Tag

มติชน

Browsing

อีกหนึ่งหนังสือที่ผมชอบและอยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่าน แม้คุณจะไม่ได้ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์ ต้องใช้ไอเดียเป็นประจำ หรือเป็นนักสร้างนวัตกรรมอะไรก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วนต้องการเหมือนกันก็คือ “เราจะทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานอย่างไร” หนังสือเล่มนี้มีแนวทางให้คุณอ่านแล้วเอาไปประยุกต์ใช้ตามหน้างานในแต่ละวันครับ

เมื่อพูดถึงคำว่า “ความคิดสร้างสรรค์” คำนี้อาจฟังดูเป็นเรื่องยาก แต่ผมอยากจะบอกความลับให้คุณรู้ว่าไม่ว่าใครก็มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อได้ ขอแค่เพียงเข้าใจหลักการ อยู่ในสถาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพียงเท่านี้ความคิดสร้างสรรค์ก็บรรเจิดได้ทุกคน เพราะความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เป็นแค่พรสวรรค์ของใครบางคนอย่างที่เราเชื่อกันครับ

ผู้เขียน คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่ง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Design Thinking เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างนวัตกรรม หรือเรียกเป็นภาษาฝรั่งเท่ห์ๆว่า Innovation ว่าคนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดคิดไปว่า innovation คือ technology ไม่ว่าจะ ai, blockchain, machine learning, mobile application หรืออะไรก็ตามที่มันฟังดูล้ำๆ แต่แท้จริงแล้ว innovation หรือนวัตกรรมนั้นในหัวใจสำคัญอยู่ที่ Empathy หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “ความเห็นอกเห็นใจ” หรือ “ความเข้าใจ” นั่นเอง

อย่างเรื่องของรถไฟ Eurostar ที่โด่งดังของยุโรป ที่วิ่งจากลอนดอนไปปารีส แถมยังวิ่งลอดอุโมงค์ใต้แม่น้ำด้วยความเร็วสูง สูงจนจากการเดินทางปกติใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือค่อนวัน สามารถย่นย่อเวลาเหลือแค่ 3 ชั่วโมงได้ตั้งแต่เมื่อสิบปีกว่าก่อน

แต่รัฐบาลได้ยินเสียงคนบ่นว่า “ช้า” อยากให้ถึงเร็วกว่านี้ ทางรัฐบาลก็เลยเร่งลงทุนปรับปรุงแก้ไขทั้งตัวรางและตัวรถไฟ เปลี่ยนหัวจักรใหม่ให้เร็วขึ้น ใช้เงินลงทุนไปกว่า 6,000,000,000 ยูโร ตีเป็นเงินไทยก็สองแสนล้านหน่อยๆเองครับ

ผลที่ได้คือรถไฟ Eurostar เร็วขึ้นถึง 20% จาก 3 ชั่วโมงเหลือแค่ 2 ชั่วโมง 20 นาที และประชาชนก็บ่นน้อยลง รัฐบาลก็มีความสุขมากขึ้น

แต่รู้มั้ยครับว่ามีชายคนหนึ่งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการโฆษณาประเทศอังกฤษที่ชื่อ Rosy Sutherland บอกว่า บางทีการที่คนบ่นว่าช้าอาจหมายถึง “ความน่าเบื่อ” ไม่ใช่เวลา 3 ชั่วโมงก็ได้

เค้าเสนอไว้ผ่าน Ted Talks ว่า ถ้าเขาเป็นคนแก้ปัญหานี้ เค้าจะเอานางแบบนายแบบมาเดินเสริฟไวน์ให้กับผู้โดยสารบนรถไฟ ทำให้ 3 ชั่วโมงนั้นกลายเป็นช่วงเวลาความสุขที่ไม่อยากให้หมดไป อาจจะถึงขั้นอยากให้รถวิ่งช้าลงซักนิดเพื่อเพิ่มเวลาความสุขบนรถไฟด้วยซ้ำ

นี่แหละครับคือการคิดแบบสร้างสรรค์ คิดแบบนักนวัตกรรม ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ “ความเข้าใจ”

เริ่มจากการลองเข้าไปทำความเข้าใจผู้โดยสาร เข้าไปสอบถามความเห็น จนเข้าไปทดลองทำจริงและเก็บผลตอบรับ แล้วปัญหานี้อาจไม่ต้องใช้เงินถึงสองแสนล้านบาทก็เป็นได้ ถ้ารัฐบาลมีคนเป็นนักนวัตกรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ซักหน่อยจริงมั้ยครับ

การจะเข้าอกเข้าใจลูกค้าได้เพียงแค่การทำแบบสำรวจ หรือการสัมภาษณ์นั้นไม่เพียงพอ แต่คุณต้องพาตัวเองเข้าไปในสถานที่นั่น ไปอยู่ในสถานการณ์นั้น เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น หรือพูดง่ายๆก็คือเข้าไปทำตัวเป็นลูกค้าจริงๆนั่นเอง นี่คือเทคนิคขั้นเทพที่เรียกว่า “การแปลงกาย”

เหมือนอย่างที่ Sam Walton ผู้ก่อตั้งห้างสะดวกซื้อที่ใหญ่โตที่สุดในอเมริกาอย่างห้าง Walmart ใช้เป็นหลักในการทำงานของเค้าตลอดการทำงานก็ว่าได้

Sam Walton บอกกับลูกน้องที่เป็นผู้บริหารว่า ภายใน 1 สัปดาห์ ให้ออกไปอยู่กับลูกค้า 4 วัน ส่วนอีกหนึ่งวันที่เหลือถึงเอาไว้ประชุมในออฟฟิตเพื่อให้ทีมเอางานไปทำต่อ

อ่านถึงตรงนี้แล้วลองถามตัวเองว่าคุณใช้เวลากี่วันเพื่อเข้าใจลูกค้าจริงๆในหนึ่งสัปดาห์ คุณส่งลูกน้องออกไปหน้างานมากพอมั้ย หรือเอาแต่นั่งเทียนคิดแทนลูกค้าอยู่หน้าโต๊ะตากแอร์ที่ออฟฟิศครับ

และนวัตกรรมก็ไม่มีสูตรสำเร็จหรือทางลัด ที่แค่ทำตามๆกันแล้วจะเห็นผล แต่การจะทำให้นวัตกรรมเป็นจริงได้ต้องกล้าลองผิดลองถูก ล้มก็ลุก พลาดก็เรียนรู้ อย่าหยุดแค่ล้มเหลว และอย่านั่งนับวันล้มเลิก เพราะทุกอย่างที่นับเป็นนวัตกรรมใหม่ๆอย่างแท้จริงล้วนผ่านความล้มเหลวมาก่อนครับ

กว่าเอดิสันจะค้นพบหลอดไฟที่สามารถใช้งานได้ยาวนานพอ ก็ต้องผ่านความล้มเหลวเป็นพันครั้ง กว่า William Shakespeare จะโด่งดัง ก็แต่งบทประพันธ์เอาไว้เป็นร้อยเป็นพันเรื่อง ส่วนไอ้ที่ดังถึงทุกวันนี้จริงๆนับนิ้วได้เลย

เหมือนที่ไอน์สไตน์บอกว่า คนที่ไม่เคยล้มเหลว คือคนที่ไม่เคยลงมือทำอะไรเลย ดังนั้นถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น ก็จงเพิ่มความล้มเหลวเป็นสองเท่า

อุตสาหกรรมน้ำมันก็เป็นตัวแทนของเรื่องนี้ดี

รู้มั้ยครับว่าบริษัทน้ำมันใหญ่ๆทั้งหลายในโลกนั้นมีจำนวนการล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ เพราะการจะขุดบ่อแล้วเจอน้ำมันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเทคโนโลยีทุกวันนี้ขุดหลุมแรกไม่มีทางเจอแน่นอน ก็ต้องขุดหลุมที่สองสามสี่ต่อไปเรื่อยๆ ว่ากันว่าต้องเจาะถึงสิบหลุมถึงจะเจอน้ำมัน

เห็นมั้ยครับตั้ง 10 ต่อ 1 แต่เค้าก็อดทนเพราะผลลัพธ์ที่ได้นั้นหอมหวานเสียเหลือเกิน ดังนั้นถ้าคุณบอกว่าตัวเองไม่มีทางทำได้ ลองถามตัวเองว่าฉันพยายามมันถึงสิบครั้งแล้วหรือยัง ถ้ายัง ลุกขึ้นไปทำต่อแล้วเรียนรู้จากความผิดพลาดให้มากที่สุดครับ

การผิดพลาดแล้วเรียนรู้นับว่าฉลาด แต่การผิดพลาดแล้วไม่เรียนรู้จนมาผิดพลาดเรื่องเดิมนับว่าโง่ครับ

เพราะสิ่งสำคัญของความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ไอเดีย แต่ขึ้นอยู่กับคน ทัศนคติของคนเท่านั้นที่จะทำให้เรื่องใดๆก็ตามสำเร็จได้ เหมือนที่ Steve Jobs บอกว่า “ถ้าคุณเอาความคิดห่วยๆให้คนดีๆทำ คนดีเหล่านั้นจะทำให้ความคิดห่วยๆกลับกลายเป็นของดีได้”

“แต่ถ้าคุณมีความคิดดีๆ ความคิดที่ยอดเยี่ยม ความคิดที่เปลี่ยนโลกบางอย่างปล่อยให้มันไปอยู่ในน้ำมือของคนห่วยๆ ในเวลาไม่นานความคิดดีๆเหล่านั้นก็จะกลายเป็นของห่วยในที่สุด”

สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่ความคิด แต่เป็นคนที่ลงมือ “ปั้นความคิด” นั้นให้เป็นรูปธรรมต่างหากครับ

และคุณสมบัติของคนที่จะเป็นผู้สร้างนวัตกรรมที่ดีได้มี 2 ข้อ นั่นคือ “อยากรู้อยากเห็น” และ “อดทน กัดไม่ปล่อย”

ความอยากรู้อยากเห็นทำให้คุณสงสัยไปเสียทุกเรื่อง ตั้งคำถามไปเสียทุกอย่าง ท้าทายสิ่งคุ้นเคยที่เป็นอยู่ ไม่พอใจกับปัจจุบันจนสามารถมองเห็นปัญหา และเพราะปัญหาคือโอกาส ดังนั้นต้องเริ่มจากมองให้เห็นปัญหาถ้าอยากจะสร้างนวัตกรรมอะไรบางอย่างจริงๆขึ้นมาครับ

และการอดทนกัดไม่ปล่อยก็คือการไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลว เพราะครึ่งแรกคือการเป็นนักคิด นักตั้งคำถาม แต่ครึ่งหลังคือการทำให้ความคิดนั้นเป็นจริง ถ้าล้มทีสองทีแล้วท้อ ร้อยความคิดก็เปลี่ยนโลกไม่ได้ครับ

เรื่องสุดท้ายที่ผมชอบมากอยู่ท้ายเล่ม ขอเล่าปิดท้ายในสรุปหนังสือเล่มนี้ให้ฟังก็แล้วกัน เป็นเรื่องของ “นวัตกรรมของเครื่องดูดฝุ่น” ที่เข้าใจลูกค้าว่าต้องการอะไร โดยไม่ต้องประดิษฐ์อะไรที่ล้ำโลกด้วยเทคโนโลยีใดๆเลย

เรื่องเริ่มจากมีเครื่องดูดฝุ่นชนิดหนึ่งที่สามารถเอาถุงบรรจุฝุ่นไปทิ้งได้โดยไม่ต้องเลอะมือให้สกปรก ทำให้คนใช้ไม่ต้องกังวลเรื่องเครื่องดูดฝุ่นอีกต่อไป

ฟังดูน่าทึ่งแม่บ้านน่าจะชอบ แต่รู้มั้ยครับว่าผลลัพธ์นั้นกลับไม่ดีอย่างที่ขาด ถึงแม้จะสะดวกสบายขนาดนี้แต่กลับไม่เป็นที่ยอมรับของเหล่าแม่บ้านเอาซะเลย เพราะบริษัทนี้ขาดความเข้าใจเหล่าแม่บ้านที่ต้องดูฝุ่นเป็นประจำว่าเค้าอยากเห็นผลลัพธ์จากการดูดฝุ่น อยากเห็นเศษฝุ่นเส้นผมมากมายที่สามารถดูดเข้าไปได้ เพื่อจะได้ภูมิใจกับผลงานของเค้า

แค่นั้นเองครับคือสิ่งที่แม่บ้านต้องการ หาใช่ถุงบรรจุฝุ่นที่มิดชิดมองไม่เห็นเศษฝุ่นใดๆด้านใน จนทำให้เหล่าแม่บ้านไม่แน่ใจว่าตกลงฉันได้ทำความสะอาดมันไปแล้วจริงๆใช่มั้ย บ้านฉันไม่เหลือฝุ่นแล้วใช่มั้ย หรือฉันต้องดูฝุ่นใหม่กันแน่นะ

ผมลองคิดต่อเล่นๆว่าถ้าบริษัทที่ผลิตเครื่องดูดฝุ่นปรับถุงบรรจุฝุ่นให้ใสสามารถมองเห็นเศษฝุ่นข้างในได้เมื่อไหร่ นั่นแหละครับถึงจะเรียกว่านวัตกรรมที่เข้าใจกลุ่มลูกค้าแม่บ้านอย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะภูมิใจกับผลงานของตัวเองแล้ว แต่ยังมือสะอาดไม่เลอะฝุ่นอีกด้วย

เพราะนวัตกรรมไม่เคยเริ่มต้นจากเทคโนโลยี แต่เริ่มจากการไปนั่งอยู่กลางใจของลูกค้า เริ่มต้นที่ “ความเห็นอกเห็นใจ” หรือ Empathy นี่แหละครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 25 ของปี 2019

สรุปหนังสือ เมื่อหัวว่างจึงสร้างสรรค์
ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 3
กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน

20190424

เพราะเราไม่ได้เห็นโลกตามความจริง แต่เราจะเห็นโลกตามความคิด สถานการณ์เดียวกันคนนึงมองเห็นแต่ปัญหา แต่อีกคนกลับมองเห็นโอกาส

ตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหลายคนเห็นความล่มสลาย แต่คนอีกไม่น้อยมองเห็นโอกาสใหม่ๆ

ดังนั้นถ้าใครบอกว่าเพราะโลกมันไม่ดี หรือเพราะตอนนี้มีแต่เรื่องแย่ๆ อยากให้ลองปรับความคิด เปลี่ยนทัศนคติดูซักนิด แล้วคุณจะพบเรื่องดีๆที่ไม่เคยคิดอีกเยอะ

หนังสือเล่มนี้อยู่ในชุด ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ เล่มที่ 29 ของ หนุ่มเมืองจันท์ ตั้งแต่โดนลูกน้องเก่าหลอกให้อ่านเล่มนึง จนเสพย์ติดต้องตามเก็บย้อนหลังจนอ่านครบทุกเล่มแล้วครับวันนี้

เนื้อหาในเล่มนี้มีหลายหน้าที่น่าสนใจมาก ปกติเวลาผมเจออะไรน่าสนใจ ผมจะขีดต้นประโยคของช่วงที่หน้าสนใจ และพับมุมล่างของเล่มไว้ เพราะมุมบนผมเอาไว้พับตอนหยุดพักเวลาจะกลับมาอ่านต่อ

อย่าง ทฤษฎีความสุขของไอน์สไตน์ เคยได้ยินมาก่อนมั้ยครับ?

ผมคนนึงแหละที่ไม่เคย จนได้พบว่าทฤษฎีความสุขของไอน์สไตน์เองน่าจะได้รางวัลโนเบลอีกซักรอบ ในสาขาสันติภาพโลก เพราะทฤษฎีนั้นบอกไว้ว่า “ชีวิตที่เงียบสงบและเรียบง่าย นำไปสู่ความสุขมากกว่าการแสวงหาความสำเร็จที่มีแต่ความวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา”

ครับ ถ้าเรารู้จักใช้ชีวิตให้ง่ายแบบที่ไอน์สไตน์ว่า ลดเรื่องราวและสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปจากชีวิต ก็จะได้พบความสุขบ่อยขึ้น

Less conditions more happiness เงื่อนไขน้อย ก็สุขเยอะครับ

หรือ โลกที่เห็นว่าเด็กคนนึงฉลาดหรือโง่ ที่วัดจากผลการสอบ

ผู้ชายคนนึงเคยถูกอาจารย์บอกว่า “โง่” ไม่ใช่โง่ธรรมดานะครับ แต่เป็น “โง่มาก” แต่มาวันนี้ชายคนนั้นกลับเป็นชายที่ทำให้ใครหลายคนต้องหลงรัก โดยเฉพาะสาวๆ และเชื่อได้ว่าน้อยคนที่จะไม่รู้จักผู้ชายคนนี้

บอย โกสิยพงษ์ ครับ

ตอนเด็ก บอย เรียนหนังสือไม่เก่งเลย ทั้งที่ตั้งใจแค่ไหน หรือพยายามเท่าไหร่ก็แข่งกันได้ที่โหล่กับเพื่อนมาตลอดจนอาจารย์พากันปวดหัว แต่โชคดีที่แม่ของบอยเข้าใจ ไม่เคยต่อว่าบอยเลย แม่ของบอยบอกว่า บางทีโรงเรียนนี้อาจไม่ได้เหมาะกับเรา ไปหาที่อื่นเรียนดีกว่าลูก

โอ้โห ถ้าเป็นแม่ผมนี่ คงสวดไปทั้งชีวิตแน่ๆครับ

มาวันนี้บอยเป็นชายที่ถ้าจะใช้คำว่า “ประสบความสำเร็จ” ก็ยังน้อยไป บอยให้ข้อคิดเปรียบเทียบที่น่าสนใจ ที่ผมอยากจะเอามาเล่าต่อให้คนที่กำลังเป็น “พ่อแม่” ฟัง

บอย บอกว่า มนุษย์เรามีความถนัดไม่เหมือนกัน ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเอาสัตว์ทั้งป่าไปสอบด้วย “ข้อสอบชุดเดียวกัน”

เราจะเอาปลาไปแข่งปีนต้นไม้กับลิงไม่ได้ ดังนั้นในโลกของโรงเรียน ที่วัดกันแค่ “วิทย์” หรือ “ศิลป์” นั้นไม่สามารถวัดความฉลาดของเด็กทุกคนได้เท่าเทียมกัน

ถ้าใครที่กำลังเรียนไม่เก่ง ขอให้รู้ไว้ว่าคุณไม่ใช่คนโง่อย่างที่เค้าว่า คุณแค่ไม่เข้ากับมาตรฐานที่คับแคบของการศึกษา และขอให้คุณมีความพยายามตั้งใจหาสิ่งที่ตัวเองรักให้เจอ

ถึงจะไม่ประสบความสำเร็จโด่งดัง แต่คุณก็จะประสบความสำเร็จในฐานะ “มนุษย์” คนนึงครับ

พี่นิค บอสใหญ่ค่ายเพลง Genie Records ที่มีศิลปินดังในมืออย่าง Bodyslam, Bigass, Paradox, Instinct และ เคลียร์ พูดถึงการดูแลศิลปินที่ขึ้นชื่อเรื่องความคิดว่าใช้หลักการแบบปรัชญา ปล่อย แบบ ไม่ปล่อย

ศิลปินทุกคนมีความโลกส่วนตัวสูง ไม่ต้องการให้ใครตีกรอบ หรือขัดเส้น พี่นิคก็เลยมีสูตรในการดูแลศิลปินให้ไปถึงเป้าหมายที่ตัวเองต้องการว่า ไม่ตีเส้นให้เขาไต่ แต่จะทำถนนให้เค้าเดิน

สองอย่างนี้พาไปสู่เป้าหมายเหมือนกัน แต่ในความรู้สึกต่างกันลิบ

อย่างแรกการตีเส้นคือการจำกัดไปหมดทุกอย่าง ทำให้ศิลปินอึดอัดหรือไม่มีความสุขเพราะไม่ได้เป็นตัวของตัวเองได้

ส่วนอย่างหลังการเดินบนถนนนั้น ศิลปินสามารถเอียงซ้าย เหล่ขวา ออกนอกเส้นกลางถนนได้ แต่ยังอยู่บนถนนที่สร้างไว้ ยังได้ความรู้สึกในการเป็นตัวของตัวเองอยู่ และก็ถึงเป้าหมายปลายทางได้เหมือนกัน

นี่คือเคล็ดลับการดูแลศิลปินของพี่นิคครับ

หรือโลกของการทำ Brand Loyalty ที่ไม่เหมือนใครของ Naraya แบรนด์กระเป๋าผ้าสวยๆแต่กลับราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ พูดได้ว่าแบงก์ร้อยใบเดียวก็ซื้อได้ หรือถ้ามีสองใบยิ่งเลือกได้สบายเลย

ปกติแล้วการสร้างแบรนด์รอยัลตี้ คือการทำให้ลูกค้าจงรักภักดีกับเรา ไม่นอกใจไปหาแบรนด์อื่นใช่มั้ยครับ

แต่กับแบรนด์ Naraya นั้นคิดใหม่มองโลกนี้อีกมุมว่า แบรนด์รอยัลตี้ของเค้าคือ การจงรักภักดีกับลูกค้า จนทำให้ลูกค้าไม่อยากนอกใจไปที่อื่น

เวลานารายาออกกระเป๋าใหม่ จะให้พนักงานสอบถามความเห็นของลูกค้าว่าคิดยังไง ชอบไม่ชอบ แล้วถ้าไม่ชอบนั้นไม่ชอบตรงไหน ไม่ใช่แค่เก็บข้อมูลจากไม่กี่สาขาพอเป็นพิธี แต่เก็บจากทุกสาขาทั่วโลก

ทีนี้พอได้ข้อมูลมาก็เอามาปรับปรุงให้ดีขึ้น ให้ตรงกับใจลูกค้ามากขึ้น นี่แหละครับ เคล็ดลับการสร้างแบรนด์รอยัลตี้ที่ใครๆก็เลียนแบบได้ แต่กลับไม่มีใครทำ

ขอตัดใจเล่าเรื่องสุดท้ายไว้ให้ฟัง

โรงพยาบาลแห่งหนึ่งให้ทีมซ่อมบำรุงรถยนต์สูตรหนึ่ง หรือ Formula 1 มาเป็นที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้น เพราะทีมซ่อมบำรุงรถ F1 นั้น เราจะเห็นกันดีว่าใช้ทุกวินาทีได้มีประโยชน์สูงสุด

เวลารถวิ่งเข้ามาจอดนั้นแทบไม่ต้องมีใครบอกใครว่าต้องทำอะไร ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองได้เสร็จพร้อมกันในไม่กี่วินาที และเมื่อทุกคนทำหน้าที่ตัวเองได้ดีเยี่ยม ผลก็คือทีมของตัวเองก็มีโอกาสชนะสูงขึ้น

การทำงานในส่วนห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลก็เหมือนกันครับ ทุกวินาทีมีความหมายมากกว่าการแข่ง F1 เพราะนั่นหมายถึงชีวิต ชีวิตที่ไม่อาจสูญเสียได้ของใครบางคน

แต่ในการทำงานจริงมักจะเกิดปัญหา การทำงานที่ไม่รวดเร็วอย่างสอดคล้องกัน ทีม F1 ที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเลยดูวิธีการทำงาน แล้วออกแบบระบบการทำงานใหม่ ให้แต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองได้รวดเร็ว โดยลดการขัดแย้งหรือผิดพลาดระหว่างกันให้น้อยที่สุด

ผลจากการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นแบบรถ F1 คืออัตรารอดชีวิตสูงขึ้น ไม่รู้ว่าจะมีแจกบัตร F1 ให้ไปดูหลังออกจากห้องฉุกเฉินด้วยมั้ยครับ

ถ้าเรามองโลกของการทำงานในโรงพยาบาลว่าต้องใช้คนที่ทำงานในโรงพยาบาลเท่านั้น เราก็คงจะได้มุมมองเดิมๆ แต่เมื่อโรงพยาบาลมองว่าต้องการมุมมองทางด้านประสิทธิภาพขั้นสูงสุด ก็เลยได้ทีม F1 เข้ามาช่วย

โลกที่เห็น เป็นอย่างที่คิดจริงๆครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 74 ของปี 2018

โลกที่เห็น เป็นอย่างที่คิด
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจเล่มที่ 29
หนุ่มเมืองจันท์เขียน
สำนักพิมพ์มติชน

20180601

เป็นการไล่อ่านหนังสือชุดฟาสต์ฟู้ดธุรกิจย้อนหลังของผมหลังจากที่ตามเก็บมาครบทุกเล่มจากงานหนังสือต้นปี 2561 ที่ผ่านมา แม้จะผ่านมา 22 เล่มแล้วแต่ก็ยังมีเกร็ดความรู้เด็ดๆทั้งในด้านธุรกิจ จนถึงการใช้ชีวิตให้ตามเก็บได้เสมอครับ

อย่างเรื่องของ สมชาย เหล่าสายเชื้อ จากเด็กจบ ป.4 สู่ดีลเลอร์โตโยต้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย จนมีสินทรัพย์ร่วม20,000 ล้านบาท

สมชายคนนี้มีคติความเชื่อในการใช้ชีวิตว่า “คิดเก่ง” ไม่เท่า “ก้าวก่อน”
“ก้าวก่อน” สู้ “ก้าวยาว” ไม่ได้
“ก้าวยาว” สู้ “ก้าวเร็ว” ไม่ได้
“ก้าวเร็ว” เท่าไหร่ก็ไม่เท่า “การวิ่ง”
แต่ “วิ่ง” เร็วแค่ไหนก็สู้คนที่ “เดินไม่หยุด” ไม่ได้

ความสำเร็จในชีวิตของ สมชาย มากับ “ความดื้อ” ที่เดินไปเรื่อยๆ ก้าวต่อไปไม่เคยหยุด จนกลายเป็นตำนาน “โตโยต้าดีเยี่ยม” ถึงทุกวันนี้

National Geographic นิตยสารที่ได้รับการยอมรับว่า “ภาพสวย” ที่สุดหัวหนึ่งในโลก

แรกเริ่มเดิมทีนิตยสารฉบับนี้ไม่ได้มีภาพถ่ายใดๆเลย มีแต่ตัวหนังสือข้อความ บวกกับภาพแผนที่ประกอบเท่านั้น เป็นนิตยสารขนาด 96 หน้า ดูเผินๆแล้วก็หนังสือเรียน Textbook ดีๆนี่แหละครับ

แต่วันหนึ่งขณะที่ส่งต้นฉบับให้กับโรงพิมพ์เหมือนปกติ กลับมีเหตุการณ์ไม่ปกติเหมือนทุกวันคือ ทางโรงพิมพ์แจ้งมาว่าพอจัดหน้า จัดเล่มแล้ว ยังขาดอีก 11 หน้า จะเอายังไงดี

ถ้าส่งเนื้อหาอีก 11 หน้าให้โรงพิมพ์ไม่ทัน ก็ต้องเลื่อนการพิมพ์ออกไป หรือไม่ก็เอาอะไรยัดๆใส่ไปอีก 11 หน้าให้ครบๆ

แต่สิ่งที่ Gilbert H. Grosvenor ผู้เป็น บ.ก. ทำตอนนั้นคือ เอาภาพถ่ายชุดแรกๆจาก ลาซา ทิเบต ยัดเข้าไปเป็น 11 หน้าที่ขาด

ในตอนนั้นเป็นการเสี่ยงมาก เพราะเป็นสิ่งที่ National Geographic ไม่เคยมาก่อน เสี่ยงว่าจะถูกต่อว่าจากผู้ซื้อ และเสี่ยงว่าจะโดนเจ้าของไล่ออกจากงาน

แต่ผลก็คือกลับได้รับการชื่นชมและพูดถึงอย่างมาก เพราะภาพของสถานที่ๆลงไปนั้น เป็นภาพที่สวยแปลกตาไม่มีใครในยุคนั้นเคยเห็นมาก่อน

จากนั้นเป็นต้นมา National Geographic ก็ค่อยๆกลายเป็นหนึ่งในนิตยสารที่คนซื้อเพราะ “ภาพถ่าย” ไม่ใช่ “ตัวหนังสือ” แบบเดิมอีกต่อไป

Naoto Fukasawa นักออกแบบของแบรนด์ดัง MUJI ที่ใช้การออกแบบแก้ปัญหาคนใช้ร่มแบบทิ้งขว้าง

ที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น ร่ม เป็นของสามัญที่ใครๆก็มี แต่ด้วยความที่มีราคาถูกมาก ทำให้คนญี่ปุ่นนั้นใช้ร่มแบบทิ้งขว้าง เกิดเป็นขยะร่มที่ยังใช้การได้อยู่มากขึ้นเรื่อยๆ

Fukasawa เลยออกแบบให้ร่ม MUJI รุ่นใหม่สามารถ “เขียนชื่อ” ตัวเองลงไปได้ พอเจ้าร่มเขียนชื่อตัวเองลงไป ก็เกิดความรู้สึกผูกพันธ์ขึ้นมา

เมื่อร่มมีชื่อของตัวเอง คนก็ทิ้งขว้างน้อยลง ขยะร่มก็น้อยลง คนใส่ใจดูแลร่มของตัวเองมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ก็แค่เขียนชื่อบนร่มเท่านั้นเอง

ถุงชา ที่บอกได้ว่าเมื่อไหร่ได้ที่แล้ว

คุณเคยชงชาแบบถุงกินเองมั้ยครับ ที่เอาถุงวางลงในแก้ว แล้วใส่น้ำร้อนตามลงไป จากนั้นก็รอซักพัก…แต่พักเท่าไหร่ก็ไม่รู้เหมือนกัน บางทีเราก็มักจะรอนานเกินไปเพราะกลัวรสชาติจะไม่ออก แต่กลายเป็นว่ารสชาติชากลับไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น

ก็เพราะเราได้แต่ “กะ” เอาว่าควรจะแช่ทิ้งเอาประมาณเท่านี้เป็นประจำ

แต่ถุงชาอันหนึ่ง ที่มีห่วงสีน้ำตาลรัดถุงชาไว้ วิธีการชงก็เหมือนเดิมใส่น้ำร้อนลงไปในแก้ว แล้วหย่อนถุงชาแช่ทิ้งไว้ แต่ด้วยเจ้าห่วงสีน้ำตาที่รัดถุงชานี้ จะเป็นตัวบอกให้เรารู้ว่า “เมื่อไหร่” ที่ชาในแก้วแช่ได้ที่แล้ว ก็คือตอนที่สีน้ำชาในแก้วพอดีกับสีห่วงสีน้ำตาบนถุงชา

ด้วยการออกแบบเพิ่มเพียงเท่านี้ ก็ทำให้การชงชากินเองดีขึ้นมากๆเลยครับ

หรือเรื่อง ให้ฟรีใช่ว่าจะดีเสมอไป

กลยุทธ์ร้านเหล้าเปิดใหม่ที่มักใช้กันประจำคือ “บัตรแจกเหล้าฟรี” เพื่อชวนนักเที่ยวหน้าใหม่ให้เข้ามาร้านตัวเอง

แต่กลายเป็นว่าพอ “ฟรี” คนก็เกิดระแวงว่าต้องมีอะไรหมกเม็ดแน่ๆ ก็เลยค่อยมาใช้บัตรเหล้าฟรีที่ได้กันเท่าที่คิดไว้

สมัยหนึ่งในยุค RCA2 มีผับชื่อ Vogue ไม่ใช้วิธีแจกบัตรเหล้าฟรีเหมือนใคร แต่ใช้วิธีแจก “บัตรเหล้าร้อยเดียว” ขายราคาพิเศษแค่ร้อยเดียวเท่านั้น แต่กลับมีนักเที่ยวที่รับบัตรไปเอาไปใช้ที่ร้านมากกว่าตอนแจกฟรีเป็นไหนๆ

เพราะคนคิดว่าไม่ได้ๆมาฟรี แต่ได้ของดีในราคาถูก ก็เลยเกิดความไว้ใจ ทางร้านก็ฟันกำไรจากมิกซ์เซอร์ไปเต็มๆครับ

อีกหนึ่งข้อคิดเรื่องผู้นำที่ผมชอบคือ…ผู้นำที่เก่ง ไม่ใช่คนที่ “พูดเก่ง” แต่เป็นคนที่ “พูดเป็น” และเก่งใน “การฟัง”

พูดเก่ง หมายความว่า เลือกจังหวะในการพูดได้เก่ง รู้ว่าตอนไหนควรพูด ตอนไหนควรฟัง

ผู้นำที่เก่ง ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะผู้นำส่วนใหญ่มักจะเอาแต่พูด ไม่ค่อยฟัง เพราะคิดว่าความคิดตัวเองดีที่สุด ลืมใส่ใจเสียงรอบข้าง และไม่สนใจเสียงเล็กๆรอบตัว นานวันเข้าก็ไม่มีใครอยากเสนอความเห็นให้ฟัง

เราไม่เคยฉลาดขึ้นจากการพูด แต่เราฉลาดขึ้นจากการฟัง ถ้าอยากฉลาดให้มากขึ้นก็ต้องรู้จักฟังให้มากกว่าพูด

สุดท้ายนี้ถ้าคุณอยาก “มี” บางอย่างที่คุณ “ไม่เคยมี”
คุณก็ต้อง “ทำ” บางอย่างที่คุณ “ไม่เคยทำ”

ถ้าเป็นผู้นำก็ต้องเริ่มจากการหัดฟังเสียงรอบข้าง
ถ้าเป็นนักธุรกิจก็ต้องกล้าตัดสินใจทำอะไรใหม่ๆแม้จะเสี่ยง

เพราะชีวิตเป็นของเรา เลือกได้ว่าจะ “เลือก” หรือ “ไม่เลือก” อะไร

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 71 ของปี 2018

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจเล่มที่ 22
ความเชื่อคือเข็มทิศ ชีวิตเป็นของเรา
หนุ่มเมืองจันท์ เขียน
สำนักพิมพ์มติชน

20180529

ไม่แปลกที่เรามักชอบด่วนสรุป และตัดสินเป็นประจำ ผมยอมรับว่าผมเองก็เป็นหนึ่งคนในแบบที่ว่ามา จนลูกน้องบอกว่า “พี่อย่ารีบด่วนสรุปดิ ฟังให้จบก่อน”

ครับ โดนลูกน้องดุ หัวหน้าที่ดีต้องปรับปรุง

จากนั้นมาเวลาน้องคนนี้จะพูดอะไร แม้ในใจผมจะรีบด่วนสรุปด้วยความเคยชิน แต่ก็ตั้งใจฟังจนจบมากขึ้น

และก็พบว่าในสรุปแล้วมันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ผมสรุปในใจทุกครั้งไปนี่นา

เจียง เจ๋อ หมิน อดีตประธานาธิบดีจีนบอกว่า ความรู้ในโลกนี้มีอยู่เพียงสองอย่าง รู้ว่ารู้ กับ รู้ว่าไม่รู้

แต่ยังมีอีกหนึ่ง รู้ ที่น่ากลัวที่สุดครับ คือ “คิดว่ารู้” ทั้งที่จริงไม่รู้ เพราะรีบด่วนสรุปตัดสินไป จนพลาดที่จะได้รู้อะไรใหม่ๆ

เหมือนเรื่องแก้วหนึ่งใบ ยื่นให้สองคน คนนึงจับหู อีกคนจับทั้งแก้ว

เพราะคนแรกมองเห็นว่าแก้วมีหู ก็เลยรับแก้วด้วยการจับต่อที่หู ส่วนอีกคนมองไม่เห็นหูแก้ว ก็เลยคิดว่าแก้วไม่มีหูเป็นทรงกลมๆ ก็เลยจับแก้วทั้งใบ

เห็นแบบไหน เชื่อและทำแบบนั้น

หรืออีกรู้ก็คือ รู้จนไม่มีอะไรเหลือให้รู้ อันนี้ก็น่ากลัว เพราะรู้แบบนี้เราจะไม่พัฒนาต่อได้

ธนา อดีตหัวเรือใหญ่ดีแทค ที่เลือกลาออกจากดีแทคในตอนกำลังเฟื่องฟู เพราะพบว่าตัวเองรู้จนไม่มีอะไรให้รู้ เข้าห้องประชุมพูดอะไรไปใครก็เชื่อ เพราะ ธนา รู้จริงจนไม่มีใครรู้ดีกว่าเขาในตอนนั้น

ธนา เลยเลือกลาดีแทคไป “เรียนรู้” กับ แมคยีนส์ ในตอนนั้น

ทุเรียนอบกรอบ พลิกจากจะโดนถอดออกจากเซเว่น เพราะขายไม่ได้เลย กลายมาเป็นขายดีพุ่งพรวด เพราะรู้ว่าคนรุ่นใหม่ชอบกินยังไง

จากเดิมที่ทำเป็นห่อใหญ่ๆ ทอดชิ้นสวยๆเหมือนมันฝรั่งทอด ขายแทบไม่ออกซักห่อ จนมารู้ว่าผู้บริโภควัยรุ่นนั้นชอบกินแบบเศษๆ และเทกินแบบกรอกใส่ปากง่ายๆด้วยมือเดียว

พอรู้แบบนี้เท่านั้นแหละ เอาชิ้นสวยมาทำให้แตกๆ แล้วปรับให้ซองเรียวๆฉีกเทกินได้ด้วยมือเดียว ขายดีจนเซเว่นไม่กล้าถอดออกจากร้านเลยครับ

หรือเคสของห้างแฟชั่น ไอส์แลนด์ ที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อที่สร้างอาคารจอดรถเพิ่มเป็นพันล้าน เพื่อแก้ปัญหาที่จอดรถเต็ม เพราะรู้ว่าปัญหาจริงๆแค่รถออกจากห้างไม่ทัน

เจ้าของห้างเลยเลือกสร้างสะพานกลับรถด้วยงบแค่ 120 ล้าน ผลคือรถระบายออกไว และก็รับลูกค้าใหม่ได้มากขึ้น

รู้แค่นิดเดียว กำไรเพิ่ม ต้นทุนหดเลยครับ

หรือเคสของธุรกิจหนังสือ ที่พอทำความเข้าใจธุรกิจจริงๆนี้แล้วพบว่า ปัญหาที่เคยคิดว่าคนไม่ซื้อแล้วหันไปอ่านออนไลน์ แท้จริงแล้วมีแค่คนรุ่นใหม่เท่านั้นที่เป็นส่วนใหญ่ แต่กับคนรุ่นเก่าก็ยัง “เคยชิน” กับการอ่านเป็นเล่ม พลิกเป็นหน้าเหมือนเคยแต่เด็ก

รู้แบบนี้กระทรวงศึกษาธิการไม่ต้องมารณรงค์ให้คนอ่านหนังสือเล่มหรอก แต่ต้องเป็นกระทรวงสาธารณสุขมากกว่า ที่จะทำยังไงให้คนกลุ่มที่เคยชินกับการอ่านอายุยืน เพื่อจะได้ซื้อหนังสือเล่มได้อีกนาน

เรื่องสุดท้ายคือ พี่น้อง ตระกูลไรท์ ที่ประดิษฐ์เครื่องบินได้ ไม่ใช่ว่าเค้าเป็นวิศวกร ที่รู้ว่าการจะสร้างเครื่องบินในเวลานั้นมันเป็นไปไม่ได้ แต่เพราะเค้าเป็นช่างซ่อมจักรยาน เลยไม่รู้กรอบของความรู้ ทำให้จินตนาการเป็นจริงได้

รู้แบบนี้แล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่า รู้ หรือ ไม่รู้ แบบไหนจะดีกว่ากันนะ

อ่านแล้วเล่ม เล่มที่ 65 ของปี 2018

ให้โอกาสกับสิ่งที่เราไม่รู้
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 16
หนุ่มเมืองจันท์ เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน

20180524

ยังคงเป็นหนังสือที่ให้ข้อคิดในเรื่องธุรกิจ การตลาด และชีวิต ที่ดีเหมือนเดิม ขนาดว่าเขียนมาเป็นสิบปีเพิ่งหยิบมาอ่านวันนี้ก็ยังได้อะไรใหม่ๆเสมอ

ในแง่ข้อคิดของชีวิต เช่น ฝนตกเหมือนเดิม แต่ความรู้สึกไม่เหมือนเคย

หนุ่มเมืองจันท์เล่าว่าครั้งนึงไปเดินป่าเขาใหญ่แล้วเจอฝนเทจากฟ้า ทำให้ต้องรีบเดินหาที่หลบกำบังฝน แต่เดินเท่าไหร่ก็ยังไม่เจอไม้ใหญ่ที่พอจะบังฝนได้ ในเมื่อหนีปัญหาไม่ได้ก็คิดให้สนุกกับปัญหาเลย

คิดถึงตอนเป็นเด็กที่เคยสนุกกับการเล่นน้ำฝน แล้วทำไมวันนี้จะสนุกกับน้ำฝนเหมือนเดิมไม่ได้

จากที่วิ่งหนีฝน กลายเป็นวิ่งเข้าหาความสนุกกับฝน
จากปัญหาที่เคยเป็นทุกข์ กลายเป็นโอกาสที่กลายเป็นสุข
บางทีการแก้ปัญหาบางเรื่อง ก็แค่เปลี่ยนมุมมองเท่านั้นเองครับ

บริษัทรถทัวร์ที่เอาใจใส่ลูกค้าผู้หญิง

บางคนที่เคยนั่งรถทัวร์อาจสงสัยเวลาจองตั๋วว่า คนขายจะถามชื่อคนนั่งไปทำไม ที่ต้องถามเพราะคนจัดที่นั่งจะได้รู้ว่าที่ไหนผู้ชาย ที่ไหนผู้หญิง แล้วทีนี้เค้าก็จะจัดที่นั่งให้ผู้ชายได้นั่งกับผู้ชาย และผู้หญิงได้นั่งกับผู้หญิง เพื่อความอุ่นใจปลอดภัยของผู้หญิงที่จะได้ขึ้นรถทัวร์

ดูเป็นเรื่องเล็กๆสำหรับผู้ชาย แต่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้หญิงนะครับ

รู้แบบนี้คราวหน้าผู้ชายคนไหนจองตั๋วรถทัวร์ ถ้าอยากนั่งใกล้สุภาพสตรีก็ให้ตีเนียนบอกชื่อผู้หญิงแล้วอ้างว่าจองให้น้องสาวนะครับ

สมชาย ดีลเลอร์รายใหญ่ของโตโยต้าอุบล และใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่มองเห็นปัญหาแล้วรีบฉวยโอกาสเพิ่มยอดขาย

ตอนสมชายถูกส่งไปเป็นตัวแทนสาขายโสธร เนื่องจากยอดขายสาขานี้ไม่ดีเลย สมชายพบว่าชาวบ้านอยากออกรถใหม่กับโตโยต้า แต่ติดปัญหาว่าต้องขายรถเก่าให้ออกก่อน ถ้ายังขายไม่ออกก็ไม่ได้ออกรถใหม่

สมชายเลยชวนเต้นท์รถมือสองมาใกล้ๆ เพื่อตีราคาพิเศษให้เอามาซื้อกับโชว์รูมโตโยต้าของตัวเอง ผลคือชาวบ้านที่อยากได้รถใหม่ขายรถเก่าออกเร็ว ยอดขายก็พุ่งพรวดๆ มันฟังดูง่ายๆแบบนี้เลยครับ

ปัญหาบางอย่างที่แก้ไม่ได้ไม่ใช่ว่ายาก แต่อาจเป็นเพราะยังแก้ไม่ตรงจุด หาจุดให้เจอก่อนค่อยลงมือแก้ รับรองง่ายขึ้นเยอะเลย

ดวงฤทธิ์ บุนนาค ให้ข้อคิดจากประสบการณ์ว่า การจะประสบความสำเร็จได้ไม่ได้มาจากแค่ความเก่ง แต่มาจากความอดทน

ความเก่งทำให้เราไปได้เร็ว แต่ความอดทนทำให้เราไปได้ไกล

ชีวิตไม่ใช่การวิ่งผลัด หรือวิ่งร้อยเมตร แต่เป็นการวิ่งยาวๆแบบมาราธอน วิ่งกันทั้งชีวิต ดังนั้นการวิ่งเร็วอาจทำให้ไปได้ไกลในช่วงแรก แต่ถ้าขาดความอดทนก็จะแผ่วปลายหรือกลางทางได้ง่ายๆ

และต้องอดทนกับความล้มเหลว อย่ามองความล้มเหลวคือตราบาปหรือสิ่งน่ารังเกียจ แต่ให้มองเป็น “บทเรียน” ให้เรียนรู้ ไม่ว่จะสำเร็จหรือล้มเหลว ล้วนมีเรื่องให้เรียนรู้ทั้งนั้น

ใครจะรู้ว่างานแรกของบริษัทดวงฤทธิ์ บุนนาค คือการออกแบบ “ส้วม” ในค่าจ้าง 30,000 บาท ไม่ใช่ตึกราคาหมื่นล้านพันล้านอย่างทุกวันนี้

แม้แต่การออกแบบ “ส้วม” ก็ยังมีอะไรให้เรียนรู้

หรือตัวอย่างดัชนีวัดความสำเร็จ หรือความดัง ของสินค้าอย่างพวกเสื้อผ้า หรือเฟอร์นิเจอร์ ถ้าอยากรู้ว่าของเราดังจริงมั้ย ให้ไปดูตามตลาดนัดหรือสวนจตุจักร ถ้าถูกก๊อปก็แสดงว่าเริ่มดังแล้ว

ฉะนั้นพ่อค้าแม่ขาย ถ้าคุณกำลังถูกก๊อปอย่าเสียใจไป ให้มองเป็นโอกาสที่ดีในการขายของแท้ที่แพงขึ้นได้นะครับ

บิวติ ดริ้งค์ แค่เปลี่ยนแพคยอดขายก็เพิ่ม

เพราะเจ้าของสังเกตุว่าจะรวยหรือจนก็อยากกินของที่ดูดีจากเดิมแพคเกจ บิวติ ดริ้งค์ เคยเฉยๆไม่ชัดเจนว่าเป็นใครแต่พอปรับแพคเกจใหม่มีลวดลายพริ้วๆ ขวดทรงเหลี่ยม ดูปุ๊บรู้ปั๊บว่าขายผู้หญิง

เมื่อทำตัวชัดเจน ยอดขายก็ตามมา จากที่เคยจะโดนถอดออกจากชั้นวางในเซเว่น กลายเป็นขายดีที่สุดในบรรดาสินค้าประเภทนี้

แล้วพอขายดีจนฝรั่งต้องขอเอาไปขาย

นักธุรกิจชาวอิสราเอลสนใจเอา บิวติ ดริ้งค์ ไปขายในประเทศตัวเอง แต่กลับพบว่าคนไม่ค่อยนิยมเพราะข้อความเดียว “Made in Thailand”

จากค่านิยมชาวอิสราเอลที่ชอบของผลิตจากยุโรปมาก จนเชื่อว่าอะไรก็ตามที่มาจากยุโรปคือของดี ต่างก็พยายามหาทางออกว่าจะทำยังไงให้กลายเป็น Made in Europe เพื่อให้คนเปิดใจซื้อและขายดีเหมือนเมืองไทย

แต่สินค้าผลิตในไทยส่งออกไปจะให้ไปตีตราว่าผลิตที่อื่นก็ไม่ได้ แต่สุดท้ายทุกปัญหาย่อมมีทางออก ในเมื่อตีตราว่าผลิตในยุโรปไม่ได้ งั้นก็สร้างบริษัทใหม่ขึ้นมานำเข้า บิวติ ดริ้งค์ โดยเฉพาะ เพื่อแก้ปัญหา

บริษัทที่นำเข้าสินค้าไทยไปขายในอิสราเอลนี้ชื่อว่า “Made in Europe” แล้วให้ made in thailand ตัวเล็กๆ

ปัญหาคือโอกาสของคนที่ไม่หยุดคิด และไม่ยอมแพ้จริงๆครับ

และหนุ่มเมืองจันท์ ก็ไม่หยุดสรรหาแง่คิดดีๆมาเขียนในฟาสต์ฟู้ดธุรกิจซักที เห็นทีต้องตามซื้อตามอ่านกันไปอีกนาน

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 63 ของปี 2018

สนุกคิดแล้วบิดขี้เกียจ
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 14
หนุ่มเมืองจันท์ เขียน
สำนักพิมพ์มติชน

20180519