Tag

SoftBank

Browsing

สรุปรีวิวหนังสือ Masa Way 2 ชนะ AI ชนะโลก จากสรุปหนังสือ Mawa Way เล่มแรก Start Up เปลี่ยนโลก ที่อ่านแล้วสนุกจนไม่อยากวาง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัท Softbank บริษัทญี่ปุ่นที่ก่อตั้งโดยคนเกาหลี ที่โด่งดังระดับโลกจากการเข้าไปลงทุนใน Startup ดังๆ มากมายทั่วโลก ทำให้จากงานสัปดาห์หนังสือเมื่อต้นปี 2022 นี้ ผมบังเอิญเห็นเล่มนี้จากบูทสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ทำให้หยิบมาจ่ายเงินโดยไม่ลังเล เพราะเชื่อจากเล่มแรกว่าต้องสนุกมากแน่นอน

ซึ่งภาพรวมของหนังสือเล่มนี้คือไม่ได้เล่าประวัติอะไรที่สนุกโลดโผนแบบเล่มแรก แต่เป็นเรื่องราวของปัจจุบันและค่อนข้างเน้นไปยังวิกฤตล่าสุดที่ Softbank ไปลงทุนใน WeWork ที่ตัวบริษัทเองกำลังมีปัญหาอยู่ ไปจนถึงการอธิบายวิธีการลงทุนของ Softbank เป็นส่วนใหญ่ ว่าแตกต่างจากบริษัท Holding อย่างไร ซึ่งค่อนข้างเหมาะกับผู้บริหารจ๋าๆ ที่อยากจะหาวิธีการบริหารจัดการบริษัทและการเงินให้คล่องตัว

ซึ่งเมื่อ WeWork เกิดข่าวฉาวในแวดวง Startup ส่งผลให้มูลค่าบริษัทหายไปมหาศาล หลายคนก็มองว่านี่อาจจะเป็นจุดที่ทำให้ Softbank กระอักหรือล้มได้ แต่หนังสือเล่มนี้ก็อธิบายว่า WeWork ไม่ใช่ทั้งหมดของเงินที่ Softbank เอาไปลงทุน แต่เป็นแค่หนึ่งในหลายสิบบริษัทที่ Softbank เลือกลงทุนด้วย ดังนั้นแม้ WeWork จะเกิดปัญหาใหญ่ แต่ปัญหานั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ของ Softbank หรือ Masa แต่อย่างไร

เพราะมีถึง 15 บริษัทที่ Softbank เข้าไปลงทุนแล้วเข้า IPO เรียบร้อย นั่นหมายความว่ามูลค่าหุ้นที่ Softbank ถืออยู่จะมีมูลค่าสูงขึ้นมหาศาล และบริษัทอื่นๆ ที่ Masa เข้าไปลงทุนก็ยังทำกำไรได้ดี

ในบริษัทที่กองทุนแรกเข้าไปลงทุน ทำผลตอบแทนได้มากถึง 260% ส่วนกองทุนที่สองของ Softbank เองก็สามารถทำผลตอบแทนได้สูงถึง 470% ครับ

ดังนั้นในช่วงโควิด19 เองที่คาดว่าถ้ากองทุน Softbank ทำเงินได้สัก 950,000 ล้านเยนก็เก่งแล้ว แต่กลายเป็นว่าเมื่อปิดปีสามารถทำรายได้มากถึง 1.35 ล้านล้านเยน เรียกได้ว่าทะลุเป้าไกลจนน่าอิจฉาทีเดียว

แต่อ่านดูก็รู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้พยายามอธิบายเคส WeWork ที่ดูเหมือนจะส่งผลย่ำแย่ต่อ Softbank อย่างหนักตามสื่อต่างๆ ไม่ค่อยส่งผลมากสักเท่าไหร่ แถมทาง Softbank เองก็หากลยุทธ์ที่จะกู้คืนการลงทุนกลับคืนมา ตั้งแต่ลงทุนเท่าเดิมแต่ได้หุ้นเพิ่มขึ้น แล้วก็ใช้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นใหญ่เอาคณะกรรมการเข้าไป แล้วก็เปลี่ยนตัวผู้บริหารบริษัทหรือ CEO เป็นคนที่ Masa ไว้ใจแทน

New Normal, New Demand และ New Standard

หัวข้อนี้ไม่มี แต่ผมสรุปสร้างขึ้นมาเอง ในหนังสือเล่มนี้บอกว่าเวลาเกิดวิกฤตครั้งสำคัญ มันจะก่อให้เกิด New Demand ใหม่ๆ ขึ้นมา และนั่นก็จะนำไปสู่มาตรฐานใหม่ของผู้คนที่จะเป็นการยกระดับไปอย่างไม่มีวันหวนคืน เหมือนที่เจ้าเชื้อร้ายโควิด19 กำลังทำอยู่

หนังสือเล่มนี้บอกว่า ในช่วงปี 1832 เกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดหนักในอังกฤษ ส่งผลให้มีคนตายหลายล้านคนเพราะดื่มน้ำไม่สะอาดมีเชื้อโรคเจือปน ทำให้ความต้องการน้ำสะอาดเพิ่มขึ้นสูงมาก (เทียบได้กับความต้องการอากาศสะอาดที่ไม่มีเชื้อโรคในวันนี้ เราจึงต้องใส่แมสเพื่อกันเชื้อโรคจะหลุดลอยมาเข้าจมูกเรา) แรกๆ ก็มีสินค้าออกมาบรรเทาปัญหาชั่วคราว

แต่ท้ายที่สุดก็เกิด New Standard มาตรฐานใหม่ ทางการอังกฤษยกระดับระบบชลประทานใหม่ ทำให้น้ำสะอาดเป็นที่เข้าถึงได้ง่ายทุกครัวเรือน และก็ไม่มีตายด้วยโรคอหิวาตกโรคอีกต่อไป

แต่…กว่าจะมีระบบชลประทานใหม่ ก็ปาเข้าไปปี 1859 เรียกได้ว่าเกือบ 30 ปี ที่คนอังกฤษต้องทนเผชิญกับน้ำปนเชื้อโรค แต่พอระบบชลประทานถือกำเนิดขึ้น ปัญหานี้ก็หมดไป

ถ้าให้สรุปง่ายๆ New Normal, New Demand และ New Standard คือ

New Normal > แหล่งน้ำในเมืองเต็มไปด้วยเชื้อโรค ผู้คนต้องการน้ำสะอาดอย่างเร่งด่วน
New Demand > รายได้ถูกนำไปใช้กับการซื้อน้ำสะอาดมาเพื่อดื่มกิน ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ มาเพื่อตอบความต้องการนี้
New Standard > ระบบชลประทานถูกยกระดับให้ทุกคนเข้าถึงน้ำสะอาดได้แค่เปิดก๊อกน้ำในบ้าน ไม่มีใครต้องกังวลว่าน้ำที่ดื่มจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนหรือไม่

ชนะ AI ชนะโลก

แม้เรื่องราวของ AI จะดูไม่ได้ถูกเน้นน้ำหนักเท่ากับการบริหารจัดการบริษัท และเคสของ WeWork เท่าไหร่ แต่ก็พอสรุปได้ว่าที่ Masa ให้ความสำคัญกับเรื่องของ AI มากก็เพราะว่า เขาเห็นภาพว่าเทคโนโลยี AI จะเข้ามาช่วยปฏิวัติมนุษยชาติไปอีกมากกว่าที่คนส่วนใหญ่จินตนาการออก

ตัวอย่างง่ายๆ คือรถยนต์ไร้คนขับ หรือ Autonomous Vehicle

ส่วนตัวผมเองก็คิดเหมือน Masa เพราะตั้งแต่ได้ลองใช้ระบบช่วยขับของรถยนต์ใหม่ๆ หลายรุ่นมา สุดท้ายผมก็มาจบที่ Tesla แม้ราคาจะสูงกว่าหลายๆ แบรนด์ทั้งที่ไม่หรูหราเท่าแบรนด์ยุโรป แต่ระบบช่วยขับที่เหนือกว่าหลายๆ รุ่นอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่ผมจ่ายไปทั้งหมดให้กับ Tesla ก็เพราะผมต้องการระบบช่วยขับที่ทำให้ผมไม่ต้องขับรถเป็นหลักครับ

เจ้าระบบช่วยขับนี้มันจะเข้ามาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตมนุษยชาติอย่างมากในแบบที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง คุณลองคิดภาพว่าคุณไม่ต้องขับรถ รถยนต์สามารถพาคุณไปยังจุดหมายปลายทางได้ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือในแต่ละวันคุณจะมีเวลาว่างมากขึ้นถึง 2-3 ชั่วโมง และเจ้าเวลาว่างนั้นเองที่จะถูกแปลงไปเป็น Productivity ที่จะเข้ามาเร่งการพัฒนาของธุรกิจหรือสิ่งต่างๆ แล้วแต่เราจะจินตนาการออก

คนที่ชิลๆ อาจจะเลือกเล่นอินเทอร์เน็ตไปตลอดระยะเวลาที่รถยนต์ไร้คนขับกำลังพาเราไปสู่จุดหมายปลายทาง ส่วนคนที่ขยันมากๆ ก็จะมีเวลาทำงานหาเงินมากขึ้นในระหว่างการเดินทางนั้น ดังนั้นบอกได้เลยว่าทันทีที่เรามีเวลาว่างมากขึ้น เวลาว่างนั้นจะถูกนำไปใช้กับการเพิ่ม Productivity เป็นส่วนใหญ่ครับ

เหมือนกับที่เราสามารถ Work from Home ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ แต่เราก็ไม่ได้สบายขึ้นแต่อย่างไร กลายเป็นว่าเรามีหัวข้อต้องประชุมออนไลน์กันทั้งวัน จนหลายคนบ่นว่าขอกลับไปเข้าออฟฟิศเถอะ อย่างน้อยมันก็มีเวลาเลิกงานที่ชัดเจน

จากการทำงานแบบ 9 เลิก 6 กลายเป็น ทำงานทั้งวันทั้งคืนของจริง

Masa บอกว่าที่เค้าทุ่มเทให้ความสำคัญกับ AI ไม่ใช่เพราะ AI คือเป้าหมายของตัวเขาหรือธุรกิจเขา แต่ AI คือเครื่องมือที่จะทำให้ถึงเป้าหมายเร็วขึ้น เพราะเทคโนโลยี AI สามารถเรียนรู้ได้ไม่เหนื่อย ทดลองทำสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการได้แบบไม่เมื่อย ส่งผลให้รอบการเรียนรู้ของเราเร็วขึ้นมาก และทำให้เราเข้าใกล้คำตอบที่เคยอยู่ไกลได้ในระยะเวลาที่สั้นลง

เช่น จากที่เคยต้องวิเคราะห์หาสูตรยารักษาโรคด้วยเวลาหลายปี พอมี AI ที่เก่งพอเราก็อาจจะทำได้ในระยะเวลาที่เหลือหลักเดือน หรือหลักวันก็เป็นได้

ขอพูดถึงเรื่องรถยนต์ไร้คนขับหรือ Autonomous Vehicle อีกสักหน่อย

Masa บอกว่าเทคโนโลยี 5G หรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายจะเป็นกุญแจสำคัญ เพราะเมื่อรถยนต์สามารถเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบตัวมาเป็น Data จากนั้นก็ส่งขึ้น Cloud ไปประมวลผล แล้วส่งคำตอบว่าควรขับรถอย่างไรกลับมาภายในเสี้ยววินาที เรียกได้ว่าข้อมูลหลาย Gigabyte สามารถส่งและรับได้ภายในพริบตา

แต่สิ่งสำคัญคือรถยนต์ต้องมีความสามารถที่จะประมวลผลและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตัวเอง หรือที่เรียกว่า EDGE Device

เพราะในพื้นที่อับสัญญาณอินเทอร์เน็ต ในจุดที่ 5G ใช้ไม่ได้ ซึ่งมีแน่นอน ตัวรถยนต์ต้องสามารถประมวลผลและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเองได้ดีมากพอที่จะปล่อยให้มันทำงานได้ แล้วพอเชื่อมต่อ 5G กับ Cloud ได้เมื่อไหร่ ก็ค่อยส่งงานกลับไปให้ระบบทำงานต่อ

พอเห็นภาพอนาคตของรถยนต์ไร้คนขับ หรือระบบช่วยขับในรถยนต์ที่จะทำให้เรามีเวลาว่างมากขึ้นไหมครับ

เจ้าสิ่งที่เรียบง่ายนี้แหละจะเข้ามาปฏิวัติการใช้ชีวิตของเราทุกคนไปอย่างมาก เหมือนที่เราไม่เคยเชื่อว่าเจ้าโทรศัพท์มือถือเครื่องเล็กจะทำให้เราทำอะไรต่อมิอะไรได้มากมาย และก็เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าถ้าเราขาดเจ้ามือถือเครื่องเล็กนี้ไป เราก็จะใช้ชีวิตไม่สะดวกสบายจนถึงขั้นลำบากเอาด้วยซ้ำ

กลยุทธ์ธุรกิจ ถูกเรา แพงเค้า เอาสัญญาณมือถือแลกหุ้น LINE สบายๆ ที่ญี่ปุ่น

ส่วนสุดท้ายของหนังสือ Masa Way 2 ชนะ AI ชนะโลก เล่มนี้ที่ผมชอบคือ กลยุทธ์ธุรกิจแบบ ถูกเรา แพงเค้า ตอนที่ NAVER บริษัทแม่ของ LINE ต้องการขยายจำนวนผู้ใช้งานในญี่ปุ่นให้มากพอจนคู่แข่งรายอื่นไม่อยากเข้ามาแข่งด้วย ตอนนั้น Masa ก็เสนอว่าเขามีคลื่นความถี่หรือสัญญาณมือถืออยู่ในมือ เพราะเขาเป็นเจ้าของ Softbank

เขาเลยเอาจุดแข็งนี้ของตัวเองที่เป็นต้นทุนต่ำมากในเวลานั้น ไปใช้ต่อรองขอหุ้นใน LINE ด้วยการเสนอว่าถ้าเขาได้หุ้น LINE มา จะทำให้ลูกค้าในเครือข่ายตัวเองใช้ LINE ได้ฟรี และนั่นจะทำให้ LINE สามารถครองตลอดแอปส่งข้อความ Messenger ในญี่ปุ่นได้เร็วขึ้น

ซึ่งแน่นอนว่านั่นเป็นวิธีการขยายกลุ่มผู้ใช้งานได้โดยเร็ว และพอชั่งใจดูว่าถ้า LINE จะสร้างสัญญาณมือถือเอง จะต้องใช้เงินลงทุนขนาดไหน แต่ถ้า LINE จับมือกับ Masa ก็จะสามารถทำได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าการลงทุนเอง

ส่วนทาง Masa เองก็รู้ว่าถ้าจะพัฒนาแอปส่งข้อความให้ดีและดังเท่า LINE ได้ก็จะเป็นต้นทุนที่สูงมาก และนั่นก็ทำให้ Softbank ได้ถือหุ้นใน NAVER ไปโดยปริยาย

เป็นอย่างไรครับกับกลยุทธ์การขยายธุรกิจแบบ ถูกเรา แพงเค้า เรียกได้ว่าเป็น Win Win Strategy ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จริงๆ

สรุปหนังสือ Masa Way 2 ชนะ AI ชนะโลก

สรุปรีวิวหนังสือ Masa Way 2 ชนะ AI ชนะโลก เรื่องราวผู้ก่อตั้ง Softbank และการลงทุนใน WeWork เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ กับกลยุทธ์ธุรกิจ

และนี่ก็เป็นหนังสืออีกเล่มที่ผมแนะนำให้นักการตลาด ผู้บริหาร และคนทำธุรกิจต้องอ่าน เพราะคุณจะได้เรียนรู้อะไรมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการลงทุน การบริหารจัดการบริษัทที่หาอ่านได้ยาก แถมที่สำคัญหนังสือเล่มนี้ยังเขียนด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายครับ

เป็นหนังสือที่ไม่ผิดหวัง กล้าแนะนำให้ทุกคนอ่านจริงๆ

อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือ เล่มที่ 16 ของปี

สรุปรีวิวหนังสือ Masa Way 2 ชนะ AI ชนะโลก
วรพงษ์ ตรีประจำ และ ทักษพร พีรพัฒนโภคิน เขียน
สำนักพิมพ์ บ้านพระอาทิตย์

อ่านสรุปหนังสือ Masa Way เล่ม 1 > https://www.summaread.net/biography/masa-way-start-up-masayoshi-son-softbank/

สั่งซื้อออนไลน์ > คลิ๊ก

หนังสือ Masa Way Start Up เปลี่ยนโลกเล่มนี้เป็นเรื่องราวของ Masayoshi Son ผู้ก่อตั้งบริษัท SoftBank บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกในวันนี้ที่คนสาย MarTech น่าจะคุ้นหู เพราะบริษัทแห่งนี้ไม่ได้ทำแค่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศญี่ปุ่นที่คนไทยคุ้นชื่อเท่านั้น แต่ยังเป็นบริษัทนักลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพมากมายทั่วโลก และบริษัทเหล่านั้นก็ส่งผลต่อวิธีชีวิตเราทุกอย่างอย่างบริษัท ARM ผู้พัฒนาและผลิตชิปประมวลผลที่อยู่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ดังนั้นถ้าใครที่สนใจเรื่องราวประวัติของบริษัทสตาร์ทอัพระดับโลกแห่งนี้ ว่าจากบริษัทตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน กลายมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกได้อย่างไร บอกได้เลยว่าสนุกมาก ถ้าพร้อมแล้วผมจะสรุปให้ฟังครับ

มุ่งมั่นดุดคนบ้า แล้วใครเล่าจะอยากแข่งด้วย

ใครจะคิดว่าความมุ่งมั่นที่จะเป็นเลิศเพียงอย่างเดียวจะสามารถกลายเป็นจุดขาย จุดแข็ง จุดที่สามารถเอาชนะใจธุรกิจที่ใหญ่กว่าให้ต้องยอมรับข้อเสนอแบบผูกขาดกับบริษัทที่เล็กกว่าอย่าง SoftBank

ในตอนที่มาซะได้พบกับประธานบริษัท Joshin Denki หนึ่งในห้างขายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น จุดเริ่มต้นคือห้าง Joshin Denki แห่งนี้กำลังขยายไปยังสินค้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือ PC แบบครบวงจรในช่วงแรกเริ่มของยุคคอมพิวเตอร์

พวกเขาเลยต้องการซอฟต์แวร์มาวางขายที่ร้านให้มากๆ และนั่นก็เลยทำให้ประธานบริษัทแห่งนี้ติดต่อมาซะมาเพื่อต้องการนำโปรแกรมมาวางในร้านค้าทั่วประเทศของตัวเองให้ได้มากที่สุด

ในขณะนั้น SoftBank ถือเป็นบริษัทเล็กเข้าขั้นกระจิ๋วหลิว พวกเขาไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะสามารถต่อรองกับห้างยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของญี่ปุ่นแห่งนี้ได้เลย ดังนั้นไม่ว่าข้อเสนอใดมาจากผู้ที่เหนือกว่าขนาดนี้ก็ล้วนแต่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ แต่ข้อเสนอของห้าง Joshin Denki ก็ถือว่าเป็นข้อเสนอที่ดีที่เปิดโอกาสให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ของมาซะอย่าง SoftBank สามารถนำสินค้าที่ตัวเองเป็นตัวแทนจำหน่ายเข้าไปวางขายควบคู่กับตัวแทนบริษัทอื่นๆ ได้จริงไหมครับ

ถ้าเป็นคนธรรมดาก็คงพอใจกับข้อเสนอแบบนี้เพราะดูแล้วตัวเองมีแต่ได้และแทบไม่มีอะไรต้องเสีย แต่ด้วยความมุ่งมั่นของมาซะที่ตั้งเป้าว่าจะเป็นอันดับหนึ่งเรื่องซอฟต์แวร์ของประเทศญี่ปุ่นหรือของโลกให้ได้ จึงเลือกต่อรองกับประธานบริษัทยักษ์ใหญ่กล้าไปว่า ถ้าจะทำธุรกิจกับ SoftBank ต้องขอให้ไปยกเลิกสัญญากับตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์รายอื่นก่อน

เมื่อประธานบริษัทนักษ์ใหญ่ถูกต่อรองด้วยข้อเสนอที่ดูดุเดือด ที่ขอให้ตนเองต้องไปยกเลิกสัญญากับทุกบริษัทที่ทำมาก่อนหน้า ก็จึงเกิดคำถามมากมายว่าบริษัท SoftBank เป็นใคร มีเงินทุนเท่าไหร่ ทำธุรกิจด้านนี้มานานแค่ไหนแล้ว มาซะตอบกลับอย่างมั่นใจแบบไม่แน่ใจว่าบ้ามากกว่าหรือเปล่าว่า บริษัทเหลือเงินทุนน้อยมาก ประสบการณ์ก็น้อย เพิ่งเปิดบริษัทได้แค่ 3 เดือน และก็ไม่มีสินค้าหรือซอฟต์แวร์ที่เป็นของตัวเองเลยสักชิ้น

แต่เขาบอกว่าสิ่งเดียวที่เขามีคือความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแรงกล้าว่าจะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ให้ได้ และความมุ่งมั่นนี้ก็จะไม่มีทางหาได้จากคนใดในแผ่นดินญี่ปุ่นอีก ณ เวลานั้น

ฟังดูแบบนี้เหมือนไม่ make sense ไร้เหตุผลว่าเหตุใดทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่ถึงต้องยอมฟังบริษัทเล็กๆ ที่เพิ่งตั้งได้แค่ 3 เดือน แต่มาซะก็ให้เหตุผลเพิ่มเติมต่อไปว่าถ้าห้าง Joshin Denki อยากจะเป็นอันดับหนึ่งด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่เพิ่งเกิดใหม่ ก็ไม่ควรเสียเวลากับเรื่องของซอฟต์แวร์มากเกินไป การดีลกับบริษัทเดียวจะเป็นเรื่องประหยัดเวลากว่า แล้วเวลาที่ประหยัดได้ก็เอาไปโฟกัสกับส่วนประกอบอื่นๆ ของคอมพิวเตอร์ในเรื่องฮาร์ดแวร์จะดีกว่า ปล่อยเรื่องซอฟต์แวร์ให้เป็นของ SoftBank ทางมาซะเองก็ยืนยันหนักแน่นว่าท่านประธาน Joshin Denki จะไม่มีทางผิดหวังแน่ถ้าตัดสินใจแบบนี้

ทางมาซะย้ำอีกรอบว่าถ้าอยากจะเป็นห้างสรรพสินค้าที่จำหน่ายซอฟต์แวร์อันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ก็ต้องร่วมงานกับบริษัทซอฟต์แวร์ที่มุ่งมั่นว่าจะเป็นอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นแบบ SoftBank เท่านั้น!

และจากความมุ่งมั่นในระดับบ้าคลั่งนี้ทำให้ท่านประธานห้างอันดับ 3 ของญี่ปุ่นในเวลานั้นทำตามข้อเสนอของ SoftBank ยกให้มาซะดูแลเรื่องซอฟต์แวร์ทั้งหมด ส่วนตัวเองก็เอาเวลาไปโฟกัสส่วนอื่นของคอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ภายในบ้านที่ยังเป็นธุรกิจหลักต่อไป

และจากดีลนี้เองก็ทำให้บริษัท SoftBank ของมาซะมีเครดิตที่จะไปเสนอตัวเป็นผู้แทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ของบริษัทอื่นให้กับห้างร้านอื่น ด้วยการบอกให้รู้ว่าห้างอ่าง Joshin Denki ที่โด่งดังเรื่องการมีซอฟต์แวร์ให้เลือกมากมายเป็นอันดับหนึ่งก็เป็นเพราะมี SoftBank แค่บริษัทเดียวดูแล ดังนั้นถ้าอยากประสบความสำเร็จเหมือนห้างนั้น ก็จงวางใจให้ SoftBank เป็นผู้ดูแลและจัดหาซอฟต์แวร์ให้เถอะ!

ไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่าลำพังความมุ่งมั่นที่จะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จก็สามารถเป็นก้าวแรกไปสู่ความสำเร็จได้ เรื่องพวกนี้แม้จะไม่สามารถวัดผลได้ แต่คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจเก่งๆ ผู้บริหารเก่งๆ ต่างรับรู้ได้ว่าคนไหนจริง คนไหนเก๊

Expand Business Ecosystem อยากขายง่ายต้องสร้างตลาด

PC98 practical use magazine Oh!PC 1998 year 9 month /Windows98. Tips500  other / SoftBank : Real Yahoo auction salling

ธุรกิจส่วนใหญ่ประเมินความสำคัญของการมีสื่อในมือน้อยไปมานาน ส่วนสื่อเองก็ประเมินความสำคัญของการตลาดและธุรกิจน้อยไป แต่ในความเป็นจริงแล้วถ้าเราอยากขายง่ายเราต้องสร้างตลาด หรือสร้าง Demand ขึ้นมา ก็เหมือนกับที่มาซะทำกับ SoftBank หลังจากเปิดบริษัทไปได้หกเดือนในปี 1982 ที่ถ้ารอให้คนอยากได้ซอฟต์แวร์แล้วเดินเข้ามา พวกเขาเลือกที่จะสร้างความอยากของคนขึ้นมาด้วยสื่อ

มาซะเลือกทำนิตยสารขึ้นมาสองเล่มทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ เล่มแรกคือ Oh!PC อีกเล่มคือ Oh!MZ เพราะเขามองว่าถ้าอยากให้ซอฟต์แวร์ที่ตัวเองเป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวขายได้โดยง่ายต้องทำให้คนอยากได้ในซอฟต์แวร์เหล่านั้นขึ้นมาก่อน

แม้ช่วงแรกในการทำนิตยสารสองเล่มพร้อมกันโดยไร้ประสบการณ์จะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามขัดขวางความสำเร็จ แต่มาซะก็ไม่ย่อท้อกัดฟันสู้ทำต่อไป จนในท้ายที่สุดก็สามารถทำให้นิตยสารทั้งสองหัวสามารถทำยอดขายและกำไรให้อยู่รอดด้วยตัวเองได้ จากที่เคยใช้เงินจากบริษัทหลักอย่าง SoftBank ก็กลายเป็นนิตยสารคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่คนชอบคอมอ่านกัน

และจากความนิยมในนิตยสารก็นำไปสู่ยอดขายของซอฟต์แวร์ที่ SoftBank จัดจำหน่ายลงในเล่มนั้น เรียกได้ว่าเป็นการวางหมากที่ฉลาดในระยะยาว แน่นอนว่าต้องอดทนฝันกัดฟันในระยะสั้นเพื่อให้เมล็ดพันธุ์ที่หยอดลงไปได้มีเวลาผลิดอกออกใบครับ

กลยุทธ์สร้างแบรนด์จาก Niche สู่ Nationwide ด้วย Baseball

Hawks rally past Marines, advance to Japan Series | The Japan Times

สมัยก่อนคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ของคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ยังไม่ใช่อุปกรณ์เครื่องใช้ทั่วไปสำหรับทุกคนอย่างวันนี้ แต่ในวันนั้นการจะทำให้คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์เป็นที่ยอมรับในคนวงกว้างก็ต้องใช้กลยุทธ์ที่ยิ่งใหญ่ และกลยุทธ์ที่มาซะทำให้ SoftBank กลายเป็นบริษัทที่ใครๆ ก็รู้จักก็ด้วยการผ่านกีฬายอดนิยมของคนทั่วประเทศญี่ปุ่นอย่างเบสบอลนั่นเองครับ

มาซะเลือกที่จะซื้อทีมเบสบอลของเมืองฟูกูโอกะ แล้วก็เปลี่ยนชื่อทีมมาเป็น SoftBank HAWKS ให้กลายเป็นโฆษณาซ้ำๆ ที่คนทั่วญี่ปุ่นจะต้องได้ยินไปอีกนาน แถมยังเปลี่ยนชื่อสนามกีฬาประจำทีมให้กลายเป็น Fukuoka Yahoo! Japan Dome แถมยังปรับปรุงให้เป็นสนามการแข่งขันที่ทันสมัยที่สุด

ที่เปลี่ยนเป็น Yahoo เพราะ SoftBank เองก็ได้เข้าไปลงทุนใน Yahoo ช่วงแรกๆ ที่เริ่มก่อตั้งและกำลังดังที่อเมริกา ก่อนจะนำเข้ามาให้บริการภายในประเทศจนเป็นที่นิยมถึงทุกวันนี้

และจากการลงทุนเข้าซื้อสโมสรเบสบอลครั้งนี้เองทำให้ SoftBank และ Yahoo เป็นที่รู้จักวงกว้างไปทั่วประเทศญี่ปุ่น จากเดิมเรื่องคอมพิวเตอร์ เรื่องซอฟต์แวร์ เรื่องอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องของ Geek บางกลุ่ม กลายเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็รู้จักมากขึ้น ส่งผลต่อพฤติกรรมให้คนที่ได้ยินอยากรู้ อยากลอง และแน่นอนว่าทั้งหมดนี้ส่งผลต่อธุรกิจของ SoftBank ทั้งทางตรงและทางอ้อมครับ

Ping An Good Doctor และ VIEW สองธุรกิจ Startup น่าสนใจที่ SoftBank ลงทุนไว้เลยอยากเอามาแชร์ให้รู้กัน

มาดูแผนการของ Ping An Good Doctor กัน – Marketing Pharmacist –  เภสัชกรการตลาด

Ping An Good Doctor หนึ่งในบริษัทสตาร์อัพด้านการแพทย์ที่ประเทศจีน เป็นการพบหมอ AI ทางออนไลน์ทำให้ผู้คนมากมายในประเทศจีนที่อยู่ห่างไกลตัวเมืองสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างง่ายดาย

ส่งผลให้มีคนจีนลงทะเบียนใช้บริการ Good Doctor ในเวลานั้นกว่า 228 ล้านคน มีเภสัชกรที่ทำงานเต็มเวลากับแพลตฟอร์มนี้กว่า 1,000 คน พร้อมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากทุกแขนงมากกว่า 50,000 คน และยังมีโรงพยาบาลกับคลีนิคมากมายที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายกว่า 3,100 แห่ง สถาบันทางการแพทย์อีก 2,000 แห่ง และร้านขายขามากกว่า 10,000 ร้านในประเทศจีนที่พร้อมให้บริการลูกค้าทั่วประเทศ

ในตอนแรกมีคนใช้บริการปรึกษาแพทย์ทางออนไลน์ผ่าน Good Doctor มากกว่าวันละ 400,00 คน พร้อมให้บริการคนป่วยตลอด 24 ชั่วโมงก็ขึ้นอยู่กับว่ามีหมอคนไหนว่างรับงานบ้าง จากนั้นเมื่อระบบเก็บ Data ได้มากพอจนกลายเป็น Big Data ทำให้พวกเขาสามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ อย่างการให้บริการประกันสุขภาพ เป็นการเติมเต็ม ​Ecosystem ตั้งแต่การหาหมอ การขายยา การรับประกัน เรียกได้ว่าเงินทางที่เข้ามาไม่มีทางไหลออกนอกแพลตฟอร์มไปง่ายๆ บวกกับการนำข้อมูล Health Data จากอุปกรณ์ Wearable อย่าง Smart Watch ต่างๆ ส่งผลให้คนที่สุขภาพดีก็จะได้ส่วนลดค่าเบี้ยประกันสุขภาพจากแอปนี้

และนั่นก็ทำให้มาซะเลือกที่จะลงทุนกับ Good Doctor กว่า 400 ล้านดอลลาร์ในการระดมทุนรอบ Series B ตอนเดือนตุลาคม ปี 2017

บริษัท Good Doctor นี้ก็ขยายเข้ามาในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว โดยผ่านการทำ MOU กับเครือโรงพยาบาลกรุงเทพอย่าง BDMS และในประเทศจีนวันนี้ก็มีตู้ที่ให้คนจีนสามารถปรึกษาอาการไม่สบายกับหมอ AI ได้อย่างสะดวกสบาย ด้วยการถามตอบแค่นาทีเดียวก็สามารถวินิจฉัยได้แล้วว่าป่วยเป็นอะไร ต้องกินยาแบบไหน หรือควรจะไปพบแพทย์คนไหนอย่างไรต่อ

View สตาร์ทอัพด้านกระจก เปลี่ยนกระจกธรรมดาให้สมาร์ทด้วยเทคโนโลยี

บริษัทนี้น่าสนใจเพราะใครจะคิดว่ากระจกธรรมดาตามตึกต่างๆ จะสามารถยกระดับให้สมาร์ทด้วยเทคโนโลยีจนกลายเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ SoftBank เข้าไปร่วมลงทุนได้

เรื่องมีอยู่ว่ากระจกเป็นสิ่งจำเป็นแต่ไม่ค่อยมีใครมองเห็นความสำคัญ กระจกมันก็เป็นอย่างนั้นมานานจนกระทั่ง Rao Mulpuri CEO ของ View บอกว่าเขาสามารถทำให้กระจกที่อยู่เฉยๆ ทุกวันเพิ่มกำไรด้วยการลดต้นทุนให้ธุรกิจได้

ด้วยการใส่แผ่นฟิล์มเข้าไปในชั้นกระจก จากนั้นก็สามารถปรับการเข้มเพื่อลดความร้อนที่ผ่านเข้ามาได้มากขึ้นด้วยไฟฟ้าแบบ Realtime ทั้งนี้ก็เพื่อลดค่าใช้จ่ายของค่าแอร์ ค่าไฟ ที่เป็นค่าใช้จ่ายไม่น้อยในการทำธุรกิจทุกวันนี้ แถมถ้าเมื่อไหร่แสงกำลังดีก็จะลดอัตราความทึบหรือสะท้อนแสงลงไป ก็ส่งผลให้พนักงานรู้สึกสดชื่นมากขึ้นเมื่อเจอแสงธรรมชาติที่เหมาะสม

จริงๆ ยังมีบริษัทอีกมากมายที่ SoftBank เลือกลงทุนไว้ แต่ผมขอหยิบแค่สองอันนี้มาเล่าก็แล้วกัน ที่เหลือนั้นอยากให้คุณหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านด้วยตัวเองเพราะมันอ่านสนุกจริงๆ

AI คือสิ่งที่จะเปลี่ยนมนุษยชาติครั้งใหญ่ไปตลอดกาล

หลายคนอาจไม่รู้ว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุค AI มากขึ้นทุกวัน และนั่นก็คือสิ่งมามาซะมองว่าเทคโนโลยีนี้กำลังจะก้าวเข้ามาเปลี่ยนวิธีชีวิตของมนุษยชาติทั่วโลกอย่างมหาศาลและไม่มีวันย้อนกลับ

เขาตีภาพให้เห็นว่าเมื่อร้อยปีก่อนอาชีพคนส่วนใหญ่คือเป็นเกษตรกรและธุรกิจส่วนใหญ่บนโลกคือเกษตรกรรม แต่ทุกวันนี้คนทำอาชีพเกษตรกรมีไม่ถึง 5% เท่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าคนแค่ 5% สามารถทำอาหารเลี้ยงคนทั้งโลกได้สบายๆ (แม้บางพื้นที่บนโลกจะขาดแคลน แต่หลายพื้นที่บนโลกคนกลับกินจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ) และนั่นก็ทำให้มาซะมองว่าโลกในอีกร้อยปีข้างหน้าก็จะเปลี่ยนไปอีกรอบหนึ่ง อาชีพมากมายในวันนี้จะถูก AI เข้ามาช่วยทำให้ลดการใช้คนลงไปมาก ส่งผลให้เกิดอาชีพมากมายในวันหน้าที่เรายังคงจินตนาการไม่ออกว่าเราจะต้องใช้ชีวิตอย่างไร

เราไม่ต้องมานั่งจดจำ หรือท่องจำอะไรที่น่าเบื่อน่ารำคาญ เพราะ AI จะเข้ามช่วยจัดการดูแลข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนโลกให้ เราเพียงแต่ต้องรู้จักวิธีการตั้งคำถามที่ถูก ตั้งคำถามเพื่อให้ได้คำตอบที่ดีขึ้น แล้วก็สร้างสมมติฐานใหม่ๆ ขึ้นมา จากนั้นก็ต้องรู้จักตรวจสอบแยกแยะข้อมูลว่าอะไรที่ดูแล้วน่าเชื่อถือกว่ากัน เพราะคำตอบที่เราอยากรู้จะไม่ได้มีแค่คำตอบเดียวแบบคนยุคก่อนอีกต่อไป

สรุป Masa Way เรื่องราวของ Masayoshi Son ผู้ก่อตั้ง SoftBank

SoftBank's Son leaves Alibaba board following Ma's departure - ABC News
Photo – https://abcnews.go.com/Business/wireStory/softbanks-son-leaves-alibaba-board-mas-departure-71444532

Masayoshi Son หรือมาซะ ที่เป็นเรื่องราวทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้คือคนธรรมดาที่เริ่มต้นจากความด้อยกว่าหรือจะเรียกว่า Under dog ก็ไม่ผิดนัก เพราะเขาเป็นชาวเกาหลีที่เติบโตในประเทศญี่ปุ่น ถูกปฏิบัติเป็นพลเมืองชั้นสอง หรือคนที่ด้อยกว่าคนญี่ปุ่นทั่วไป และนั่นเองก็ทำให้เขาต้องกัดฟันดิ้นรนแสวงหาเส้นทางชีวิตใหม่

เส้นทางที่ไม่เคยถูกกำหนดไว้ตอนกำเนิด แต่เขาเลือกที่จะถางและสร้างเส้นทางนั้นขึ้นมาเองจนกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอย่าง SoftBank ที่คนสายเทคไม่มีใครไม่รู้จัก

นี่คือหนังสืออีกเล่มที่อยากแนะนำให้ทุกคนอ่าน เป็นหนังสือชีวประวัติเล่มหนาแต่กลับอ่านง่ายและสนุกมาก คุณจะได้รู้ประวัติเส้นทางของบริษัทเทคโนโลยีอันดับต้นของโลกอย่าง ​SoftBank ที่ถ้าใครไปเที่ยวญี่ปุ่นบ่อยๆ จะคุ้นดี และก็อาจจะสงสัยว่า SoftBank หมายความถึงอะไร

จนอ่านหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้ผมเข้าใจว่า SoftBank น่าจะหมายความถึง Bank of Software จุดตั้งต้นของบริษัทแห่งนี้ที่ตั้งใจจะเป็นตัวแทนรายใหญ่ผู้จัดจำหน่ายซอฟต์แวร์อันดับหนึ่งของญี่ปุ่นในวันแรก และในวันนี้ก็คงไม่มีใครสายเทคโนโลยีปฏิเสธได้ว่า SoftBank คือหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีอันดับโลกที่ส่งผลต่อทิศทางของเทคโนโลยีทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนอีกหลายพันล้านคนครับ

Meet Masayoshi Son, the Billionaire Softbank Founder and CEO

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 19 ของปี 2021

สรุปหนังสือ Masa Way – Start Up เปลี่ยนโลก
พลิกแนวคิดหนึ่งในมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในญี่ปุ่น
วรพงษ์ ตรีประลำ เรียบเรียง
สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์

อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ในอ่านแล้วเล่าต่อ > https://www.summaread.net/category/biography/

สั่งซื้อออนไลน์ > https://bit.ly/MasaWay