วิธีกำหนดทางเลือกอย่างแยบยลให้คนเดินไปในทางที่คุณต้องการ เขียนโดย Richard H. Thaler และ Cass R. Sunstein

พูดถึงเรื่องการชี้นำทางเลือกให้ผู้คนแต่ยังให้ผู้คนมีอิสระเสรีที่จะเลือก เป็นแนวทางการปกครองแบบใหม่ที่เรียกว่า พ่อปกครองลูกแบบเสรีนิยม ฟังครั้งแรกมีงงว่ายังไงแต่พออ่านแล้วจึงเข้าใจว่าอ๋อ…ขอยกเคสตัวอย่างในหนังสือหนึ่งเคสเลยแล้วกัน

ในโรงอาหารในโรงเรียนแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เกิดปัญหาว่าเด็กนักเรียนมีพฤติกรรมการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดความอ้วนเกินมาตรฐานในวัยเด็ก ทางผู้จัดการโรงอาหารเลยคิดหาทางแก้ไขว่าจะทำอย่างไรดี 

ระหว่างที่จัดการประชุมร่วมกับทุกฝ่าย ก็มีอาจารย์ท่านนึงเสนอว่าให้ตัดอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพทิ้งไปเลย ให้เหลือแต่ของที่ดีต่อสุขภาพ(ในความคิดของผู้ใหญ่) แต่อาจารย์ฝ่ายเสรีนิยมก็เสนอว่าทำแบบนั้นมันไม่ถูกต้องมันเผด็จการเกินไป อาจารย์ผู้เป็นผู้ดูแลโรงอาหารแห่งนี้เลยปิ๊งไอเดียบางอย่างว่า ให้เราลองทำการทดลองดูว่า ถ้าเราสลับถาดอาหารโดยให้อาหารที่ดีต่อสุขภาพอยู่ลำดับต้นทั้งหมด และให้อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพอยู่ในลำดับท้ายทั้งหมด เปรียบเทียบกับอีกโรงเรียนที่จัดวางอาหารแบบไม่มีลำดับหรือสุ่ม แล้วผลออกมาจะเป็นอย่างไร

คุณคิดว่าผลสองโรงเรียนนี้จะต่างกันหรือไม่ กับการแค่ลำดับถาดอาหาร..ใช่ครับ ผลที่ได้ออกมาต่างกันอย่างไม่น่าเชื่อ

โรงเรียนที่มีการจัดลำดับอาหารที่ดีต่อสุขภาพไว้ต้นๆ นักเรียนมีการเลือกกินอาหารที่ดีเพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อวัดจากปริมาณอาหารที่เด็กตักไป และการวัดน้ำหนักรวมของเด็กหลังจากนั้น

ผิดกับโรงเรียนที่จัดวางอาหารอย่างสะเปะสะปะ นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ไม่น่าเชื่อของหนังสือเล่มนี้ ว่าแค่ลำดับการจัดลำดับทางเลือกไว้ก็สามารถชี้นำให้ผู้คนเป็นไปตามที่เราต้องการได้แล้ว

ถามว่าเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพทางเลือกเลยหรือเปล่าก็ไม่ เพราะนักเรียนทุกคนยังมีสิทธิ์เลือกอาหารพวกโดนัทหรือจั๊งฟู๊ดทั้งหลายได้ แต่กลับเลือกน้อยลงเองโดยไม่รู้ตัว นี่คือตัวอย่างของการปกครองแบบพ่อปกครองลูกแบบเสรีนิยม 

แต่เหรียญย่อมมีสองด้าน ถ้าผู้ที่มีเจตนาไม่ดีนำไปใช้ก็น่าอันตรายไม่น้อย เพราะธรรมชาติของมนุษย์แล้วคิดว่าตัวเองมีเหตุและผลโดยสมบูรณ์ แต่เปล่าเลย มนุษย์ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้สมองน้อยมากในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เพียงแต่ถ้าเราทุกคนรู้เท่าทันที่จะกำหนดทางเลือกให้ตัวเองก็จะมีประโยชน์ต่อตัวเองและคนรอบข้างไม่น้อยเลยทีเดียว

Nudge สะกดความคิด สะกิดพฤติกรรม
Richard H. Thaler และ Cass R. Sunstein เขียน

สำนักพิมพ์ WeLearn

อ่านเมื่อปี 2016

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/