เป็นหนังสือที่ Steve Case ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจมาจาก The Third Wave เมื่อกว่าสามสิบปีก่อน ที่เขียนโดย Alvin Toffler จนกลายมาเป็น The Third Wave ภาคใหม่ในยุคอินเทอร์เน็ต

ถ้าจะบอกว่า Steve Case เป็นผู้บุกเบิกอินเทอร์เน็ตให้กลายเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในอเมริกาเข้าถึงได้ก็ไม่ผิด เพราะเค้าเป็นผู้ก่อตั้ง AOL (American Online) ที่เป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่รายแลกของโลกก็ว่าได้

ว่ากันว่าในช่วงที่บริษัท AOL มีมูลค่าสูงสุดนั้น มากถึง 1.6 แสนล้านดอลลาร์ ถ้าเทียบกับค่าเงินเฟ้อย้อนหลังกลับไปในช่วงนั้น น่าจะมีมูลค่าเกินกว่า Facebook ในวันนี้ด้วยซ้ำ

เพราะ AOL ในวันนั้นเป็นเปรียบเสมือนทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ตที่คนทุกวันนี้ใช้ ไม่ว่าจะ Google, Facebook, Twitter, Messenger หรือ Line ที่เราคุ้นกัน ทุกอย่างใช้บน AOL จบในแพลตฟอร์มเดียว แถมยังรวมถึงบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ในช่วงแรกไม่ได้เป็นราคาเหมา แต่เป็นราคาตามชั่วโมงการใช้งาน ก่อนจะปรับตาม Microsoft ในตอนหลังที่เปิดตัว Messenger ตามมาในตอนท้าย

กลับไปที่ชื่อหนังสือ “คลื่นลูกที่สามแห่งยุคอินเทอร์เน็ต” ก่อนจะไปรู้จักนิยามของคลื่นลูกที่สาม งั้นเราย้อนกลับไปรู้จักคลื่นลูกแรก และลูกที่สองก่อนดีมั้ย

คลื่นลูกที่หนึ่งของยุคอินเทอร์เน็ต เป็นยุคที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้ว่าอินเทอร์เน็ตคืออะไร มีแค่คนส่วนน้อยนิช(niche)เท่านั้นที่พอจะรู้จักและเข้าถึงได้ ด้วยอุปสรรคจากอุปกรณ์เครื่องมือในการเข้าถึง

ดังนั้นสิ่งสำคัญในยุคนี้คือการวางโครงสร้างพื้นฐานให้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และง่ายขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่คลื่นลูกถัดไปที่จะตามมา

คลื่นลูกที่สองของยุคอินเทอร์เน็ต เป็นยุคที่บริษัทเริ่มเอาอินเทอร์เน็ตมาต่อยอดจนเกิดเป็นธุรกิจใหม่ๆมากมาย ไม่ว่าจะ Google, Yahoo, Amazon, Paypal, Zappos หรือ Facebook

เพราะหลังจากคลื่นลูกที่หนึ่งทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายๆ ก็มีกลุ่มคนที่เห็นโอกาสมากมายจากจุดนี้ ก่อให้เกิดบริษัทเกิดใหม่ไม่ว่าจะในช่วงยุคฟองสบู่ดอทคอมในช่วงนึง จนถึงยุคบริษัทอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูอีกครั้ง เกิดสตาร์ทอัพอินเทอร์เน็ตมากมายตามมา จนโลกพร้อมเข้าสู่คลื่นลูกถัดไปในปัจจุบัน

คลื่นลูกที่สามของยุคอินเทอร์เน็ต เป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตจะไม่ใช่แค่ส่วนเสริมส่วนหนึ่งของชีวิต แต่จะกลายเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้อีกต่อไปของการใช้ชีวิต

จากเรื่องของ IoT (Internet of Thing) ที่สิ่งของบางอย่างเริ่มเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ กลายเป็นเรื่องของ IoE (Internet of Everything) ทุกอย่างเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตหมด และพอทุกอย่างเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตหมด ก็จะทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตทุกด้านของเราเปลี่ยนไปแบบไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

เช่น เสื้อผ้าในตู้ที่สามารถบอกเราได้ว่าเราใส่ตัวไหนมากน้อยกี่ครั้ง แล้วถ้าคุณหยิบเสื้อตัวนี้ มันก็จะบอกคุณผ่านมือถือได้ว่าคุณควรใส่กับกางเกงสีไหนให้ดูเข้ามากที่สุด

หรือ ร้านอาหารที่มีระบบกล้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ทำให้เวลาคุณเดินเข้าไปที่ร้าน หน้าจอสั่งอาหารหรือพนักงานที่เพิ่งมาทำงานใหม่เป็นวันแรก จะสามารถทักชื่อเล่นคุณได้เพื่อให้คุณรู้สึกพอใจ (คนเราพอใจที่สุดเวลามีคนเรียกชื่อตัวเองด้วยน้ำเสียงที่เป็นมิตรครับ) จากนั้นก็ถามว่าเมนูอาหารจานล่าสุดที่คุณมากินเมื่อสัปดาห์ก่อนอร่อยถูกปากมั้ย เพราะรู้ว่าคุณไปรีวิวไว้ดีบนอินเทอร์เน็ต แล้วก็ถามว่าคุณจะรับเมนูเดิมอีกครั้งมั้ย และยังแนะนำให้คุณสั่งอย่างอื่นที่กินเข้ากันได้เพิ่มขึ้นด้วย

นี่แหละครับ ยุค IoE หรือ Internet of Everything ทุกอย่างเชื่อมต่อกันหมดเพื่อทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้น แต่ความเป็นส่วนตัวก็จะหมดไปโดยสิ้นเชิง

ในคลื่นลูกที่สามนี้ บริษัทใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นจะไม่ใช่บริษัทอินเทอร์เน็ต หรือเทคโนโลยีโดยสิ้นเชิงอีกต่อไป จะไม่ใช่ Facebook ที่สอง หรือ YouTube ถัดไปในชื่อใหม่ที่จะผงาดขึ้นมายิ่งใหญ่ แต่จะเป็นบริษัทที่มีแนวคิดในการปรับปรุงการใช้ชีวิตในแต่ละด้านให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ Uber และ Airbnb ที่เปลี่ยนปัญหาในชีวิตประจำวันให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ ด้วยอินเทอร์เน็ตแทน

หรือแม้แต่ Tesla หรือบรรดารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติทั้งหลายที่กำลังเกิดขึ้น ต่างก็เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่การใช้โอกาสจากอินเทอร์เน็ตเหมือนบริษัทในยุคคลื่นลูกที่สองอีกต่อไป

พอพูดถึงเรื่องการขับเคลื่อนอัตโนมัติของรถยนต์ จะรู้มั้ยครับว่าที่จริงแล้วบริษัทแรกๆที่สร้างระบบนี้ขึ้นมาเป็นรายแรกได้ไม่ใช่บริษัทสตาร์ทอัพเทคโนโลยีสุดล้ำที่ไหน แต่เป็นบริษัทรถไถของเกษตรกรอย่าง John Deer อารมณ์ก็เหมือนกับคูโบต้าบ้านเรานี่แหละครับ

ระบบรถไถของเกษตรกรจาก John Deere นั้น สามารถขับเคลื่อนไถนาทำเกษตรเองผ่าน GPS ได้มานานหลายสิบปีแล้ว เพียงแต่ John Deere ไม่เคยคิดมาก่อนว่าสิ่งที่ตัวเองมีจะสามารถนำมาต่อยอดกับชีวิตประจำวันได้ขนาดนี้

หรืออีกตัวอย่างใกล้ตัวคือ iTune จาก Apple ที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมเพลงให้ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

แรกเริ่มเดิมทีตลาดการดาวน์โหลดเพลงออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ครับ ก่อนจะมี iTune และ iPod ก็มีหลายเจ้าดันเว็ปหรือแพลตฟอร์มทำนองนี้มามาก แต่ไม่เกิดเป็นดาวค้างฟ้าแบบ iTune ได้เลยซักราย

Apple เข้าไปบอกค่ายเพลงทั้งหลายว่า “ไม่ต้องกลัว” ถ้าจะให้เราขายเพลงให้ เพราะมีคนใช้ Mac ของตัวเองแค่ 2% ทั้งนั้นเองถ้าเทียบกับตลาดคอมพิวเตอร์ทั้งหมด โดยทางค่ายเพลงก็ชะล่าใจปล่อยให้ Apple ได้ลิขสิทธิ์ไป จนในสุดท้าย iTune ก็ไม่ได้จำกัดแค่ในผู้ใช้ Mac OS อีกต่อไป ตั้งแต่เปิดให้ Windows ก็ดาวน์โหลด iTune เพื่อไปซื้อเพลงได้เหมือนกัน

อีกหนึ่งประโยคที่ผมชอบมากจากหนังสือเล่มนี้คือ Wayne Gretzky นักฮอกกี้ผู้ยิ่งใหญ่ถึงกลยุทธ์การเล่นของเขาไว้ว่า “ผมไม่ได้โฟกัสกับลูกฮอกกี้ แต่โฟกัสว่าลูกจะไปทางไหน”

นั่นแหละครับ การเล่นเกมส์แบบผู้ชนะ ไม่ได้วิ่งตามใคร แต่มองแนวโน้มที่โลกจะเดินไปแทน

และอีกสิ่งสำคัญของธุรกิจที่จะเติบโตและยิ่งใหญ่ได้ในยุคคลื่นลูกที่สามคือ “รัฐบาล”

เพราะจากประสบการณ์ของเค้าบอกว่า รัฐบาล ยังคงเป็นพลังงานที่สำคัญทั้งในแง่ของทรัพยากรที่มี หรืออำนาจทางกฏหมาย ที่สามารถส่งเสริมหรือกำจัดไอเดียได้ ดังนั้นการรู้จักใช้รัฐบาลหรือกฏระเบียบให้เป็น จะทำให้แนวคิดใหม่ๆของคุณไปได้ไกลและไปได้เร็วกว่าที่คิด

และไม่ว่ายังไงโลกทั้งใบก็จะเปลี่ยนไปโดยไม่รอคุณ ถ้าคุณตามไม่ทันก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่ถ้าอยากนำหน้าก็ต้องออกแรงวิ่งกันหน่อย

“เพราะยุคหินไม่ได้สิ้นสุดเพราะหินหมด แต่สิ้นสุดเพราะเราประดิษฐ์สิ่งที่ดีกว่า” ไม่มีใครสนใจหรอกว่า “ดีที่สุด” ของวันนี้คืออะไร เพราะพอพรุ่งนี้ไปสิ่งที่ดีกว่าดีที่สุดของวันนี้ก็พร้อมจะมาแทนที่เสมอ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 57 ของปี 2018

The Third Wave
คลื่นลูกที่สามแห่งยุคอินเทอร์เน็ต
อ่านเมกะเทรนด์ล่วงหน้า เห็นโอกาสพลิกโฉมธุรกิจ
Steve Case เขียน
นรา สุภัคโรจน์ แปล
สำนักพิมพ์ Nation Books

20180509

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/