Tag

อนาคต

Browsing

ทำไม Skype ถึงไม่ได้เกิดมาจาก AT&T

Paypal ไม่ได้เป็นของ Visa

Twitter ไม่ได้มาจาก CNN

Uber ไม่ได้เริ่มต้นที่ GM หรือ Hertz

Google ไม่ได้แยกออกมาจาก Microsoft

iTune ไม่ได้มาจากค่ายเพลงดังอย่าง Sony

Instagram ไม่ได้ถูกคิดโดย Kodak

Netflix ไม่ได้กำเนิดออกมาจาก Blockbuster

เพราะนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ล้วนเกิดจาก “คนนอก” ทั้งสิ้น

น่าแปลกใจที่ “ยักษ์ใหญ่วงใน” ล้วนถูก “คนนอก” เข้ามาสั่นคลอนอยู่เสมอ ทั้งที่มีทรัพยากรมากกว่า มีความรู้ในอุตสาหกรรมนั้นมากมาย แต่กลับมองไม่เห็นจุดบอด ปัญหา หรือโอกาสรอบตัวที่มี จนล้วนแต่ถูกคนนอกที่เราพูดถึงเข้ามาสั่นสะเทือนให้ทั้งวงการโดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ต้องขยับตัว

หรือเพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นมีต้นทุนที่สูงกว่า?

ไม่ใช่ในแง่ของการลงทุนด้วยเหตุและผล แต่เป็นในแง่ของ “จิตวิทยา” ความรู้สึกที่ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลง ทำให้ Kodak ที่สร้างนวัตกรรมอย่าง “กล้องดิจิทัล” ขึ้นได้ก่อนใครบนโลก กลับเก็บเทคโนโลยีนี้ไว้ก้นกรุเพื่อปกป้องธุรกิจฟิล์มของตัวเอง จนต้องล้มละลายในที่สุด

Blockchain ก็เหมือนกัน นวัตกรรมจาก “คนนอก” ที่จะเข้ามาสั่นสะเทือนระเบียบวิธีการธรรมเนียมปฏิบัติทั้งหมดที่เป็นอยู่ให้ต้องปรับตัวกันตามๆไป

มองในแง่นึงก็รู้สึกว่า blockchain เหมือนกับ internet ตรงที่เปลี่ยนให้อะไรที่เคยเป็น physical เคยจับต้องได้ ให้อยู่ในรูปของ digital ที่จับต้องไม่ได้แต่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่

จากเดิมที่เคยต้องเดินไปธนาคาร หรือค้นหาข้อมูลในห้องสมุด ก็เปลี่ยนเป็นเอาห้องสมุดและธนาคารมาอยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่เราจะเข้าถึงเมื่อไหร่ก็ได้

ทั้งหมดนี้ลดต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูลที่เปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปจนถึงการใช้ชีวิตของเราทั้งหมด จากเดิมที่ต้องนั่งเฝ้าทีวีอยู่บ้านเพื่อรอดูละครเรื่องโปรด กลายมาเป็นจะดูละครเรื่องโปรดพร้อมกันตอนไหนก็ได้ แถมยังจะดูย้อนหลังเมื่อไหร่ก็ได้

นี่คือการปฏิวัติของ internet ที่เปลี่ยนข้อมูลรอบตัวเราให้กลายเป็นดิจิทัลไปเกือบทุกอย่างแล้ว

แล้ว blockchain จะเข้ามาเปลี่ยนยังไงต่อ?

ต้องบอกว่าในยุคดิจิทัลทุกวันนี้ “ข้อมูล” ส่วนใหญ่จะถูกรวบรวมไว้ที่ใดที่หนึ่ง เช่น ข้อมูลของสรรพากรก็จะถูกเก็บรวมศูนย์ไว้ที่สรรพากรเท่านั้น การจะเข้าถึงข้อมูล หรือการจะเข้าไปแก้ไข ก็ล้วนแต่ต้องผ่านสรรพากรเท่านั้น

หรืออย่าง Facebook ที่เราทุกคนใช้กันทุกวันก็เก็บข้อมูลทั้งหมดของเราไว้ที่เฟซบุ๊กเท่านั้น โดยเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเก็บอะไรและเอาข้อมูลของเราไปใช้อะไรบ้าง และข้อมูลที่เฟซบุ๊กเก็บไว้ก็ใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆ คิดง่ายๆว่าถ้าเปลี่ยนข้อมูลผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเป็นเงินได้ เฟซบุ๊กเก็บเงินทั้งหมดไว้ในตึกของเฟซบุ๊กที่เปรียบเสมือนเซิฟเวอร์ที่ใหญ่โตมาก และก็ย่อมตกเป็นเป้าหมายปองของเหล่าโจรผู้ร้ายที่อยากจะขโมยเงินออกมาจากเฟซบุ๊ก และล่าสุดในกรณีโด่งดังที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่าง cambridge analytica ที่ข้อมูลผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านคนหลุดออกไป

ถ้าเปรียบข้อมูลเป็นเงิน คงไม่มีใครที่ไหนบนโลกที่จะเอาทรัพย์สินทั้งหมดที่ตัวเองมีเก็บรวมไว้ที่เดียว เพราะนั่นจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น ไม่เชื่อลองไปถามเพื่อนๆคนรอบตัวที่พอมีเงินฝากหลักล้านซิครับ ว่าเค้ากระจายทรัพย์สินออกไปอย่างไร บ้างก็เอาไปฝากที่พร้อมใช้เป็นเงินสด บ้างก็เอาไปเก็บในรูปของ LTF บ้างก็เอาไปลงในตลาดหุ้น หรือบ้างก็เอาไปลงในคอนโด

ดังนั้น Blockchain เลยเกิดขึ้นมาเพื่อการกระจายศูนย์ออกไป เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกรวมศูนย์ หรือการป้องกันการแก้ไขจากผู้ที่มีอำนาจเป็นเจ้าของศูนย์กลางที่เป็นอยู่

ลองคิดถึงกรณีที่พนักงานธนาคารทำเงินฝากในบัญชีคุณหายไป อาจจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ แต่ก็เกิดขึ้นได้เพราะเค้าเป็นผู้มีสิทธิในการเข้าถึงและแก้ไขข้อมูลของเราได้ โดยที่เราที่เป็นเจ้าของข้อมูลนั้นแท้ๆกลับไม่มีสิทธิ์นั้นเลย

เมื่อข้อมูลทั้งหมดถูกกระจายไว้บน Blockchain แล้วยังไงต่อ ข้อมูลเราจะไม่เป็นสาธารณะไปหมดหรอ? แล้วประเด็นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลจะต่างไปยังไง

หนังสือเล่มนี้อธิบายถึงความเป็นส่วนตัว และความเป็นสาธารณะไว้อย่างน่าสนใจว่า “ก็เหมือนกับการที่คุณสามารถตะโกนอะไรออกไปก็ได้ โดยที่คุณยังสามารถเลือกได้ว่าจะให้ใครบ้างที่เข้าใจในสิ่งที่คุณตะโกนออกไป โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ และยังสามารถเลือกได้อีกว่าจะให้บางคนที่เข้าใจทั้งประโยคที่คุณตะโกน หรือบางคนเข้าใจได้ทั้งหมด

Blockchain ทำให้สิ่งนี้เป็นจริงได้ด้วยการเข้ารหัสแบบ SHA-256 ที่ทุกคนสามารถเห็นข้อมูลเดียวกันได้หมด แต่คนที่เข้าใจความหมายของมันจะมีเฉพาะคนที่มีกุญแจเท่านั้น

เปรียบเหมือนกับข้อมูลทางการแพทย์ที่มีเฉพาะหมอเจ้าของคนไข้เท่านั้นที่รู้ว่าแฟ้มนี้เป็นของผู้ป่วยคนไหน ส่วนคนอื่นที่มาอ่านก็จะไม่รู้เลยว่าเป็นใคร

ทั้งหมดที่น่าจะเกิดขึ้นคือ “ตัวกลาง” ที่จะถูกถอดออกไปจาก “ระบบ” ตัวกลางที่ว่าหมายถึงการ “รวมศูนย์” ไว้ที่ใดที่นึง ไม่ว่าจะเป็น Uber ที่เก็บข้อมูลคนขับและคนใช้ไว้ที่ตัวเอง หรือ Airbnb ที่เก็บข้อมูลห้องและผู้พัก ต้นทุนในการทำธุรกรรมผ่านคนกลางจะต่ำลงอีก เพราะผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อกันได้โดยตรงผ่านระบบที่ปราศจากคนกลางอย่าง Blockchain

หนังสือเล่มนี้ให้ภาพของอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับ Internet 2.0 อย่าง Blockchain แม่นมั้ยไม่รู้ ผมว่าอีกสิบปีข้างหน้าถ้าหยิบมาอ่านอีกครั้งก็จะบอกได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมบอกได้คือผู้เขียนคนนี้ Don Tapscott เคยเขียนหนังสือชื่อว่า Digital Economy ไว้เมื่อปี 1995 ที่ทำนายถึงการเปลี่ยนขึ้นจาก Internet ได้ค่อนข้างแม่นมาก

ที่บอกว่าแม่นมากเพราะผมเพิ่งได้อ่านหนังสือที่ว่านี้เมื่อปีที่แล้ว 2017 เอง ทั้งที่เขียนไว้เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วแต่แม่นอย่างกับตาเห็น บอกได้เลยว่ากว่า 80% ที่เขียนถือว่าตรงมาก

ดังนั้นพอผมเห็นหนังสือเล่มนี้ ที่เขียนโดยคนผู้นี้ ผมไม่ลังเลที่จะหยิบออกมาจากงานหนังสือล่าสุดที่เพิ่งจบไปเมื่อไม่กี่วันก่อน แล้วก็ต้องลัดคิวอ่านเล่มนี้ทั้งที่ยังมีอีกร้อยกว่าเล่มมารอก่อนหน้าแล้ว

ถ้าคุณทำงานการเงิน กฏหมาย หรืออาชีพอะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ในฐานะ “คนกลาง” คุณควรอ่านเล่มนี้ไว้เพื่อรู้จักและทำความเข้าใจกับสิ่งที่จะกระทบกับชีวิตการงานของคุณในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

เพราะยิ่งรู้เร็ว ก็ยิ่งรู้ว่าจะรับมือหรือร่วมมือกับมันยังไง

เพราะสุดท้ายแล้วถ้าคุณเปลี่ยน โลกก็จะเปลี่ยนคุณเอง

Dan Tapscott และ Alex Tapscott เขียน

พรศักดิ์ อุรัจฉัทชัยรัตน์ แปล

สำนักพิมพ์ ดีไวน์ แมจิก

คนเราจะเดาถึงอนาคตได้อย่างมากเท่าไหร่กัน…1ปี 5 ปี หรือ 10 ปี

คำถามยอดฮิตเวลาสัมภาษณ์งาน, ปีหน้า คิดว่าจะพากันไปฉลองครบรอบวันแต่งงานหรือเป็นแฟนกันที่ไหนดี หรืออาจจะจองตั๋วเที่ยวบินราคาถูกข้ามปีเอาไว้ หรือ ไตรมาสหน้า..ว่าผลประกอบการบริษัทจะเป็นอย่างไร โบนัสจะมาหรือไม่ หรือ วีคหน้า..ว่าจะมีโปรเจคอะไรใหม่เข้ามาบ้าง และต้องรีบทำอะไรบ้าง หรือแค่วันพรุ่งนี้…ต้องใส่ชุดอะไรไปทำงานนะ…

แต่มีชายคนนึงที่คาดเดาอนาคตของโลกไว้ตั้งแต่เมื่อ 20ปีที่แล้ว ในวันที่โลกเริ่มมีเค้าลางของปัจจุบันแค่ไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้นก็คือ “อินเทอร์เน็ต”

เมื่อเวลา 20ปีผ่านไป แทบทุกอย่างที่เค้าคาดเดาไว้ก็ต้องบอกว่าแม่นอย่างกับจับวาง ยังกับนอสตราดามุสของโลกดิจิทัลยังไงยังงั้น และชายคนนี้ที่พูดถึงก็คือ Don Tapscott ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งใน Thinker50 ที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชนและรัฐบาลหลายที่ทั่วโลก

ในวันที่โลกเพิ่งให้กำเนิดอินเทอร์เน็ตในปี 1995 จำนวนเวปไซต์มีน้อยจนนับได้ แต่ Don Tapscott คนนี้ก็คาดเดาได้ถึงผลกระทบมหาศาลจากอินเทอร์เน็ต หรือที่เค้าเรียกในเวลานั้นว่า “เดอะเน็ต”

ว่าจะเปลี่ยนวิถีชีวิต รูปแบบขององค์กรบริษัท และวิธีควบคุมของภาครัฐ ว่าทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เค้าคาดเดาได้ถึงขนาดที่ว่าคนเราจะร่วมมือกันง่ายขึ้น สิ่งต่างๆรอบตัวจะแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวที่จะกลายเป็นหนึ่งเรื่องสำคัญ รวมถึงรูปแบบของการใช้เงินดิจิทัลที่กำลังมาอย่าง Bitcoin ก็มี (แต่ไม่ได้พูดถึงชื่อ Bitcoin โดยตรง แต่พูดถึงวิธีการทำงานของเงินดิจิทัล บอกตรงๆว่าอธิบายได้เข้าใจง่ายมาก)

ในหนังสือแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ผมขอสรุปสั้นๆแล้วกัน

ภาคแรก เศรษฐกิจยุคใหม่ที่เรืองรอง

เป็นเรื่องของปัจจัยใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นหลังจากปี 1995 โดยอินเทอร์เน็ตและช่องทางการส่งผ่านข้อมูลขนาดใหญ่ (3G 4G และ 5G ที่เราคุ้นเคย) จะเป็นตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจตั้งแต่ระดับชาวบ้าน ไปจนถึงภาครัฐ และทั่วโลกนั้นต้องเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันเหมือนเดิม ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่าจริง จากเมื่อก่อนเราเคยนั่งจุ้มปุ๊กอยู่หน้าทีวีเพื่อรับสื่อตามตารางเวลา มาวันนี้เราอยากดูอะไรก็มีให้เลือกดูได้ตามจบไม่มีวันหมดอยู่บน YouTube หรือ Netflix จนเกิดเป็นธุรกิจเครือข่ายข้ามโลก ที่เกิดจากคนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ได้มากมาย จนเกิดการพัฒนาในระดับปัจเจก หรือทำให้ตัวเองเก่งขึ้น

เมื่อเราเก่งขึ้นเราก็ยังใช้อินเทอร์เน็ตในการจับกลุ่มกับคนที่มีความสนใจเหมือนกันได้ง่ายขึ้น ดูตัวอย่างง่ายๆจากบริษัทยุคใหม่เกิดขึ้นมากมายด้วย email หรือ webboard สาธารณะ จนกลายมาเป็นองค์กรที่ขยายตัวออกไปในแนวระนาบไม่ใช่แนวดิ่งแบบสั่งการจากบนลงล่างเหมือนบริษัทยักษ์ใหญ่แบบเดิมๆ จนกลายเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมาเปลี่ยนโลกมากมาย ไม่ว่าจะ Facebook ที่ทำให้ทุกคนบนโลกแชร์เรื่องส่วนตัวมากมายอย่างไม่ยั้งคิด หรือ uber ที่ทำให้คนขับแท็กซี่จอมหยิ่งต้องกลัวไม่มีเงินกินไปตามๆกัน

ทั้งหมดนี้คือเรื่องของเศรษฐกิจยุคใหม่ที่น่าจะเกิดขึ้นเมื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามา และข้อมูลสามารถส่งผ่านให้กันได้ง่ายขึ้น จากการคาดเดาเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งผมให้ความแม่นอยู่ที่ระดับ 8 ใน 10 ได้เลย

2 การทำงานข้ามเครือข่าย

ภายใน 20 ปีนับจากวันที่ Don Tapscott ทำนายไว้เมื่อปี 1995 คือคนจากทั่วโลกสามารถทำงานร่วมกันได้ ข้ามปัญหาเรื่องพื้นที่ หรือ Geolocation อีกต่อไป

คนจากอินเดียสามารถทำงานให้กับคนจากนิวเจอร์ซี่ แล้วก็เชื่อมต่อไปยังคนในโตเกียว ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาแล้วตามที่คาดการณ์ไว้

เกิดการขยายตัวของการทำงานขึ้นมากมายพร้อมกันทั่วโลก รวมถึงทำให้ภาครัฐหรือราชการต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานไป

แต่ก่อนเราต้องเข้าไปติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอข้อมูลอะไรบางอย่างที่เราต้องการของภาครัฐ​ แต่มันจะเปลี่ยนไปคือเราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เองโดยไม่ต้องผ่านเจ้าหน้าที่อีกต่อไป

แต่ภาครัฐก็จะเป็นอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงช้าที่สุด เพราะภาครัฐส่วนใหญ่จะใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีเพื่อช่วยในการทำงานของระบบวิธีเดิมๆ ต้องรอให้วันที่ภาครัฐเริ่มเปลี่ยนวิธีคิด และระบบการทำงาน แล้วค่อยเอาเทคโนโลยีเข้ามาเสริม นั่นถึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการบริการจากภาครัฐที่แท้จริงเกิดขึ้นกับประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงทั่วโลก

ผู้เขียนยังพูดถึงธุรกิจภาคการเดินทางและท่องเที่ยวไว้ตั้งแต่เมื่อ 20ปีที่แล้วว่าจะเปลี่ยนไปอย่างมาก

เราแทบจะตัดคนกลางอย่างเอเจนบริษัททัวร์ที่คอยจองโรงแรมหรือตั๋วเครื่องบินออกไปได้หมด ซึ่งก็จริงเพราะทุกวันนี้เราใช้ Agoda หรือ Skyscanner และแทบจะซื้อตรงเองทั้งหมดแล้ว รวมถึงธุรกิจอย่างพจนานุกรมหนังสือความรู้รวมเล่มใหญ่ๆที่ออกขายเป็นรายปีก็จะหมดไป เพราะทุกคนสามารถเดินทางผ่านสายเคเบิ้ลในการเข้าถึงข้อมูลแบบอัพเดทวินาทีต่อวินาทีได้แล้ว แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่คนส่วนใหญ่ยังต้องการเดินทางเพื่อไปซื้อหนังสือที่สะสมความรู้ไม่อัพเดทที่มีแค่ปีละเล่มอย่างเดิมล่ะ

และอีกเรื่องนึงที่พูดถึงคือการศึกษาในยุคดิจิทัล ไม่ใช่แค่การเรียนจบออกมาแล้วคนจะสามารถใช้ความรู้นั้นทำมาหากินไปได้อีก 10-20 ปีอีกต่อไป แต่การเรียนรู้ในยุคใหม่คือการทำงานไปได้และเรียนรู้ไปด้วย

บริษัทจะไม่สามารถใช้แค่ความรู้ที่พนักงานมีในสมัยเรียนเพื่อช่วยให้บริษัทมีกำไรได้อีกต่อไป แต่บริษัทต้องเพิ่มความรู้ให้กับพนักงานตัวเองเสมอ ไม่อย่างนั้นบริษัทเองก็จะไม่สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ในเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะโลกธุรกิจจะเปลี่ยนเป็นความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆจากความรู้ ไม่ใช่การผลิตสินค้าจำนวนมากแล้วแห่งเอาไปออกขายได้เหมือนเดิมอีกแล้ว

ทุกวันนี้สินค้าถูกเลียนแบบกันง่ายขึ้น และเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ก่อนคอมพิวเตอร์เครื่องนึงสามารถเรียกว่ารุ่นล่าสุดได้เป็นปี แต่มาวันนี้ซื้อวันนี้พรุ่งนี้ก็อาจเก่าไปแล้ว

3 ภาวะผู้นำเปลี่ยนแปลง..

พูดถึงเรื่องอุตสาหกรรมแห่งสื่อยุคใหม่ ที่จะเปลี่ยนไป เช่น ทีวี..เมื่อเราก่อนต้องดูทีวีตามผังรายการ แต่ด้วยอินเทอร์เน็ตเราลืมผังรายการแล้วเลือกดูอะไรก็ได้ตามใจได้ทุกเมื่อ สื่อสิ่งพิมพ์..เมื่อก่อนเราซื้อกระดาษเพื่ออ่านเนื้อหาข้างใน แต่วันนี้เนื้อหาข้างในไม่อยู่บนกระดาษอีกต่อไป แต่แทบทุกอย่างมีให้อ่านฟรีบนเน็ต ดังนั้นคุณค่าแทบทั้งหมดของเศรษฐกิจยุคเก่าที่จะส่งต่อมาถึงเศษฐกิจดิจิทัลคือ “เนื้อหา”

เนื้อหา…ที่คนเคยจ่ายเงินเพื่อต้องการมัน ในยุคนึงมันถูกแปะติดไว้กับไม่ว่าจะเป็นกระดาษ หรือแผ่นพลาสติกซีดีรอม วันนี้คุณค่าเนื้อหาเหล่านั้นถูกลบตัวกลางออกไป ทั้งกระดาษ และแผ่นซีดีรอม ให้ทุกคนพร้อมเข้าถึงหรือซื้อหาได้บนดิจิทัลไปแล้ว

และก็มีเรื่องของภาวะผู้นำที่เปลี่ยนไปในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะเมื่อใครๆก็สามารถเข้าถึงข้อมูลและความรู้ได้ เลยทำให้ใครๆก็สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำได้ในบางช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

สมัยก่อนความรู้ถูกเก็บไว้กับเฉพาะระดับ C-level หรือผู้บริหาร หรือผู้นำเท่านั้น แต่เมื่ออินเทอร์เน็ตทำให้ความรู้นั้นเข้าถึงได้ทุกคน และองค์กรก็ต้องพยายามทำให้พนักงานทุกคนมีความรู้เพื่อแข่งขันในธุรกิจได้ ก็เลยเป็นเหตุผลที่ว่าใครๆก็กลายมาเป็นผู้นำได้ ไม่ว่าจะเสมียรหน้าห้อง หรือพนักงานไอทีก็ตาม

และส่วนสุดท้ายส่วนที่ 4

ผู้นำดิจิทัล

ว่าด้วยเรื่องของความเป็นส่วนตัวที่จะต้องนิยามกันใหม่ เมื่อทุกอย่างกลายเป็น 0 และ 1 สามารถคัดลองกันได้โดยไม่ต้องมีวัตถุตัวกลาง ทำให้ข้อมูลทุกอย่างที่เคยเป็นของเราอาจจะไม่เป็นของเราด้วยซ้ำไป

จนผู้เขียนทำนายว่าผู้ปกครองในยุคนี้จะต้องมีการสอนลูกหลานในเรื่องการปกป้องความเป็นส่วนตัวจริงจัง และความเป็นส่วนตัวจะกลายเป็นสิ่งมีค่า มีราคาที่จะต้องจ่าย และความรับผิดชอบใหม่ทางธุรกิจ

ผู้เขียนทำนายไว้ว่าบริษัทจะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ไม่ใช่เพราะมีสำนึกดีกันทุกราย แต่เพราะข้อมูลต่างๆที่เคยปกปิดได้ในเมื่อ 20ปีก่อน จะไม่ใช่ความลับของบริษัทอีกต่อไป ทำให้เรื่องไม่ดีที่เคยซ่อนไว้ได้ก็กลายเป็นเรื่องแดงออกมาง่ายขึ้น เร็วขึ้น เราคงจะเห็นกันเป็นประจำในทุกวันนี้ว่าแทบทุกรายการข่าวมักจะมีช่วงที่เอาคลิปหรือกระแสบนโลกออนไลน์มาเล่าทางทีวีกันอีกรอบนึง เลยทำให้บริษัทต้องระวังตัวมากขึ้น จนในที่สุดก็จะเกิดสำนึกทางสังคมที่มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน

แม้จะไม่โดยเต็มใจแต่ออกไปแกมบังคับก็ตาม แต่ความรับผิดชอบทางธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลก็จะต้องพัฒนาตัวเองตามไปด้วย

ถ้าถามว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับใคร ผมว่าไม่มีใครเป็นพิเศษ เพราะเล่มนี้เขียนไว้ตั้งแต่เมื่อ 20ปีที่แล้ว มาอ่านวันนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้น

แต่ถ้าคุณอยากรู้ว่าคนเขียนนี้คาดเดาปัจจุบันไว้เมื่อ 20ปีที่แล้วอย่างไร ผมว่ามันก็น่าสนุกและตื่นเต้นดีที่ได้อ่านและทำให้ทึ่งกับจินตนาการที่แม่นจนไม่น่าเชื่อของผู้เขียน จนผมว่า Don Tapscott นั้นน่าจะเรียกว่าเป็น นอสตราดามุสของเศรษฐกิจดิจิทัลก็ว่าได้

สุดท้ายนี้ไม่ว่าอีก 20ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยจะเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้วล้วนชีวิตก็ต้องล้วนปรับตัวให้อยู่รอดและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นไปอีกจนได้เหมือนที่มันเคยเป็นมาแหละครับ (ยกเว้นว่าจะมีเหตุการณ์ล้างโลกเท่านั้นเอง)

และผมขอร่วมเดาว่าในอีก 20ปีข้างหน้า เมื่อทุกคนมองย้อนกลับมาก็จะแปลกใจกับความเปลี่ยนไปของโลกแน่ๆ ไม่เชื่อลองมองย้อนกลับไป 20ปีก่อนดูซิ อย่างน้อยตีนกาก็ยังไม่เยอะเท่าทุกวันนี้ใช่มั้ยล่ะ