Tag

Jack Welch

Browsing

สรุปหนังสือ เรียน MBA ข้างถนนกับ Jack Welch เล่มนี้จะขอเปลี่ยนมาสรุปแนวใหม่ จากเดิมเคยเล่าแบบปื้ดเดียวยาวๆ มานาน มาตอนนี้เข้าปีใหม่ 2021 ก็จะขอลองมาสรุปเป็นหัวข้อๆ กันบ้าง ถ้าพร้อมแล้วงั้นเรามา go on กันเลยแล้วกันครับ ว่าพออ่านหนังสือเรียน MBA ข้างถนนกับ Jack Welch เล่มนี้จบผมได้ข้อคิดดีๆ อะไรเอาไปต่อยอดใช้กับเรื่องการตลาด ธุรกิจ และชีวิตบ้าง

1. Vision ไม่ใช่ Mission มองให้ออกว่าลูกค้าจ่ายเงินให้เราไปทำไม

มองให้ออกว่าธุรกิจเราสำคัญกับลูกค้าอย่างไร อย่างมองแค่ว่าเราทำงานอะไรให้ลูกค้า แต่ต้องมองให้ทะลุไปถึงว่าลูกค้าใช้สินค้าหรือบริการของเราอย่างไร และนั่นสำคัญอย่างไรต่อลูกค้าเรา เหมือนอย่าง Nielsen ก่อนจะ Transformation พวกเขาสำรวจว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่พวกเขาทำสำคัญอย่างไร ถ้าพวกเขามองแค่ว่าธุรกิจเขาคือการเก็บข้อมูล ทำ Research แล้วก็ออกมาเป็น Report ให้ลูกค้า พวกเขาก็จะพลาดการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เข้ากับยุคใหม่ได้

แต่ Nielsen มองทะลุไปถึงเบื้องหลังว่าแท้จริงแล้วธุรกิจของพวกเขาคือให้ข้อมูลที่สำคัญต่อการทำธุรกิจ ทำให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้นว่าต้องทำอะไรต่อไป เมื่อรู้ว่านี่คือ Vision ของธุรกิจก็ค่อยนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานว่าถ้าวิธีการรวบรวมข้อมูลแบบเดิมไม่ทันยุคสมัย ช้าเกินไป น้อยเกินไป หรือขาดความแม่นยำ ก็จึงนำไปสู่การหาวิธีการใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ นั่นก็คือการก้าวเข้าไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Big Data แต่ก็อย่าลืมว่าทั้งหมดที่ทำเป็นเพียงแค่ Mission เท่านั้น ทำเพื่อให้ตอบ Vision ที่ Nielsen ต้องการจะเป็นและต้องการจะไปครับ

ทีนี้พอผมกลับมาถามตัวเองว่าผมออกจากงานประจำที่มีรายได้ 6 หลักสบายๆ มาทำของตัวเองเล็กๆ ทำไมให้ลำบาก เพราะ Vision ผมเชื่อว่าเราอยากทำให้ลูกค้าฉลาดขึ้นเช่นกัน แต่สิ่งที่จะเป็น Mission ของผมและทีมงานก็คือต้องทำให้ตัวเองฉลาดขึ้นทุกวัน เพราะถ้าเราฉลาดกว่าลูกค้าไม่ได้ เราจะให้คำแนะนำในฐานะ Consults ที่ดีของลูกค้าได้อย่างไร

ดังนั้นกำหนด Vision ของคุณให้ดีก่อนจะลงมือทำอะไรก็ตาม แล้วก็อย่ากำหนด Vision ผิดโดยดูว่าเราทำอะไรอยู่ แต่มองให้ออกว่าลูกค้าจ่ายเงินให้เราไปเพื่ออะไรครับ

2. ผู้บริหารต้องทำตัวเป็นโค้ชไม่ใช่นักเตะ

หลายคนไม่เข้าใจว่าเมื่อเราก้าวขึ้นเป็นหัวหน้างานหรือผู้บริหารเราควรจะต้องเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำงาน ตัวอย่างที่ Jack Welch ยกขึ้นมาคือให้มองดูโค้ชหรือผู้จัดการทีมกีฬาเป็นหลัก พวกเขาจะไม่สามารถลงมาเล่นในสนามด้วยตัวเองเพื่อให้เกมเป็นอย่างที่ต้องการได้ แต่พวกเขาจะเลือกเปลี่ยนตัวผู้เล่น เอาคนที่เล่นได้ไม่ตรงความต้องการออก และใส่คนที่รู้ว่าสามารถเล่นในสิ่งที่โค้ชกำลังต้องการได้

เช่น ถ้าเกมนั้นพวกเขาต้องการตัวเปิดลูกจากเส้นข้างสนาม ก็จะสลับนักเตะแบบนั้นมาแทนคนที่เก่งในการต่อบอล หรือถ้าพวกเขาต้องการเล่นเกมรุกมากกว่าเกมรับ พวกเขาก็จะเติมคนในตำแหน่งนั้นลงไป

นี่คือวิธีการทำงานของคนที่อยู่ในตำแหน่งหัวหน้าหรือผู้บริหารในองค์กร คุณไม่ควรลงมาทำงานด้วยตัวเอง แต่หน้าที่คุณคือหาคนที่ทำงานในแบบที่คุณต้องการได้ใส่ลงไปเพื่อให้เกมดำเนินไปในทิศทางที่คุณต้องการ

3. รู้จัก 5 กลยุทธ์การบริหารงานที่ผู้บริหารมือใหม่ต้องรู้

1. ใส่ใจในลูกน้องให้มากกว่าตัวเอง

จำไว้ว่าลูกน้องต้องมาก่อนเราเสมอ ถ้าทุกคนหิว เราต้องให้ลูกน้องอิ่มท้องก่อน เพราะเขาคือทัพหน้าที่จะต้องออกไปสู้รบทำงานให้กับเรา ถ้าคอมพิวเตอร์ช้า เราต้องดูว่าคอมลูกน้องช้ากว่าเราหรือไม่ ถ้าใช่เปลี่ยนคอมให้เขาก่อน เพราะเขาคือคนสำคัญที่จะทำให้งานเราลุล่วง

2. ผู้บริหารต้องเป็นประธานฝ่ายความหมาย

หมายความว่าเราจะต้องคอยย้ำ Vision หรือ Business Strategy หรือ Goal ของบริษัทลงไปในทุกประโยคการสนทนา ไม่ว่าจะตัดสินใจเรื่องอะไรก็ต้องคอยถามย้ำซ้ำๆ ประจำว่า สิ่งที่เรากำลังจะทำมันสอดคล้องกับเป้าหมายหรือกลยุทธ์ของบริษัทไหม? ถ้าใช่จงอนุมัติอย่างรวดเร็วเพื่อให้งานเดินหน้าตามเป้าที่ตั้งใจ แต่ถ้าไม่ต่อให้แผนการดีแค่ไหนก็ต้องกลับมาทบทวนใหม่โดยไม่ต้องเกรงใจความสนิทใดๆ ทั้งนั้น

การป่าวประกาศเรื่อง Vision หรือ Business Strategy แค่ไม่กี่นาทีตอนงานขึ้นปีใหม่หรืองานเลี้ยงฉลองของบริษัทนั้นไม่เพียงพอ อย่าลืมว่าลูกน้องเราอยู่หน้างานสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 40 ชั่วโมง ดังนั้นถ้าเราต้องการจะผลักเรือลำนี้ให้ไปในทิศทางที่ต้องการ เราก็ต้องพยายามปรับหางเสือเล็กๆ ของทุกคนที่ทำงานให้เราตลอดเวลา เอาขนาดว่าให้พวกเขาซึมซับลงไปในแบบที่ถ้าฝันถึงก็ต้องนึกถึง Vision และ Business Strategy ของเรา

3. กำจัดอุปสรรคที่ขวางทางลูกน้อง

หน้าที่ของหัวหน้าคือการทำให้ลูกน้องสามารถทำงานที่ดีให้เราได้สะดวกที่สุด ถ้ามีอุปสรรคใดๆ เรามีหน้าที่ต้องจัดการเรื่องต่างๆ ออกไป เช่น กฏระเบียบที่หยุมหยิมจากฝ่ายอื่นแต่ไม่เอื้ออำนวยให้การทำงานของลูกน้องเราดีขึ้น หรือเครื่องไม้เครื่องมือที่ช้าเกินไป อินเทอร์เน็ตที่อืดเกินไป เรื่องพวกนี้ต้องรีบจัดการให้รวดเร็วเพื่อทำให้ลูกน้องหรือทีมของเราทำงานได้สะดวกที่สุด

4. แสดงออกถึงยีนใจกว้าง

ถ้าลูกน้องทำดีต้องชมให้ดัง ทำให้คนรับรู้ถึงการกระทำดีในครั้งนั้น แม้การกระทำดีในครั้งนั้นของลูกน้องจะทำให้เราเสียหน้าบ้าง เช่น หัวหน้าหลายคนชอบตามงานลูกน้องโดยยังไม่ทันเช็คอีเมลให้ดีว่าลูกน้องมักจะส่งมาแล้ว หัวหน้าหลายคนมักจะบอกขอโทษเงียบๆ หรือไม่ก็หาเรื่องดุต่อเพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกเสียหน้า แต่ผู้บริหารที่ดีต้องมียีนใจกว้าง กล้าที่จะพูดเสียงดังให้ทุกคนรู้ว่าเป็นความผิดพลาดของเขาเองที่เผลอตำหนิไปโดยไม่ตรวจดูให้รอบคอบ แล้วก็ชื่นชมดังๆ ให้ทุกคนได้ยินถึงความตั้งใจทำงานส่งตามเวลาของพนักงานคนนั้นให้ทุกคนได้รับรู้ครับ เรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่ไม่รู้ทำไมคนเป็นหัวหน้าและผู้บริหารส่วนใหญ่ไม่ยอมทำกัน

5. ทำให้งานเป็นเรื่องสนุก

นี่คือสิ่งที่คนเป็นหัวหน้าและผู้บริหารต่างรู้ว่าการทำออฟฟิศให้มีบรรยากาศที่ดีนั้นสำคัญมาก แต่ผู้บริหารส่วนใหญ่กลับไม่พยายามทำให้การทำงานเป็นเรื่องสนุกอย่างที่ตัวเองรู้และต้องการสักเท่าไหร่ หน้าที่ของผู้บริหารที่ดีคือการสร้างบรรยากาศที่ทำให้ทุกคนอยากตื่นขึ้นมาทำงาน ทำให้การทำงานทุกวันมีความหมาย ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าการทำงานให้ดีขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่สนุกและท้าทาย และทำให้งานนั้นสนุกขนาดว่าต่อให้กลับไปบ้านก็ยังอยากหยิบงานขึ้นมาทำต่อด้วยตัวเอง ไม่ใช่หยิบขึ้นมาทำเพราะต้องทำอย่างกล้ำกลืนฝีนใจครับ

4. ช่วงเปลี่ยนผ่านองค์กร อย่าเปิดให้คนสมัครใจออก แต่จงคัดคนที่ไม่ใช่ออก และเพิ่มเงินเดือนให้คนที่ใช่เป็นแบบอย่าง

ทุกบริษัทในช่วงเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนผ่านนั้นมักจะทำพลาดเรื่องคนอย่างหนึ่ง นั่นก็คือทำโครงการเปิดโอกาสให้คนเก่าได้สมัครใจลาออก เพราะบริษัทคาดหวังว่าคนที่ไม่ใช่นั้นจะลาออกไปด้วยตัวเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วเรามักจะเสียคนเก่งๆ ไปมากในช่วงนี้ ทั้งที่ในการจะเปลี่ยนแปลงองค์กรต้องการคนเก่งๆ มากมาย แต่ที่คนเก่งๆ เลือกออกไปเพราะพวกเขารู้ดีว่าตัวเองมีทางเลือก สามารถหางานใหม่ดีๆ ได้ไม่ยาก แถมยังได้โอกาสโบนัสก้อนโตจากการสมัครใจลาออกอีก แล้วทำไมพวกเขาถึงจะไม่ลาออกล่ะครับ

แต่ในขณะเดียวกันคนที่เลือกอยู่ต่อไม่ลาออกก็ไม่ใช่คนที่ใจอยู่กับองค์กรจริงๆ แต่กลายเป็นคนที่ไม่รู้จะไปไหน ไม่มีที่ไป ออกไปก็ไม่รู้จะทำอะไร คนเหล่านี้จึงเลือกอยู่ต่อในที่เดิมที่คุ้นเคย ทำงานด้วยวิธีการเดิมๆ พยายามเปลี่ยนนิดๆ หน่อยๆ ให้เข้ากับนโยบายใหม่ แต่ในใจนั้นเกิดการต่อต้านวิธีการและนโยบายใหม่ตลอดเวลา

ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริหารควรต้องทำคือการขึ้นเงินเดือนให้คนเก่งๆ คนที่จำเป็นอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งสำคัญ แล้วก็เลือกเอาคนที่ไม่ใช่กับแนวทางใหม่ขององค์กรออกไป ทั้งจะด้วยยื่นข้อเสนอที่ดีให้ออก หรือกดดันให้ออกด้วยการกำหนด KPI ก็ตาม แต่ถ้าทำได้ก็คือเป็นเรื่องดีๆ และวินๆ ทุกฝ่ายนะครับ

เพราะการที่คุณมีคนเก่งมากไปนั้นเป็นปัญหากว่าการมีคนเก่งน้อยไปแน่นอน ถ้าคุณมีคนเก่งในองค์กรคุณจะต่อยอดพวกเขาอย่างไรก็ได้ตามที่คุณคิด แต่ถ้าคุณขาดแคลนคนเก่งการที่คุณคิดอะไรดีๆ แค่ไหน ก็ยากจะเป็นจริงได้เพราะไม่มีใครมาช่วยผลักดันและสานต่อครับ

5. อยากได้มุมมองใหม่ให้ธุรกิจเก่า ต้องเปิดรับคนนอกเข้ามาช่วยมอง

ถ้าอยากได้ไอเดียใหม่ๆ ให้กับธุรกิจเดิมที่อยู่มานาน อย่าเฝ้าแต่ถามหาจากคนในที่ทำงานนั้นมาเป็นสิบๆ ปี แต่จงหาที่ปรึกษาจากข้างนอก หรือเปิดรับคนใหม่ๆ เข้ามาเพื่อดูว่าพวกเขามีมุมองอย่างไรกับสินค้าหรือบริการเดิมที่เราทำอยู่ ยิ่งเอาคนนอกมาได้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งจะได้เห็นถึงแง่มุมใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงเท่านั้น แล้วเราก็ให้คนเก่าที่เก่งอยู่แล้วเป็นคนเอาไปทำ ใช้ความ Expertise ของคนเดิมให้เป็นประโยชน์ครับ

6. Principle of Marketing

ไม่ใช่การใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องมือใหม่ๆ ในการเข้าถึงลูกค้า แต่ยังคงเป็นการนำเสนอสินค้าหรือบริการที่เรามีให้กับคนที่ต้องการ ในเวลาที่ใช่ ด้วยช่องทางที่เขาสะดวก และต้องสื่อสารออกไปอย่างตรงกับใจแต่ละคน นี่ยังคงเป็นแก่นของการตลาดเสมอมาและจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป เครื่องมือต่างๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเพื่อทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถทำได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ

7. Place ที่ดีต้องทำ Profit

หนึ่งใน 4 P ที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือสถานที่ ว่าเราต้องเข้าถึงลูกค้าในช่องทางที่ลูกค้าสะดวกที่สุด หรือครอบคลุมให้หลากหลายมากที่สุดแบบ Omni-channel แต่หนังสือเรียน MBA ข้างถนนกับ Jack Welch กลับให้อีกแง่มุมที่น่าสนใจว่า Place ที่ควรจะเป็นคือ Place ไหนที่จะสร้าง Profit ให้กับเรามากที่สุดต่างหาก เราไม่จำเป็นต้องอยู่ในทุกช่องทางถ้าเราไม่พร้อม แต่ให้เริ่มจากโฟกัสในช่องทางที่สามารถทำให้เราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้มากที่สุด และช่องทางนั้นต้องทำกำไรให้เรามากที่สุดอีกด้วยครับ

ดังนั้นถ้าเขาถึงคนได้มากแต่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ก็อย่าเสียเวลาไป หรือถ้าพยายามมีครบทุกช่องทางแต่ทำให้กำไรติดลบ ก็ลบๆ ช่องทางเหล่านั้นออกไปบ้างเถอะครับ ถ้า Omni-channel แล้วไม่ Omni-profit ตามมา หันมา Focus กับ Place ที่ก่อให้เกิด Profit จะเป็นวิธีการทำธุรกิจที่ฉลาดที่สุดครับ

8. Price ในยุคนี้ต้อง Dynamic ปรับขึ้นลงได้ตาม Context หน้างาน

การตั้งราคาแต่เดิมทีคือการกำหนดราคาที่ตายตัวลงไปเลยว่าเราจะขายของสิ่งนี้เท่าไหร่ แต่ในความเป็นจริงแล้วราคาควรมีขึ้นลงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกับราคาหุ้นหรือทองที่เป็นไปตาม Demand และ Supply

เช่น มีเว็บขายสินค้าแฟชั่นและเครื่องประดับมือสองทางออนไลน์ชื่อ Real Real พวกเขาไม่ได้กำหนดราคาตายตัวแต่ปล่อยให้เป็นเรื่องของ Algorithm ในการช่วยกำหนดราคาที่จะทำให้ขายได้กำไรดีที่สุด ถ้าพวกเขาตั้งราคาเสื้อผ้าชุดนึงไว้ตอนเช้าแล้วเอาลงเว็บไปแล้วพบว่ามีคนเข้ามาดูเยอะแต่ยังไม่มีคนซื้อ พอตอนสายๆ หรือบ่ายๆ พวกเขาอาจจะเริ่มปรับราคาลงมาแบบอัตโนมัติ เพื่อกระตุ้นให้คนที่เคยเข้ามาดูอยากจะตัดสินใจซื้อมากกว่าที่จะเก็บสต๊อกสินค้าไว้ให้ต้นทุนจมต่อไป

แต่ถ้าสินค้าแบบเดียวกันนี้พอโพสปุ๊บขายหมดปั๊บ ก็อาจจะมีการขยับราคาขึ้นในครั้งหน้าหรือชิ้นถัดไปเพราะรู้แล้วว่าตอนนี้มี Demand มากกว่า Supply ครับ

9. Promotion หรือ Communication ต้องมาจาก Data

จาก 4P เดิม Promotion ถูกปรับให้ทันยุคสมัยเป็น 4C แทนที่ด้วย Communication หรือการสื่อสารที่ดีจะทำให้คนอยากได้แทนการใช้โปรโมชั่นลดราคา แต่ในขณะเดียวกันเราจะรู้ได้อย่างไรว่า โปรแบบไหนถึงจะดีที่สุด หรือ Communication อย่างไรถึงจะทำให้คนอยากได้มากที่สุด สิ่งเดียวที่จะช่วยได้ก็คือการทดสอบหรือการทำ Experiment เพื่อเก็บ Data กลับมาช่วยในการตัดสินใจครับ

เหมือนหนังสือเล่มที่สองของการตลาดวันละตอน Data-Driven Marketing ก็เลือกชื่อภาษาไทยจาก Data ตอนนั้นเรามีหลายตัวเลือกมาแล้วเลือกไม่ถูก ก็หาทดสอบดูว่าชื่อไหนจะทำให้คนอยากได้จนลงชื่อจองมากที่สุดแล้วเอา Data มาเป็นตัวช่วยในการเลือกชื่อ จนพบว่าชื่อที่คนชอบจนยอมจองมากที่สุดก็คือ การตลาดแบบฉลาดใช้ดาต้า ซึ่งเป็นอะไรที่เซอร์ไพรซ์มากครับเพราะชื่อนี้ทั้งผมและ บก. ไม่ได้ชอบและคิดว่าจะใช้ชื่อนี้มาก่อนเลย

ดังนั้นก่อนจะทำโปรไหนหรือ Communication สื่อสารแบบใด ถามตัวเองก่อนว่าเรามีวิธีหา Data มาช่วยตัดสินใจหรือยัง

10. การตลาดที่ดีที่สุดก็คือตัวสินค้าหรือบริการของเรา

หลายคนมัวแต่โฟกัสว่าเราจะทำการตลาดอย่างไร เราจะออกโปรโมชั่นแบบไหนถึงจะทำให้คนอยากได้ แต่ผมบอกเลยว่านั่นคือปลายทาง เพราะสิ่งแรกที่คุณควรทำคือทำสินค้าหรือบริการให้คนอยากได้ด้วยตัวเอง คนอยากบอกต่อด้วยตัวเอง นั่นถึงจะเป็นการตลาดที่ดีที่สุดครับ

มีคนเคยบอกผมว่า ถ้างบการตลาดน้อย ก็ทำทุกอย่างให้เป็น marketing นั่นก็คือการสร้าง Experience ที่ดีกับลูกค้าอยู่ตลอดเวลาที่พวกเขาติดต่อกับเรา นั่นจะทำให้เราไม่ต้องใช้งบ marketing มากแบบคู่แข่งแต่คนจะอยากบอกต่อคนอื่นด้วยตัวเอง และนั่นก็คือการตลาดที่มีพลังมากที่สุดสำหรับผู้บริโภคคนแปลกหน้าที่ยังไม่เคยรู้จักเรามาก่อนครับ

11. ถ้าจ้างคนผิดอย่าเสียเวลาเก็บไว้

การมีคนที่ไม่ใช่กับทีมเข้ามาแค่คนเดียวก็สามารถสร้างบรรยากาศแย่ๆ ขึ้นมาในทีมได้ง่ายๆ แต่ผู้จัดการส่วนใหญ่มักจะเลือกเก็บคนเหล่านั้นไว้เพราะคิดว่าอยากลองให้โอกาสมากกว่านี้ หรืออีกแง่หนึ่งก็คือไม่อยากดูเป็นคนใจร้ายที่ไล่คนออกด้วยตัวเอง แต่จากประสบการณ์ตรงผมบอกได้เต็มปากเลยว่าถ้าคุณคิดแบบนั้นนับว่าผิดมหันต์ครับ

เพราะการที่คุณเก็บคนที่ไม่ใช่ไว้นอกจากจะเป็นการทำร้ายตัวเองแล้วยังเป็นการทำร้ายบรรยากาศภายในทีมงานคุณภาพเยี่ยมของคุณด้วย แถมที่สำคัญกว่านั้นคุณยังทำให้คนที่ไม่ใช่คนนั้นเสียเวลาชีวิตโดยไม่จำเป็น สิ่งที่คุณควรทำคือพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาว่าเขาไม่ใช่ในสิ่งที่คุณคาดหวังอย่างไร จากนั้นก็ช่วยหางานใหม่ที่ใช่กว่าให้กับเขา หรือไม่ถ้าหาไม่ได้ก็ต้องให้เขาออกอย่างตรงไปตรงมา นั่นหมายถึงการชดเชยที่ถูกต้องตามที่เขาควรจะได้รับด้วย

เชื่อผมเถอะว่าการไล่คนออกแรๆ นั้นยาก แต่พอลองดูสักคนคุณจะรู้ว่าการให้เขาออกจากทีมไปถือเป็นการปฏิบัติที่ให้เกียรติเขามากที่สุด

ผมเคยให้น้องคนนึงออกหลังจากทำงานได้เพียงแค่เดือนเดียว เพราะรู้แล้วว่าเขาถ่วงทุกคนในทีมเพราะไม่สามารถทำตามที่ผมคาดหวังได้ จึงต้องให้ทุกคนเข้ามาช่วย และงานของทุกคนที่คนลื่นไหลก็สะดุดลงมาก ผมเลยคุยตรงๆ ว่าเขาไม่สามารถทำตามที่ผมต้องการได้ ผมเลยเสนอทางออกด้วยการช่วยให้เขาได้งานใหม่ที่ต้องการ เมื่อผมให้เขาออกไป

ทุกวันนี้น้องคนนั้นมีความสุขกับงานใหม่ที่ใช่กับตัวเองมาก ล่าสุดเรายังนัดรวมตัวอดีตทีมลูกน้องผมกินข้าวรับปีใหม่กัน เราคุยกันแบบพี่น้องจริงๆ โดยไม่มีเรื่องงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมเล่าเรื่องงานที่ทำให้เขาฟัง เขาก็ปรึกษาเรื่องงานปัจจุบันกับผม

ถ้าตอนนั้นผมตัดสินใจกลัวเป็นคนผิด ไม่กล้าให้น้องเขาออก ป่านนี้ผมกับเขาคงจะอยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก หรือสุดท้ายฝืนไปสักพักก็ต้องให้ออกและก็จะยิ่งเกลียดกันมองหน้าไม่ติด ผมมองว่าการมีรับลูกน้องมาร่วมทีมก็เหมือนเลือกแฟน ถ้ารู้ว่าไปด้วยกันไม่ได้แต่แรกก็ให้แยกทางกันทันทีที่รู้แน่แล้วก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกันในระยะยาวดีกว่า

12. จงใช้เวลาของคุณไปกับคนเก่ง หรือคนที่พร้อมจะเก่ง

ผู้บริหารส่วนมากมักเสียเวลาไปกับงานที่ไม่จำเป็น หรือโดยเฉพาะกับคนที่ไม่จำให้งานก้าวหน้าขึ้น คนเหล่านี้มักจะชอบบ่นหรือชอบมีปัญหา คนเหล่านี้จะชอบดึงเวลาที่เป็นทรัพยากรอันมีค่าอันน้อยนิดไปจากชีวิตเรา ผู้บริหารที่เก่งต้องรู้จักตัดคนที่ชอบดึงเวลาของเราออกไปให้เป็น และเอาเวลาที่มีไปทุ่มเทให้กับคนเก่งในทีม หรือคนที่พร้อมจะเก่ง เพราะคุณจะสบายขึ้นในวันหน้าเมื่อพวกเขาเก่งยิ่งๆ ขึ้นไป

เปรียบได้กับการเลือกรดน้ำพรวนดิน ถ้าคุณรู้ว่าที่ตรงนั้นไม่ดี เมล็ดพันธุ์ก็ไม่ดี แล้วคุณจะยังเสียเวลาไปพยายามทำในสิ่งที่มันยากและไม่คุ้มค่าไปทำไม สู้คุณเอาเวลาไปรดน้ำพรวนดินให้กับเมล็ดพันธุ์ที่ดีและดินที่ดีจะดีกว่า เมล็ดพันธุ์นั้นจะกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ผลิดอกออกผลให้คุณได้อิ่มท้องสบายในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน

13. Area of Destiney

จงหางานที่ถูกลิขิตในชีวิตคุณให้เจอ ผมว่าข้อนี้คล้ายๆ ikigai นั่นก็คือรู้ว่าเราเก่งอะไรจริงๆ จากนั้นก็รู้ว่าจริงๆ แล้วเราอยากทำอะไร แล้วก็ลองเอามาดูว่าสิ่งที่เราเก่งสามารถเอามาใช้อะไรกับสิ่งที่เราชอบได้ แล้วเราจะได้ทำงานอย่างมีความสุขไปตลอดชีวิตครับ

เช่น ถ้าคนๆ หนึ่งเก่งเรื่องการเขียนโปรแกรมมากๆ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็รักในเสียงดนตรีมาก เขาอาจจะไม่ได้ไปเป็นนักดนตรีเพราะไม่สามารถเล่นให้เก่งพอจนเลี้ยงชีพได้ แต่เขาสามารถเอาทักษะความเก่งเรื่องการเขียนโปรแกรมไปสร้างแพลตฟอร์มให้นักดนตรีได้มาเจอกับคนฟัง หรือสร้างโปรแกรมช่วยคัดเลือกเพลงดีๆ สำหรับคนฟังเพลงได้ หรืออาจจะสร้างเครื่องมือที่ทำให้นักดนตรีทำเพลงได้ง่ายขึ้น หรือทำให้ใครๆ ก็สามารถสร้างเพลงของตัวเองได้แบง่ายๆ

นี่แหละครับ Area of Destiney หรือการค้นหาสิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้วในชีวิตเราให้เจอ

และนี่ก็เป็นสรุปประเด็นสำคัญทั้ง 13+5 ข้อจากหนังสือเรียน MBA ข้างถนนกับ Jack Welch หนังสือที่อ่านจบเล่มสุดท้ายของปี 2020 หนังสือเล่มนี้ผมแนะนำให้คนที่เป็นหัวหน้างาน ผู้บริหาร และเจ้าของธุรกิจต้องอ่าน เพราะธุรกิจคุณจะสำเร็จได้ไม่ใช่เพราะคุณลงมือทำ แต่เพราะคุณรู้จักบริหารจัดการคนที่ลงมือทำงานให้กับคุณต่างหาก พวกเขาต่างหากที่จะทำให้ธุรกิจคุณประสบความสำเร็จ ไม่ใช่คุณครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 50 ของปี 2020

สรุป 13+5 ข้อคิดที่ได้จากหนังสือ เรียน MBA ข้างถนนกับ Jack Welch หรือ The Real-Life MBA ฉบับภาษาไทย สำนักพิมพ์ We Learn

สรุปหนังสือ เรียน MBA ข้างถนนกับ Jack Welch
The Real-Life MBA ฉบับแปลไทย
13 บทเรียนจากประสบการณ์ตรงของ CEO ที่ได้ชื่อว่าเป็น “พ่อมดด้านการบริหาร”
Jack Welch และ Suzy Welch เขียน
อัญชลี ชัยชนะวิจิตร แปล
สำนักพิมพ์ We Learn

20201209

อ่านสรุปหนังสือแนวธุรกิจในอ่านแล้วเล่าต่อ > https://www.summaread.net/category/business/

สั่งซื้อหนังสือ เรียน MBA ข้างถนนกับ Jack Welch > http://bit.ly/35hwuOX

โดย Cynthia A. Montgomery เป็นผู้สอนในหลักสูตรยอดนิยมของ Harvard Business School ที่มีชื่อว่า EOP ย่อมาจาก Entrepreneur, Owner และ President ผู้เรียนส่วนใหญ่เลยเป็นบรรดา CEO ผู้บริหารระดับสูง เจ้าของธุรกิจ หรือไม่ก็ทายาทที่กำลังจะมารับช่วงต่อ จากบริษัทระดับกลางที่มีรายได้หรือยอดขายต่อปีอยู่ที่หลักสิบล้านดอลลาร์ จนถึงพันล้านดอลลาร์

เราอาจจะคิดว่าคนเหล่านี้ต้องรู้จักและเข้าใจในเรื่องกลยุทธ์ หรือ strategy เป็นอย่างดีอยู่แล้วซิ ไม่งั้นจะสามารถพาบริษัทให้โตจนมียอดขายต่อปีหลายสิบจนถึงพันล้านดอลลาร์ได้หรอ

แต่ในความเป็นจริงแล้วใช่ครับ เพราะผู้เขียนบอกว่าคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจถึงการคิดแบบนักวางกลยุทธ์อย่างแท้จริง และงานการวางกลยุทธ์ส่วนใหญ่ก็กลับเป็นของที่ปรึกษา หาใช่เจ้าของ ผู้บริหาร หรือ CEO เป็นคนคิดและทำเองไม่

จนทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าบรรดาเทคนิคทั้งหลายในเรื่องการสร้างยอดขาย หรือการจัดการชั้นเยี่ยมนั้นคือกลยุทธ์ไป ทั้งที่ความจริงแล้วหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้ผมเข้าใจความหมายของคำว่า “กลยุทธ์” มากขึ้นอีก

ก่อนจะมี “กลยุทธ์” ก็ต้องมี “จุดมุ่งหมาย” เสียก่อน เหมือนอยู่ดีๆเราคงไม่ขับรถออกจากบ้าน หรือเรียกแท็กซี่ Uber แล้วบอกว่า “ไปไหนก็ได้” กันใช่มั้ยครับ

เราต้องกำหนดจุดมุ่งหมายหรือสิ่งที่เราอยากจะเป็นอยากจะไปก่อนว่าคืออะไร แล้วจึงค่อยหา “ทาง” ที่จะไปให้ถึงจุดนั้น นั่นจึงเป็นที่มาของ “กลยุทธ์” เพื่อพาไปให้ถึงจุดมุ่งหมาย

ในเล่มมีเรื่องราวของกลยุทธ์จากหลายบริษัทระดับโลกที่น่าสนใจ อย่าง IKEA, GUCCI, Brighton, APPLE และ GE จริงๆก็ยังมีอีกแต่ผมจะขอสรุปสั้นๆเกี่ยวกับบางเคสที่ผมเห็นว่าน่าสนใจแล้วกันนะครับ

GUCCI จากแบรนด์หรูเกินเอื้อม กลายเป็นแบรนด์แฟชั่นที่เอื้อมถึงได้

จากเดิมในอดีตกุชชีเคยถูกวางอยู่ในตำแหน่งเดียวกับ Hermes ที่เป็นสินค้าคุณภาพสูงในราคาที่สูงตามไปด้วย เป้าหมายของแบรนด์พวกนี้คือแค่มีชิ้นเดียวก็หรูแล้ว

ในอดีตเมื่อเริ่มก่อตั้ง Gucci สามารถทำได้และก็ทำได้ดีซะด้วย จนกระทั่งผู้ก่อตั้งตายและธุรกิจถูกส่งต่อให้รุ่นที่สองก็คือลูก และการตัดสินใจที่ผิดพลาดของรุ่นลูกก็เริ่มขึ้นด้วยการเอาชื่อแบรนด์ไปขายลิขสิทธิ์ให้กับสินค้าต่างๆมากมาย

จากกระเป๋าหนังคุณภาพสูงภาพลักษณ์หรูหราราคาแพงตรา Gucci กลายมาเป็นกระดาษทิชชู่ที่มีโลโก้ของ Gucci ติด ในที่สุดแบรนด์ก็วิกฤตด้วยภาพลักษณ์ที่ถูกกระจายขายออกไปเพื่อโกยเงินจนทำให้ลูกค้าที่เคยเป็นหญิงผู้สูงศักดิ์ไม่ซื้อกุชชีราคาแพงอีกต่อไป

และก็เป็นตอนที่ Domenico De Sole เข้ามารับหน้าที่ CEO ให้กับกุชชี และเปลี่ยนกลยุทธ์ของแบรนด์จากเดิมที่เคยวางไว้ว่าเป็นสินค้าหรูหราราคาแพง ให้กลายเป็นสินค้าแฟชั่นคุณภาพดีราคาปานกลางในระดับเดียวกับ Louis Vitton และ Prada

กลยุทธ์นี้ De Sole ไม่ได้มโนขึ้นมาเองแต่ได้มาจากการทำความเข้าใจตลาด ณ ปัจจุบันในตอนนั้น ที่พบว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของกุชชี่มักจะเข้ามาซื้อสินค้าไม่กี่แบบตามฤดูกาล นั่นหมายความว่ากุชชีกลายเป็นที่นิยมของกลุ่มแฟชั่นที่ไม่ได้ต้องการของคุณภาพสูงอีกต่อไป แต่ต้องการของแฟชั่นสวยงามที่พอเบื่อก็ซื้อใหม่ได้ไม่ยาก ด้วยกลยุทธ์นี้เองที่ทำให้กุชชี่ที่เคยติดบัญชีตัวแดงกลายเป็นตัวเขียว และทำให้มูลค่ากุชชีที่เคยพยายามขายบริษัทตัวเองให้กับกลุ่ม LVHM (หลุยส์ วิตตอง) ในราคาแค่ 400 ล้านดอลลาร์และถูกปฏิเสธในช่วงกลางทศวรรษ 1990 กลายเป็น 8,000-9,000 ล้านดอลลาร์ในปี 1999 ที่ทาง LHVM เองติดต่อเข้ามาขอซื้ออีกครั้ง

กุชชีเลือกที่จะเป็นสินค้าแฟชั่นราคาปานกลาง แทนที่จะรักษาความเป็นสินค้าสูงส่งราคาแพงทิ้งไปอย่างไม่ใยดี เพราะกลยุทธ์ที่ดีต้องชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องทำ และอะไรคือสิ่งที่ไม่ต้องทำ กุชชีไม่ได้เหมารวมจะเอาทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่อย่างนั้นกุชชีวันนี้อาจจะเหลือแค่ชื่อไปแล้วก็ได้

GE อะไรที่ไม่จำเป็นก็ทิ้งไป

ผู้บริหารและนักธุรกิจหลายคนคงรู้จักและคุ้นชื่อ Jack Welch เป็นอย่างดี เพราะเค้าเขียนหนังสือตำราการบริหารจัดการองค์กรระดับใหญ่มากมาย

ในช่วงที่ Jack Welch เข้ามากุมบังเหียนเป็น CEO ของบริษัทระดับโลกอย่าง GE นั้น เค้าได้ขายกิจการในเครือออกไปมากกว่า 200 บริษัท และซื้อบริษัทเข้ามากว่า 370 บริษัท

ทั้งหมดนี้เพราะเค้าอยากวางมือจากอุตสาหกรรมที่มีสภาพตลาดเลวร้าย และเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของ GE ทั้งหมด เราจะเห็นว่าแม้แต่สุดยอดผู้บริหารระดับโลกอย่างเค้ายังยอมรับความเป็นจริงของธรรมชาติในบางธุรกิจที่ไม่ควรเสียเวลา และรู้ว่าธุรกิจหรือตลาดไหนที่ควรทุ่มเทเวลาให้

ถ้า GE ยังเหมาหมดตัดไม่ลง Jack Welch คงไม่ได้เป็นปรมาจารย์ของผู้บริหารทั่วโลกอย่างทุกวันนี้

สุดท้าย Brighton ลูกค้าที่สำคัญที่สุดคือคนขายไม่ใช่คนซื้อ

Brighton Collectibles เป็นแบรนด์เครื่องประดับสำหรับชายและหญิงในราคาปานกลาง คือมีตั้งแต่ 55 ดอลลาร์ไปจนถึง 350 ดอลลาร์ในอเมริกา กำหนดกลยุทธ์ของบริษัทอย่างชัดเจนว่าถ้าอยากจะให้บริษัทเติบโตในระยะยาว “คนขาย” ทั้งหลายคือลูกค้าที่สำคัญที่สุด

เพราะในธุรกิจนี้ลูกค้าจะเข้ามาหาเครื่องประดับซักชิ้นในร้านค้าที่เต็มไปด้วยเครื่องประดับมากมายหลายแบรนด์ โดยคนที่คนซื้อจะขอคำแนะนำก็คือคนขายนั่นเอง เพราะของพวกนี้ไม่ใช่ของที่ผู้ซื้อจะมาซื้อบ่อยๆแลมีความรู้มากนัก ดังนั้นจึงต้องขอคำแนะนำจากคนขายเป็นประจำ คนขายเลยมีอำนาจในการโน้มน้าวคนซื้อมากที่สุด

แต่ก็จะมีปัญหาที่ตามมาคือการตัดราคาระหว่างร้าน ทาง Brighton เลยหาทางป้องกันด้วยการกำหนดราคาขายขั้นต่ำเพื่อไม่ให้ตัดราคากันเอง และที่สำคัญคือการเพิ่มแบบของสินค้าให้แตกต่างกัน จากปกติเครื่องประดับทั่วไปแบรนด์นึงจะมีไม่กี่แบบ แต่จะเน้นที่การผลิตในปริมาณมากเพื่อเพิ่มกำไร

แต่ทาง Brighton กลับทำในสิ่งที่ต่างไปคือเพิ่มแบบของสินค้าให้มาก แต่ผลิตจำนวนน้อย เพื่อให้แต่ละร้านมีสินค้าที่แตกต่างกัน ดังนั้นการตัดราคากันก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป

จุดมุ่งหมายที่ดีคือการปักธง โดยบอกว่า “เราจะทำ x ไม่ใช่ y” “เราจะทำสิ่งนี้ ไม่ใช่สิ่งนั้น”

ไมเคิล พอร์เตอร์ บอกว่านี่คือการตัดสินใจแบบได้อย่างเสียอย่าง เราต้องยอมปล่อยวางบางอย่างเพื่อทำบางอย่างให้ดีขึ้น บริษัทที่ไม่เลือกสักทาง อาจลงเอยโดยที่ไม่ได้อะไรเลย เพราะพวกเขาไม่มีสิ่งที่แตกต่างจากคู่แข่ง จุดมุ่งหมายเหมือนกลยุทธ์ตรงที่มันเป็นเรื่องของการเลือก และการเลือกย่อมมีแง่มุมที่ได้ และ แง่มุมที่เสีย

และแต่ไหนแต่ไรมา ไมเคิล พอร์เตอร์ บอกว่าโดยทั่วไปแล้วกลยุทธ์แบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่

การเป็นผู้ผลิตต้นทุนต่ำ

การเป็นผู้เล่นที่แตกต่างซึ่งเสนอผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนใครในราคาสูง

และการมุ่งจับตลาดที่เฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ โดยจะเป็นผู้ผลิตต้นทุนสูงหรือต้นทุนต่ำก็ได้

การแบ่งประเภทกลยุทธ์ดังกล่าวช่วยให้นักวางกลยุทธ์มีกรอบเบื้องต้นในการหาคำตอบว่าบริษัทจะเพิ่มคุณค่าอย่างไร และจะทำหรือไม่ทำสิ่งใด

มีเรื่องเล่าเรื่องนึงของนักเขียนหนังสือชื่อดังอย่าง มาร์ก ทเวน เล่าเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งบรรณาธิการของมาร์ก ทเวน ขอให้เค้าเขียนเรื่องสั้นความยาว 2 หน้ากระดาษภายใน 2 วัน ทเวนตอบไปว่า “2 หน้าใน 2 วันทำไม่ได้หรอก ทำได้แต่ 30 หน้าใน 2 วัน จะให้เขียน 2 หน้าต้องขอเวลา 30 วัน”

นี่คือเรื่องเดียวกับที่ว่าทำไมการกำหนดจุดมุ่งหมายและข้อความกลยุทธ์ให้สั้นกระชับ ได้ใจความสำคัญไม่เยิ่นเย้อนั้นถึงต้องใช้เวลา เพราะเรื่องนี้ต้องขัดเกลาให้คมกลมจนเหลือแต่แก่น

เพราะถ้าเราเห็นจุดมุ่งหมายปลายทางร่วมกันไม่ชัด กลยุทธ์เส้นทางที่จะพาไปสู่ปลายทางนั้นก็จะไม่เกิดผลที่ต้องการ พาลเสียทั้งเวลา และก็เสียโอกาสในธุรกิจมากมาย

ถ้าคุณเป็นเจ้าของกิจการเริ่มจากการกำหนดว่าสิ่งที่เราอยากจะเป็นคืออะไร และอะไรคือสิ่งที่เราควรทำ และสิ่งที่เราไม่ควรทำให้ชัดเจนนะครับ ผมรู้ว่าการเพิ่มเข้าไปน่ะง่าย แต่การตัดใจยอมตัดออกนั้นยาก สู้ๆนะครับ ผมเอาใจช่วย

อ่านเมื่อปี 2017