคุมเครื่องจักรต่างๆเมื่อยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่นานมานี้เอง

และปัจจุบันปัญหา cybercrime นั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่สร้างความเสียหายต่อปีกว่า 445,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เกือบเท่า GDP ของประเทศไทยทั้งปีเลยครับ

แล้วรู้มั้ยครับว่าบริษัทการเงินระดับโลกอย่าง master card ที่เดียวก็ถูกโจมตีทางไซเบอร์วันละ 267,322 ครั้ง หรือโดนเล่น 3 ครั้งทุกๆ 1 วินาทีก็ว่าได้

เพราะบรรดาเหล่าแฮกเกอร์ทั้งหลายก็อยากจะลองของว่าจะสามารถเข้ามาเจาะแล้วเอาเงินไปได้มั้ย น่ากลัวไม่ใช่เล่นและไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างไรเลยเห็นมั้ยครับพอรู้แบบนี้

รู้ว่าสื่อเปลี่ยนพฤติกรรม

จากเดิมเราอาจจะนั่งดูทีวีกันพร้อมหน้าพร้อมตา ในรายการที่ทุกคนอย่างดูเหมือนๆกัน แต่ในวันที่เรามีสมาร์ตโฟนทำให้เราทุกคนต่างดูในสิ่งเดียวกันคนละหน้าจอเป็นประจำโดยไม่รู้ตัว นั่นแหละครับความสำคัญขอสื่อ หรือช่องทางในการรับสารที่สำคัญไม่แพ้ตัวสารที่ต้องการจะบอก

เรายังคงอ่านอะไรซักอย่าง ยังคงดูอะไรซักอย่าง ยังคงฟังอะไรซักอย่าง แต่พฤติกรรมเราเปลี่ยนไปตามรูปแบบสื่อ จากเดิมเราอ่านข่าวอยู่กับที่ มาวันนี้เราเดินไปอ่านไปเป็นสังคมก้มหน้า

เพราะข้อความอาจเปลี่ยนใจเราได้ แต่สื่อที่เปลี่ยนไปนั้นทำให้เราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมกันเลยทีเดียว

รู้จัก FOMO ในแบบที่ลึกซึ้งขึ้น

นักการตลาดดิจิทัลอาจได้ยินคำนี้มานาน ที่หมายถึงอาการติดหน้าจอต้องไล่อ่านหน้าฟีดตลอดแบบหยุดไม่ได้

FOMO ย่อมาจาก Fear of Missing Out หรือเคยคิดว่ามันคืออาการกลัวตกเทรนด์ แต่หนังสือเล่นนี้ทำให้รู้ที่ลึกซึ้งขึ้นว่าแท้จริงแล้ว FOMO คืออาการกลัวหลุดโอกาส หรืออดไม่ได้ที่จะต้องไล่อิจฉาฟีดเพื่อนๆที่มีชีวิตดีกว่าตามหน้าเฟซ

พอเราเห็นชีวิตที่ดี๊ดีของเพื่อนในเฟซก็ทำให้เราพาลกลับมาคิดว่าทำไมตัวเองไม่ได้ทำอะไรแบบเค้านะ ตอนนี้เรามัวทำอะไรอยู่ นี่มันใช่ชีวิตที่ดีที่ชั้นควรจะเป็นแล้วหรือ

เราคิดว่าชีวิตเราดีแล้วจนกระทั่งเราได้เห็นโพสจากเพื่อนที่มีชีวิตที่ดีกว่านั่นแหละครับ FOMO

รู้ทัน Fake News

ว่ามันจะไม่มีวันหมดไปจากโลกนี้ เพราะมนุษย์เราต้องการข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา เพื่อให้เราฉลาดขึ้น เพื่อให้เราบันเทิง เพื่อให้เราเอาไปบอกคนอื่นว่าเราเป็นใคร เพื่อให้เรามีเรื่องคุยกับคนอื่น และเพื่อให้เราหลบหนีจากความจริงที่น่าเบื่อหน่าย

ดังนั้นสิ่งที่เราควรรู้คือเราควรจะเช็คที่มาของแหล่งข้อมูลให้มากขึ้น ตรวจสอบว่ามันน่าเชื่อถือมาน้อยแค่ไหน แล้วไอ้ที่เห็นมามันจริงมั้ย หรือมันอาจจะเป็นแค่ข่าวเก่าเมื่อหลายปีก่อนแล้วก็ได้

รู้จักรับฟังความเห็น

เพราะถ้าเราอยากเก่งเราต้องเปิดใจรับคำติชมจากคนรอบตัวได้ คนสมัยนี้ไม่ค่อยชอบให้ใครติ ชอบแต่ให้คนอวย จนกลายเป็นกบในกะลา เป็นมนุษย์ที่อยู่ในจักรวาลแคบๆของตัวเอง

รู้จักคอมเมนต์แบบฉลาด

การให้ความเห็นแบ่งออกเป็นสองด้าน คือด้านลบและบวก กับด้านทำลายและสร้างสรรค์ ด้านลบและทำลายคือมีใครเสนออะไรมาก็เซย์โนอย่างเดียว โดยไม่บอกเหตุผลให้เจ้าตัวรู้ด้วยว่าทำไม ส่วนด้านลบแต่สร้างสรรค์คือการปฏิเสธไอเดียคนอื่นและก็ยังดีที่มีเหตุผลให้ว่าทำไมถึงปฏิเสธครับ

ส่วนด้านบนแบบทำลายคืออาการ Yes, but… หรือ “มันดีนะ แต่…” ไอ้คำว่าแต่นี่แหละครับเป็นการไม่สร้างสรรค์ซักเท่าไหร่ นานวันเข้าอีกฝ่ายก็จับทางออกว่าสุดท้าย Yes ของอีกฝ่ายก็คือ No แบบรักษามรรยาทนี่แหละ

ส่วนการคอมเมนต์แบบสุดท้ายที่ผมชอบมากคือการให้ความเห็นแบบบวกและสร้างสรรค์ คือ Yes, and… คือการชมว่าดีและถามต่อว่าถ้ามันไปต่ออีกหน่อยล่ะจะเป็นยังไง นี่คือการคอมเมนต์แบบคนฉลาดที่ไม่ต้องทำให้ใครเสียน้ำใจ แถมยังเป็นการซื้อใจคนที่ได้ฟังอีกด้วย

และสุดท้ายได้รู้จักคำว่า Perennial

ที่ผมคิดว่าน่าจะเอาไปใช้เป็นศัพท์การตลาดใหม่ที่น่าสนใจได้เลย เพราะคำนี้หมายถึงกลุ่มคนแก่ที่ไม่ยอมแก่ หรือจะบอกกลายๆว่าเป็นพ่อแม่ของพวก millennials ก็เก๋ดีนะครับ

แต่แท้จริงแล้วคำนี้มาจากภาษาละติน Perennis แปลว่า lasting through the whole year หรือแปลเป็นไทยว่า “ยังคงกระฉับกระเฉงไปตลอด”

เห็นมั้ยครับว่าคล้ายกับที่ผมตีความต่อไปจริงๆ

และนี่ก็เป็นหนังสืออีกเล่มที่อยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่าน เป็นหนังสือที่อ่านง่ายแต่ได้ความรู้เต็มๆ แถมยังรู้สึกว่าจบเร็วจนไม่อยากให้จบด้วยซ้ำ

ส่วนตัวผมเป็นแฟนผลงานของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ มาจะว่านานก็นาน ก็ตั้งแต่เริ่มอ่านหนังสือเป็นจริงเป็นจังได้เลยครับ

และผมอยากจะบอกว่าเพราะได้อ่านหนังสือของอาจารย์วรากรณ์นี่แหละ เลยทำให้ผมกลายเป็นคนรักการอ่านมาจนถึงทุกวันนี้ เชื่อมั้ยครับว่าแต่ก่อนผมเองก็เป็นพวกสมาธิสั้น ไม่สามารถนั่งอ่านหนังสือนานๆได้ จนได้มาเจอกับหนังสือของอาจารย์วรากรณ์แกเข้า ทีนี้ล่ะหยุดอ่านไม่ได้จริงๆครับ ทำเอาผมต้องไปไล่เก็บหนังสือของอาจารย์แกมาเกือบสิบเล่มที่เป็นของสำนักพิมพ์ openbooks เมื่อหลายปีก่อนตอนไปเที่ยวเชียงใหม่ แคบหมงแคบหมูอะไรไม่ได้ซื้อกลับกรุงเทพเลยครับ หนังสืออาจารย์แกทั้งนั้น

ดังนั้นถ้าใครที่อยากจะเริ่มอ่านหนังสือความรู้ แต่ไม่รู้จะเริ่มจากเล่มไหน หรือเคยอ่านมาแล้วเจอที่ยากเกินจะเข้าใจจนทำให้ต้องง่วงหงาวหาวนอน ผมขอแนะนำให้ลองอ่านของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศเลยครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 24 ของปี 2019

GLOBAL CHANGE 5
ข้อเขียนอ่านสนุกว่าด้วยเรื่องราวและกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่
วรากรณ์ สามโกเศศ เขียน
สำนักพิมพ์ Bookscape

20190420

ประชานิยมคืออะไร? และอะไรไม่ใช่ประชานิยม?

ขอบคุณหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้ผมเข้าใจความหมายและที่มาที่ไปของคำว่า “ประชานิยม” ดีขึ้น

ถ้าให้ผมเดา ผมขอเดาว่าคำนี้น่าจะมาจากคำว่า “ประชาชน” บวกกับ “ความนิยม” หรือ “เป็นที่นิยม” นั่นหมายความว่าอะไรก็ตามที่คนส่วนมากนิยมชมชอบ ก็สามารถนิยามว่าประชานิยมได้ไม่ยาก

เท่าที่ผมนึกออกผมเดาว่าคำนี้น่าจะเป็นที่รู้จักกันในบ้านเราตอนสมัย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่น่าจะเป็นผู้ริเริ่มนโยบายแบบประชานิยมขึ้นมา จนกลายเป็นทุกพรรคต่างต้องมีนโยบายประชานิยมในแบบของตัวเอง

เท่าที่ผมนึกออกนโยบายประชานิยมในตอนนั้นที่ได้ใจประชาชนไปมาก น่าจะเป็น 30 บาท รักษาทุกโรค แม้จะโดนแซะโดนแซวว่าได้แต่พารา แต่ครอบครัวผมก็เป็นหนึ่งที่ได้ใช้สิทธิ์นี้ในการรักษาโรคมะเร็งอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง

นี่คงเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่าประชานิยมในบ้านเราเท่าที่ผมจำได้

แล้วอะไรที่ “ประชาไม่นิยม”

นั่นก็คือคนส่วนน้อยในสังคม ที่มักจะหมายถึงบรรดาชนชั้นนำต่างๆ ไม่ว่าจะด้วยตำแหน่ง หรือทรัพย์สินที่ดินต่างๆ ก็แล้วแต่ กลุ่มคนเหล่านี้คือขั้วตรงข้ามของ “ประชานิยม” และมักจะถูกตราหน้าว่าเป็นกลุ่มที่เอาเปรียบคนส่วนใหญ่ หรือประชาชนในสังคมนั่นเอง

ประชานิยมส่วนใหญ่แสดงออกว่าชิงชังระเบียบสถาบันการเมือง และวิจารณ์ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ชนชั้นนำทางวัฒนธรรม และชนชั้นนำในด้านอื่นของสังคม และชนชั้นนำในด้านต่างๆ เหล่านี้เองถูกจำลองภาพว่าเป็นกลุ่มที่ชอบทุจริต ที่ต่อต้าน “เจตจำนงทั่วไป” ของประชาชน

ประชานิยม หรือประชาชนคนส่วนมากเลยกลายเป็นนิยามของคำว่า “ถูก” หรือ “ดี” ส่วนคนส่วนน้อยไม่ว่าจะด้วยความเป็นชนชั้นนำหรืออะไรก็ตามคือขั้วตรงข้ามที่ถูกนิยามว่า “ผิด”

ผู้นำหรือนักการเมืองสายประชานิยมจะพยายามนำเสนอว่าตัวเองคือตัวแทนของประชาชนคนส่วนใหญ่ ที่ถูกบรรดา “ชนชั้นนำ” แต่เดิมเอาเปรียบ หรือมองข้ามมาโดยตลอด

ตัวแทนของประชานิยมมักเป็นเหมือนกันคือนำเสนอตัวเองออกมาในฐานะเสียงของประชาชน ในภาพลักษณ์ของคนนอกแวดวงการเมือง (เพราะนิยามให้พวกคนในแวดวงการเมืองที่เป็นคนส่วนน้อยนั้น “ผิด” ไปแล้ว) และบอกว่าตัวเองเป็นตัวแทนที่แท้จริงของ “สามัญชน” นี่คือภาพลักษณ์ที่นักการเมืองสายประชานิยมสร้างขึ้น ไม่ได้เป็นตัวตนที่แท้จริง

เพราะการจะได้ใจประชาชนคนส่วนใหญ่ ต้องทำให้ตัวเองเป็นเหมือนคนทั่วไปที่เป็นคนส่วนใหญ่ ให้เกิดการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ว่า “เค้าเป็นพวกเดียวกับเรา” ที่เป็นประชาชน

แถมยังนิยมใช้ภาษาที่เรียบง่ายสามานย์ หรือที่เรียกกันว่า “วาทกรรมโต๊ะเบียร์” Stamtiseh นี่คือกลยุทธ์ของนักประชานิยมที่พยายามทำตัวให้ดูเป็น “ชาวบ้านคนธรรมดา”

ผู้นำประชานิยมบางประเภทที่มาจากผู้ประกอบการ หรือนักธุรกิจที่ร่ำรวย มักนำเสนอภาพตัวเองเมื่อเข้าสู่แวดวงการเมืองว่า ตัวเองนั้นก็เป็นคนธรรมดาเหมือนประชาชนคนทั่วไป เพียงแต่รู้จักขยันสู้ชีวิตจนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาเองได้อย่างทุกวันนี้ หาได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่หรือเส้นสายในวงศ์ตระกูลเป็นบันไดมาสู่ความร่ำรวยแบบนักการเมืองก่อนหน้าไม่

อารมณ์ประหนึ่งว่าฉันรวยของฉันเอง ไม่ได้มีใครมาช่วยฉันเหมือนเขา คอนเซปนี้ไม่ได้มีแค่ในบ้านเรา แต่ที่โด่งดังมากคืออดีตนายกของอิตาลีตระกูลแบร์ลุสโกนี ที่บอกว่าตัวเองรวยจะแย่ ดังนั้นไม่ได้หวังว่าจะมากอบโกยทรัพย์สินอะไรอีกจากการเมืองเหมือนนักการเมืองคนอื่นๆ

แถมยังเน้นย้ำด้วยว่าที่ลงมาเล่นการเมืองเนี่ยเสียสละให้นะรู้มั้ย ชีวิตไม่ต้องลำบากก็ได้

นักประชานิยมเก่งๆ จะถนัดการจับประเด็นปัญหาทางสังคม แล้วปั้นให้กลายเป็นเรื่องการเมือง เพื่อจะได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนข้างมาก

แต่ประชานิยมก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะประชานิยมไม่ได้หมายถึงความเท่าเทียมกับอย่างเสมอภาค แต่หมายถึงพลังของเสียงส่วนมากโดยไม่สนใจเสียงส่วนน้อย

ไม่รู้ว่าจะเรียกว่า Groupthink ได้มั้ยนะแบบนี้

ประชานิยมเลยเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับพหุนิยมอย่างสิ้นเชิง แล้วพหุนิยมคืออะไร?

พหุนิยมคือการมองว่าสังคมนั้นแบ่งแยกแตกแขนงออกเป็นกลุ่มย่อยต่างๆที่ทับซ้อนกันมากมาย ไม่ใช่การมองทั้งหมดเป็นก้อนใหญ่ก้อนเดียว จนทำให้ลืมเสียงส่วนน้อยไป ดังนั้นแนวคิดหลักของพหุนิยมคือการกระจายอำนาจออกไปตามกลุ่มย่อยต่างๆมากมาย เพื่อไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจหรือความสำคัญมากเป็นพิเศษ

เหมือนบ้านเราทุกยุคหนึ่งเคยมีการพยายามแบ่งกลุ่มออกเป็น รากหญ้า กับชนชั้นกลาง

ประชานิยมเลยเป็นการมองหาจุดร่วมของประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อรู้จุดว่จะได้ใจหรือเสียงข้างมากมาได้อย่างไร เช่น รากหญ้า ชนชั้นกลาง หรือชนชั้นแรงงานในยุคแรก

แต่ประชานิยมก็ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ เพราะระบบอุปถัมภ์คือการ “แลกเปลี่ยน” กันโดยตรงระหว่างนักการเมืองกับผู้ลงคะแนน ไม่ว่าจะด้วยการซื้อเสียง ให้สิ่งของ หรือเลี้ยงโต๊ะจีนก็ตาม

แต่ภาพลักษณ์คนนอกของผู้นำสายประชานิยมนั้นก็ใช่ว่าจะอยู่ได้ยาวนาน เพราะถ้านานวันเข้าจากผู้นำคนนอก ก็จะกลายเป็นคนในที่อยู่ในตำแหน่งมายาวนานจนถูกมองว่ากลายเป็นพวกนักการเมืองหน้าเดิมได้ในที่สุด

จนเกิดโอกาศของนักการเมืองประชานิยมคนใหม่เข้ามาแทนที่ได้

ประชานิยมทำให้ระบอบอำนาจนิยมกลายเป็นประชาธิปไตยได้ แต่ประชานิยมเดียวกันนี้ก็สามารถทำให้ระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยกลายเป็นอำนาจนิยมเต็มใบได้เช่นกัน

ดังนั้นความสลับซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างประชานิยมกับประชาธิปไตยคือ ประชานิยมไม่ได้ต่อต้านประชาธิปไตย แต่มันขัดแย้งกับเสรีประชาธิปไตย เพราะมันเป็นชุดความคิดที่ปกป้องเสียงข้างมากอย่างสุดโต่ง แต่ด้วยประชานิยมนี้เองก็เป็นขุมพลังให้บรรดากลุ่มคนชายขอบที่เคยถูกลืมมาแล้วมากมาย

สุดท้ายนี้เป็นหนังสือที่อ่านค่อนข้างยากสำหรับผม แต่ก็น่าสนใจตรงที่ทำให้เข้าใจความหมายของประชานิยมได้ลึกซึ้งขึ้น

ถ้าจะบอกว่าเสรีประชาธิปไตยหรือพหุนิยมนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับเรื่องการตลาดก็คงเป็นการแบ่งกลุ่ม STP ที่หลากหลาย แต่พอเป็นประชานิยมปุ๊บเหมือนกับการหา insight จนได้ key message หลักที่พูดออกไปแล้วสามารถกระชากใจคนส่วนใหญ่ให้กลายเป็นลูกค้าเราได้

สุดท้ายเมื่ออ่านเล่มนี้จบทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาว่า อย่างใช้ความเป็นเสียงข้างมากของคนส่วนใหญ่ตัดสินทุกอย่าง เพราะหลายครั้งที่ความคิดดีๆนั้นมาจากเสียงเล็กๆของคนส่วนน้อยไม่น้อยเหมือนกัน

เปิดใจฟังกันมากขึ้น และลองคิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วน บางทีสิ่งที่สังคมยุคใหม่ต้องการจริงๆอาจเป็นการถกเถียงกันอย่างรอบด้านเพื่อส่วนรวมทั้งหมดก็ได้ครับ

#อ่านแล้วเล่า #Populism #ประชานิยม ความรู้ฉบับพกพา

Cas Mudde และ Cristobal Rovira Kaltwasser เขียน
เกษียร เตชะพีระ แปล
สำนักพิมพ์ BookScape

เล่มที่ 111 ของปี 2018
20180928