คนเราจะเดาถึงอนาคตได้อย่างมากเท่าไหร่กัน…1ปี 5 ปี หรือ 10 ปี

คำถามยอดฮิตเวลาสัมภาษณ์งาน, ปีหน้า คิดว่าจะพากันไปฉลองครบรอบวันแต่งงานหรือเป็นแฟนกันที่ไหนดี หรืออาจจะจองตั๋วเที่ยวบินราคาถูกข้ามปีเอาไว้ หรือ ไตรมาสหน้า..ว่าผลประกอบการบริษัทจะเป็นอย่างไร โบนัสจะมาหรือไม่ หรือ วีคหน้า..ว่าจะมีโปรเจคอะไรใหม่เข้ามาบ้าง และต้องรีบทำอะไรบ้าง หรือแค่วันพรุ่งนี้…ต้องใส่ชุดอะไรไปทำงานนะ…

แต่มีชายคนนึงที่คาดเดาอนาคตของโลกไว้ตั้งแต่เมื่อ 20ปีที่แล้ว ในวันที่โลกเริ่มมีเค้าลางของปัจจุบันแค่ไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้นก็คือ “อินเทอร์เน็ต”

เมื่อเวลา 20ปีผ่านไป แทบทุกอย่างที่เค้าคาดเดาไว้ก็ต้องบอกว่าแม่นอย่างกับจับวาง ยังกับนอสตราดามุสของโลกดิจิทัลยังไงยังงั้น และชายคนนี้ที่พูดถึงก็คือ Don Tapscott ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งใน Thinker50 ที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชนและรัฐบาลหลายที่ทั่วโลก

ในวันที่โลกเพิ่งให้กำเนิดอินเทอร์เน็ตในปี 1995 จำนวนเวปไซต์มีน้อยจนนับได้ แต่ Don Tapscott คนนี้ก็คาดเดาได้ถึงผลกระทบมหาศาลจากอินเทอร์เน็ต หรือที่เค้าเรียกในเวลานั้นว่า “เดอะเน็ต”

ว่าจะเปลี่ยนวิถีชีวิต รูปแบบขององค์กรบริษัท และวิธีควบคุมของภาครัฐ ว่าทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เค้าคาดเดาได้ถึงขนาดที่ว่าคนเราจะร่วมมือกันง่ายขึ้น สิ่งต่างๆรอบตัวจะแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวที่จะกลายเป็นหนึ่งเรื่องสำคัญ รวมถึงรูปแบบของการใช้เงินดิจิทัลที่กำลังมาอย่าง Bitcoin ก็มี (แต่ไม่ได้พูดถึงชื่อ Bitcoin โดยตรง แต่พูดถึงวิธีการทำงานของเงินดิจิทัล บอกตรงๆว่าอธิบายได้เข้าใจง่ายมาก)

ในหนังสือแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ผมขอสรุปสั้นๆแล้วกัน

ภาคแรก เศรษฐกิจยุคใหม่ที่เรืองรอง

เป็นเรื่องของปัจจัยใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นหลังจากปี 1995 โดยอินเทอร์เน็ตและช่องทางการส่งผ่านข้อมูลขนาดใหญ่ (3G 4G และ 5G ที่เราคุ้นเคย) จะเป็นตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจตั้งแต่ระดับชาวบ้าน ไปจนถึงภาครัฐ และทั่วโลกนั้นต้องเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันเหมือนเดิม ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่าจริง จากเมื่อก่อนเราเคยนั่งจุ้มปุ๊กอยู่หน้าทีวีเพื่อรับสื่อตามตารางเวลา มาวันนี้เราอยากดูอะไรก็มีให้เลือกดูได้ตามจบไม่มีวันหมดอยู่บน YouTube หรือ Netflix จนเกิดเป็นธุรกิจเครือข่ายข้ามโลก ที่เกิดจากคนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ได้มากมาย จนเกิดการพัฒนาในระดับปัจเจก หรือทำให้ตัวเองเก่งขึ้น

เมื่อเราเก่งขึ้นเราก็ยังใช้อินเทอร์เน็ตในการจับกลุ่มกับคนที่มีความสนใจเหมือนกันได้ง่ายขึ้น ดูตัวอย่างง่ายๆจากบริษัทยุคใหม่เกิดขึ้นมากมายด้วย email หรือ webboard สาธารณะ จนกลายมาเป็นองค์กรที่ขยายตัวออกไปในแนวระนาบไม่ใช่แนวดิ่งแบบสั่งการจากบนลงล่างเหมือนบริษัทยักษ์ใหญ่แบบเดิมๆ จนกลายเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมาเปลี่ยนโลกมากมาย ไม่ว่าจะ Facebook ที่ทำให้ทุกคนบนโลกแชร์เรื่องส่วนตัวมากมายอย่างไม่ยั้งคิด หรือ uber ที่ทำให้คนขับแท็กซี่จอมหยิ่งต้องกลัวไม่มีเงินกินไปตามๆกัน

ทั้งหมดนี้คือเรื่องของเศรษฐกิจยุคใหม่ที่น่าจะเกิดขึ้นเมื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามา และข้อมูลสามารถส่งผ่านให้กันได้ง่ายขึ้น จากการคาดเดาเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งผมให้ความแม่นอยู่ที่ระดับ 8 ใน 10 ได้เลย

2 การทำงานข้ามเครือข่าย

ภายใน 20 ปีนับจากวันที่ Don Tapscott ทำนายไว้เมื่อปี 1995 คือคนจากทั่วโลกสามารถทำงานร่วมกันได้ ข้ามปัญหาเรื่องพื้นที่ หรือ Geolocation อีกต่อไป

คนจากอินเดียสามารถทำงานให้กับคนจากนิวเจอร์ซี่ แล้วก็เชื่อมต่อไปยังคนในโตเกียว ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาแล้วตามที่คาดการณ์ไว้

เกิดการขยายตัวของการทำงานขึ้นมากมายพร้อมกันทั่วโลก รวมถึงทำให้ภาครัฐหรือราชการต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานไป

แต่ก่อนเราต้องเข้าไปติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอข้อมูลอะไรบางอย่างที่เราต้องการของภาครัฐ​ แต่มันจะเปลี่ยนไปคือเราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เองโดยไม่ต้องผ่านเจ้าหน้าที่อีกต่อไป

แต่ภาครัฐก็จะเป็นอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงช้าที่สุด เพราะภาครัฐส่วนใหญ่จะใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีเพื่อช่วยในการทำงานของระบบวิธีเดิมๆ ต้องรอให้วันที่ภาครัฐเริ่มเปลี่ยนวิธีคิด และระบบการทำงาน แล้วค่อยเอาเทคโนโลยีเข้ามาเสริม นั่นถึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการบริการจากภาครัฐที่แท้จริงเกิดขึ้นกับประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงทั่วโลก

ผู้เขียนยังพูดถึงธุรกิจภาคการเดินทางและท่องเที่ยวไว้ตั้งแต่เมื่อ 20ปีที่แล้วว่าจะเปลี่ยนไปอย่างมาก

เราแทบจะตัดคนกลางอย่างเอเจนบริษัททัวร์ที่คอยจองโรงแรมหรือตั๋วเครื่องบินออกไปได้หมด ซึ่งก็จริงเพราะทุกวันนี้เราใช้ Agoda หรือ Skyscanner และแทบจะซื้อตรงเองทั้งหมดแล้ว รวมถึงธุรกิจอย่างพจนานุกรมหนังสือความรู้รวมเล่มใหญ่ๆที่ออกขายเป็นรายปีก็จะหมดไป เพราะทุกคนสามารถเดินทางผ่านสายเคเบิ้ลในการเข้าถึงข้อมูลแบบอัพเดทวินาทีต่อวินาทีได้แล้ว แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่คนส่วนใหญ่ยังต้องการเดินทางเพื่อไปซื้อหนังสือที่สะสมความรู้ไม่อัพเดทที่มีแค่ปีละเล่มอย่างเดิมล่ะ

และอีกเรื่องนึงที่พูดถึงคือการศึกษาในยุคดิจิทัล ไม่ใช่แค่การเรียนจบออกมาแล้วคนจะสามารถใช้ความรู้นั้นทำมาหากินไปได้อีก 10-20 ปีอีกต่อไป แต่การเรียนรู้ในยุคใหม่คือการทำงานไปได้และเรียนรู้ไปด้วย

บริษัทจะไม่สามารถใช้แค่ความรู้ที่พนักงานมีในสมัยเรียนเพื่อช่วยให้บริษัทมีกำไรได้อีกต่อไป แต่บริษัทต้องเพิ่มความรู้ให้กับพนักงานตัวเองเสมอ ไม่อย่างนั้นบริษัทเองก็จะไม่สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ในเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะโลกธุรกิจจะเปลี่ยนเป็นความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆจากความรู้ ไม่ใช่การผลิตสินค้าจำนวนมากแล้วแห่งเอาไปออกขายได้เหมือนเดิมอีกแล้ว

ทุกวันนี้สินค้าถูกเลียนแบบกันง่ายขึ้น และเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ก่อนคอมพิวเตอร์เครื่องนึงสามารถเรียกว่ารุ่นล่าสุดได้เป็นปี แต่มาวันนี้ซื้อวันนี้พรุ่งนี้ก็อาจเก่าไปแล้ว

3 ภาวะผู้นำเปลี่ยนแปลง..

พูดถึงเรื่องอุตสาหกรรมแห่งสื่อยุคใหม่ ที่จะเปลี่ยนไป เช่น ทีวี..เมื่อเราก่อนต้องดูทีวีตามผังรายการ แต่ด้วยอินเทอร์เน็ตเราลืมผังรายการแล้วเลือกดูอะไรก็ได้ตามใจได้ทุกเมื่อ สื่อสิ่งพิมพ์..เมื่อก่อนเราซื้อกระดาษเพื่ออ่านเนื้อหาข้างใน แต่วันนี้เนื้อหาข้างในไม่อยู่บนกระดาษอีกต่อไป แต่แทบทุกอย่างมีให้อ่านฟรีบนเน็ต ดังนั้นคุณค่าแทบทั้งหมดของเศรษฐกิจยุคเก่าที่จะส่งต่อมาถึงเศษฐกิจดิจิทัลคือ “เนื้อหา”

เนื้อหา…ที่คนเคยจ่ายเงินเพื่อต้องการมัน ในยุคนึงมันถูกแปะติดไว้กับไม่ว่าจะเป็นกระดาษ หรือแผ่นพลาสติกซีดีรอม วันนี้คุณค่าเนื้อหาเหล่านั้นถูกลบตัวกลางออกไป ทั้งกระดาษ และแผ่นซีดีรอม ให้ทุกคนพร้อมเข้าถึงหรือซื้อหาได้บนดิจิทัลไปแล้ว

และก็มีเรื่องของภาวะผู้นำที่เปลี่ยนไปในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะเมื่อใครๆก็สามารถเข้าถึงข้อมูลและความรู้ได้ เลยทำให้ใครๆก็สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำได้ในบางช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

สมัยก่อนความรู้ถูกเก็บไว้กับเฉพาะระดับ C-level หรือผู้บริหาร หรือผู้นำเท่านั้น แต่เมื่ออินเทอร์เน็ตทำให้ความรู้นั้นเข้าถึงได้ทุกคน และองค์กรก็ต้องพยายามทำให้พนักงานทุกคนมีความรู้เพื่อแข่งขันในธุรกิจได้ ก็เลยเป็นเหตุผลที่ว่าใครๆก็กลายมาเป็นผู้นำได้ ไม่ว่าจะเสมียรหน้าห้อง หรือพนักงานไอทีก็ตาม

และส่วนสุดท้ายส่วนที่ 4

ผู้นำดิจิทัล

ว่าด้วยเรื่องของความเป็นส่วนตัวที่จะต้องนิยามกันใหม่ เมื่อทุกอย่างกลายเป็น 0 และ 1 สามารถคัดลองกันได้โดยไม่ต้องมีวัตถุตัวกลาง ทำให้ข้อมูลทุกอย่างที่เคยเป็นของเราอาจจะไม่เป็นของเราด้วยซ้ำไป

จนผู้เขียนทำนายว่าผู้ปกครองในยุคนี้จะต้องมีการสอนลูกหลานในเรื่องการปกป้องความเป็นส่วนตัวจริงจัง และความเป็นส่วนตัวจะกลายเป็นสิ่งมีค่า มีราคาที่จะต้องจ่าย และความรับผิดชอบใหม่ทางธุรกิจ

ผู้เขียนทำนายไว้ว่าบริษัทจะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ไม่ใช่เพราะมีสำนึกดีกันทุกราย แต่เพราะข้อมูลต่างๆที่เคยปกปิดได้ในเมื่อ 20ปีก่อน จะไม่ใช่ความลับของบริษัทอีกต่อไป ทำให้เรื่องไม่ดีที่เคยซ่อนไว้ได้ก็กลายเป็นเรื่องแดงออกมาง่ายขึ้น เร็วขึ้น เราคงจะเห็นกันเป็นประจำในทุกวันนี้ว่าแทบทุกรายการข่าวมักจะมีช่วงที่เอาคลิปหรือกระแสบนโลกออนไลน์มาเล่าทางทีวีกันอีกรอบนึง เลยทำให้บริษัทต้องระวังตัวมากขึ้น จนในที่สุดก็จะเกิดสำนึกทางสังคมที่มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน

แม้จะไม่โดยเต็มใจแต่ออกไปแกมบังคับก็ตาม แต่ความรับผิดชอบทางธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลก็จะต้องพัฒนาตัวเองตามไปด้วย

ถ้าถามว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับใคร ผมว่าไม่มีใครเป็นพิเศษ เพราะเล่มนี้เขียนไว้ตั้งแต่เมื่อ 20ปีที่แล้ว มาอ่านวันนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้น

แต่ถ้าคุณอยากรู้ว่าคนเขียนนี้คาดเดาปัจจุบันไว้เมื่อ 20ปีที่แล้วอย่างไร ผมว่ามันก็น่าสนุกและตื่นเต้นดีที่ได้อ่านและทำให้ทึ่งกับจินตนาการที่แม่นจนไม่น่าเชื่อของผู้เขียน จนผมว่า Don Tapscott นั้นน่าจะเรียกว่าเป็น นอสตราดามุสของเศรษฐกิจดิจิทัลก็ว่าได้

สุดท้ายนี้ไม่ว่าอีก 20ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยจะเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้วล้วนชีวิตก็ต้องล้วนปรับตัวให้อยู่รอดและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นไปอีกจนได้เหมือนที่มันเคยเป็นมาแหละครับ (ยกเว้นว่าจะมีเหตุการณ์ล้างโลกเท่านั้นเอง)

และผมขอร่วมเดาว่าในอีก 20ปีข้างหน้า เมื่อทุกคนมองย้อนกลับมาก็จะแปลกใจกับความเปลี่ยนไปของโลกแน่ๆ ไม่เชื่อลองมองย้อนกลับไป 20ปีก่อนดูซิ อย่างน้อยตีนกาก็ยังไม่เยอะเท่าทุกวันนี้ใช่มั้ยล่ะ

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/