Tag

Hermes

Browsing

494 หน้า ที่อัดแน่นเรื่องราวของความหรูหรา จากแบรนด์สุดหรูไปจนถึงห้องเสื้อโอต์ ตูกูร์ ของชนชั้นสูงที่สามัญชนคงไม่มีวันได้ใส่

ตั้งแต่เบื้องหน้าร้านแฟล๊กชิพสุดหรู ไปจนถึงเบื้องหลังจักรเย็บเครื่องหนังโดยแรงงานสาวค่าแรงต่ำในโรงงานประเทศจีน

ตีแผ่ทุกซอกมุมของแบรนด์หรูที่เราคนเมืองเฝ้าใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าของ หนีบกระเป๋าลวดลายดาร์มิเยร์ออกไปกินกาแฟตอนกลางวัน

แท้จริงแล้วเรากำลังจ่ายให้กับอะไรกันแน่?

แล้วความหรูหราคืออะไร?

ฟรังซัวส์ มองเตอเนย์ อดีตประธานของชาแนลประจำยุโรปอธิบายไว้ว่า “อย่างน้อยที่สุดมันต้องไม่มีที่ติ อย่างมากที่สุดมันต้องไม่เหมือนใคร”

ผมว่านี่คือคำนิยามของความหรูหราที่ทำให้ผู้ชายอย่างผมเข้าใจภาพทั้งหมดได้ชัดเจน ธรรมชาติของมนุษย์ล้วนอยากโดดเด่น แตกต่าง หรือเป็นคนสำคัญเสมอ แบรนด์หรูทั้งหลายก็พยายามหยิบยื่นสิ่งนั้นด้วยข้าวของที่เป็นป้ายโฆษณาตัวเราให้คนรอบตัวเข้าใจอย่างที่เราต้องการ

เริ่มที่บรรดาห้องเสื้อโอต์ กูตูร์ ในฝรั่งเศษส่วนใหญ่นั้น แรกเริ่มเดิมทีมาจากการทำเสื้อผ้าแบบเฉพาะบุคคลให้กับชนชั้นสูงเท่านั้น จนมาถึงการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมในประเทศอังกฤษทำให้เกิดชนชั้นกลางมากมายที่ร่ำรวยและมีเงินมากพอ และก็อยากลิ้มลองชีวิตแบบชนชั้นสูงหรือบรรดาขุนนางในยุโรปด้วย

ห้องเสื้อดังๆไม่ว่าจะเป็น ชาแนล หรือ อีฟว์ แซ็ง โลร็อง (Yves Saint Laurent) นั้นแรกเริ่มเดิมทีมาจากการให้บริการบรรดาชนชั้นสูงอย่างขุนนาง จนมาถึงกลุ่มเศรษฐีผู้ร่ำรวยขึ้นมาใหม่ จนกระทั่งบรรดานักธุรกิจเข้ามาปฏิวัติทำให้ “ความหรูหรากลายเป็นประชาธิปไตย” มากขึ้น

เพราะบรรดานักธุรกิจหรือพ่อค้าที่เข้ามาร่วมหุ้นลงทุนกับบรรดานักออกแบบทั้งหลาย ต่างหวังขยายโอกาสเพื่อเข้าถึงกำไรที่มากขึ้น จากเดิมที่เคยเป็นของสั่งทำต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนๆ ก็กลายเป็นโรงงานที่ผลิตสินค้าหรูหราปั๊มตราสัญลักษณ์ของแบรนด์ดังกล่าวลงไป ในราคาที่เอื้อมถึงได้หลายอย่าง และสองสิ่งสำคัญที่ทำให้ความหรูหรากลายเป็นประชาธิปไตยก็คือ “น้ำหอม”​ กับ “เครื่องสำอาง”

เพราะจากสองสิ่งนี้เจ้าของแบรนด์หรือผู้ก่อตั้งดั้งเดิมไม่ใช่คนต้นคิด แต่เป็นบรรดาพ่อค้านายทุนหัวใสที่เข้ามาขอลิขสิทธิ์แบรนด์ไปผลิต หรือมากระตุ้นให้เจ้าของเกิดอยากสร้างน้ำหอมของตัวเองขึ้นมา ที่โด่งดังและขายดีมาหลายสิบปีแล้วก็อย่าง Channel no.5 ที่ โคโค่ ชาแนล เป็นผู้ร่วมเลือกกลิ่นดังกล่าวด้วยตัวเอง ยังคงเป็นน้ำหอมที่ผลิตจากสารสกัดจากธรรมชาติในสัดส่วนที่มากกว่าน้ำหอมอื่นๆของแบรนด์หรูอื่นๆที่ใช้แต่สารเคมีสังเคราะห์แทบจะ 100% แล้ว

ด้วยราคาของน้ำหอมและเครื่องสำอางที่อยู่ในระดับที่เอื้อมถึงได้ ทำให้แบรนด์หรูสามารถเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปได้มากขึ้น แม้วันนี้จะยังไม่มีเงินซื้อเสื้อผ้าชาแนล หรือกระเป๋าถือชาแนล แต่ก็ทำให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงแบรนด์หรูหราได้ไม่ยาก

แล้วความหรูหราเปลี่ยนผ่านจากชุดเสื้อผ้ากลายมาเป็นกระเป๋าถือได้อย่างไร?

ต้องบอกว่าเป็นความอัจฉริยะของนักธุรกิจที่เข้ามาบริหารแบรนด์หรูหราที่ทำให้ความหรูหราลดข้อจำกัดในการเข้าถึงไปอีก จากเดิมเสื้อผ้าที่เคยสั่งตัด หรือผลิตมาเป็นไซส์ต่างๆ

ทำให้เกิดปัญหาการค้างสต็อกและการกระจายสินค้าที่ยากจะจัดการได้ แต่ละคนก็มีรูปร่าง ความสูง ผอมบางต่างกันไป ทำให้เสื้อผ้าบางไซส์ขาด บางขนาดเกิน จนทำให้เกิดปัญหาตามมาในการจัดการ แต่กับกระเป๋าถือนั้นไม่เคยมีปัญหาดังกล่าวเลย เพราะไม่ว่าจะผู้หญิงไซส์ไหนๆก็สามารถถือกระเป๋าใบเดียวกันแล้วสวยได้เหมือนกันหมด

กระเป๋าเลยกลายมาเป็นสินค้าหลักของแบรนด์หรูแทนที่เสื้อผ้าอย่างที่เคยเป็นในอดีต ไม่ว่าจะเป็นแอร์เมสรุ่นเคลลี่หรือเบอร์กิ้น หรือเฟนดิ รุ่นบาแก็ตที่โด่งดัง หรือหลุยส์วิตตองรุ่นต่างๆ ทั้งหมดนี้ทำให้การครอบครองความหรูหราสะดวกขึ้นและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจริงๆ

และเบื้องหลังแบรนด์หรูทั้งหลายก็อย่างที่บอกเกริ่นไว้ตอนเริ่มแล้วว่า ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ทำด้วยช่างฝีมือที่สั่งสมประสบการณ์มายาวนานในยุโรปเหมือนตามคำโฆษณาอีกแล้ว

แต่กระเป๋าหนังหรือเสื้อผ้าสำเร็จรูปของแบรนด์หรูหราต่างๆนั้นถูกผลิตโดยแรงงานราคาถูกในประเทศต่างๆทั่วโลก และแรงงานเหล่านี้ถูกสอนให้ผลิตเครื่องหนังผ่านวีดีโอการสอนที่มีเปิดให้ดูในโรงงาน ในสภาพความเป็นอยู่ที่แสนจะย่ำแย่กับค่าแรงที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน

แต่ก็ยังมีแบรนด์หรูบางแบรนด์จริงๆที่ยังทำโดยช่างฝีมือในยุโรปแท้ๆ อย่างแอร์เมส ที่ผลิตโดยช่างหนึ่งคนต่อหนึ่งใบ ค่อยๆทำบรรจงทีละใบตามคำสั่งซื้อ เพราะกระเป๋าแอร์เมสนั้นต้องทำการสั่งตามความชอบของลูกค้าแต่ละคนว่าจะเอาแบบตะเข็บนอกหรือตะเข็บใน และรายละเอียดอีกมากมาย ผิดกับหลุยส์ วิตตอง หรือแบรนด์อื่นๆที่ในเล่มบอกว่าเป็นการผลิตแบบสายพานเหมือนโรงงาน หนึ่งคนทำหนึ่งอย่างแล้วส่งต่อไปให้คนอื่นทำต่อ

แต่ใช่ว่าหลุยส์ วิตตอง จะทำแบบนั้นไปทั้งหมด เพราะหลุยส์ วิตตองเองก็ยังมีทีมช่างฝีมือในยุโรปที่ทำสินค้าตามออเดอร์พิเศษของลูกค้าที่พิเศษจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าเดินทาง หรือซองหนังใส่ไม้เทนนิสของนักเทนนิสระดับโลก

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความเป็นเอกสิทธิ์หนึ่งเดียวในโลกที่คุณมั่นใจได้เลยว่าจะไม่มีใครเหมือนคุณ ไม่มีทางที่คุณจะออกไปดินเนอร์ที่ร้านหรูแล้วบังเอิญเจอโต๊ะข้างๆใช้ของเหมือนกับคุณเหมือนคนทั่วๆไป

ฉะนั้นความหรูหรานั้น แท้จริงในวันนี้หาใช่ความปราณีตเหมือนเช่นวันวานอีกต่อไป ส่วนใหญ่ความหรูหราที่เราหาซื้อกันได้ก็คือสินค้าจากโรงงานการผลิตที่มีมูลค่าหลักๆอยู่ที่ตัวแบรนด์เป็นหลัก

เดิมความหรูหราคือความแตกต่าง พิเศษ และมีไม่เหมือนใคร แต่มาวันนี้ในบางสังคมโดยเฉพาะสังคมเมืองกับกลายเป็นว่าใครไม่มีกลายเป็นแตกต่าง

ไม่ได้บอกว่าผิดถ้าคุณจะชอบและอยากทุ่มเทเงินให้กับความชอบของคุณ เพียงแค่หนังสือเล่มนี้อยากให้คุณรู้ว่าความหรูหราทั้งหลายที่คุณจ่าย หรือตำนานที่มาที่ไปของแต่ละแบรนด์ แล้วคุณจะเข้าใจในสิ่งที่คุณต้องการมากขึ้น

บางทีคุณอาจจะเห็นคุณค่าของกระเป๋าหนังซักใบที่คุณมีมากขึ้น และรักมันมากขึ้นก็ได้
ขอให้มีความสุขครับ

อ่านแล้วเล่า Deluxe
“How Luxury Lost its Luster”
ความหรูหรา สูญสิ้นมนต์เสน่ห์ไปได้อย่างไร

Dana Thomas เขียน
โสภาพร คอร์ซ แปล
สำนักพิมพ์ Post Books

เล่มที่ 14 ของปี 2018
20180203

หรือจะเรียกว่าศาสตร์แห่งทวยเทยกรีกและโรมันก็ว่าได้

ถ้าถามว่าน่าสนใจตรงไหนกับเรื่องราวนิยายปรัมปราเพ้อฝันแบบนี้ ก็เพราะมันเป็นความเพ้อฝันของมนุษย์ตั้งแต่หลายพันปีก่อนนี่แหละครับ ผมเลยว่ามันน่าสนุก

ผมอ่านเพื่ออยากรู้จักความคิดของผู้เป็นนักคิดสมัยนั้น ไม่ว่าจะเพลโต อริสโตเติล ไอดิสปิอุส และใครต่อใครอีกหลายคน หลายชื่อคำเรียกเท่ห์ๆของแบรนด์ดังๆที่เราคุ้นหู ก็ไม่ได้ประดิษฐ์คำเหล่านั้นใหม่มาจากไหน แต่เป็นการหยิบชื่อบรรดาเหล่าทวยเทพโบราณเหล่านี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้งต่างหาก

อย่างชื่อ Hermes แบรนด์กระเป๋าแฟชั่นราคาแพงระยับ ก็มาจากชื่อเทพองค์หนึ่งที่เป็นเทพด้านการค้า คนกลาง และขโมย

คอนโดหรูที่ชื่อ Nyx ก็มาจากชื่อเทพราตรีองค์นึงในนี้เหมือนกัน (ความจริงต้องอ่านว่า ไนท์ นะครับ ไม่ใช่ นิกซ์ เพราะต้องอ่านตามแบบลาติน ไม่ใช่แบบอังกฤษ)

ถ้าใครชอบเรื่องราวสนุกๆและน่าสนใจตลอดเล่มแบบไม่ยากและน่าเบื่อ หนังสือเล่มนี้ก็น่าสนใจไม่น้อยเลยครับ

อ่านเมื่อปี 2016