จากหนังสือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ก่อนหน้าที่เคยอ่านไป ที่บอกให้รู้ว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่คืออะไร ก็คือการปฏิวัติด้วย Big Data, Machine Learning และ AI ที่มีพื้นฐานมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 หรือการปฏิวัติดิจิทัล มาคราวนี้ Klaus Schwab ออกมาเขียนหนังสือเล่มต่อเพื่อบอกให้รู้ว่า ถ้าอยากจะรอดให้ได้ต้องทำตัวอย่างไร ในวันนี้มนุษย์ส่วนใหญ่อาจถูกเทคโนโลยีที่สร้างมากดขี่หรือทำลายล้างเราไปโดยไม่รู้ตัว

และไม่ใช่แค่เราเท่านั้นที่ต้องปรับตัว แต่ผู้เขียนยังบอกว่าสิ่งสำคัญคือทั้งสังคมและโดยเฉพาะภาครัฐยิ่งต้องปรับตัว เพราะไม่อย่างนั้นแล้วคุณค่าของมนุษย์จะถูกเทคโนโลยีที่สามารถทดแทนได้เข้ามาล้มล้างเราไปหมด

หรือเทคโนโลยีที่ทรงพลังไม่น่าเชื่อจะกลายเป็นเครื่องมือของผู้ทรงอำนาจกลุ่มเล็กๆ ที่จะยิ่งใช้กดขี่คนส่วนมากให้ไม่ได้ลืมตาอ้าปากยิ่งกว่าเดิม

แง่คิดหนึ่งในเล่มที่น่าสนใจที่ผู้เขียนบอกว่า เรามักอ้างว่าเทคโนโลยีก็เหมือนดาบสองคม เหมือนเหรียญสองด้าน หรือก็เป็นแค่เครื่องมือที่ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ เช่น ปืนเดียวกันถ้าอยู่ในมือตำรวจก็ปลอดภัย แต่ถ้าอยู่ในมือโจรผู้ร้ายก็อันตรายเหลือเกิน

แต่ความจริงแล้วเทคโนโลยีนั้นก็มีเจตนาในการพัฒนาอยู่เบื้องหลัง ทำอย่างไรเราถึงจะตระหนักถึงความจริงที่สำคัญข้อนี้ ทำอย่างไรถึงจะสร้างเทคโนโลยีด้วยเจตนาที่ดีจากความรับผิดชอบได้แต่แรก เพื่อไม่ให้เทคโนโลยีนั้นกลายเป็นภัยเกินตัวเมื่อตกอยู่ในมือคนไม่ดี

ผมว่าเนื้อหาหลักๆของเล่มนี้ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีเท่าไหร่นัก แต่เป็นเรื่องจิตสำนึกของมนุษย์ที่ต้องยิ่งมีความรับผิดชอบต่อการสร้างและใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น

เพราะเทคโนโลยีนั้นจะยิ่งทรงพลังมากขึ้นทุกที ทั้งจากการประมวลผลที่รวดเร็วราคาถูก รวมกับข้อมูลที่มีให้วิเคราะห์มากมายมหาศาล ดังนั้นการสร้างและใช้อย่างมีความรับผิดชอบหรือจิตสำนึกนั้นจะยิ่งเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่ายุคไหนๆที่เป็นมา

ลองคิดดูซิครับว่าถ้าเราถูกเทคโนโลยีตัดสินว่าเรามีแนวโน้มจะก่ออาชญากรรมในอนาคต จากเทคโนโลยี Big Data และ AI จนมันจำกัดอิสระภาพเราจากแค่ความน่าจะเป็น ทั้งๆที่เราอาจจะไม่ได้ทำสิ่งนั้นเลยในอนาคตก็ได้

นี่คือความน่ากลัวของเทคโนโลยี หรือ Bias เบื้องหลัง Algorithm ของผู้สร้าง อีกหน่อยนักการเมืองหรือทนายความจะไม่ใช่ผู้บังคับใช้กฏหมาย แต่จะเป็นเหล่าผู้สร้างเทคโนโลยีหรือโปรแกรมเมอร์ทั้งหลายนี่แหละครับที่จะเป็นผู้บังคับใช้กฏหมาย

ผู้เขียนแนะนำว่าเราต้องรู้จักใช้กลยุทธ์การซูมอินซูมเอาต์มาใช้กับเทคโนโลยี

การซูมอินคือการมองให้เข้าใจว่าเทคโนโลยีนั้นทำอะไรได้บ้าง และมันจะกระทบกับชีวิตเรายังไง ส่วนการซูมเอาต์คือการมองถอยออกมาในภาพกว้าง ให้เห็นว่าเทคโนโลยีนี้มันเชื่อมต่อกับส่วนอื่นๆได้อย่างไร

หรือผมสรุปได้ว่าเราต้องดูให้ออก มองให้เป็น และเห็นให้ทะลุครับ

และหลายครั้งผลกระทบทางอ้อมของเทคโนโลยีก็สำคัญยิ่งกว่าผลกระทบทางตรง หรือจากเจตนาที่ตั้งใจไว้แต่แรกสร้างก็ได้ อย่างเช่นเทคโนโลยีไฟฟ้าตอนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง

ใครจะคิดว่าแรกเริ่มเดิมทีไฟฟ้าถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้แค่ในเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อทดแทนพลังงานไอน้ำ แต่มันจะกลายเป็นสิ่งสำคัญในบ้านโดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่ช่วยให้คุณแม่บ้านทั้งหลายสะดวกสบายขึ้นง

เทคโนโลยีของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่อย่าง Big Data, Machine Learning และ AI ก็เหมือนกัน เราไม่รู้หรอกว่าในอนาคตข้างหน้ามันจะมีผลอย่างไรกับชีวิตเราบ้าง เราก็คาดเดาได้แค่ในสิ่งที่เรารู้

อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงของความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยี เพราะรู้มั้ยครับว่ายังมีอีกหลายพันล้านคนบนโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ หรือบางที่แค่ไฟฟ้ายังไม่มีใช้เลยด้วยซ้ำ

ปัญหาการทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานจะกลายเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของภาครัฐ ที่ต้องกระจายเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ทั่วถึงเสมือนน้ำ ไฟฟ้า หรือสาธารณูปโภคทั่วไป

และผมขอสรุปถึง 12 เทคโนโลยีจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ ที่เป็นส่วนที่น่าสนใจในเล่มนี้ให้ฟังครับ

  1. เทคโนโลยีการประมวลผลใหม่ๆ จากเดิม CPU หรือหน่วยการประมวลผลแบบ 0 และ 1 นั้นถึงขีดจำกัดเต็มที่ แต่เราจะพบทางออกของการประมวลผลด้วย Quantum Computer ที่จะพาการคิดคำนวนไปอีกขั้น
  2. เทคโนโลยีบัญชีธุรกรรมแบบกระจายและบล็อกเชน Blockchain เรื่องนี้หลายคนคงพอทราบ ว่ามันคือการกระจายข้อมูลออกไปแทนการเก็บรวมไว้ที่ศูนย์กลางที่ใดที่หนึ่ง ทำให้ข้อมูลนั้นโปร่งใส ปลอดภัย และตรวจสอบย้อนหลังได้ถึงจุดแรกเริ่ม แต่ปัญหาคือระบบนี้ต้องใช้พลังงานในการคำนวนสูงมาก จนอาจก่อให้เกิดวิกฤตพลังงานในระดับโลกได้ครับ แต่ข้อดีก็คือบรรดาธุรกิจตัวกลางต่างๆก็จะยิ่งถูกลบหายไปอีกยิ่งกว่ายุคอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำ
  3. อินเทอร์เน็ตของทุกสิ่ง หรือ IoE ที่เป็นยิ่งกว่า IoT เพราะ IoT คือเมื่อสิ่งของเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ แต่นั่นก็เป็นแค่บางสิ่ง แต่นานวันเข้าแล้วทุกสิ่งเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เราก็จะเข้าสู่ IoE หรือ Internet of Everything โดยไม่รู้ตัว โดยมันจะเชื่อมต่อกันเองเพื่อรับใช้เราให้ดียิ่งขึ้น เข้าใจชีวิตเรามากขึ้น แต่ก็อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตส่วนตัวมากยิ่งขึ้น เพราะข้อมูลที่ถูกส่งออกไปอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
  4. ปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการหุ่นยนต์ ไม่ว่จะ AI หรือ Robot ก็ล้วนมีความคล้ายกัน เพราะในความสำคัญคือมันฉลาดพอที่จะรับใช้เราได้ดีถึงดีมาก หรือมันจะฉลาดเกินไปจนรู้ว่าไม่ต้องรับใช้เราก็ได้ครับ
  5. วัสดุล้ำสมัย เทคโนโลยีนี้ถือกำเนิดขึ้นจาก เทคโนโลยีการประมวลผลที่ดีขึ้น บวกกับข้อมูลต่างๆและ AI จนทำให้การวิเคราะห์เพื่อสร้างวัสดุใหม่ๆสามารถเกิดขึ้นได้เร็วขึ้นกว่าเดิม จนไปช่วยพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆต่อได้ไม่รู้จบ เพราะวันนี้หลายเทคโนโลยีติดขัดก็ตรงไม่มีวัสดุที่สามารถรองรับคุณสมบัติทางเคมีหรือฟิสิกส์ได้เท่านั้นเอง
  6. การผลิตแบบเติมเนื้อวัสดุและการพิมพ์หลายมิติ หรือที่เรียกว่า 3D Printing ที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิตตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์ที่ผ่านมาก็ว่าได้ เพราะจากเดิมการจะผลิตอะไรซักอย่างล้วนใช้การสกัดทิ้งเป็นส่วนใหญ่ จะมีแค่ก็วัสดุบางชนิดที่ฉีดขึ้นรูปได้โดยไม่ต้องสกัดทิ้งอย่างพลาสติกหรือโฟม และยิ่ง 3D Printer สามารถผลิตอะไรเองได้จากวัตถุดิบที่หลากหลาย ก็อาจทำให้การซื้อสินค้าในยุคหน้าไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านไปจ่ายเงินเพื่อเอาของจริงๆมา แต่อาจเป็นการจ่ายเงินเพื่อ data ค่าแบบสินค้าเพื่อให้เราผลิตเองที่บ้านได้ ส่วนการผลิตแบบหลายมิติที่พูดถึงก็คือ 4D Printer ก็จะเกี่ยวกับการพิมพ์ชีวภาพ ที่ต้องมีมิติเรื่องของเวลาเข้ามาเกี่ยวด้วย เช่น อวัยวะเทียมครับ
  7. เทคโนโลยีชีวภาพ จากเปลี่ยนอุตสาหกรรมยาไปอย่างน่าทึ่ง จากเดิมที่การผลิตยาคือการสร้างยาหนึ่งชนิดที่ใช้รักษาคนเป็นล้าน แต่ก็อาจจะมีคนบางส่วนที่ยาเม็ดนั้นไม่สามารถรักษาได้ แต่ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพนั้นทำให้สามารถสร้างยาร้อยชนิดเพื่อรักษาคนๆเดียวอย่างตรงจุดได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่นโรคมะเร็ง ที่อาจไม่ต้องใช้การฉายรังสีแบบกว้างๆเพื่อไปทำลายทั้งเซลล์ที่ดีและไม่ดี แต่อาจใช้ยาแบบนาโนในการพุ่งตรงเข้าไปกำจัดเซลล์มะเร็งของเราโดยเฉพาะ โดยที่คนอื่นใช้ไปก็ไม่ได้ผลครับ
  8. ประสาทเทคโนโลยี เป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสมอง เราอาจสามารถสร้างความสุขได้โดยไม่ต้องกินยา แต่ใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นสมองบางจุดให้เรามีความสุข หรือเราสามารถรู้ความคิดของคนได้ด้วยการสแกนสมอง ทำให้อีกหน่อยการจะขอเข้าประเทศหนึ่งอาจถูกสแกนสมองก่อนว่าจะเป็นภัยต่อประเทศหรือเปล่าถ้าปล่อยให้เข้ามา เรียกได้ว่าความเป็นส่วนตัวจะยิ่งหายไปอีกจนไม่เหลือซอกมุมแม้แต่ในความคิดด้วยซ้ำครับ
  9. ความจริงเสมือนและความจริงเสริม ไม่ว่าจะ AR, VR หรือ MR ที่ย่อมาจาก Mixed Reality คือการผสมผสานระหว่างโลกจริงและโลกสมมติ หรือจะหลุดไปอีกโลกด้วยแว่น VR ก็ได้ ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง Ready Player One ก็จะเข้าใจได้ไม่ยากครับ
  10. การดักจับ กักเก็บ และจัดส่งพลังงาน เมื่อเทคโนโลยียิ่งพัฒนา การใช้พลังงานไฟฟ้าก็ยิ่งตามมา การใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกยิ่งส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนตามมา ก็จะยิ่งเป็นเหตุให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ หรือแบตเตอรี่ที่สามารถกักเก็บพลังงานไว้ได้ดียิ่งขึ้น ผมขอเดาว่าอีกหน่อยพลังงานนี่แหละครับ จะมีค่าเสมือนเงินได้เลยทีเดียว เพราะยิ่งโลกเป็นดิจิทัลมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องใช้พลังงานมากเท่านั้นครับ
  11. วิศวกรรมดาวเคราะห์ เรื่องนี้ยังค่อนข้าวไกลตัว แต่รู้ไว้ตั้งแต่วันนี้ก็ดีครับ เพราะมันคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของดวงดาวทั้งดวงด้วยเทคโนโลยี ส่วนหนึ่งก็มาจากภาวะโลกร้อนนี่แหละครับที่เป็นตัวกระตุ้น ทำให้หลายประเทศพยายามดึงคาร์บอนบนชั้นบรรยากาศออกมากักเก็บไว้ หรือถ้าโลกร้อนเกินไปก็อาจจะส่งอนุภาคขนาดเล็ก หรือติดตั้งกระจกเพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์ออกไป ฟังดูยิ่งกว่าหนังไซไฟใช่มั้ยล่ะครับ
  12. เทคโนโลยีอวกาศ ในตอนนี้เราจะเห็นหลายบริษัทเอกชนออกมาแข่งขันกันแย่งชิงพื้นที่อวกาศ ไม่ใช่มีแต่รัฐบาลใหญ่ๆเท่านั้นที่สามารถส่งคนออกไปนอกโลกได้ แต่บริษัทใหญ่ๆไม่น้อยเองก็ทำได้ดียิ่งกว่าหน่วยงานรัฐบาลแล้วด้วยซ้ำ อีกหน่อยเราจะได้บินไปดูดวงจันทร์ แทนการบินไปสิงค์โปรแล้วก็ได้ครับ

ทั้งหมดนี้คือ 12 เทคโนโลยีที่เป็นหัวใจของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จากการใช้ข้อมูลที่มีมากมายเพื่อเอามาค้นหาทางออกใหม่ๆให้ดียิ่งขึ้น จากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้สามารถเรียนรู้ร่วมกันได้เร็วขึ้น

เราเดาไม่ออกหรอกครับว่าผลสุดท้ายมันจะเป็นยังไง สิ่งนึงที่เดาได้คือถ้าคุณไม่เปลี่ยนโลกก็จะเปลี่ยนโดยไม่สนคุณอยู่ดีครับ

สุดท้ายนี้ผมอยากจะบอกว่า “ส่วนตัว” ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้อ่านแล้วไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ แต่ที่อ่านจนจบก็เพราะอยากรุ้ว่าแต่ละเทคโนโลยีหลักๆมันจะมีอะไรบ้าง และมันจะไปในทิศทางไหน ผมว่าถ้าใครไม่ใช่สาย Futuristic ก็อาจจะไม่ชอบหนังสือเล่มนี้ และทีแรกคาดว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีล้ำๆเยอะ แต่เปล่าเลย ส่วนใหญ่ผู้เขียนจะเน้นไปในเรื่องของจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีมากกว่า

ผมเดาว่าผู้เขียนคงกลัวว่าอีกหน่อยคนเราคงจะใช้เทคโนโลยีจนลืมคนด้วยกันยิ่งกว่ายุคดิจิทัล และเทคโนโลยียุคหน้าก็ยิ่งลดบทบาทคนลงไปมากกว่าเทคโนโลยีไหนๆที่ผ่านมาครับ

เจตนาเค้าดีนะครับ แค่มันไม่ค่อยสนุกเท่านั้นเองในความคิดผม แต่ถ้าใครมาแนวนี้แล้ว ก็แนะนำให้ไปให้สุดครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 5 ของปี 2019

ทางรอดในโลกใหม่ แห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่
Shaping the Fourth Industrial Revolution

Klaus Schwab เขียน
ศรรวริศา เมฆไพบูลย์ แปล
สำนักพิมพ์ Amarin How>To

อ่านเมื่อ 20190128

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/