เมื่ออ่านจบก็พบว่า โอ้ ทำไมเราไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่สิบปีที่แล้วนะ และจะมีซักกี่คนนะที่ได้อ่านหรือตระหนักถึงในสิ่งที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงแล้ว เรื่องที่เราส่วนใหญ่กำลังจะมีอายุยืนยาวกันถึง 100 ปี ฟังเผินๆฟังดูเป็นเรื่องดี แต่ถ้าใช้ชีวิตแบบผิวเผินแบบนี้ต่อไปนี่นรกบนดินแน่

ค่าเฉลี่ยของอายุคนไทยตอนนี้น่าจะอยู่ราวๆ 71-77 ปีครับ ฟังดูแบบนี้เราอาจเผลอคิดว่า “อ้อ นี่ชั้นจะมีอายุถึงประมาณนี่ก่อนจะตายซินะ” แต่ความจริงแล้วคุณคิดผิดครับ เพราะนี่คือค่าเฉลี่ยของปีนี้ครับ ไม่ใช่ปีที่คุณกำลังใกล้จะตาย

เพราะกว่าถึงคุณจะอายุถึงเลข 7 นำหน้า ถ้าคุณอายุประมาณเดียวกับผม คือขึ้นต้นด้วยเลข 3 นั่นหมายความว่าคุณมีโอกาสที่จะอายุยืนยาวถึง 90 ปีขึ้นไปเลยล่ะครับ

เพราะอะไรน่ะหรอครับ ก็เพราะว่าทุกๆสิบปีอายุคนเราจะยืนยาวขึ้นอีกสองปีเป็นอย่างน้อยครับ นั่นทำให้ถ้าเรายิ่งอายุน้อยในวันนี้เราก็จะยิ่งมีอายุที่ยืนยาวขึ้นในวันข้างหน้า

สมมติว่าถ้าตอนนี้คุณอายุ 60 ปี ก็มีโอกาสร้อยละ 50 ที่คุณจะอายุยืนถึง 90 ปีเป็นอย่างน้อย หรือถ้าตอนนี้คุณอายุ 40 ปี ก็มีโอกาสเท่าๆกันที่คุณจะอายุยืนถึง 95 ปีขึ้นไป และถ้าตอนนี้คุณอายุ 20 ปี ก็มีโอกาสร้อยละ 50 ที่คุณจะอยู่จนถึงอายุ 100 ปีเลยทีเดียว

ฟังดูน่าจะดีใช่มั้ยครับ ที่เราจะมีโอกาสมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นอีกมากถึงยี่สิบปีเป็นอย่างน้อยถ้าเทียบกับค่าเฉลี่ยอายุประชากรในวันนี้ แต่รู้มั้ยครับว่าถ้าเราไม่เริ่มวางแผนชีวิตให้ดีกันตั้งแต่วันนี้ แก่ตัวไปลำบากจนคุณอาจต้องคิดว่าไม่น่าอยู่นานให้เป็นทุกข์เลยด้วยซ้ำ

เพราะสิ่งแรกที่น่ากังวลคือเรื่องเงิน

เงินทุกวันนี้เราถูกสอนให้วางแผนสำหรับชีวิตที่มีการเกษียณ และจากเดิมชีวิตหลังเกษียณคนรุ่นก่อนหน้าที่เป็นคนคิดแผนนั้นขึ้นมาก็ไม่ค่อยอยู่ต่อกันนานเท่าไหร่ด้วย สมัยก่อนอาจจะอยู่ต่อหลังเกษียณแค่ไม่กี่ปี อาจจะสิบนิดๆ หรือยี่สิบก็เก่งมากแล้ว แต่เมื่อถึงรุ่นที่เราแก่การจะมาเกษียณนั่งใช้เงินอยู่บ้านหลังอายุ 60 คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะถึงเวลานั้นต่อให้เรา 70 เราก็ยังคงต้องทำงานหาเงินอยู่ด้วยซ้ำครับ

และสิ่งที่น่ากังวลของการมีอายุร้อยปีก็ไม่ได้มีแต่เรื่องเงิน แต่ยังมีรายละเอียดในชีวิตอีกหลายเรื่องที่เราต้องเป็นกังวล ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพ ที่จะทำอย่างไรให้เรายังดูแลรับผิดชอบชีวิตตัวเองได้ยาวนานที่สุดโดยไม่เป็นภาระของลูกหลาน และยิ่งหลายคนในวันนี้ไม่คิดจะมีลูก ยิ่งทำให้ลืมเรื่องลูกหลานที่จะมาดูแลยามแก่เฒ่าไปได้เลยครับ

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกน่าแปลกมั้ยครับว่าที่เรื่อการมีอายุร้อยปีนั้นจริงๆเป็นเรื่องใหญ่ ที่เรียกได้ว่ามีผลกระทบกันระดับโลก แต่กลับมีน้อยสื่อมากที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้ และอีกมากที่ไม่พูดถึงเรื่องนี้กันซักเท่าไหร่เลย

ผลกระทบแรกๆคือลำดับขั้นการใช้ชีวิตที่เคยถูกสอนและวางแผนไว้ต้องรื้อทิ้งใหม่หมด

เพราะจากเดิมที่ชีวิตถูกแบ่งออกเป็นสามชั้น เริ่มจากเรียน แล้วก็ทำงาน จากนั้นก็เกษียณ ลำดับขั้นแบบนี้จะต้องถูกรื้อทิ้งใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เข้ากับภาวะอายุร้อยปีกัน เพราะไม่อย่างนั้นถ้าจะให้เรามานั่งเกษียณตอนอายุ 60 หรือ 70 เราคงไม่พอจะมีเงินกินใช้ไปยันก่อนตาย หรือแม้แต่รัฐเองก็ไม่สามารถหาเงินบำนาญมาจ่ายให้เราทุกคนได้พอหรอกครับ

อย่างเช่นที่ประเทศญี่ปุ่น การที่พลเมืองมีอายุยืนขึ้นมากลับไม่ได้มีแต่เรื่องดี แต่กำลังเกิดผลกระทบต่อการเงินของทั้งประเทศเลยครับ

รู้มั้ยครับว่าเมื่อปี 1960 มีสัดส่วนคนทำงาน 10 คนต่อคนที่กินบำนาญ 1 คน แต่ทุกวันนี้สัดส่วนคนทำงานต่อคนที่กินบำนาญนั้นกลายเป็น 10 ต่อ 7 หรือสูงขึ้น 7 เท่าแค่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ชีวิตสามขั้นจะต้องถูกแบ่งใหม่ออกเป็น ขั้นการเรียนรู้ สำรวจ ค้นหา มุ่งมั่น พักผ่อน สลับสับเปลี่ยนกันไปแล้วแต่ความพอใจของแต่ละคน จะไม่มีรูปแบบลำดับขั้นชีวิตที่เคยเป็นมาอีกต่อไปครับ

จากเดิมการใช้ชีวิตแบบลำดับขั้นทำให้เราพอเดาอายุคนที่อยู่ในขั้นนั้นได้ไม่ยาก เช่นถ้าเจอคนกำลังเรียนอยู่ก็พอรู้ว่าเค้าน่าจะอายุเท่าไหร่ หรือถ้าเจอคนที่เพิ่งเริ่มทำงานก็เดาได้ไม่ยากว่าจะอายุเท่าไหร่ แต่อีกหน่อยเมื่อชีวิตไม่มีลำดับขั้นตายตัว ก็จะเกิดการผสมกลมกลืนของอายุเช่นว่า คนแก่แล้วแต่ต้องกลับไปเรียนมหาลัยใหม่ เพื่อเอาความรู้ใหม่ๆออกไปหางานทำตอนอายุ 60

และปัญหาที่ผู้เขียนกังวลกับสิ่งที่ตามมาคืออาจมีการ “เหยียดวัย” เกิดขึ้น เพราะจากเดิมสถานที่นั้นแยกกลุ่มอายุออกมาค่อนข้างชัดเจน มหาลัยเป็นที่ของวัยรุ่น หรือที่ทำงานเป็นของผู้ใหญ่ แต่อีกหน่อยคนจากหลายวัยจะต้องมารวมกัน อาจเกิดการจับกลุ่มของคนอายุน้อยเหยียดคนอายุมาก หรือเกิดการรวมตัวขอคนอายุมากแอนตี้คนอายุน้อย

น่ากังวลว่าปัญหาการเหยียดอายุที่ว่านี้อาจเป็นปัญหาระดับชาติก็เป็นได้ในช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคมครับ

เราไม่ใช่แค่อายุยืนขึ้น แต่เรายังแก่ตัวกันด้วยสุขภาพที่ดีขึ้นด้วยนะครับ

ในปี 1980 James Fries ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ของมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด ตั้งสมมติฐานไว้ว่าการออกอาการเริ่มแรกของโรคเรื้อรังจะถูกเลื่อนออกไปให้เกิดขึ้นช้าลงก่อนที่ตัวเลขอายุคาดเฉลี่ยของมนุษย์จะเพิ่มขึ้น ผลที่ตามมาคือปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรคภัยใข้เจ็บจะถูกร่นระยะเวลาให้สั้นลงกว่าเดิม และจเกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตเล็กน้อย เช่น เบาหวาน ตับแข็ง หรือข้ออักเสบ โรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุจะเกิดขึ้นช้าลง เรียกได้ว่ามาช้า ไม่ต้องเจ็บนาน และไปเลยครับ

กลับมาที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง ประเทศที่ได้ขึ้นชื่อว่าผู้คนอายุยืนที่สุดในโลกกัน

แต่ก่อนการจะมีอายุยืนถึงร้อยปีได้เป็นเรื่องที่น่ายินดีของสังคม ถึงขนาดประเทศญี่ปุ่นเองเคยมีธรรมเนียมว่าคนที่อายุยืนถึง 100 ปี จะได้รับถ้วยสาเกที่ทำจากเงินที่เรียกว่า “ซากาซุกิ” (Sakazuki)

ตอนที่ริเริ่มธรรมเนียมนี้เมื่อปี 1963 มีคนอายุเกินร้อยปีแค่ 153 คน แต่พอถึงปี 2014 ต้องผลิตถ้วยสาเกเงินที่ว่านี้ถึง 29,350 ถ้วย จนทางการญี่ปุ่นต้องยุติการแจกถ้วยสาเกนี้ลงเมื่อปี 2015 เพราะไม่คิดว่าคนจะอยู่กันถึงร้อยปีเยอะขนาดนี้

พูดถึงคนรุ่นใหม่บ้าง เราอาจเคยได้ยินผู้ใหญ่รุ่นก่อนพูดถึงคนรุ่นใหม่สมัยนี้ทำนองว่า ไม่อดทนบ้าง โลเลบ้าง หรือเอาแน่เอานอนไม่ได้บ้าง ก็ไม่ต้องแปลกใจครับ เพราะชีวิตของคนรุ่นใหม่เค้าเต็มไปด้วยตัวเลือก ก็เลยทำให้เค้ายากที่จะรู้ว่าเลือกอะไรถึงจะดีที่สุด ผิดกับคนรุ่นก่อนที่มีตัวเลือกไม่มาก หรืออาจจะบอกได้ว่าแค่ได้เลือกก็ดีแล้ว

จากการมีตัวเลือกให้เลือกมาก ทำให้คนรุ่นใหม่นี้กลัวการเสียโอกาสที่จะได้เลือก เลยเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำใหเค้าเหล่านี้ไม่ชอบมีภาระผูกพันเมื่อเทียบกับช่วงอายุเดียวกันกับคนรุ่นก่อน

คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีบ้านมากเท่าคนรุ่นก่อน หรือไม่อยากแม้จะมีรถเป็นของตัวเองเท่าคนรุ่นก่อน รู้มั้ยครับว่าที่อเมริกาเองสถิติการสอบใบขับขี่ของคนรุ่นใหม่ก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ เพราะเค้าไม่ได้รู้สึกว่าการมีรถเป็นของตัวเองเป็นเรื่องจำเป็นเท่าคนรุ่นก่อนแล้ว

เพราะอย่างที่บอกไปครับว่าชีวิตจะมีหลายขั้น ไม่ได้มีชีวิตแบบ 3 ขั้นเดิมที่เคยมีแค่ เรียน ทำงาน และเกษียณ ทำให้การรักษาโอกาสที่จะได้เลือกไว้กลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของคนยุคใหม่นี้

เพราะเค้าเลือกที่จะสำรวจชีวิตให้ยาวนานขึ้น การลดการสร้างภาระผูกพันก็เป็นสิ่งจำเป็น ก็เลยเกิดเป็นเศรษฐกิจยุคใหม่แห่งการแบ่งปันหรือที่เรียกว่า Sharing Economy อย่าง Uber หรือ Airbnb ขึ้นมา เพราะถ้าจะเป็นเจ้าของรถแล้วก็ไม่อยากจะเอาไว้ใช้คนเดียว แต่ต้องสามารถเอามาใช้หาเงินอีกได้ด้วย หรือแม้แต่บ้านก็เหมือนกันที่เปิดให้เอาบ้านมาหาเงินเพิ่ม เพื่อลดภาระผูกพันลงไปครับ

เมื่อเราต้องอายุร้อยปี แน่นอนว่าชีวิตการทำงานก็ต้องกระทบ และหนึ่งในนั้นที่ใครหลายคนกำลังกังวลทุกวันนี้คือ เราจะถูกคอมพิวเตอร์แสนฉลาดหรือ AI อัจฉริยะเข้ามาแย่งงานไปหมดจริงมั้ย

ผู้เขียนบอกแบบนี้ครับว่า สำหรับเรื่องนี้ไม่ต้องเป็นกังวลไป และยังน่าจะเป็นข่าวดีอีกด้วยซ้ำ เพราะในอีกอนาคตไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อเราทุกคนล้วนแก่ตัวขึ้นและมีลูกกันน้อยลงจนเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว สิ่งที่จะตามมาคือเราจะขาดพละกำลังที่จะทำโน่นผลิตนี่ให้เรา เราก็จะได้เจ้าหุ่นยนต์หรือ AI นี่แหละที่จะช่วยเข้ามาเติมเต็มชีวิตเราที่หายไป ให้เรายังใช้ชีวิตในมาตรฐานเดิมต่อไปได้ครับ

เพราะความต่างระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ที่ยังไงก็เลียนแบบไม่ได้คืออะไรรู้มั้ยครับ “ความฟุ่มเฟือย” หรือสิ่งที่นักมานุษยวิทยาเรียกว่า “Galumphing” หรือ การเติมสีสันให้ชีวิต ซึ่งหมายความว่า “การเสริมเติมตกแต่งใส่จริตที่ดูเหมือนไม่มีความจำเป็นให้กับกิจกรรมที่ทำ”

เราเติมสีสันให้ชีวิต เมื่อเราเดินไปกระโดดไป แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาเดินอย่างเดียว หรือเมื่อเราเลือกให้เส้นทางที่มีทัศนียภาพงดงาม แทนที่จะใช้เส้นทางที่สะดวก หรือเมื่อเราใส่ใจวิธีการมากกว่าผลลัพธ์

การกระทำเช่นนี้เสเพล เกินความจำเป็น เกินกว่าเหตุ และฟุ่มเฟือย

พอเข้าใจใช่มั้ยครับว่าต่อให้ AI อัจฉริยะแค่ไหน มันก็คงจะไม่ทำอะไรแบบนี้เหมือนเรา

กลับมาที่เรื่องเงินอีกนิด น่าเป็นห่วงนะครับที่หลายคนวันนี้ยังไม่เริ่มเก็บเงินไว้ใช้ตอนเกษียณกัน เพราะเรามักมองชีวิตในแง่ดีเกินจริง เรามักใช้เงินกับวันนี้มากกว่าเอาไว้ใช้ในวันพรุ่งนี้ แต่รู้มั้ยครับว่าเคยมีการทดลองให้คนเราเห็นภาพตัวเองตอนแก่ ผลปรากฏว่าคนเราเลือกที่จะเก็บออมเงินมากขึ้นเพื่อเอาไว้ให้ตัวเราในตอนแก่ใช้ แทนที่จะใช้ให้หมดมันในวันนี้เลย

เหมือนว่าเราเกรงใจเราตอนแก่ขึ้นมาเมื่อเราได้เห็นภาพเราตอนแก่อย่างนั้นแหละครับ

อายุที่ยืนขึ้นก็กระทบกับความสัมพันธ์ อย่างการแต่งงานเองเราเริ่มพบว่าคนทุกวันนี้แต่งงานกันช้าลง และที่น่าแปลกใจคือคนแก่ทุกวันนี้หย่าร้างกันมากขึ้น และก็เกิดการแต่งงานรอบสอง รอบสาม หรือรอบที่สี่เอาตอนแก่กันมากขึ้นครับ

แต่เรื่องที่น่าแปลกคืออายุเรายืนขึ้น แต่อายุของธุรกิจกลับสั้นลงเรื่อยๆ

รู้มั้ยครับว่าเมื่อช่วงทศวรรษ 1920 อายุเฉลี่ยของบริษัทในตลาดหุ้น S&P 500 อยู่ที่ 67 ปี แต่ในปี 2013 อายุเฉลี่ยของบริษัททั้ง 500 ที่อยู่ในตลาดหุ้น S&P 500 กลับเหลือแค่ 15 ปี

นั่นหมายความว่าเกิดธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ๆขึ้นมากมาย และธุรกิจเก่าแก่ทั้งหลายก็ล้มหายตายจากไปเยอะเหลือเกิน

เรื่องนี้บอกให้เรารู้ว่าทักษะความสามารถของเราก็ต้องปรับตัวตามให้ทันกับภาคธุรกิจ หมดยุคแล้วครับที่จะเรียนแค่จบปริญญาตรีแล้วจะสามารถเอาความรู้นั้นไปใช้เลี้ยงชีพได้ตลอดชีวิตเหมือนคนรุ่นพ่อแม่เรา

และเรื่องสุดท้ายที่น่าห่วงคือ อายุที่ยืนขึ้นเป็นร้อยปีนั้นอาจไม่ใช่สิ่งทีทุกคนจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

เพราะคาดว่าคนที่ฐานะดีจะยิ่งมีแนวโน้มว่าจะอายุยืนกว่าคนที่ฐานะด้อยกว่า และคนที่ฐานะอยู่ในจุดล่างสุดของระบบเศรษฐกิจนั้นกลับมีแนวโน้มว่าอายุจะลดลงเสียด้วยซ้ำ

นี่จะกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของภาครัฐว่า จะทำอย่างไรที่จะกระจายความเท่าเทียมของอายุร้อยปีให้ได้โดยไม่เหลื่อมล้ำกันมากเกินไป

และนี่ก็คือส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ หนังสือที่จะทำให้คุณต้องเริ่มวางแผนว่าจะอยู่ถึงร้อยปีอย่างไรให้ไม่รู้สึกเหมือนตกนรกตอนแก่ ไม่ว่าจะด้วยเงินไม่พอใช้ หรือร่างกายไม่แข็งแรง แม้แต่ความสัมพันธ์ว่าจะรักษากันยังไงให้อยู่ด้วยกันไปจนแก่

โชคดีนะครับที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่ในอีกสิบปีข้างหน้า หรือปีหน้า เพราะจะยิ่งทำให้ผมเตรียมรับมือกับอายุร้อยปีได้ยากขึ้นเรื่อยๆ

อย่าใช้ชีวิตวันนี้ ให้ตัวเองตอนอายุร้อยปีต้องเกลียดเราเลยครับ

ส่วนคำถามของผมตอนนี้คือ ถึงตอนนั้นที่ผมอายุใกล้ร้อยปี ผมยังจะอ่านหนังสือได้แบบนี้อยู่มั้ยนะ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 3 ของปี 2019

THE 100 YEAR LIFE ชีวิตศตวรรษ
Living and Working in an Age of Longevity
Lynda Gratton และ Andrew Scott เขียน
วารีรัตน์ อันวีระวัฒนา แปล
สำนักพิมพ์ Openbooks

20190121

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/