Tag

โอลิมปิก

Browsing

เป็นหนังสือฟาสต์ฟู้ดธุรกิจเล่มเฉพาะกิจ ที่เอาเรื่องดีๆจาก 19 เล่มแรกของหนุ่มเมืองจันท์มารวมไว้ในเล่มเดียว แม้ทั้ง 19 เล่มแรกผมจะอ่านมาหมดแล้ว แต่เล่มนี้ก็เหมือนเป็นการเตือนความจำให้สมองได้ทำงานอีกครั้งนึง

อย่างเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมากตั้งแต่อ่านครั้งแรก จนพอได้อ่านครั้งนี้ก็ทำให้รู้สึกชอบมากเป็นพิเศษ คือเรื่องของนักวิ่งที่ชื่อว่า “จอห์น สตีเฟ่น อัควารี”

จอห์น สตีเฟ่น อัควารี เป็นชาวแทนซาเนียที่มาเข้าร่วมแข่งขันวิ่งมาราธอนที่โอลิมปิกแม็กซิโกในปี 1968

เค้าวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้ายแบบไม่มีใครคาดคิด เพราะมาหลังจากพิธีมอบเหรียญรางวัลเรียบร้อย และผู้คนก็พอกันเดินออกจากสนามกีฬาแล้ว แต่ อัควารี คนนี้กลับเพิ่งวิ่งเข้ามาในสนามด้วยอาการบาดเจ็บเลือดโชกขาข้างขวา จนต้องเอาผ้าพันแผลห้ามเลือดไว้

เค้าวิ่งด้วยความเร็วที่ช้ากว่าเดินของคนปกติเสียอีก แต่ อัควารี คนนี้ก้ยังไม่หยุดวิ่ง และก็วิ่ง วิ่ง วิ่ง ในขณะที่หลายคนเลือกเดินออกจากการแข่งขัน

มีหลายคนที่ออกจากการแข่งขันไปเมื่อรู้ว่าโดนทิ้งห่างเป็นกิโลเมตร และรู้ว่าตัวเองจะไม่ได้เป็นหนึ่งในผู้ชนะ

สำหรับคนทั่วไป “ชัยชนะ” คือ “เส้นชัย” แต่สำหรับ อัควารี แล้ว การวิ่งถึง “เส้นชัย” คือ “ชัยชนะ”

การพิสูจน์ตัวเองว่าทำได้ การก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเองที่เคยมี คือชัยชนะที่สำคัญกว่าชัยชนะที่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น

ไม่ต้องแข่งกับใคร แข่งกับตัวเองในเมื่อวานก็พอ เพราะถ้าเราเอาชนะตัวเองได้ทุกวัน เราก็จะไม่มีวันหยุดเก่งขึ้น

เหมือนที่หน้า 157 บอกว่า คำว่า “แรงบันดาลใจ” หรือ “Inspiration” มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า “Spirarae” ที่แปลว่า “ลมหายใจ”

ปราศจาก “ลมหายใจ” เราก็ไม่มีชีวิต
ปราศจาก “แรงบันดาลใจ” ชีวิตก็ไม่มีความหมาย

ทำให้ผมคิดถึงน้องเติร์ด ที่อีเมล์มาขอบคุณที่ผมเป็นแรงบันดาลใจให้เค้า และอีเมล์ที่น้องเติร์ดเขียนมาหาผมนั่นแหละ ก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเช่นกัน

ถ้าจากเรื่องของนักวิ่ง “อัควารี” คนนี้ บอกให้รู้ว่า “ปัญหา” คือเรื่องปกติของชีวิต แต่เราส่วนใหญ่มักมองว่าปัญหาทำให้ชีวิตไม่เป็นปกติ

เหมือนกับการขับรถ ที่พอเจอหลุมบ่อเรากลับบ่น แต่พอเจอทางเรียบถนนดีๆ เรากลับเฉยเมยไม่ชื่นชม ทั้งที่ความจริงแล้วเราควรชื่นชมถนนดีๆมากกว่า เหมือนที่พระไพศาลบอกว่า เรามักเห็นความราบรื่นเป็นเรื่องปกติ เป็นสิทธิที่เราควรจะได้

ถ้าเราสามารถปรับใจได้ว่าถนนที่ขรุขระเป็นเรื่องธรรมดาความไม่ราบเรียบของชีวิตเป็นเรื่องปกติ แต่ถนนที่เรียบและไร้ฝุ่น หรือชีวิตที่มีความสุขต่างหากเป็นเรื่องไม่ปกติ

พอเปลี่ยนมุมคิดแค่นี้ ความรู้สึกกับความสุขก็จะพุ่งทะยานมหาศาล
ใช้ชีวิตในโลกเดียวกัน แต่ได้เปรียบจนใครๆต้องอิจฉา

ทั้งหมดคือ “ความหวัง” ที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ แต่ “การลงมือทำ” ต่างหาก ที่ทำให้ลมหายใจมีความหวัง

อย่ามัวแต่มองโลกในแง่ดี อย่าเอาแต่มีความหวัง ต้องลงมือทำด้วยครับ เพราะสุดท้ายแล้วแม้จะไปไม่ถึงฝัน แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ลองทำตามฝันใช่มั้ยครับ?

เหมือนที่ผมหวังว่าจะอ่านหนังสือของหนุ่มเมืองจันท์ตามให้ครบทุกเล่ม หวังไว้ตั้งแต่ปีก่อน ตอนนั้นพอรู้ว่าหนุ่มเมืองจันท์มีหนังสือพิมพ์ออกมากว่า 31 เล่ม ไม่รู้จะตามอ่านจบได้เมื่อไหร่

แต่ 1 ปีผ่านไป อ่านจบหมดทุกเล่มแล้วครับ แล้วก็ได้ข้อคิดอะไรดีๆเยอะมากด้วย

แล้วคุณล่ะฝันหรือหวังอะไรอยู่ รีบลงมือทำนะครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 75 ของปี 2018

สรุปหนังสือ ยังหายใจ ต้องไม่แพ้
หนุ่มเมืองจันท์เขียน
สำนักพิมพ์มติชน

20180608

ล่าสุดอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ UNTHINK หรือชื่อไทยว่า “หลอกสมองให้ไม่ต้องคิด” แก่นของเรื่องคือแท้จริงแล้วมนุษย์เราไม่ได้คิดแบบมีเหตุผลอย่างที่เราคิด

มนุษย์เรายังคงใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นประจำในทุกเรื่อง เพียงแต่เรามีเหตุผลมาสนับสนุนความรู้สึกนั้นเสมอ จนเผลอให้เราคิดว่าเราช่างเป็นสัตว์ประเสริฐที่ใช้สมองคิดอย่างมีเหตุผลอยู่เสมอ

หนังสือเล่มนี้ของหนุ่มเมืองจันท์ก็เหมือนกัน ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของความรู้สึกในหลากแง่มุมที่น่าสนใจ ผมขอหยิบบางช่วงบางตอนในเล่มมาสรุปไว้เรียกน้ำย่อยแล้วกันครับ

อุปสรรคเหมือนหินลับมีด

อุปสรรคในชีวิตคือสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเรามัวแต่ทุกข์เมื่อเกิดปัญหา ชีวิตก็คงไม่สนุกและสุขซักเท่าไหร่ แต่ถ้ามองอุปสรรคหรือปัญหานั้นเป็นเสมือนหินลับมีด และมองว่า “ปัญญา” ของเรานั้นก็เปรียบเสมือนมีด มีดที่ต้องการหินลับ เพื่อให้คมอยู่เสมอ

ดังนั้นหินที่ใช้ลับมีดไม่เคยราบเรียบ เพราะถ้าหินเรียบ มีดก็จะไม่คม หินต้องมีความสาก มีสะดุด เหมือนกับอุปสรรคที่เข้ามาลับมีดสติปัญญาเราให้เฉียบคมเสมอ

เมื่ออุปสรรคผ่านไป ก็จะกลายเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า แต่คุณค่าของประสบการณ์นั้นไม่ใช่การบอกว่าเรา “ควร” ทำอะไร แต่เป็นเครื่องเตือนสติเราว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้วนั้น อะไรบ้างที่ “ไม่ควร” ทำ

ประสบการณ์มีเพื่อไม่ให้เราพลาดเรื่องเดิมซ้ำสอง และเราก็ต้องกล้าที่จะพลาดเรื่องใหม่เพื่อเรียนรู้และรับโอกาสใหม่อยู่เสมอ เหมือนบริษัท 3M ที่สร้างนวัตกรรมมากมายขึ้นมาจากความผิดพลาด

หนึ่งในของที่แทบทุกคนบนโลกรู้จักที่เกิดจากความผิดพลาดของนักวิทยาศาสตร์ 3M คือ Post it

กระดาษสีๆที่ติดเพื่อเตือนความจำเราได้ทุกที่ และลอกออกเมื่อไหร่ก็ได้ นวัตกรรมชิ้นนี้เกิดจากความผิดพลาดที่เริ่มจากการอยากได้กาวที่ติดหนึบทนนาน แต่ดันพลาดได้กาวที่ติดแล้วลอกออกง่าย

พลาดเล่นๆสร้างกำไรได้หลายพันล้านเหรียญ

นอกจากนี้อีกนวัตกรรมที่เกิดจากความผิดพลาดของ 3M ที่ไม่เคยรู้คือ หน้ากากศัลยแพทย์ ที่หมอใส่เวลาผ่าตัด หรือหน้ากากที่คนงานในโรงงานใส่เพื่อกันฝุ่นละอองสารเคมี ก็เกิดจากความผิดพลาดจากโครงเสื้อชั้นในผู้หญิงที่ใช้งานไม่ได้ แต่ใช้กับแพทย์และอุตสหกรรมได้

มีคนเคยบอกว่า ถ้าอยากประสบความสำเร็จให้มากขึ้น ก็เพิ่มความผิดพลาดให้เยอะขึ้น

แต่ต้องพลาดในเรื่องใหม่ๆนะครับ ไม่ใช่พลาดเรื่องเดิมซ้ำซาก เสมือนว่าไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

Derek Redmond หรือ เรดมอนด์ อดีตนักวิ่งทีมชาติอังกฤษ ที่บาดเจ็บในการแข่งขันวิ่ง 400 โอลิมปิกเมื่อปี 1992 จนแพทย์วินิจฉัยว่าไม่สามารถลงแข่งวิ่งทีมชาติได้อีกแล้วตลอดชีวิต

ชีวิตของเรดมอนด์เหมือนพังทลาย เพราะทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อการวิ่งเสมอมา แต่พ่อของเรดมอนด์บอกว่า “ลูกวิ่งไม่ได้ แต่ลูกเล่นกีฬาอย่างอื่นได้”

จากคำพูดของพ่อ จุดประกายโอกาสใหม่ให้เรดมอนด์ ในอีก 4 ปีถัดมา เรดมอนด์ยังคงไม่ได้เป็นนักวิ่งทีมชาติเหมือนที่หมอวินิจฉัยไว้ แต่กลายเป็นนักบาสทีมชาติอังกฤษแทน

เห็นมั้ยครับว่า บางทีอุปสรรคที่เข้ามา ก็มาพร้อมกับโอกาสใหม่ให้เรียนรู้โดยที่เราไม่รู้ในทีแรก

ชัยชนะหรือพ่ายแพ้ เป็นแค่บรรทัดสุดท้ายของการแข่งขัน แต่ที่สำคัญให้รู้จักเก็บเกี่ยวความสุข หาความสนุกจากการแข่งขันระหว่างทาง

เมื่ออยู่ในสนามให้สนุกกับเกม อย่าบ่นว่าแดดร้อน ฝนตก แต่เมื่อจบเกมออกมานอกสนามอยู่ในร่ม ให้ความสุขกับการพักผ่อน “หาความสุข” ให้เป็น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

สุดท้ายแล้วถ้าเปรียบชีวิตเหมือนต้นไม้ เคยสังเกตุมั้ยว่าต้นไม้ใหญ่ ไม่ใช่ต้นไม้ที่สูงจนต้องแหงนมอง แต่เป็นความใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านออกมารอบข้าง

กิ่งก้านที่ให้ร่มเงากับทุกคนด้านล่างโดยไม่เลือก

ในชีวิตคนเราช่วงเริ่มอาจต้องเร่งความสูง แต่เมื่อถึงจุดนึงต้องรู้จักแผ่ความเมตตาออกไปรอบข้างเพื่อผู้อื่น

ไม่งั้นจะถือว่าใช้ชีวิตไม่เป็น

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 67 ของปี 2018

ความรู้สึกคือเหตุผลอย่างหนึ่ง
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 19
หนุ่มเมืองจันท์ เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน

20180526