Tag

Empathy

Browsing

หนังสือ Disneyland ทำอะไร ทำไมใครๆ ก็หลงรัก เล่มนี้กำลังกลายเป็นกระแสในหมู่นักอ่านไม่น้อย ผมคิดว่าส่วนหนึ่งด้วยชื่อแบรนด์ Disneyland ที่ใครๆ ก็รู้จัก เลยทำให้หลายคนที่ประทับใจอยากรู้นักว่าแบรนด์นี้มีดีอะไรทำไมใครๆ ก็หลงรักอย่างที่ชื่อหนังสือว่า ซึ่งเมื่ออ่านจบก็พบว่าเวทย์มนต์สำคัญที่ Disneyland มำให้ใครๆ ก็หลงรักคือความเข้าอกเข้าใจเกสต์ (คำเรียกแทนลูกค้าของที่นี่) ที่ Disneyland สอนให้แคสต์ (คำเรียกแทนพนักงาน) นั้นสูงมาก หรือจะเรียกแก่นของสิ่งนี้ว่า Empathy ก็ได้ครับ

Externel Empathy ไม่ใช่แค่เข้าใจ แต่ต้องเข้าให้ถึงใจอีกฝ่าย

เพราะที่ Disneyland นั้นสอนให้พนักงานทุกคนหรือแคสต์ (ที่หมายถึงนักแสดงภายในสวนสนุก) นั้นต้องบริการลูกค้าด้วยหัวใจที่อยากทำให้ลูกค้าหรือเกสต์ที่เข้ามานั้นเต็มไปด้วยช่วงเวลาที่ประทับใจจนลืมไม่ลงที่ได้มาเที่ยวยัง Disneyland ทุกแห่ง

และด้วยความเข้าอกเข้าใจนี้ที่ Disneyland จึงไม่ได้มีบัตรราคาพิเศษสำหรับผู้พิการเหมือนที่อื่น เพราะพวกเขาปฏิบัติต่อลูกค้าหรือเกสต์ทุกคนว่าสำคัญในระดับ VIP ไม่แพ้กัน

ทาง Disneyland จะสอนให้พนักงานลองใช้ชีวิตในสวนสนุกของตัวเองเสมือนเป็นผู้พิการในด้านต่างๆ ให้ลองนั่งรถเข็นทั้งวันดูว่าถ้าตัวเองเป็นผู้พิการที่ต้องนั่งรถเข็นนั้นจะรู้สึกสนุกหรือลำบากถ้าต้องมาเที่ยวที่ Disneyland หรือแม้แต่ให้แคสต์ปิดตาและลองใช้ชีวิตในสวนสนุกดูว่าจะยังสนุกอยู่ไหม

ซึ่งทั้งหมดนี้คือหัวใจของการเข้าอกเข้าใจ หรือที่เรียกว่า Empathy นั่นก็คือเราต้องลองเป็นเขา อยู่ในสถานการณ์แบบเขา จะได้เข้าถึงความคิด เข้าถึงความรู้สึกว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรถ้าถูกปฏิบัติแบบนี้

ฟังดูเหมือนง่ายแต่แท้จริงแล้วนั้นยาก แม้ขั้นตอนปฏิบัติในการทำ Empathy นั้นจะไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน แต่การจะทำให้เสมือนเป็นอีกฝ่ายที่เราอยากรู้และเข้าใจนั้นต้องใช้ความพยายามขั้นสุด

และนั่นก็เลยทำให้ไม่ว่าใครเดินเข้า Disneyland ก็เปรียบเสมือนช่วงเวลาแห่งความสุขดั่งอยู่ในโลกขอองความฝัน เพราะในชีวิตจริงจะไม่สามารถประสบพบเจอเรื่องแบบนี้ได้ พนักงานที่ยิ้มแย้มและให้บริการด้วยหัวใจ ซึ่งพอออกไปนอกสวนสนุกคนส่วนใหญ่ต่างก็ปฏิบัติงานของตัวเองไปเพราะต้องการให้ชีวิตตัวเองสะดวกสบายที่สุดครับ

ดังนั้นใครที่อยู่ในธุรกิจบริการ หรือที่ต้องติดต่อประสานงานกับคน ต้องศึกษาและทำความเข้าใจเรื่อง Empathyให้มากๆ เพราะในวันที่เครื่องจักรกำลังคืบคลานเข้ามาทำงานแทนเราหลายอย่าง ถ้าเราไม่สามารถเข้าใจมนุษย์ด้วยกันได้ดีกว่าเครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติ ก็ไม่รู้ว่าเราจะมีตำแหน่งงานเหลือให้ทำในศตวรรษที่ 21 ไหม

แล้วนอกจากการให้บริการลูกค้าหรือเกสต์ด้วยหัวใจ ทาง Disneyland ก็ยังสอนให้พนักงานมีความ Empathy กับพนักงานด้วยกันไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะลูกค้าจะมีความสุขได้ต้องเริ่มต้นจากพนักงานที่มีความสุข และนั่นก็เลยเป็นอีกหนึ่งแก่นของ Disneyland ทำอะไรทำไมใครๆ ก็หลงรัก ส่วนที่สองครับ

Internel Empathy กันภายใน ใส่ใจด้วยหัวใจไม่ได้เน้นกฏระเบียบปฏิบัติ

ที่ Disneyland นั้นฝึกสอนให้พนักงานหรือแคสต์ทุกคนรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราโดยไม่มีข้อยกเว้นว่าอีกฝ่ายจะเป็นลูกค้า ลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงาน ซึ่งการปฏิบัติงานจะราบรื่นได้ถ้าคนข้างในเข้าใจกันและกัน

เช่น ตอนที่ฝ่ายบริหารพยายามผลักดันเอาตะกร้าใส่สินค้าไว้ในร้านขายของที่ระลึกใน Disneyland เหตุผลแรกก็เพราะพบว่าลูกค้าจะหยุดซื้อของเพิ่มเมื่อข้าวของเต็มมือ แต่ถ้ามีตะกร้าสินค้ามาให้ลูกค้าถือก็จะสามารถใส่ของได้มากกว่าเดิมเยอะมากจนกว่าจะเต็มตะกร้าได้

แน่นอนว่าถ้าบอกแคสต์ภายในร้านให้พยายามบอกลูกค้าให้ใช้ตะกร้ามากขึ้นด้วยเหตุผลนี้ ก็ยากที่แคสต์ในร้านที่งานยุ่งจะแย่อยู่แล้วจะใส่ใจปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทางทีมบริหารเลยมองไปถึงประโยชน์ของอีกฝ่ายว่าเจ้าตะกร้าชิ้นนี้จะสามารถทำให้ชีวิตของแคสต์ภายในร้านของที่ระลึกดีขึ้นได้อย่างไร และนั่นก็ทำให้พบว่าถ้าลูกค้ามีตะกร้าสินค้าที่หยิบจับก็จะไม่ตกหล่นแตกได้ง่ายเหมือนเดิม

นั่นหมายความว่าแคสต์ภายในร้านขายของที่ระลึกก็ไม่ต้องคอยมาเก็บกวาดสินค้าที่ตกหล่นและแตกโดยไม่ตั้งใจ พอบอกเหตุผลกับแคสต์ก็ได้รับการนำไปปฏิบัติโดยดี ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อภาพรวมของยอดขายของที่ระลึกทาง Disneyland แทบจะทันตา ยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนแคสต์ภายในร้านก็ไม่ต้องคอยเก็บกวาดเช็ดถูของที่ตกหล่นและแตกอยู่บ่อยๆ

เป็นอย่างไรครับกับแนวทางการทำ Internal Empathy ภายในองค์กร ที่แค่เข้าให้ถึงใจของอีกฝ่ายว่าสิ่งที่เราต้องการจะเป็นประโยชน์ต่อเขาได้อย่างไร เมื่อสามารถหาจุดที่ทุกฝ่ายวินวินร่วมกันได้ที่เหลือก็ไม่ยาก ดังนั้นถ้าใครอยากผลักดันเรื่องใดในองค์กรให้เกิดผลก็ขอให้พยายาม Empathy เข้าอกเข้าใจฝ่ายที่ต้องรับนโยบายไปปฏิบัติว่าเรื่องนี้จะทำให้ชีวิตเราดีขึ้นอย่างไรครับ

หรืออีกเรื่องที่น่าสนใจของการทำ Internal Empathy ก็คือทาง Disneyland จะไม่รีบตำหนิใครถ้าคนนั้นทำเรื่องผิดพลาด แต่จะให้เริ่มจากการถามเหตุผลเบื้องหลังว่าเพราะอะไรถึงผิดพลาดได้

หลายครั้งความผิดพลาดมาจากความไม่ตั้งใจหรือปัจจัยภายนอกที่พนักงานคนนั้นควบคุมไม่ได้ เมื่อพนักงานได้รู้ว่าเราไม่ได้ตั้งใจจะโทษว่าใครผิด แต่ต้องการจะหาทางออกร่วมกันให้กับทุกฝ่าย ผลก็คือพนักงานรู้สึกกล้าแจ้งข้อผิดพลาดที่อยู่ในความรับผิดชอบของตัวเอง และข้อผิดพลาดที่สามารถแก้ไขได้ก็ลดลงไปจนน้อยลงทุกทีครับ

สรุปส่งท้ายของหนังสือ Disneyland ทำอะไรทำไมใครๆ ก็หลงรัก คือการมองเรื่อง Work-life Balance ที่ต่างจากหลายคนมองกัน

ผู้เขียนบอกว่าชีวิตคนเราไม่จำเป็นต้อง Work-life balance หรอก แต่ควรจะใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับจังหวะชีวิตในช่วงนั้นมากกว่า เช่น ถ้าช่วงนี้กำลังรุ่งเรื่องงานแม้งานจะเยอะหรือหนักหน่อยก็อยากให้สนุกและเอนจอยกับการทำงานเข้าไว้ เพราะไม่แน่ว่าในปีหน้าโอกาสที่คุณจะได้ทำงานยากๆ แล้วเกิดการก้าวหน้าในชีวิตอาจไม่มีแบบในปีนี้แล้ว

หรือถ้าจะหันมาโฟกัสกับครอบครัวก็ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าในช่วงจังหวะนั้นของชีวิตเหมาะสมที่คุณควรจะต้องหันมาโฟกัสแล้ว

ดังนั้นจะเห็นว่าชีวิตแบบนี้ไม่ได้มี Balance แต่เลือกที่จะปรับน้ำหนักการให้ความสำคัญแตกต่างกันไปตามบริบทของชีวิตแต่ละคนที่ต่างไป

พออ่านจบแบบนี้ก็เลยเข้าใจแล้วว่าทำไม Disneyland ทำอะไร ทำไมใครๆ ก็หลงรัก ส่วนตัวผมเป็นหนึ่งคนที่พลาดไม่ได้ถ้าได้ไปเที่ยวประเทศดิสนีย์แลนด์ เพราะรู้สึกว่าทุกครั้งที่เดินเข้าไปเราไม่ใช่แค่เด็ก แต่เราสามารถปลดปล่อยชีวิตให้สนุกและสุขตามจินตนาการได้ทุกครั้งไปครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 37 ของปี 2020

สรุปหนังสือ Disneyland ทำอะไร ทำไมใครๆ ก็หลงรัก
ความลับจากคู่มือฝึกอบรมของดิสนีย์แลนด์ ที่ใช้ฝึกฝนพนักงานมาแล้วกว่าหนึ่งแสนคน
ซากุราอิ เอริโกะ เขียน
ภัทรวรรณ ศรประพันธ์ แปล
สำนักพิมพ์ WE LEARN

20200929

อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ต่อ > https://www.summaread.net/?s=disney

สนใจสั่งซื้อออนไลน์ > https://bit.ly/2HW5WKb

อีกหนึ่งหนังสือที่ผมชอบและอยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่าน แม้คุณจะไม่ได้ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์ ต้องใช้ไอเดียเป็นประจำ หรือเป็นนักสร้างนวัตกรรมอะไรก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วนต้องการเหมือนกันก็คือ “เราจะทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานอย่างไร” หนังสือเล่มนี้มีแนวทางให้คุณอ่านแล้วเอาไปประยุกต์ใช้ตามหน้างานในแต่ละวันครับ

เมื่อพูดถึงคำว่า “ความคิดสร้างสรรค์” คำนี้อาจฟังดูเป็นเรื่องยาก แต่ผมอยากจะบอกความลับให้คุณรู้ว่าไม่ว่าใครก็มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อได้ ขอแค่เพียงเข้าใจหลักการ อยู่ในสถาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพียงเท่านี้ความคิดสร้างสรรค์ก็บรรเจิดได้ทุกคน เพราะความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เป็นแค่พรสวรรค์ของใครบางคนอย่างที่เราเชื่อกันครับ

ผู้เขียน คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่ง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Design Thinking เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างนวัตกรรม หรือเรียกเป็นภาษาฝรั่งเท่ห์ๆว่า Innovation ว่าคนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดคิดไปว่า innovation คือ technology ไม่ว่าจะ ai, blockchain, machine learning, mobile application หรืออะไรก็ตามที่มันฟังดูล้ำๆ แต่แท้จริงแล้ว innovation หรือนวัตกรรมนั้นในหัวใจสำคัญอยู่ที่ Empathy หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “ความเห็นอกเห็นใจ” หรือ “ความเข้าใจ” นั่นเอง

อย่างเรื่องของรถไฟ Eurostar ที่โด่งดังของยุโรป ที่วิ่งจากลอนดอนไปปารีส แถมยังวิ่งลอดอุโมงค์ใต้แม่น้ำด้วยความเร็วสูง สูงจนจากการเดินทางปกติใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือค่อนวัน สามารถย่นย่อเวลาเหลือแค่ 3 ชั่วโมงได้ตั้งแต่เมื่อสิบปีกว่าก่อน

แต่รัฐบาลได้ยินเสียงคนบ่นว่า “ช้า” อยากให้ถึงเร็วกว่านี้ ทางรัฐบาลก็เลยเร่งลงทุนปรับปรุงแก้ไขทั้งตัวรางและตัวรถไฟ เปลี่ยนหัวจักรใหม่ให้เร็วขึ้น ใช้เงินลงทุนไปกว่า 6,000,000,000 ยูโร ตีเป็นเงินไทยก็สองแสนล้านหน่อยๆเองครับ

ผลที่ได้คือรถไฟ Eurostar เร็วขึ้นถึง 20% จาก 3 ชั่วโมงเหลือแค่ 2 ชั่วโมง 20 นาที และประชาชนก็บ่นน้อยลง รัฐบาลก็มีความสุขมากขึ้น

แต่รู้มั้ยครับว่ามีชายคนหนึ่งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการโฆษณาประเทศอังกฤษที่ชื่อ Rosy Sutherland บอกว่า บางทีการที่คนบ่นว่าช้าอาจหมายถึง “ความน่าเบื่อ” ไม่ใช่เวลา 3 ชั่วโมงก็ได้

เค้าเสนอไว้ผ่าน Ted Talks ว่า ถ้าเขาเป็นคนแก้ปัญหานี้ เค้าจะเอานางแบบนายแบบมาเดินเสริฟไวน์ให้กับผู้โดยสารบนรถไฟ ทำให้ 3 ชั่วโมงนั้นกลายเป็นช่วงเวลาความสุขที่ไม่อยากให้หมดไป อาจจะถึงขั้นอยากให้รถวิ่งช้าลงซักนิดเพื่อเพิ่มเวลาความสุขบนรถไฟด้วยซ้ำ

นี่แหละครับคือการคิดแบบสร้างสรรค์ คิดแบบนักนวัตกรรม ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ “ความเข้าใจ”

เริ่มจากการลองเข้าไปทำความเข้าใจผู้โดยสาร เข้าไปสอบถามความเห็น จนเข้าไปทดลองทำจริงและเก็บผลตอบรับ แล้วปัญหานี้อาจไม่ต้องใช้เงินถึงสองแสนล้านบาทก็เป็นได้ ถ้ารัฐบาลมีคนเป็นนักนวัตกรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ซักหน่อยจริงมั้ยครับ

การจะเข้าอกเข้าใจลูกค้าได้เพียงแค่การทำแบบสำรวจ หรือการสัมภาษณ์นั้นไม่เพียงพอ แต่คุณต้องพาตัวเองเข้าไปในสถานที่นั่น ไปอยู่ในสถานการณ์นั้น เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น หรือพูดง่ายๆก็คือเข้าไปทำตัวเป็นลูกค้าจริงๆนั่นเอง นี่คือเทคนิคขั้นเทพที่เรียกว่า “การแปลงกาย”

เหมือนอย่างที่ Sam Walton ผู้ก่อตั้งห้างสะดวกซื้อที่ใหญ่โตที่สุดในอเมริกาอย่างห้าง Walmart ใช้เป็นหลักในการทำงานของเค้าตลอดการทำงานก็ว่าได้

Sam Walton บอกกับลูกน้องที่เป็นผู้บริหารว่า ภายใน 1 สัปดาห์ ให้ออกไปอยู่กับลูกค้า 4 วัน ส่วนอีกหนึ่งวันที่เหลือถึงเอาไว้ประชุมในออฟฟิตเพื่อให้ทีมเอางานไปทำต่อ

อ่านถึงตรงนี้แล้วลองถามตัวเองว่าคุณใช้เวลากี่วันเพื่อเข้าใจลูกค้าจริงๆในหนึ่งสัปดาห์ คุณส่งลูกน้องออกไปหน้างานมากพอมั้ย หรือเอาแต่นั่งเทียนคิดแทนลูกค้าอยู่หน้าโต๊ะตากแอร์ที่ออฟฟิศครับ

และนวัตกรรมก็ไม่มีสูตรสำเร็จหรือทางลัด ที่แค่ทำตามๆกันแล้วจะเห็นผล แต่การจะทำให้นวัตกรรมเป็นจริงได้ต้องกล้าลองผิดลองถูก ล้มก็ลุก พลาดก็เรียนรู้ อย่าหยุดแค่ล้มเหลว และอย่านั่งนับวันล้มเลิก เพราะทุกอย่างที่นับเป็นนวัตกรรมใหม่ๆอย่างแท้จริงล้วนผ่านความล้มเหลวมาก่อนครับ

กว่าเอดิสันจะค้นพบหลอดไฟที่สามารถใช้งานได้ยาวนานพอ ก็ต้องผ่านความล้มเหลวเป็นพันครั้ง กว่า William Shakespeare จะโด่งดัง ก็แต่งบทประพันธ์เอาไว้เป็นร้อยเป็นพันเรื่อง ส่วนไอ้ที่ดังถึงทุกวันนี้จริงๆนับนิ้วได้เลย

เหมือนที่ไอน์สไตน์บอกว่า คนที่ไม่เคยล้มเหลว คือคนที่ไม่เคยลงมือทำอะไรเลย ดังนั้นถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น ก็จงเพิ่มความล้มเหลวเป็นสองเท่า

อุตสาหกรรมน้ำมันก็เป็นตัวแทนของเรื่องนี้ดี

รู้มั้ยครับว่าบริษัทน้ำมันใหญ่ๆทั้งหลายในโลกนั้นมีจำนวนการล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ เพราะการจะขุดบ่อแล้วเจอน้ำมันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเทคโนโลยีทุกวันนี้ขุดหลุมแรกไม่มีทางเจอแน่นอน ก็ต้องขุดหลุมที่สองสามสี่ต่อไปเรื่อยๆ ว่ากันว่าต้องเจาะถึงสิบหลุมถึงจะเจอน้ำมัน

เห็นมั้ยครับตั้ง 10 ต่อ 1 แต่เค้าก็อดทนเพราะผลลัพธ์ที่ได้นั้นหอมหวานเสียเหลือเกิน ดังนั้นถ้าคุณบอกว่าตัวเองไม่มีทางทำได้ ลองถามตัวเองว่าฉันพยายามมันถึงสิบครั้งแล้วหรือยัง ถ้ายัง ลุกขึ้นไปทำต่อแล้วเรียนรู้จากความผิดพลาดให้มากที่สุดครับ

การผิดพลาดแล้วเรียนรู้นับว่าฉลาด แต่การผิดพลาดแล้วไม่เรียนรู้จนมาผิดพลาดเรื่องเดิมนับว่าโง่ครับ

เพราะสิ่งสำคัญของความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ไอเดีย แต่ขึ้นอยู่กับคน ทัศนคติของคนเท่านั้นที่จะทำให้เรื่องใดๆก็ตามสำเร็จได้ เหมือนที่ Steve Jobs บอกว่า “ถ้าคุณเอาความคิดห่วยๆให้คนดีๆทำ คนดีเหล่านั้นจะทำให้ความคิดห่วยๆกลับกลายเป็นของดีได้”

“แต่ถ้าคุณมีความคิดดีๆ ความคิดที่ยอดเยี่ยม ความคิดที่เปลี่ยนโลกบางอย่างปล่อยให้มันไปอยู่ในน้ำมือของคนห่วยๆ ในเวลาไม่นานความคิดดีๆเหล่านั้นก็จะกลายเป็นของห่วยในที่สุด”

สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่ความคิด แต่เป็นคนที่ลงมือ “ปั้นความคิด” นั้นให้เป็นรูปธรรมต่างหากครับ

และคุณสมบัติของคนที่จะเป็นผู้สร้างนวัตกรรมที่ดีได้มี 2 ข้อ นั่นคือ “อยากรู้อยากเห็น” และ “อดทน กัดไม่ปล่อย”

ความอยากรู้อยากเห็นทำให้คุณสงสัยไปเสียทุกเรื่อง ตั้งคำถามไปเสียทุกอย่าง ท้าทายสิ่งคุ้นเคยที่เป็นอยู่ ไม่พอใจกับปัจจุบันจนสามารถมองเห็นปัญหา และเพราะปัญหาคือโอกาส ดังนั้นต้องเริ่มจากมองให้เห็นปัญหาถ้าอยากจะสร้างนวัตกรรมอะไรบางอย่างจริงๆขึ้นมาครับ

และการอดทนกัดไม่ปล่อยก็คือการไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลว เพราะครึ่งแรกคือการเป็นนักคิด นักตั้งคำถาม แต่ครึ่งหลังคือการทำให้ความคิดนั้นเป็นจริง ถ้าล้มทีสองทีแล้วท้อ ร้อยความคิดก็เปลี่ยนโลกไม่ได้ครับ

เรื่องสุดท้ายที่ผมชอบมากอยู่ท้ายเล่ม ขอเล่าปิดท้ายในสรุปหนังสือเล่มนี้ให้ฟังก็แล้วกัน เป็นเรื่องของ “นวัตกรรมของเครื่องดูดฝุ่น” ที่เข้าใจลูกค้าว่าต้องการอะไร โดยไม่ต้องประดิษฐ์อะไรที่ล้ำโลกด้วยเทคโนโลยีใดๆเลย

เรื่องเริ่มจากมีเครื่องดูดฝุ่นชนิดหนึ่งที่สามารถเอาถุงบรรจุฝุ่นไปทิ้งได้โดยไม่ต้องเลอะมือให้สกปรก ทำให้คนใช้ไม่ต้องกังวลเรื่องเครื่องดูดฝุ่นอีกต่อไป

ฟังดูน่าทึ่งแม่บ้านน่าจะชอบ แต่รู้มั้ยครับว่าผลลัพธ์นั้นกลับไม่ดีอย่างที่ขาด ถึงแม้จะสะดวกสบายขนาดนี้แต่กลับไม่เป็นที่ยอมรับของเหล่าแม่บ้านเอาซะเลย เพราะบริษัทนี้ขาดความเข้าใจเหล่าแม่บ้านที่ต้องดูฝุ่นเป็นประจำว่าเค้าอยากเห็นผลลัพธ์จากการดูดฝุ่น อยากเห็นเศษฝุ่นเส้นผมมากมายที่สามารถดูดเข้าไปได้ เพื่อจะได้ภูมิใจกับผลงานของเค้า

แค่นั้นเองครับคือสิ่งที่แม่บ้านต้องการ หาใช่ถุงบรรจุฝุ่นที่มิดชิดมองไม่เห็นเศษฝุ่นใดๆด้านใน จนทำให้เหล่าแม่บ้านไม่แน่ใจว่าตกลงฉันได้ทำความสะอาดมันไปแล้วจริงๆใช่มั้ย บ้านฉันไม่เหลือฝุ่นแล้วใช่มั้ย หรือฉันต้องดูฝุ่นใหม่กันแน่นะ

ผมลองคิดต่อเล่นๆว่าถ้าบริษัทที่ผลิตเครื่องดูดฝุ่นปรับถุงบรรจุฝุ่นให้ใสสามารถมองเห็นเศษฝุ่นข้างในได้เมื่อไหร่ นั่นแหละครับถึงจะเรียกว่านวัตกรรมที่เข้าใจกลุ่มลูกค้าแม่บ้านอย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะภูมิใจกับผลงานของตัวเองแล้ว แต่ยังมือสะอาดไม่เลอะฝุ่นอีกด้วย

เพราะนวัตกรรมไม่เคยเริ่มต้นจากเทคโนโลยี แต่เริ่มจากการไปนั่งอยู่กลางใจของลูกค้า เริ่มต้นที่ “ความเห็นอกเห็นใจ” หรือ Empathy นี่แหละครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 25 ของปี 2019

สรุปหนังสือ เมื่อหัวว่างจึงสร้างสรรค์
ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 3
กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน

20190424

อ่านนวัตกรรมทางความคิดที่ไม่มีวันหมดอายุ

เล่มนี้ได้มาจากงานหนังสือครั้งล่าสุดเมื่อต้นปี สังเกตุเห็นว่ามติชนเริ่มทำหนังสือแนวนี้เพิ่มขึ้นเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านหน้าใหม่ เป็นหนังสือในแนวที่อ่านง่ายๆ เป็นตอนสั้นๆ อ่านฆ่าเวลาก็ดี อ่านเอาเกร็ดความรู้ก็ได้ แต่ที่ผมว่าดีมากก็คือหนังสือแบบนี้แหละที่จะพานักอ่านหน้าใหม่ให้กลายเป็นนักอ่านหลายหน้าในเวลาไม่นาน เพราะผมเองก็เป็นคนนึงที่ไม่เคยคิดอ่านหนังสือ จนมาเจอหนังสือสไตล์นี้ของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ จนกลายมาเป็นหนอนหนังสือคนนึง

เล่าเรื่องของผมเยอะแล้วกลับมาที่หนังสือบ้าง ผู้เขียนใช้หลักคิดแบบ Design Thinking มาสอดแทรกอย่างแนบเนียนในเรื่องเล่าในเล่ม น่าจะเพราะคนเขียนจบทางด้านนี้มาโดยเฉพาะและยังทำงานเป็นนักนวัตกรรมในองค์กรใหญ่อย่าง ปตท. มากกว่า 10 ปี ในหลัก Design Thinking ที่ผู้เขียนพยายามเน้นย้ำมากกว่าหนึ่งครั้งคือหัวข้อ “Empathy” หรือที่แปลเป็นไทยว่า “ความเข้าอกเข้าใจลูกค้า”

ความเข้าอกเข้าใจลูกค้า ก็คือนวัตกรรมที่แท้จริง เพราะนวัตกรรมโดยแท้จริงแล้วไม่ใช่เทคโนโลยี ไม่ใช่ AR ไม่ใช่ 4.0 แต่คือการเข้าอกเข้าใจคนอย่างแท้จริง ยิ่งถ้าเราลองไปเป็นเค้าได้จะยิ่งดี

ผมเล่าเรื่องที่ผู้เขียนยกตัวอย่างให้ฟังในเล่มที่จะทำให้เราเข้าใจว่าความเข้าอกเข้าใจที่แท้จริงคืออะไร..

ณ ริมแม่น้ำแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของไทย(ตรงนี้ผมดัดแปลงเองให้ตัวเองอินขึ้น)

มีบ้านหลังน้อยกับสาววัยกลางคนอาศัยอยู่

นักวิจัย 3 กลุ่มออกสำรวจข้อมูล ด้วยหวังว่าจะสร้าง “นวัตกรรม” ให้คนแถบนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เมื่อนักวิจัยทั้ง 3 กลุ่มได้พบกับหญิงสาวจึงถามว่า

“ที่แถบนี้ต้องการอะไรเพิ่มเติมบ้างเพื่อทำให้ชีวิตคุณดีขึ้น?”

หญิงสาวตอบอย่างไม่ลังเล

“สะพาน”

นักวิจัย “กลุ่มแรก” ดีใจมาก ได้ “ตำตอบ” แล้วจึงรีบกลับไปที่ศูนย์วิจัย

ระดมสมองกันยกใหญ่ “เราจะสร้างสะพานอย่างไรได้บ้าง?”

สะพานคอนกรีต สะพานไม้ สะพานแขวน สะพานเหล็ก หรือสะพานควาย…

สุดท้าย คิดคำนวนแล้วตกลงใจที่จะสร้าง “สะพานแขวน” เป็นของขวัญให้แก่หญิงสาว

นักวิจัยอีก 2 กลุ่ม ยังไม่ได้กลับมาที่ศูนย์วิจัย

ถามต่อ “ทำไมคุณอยากได้สะพานล่ะ?”

“ฉันอยากจะข้ามไปที่ฝั่งนู้น” หญิงสาวตอบ

นักวิจัย “กลุ่มที่ 2” ได้ยินดังนั้น จึงรีบกลับมาที่ศูนย์วิจัย และระดมสมอง “จะข้ามแม่น้ำไปฝั่งนู้นอย่างไรได้บ้าง?”

เรือ แพ เครื่องบิน เจ็ตสกี ชุดว่ายน้ำ…สะพาน

สะพานเป็นเพียงหนึ่งใน “ทางเลือก” แต่ยังไม่ใช่ “คำตอบ”

คำถามเพียงหนึ่งประโยคว่า “ทำไมล่ะ?” ได้เผย “ความเป็นไปได้” อีกมากมายให้แก่หญิงสาว

เอ๊ะ แล้วนักวิจัยกลุ่มสุดท้ายล่ะ เขารออะไรกันอยู่ ยังไม่กลับมาซักที

ครับ พวกเขายังอยู่เพื่อถามหญิงสาวอีกหนึ่งคำถาม “ไม้ตาย”

“ทำไมคุณถึงอยากจะข้ามไปฝั่งนู้นล่ะ?”

หญิงสาวอึ้ง เงียบไปพักนึง พลันตอบด้วยเสียงสะอื้นในลำคอว่า..

“คุณแม่ฉันป่วย ฉันมีงานต้องทำฝั่งนี้ อยากจะไปดูแลท่านให้ได้มากกว่านี้”

นักวิจัยกลุ่มสุดท้ายฟังเช่นนั้นก็กลับมาที่ “ศูนย์วิจัย”

“เราจะทำให้หญิงสาวดูแลครอบครัวที่ห่างไกลได้อย่างไรบ้าง?”

รถพยาบาลเคลื่อนที่ โทรศัพท์เห็นหน้ากัน หุ่นยนต์ดูแลคนชรา กล้องวงจรปิดติดตามตัว

“สะพาน” คงจะไม่ใช่ “คำตอบ” ที่ดีที่สุดอีกต่อไป

เพียงแค่เราเริ่มตั้งคำถามมากขึ้น ถามว่า “ทำไม?” ให้มากขึ้น เราก็จะเข้าใจถึงความต้องการเบื้องลึกของคำตอบเบื้องต้นนั้น

เปรียบกับเวลาทำงาน เวลามีบรีฟมาบอกว่าลูกค้าอยากได้ไวรัล ไวรัล และไวรัล (ผมเชื่อว่าแทบทุกคนที่ทำโฆษณามักจะได้ยินประโยคนี้ไม่น้อยกว่า 3ล้าน8แสนครั้งในแต่ละปี) ผมอยากให้เราลองตั้งคำถามย้อนกลับไปถามให้ลึกขึ้นว่า ทำไม ทำไม และ ทำไม อย่างน้อย 3 ครั้ง แล้วคุณจะเข้าใจเหตุผลของปัญหานั้นมากขึ้น

หนังสือเล่มนึงที่ชื่อว่า..เอ่ออออ จำไม่ได้ว่า Lean Start Up หรือ From Zero to One เหมือนกัน คุ้นๆว่าจะเป็นหนึ่งสองเล่มนี้แหละ พูดถึงการทำงานหรือแก้ปัญหาด้วยการถามว่า “Why” ถึง 5 ครั้งอย่างน้อย เราก็จะเข้าใจถึงต้นตอปัญหานั้น แล้วก็จะแก้ไขมันได้อย่างเด็ดขาด

เพราะ “นวัตกรรม” ทุกอย่างในโลกนี้เริ่มต้นจาก “การเข้าใจผู้ใช้งาน” อย่างแท้จริง

Why I read this book?

ก็ผมว่าหน้าปกมันสวยดีน่ะ 555

อ่านเมื่อปี 2017