เป็นหนังสือที่บอกให้รู้ว่า “ความคิด” หรือ “ความคิดสร้างสรรค์” นั้น ไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์ส่วนบุคคล หรือปริศนาธรรมแสนลึกลับที่ไม่สามารถคาดเดาเวลาเกิด หรือแม้กระทั่งไม่สามารถคาดคั้นให้เกิดไอเดียดีๆออกมาได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไอเดียดีๆสามารถสร้างหรือเริ่งได้ ถ้าเรารู้วิธีและขั้นตอนของมัน 

เรามักชอบคิดว่าถ้าอยากได้ไอเดียดีๆ ต้องมีเวลา ต้องมีทรัพยากร ต้องมีบลาๆๆมากพอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยิ่งมีข้อจำกัด ยิ่งเต็มไปด้วยอุปสรรค กลับยิ่งเต็มไปด้วยไอเดียหรือความคิดที่สร้างสรรค์มากมาย

ยิ่งเวลาน้อย ไอเดียก็ยิ่งออกมาเร็วขึ้น
ยิ่งเงินน้อย ไอเดียก็ยิ่งดีขึ้น
ยิ่งถูกกดดัน ไอเดียก็ยิ่งแข็งแรงขึ้น

Marrisa Mayer อดีตหัวหน้าแผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกูเกิล และอดีต CEO ของ Yahoo เคยกล่าวไว้ว่า “ความคิดสร้างสรรค์ชอบข้อจำกัด”

บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้นำ ผู้บริหารขององค์กรยักษ์ บริษัทระดับโลกทั้งหลาย ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากให้พนักงานของตนมีความคิดสร้างสรรค์เยอะๆ แต่ในความเป็นจริงองค์กรยิ่งใหญ่นี่แหละ ยิ่งฆ่าความคิดสร้างสรรค์หรือไอเดียดีๆก่อนใครเพื่อนเลย…เพราะอะไร?

เพราะบริษัทหรือองค์กรใหญ่ๆมักมี “ความคิด” ที่คล้ายๆกันว่า “ยิ่งใหญ่ยิ่งพลาดไม่ได้” ไม่ว่าจะด้วยการกลัวเสียชื่อเสียง การกลัวผลกระทบทางการเงินที่จะตามมา รวมถึงการกลัวต่างๆอีกมากมาย จนไอเดียดีๆทั้งหลายของคนในองค์กรถูกแช่แข็งทิ้งไว้อยู่เสมอ จนทำให้คนถอดใจที่จะเสนอความคิดใหม่ๆออกมา จนลืมไปว่าเมื่ออดีต ตอนตัวเองเพิ่งก่อร่างสร้างตัวใหม่ๆ ก็ไม่ใช่ด้วย “ความคิดที่แปลกใหม่” หรอกหรือที่ทำให้ตัวเองเป็นยักษ์ใหญ่ได้อย่างทุกวันนี้ 

เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “กับดักของความสำเร็จ” จนทำให้ไม่ค่อยกล้าขยับไปไหน ได้แต่ขยายให้ตัวอ้วนอุ้ยอ้ายรอกลายเป็นโกไลแอตที่รอเดวิดมาพิชิตไป

แต่ก็ใช่ว่าทุกองค์กรยักษ์ใหญ่ระดับโลกจะคิดแบบนี้หมด ยังมีบริษัทระดับโลกที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง ล้มลุกคลุกคลาน และผิดพลาดเพื่อเรียนรู้ไปกับความคิดใหม่ๆอยู่เสมอ เช่น Facebook และ Google

พี่มาร์คผู้นำ Facebook ประกาศว่า “เราต้องฆ่าตัวเองก่อนที่ใครจะมาฆ่าเรา” นี่ความคิดขององค์กรที่มีมูลค่าติดท็อปเท็นของโลก เปิดโอกาสให้ความคิดสร้างสรรค์ได้เกิดขึ้นมาจนกลายเป็นที่นิยมมานักต่อนักแล้ว

Google เองก็ใช่ย่อย เราอาจจะพอรู้ว่ามีโปรเจคมากมายหลายร้อยอันที่เป็นอันต้องล้มพับไปของกูเกิ้ลที่ผ่านมา ไม่ว่าจะ Google Glass หรือ Era Phone ที่เคยเป็นกระแส แต่ Google ก็ไม่หยุดที่จะล้มไปข้างหน้าอยู่เสมอ เพราะกูเกิ้ลรู้ว่าถ้าเมื่อไหร่ที่มีหนึ่งสิ่งประสบความสำเร็จ ความผิดพลาดทั้งหมดที่ผ่านมาจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย

และถ้าความคิดใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำนั้นผิดพลาด แต่อย่างน้อยก็ได้เรียนรู้ที่จะทำมันให้ดีขึ้นในครั้งหน้า

Instagram ก็เหมือนกัน เริ่มจากแอพทั่วไปที่ทำได้ทุกอย่างจนค้นพบในตอนหลังว่า คนที่ใช้แอพชอบฟีเจอร์การถ่ายรูปและตกแต่งรูปแบบสำเร็จอย่างง่ายๆ จนทำให้พัฒนาตัวเองกลายเป็นแอพถ่ายภาพลำดับหนึ่งของโลกในวันนี้

สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนในฐานะเป็นผู้สอนวิชาความคิดสร้างสรรค์ที่สแตนฟอร์ดคือ “ความคิด” ที่สร้างสรรค์นั้นต้องให้โอกาสและใช้เวลาในการเติบโต เหมือนคนเราก่อนจะวิ่งก็ต้องเริ่มจากคลาน เริ่มจากไต่ เริ่มจากเดิน แล้วถึงค่อยวิ่ง อย่ากลัวที่จะหกล้ม อย่าแปลกใจที่จะผิดพลาด แต่ให้เรียนรู้จากความผิดพลาดเพื่อทำให้ไปได้ไกลขึ้นเรื่อยๆจากจุดเริ่มต้น

นอกจากนั้น “บรรยากาศ” เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์นั้นก็สำคัญ ต้องสนับสนุนให้เกิดการร่วมมือ การแลกเปลี่ยน การพูดคุย การใช้ความคิด เพื่อทำให้ไอเดียเกิดออกมาได้เรื่อยๆ ถึงเราจะกำหนดให้ความคิดดีๆออกมาไม่ได้ แต่เราสามารถเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ไอเดียออกมาได้

ถ้าคุณเป็นคนนึงที่อยากรู้ว่าความคิดดีๆนั้นเกิดมาได้ยังไง แนะนำหนังสือเล่มนี้อย่างยิง่ครับ

ถ้าคุณอยากให้ลูกน้องหรือคนในองค์กรของคุณในความคิดสร้างสรรค์มากๆ คุณควรอ่านและเอาไปปรับใช้เป็นแนวทางของบริษัทคุณครับ

ถ้าคุณอยากรู้ว่าจะทำตัวเองให้มีความคิดดีๆออกมาเรื่อยๆได้อย่างไร ลองเอาไปอ่านแล้วปรับใช้กับตัวเองดูครับ

สุดท้ายนี้ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่เรื่องลึกลับหรือปาฏิหาริย์อีกต่อไป เพราะหนังสือเล่มนี้บอกทุกอย่างเกี่ยวกับ “ความคิดสร้างสรรค์” ไว้หมดแล้วครับ

ผู้เขียน Tina Seeling เป็นผู้สอนวิชาความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมที่สถาบันออกแบบ d.school ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และยังเป็นผู้บริหารระดับสูงของหลักสูตรการลงทุนทางเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดด้วย

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 34 ของปี 2018

inGenius วิชาความคิดที่คุ้มค่าหน่วยกิตที่สุดในโลก
Tina Seeling เขียน
พรรณี ชูจิรวงศ์ แปล
สำนักพิมพ์ We Learn

20180325

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/