Tag

ไทย

Browsing

เป็นหนังสือที่รวบรวมความเชื่อไทยๆที่เข้าใจผิดกันมานาน แถมหลงคิดกันไปเองว่าเป็นของ “ไทย” แท้จริงแล้วกลับไม่ใช่ บ้างก็หยิบของเค้ามาใช้ บ้างก็ยืมของเค้ามาลอก บ้างก็เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ แล้วก็ใส่ป้ายความเป็นไทยลงไปหลอกไทยด้วยกันว่า นี่แหละคือความเป็นไทยแท้ หรือไทยเดิมๆแต่โบร่ำโบราณ

ไทยๆในโลกล้วนอนิจจัง เขียนโดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ หนึ่งในนักเขียนของ the matter ที่เล่าประวัติศาสตร์ที่นอกจากจะแค่ไม่หลับเหมือนตอนเรียน สปช. (ใครทันเรียน สปช. บ้างนะ) แต่ยังสนุกเหมือนดูช่อง 9 การ์ตูนตอนเช้าวันเสาร์ยังไงยังงั้น ขอสรุปสั้นๆย่อๆในบางหัวข้อเพื่อกระตุ้นความจำตัวเองให้เก็บลงในสมองได้ลึกขึ้นแล้วกัน

เริ่มด้วยเรื่องแรกของเล่มกับ..
“ยิ้มสยาม” คือยิ้มให้ใคร แล้ว “สวัสดี” คือคำเก่าไทย หรือว่าใครเพิ่งประดิษฐ์?

ความจริงแล้วเมืองไทยหาใช่เมืองยิ้มให้กับแต่โบร่ำโบราณแต่อย่างไร แต่เพิ่งจะมาได้รับฉายา “ยิ้มสยาม” ก็จากเมื่อฝรั่งมังค่ามาย่ำเมืองไทยในสมัย ร.5 ไปนี่เอง

ด้วยความที่คนไทยมักจะ “ยิ้ม” แบบ “แหยๆ” ให้ฝรั่งทุกครั้ง ก็ด้วยความกลัวและไม่รู้จะทำตัวอย่างไรกับยักษ์หัวทองเหล่านี้ (เมื่อเทียบกับคนไทยส่วนใหญ่มักตัวเล็ก) เลยทำให้ฝรั่งนิยามให้ไทยว่า “สยามเมืองยิ้ม” จนเป็นสโลแกนที่ไทยก็รับมาใช้จนถึงทุกวันนี้

และอีกหนึ่ง “ยิ้ม” ที่ทำให้ไทยกลายเป็นเมือง “ยิ้มสยาม” อีกแรงก็ด้วยการ “ยิ้ม” แบบ “เหยียด” ให้กับชาติไกล้เคียงอย่าง ลาว พม่า เขมร ที่ไทยมองว่าด้อยกว่า ก็เลยเป็นอีกหนึ่งที่มาที่ต่างชาติต่างขนานนามให้ว่า “Land of Smile” นั่นเอง

ส่วนการไหว้นั้นก็เป็นท่ามาจาก “แขก” ที่เรียกว่า “นมัสการมุทรา” ไทยเรารับเอาการไหว้นั้นมาเพื่อไหว้พระ จนเป็นคำติดปากคนแก่คนเฒ่าที่เรามักคุ้นหูว่า “ไหว้พระเถอะหลานเอ้ย”

เพราะแต่ก่อนเราเอามาไหว้พระ เพิ่งจะนำมาปรับใช้ไหว้คนตอนหลังนี่เอง

และส่วนคำว่า “สวัสดี” นั้นก็เอามาจากภาษาสันสกฤต “สวสฺติ” แถมยังใช้แค่กับคนบางกลุ่มในคณะอักษรจุฬา จนไปๆมาๆ จอมพล ป. นายกไทยในสมัยนั้นเกิดได้ยินแล้วถูกหู ก็เลยเอามาประกาศให้เป็นคำทักทายของชาติไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2486

ฉะนั้นคำว่า “สวัสดี” และการ “พนมมือไหว้” ก็ไม่ใช่อะไรที่เป็นไทยแบบ OG อย่างที่เข้าใจกัน

ว่าจะเขียนสรุปนิดเดียวแต่เขียนไปเขียนมากลับยาวซะงั้น ขอปิดท้ายอีกเรื่องด้วยเรื่องสุดท้ายของเล่มก็แล้วกันกับ….ต้นกำเนิด รด. ไทย

รด.ไทย ฝึกไว้ให้ไปรบ แล้วพอสงครามจบ จะฝึกไว้รบกับใคร?

แรกเริ่มเดิมทีมันมาจากการฝึกเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมรบในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จบ ที่ยังไม่ได้เรียกว่า รด แต่เรียกว่า “ยุวชนทหาร” แทน หน้าที่หลักๆก็คือเอาเด็ก 15-17 ปีมาฝึกเพื่อช่วยทหารรบ หรือช่วยในการปฐมพยาบาลให้กับทหารตัวจริง

แต่พอเริ่มฝึกได้ไม่นานไทยก็โดนญี่ปุ่นบุกทางภาคใต้ แต่ก็ได้ยุวชนทหารเหล่านี้แหละที่ช่วยสกัด ตรึงกำลังขอญี่ปุ่นไว้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ จนกระทั่ง..ไทยประกาศร่วมรบกับญี่ปุ่นออกไปหลังจากนั้นไม่กี่วัน เลยทำให้การสู้รบด้วยชีวิตของยุวชนทหารเหล่านั้นกลายเป็นหมัน แต่ออกมาทำเป็นหนังแทนไป

จนสงครามโลกครั้งที่ 2 จบได้ไม่นานการฝึกยุวชนทหารเหล่านี้ก็ถูกยกเลิกไปในปี 2490 เนื่องด้วยงบประมาณถูกตัด แต่ผ่านไปแค่หนึ่งปีโครงการฝึกเดิมก็กลับมาในชื่อใหม่ว่า รด ที่เราคุ้นเคยกันนี่เอง

ด้วยเหตุผลที่ว่า “ความจำเป็น” ที่ต้องเตรียมพร้อมเผื่อจะเกิดสงครามครั้งใหม่ขึ้นมา แต่ก็ไม่รู้ว่า 70 ปีผ่านไปแต่ไหงการฝึก รด ก็ยังคงรูปแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก จนพาลให้สงสัยว่าถ้าจากการฝึกให้เราพร้อมรบตั้งแต่ยังเด็กในวันนี้ กลับไม่พร้อมรบกับสถานการณ์สงครามในปัจจุบันที่พัฒนาไปถึงไหนแล้ว

และทุกวันนี้โลกเรากลับไม่ได้รบด้วยกำลังทหารเช่นอดีตอีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีการสงครามพัฒนาไปมากมายผิดกับเมื่อ 70 กว่าปีก่อน ที่การรบเน้นที่อาวุธอย่างปืน ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า รด ทุกวันนี้คือการเตรียมพร้อมเพื่ออะไร

ถ้าเหตุผลนึงคือการเตรียมพร้อมในด้านวินัยก็อาจจะเข้าใจได้ แต่เหตุผลหลักที่คนเรียน รด ก็คงไม่พ้นเตรียมพร้อมที่จะไม่ต้องเป็นทหาร หรือไม่ต้องออกรบกันหมดแล้วไม่ใช่หรือ?

ยังเหลืออีก 23 บทที่ผมคงหยิบมาสรุปให้ตัวเองอ่านได้ไม่จบในครั้งนี้แน่ๆ แต่ที่แน่ๆหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้ผมได้เข้าใจความเป็นไทยแบบ OG ในหลายเรื่อง ที่ไม่เคยคิดเลยซักนิดว่า “ปั๊ดโถ้ มันไม่ได้ไทยแท้อะไรเลย”

หรือความเป็นจริงแล้ว “ไทยแท้สไตล์ OG” ก็คือการหยิบทุกอย่างรอบตัวมาตำๆผสมปนเปออกมาใหม่ให้กลายเป็น “ไทย” ซะมากกว่า

อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือ ไทยๆในโลกล้วนอนิจจัง

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ เขียน
สำนักพิมพ์ Salmon Books
สรุปครั้งแรกเมื่อ 20180814

อ่านสรุปหนังสือแนวไทยๆนี้ต่อ > https://www.summaread.net/category/thai/

สนใจสั่งซื้อได้ที่ > https://minimore.com/b/thai-thai

อาจจะเป็นหนังสือที่ดูแปลกในสายตาของคนอื่น โดยเฉพาะคนไกล้ตัวที่สงสัยว่าทำไมผมถึงซื้อเล่มนี้มาอ่าน

ก็แหม จะไม่ให้สงสัยได้ยังไงล่ะครับ กิน ขี้ ปี้ นอน มันเป็นเรื่องสามัญในชีวิตประจำวันเราทุกคน (แต่บางเรื่องก็คงทำกันไม่ได้ทุกวันหรอกเนอะ..มั้ง) ผมก็เลยอยากรู้ว่าในสมัยก่อนหรือสมัยโบราณนั้น เรื่องเซ็กซ์(แปลกดีใช้ ซ์ แทน ส์ อย่างที่คุ้นเคยกัน)ของเค้าเป็นอย่างไร และต่างกับคนสมัยนี้มากน้อยแค่ไหน พออ่านไปได้ไม่เท่าไหร่ถึงกับตาสว่างและน่าประหลาดใจกว่าที่คิดไว้เยอะเลย เพราะเรื่องเซ็กซ์ในสมัยก่อนย้อนหลังไปเป็นร้อยเป็นพันปีได้นั้น กลับเป็นเรื่องธรรมดาสามัญออกจะสาธารณะนิดๆกว่าที่คิดเอาไว้ด้วย

เช่น การอยู่กินหรือมีเซ็กซ์กันก่อนแต่งในสมัยโบราณนั้นถือเป็นเรื่องปกติ ผิดกับค่านิยมหรือจารีตของคนสมัยนี้เลยและผู้ชายก็ต้องกลายไปเป็นบ่าวรับใช้ของบ้านฝ่ายหญิง เลยเป็นที่มาขอคำว่า “เจ้าบ่าว” ฝ่ายชายได้แต่ก้มหน้าก้มตาทำงานไปเยี่ยงบ่าวรับใช้ จนกว่าพ่อแม่คนในครอบครัวฝ่ายหญิงจะพอใจยอมยกลูกสาวให้เป็นเมีย

เรื่องที่ว่านี้ถึงขนาดเป็นกฏหมายในช่วงต้นอยุธยาเมื่อกว่า 500 ปีก่อนมาแล้ว ในเรื่องการอยู่กินก่อนแต่งถึงขนาดมีลูกกันก็ไม่ใช่เสียหาย เพราะส่วนนึงการมีลูกเหมือนการมีทรัพย์สินด้านแรงงานที่มากกว่า ก็ทำให้ฐานะดีกว่า ได้เปรียบกว่า ดังนั้นยิ่งมีลูกมากฝ่ายหญิงก็ยิ่งมีฐานะดี และกินอยู่อย่างสุขสบายมากขึ้น

แต่เรื่องนี้ก็มีที่มา เพราะในสมัยโบราณนั้นทรัพย์สินอย่าง บ้าน หรือ ที่ดิน จะตกเป็นของฝ่ายหญิง ดังนั้นฝ่ายหญิงจึงมีอำนาจเหนือชายมานานมากในสมัยโบราณ

เรียกได้ว่าในสมัยนั้นฝ่ายชายน่าจะต้องออกมาเป็นฝ่ายเรียกร้องสิทธิของตัวเองแทนฝ่ายหญิงในสมัยนี้เลย เพราะอย่างคำว่า “แม่” ที่หมายถึงผู้มีอำนาจหรือผู้ที่เหนือกว่านั้นก็ใช้เป็นคำเรียกฝ่ายหญิงมาตลอด ลองนึกถึงคำง่ายๆไกล้ตัวอย่างคำว่า แม่น้ำ หรือ แม่ทัพ นั้นบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของคำว่า “แม่” ที่เป็นฝ่ายหญิงได้อย่างดี

กระทั่งการ “ฝังมุก” ที่อวัยวะเพศชายนั้นก็มีต้นกำเนิดมาจากฝ่ายหญิงในสมัยโบราณ ที่ฝ่ายหญิงเป็นผู้สั่งให้ฝ่ายชายต้องทำเพื่อเธอ ขอไม่อธิบายว่าทำอย่างไร(ถ้าผู้หญิงคนไหนไม่รู้ลองหันไปถามผู้ชายข้างๆไกล้ๆดูก็ได้) แถมการฝังมุกที่เรียกว่าเป็นการ “แต่ง” อวัยวะเพศชายนั้น สำหรับผู้ที่มีศักดิ์สูงระดับขุนนางหรือราชา ยิ่งมีค่านิยมที่พิศดารมากในสมัยนี้ เพราะชาวบ้านทั่วไปได้แต่ใช้ ลูกปัด หรือ ดีบุก ฝังเข้าไป แต่กับชนชั้นสูงนั้นต้องใช้ทองคำทำเป็นเม็ดกลวง แล้วก็ใส่ทรายเข้าไปในนั้น เพื่อให้เวลาเดินแล้วมีเสียงดังกรุ๊งกริ๊งๆ เพื่อบอกถึงยศถาบรรดาศักดิ์ว่าตัวข้านั้นไม่ธรรมดา

แถมในยุคอยุธยานั้น เมียหลวง คือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆแทนสามี แทบจะเรียกได้ว่าสามีนั้นต้องปรึกษาเมียหลวงก่อนตัดสินใจเรื่องสำคัญๆอะไรด้วยซ้ำ

แต่ความเป็นใหญ่ของชายเพิ่งจะมีมาเมื่อศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์เผยแพร่เข้ามาถึงประเทศไทย เพราะทั้งสองศาสนานี้เป็นศาสนาที่ยกให้ชายเป็นใหญ่ เรื่องราวก็เลยเริ่มกลับด้านกันมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ความเป็นใหญ่ฝ่ายหญิงก็เลยถูกยกไว้ให้ในด้านตรงข้ามกับศาสนา ในด้านมืด หรือความเชื่อที่เชื่อมโยงย้อนกลับไปถึงตอนที่นับถือ ผี ก่อนจะนับถือพุทธ สังเกตุว่า “เจ้าแม่” จะเป็นคำเรียกที่พูดถึงผู้หญิงที่ทรงอำนาจในทางไสย์

และอีกหนึ่งหลักฐานที่น่าสนใจก็คือ วรรณคดีไทย ในสมัยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่แต่งโดยชนชั้นสูง เจ้าขุนมูลนายทั้งหลาย จากการสำรวจวิเคราะห์ก็พบว่าส่วนใหญ่แล้วการมีเซ็กซ์ หรือแต่งงานมีผัวหรือสามีนั้น โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ในช่วงอายุ 14–16 ปีโดยประมาณ ดังนั้นถ้าจะบอกว่าเด็กสมัยนี้มีอะไรกันเร็ว พอย้อนกลับไปดูในสมัยไม่กี่ร้อยปีก่อนก็ถือว่ายังปกติ

ต้องบอกว่าค่านิยมจารีตทั้งหลายที่เราซึมซับมานานไม่ได้ถูกกำหนดโดยคนส่วนใหญ่ แต่ถูกกำหนดโดยคนส่วนน้อยที่เป็นชนชั้นสูงผู้ปกครอง ที่บอกให้ผู้ใต้ปกครอง(อย่างเราๆ)นั้นต้องเปลี่ยนความคิดค่านิยมใหม่ ส่วนนึงไม่รู้ว่าเพราะชนชั้นสูงเรื่องมากแต่งงานกันยากเลยต้องเอาค่านิยมนี้มาให้ชาวบ้านรากหญ้ากันหรืออย่างไร

ดังนั้นพออ่านจบก็พอบอกตัวเองได้ว่า เรื่องเซ็กซ์มันเป็นเรื่องปกติมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว

และสุดท้ายนี้พออ่านจบผมรู้สึกว่า ผู้ชายเราโชคดีเหลือเกินที่วันนี้มีอำนาจเท่าๆกับฝ่ายหญิง และอาจจะมากกว่าในบางครั้งหลายโอกาสซะด้วยซ้ำ เพราะเมื่อก่อนเรานั้นตกเป็นเบี้ยล่างใต้อำนาจของพวกเธอซะเหลือเกิน

สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียน

สำนักพิมพ์ นาตาแฮก