Tag

สำนักพิมพ์มติชน

Browsing

หนังสือเล่มนี้สรุปภาพอนาคตจากสิ่งที่เป็นในวันนี้ บวกกับการคาดการณ์จากความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่หลากหลายของผู้เขียน ดร. สันติธาร เสถียรไทย ชายผู้ใช้คำว่า “อิจฉริยะ” ก็น่าจะน้อยไป แต่ขอโทษด้วยเพราะผมไม่สามารถหาคำไหนที่ดีกว่านี้ได้ในตอนนี้

ถ้าใครสนใจใคร่รู้ว่าในอนาคตอันใกล้จะเกิดอะไรขึ้น ควรอ่านหนังสือเล่มนี้ และถ้าใครสนใจว่าอนาคตที่ไกลออกไปจะมีรูปร่างหน้าตาประมาณไหน ก็ไม่ควรพลาดหนังสือเล่มนี้

หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้น รวมถึงจะมีอะไรบ้างที่จะดับสูญหายไปตามกาลเวลา เพราะสิ่งที่แน่นอนคือความไม่แน่นอน นี่ไม่ใช่แค่หลักธรรมของพุทธ แต่เป็นสัจธรรมของจักรวาล ขนาดดาวฤกษ์ดวงใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ยังดับสูญสลายหายไปเป็นหลุมดำได้ นับประสาอะไรกับเศษเสี้ยวฝุ่นธุลีเล็กๆเช่นมนุษย์เรา

ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาบทสรุปของหนังสือเล่มนี้ ขอผมเล่าให้คุณฟังหน่อยว่า ดร. สันติธาร เสถียรไทย คนนี้เป็นใคร ทำไมเค้าถึงคาดการณ์อนาคตได้น่าสนใจขนาดนั้นครับ

ดร. สันติธาร เสถียรไทย คนนี้นักเศรษฐศาสตร์ที่เคยทำงานในระดับชาติ ที่ไม่ใช่แค่ชาติไทยแต่ยังถูกสิงค์โปรเชิญไปให้ทำด้วย ถูกยกย่องจากสื่อระดับนานาชาติมาไม่น้อย แถมปัจจุบันยังเป็นผู้บริหารของบริษัท SEA Group ที่เป็นบริษัทแม่ของ Garena, Shopee และ AirPlay ที่เราน่าจะเคยใช้บริการไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งใช่มั้ยครับ

ดังนั้น ดร. สันติธาร เสถียรไทย เลยมีข้อมูลมากมายมหาศาลในหัว มีประสบการณ์มากมายในตัว บวกกับได้คลุกคลีมากับหลายวงการทั้งราชการและบริษัทข้ามชาติทำให้เห็นภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้น เห็นภาพกว้างของสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้น และคาดการณ์ได้ว่าอะไรบ้างที่กำลังจะเกิดขึ้น

ถ้าจะบอกว่า ดร. สันติธาร คนนี้เป็นนักอนาคตศาสตร์ก็คงไม่ผิดนัก หรือจะบอกว่าเป็นสุดยอดพหูสูตในวันนี้ก็ถือว่ายังน้อยไป แต่ฟังแบบนี้แล้วไม่ต้องกลัวว่าเนื้อหาในเล่มจะหนัก หรืออ่านยากย่อยไม่ลง เพราะเค้าเขียนขึ้นมาด้วยภาษาที่เหมือนการเขียนจดหมายคุยกับลูกเค้าในอนาคต ต่อให้คุณไม่ค่อยรู้เรื่องเทคโนโลยี ไม่ค่อยรู้เรื่องศัพท์แสงมากนัก แต่ถ้าคุณเล่นเฟซบุ๊กเป็นประจำ อ่านข่าวรอบตัวบ้าง ผมเชื่อว่าคุณก็อ่านเล่มนี้ได้สนุกเหมือนที่ผมไม่อยากให้จบเลยล่ะครับ

ผมขอเลือกอนาคตบางช่วงที่น่าสนใจมากๆๆๆจริงๆมาเล่าสู่กันฟัง ที่ต้องเน้นคำว่ามากๆๆๆหลายรอบนั้นเพราะผมอยากจะบอกว่ามันน่าสนใจทั้งเล่มเลยจริงๆครับ

อนาคตของเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับ Data

เพราะการค้าโลกที่เคยเป็นปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจ โทรศัพท์ Smartphone ในมือหนึ่งเครื่องก่อนจะมาอยู่หน้าร้านให้คุณซื้อนั้นคุณรู้มั้ยว่ามันเดินทางไปทั่วโลกมาแล้ว

การออกแบบอาจอยู่ที่อเมริกา หน้าจาถูกส่งมาจากเกาหลี ชิปประมวลผลส่งมาจากใต้หวัน เซนเซอร์ส่งมาจากยุโรป แล้วก็เอามาผลิตรวมในจีน ก่อนจะส่งออกไปตามหน้าร้านต่างๆทั่วโลก แต่เรื่องแบบนี้กำลังจะลดน้อยลงไปทุกที ด้วยเทคโนโลยีต่างๆไม่ว่าจะ machine-learning, ai, robotic หรือ 3D printing ที่ทำให้สามารถทำแทบทุกอย่างได้ในที่เดียว

อย่างที่เราเริ่มเห็นข่าวว่าบริษัทใหญ่ๆเริ่มดึงฐานการผลิตกับไปยังบ้านเกิด แต่การดึงไปนี้ไม่ได้ทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้นมากอย่างที่คิด เพราะเครื่องจักรอัจฉริยะหรือ ai เข้ามารับงานส่วนนี้ไปเกือบหมด ผิดกับ Data สามารถดึงมาจากไหนก็ได้ และส่งต่อไปที่ไหนบนโลกก็ได้ แค่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต

ดังนั้นชาติที่จะเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกในยุคหน้านี้ จะไม่ใช่แค่ชาติที่มีน้ำมัน มีเหมืองแร่ หรือมีทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าแบบแต่ก่อน แต่เป็นชาติที่มี Data มากกว่า และสกัดมูลค่าออกมาได้มากที่สุด

อนาคตของ AI ที่เราเป็นกังวล

มีหลายคนอาจกำลังกังวลเรื่อง “หุ่นยนต์” เทคโนโลยีที่จะเข้ามาทดแทนคน แต่ก็มีบางคนกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “หุ่นยนต์เกิดขึ้นมาเพื่อเตือนเราว่าอะไรที่ทำให้เราเป็นคน”

ดังนั้นในยุค AI นี้ ทักษะการสื่อสารและเข้าใจมนุษย์ด้วยกัน จะมีค่ายิ่งกว่าทักษะใดๆในอดีตครับ

อนาคตของความรู้

หมดเวลาของเรียนจบครั้งเดียวแล้วทำงานเดิมได้ไปตลอดชีวิตครับ อนาคตจะเป็นเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือที่เรียกว่า Life Long Learning เพราะอนาคตของการแพทย์จะทำให้เราส่วนใหญ่อายุยืนยาวขึ้น แต่แทนที่จะเป็นโชคดีอาจกลายเป็นโชคร้าย เพราะถ้าเราไม่ปรับตัวให้ทันโลกที่เปลี่ยนไปเร็วขึ้นตลอดเวลา เราก็จะไม่มีพื้นที่ในสังคม

จากเดิมเราเคยทำงานเดียวชั่วชีวิต แต่วันหน้ามันจะไม่เป็นแบบนั้น เราจะต้องเปลี่ยนงานบ่อยขึ้น เราต้องทำใจยอมรับให้ได้ว่าทักษะความรู้ที่เรามีในวันนี้จะไร้ความสำคัญในอีกไม่กี่วันข้างหน้า นั่นหมายความว่าเราต้องพร้อมเปิดใจที่จะเรียนรู้ใหม่อยู่เสมอ

กลับไปเรียนรู้ แล้วกลับไปทำงาน แล้วพออายุความรู้นั้นหมดลงด้วยเทคโนโลยี AI ทดแทน เราก็ต้องกลับเข้าไปเรียนรู้ใหม่ ชีวิตมันจะเป็นประมานนี้ครับ

บางคนอาจคิดว่าอายุเป็นอุปสรรคของการเรียนรู้ แต่คุณรู้มั้ยครับว่าเค้คิดผิด เพราะอุปสรรคที่แท้จริงของการเรียนรู้ตลอดชีพไม่ใช่อายุ แต่เป็น Mindset หรือวิถีความคิดของเราครับ

อนาคตของมหาวิทยาลัยและใบปริญญา

ผู้เขียนบอกว่า ปริญญาใบหนึ่งก็เหมือนกับเพลงหนึ่งอัลบั้ม จะลองลงเรียนบางวิชาที่ตัวเองสนใจเพื่อตัดสินใจว่าจะเข้าเรียนคณะนี้ได้หรือเปล่าก็ทำไม่ได้ จำเป็นต้องเข้าเรียนทุกวิชาของคณะนั้น เสมือนที่ต้องซื้อเทปทั้งอัลบั้ม

ทำไมล่ะครับ ในยุคที่เราสามารถเลือกโหลดเฉพาะเพลงที่ชอบ ไม่ต้องทนซื้อทั้งอัลบั้มเพื่อให้ได้อีก 8 เพลงที่ไม่ใช่ นั่นบอกให้รู้ว่าใบปริญญาก็เหมือนกัน ต้องสามารถให้เราปรับเปลี่ยนเลือกวิชาที่เราอยากลงเรียนเองได้ เหมือนที่เราสามารถสร้าง playlist ของตัวเองได้

และข้อสอง การเรียนในมหาวิทยาลัยอาจจะคล้ายกับการเรียนดนตรีหรือกีฬามากขึ้น คือครูจะต้องเล่นบทโค้ชด้วย และห้องเรียนต้องกลายเป็นห้องซ้อมดนตรี

ครูจะไม่ได้มีหน้าที่ป้อนความรู้ให้นักเรียน เพราะนักเรียนสามารถเข้าถึงทุกความรู้ที่ต้องการได้ทุกที่ทุกเวลาอยู่แล้ว ครูต้องมีหน้าที่ทำให้เด็กคนนั้นไปต่อได้ ก้าวข้ามอุปสรรคได้ หรือทำให้นักเรียนที่หลากหลายสามารถจับกลุ่มทำงานร่วมกันได้ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ยิ่งกว่า

แต่อนาคตของการศึกษาอาจจะยิ่งขาดแคลน

เพราะในอนาคตของการเรียนรู้ตลอดชีพ การเข้าถึงทักษะใหม่ๆนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคนมาก แต่ที่ผ่านมาการศึกษาที่ดีถูกสงวนไว้ให้แค่คนชนชั้นบนเท่านั้นที่เข้าถึงได้ ทำให้คนรวยก็ยิ่งรวยนต่อไป และคนจนก็ยิ่งยากจนกว่าเดิม

การศึกษาต้องถูกปฏิวัติให้คนจนเข้าถึงได้มากกว่าคนรวย หรืออย่างน้อยทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม เพื่อกระจายโอกาสในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำที่นับวันจะยิ่งถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆทั่วโลก

อนาคตของเศรษฐกิจและการเงินโลก

รู้มั้ยครับว่าสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของอเมริกาไม่ใช่ โค้ก แมคโดนัลด์ ไม่ใช่ยีนส์ลีวาย แต่เป็นเงินดอลลาร์สหัรฐ เพราะแทบทุกประเทศบนโลกเวลาจะค้าขายระหว่างกันก็จะใช้เงินดอลลาร์เป็นตัวกลาง หรือแม้แต่ถูกเอาไว้ใช้ตุนเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศด้วยซ้ำ

แต่ในอนาคตเงินหยวนของจีนก็จะค่อยๆเพิ่มความสำคัญมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นทำให้เงินดอลลาร์ของสหัฐหายไป แต่ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลจีนด้วยว่าพร้อมจะปล่อยเงินตัวเองให้กลายเป็นเงินของโลกได้มากขนาดไหน

จากแนวโน้มที่รัฐบาลจีนต้องการควบคุมทุกอย่างของตัวเองให้มากที่สุดก็น่าจะทำให้เป็นไปได้ยาก เพราะถ้าจะปล่อยให้เงินตัวเองเป็นเงินของโลก นั่นหมายความว่ารัฐบาลจีนต้องปล่อยการควบคุมที่มีกับเงินหยวนไปไม่น้อยเลยทีเดียว

อนาคตของเศรษฐกิจโลกจาก Data อีกครั้ง

การเกิดขึ้นของ 5G จะไม่ใช่แค่ทำให้เราดูหนังผ่านอินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้น ได้คมชัดขึ้น หรืออัพโหลดรูปและคลิปรวมถึงเข้าเว็บได้เร็วขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้ทุกอย่างรอบตัวเราเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้หมด หรือที่เรียกว่า IoT จริงๆซักที

จากที่ผ่านมาอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องของคนกับคน และคนกับของ แต่ 5G จะเป็นเรื่องของสิ่งของกับสิ่งของที่จะพูดคุยกันเองโดยไม่ต้องผ่านคน เช่น ตอนที่ผมกำลังจะเลี้ยวรถเข้าบ้าน โทรศัพท์มือถือผมอาจจะส่งข้อความไปบอกแอร์ที่ห้องนอนให้เปิดรอ บอกประตูบ้านให้เตรียมเปิดรับรถที่จะเลี้ยวเข้าไปจอดเพื่อผมจะได้ไม่ต้องแตะเบรกรถให้เสียเวลา แล้วพอผมลงรถปุ๊บมันก็สั่งให้ประตูปิดเอง

เป็นยังไงครับ ในยุค IoT เราไม่ต้องบอกให้สิ่งของต่างๆทำอะไร มันเรียนรู้และบอกกันเองว่าแต่ละอันต้องทำอะไรบ้าง

ด้วย 5G และ IoT จะทำให้เกิด Data มหาศาลจากเซ็นเซอร์รอบตัวเรา แต่เช่นเดียวกันว่าใช่ว่ามี Data มากกว่าแล้วจะได้เปรียบเสมอไป เพราะคุณค่าที่แท้จริงไม่ใช่ Data ที่มี แต่ขึ้นอยู่กับการสกัดเอาคุณค่าออกมาจาก Data นั้นต่างหาก

เพราะ Data ก็เหมือนน้ำมันดิบครับ ถ้าสกัดออกมาไม่เป็น หรือสกัดออกมาไม่ดี ก็ไม่เกิดประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น และที่สำคัญ Data เป็นทรัพยากรชนิดเดียวที่ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมดเหมือนเหล็ก เหมือนน้ำมัน แต่ยิ่งใช้กลับยิ่งเจอคุณค่าใหม่ๆเพื่อเอามาสร้างมูลค่าให้เพิ่มขึ้นครับ

ถ้าคุณสงสัยว่า Data จะมีค่ามากขนาดไหนกัน เอาอย่างนี้แล้วกันครับ กับข้อมูลของสภาพภูมิอากาศของบริษัทหนึ่งที่ชื่อว่า The Wealther Company มีมูลค่าถึง 20,000 ล้านดอลลาร์เมื่อ IBM ขอซื้อไปใช้งานต่อ

นี่แค่ข้อมูลสภาพภูมิอากาศฝนตก แดดออก ฟ้าครึ้มนะครับ ลองคิดดูซิว่า data อื่นๆถ้ารวบรวมไว้ดีๆจะมีมูลค่าได้อีกขนาดไหน

หรือแอพเรียกรถแท็กซี่ที่จีนอย่าง Didi Chuxing นั้นมีทั้ง Alibaba และ Tencent ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนเข้าไปร่วมลงทุนด้วย คุณคิดว่าเค้าอยากได้อะไร กำไรจากการเรียกรถของผู้โดยสารทั่วไปหรอ เปล่าเลยครับ เค้าต้องการ data ต่างหาก

ลองคิดดูซิว่าเค้าจะสามารถเข้าถึง data ที่อยู่จริงๆ ที่ๆคนๆนั้นชอบไป เวลาที่ชอบเดินทาง เพื่อเอาข้อมูลพวกนั้นไปประกอบกับ data อื่นๆที่เค้ามีเพื่อทำให้เข้าใจแต่ละคนมากขึ้นครับ

อนาคต Data อาจใช้จ่ายได้แทนเงินจริงๆ

ซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองฮัมบูร์กที่ชื่อว่า Datenmarkt ให้ลูกค้าใช้รูปส่วนตัว 5 รูปเพื่อแลกกับผลไม้กระป๋องแล้ว หรือบริษัท Fintech ที่ชื่อว่า WeLab ในฮ่องกงก็ให้ส่วนลดดอกเบี้ยเงินกู้กับคนที่ยอมให้เข้าไปดู Facebook และ LinkedIn ครับ

อนาคตของ Cryptocurrency อาจพลิกไปจากที่คิด

จากเดิมจุดตั้งต้นของเทคโนโลยี Blockchain คือการต้องการกำจัดตัวกลางออกไป ที่เรียกว่า Decentralization เพราะสถาบันการเงินเป็นตัวกลางที่ไม่น่าเชื่อถือ ต้องการกระจายอำนาจทั้งหมดให้กับทุกคนที่เข้ามาในระบบตามแนวคิดประชาธิปไตยที่แท้จริง

แต่กลายเป็นว่าตอนนี้แบงก์ชาติของหลายชาติทั่วโลกกำลังทดลองใช้ Cryotocurrency ในระบบปิดของตัวเอง และถ้าสำเร็จเมื่อไหร่ก็จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปในประเทศได้ใช้กัน นั่นเท่ากับว่าเราจะมีกระเป๋าเงินจริงๆ และกระเป๋าเงิน Cryptocurrenct​ ที่ออกเงินดิจิทัลโดยแบงก์ชาติ ฟังดูเป็นเรื่องแต่รู้มั้ยครับที่น่ากลัวคือธุรกิจธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดในวันนี้จะไม่จำเป็นอีกต่อไป

เพราะเมื่อแบงก์ชาติสามารถออกเงินเองและส่งให้ถึงมือประชาชนเอง การพึ่งพาธนาคารพาณิชย์ในการกระจายเงินให้ถึงประชาชนผ่านสาขาหรือตู้ ATM ต่างๆก็จะไม่จำเป็นอีกต่อไป

ทีนี้สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือแบงก์ชาติจะสามารถตามรอยเงินทุกบาทของเราทุกคนได้ เหมือนติด GPS ไว้ที่เงินเลยครับ

ทีนี้ที่น่ากลัวหนักกว่าคือถ้าวันนึงแบงก์ชาติเกิดปรับอัตราดอกเบี้ยแบบติดลบเหมือนกับบางประเทศพัฒนาแล้วพยายามทำเพื่อให้เศรษฐกิจคล่องตัวขึ้น งานนี้จะเอาเงินหนีไปไหนก็ไม่ได้ เพราะยานแม่สั่งปุ่มเดียวเงินเราก็จะเป็นไปตามนั้นเลยครับ

และทั้งหมดนี้ก็ผิดวัตถุประสงค์ของ Blockchain โดยแท้ที่ต้องการกำจัดการรวมศูนย์ กลายเป็นทำให้การรวมศูนย์นั้นแข็งแกร่งจนน่ากลัวมากเลยครับ

อนาคตของการนโยบาย Negative List Approach

เรื่องนี้น่าสนใจครับ เป็นวิธีการออกกฏระเบียบของรัฐบาลสิงค์โปร คือเค้าต้องการเป็นผู้นำด้านการเงินโลกในอนาคต ผู้นำด้าน FinTech ผู้นำด้าน Cryptocurrency แต่ปัญหาคือเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยมีใครมีประสบการณ์มาก่อน และปัญหาสำคัญคือประเทศส่วนใหญ่มักใช้กฏระเบียบแบบเก่ามาครอบ ทำให้เทคโนโลยีไม่พัฒนาไปอย่างที่ควร หรือเริ่มด้วยการออกกฏว่าอะไรบ้างที่ทำได้ผ่านความรู้เดิมและการคาดเดาในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น หรือเรียกว่า Positive List คืออะไรที่ทำได้บ้าง

ฟังดูดีแต่นี่เป็นการจำกัดการเรียนรู้และเติบโตของเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้อย่าง FinTech อย่างมากครับ

รัฐบาลสิงค์โปรเลือกใช้วิธีการทำไปก่อนแล้วค่อยห้าม เพราะตัวเองก็ยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ ดังนั้นก็ต้องปล่อยให้เอกชนทำไป ให้หน่วยงานต่างๆทำไปโดยมีอิสระเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันก็ตามดูทุกย่างก้าว และเมื่อเห็นว่ามีอะไรที่ไม่ดีเกิดขึ้น และไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต ก็จะค่อยออกกฏว่าสิ่งนี้ห้ามทำ ให้ไปทำสิ่งอื่น

ด้วยแนวคิดนี้ทำให้เรียนรู้เทคโนโลยีได้เร็ว ได้เห็นศักยภาพอย่างที่วิธี Positive List ให้ไม่ได้ เพราะถูกจำกัดมาแต่แรกแล้วว่าให้ทำอะไรได้บ้าง นั่นหมายความว่ามีอีกล้านๆอย่างที่ถูกห้ามทำครับ

อนาคตเป็นของคนที่ร่วมมือกัน

ในระดับนโยบายของประเทศนั้นเรามักไม่ค่อยเห็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน เรามักจะเป็นการแยกกันทำงานเป็นส่วนๆ เอาง่ายๆ ข้อมูลทะเบียนรถยนต์หรือใบขับขี่เราระหว่างจราจรกับกรมขนส่งยังไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้เลย ทั้งๆที่ก็ใช้รถเป็นข้อมูลเดียวกัน รายนึงเก็บภาษี อีกรายนึงเก็บค่าปรับ ทั้งที่ถ้ารวมกันได้จะทำให้รัฐได้รายได้เพิ่มอีกมหาศาล และทุกฝ่ายก็ทำงานสะดวกขึ้น

เช่น ถ้าขับรถฝ่าไฟแดงวันนี้ก็ค่อยให้ตามจ่ายอีกทีตอนต่อทะเบียนครั้งหน้า หรือถ้ารถคันนี้ขึ้นทางด่วนก็ไม่ต้องคอยชะลอเพื่อจอดหยิบเงินจ่าย แต่สามารถเอาไปรวมยอดกันตอนสิ้นปีที่ต้องต่อภาษีรถได้เลย

ง่ายๆแค่นี้รวมกันได้มั้ยครับ ไม่ต้องแย่งกันทำงาน

ผู้เขียนเปรียบเทียบปัญหานี้ได้ดีว่าเหมือนบ้านที่มีแต่ห้องรับแขก ไม่มีห้องน้ำ ไม่มีครัว การทำงานไม่ต่อเนื่องไหลลื่น เพราะแต่ละฝ่ายอยากได้หน้า ทำให้บ้านไม่เป็นบ้านซักทีครับ

และทั้งหมดนี้ก็คือบางช่วงบางตอนจากหนังสือ Futuration เล่มนี้ ที่ว่าด้วยเรื่องของอนาคตที่เราทุกคนต้องเผชิญ ด้วยภาษาง่ายๆในรูปแบบจดหมายที่พ่อคนนึงเขียนคุยกับลูกตัวเอง ดังนั้นต่อให้คุณไม่ได้จบสูง ไม่ได้ทำงานสายเทคโนโลยีใดๆ คุณก็สามารถอ่านเข้าใจได้อย่างสนุก

ผมนับถือ ดร. สันติธาร เสถียรไทย ตรงที่สามารถถ่ายทอดเรื่องที่ทั้งยากและซับซ้อนมากๆให้กลายเป็นเรื่องง่ายๆได้ มีการเปรียบเทียบตัวอย่างง่ายๆใกล้ตัวให้เห็น สามารถเปรียบเทียบปัญหาสถาบันการศึกษาให้เหมือนกันธุรกิจเพลงที่เราส่วนใหญ่ล้วนคุ้นเคยดี คนที่สามารถทำแบบนี้ได้ต้องเป็นคนที่เข้าใจจนถึงแก่นจริงๆครับ เพราะถ้ารู้แต่ผิวก็จะเต็มไปด้วยศัพท์แสงเทคนิคมากมายที่ฟังกี่รอบก็ไม่เข้าใจ ผมเชื่อว่าคุณคงคุ้นกับสถานการณ์แบบนี้ดี

สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณ ดร. สันติธาร เสถียรไทย เป็นการส่วนตัวครับ ที่ช่วยเขียนบทความดีๆออกมาและรวบรวมเป็นหนังสือเล่มนี้ ผมขอฝากตัวเป็นแฟนคลับติดตามผลงานอีกคนนับแต่วันนี้ไปเลยแล้วกันนะครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 26 ของปี 2019

สรุปหนังสือ Futuration
เปลี่ยนปัจจุบันทันอนาคต
ถอดรหัสโลกอนาคตผ่านมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเซีย
ดร. สันติธาร เสถียรไทย เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน

20190426

คือสิ่งเดียวกันแต่ให้ความสำคัญต่างกัน ด้วยเหตุผลที่ต่างไปของแต่ละคน เช่น รถหรู อาจสำคัญดั่งลมหายใจของใครบางคน ที่ตั้งเป้าให้เป็นเหมือนยอดเขาที่จะไปพิชิตให้ได้ กับอีกคน รถหรู คันนั้นอาจเป็นแค่สิ่งที่ถ้าได้ก็ดี แต่ถ้าไม่มีก็ได้

ของสิ่งเดียวกัน คนนึงให้ค่าดั่งลมหายใจที่ขาดไม่ได้ แต่อีกคนกลับให้ค่าดั่งอากาศ ที่แค่สูดหายใจพอประมาณแล้วก็ผ่านเลยไป

เหมือนบางคนที่มีเป้าหมายในชีวิต คือการได้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ บางคนอีกมีเป้าหมายในชีวิตเป็นบ้านซักหลัง หรือบางคนอาจมีเป้าหมายแค่มีเวลาอยู่กับครอบครัว

แต่ละคนมีเป้าหมายแตกต่างกัน แต่ทุกคนล้วนมีเป้าหมายด้วยกันทั้งนั้น

ครั้งนึงผมเคยคิดอยากมีชื่อเสียงโด่งดัง ครั้งนี้งผมเคยคิดอยากมีเงินเดือนมากๆ ครั้งนึงผมเคยคิดอยากมีเวลาอยู่กับครอบครัว ครั้งนึงผมเคยคิดอยากไปเป็นผู้ให้ได้มากกว่านี้ ครั้งนี้ผมคิดว่าอยากมีเวลาอ่านหนังสือเยอะๆ

เป้าหมายไม่เคยนิ่ง เพราะชีวิตไม่เคยหยุด เวลาและประสบการณ์ทำให้ความคิดเราเปลี่ยนไป เป้าหมายจึงเปลี่ยนตาม

บางช่วงตอนในเล่ม นักธุรกิจคนนึงบอกว่า ชีวิตก็เหมือนกับเหรียญที่มีสองด้าน ด้านชนะ กับ ด้านแพ้

และการตัดสินใจในชีวิตก็เหมือนกับการโยนเหรียญ ถ้าโยนออกด้านชนะก็ดี แต่ถ้าออกด้านแพ้ก็เพียงแค่หยิบเหรียญขึ้นมาใหม่ แล้วโยนต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะออกด้านชนะ

ฟังดูเรียบง่าย แต่กลับทำได้ไม่ง่ายในชีวิตจริง

ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ แต่ไม่ค่อยมีใครอยากทำ

ทีมเยอรมนีในฟุตบอลโลกครั้งก่อนที่ได้แชมป์ มีเรื่องเล่าว่าที่เป็นแชมป์เพราะให้ความสำคัญกับทีมเวิร์คมาก

มากขนาดไหนหรอครับ มากขนาดว่ามาสร้างแคมป์ให้นักเตะล่วงหน้าเป็นปีๆ สร้างบ้านหลังใหญ่ๆให้นักเตะได้ใช้ชีวิตด้วยกันแบบ 24 ชม อย่างกับเรียลลิตี้โชว์ทีเดียว

เมื่อนักเตะได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันจริงๆ ไม่ใช่แค่ได้นอนพักห้องใครห้องมันในโรงแรมหรูๆ ผลก็คือทีมเวิร์คที่เหนือกว่าทีมอื่น

ทีมชาติอื่นคือซุปเปอร์สตาร์ที่มารวมตัวกันเล่นบอลเป็นบางครั้ง แต่ทีมชาติเยอรมนีนั้นใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน

อากาศของทีมเยอรมันคือดาวดัง นักเตะเก่ง แต่ลมหายใจของทีมนี้คือทีมเวิร์ค

ความรู้ ช่วยให้เรารู้ว่าจะทำสิ่งต่างๆให้สำเร็จได้อย่างไร แต่ ปัญญา และ สามัญสำนึก ทำให้คุณสามารถตัดสินใจว่าควรทำอะไร และทำไมต้องทำสิ่งนั้น

เพราะการเลือกไม่ทำบางอย่าง มาจากปัญญาที่รู้จักลำดับความสำคัญ

สุดท้ายแล้วหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมนึกถึงหนังสืออีกเล่ม“อะไรไม่จำเป็นก็ทิ้งไป” เป็นหนังสือที่สอนให้เราจัดลำดับความสำคัญของสิ่งของในชีวิต จนไปถึงความสำคัญของสิ่งต่างๆในชีวิต

เรามักทำสิ่งที่ “ต้องทำ” และ “ควรทำ” จนไม่มีเวลาให้กับสิ่งที่ “อยากทำ” เท่าไหร่

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 72 ของปี 2018

สรุปหนังสือ คือลมหายใจไม่ใช่อากาศ
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจเล่มที่ 23
หนุ่มเมืองจันท์เขียน
สำนักพิมพ์มติชน

20180530

ถ้าอ่านแค่หน้าปกเผินๆทำให้นึกถึงสโลแกนของช้างเมื่อหลายปีก่อนว่า “ชีวิตใช้ซะ” และก็กลายเป็นสโลแกนที่ใช้กันจนชินหูในหนังโฆษณาสมัยนี้ ล่าสุดไปดูหนังที่โรงก็เห็นโฆษณารถยนต์รุ่นหนึ่งที่บอกว่า “ออกไป…ใช้ชีวิต”

ฟังจบปุ๊บอยากวิ่งออกจากโรงไม่ดูมันแล้วหนัง แล้วออกไปใช้ชีวิตเลย..

พูดเล่นครับ ดูจนจบนี่แหละ

กลับมาที่หนังสือเล่มนี้ของหนุ่มเมืองจันท์ ทำไมถึงบอกว่า “ชีวิตไม่ใช้ไม่ใช่ชีวิต” เพราะหลายเรื่องราวที่เล่าในเล่มพูดให้เรากล้าที่จะออกนอกกรอบ หรือกล้าที่จะทำตามหัวใจไม่ใช่แค่สมอง

แต่ก็ต้องอิ่มท้องด้วยนะครับ เช่น

นิ้วกลม บอกให้เด็กคนนึงออกไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือต่างประเทศคนเดียวบ้าง เพื่อแก้โรคไม่มั่นใจในตัวเอง

น้องคนนี้เดินเข้ามาปรึกษา เอ๋ นิ้วกลม ว่าทำยังไงดีตัวเองเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเองเอาเสียเลย

เอ๋ นิ้วกลม แนะนำไปง่ายๆว่า ออกไปเที่ยวไกลๆคนเดียวครับ

เพราะเมื่อไหร่ที่เราต้องเดินทางคนเดียว นั่นหมายความว่าทุกเรื่องเราต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะนอนที่ไหน หรือไปที่ไหน จะหยุดกินร้านไหน หรือจะเดินเข้าตรอกซอกซอยไหน หรือแม้แต่กระทั่งจะขึ้นรถเมล์ หรือลงรถไฟใต้ดินสถานีไหน

เป็นการฝึกตัดสินใจด้วยตัวเองแบบบังคับ ตัดสินใจเอง และรับผิดชอบผลที่ตามมาเอง ถูกก็ดี ผิดก็ตัดสินใจใหม่ วนเวียนไปแบบนี้เรื่อยๆ

เพราะชีวิตไม่มีใครตัดสินใจได้ถูกทุกครั้ง ทุกเรื่องหรอกครับ การตัดสินใจผิดเป็นเรื่องปกติของชีวิต

เมื่อตัดสินใจผิดก็ต้องตัดสินใจใหม่ เมื่อได้ตัดสินใจด้วยตัวเองมากๆ รู้จักแก้เกมมากๆ ความมั่นใจก็จะตามมา ทีนี้จะถูกจะผิดก็จะไม่กลัวเพราะต่อให้ผิดก็ยังมั่นใจว่าตัดสินใจใหม่แก้ไขได้

หรือถ้าแก้ไขไม่ได้ก็ยังยอมรับมันได้

ทำให้คิดถึงตอนที่ผมเคยเดินทางไปเที่ยวกระบี่คนเดียวเมื่อสมัยหนุ่มๆเลยครับ

เริ่มจากเลือกที่พักเอง เลือกรถที่จะเข้าเมืองเอง เลือกร้านอาหารเอง เลือกเองว่าจะไปไหนไม่ไปไหน เจอร้านอร่อยบ้างไม่อร่อยบ้าง ได้คุยกับคนแปลกหน้าบ้าง ไม่กล้าคุยบ้าง

เป็นรสชาติของชีวิตดีครับ นี่เคยคิดเล่นๆมานานแล้วว่าอยากลองไปเที่ยวต่างประเทศคนเดียวดูบ้าง แต่ยังกลัวๆอยู่ แต่คงจะได้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับตัวผมเองดีไม่มากก็น้อย ก็ถือเป็นการออกไปใช้ชีวิต ให้สมกับที่มีชีวิตเลยนะครับ

หรือนักออกแบบที่ออกไปค้นหาสีฟ้ามาเป็นสีกางเกงยีนส์ จากท้องทะเลทั่วญี่ปุ่น

ซาโตชิ ฟูจิวาระ เป็นนักออกแบบของแบรนด์ Issey Miyake หรือกระเป๋า Bao Bao ที่ราคาไม่เบายอดนิยมของสาวๆเอาซะเลย ในตอนที่เค้าจะหาสีฟ้ามาใช้เป็นสีของกางเกงยีนส์รุ่น Galaxy ของ Issey Miyake นั้น เค้าไม่เลือกโทนสีฟ้าจากคอม หรือ Pantone (กระดาษแถบสีมากมายที่นักออกแบบรู้จักกันดี) เหมือนนักออกแบบคนอื่น แต่เค้าเลือกที่จะออกไปตามหาสีฟ้าที่สวยที่สุดของญี่ปุ่นด้วยตัวเอง

ด้วยการตระเวนออกไปดูสีฟ้าของท้องทะเลทั่วประเทศญี่ปุ่น จนได้สีฟ้ามามากมาย แล้วสุดท้ายก็ได้สีฟ้าที่เค้าว่าสวยที่สุดจนกลายมาเป็นฟ้าบนยีนส์รุ่น Galaxy ที่ว่า ที่ไม่เหมือนยีนส์ไหนๆในโลก

แค่ฟังเรื่องราวก็ขนลุก อยากจะไปเห็นยีนส์ตัวนี้กับตาเลย

เป็นไงครับ กับแค่หาสีฟ้า ถึงขนาดต้องออกไปตามหาทั่วประเทศ โคตรจะเข้าคอนเซปกับชื่อหนังสือจริงๆ

หรืออีกเรื่อง ร้านตำแหล ของ เอ ศุภชัย ที่ชวนให้คนออกมาใช้ชีวิตที่ร้าน เผื่อจะได้ชีวิตใหม่เป็นดาราในสังกัด เอ

เรื่องก็คือร้านตำแหลที่หลายคนอาจเคยคุ้น และรู้ว่าเป็นของ เอ ศุภชัย นั้น ไม่ได้เปิดแค่ขายอาหารส้มตำอร่อยๆเฉยๆ แต่ในตอนแรกยังเปิดไว้คัดหนุ่มสาวหน้าตาดีรุ่นใหม่ให้มาเป็นเด็กปั้นในสังกัดด้วย

เพราะในร้านจะมีบอร์ดให้ลูกค้าที่มั่นใจว่าหน้าตาดีเอารูปตัวเองมาติด ครั้นจะแค่เข้ามาติดก็เขินๆ ก็ต้องมีมากินมาเป็นลูกค้ากันบ้างแหละ

พอมีรูปมาติด เอ ศุภชัย ก็เข้ามาคัดคนหน้าตาดีที่เป็นลูกค้าตัวเอง เพื่อติดต่อมาดูตัวจริงกันอีกครั้ง

พอคนหน้าตาดีชอบมากินร้านตำแหล ก็ทำให้คนธรรมดาก็อยากมากินไปด้วยเป็นธรรมดา งานนี้ถือว่าเป็นสุดยอดกลยุทธ์การขาย ที่ทำให้วินทุกฝ่าย

เอ ศุภชัย นอกจากจะได้ลูกค้าแล้ว ยังได้โอกาสเจอคนหน้าตาดีที่จะเอามาปั้นต่อได้ด้วย ส่วนหนุ่มสาวที่หน้าตาดีนอกจากจะได้อิ่มท้องกับอาหารอร่อยๆแล้ว ยังมีโอกาสได้เป็นดาราหน้าใหม่ในวงการอีกด้วย

ส่วนคนทั่วไปน่ะหรอ อาหารตาเต็มๆ และสุดท้ายก็กลับมาเป็นยอดขายให้ร้านตำแหลขายดิบขายดีจนถึงทุกวันนี้ ทำเอาร้านตำแหล ของ เอ กลายเป็นเซ็นเตอร์พอยท์ในสมัยก่อนเลย

เรื่องสุดท้าย ไม่เกี่ยวกับการใช้ชีวิต แต่เป็นการ “ให้ชีวิต” ให้ชีวิตปูไข่เพื่อให้เกิดปูรุ่นใหม่อีกล้านตัว

ปูไข่ ของอร่อยที่หลายคนชอบกิน ใครจะรู้บ้างว่าเวลาคุณเห็นปูไข่ที่มีไข่แดงๆล้นออกมานอกตัวนั้น คือแม่ปูที่กำลังจะปล่อยไข่ออกไปให้กำเนิดลูกปูเป็นล้านตัว แถมไข่ที่ล้นออกมาก็ไม่อร่อยไม่น่ากินเท่ากับไข่ที่มันๆอยู่ในตัวปู

ทีนี้ชาวบ้านก็เลยเกิดไอเดีย “ปล่อยปู” เหมือนปล่อยนก ปล่อยปลา ที่คนไทยชอบ แถมการปล่อยปูไข่ที่กำลังจะวางไข่นั้น ยังน่าจะได้บุญมากกว่า เพราะมีไข่ปูเป็นล้านที่จะกลายเป็นปูรุ่นใหม่อีกด้วย

วิธีการก็ง่ายๆ ไปซื้อปูไข่ที่ไข่ล้นออกมาจากตัว ซึ่งรสชาติไม่อร่อยถ้าเอาไปทำกิน เพื่อเอาไปปล่อยคืนสูทะเล ให้แม่ปูได้วางไข่ล้านใบเป็นลูกปูในวันข้างหน้า

ทีนี้ถ้าจะซื้อไปปล่อยเฉยๆก็อาจจะโดนจับคืนมาใหม่ได้ เหมือนเวลาเราปล่อยปลาปุ๊บ แปบเดียวเจอเด็กมือดีช้อนกลับมาขายแม่ค้าอีกครั้ง เห็นทีไรเจ็บใจทุกที

ทางชาวบ้านเจ้าของไอเดียก็มีทางแก้ ด้วยการเอา “สีเมจิก” เขียนบนกระดองปูไปเลยว่า แม่ปูไข่ตัวนี้ถูกซื้อมาปล่อยโดยคนชื่ออะไร

ทีนี้ลองคิดดูซิว่าถ้าเกิดมีชาวประมงจับได้ปูตัวนี้มา จะกล้าเอาไปขายหรือเอาไปกินหรอครับ ก็มีชื่อขึ้นหราอยู่บนกระดองขนาดนั้น บาปคาตาขนาดนี้ กินลงก็ใจดำอำมหิตเกินไปแล้ว

สรุปชีวิตไม่ใช้ไม่ใช่ชีวิต อ่านจบแล้วอยากออกไปใช้ชีวิต กินปูไข่เป็นมื้อเย็นจริงๆเลยครับ แต่ไม่เอาตัวที่มีชื่อเขียนบนกระดองนะ ผมกลัวบาป

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 69 ของปี 2018

ชีวิตไม่ใช้ไม่ใช่ชีวิต
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ เล่มที่ 21
หนุ่มเมืองจันท์ เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน

20180526

“อะไรที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดีเสมอ” เป็นการยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น และหาข้อดีในสิ่งที่เป็นอยู่ให้เจอ แม้จะไม่มีข้อดีมีแต่ปัญหา แต่ถ้ารู้จักใช้ปัญญา แก้ปัญหา ก็ย่อมมีโอกาสใหม่ๆตามมาทุกครั้ง

เพราะปัญหาคือบิดาของนักประดิษฐ์ และไม่ใช่แค่นักประดิษฐ์ แต่ยังหมายถึงโอกาสของชีวิต และทางธุรกิจมากมายด้วย

มีตอนหนึ่งในเล่มที่เปรียบปัญหาในการทำงาน เหมือนกับการทำอาหารด้วยเตาถ่า

ตอนจะจุดให้ไฟติดนั้นแสนลำบาก ต้องคอยหาถ่านก้อนเล็กมาเติม มือก็ต้องคอยพัดให้ไฟติด ก็เหมือนกับตอนเริ่มต้นธุรกิจ อะไรก็ยากไปหมด

การทำงาน การใช้ชีวิต นั้นมี “สูตร” แต่ไม่มี “สูตรทำเร็จ” ที่ทำตามได้เป๊ะๆแล้วเพอร์เฟ็คเหมือนเค้า

แต่ต้อง กะ กะ เอาว่าสูตรที่เรากำลังทำ ใช้กับชีวิตนี้ต้องประมาณไหน ปรุงตามสูตรไป ชิมไป แล้วก็ปรับๆเอา จนกว่าจะรสชาติได้ที่ พอดีกับตัวเรา

จากเรื่องสูตรก็มาที่ “ปัญหา”

ปัญหาเหมือนกับความร้อนในเตาถ่าน ควบคุมไม่ได้ แต่แก้ไขได้

ควบคุมไฟให้ร้อน ให้แรงดั่งใจ ทำไม่ได้กับเตาถ่าน แต่ถ้าไฟร้อนไปเราแก้ไขได้ด้วยการตักขี้เถ้ามากลบหน่อย ไฟก็เบาลง แต่ถ้าอยากให้ไฟแรงขึ้น ก็เอาขี้เถ้าออกแล้วออกแรงพัด

แปบเดียวไฟก็ได้อย่างที่ควร ปัญหาก็เหมือนกัน ควบคุมไม่ให้ไม่เกิดไม่ได้ แต่แก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้

บทหนึ่งตอนนึงพูดถึงเรื่อง “ชื่อนี้สำคัญไฉน” จนผมคิดว่าน่าจะเรียกว่า “Name Marketing” เลยก็ได้นะ

เรื่องคือ แอนดรูว์ คาร์เนกี้ อดีตราชาพ่อค้าเหล็กของอเมริกา ตอนอายุ 10 ขวบ เค้าได้กระต่ายตัวเมียมาตัวหนึ่ง โดยไม่รู้ว่ากระต่ายนั้นตั้งท้องอยู่ เลี้ยงได้ไม่นานกระต่ายก็คลอดลูกออกมาอีก 5 ตัว

ปัญหาของ คาร์เนกี้ วัยเด็กตอนนั้นคือ ตัวเองมีค่าขนมจำกัด ไม่พอที่จะซื้ออาหารมาเลี้ยงกระต่ายตัวแม่ และลูกอีก 6 ตัวได้

ถ้าเป็นคุณๆจะแก้ปัญหายังไง?

ผมคงเอากระต่ายตัวลูกไปขาย ไม่ก็แจกเพื่อนบ้าน แต่ไม่รู้ว่าจะมีใครรับซื้อหรือรับเลี้ยงมั้ยนะ

แต่ แอนดรูว์ คาร์เนกี้ ใช้วิธีตั้งชื่อลูกกระต่ายทั้ง 5 ตัว ตามชื่อเพื่อนสนิทแต่ละคน แล้วก็ชวนเพื่อนมาดูลูกกระต่ายที่บ้าน

ผลคือเพื่อนๆชอบลูกกระต่ายเหล่านี้มาก แต่ทุกคนไม่ได้ชอบลูกกระต่ายทุกตัว ชอบแค่ตัวที่ชื่อเหมือนตัวเองเท่านั้น

และสุดท้ายเพื่อนทั้ง 5 คนของเค้า ก็อาสาซื้ออาหารมาคอยเลี้ยงลูกกระต่ายเรื่อยๆหลังจากนั้น

นี่แหละครับ Name Marketing หรือคำที่เพราะที่สุดของทุกคนบนโลก ก็คือ “ชื่อตัวเอง” ทั้งนั้น

และเมื่อโตขึ้นตอนเป็นนักธุรกิจ แอนดรูว์ คาร์เนกี้ ก็ยังใช้วิธีเดียวกันนี้ในการขายรางรถไฟให้ การรถไฟเพนซิลเวเนีย ได้ชนะคู่แข่งมากมายโดยที่ไม่ต้องลดราคา

ครั้งนึง คาร์เนกี้ ไปตั้งโรงงานเหล็กกล้าที่เมืองพิตส์เบิร์ก เป็นโรงงานผลิตรางรถไฟโดยเฉพาะ ลูกค้าเป้าหมายหลักของเค้าคือ การรถไฟเพนซิลเวเนีย ที่มีประธานกรรมการชื่อว่า “ทอมสัน”

คาร์เนกี้ จึงตั้งชื่อโรงงานว่า “ทอมสัน” ซื่อๆตรงๆแต่กระแทกใจลูกค้า ทำให้แค่ได้ยินชื่อโรงงานก็อยากจะซื้อแล้ว

สงสัยแคมเปญโค้กเมื่อหลายปีก่อน ที่เอาชื่อคนมากมายมาไว้บนขวด จะเคยอ่านเจอเรื่องนี้

เปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงที่จะเกิด ไม่สำคัญเท่าวิกฤตเมื่อเกิดขึ้น

ไกรสร จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด เป็นเจ้าของแนวคิดนี้ ที่ถ่ายทอดมาว่า เรื่องอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีความเสี่ยงแค่ 1% หรือ 0.01% แต่ถ้าเกิดขึ้นก็กลายเป็นเต็ม 100 เสมอ

ดังนั้นหลักการตัดสินใจของไกรสรคือ ไม่ได้ดูที่เปอร์เซ็นต์ที่จะเกิด แต่ดูจากวิกฤตที่ถ้าเกิดขึ้นแล้วรับไหวมั้ย ถ้าไหวก็ลุย แต่ถ้าไม่ไหวก็เลิก

แนวคิดนี้มาจากช่วงก่อนวิกฤตฟองสบู่ ลอยตัวค่าเงินบาท

ในสมัยนั้นหลายบริษัทมากมายกู้เงินต่างประเทศ มาฝากกินดอกในประเทศ ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่างมากจนสามารถกู้มาฝากก็ยังกำไรได้

ใครๆก็ทำกัน แต่ไกรสร ของไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ ไม่ทำ

ผลคือเมื่อลอยตัวค่าเงินบาท บริษัทส่วนใหญ่ล้มระนาวเพราะเจ็บตัวจากค่าเงินลอยตัว เงินที่กู้มาฝากมาลงทุนต้นทุนจริงเพิ่มขึ้นเท่าตัว

นี่แหละครับ การตัดสินใจโดยดูจากผลกระทบเมื่อเกิด ไม่ใช่แค่โอกาสที่จะเกิด

เคยได้ยินเรื่อง “ทฤษฎีช่องว่างระหว่างวงกลม” มั้ยครับ เป็นทฤษฎีที่เจ้าของโซนี่ในยุคก่อน ทำให้โซนี่ยิ่งใหญ่ในตอนนั้น

นึกภาพง่ายๆครับ เวลามีวงกลมใหญ่ๆสองอัน หรือหลายอันอยู่ในภาพ ในแต่ละวงกลมก็เปรียบเสมือนยักษ์ใหญ่ในเวลานั้น ที่เป็นเจ้าของตลาด ดูเผินๆแล้วเหมือนไม่มีที่ให้แทรกตัวลงไปได้ใช่มั้ยครับ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าแต่ละวงยิ่งใหญ่ ก็หมายความว่ามันยิ่งมี “ช่องว่างระหว่างวงกลม” เยอะมากขึ้น

เพราะธุรกิจบนโลกนี้นั้นล้วนมีไปหมดแล้ว เพียงแต่แค่ต้องหาช่องว่างระหว่างวงกลมให้เจอ เหมือนกับ “เพรียว” กาแฟลดน้ำหนักจากค่าย เซปเป้ บิวติดริ้งค์ ที่พบช่องว่างระหว่างวงกลมนี้

ตลาดกาแฟลดน้ำหนักในตอนนั้น เป็นของวงกลมยักษ์ใหญ่อย่าง “เนเจอร์กิฟ” แต่ “เพรียว” น้องใหม่เห็นช่องว่างระหว่างวงกลมจาก “กำลังซื้อของสาวต่างจังหวัด”

กลุ่มลูกค้าหลักของตลาดกาแฟลดน้ำหนัก คือสาวๆต่างจังหวัดที่อยากผอมสวย แต่ปัญหาคือกาแฟลดน้ำหนักในตอนนั้นขายเป็นแพ็คกล่องใหญ่ แพ็คนึงก็หลายร้อยบาท คนต่างจังหวัดก็ตัดสินใจซื้อยาก จนถึงขนาดขอผ่อนกับร้านที่สนิทกันก็มี

คนอยากกิน แต่ไม่มีกำลังซื้อทีเดียวจนต้องขอผ่อน นี่แหละครับช่องว่างระหว่างวงกลมที่พูดถึง “เพรียว” เลยเป็นกาแฟลดน้ำหนักรายแรกที่แบ่งขายเป็นซองๆไม่ต้องยกแพ็ค

วันไหนอยากกินเดินไปที่ร้าน แล้วฉีกเป็นซอง เหมือนแชมพูซองอย่างไงอย่างงั้น ซื้อง่ายๆ ไม่ต้องคิดเยอะ เพราะจ่ายน้อย ผลก็คือขายดิบขายดีจนพ่อค้าแม่ขายฉีกซองกันแทบไม่ทัน

เหมือนที่วินสตัน เชอร์ชิล เคยพูดว่า “คนแพ้มองเห็นแต่ปัญหา ส่วนคนชนะมองเห็นแต่โอกาส” ก็คงเป็นประโยคที่เข้ากับชื่อหนังสือฟาสต์ฟู้ดธุรกิจเล่มที่ 18 เล่มนี้ที่ว่า “ดีที่สุดในสิ่งที่เป็น” ครับ

#อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 66 ของปี 2018

ดีที่สุดในสิ่งที่เป็น
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 18
หนุ่มเมืองจันท์ เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน

20180525