Tag

ปัจจุบันขณะ

Browsing

สรุปหนังสือ ออกกำลังใจ ทุกข์ได้ แต่ใจต้องไม่กระเทือน เล่มนี้เขียนโดย ดร.ณัชร สยามวาลา

เป็นหนังสือที่เพื่อนสายธรรมะคนหนึ่งให้ผมมานานร่วมปีแล้ว ดูภายนอกเธอเป็นสาวมั่นจนอาจทำให้บางคนหมั่นใส้ได้ถ้าไม่รู้จักเธอ แถมยังเป็นสาวออฟฟิศที่ดูดีจนไม่น่าเชื่อว่าเธอจะไปปฏิบัติธรรมที่เชียงใหม่เป็นประจำ

ตอนนั้นเราคุยกันว่าจะแลกหนังสือกันคนละเล่ม ผมให้หนังสือท่าน OSHO ไปหนึ่งเล่ม จำไม่ได้เหมือนกันว่าเป็นเล่มไหนใน 10 เล่มชุด Insight for a New Way of Living และเธอก็ให้หนังสือเล่มนี้กับผมมา เพราะในตอนนั้นผมคงหัวรั้นกว่าตอนนี้ ที่เชื่อว่าตัวเองไม่เชื่อในศาสนาเท่าไหร่นัก ไม่ว่าเธอจะพูดเรื่องไหนขึ้นมา ผมจะหาเหตุผลจากศาสตร์ต่างๆมาตอบเธอได้ทันควัน

จนเวลาผ่านไปใจเริ่มเย็นลงด้วยอายุที่มากขึ้น และก็เพิ่งได้หยิบหนังสือของท่าน OSHO กลับมาอ่านใหม่อีกครั้งทำให้ใจเรียกหาหนังสือแนวปรัชญาความเชื่อมาเติมเชื้ออีกหน่อย

พอกวาดสายตาไปมายังชั้นหนังสือกลับพบว่าไม่เหลือปรัชญาหรือแนวความคิดให้อ่านอีกเลยนอกจากเล่มนี้ จากใจที่เคยมีอคติเล็กๆในตอนนั้น มาตอนนี้กลับพร้อมเปิดใจรับแบบพยายามทิ้งอคติไว้ให้มากที่สุด

เพราะการที่เราคิดว่าเรารู้ จะเป็นการปิดกั้นความรู้ใหม่ที่จะเข้ามา จนเมื่ออ่านจบก็พบว่า หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน สุขง่ายๆ สุขสร้างได้ และ สุขอุดมคติ

แม้เนื้อหาในส่วนที่ 3 จะออกไปทางพุทธจ๋า หนักไปทางปฏิบัติธรรมและความเชื่อ ที่ผมขอข้ามไม่พูดถึงเพราะยังไม่อินเท่าไหร่

แต่ในส่วนที่หนึ่งที่เป็น สุขง่ายๆ นี้น่าสนใจ ที่ผู้เขียนสามารถหยิบเอาเรื่องการล้างจานให้กลายเป็นการทำสมาธิภาวนาและเป็นการทำทานไปได้!

เพราะเศษอาหารคราบน้ำมันที่เราทิ้ง เราสามารถคิดว่าเป็นการทำทานให้กับบรรดาแบคทีเรียหรือเชื้อราทั้งหลาย ที่อยู่ตามท่อระบายน้ำที่ต้องการอาหารจากเศษที่เรากินเหลือ

โอ้โห เป็นการตีความที่ทำให้การล้างจานที่น่าเบื่อกลายเป็นการทำบุญที่แทบไม่อยากแบ่งให้ใครล้างเลย

หรือแม้แต่การล้างจานนั้นก็แนะนำให้ควรรู้ตัวทุกขณะ ตั้งแต่หยิบฟองน้ำ กวาดเศษอาหาร ล้างน้ำ กดน้ำยาล้างจาน ถูฟองน้ำกับจาน ล้างคราบมัน ไปกระทั่งเช็ดแล้วเก็บจาน

ไม่น่าเชื่อกับแค่การล้างจานแสนจะธรรมดาก็กลายเป็นการทำสมาธิภาวนาขึ้นมาได้!

หรือในบางบทที่มีการพูดถึงเรื่องความคิดที่เกี่ยวกับสมอง ที่บอกว่าคนเราชอบจำสิ่งต่างๆในแง่ลบ สมมติวันนี้เกิดเรื่องไม่ดีขึ้นกับเราสองอย่าง แต่เรากลับเลือกที่จะจดจำสองอย่างไว้ทั้งวันจนลืมเรื่องดีๆสิบแปดอย่างที่เกิดขึ้นไปหมด

ยอมรับว่าผมก็เป็น และนี่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตวิทยา ดังนั้นบางบทในเล่มนี้ก็เลยบอกว่าให้พยายาม “คิดดี” เข้าไว้ เพราะมันจะเป็นเสมือนเข็มทิศให้เราเห็นในสิ่งที่เราหา ถ้าเรายิ่งคิดดี เราก็จะยิ่งเห็นแต่เรื่องดี แล้วเราก็จะมีความสุขมากกว่าทุกข์

แต่ถ้าเราคิดลบหรือทุกข์ตั้งแต่เช้า ทั้งวันเราก็จะเป็นวันที่ไม่ดีตามที่เราคิด

เพราะเราไม่ได้เห็นโลกอย่างที่มันเป็น แต่โลกนั้นเป็นอย่างที่เราเห็น

และสิ่งสำคัญในเล่มที่เป็น “แก่นพุทธ” ในความคิดผม (ขอย้ำว่าแค่ความคิดผมซึ่งอาจถูกหรือผิดก็ได้) นั่นก็คือการ “อยู่กับปัจจุบันขณะ”

เพราะ “ขณะ” ที่เราทำอะไรบางอย่างๆ “การเดิน” แต่ใจเรานั้นกลับ “ไม่ได้เดินอยู่กับเรา” เรามักจะใจลอยหรือคิดถึงสิ่งอื่นขณะที่กำลังทำอะไรบางอย่างอยู่เสมอ

เรามักใช้เวลาความคิดไปกับ “อดีต” ไม่ก็ “อนาคต” จนไม่ค่อยจะใส่ใจกับ “ปัจจุบันขณะ” เท่าไหร่นัก หรืออาจไม่มีเลยก็ได้

เราทำงานวันนี้ เพราะเฝ้าหวังอนาคตที่เราจะได้เลื่อนขั้น หรือเรากินอาหารคำนี้ แล้วคาดหวังถึงของหวานในจานถัดไป

นี่แหละครับการไม่อยู่กับปัจจุบันขณะของเรา เราไม่เคยใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันจริงๆเลย

ขอบคุณเพื่อนปุ้ย(เพื่อนผมคนนี้ชื่อปุ้ยครับ)ที่ให้หนังสือเล่มนี้ผมมา ทำให้ผมได้เห็นมุมมองของคนที่เป็นพุทธกว่าคนทั่วไปมากขึ้น

เป็นหนังสือพุทธๆ ที่อ่านไม่ยากและไม่พุทธจ๋าจนเกินไป มีมุมมองที่น่าสนใจไม่น้อย

สรุปหนังสือ ออกกำลังใจ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 98 ของปี 2018

สรุปหนังสือ ออกกำลังใจ
สารพัดวิธีสร้างสุขให้ชีวิตด้วยการคิดบวก
ดร. ณัชร สยามวาลา เขียน
สำนักพิมพ์ Amarin Dramma

20180802

อ่านสรุปหนังสือแนวปรัญชาต่อ https://www.summaread.net/category/philosophy/

สนใจสั่งซื้อได้ที่ http://bit.ly/2HCGkz5

สรุปหนังสือ Osho พลิกมุมใหม่เข้าใจชีวิต The Book of Understanding

ไม่ได้อ่าน Osho มาพักใหญ่ เล่มล่าสุดที่อ่านก็คือ ZEN ในมุมมองของ Osho ที่ทำให้เราได้เข้าใจความเป็น ZEN ขึ้นมาอีกเล็กน้อย จากที่เคยคิดว่าเซนคืออะไรที่น้อยๆแต่ความเข้าใจใหม่ที่เพิ่มขึ้นคือ ปัจจุบันขณะ

ถ้าถามว่าหลักของเซนหมายถึงอะไรก็คงเปรียบได้กับ “เดี๊ยวนี้” “ที่นี่” และ “ตอนนี้” เท่านั้น

ความจริงแล้วเซนไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนาแต่อย่างใด แต่หลักการสำคัญนั้นกลับคล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะพระพุทธเจ้าก็พยายามเน้นย้ำเรื่องการอยู่ในปัจจุบันขณะเช่นเดียวกับเซน

แล้ว Osho เล่มนี้พลิกมุมใหม่อย่างไร และพออ่านจบแล้วเข้าใจชีวิตมากขึ้นยังไงบ้าง..

ก็ต้องบอกว่าในความเข้าใจของผม ซึ่ง Osho เองก็เป็นคนที่ปล่อยให้เราตีความไปเองได้โดยไม่ยึดติดจำกัดหรือตายตัวกับอะไรทั้งนั้น

และจากความเข้าใจผมๆว่าแก่นของ Osho ก็ยังเหมือนเดิมนั่นก็คือ ปัจจุบันขณะ ตอนนี้ ที่นี่ เดี๊ยวนี้

ละทิ้งอดีตทั้งหมดไว้ข้างหลัง
เลิกฝันถึงอนาคตข้างหน้า
เรามีแค่ปัจจุบันขณะในตอนนี้เท่านั้น
เสี้ยววินาทีที่ผ่านไปเมื่อกี๊ก็ถือเป็นอดีต

Osho บอกให้เรารู้จักตอบสนองไม่ใช่ตอบโต้ แล้วการตอบโต้กับตอนสนองต่างกันยังไง?

การตอบโต้ก็เหมือนกับการคิดก่อนจะทำอะไรบางอย่างออกไป

ไม่ว่าจะเป็นด้วยการพูด หรือการกระทำ

การตอบโต้นั้นมาจากการคิด

การคิดนั้นมาจากประสบการณ์ในอดีต แล้วเราก็พยายามคาดเดากลั่นกรองออกมาใช้กับปัจจุบันให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะคิดได้

แต่ Osho นั้นบอกว่าจงอย่าคิด อย่าใช้ความรู้จากอดีตเพราะอดีตนั้นเหมือนของที่ตายไปแล้ว มันไม่มีความสดใหม่ อดีตนั้นไม่อาจใช้ได้กับปัจจุบัน สิ่งที่เคยผิดกลายเป็นถูกได้ ยาพิษนั้นอาจกลายเป็นยาวิเศษได้

จงอย่าตอบโต้ด้วยความคิดหรืออดีต แต่จงรู้จักตอบสนอง การตอบสนองคือความสดใหม่ ออกมาจากความเข้าใจในปัจจุบันขณะที่กำลังเกิดขั้นนั้น

การตอบสนองมีหลายระดับตั้งแต่ดิ่งลึกจนถึงสูงส่ง ผิดกับการตอบโต้จะเป็นแบบแนวระนาบ จาก 1 ไป 2 หรือจาก 2 ไป 3 

ถ้ามองเป็นกราฟก็เป็นกราฟแนวนอน แล้วชีวิตเราก็จะเหมือนไม่มีชีวิต เพราะเราได้ใช้ชีวิตตามความคิดหรือรูปแบบจากอดีตไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีชีวิตอีกต่อไป

Osho ให้เราสงสัยอยู่เสมอ จงอย่าเชื่อไม่ว่าสิ่งนั้นจะออกมาจากปากผู้ที่น่านับถือและสูงส่งแค่ไหน จงอย่างเชื่อในพระเจ้าที่บอกว่าสิ่งดีถูกผิด สิ่งใดควรหรือไม่ควร แต่ Osho บอกให้เราจงรู้ด้วยตัวเอง

เราต้องมีประสบการณ์ด้วยตัวเองเราถึงจะรู้ได้ การเชื่อคือการยอมรับแบบทาสไร้ชีวิต แต่การรู้คือการเอาทั้งชีวิตเข้าไปเสี่ยงเพื่อให้รู้ แล้วออกมาเป็นสิ่งใหม่ให้กับเราเสมอ เสมือนว่าเราเองก็จะมีชีวิตเกิดใหม่เสมอจากการรู้ ไม่ใช่จากการเชื่อ

แม้จะเป็นเรื่องเดิมที่เราคิดว่าเรารู้ แต่ทุกครั้งการรู้นั้นก็จะไม่เหมือนเดิม เสมือนไม่มีห้วงเวลาเดิมซ้ำสองวนกลับมา เสมือนเราไม่อาจลงไปเหยียบในแม่น้ำสายเดิมได้สองครั้ง เพราะทุกครั้งนั้นเป็นสิ่งใหม่อยู่เสมอ ถ้าเราสามารถรู้ได้

ที่สำคัญคือเราต้องรู้จักตัวเอง ทุกวันนี้เรารู้จักสิ่งภายนอกมากมาย เรารู้จักโลกที่กว้างไกล รู้จักจักรวาลไปหลายหมื่นปีแสง เรารู้ในวิทยาการแขนงต่างๆมากมายเต็มไปหมด เรารู้จักหนังสือเป็นพัน นักปราชญ์เป็นร้อย แต่สิ่งนึงที่เราไม่เคยรู้เลยก็คือข้างในตัวเรา

เราไม่เคยรู้เลยว่าเราเป็นใครในแกนกลางของเรา เราเอาแต่ค้นหามองออกไปข้างนอกจนไม่เคยมองเข้าไปข้างในตัวเอง เราให้ค่ากับภายนอกจนละทิ้งค่าภายในตัวเรา เรามักอยากจะเป็นคนที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร จนกลายเป็นใครๆก็โดดเด่นเหมือนๆกัน

เราพยายามหลีกหนีความปกติธรรมดาของเราไปเพราะเรากลัวว่ามันจะเชยและไม่น่าสนใจ แต่ Osho บอกว่าความจริงแล้วความธรรมดาที่สุดของเรานั่นแหละคือความโดดเด่นที่สุด 

เราแค่เป็นตัวเราอย่างธรรมดาและธรรมชาติ แค่นี้เราก็เป็นเราที่โดดเด่นที่สุดในจักรวาล เพราะธรรมชาติไม่เคยสร้างอะไรสองสิ่งที่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง แม้แต่หินสองก้อนก็ยังไม่สามารถเหมือนกันได้อย่างสิ้นเชิง

แค่เรารู้จักตัวเองจากข้างใน ยอมรับในธรรมชาติของตัวเรา แค่นี้เราก็เป็นอะไรที่โดดเด่นที่สุดแล้ว

พอได้อ่าน Osho อีกครั้งก็ทำให้ผมได้คิด..คิดว่าจริงอีกแล้ว อีกแล้วที่ผมหลงลืมสิ่งเหล่านี้ไป ทั้งในการยอมรับ การเฝ้ามอง การไม่ตัดสิน การมองในทุกสิ่งโดยไม่เอาความคิดของเราไปครอบมัน เช่น

บางครั้งเราเห็นสิ่งนึงเราก็เอาความคิดไปยัดใส่มันแล้วว่ามันดีหรือไม่ดี Osho แนะให้ผมมอง มองด้วยความเข้าใจ มองโดยไร้คำพูดการตัดสินใดๆให้กับมัน แค่มองให้ทะลุเข้าไปในทุกสิ่ง เป็นอย่างที่ธรรมชาติให้เป็น อะไรที่ฝืนธรรมชาติมักออกมาไม่ดี

ขนาดนักวิทยาศาสตร์ยังพยายามประดิษฐ์สิ่งต่างๆเลียนแบบธรรมชาติมากมายเลย เช่น ผิวท้องเรือที่เลียนแบบมาจากเกล็ดปลาฉลามเพื่อลดแรงเสียดทานและการเกิดคราบเกาะติด แล้วเราเป็นใครกันถึงพยายามฝืนธรรมชาติที่ควรจะเป็นไปได้

คงต้องหยิบ Osho อีกสองสามเล่มที่ยังเหลือค้างอยู่มาอ่านให้หมด พักนี้ไม่ค่อยได้อ่านปรัชญาเท่าไหร่ ต้องหาปรัชญาดีๆมาเติมปัญญาเพื่อเข้าใจปัญหามากๆครับ

อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือ Osho พลิกมุมใหม่เข้าใจชีวิต The Book of Understanding

สร้างสรรค์วิถีทางสู่อิสระภาพด้วยตัวของท่านเอง
นารา พันทวิโรจน์ แปล
ภัทริณี เจริญจินดา เรียบเรียง
สำนักพิมพ์ Freemind

อ่านสรุปหนังสือ Osho เล่มอื่นเพิ่มเติม https://www.summaread.net/category/osho/

สนใจสั่งซื้อได้ที่ http://bit.ly/2xz8g17

เมื่อเริ่มอ่านปรัชญามาบ้างจาก Osho ก็ทำให้เกิดความสนใจในปรัชญาเพิ่มมากขึ้น จนได้บังเอิญเจอเล่มนี้ตั้งแต่คริสต์มาสเมื่อปีก่อนจากร้าน Kinokuniya ที่ Emquartier ผ่านมาจะครบ 1 ปีเพิ่งจะอ่านจบเมื่อเช้านี้เองครับ สนใจเล่มนี้เพราะหน้าปกและคำโปรยจากชื่อหนังสือที่บอกไปแล้วด้านบน..

..ความรู้สึกส่วนตัวหลังอ่านจบคือรู้สึกชอบ Osho มากกว่าในการเล่าและอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายและชัดเจน แต่เล่มนี้ก็ต้องถือว่าเป็นการพูดถึงเรื่องที่คนส่วนใหญ่มักจะติดอยู่กับกระแสของธารเวลา

จมอยู่กับอดีตและเฝ้ารออนาคต จนลืมปัจจุบันขณะที่สำคัญที่สุดของชีวิตไปทั้งนั้น..

..เช่น เวลาเราอยู่กับครอบครัวหรือลูก ในหัวหรือใจเรามักลอยไปไหนก็ไม่รู้

อาจจะคิดถึงอนาคตว่าลูกจะเข้าโรงเรียนไหน ลูกจะโตมาเป็นอย่างไร หรือนึกถึงความเจ็บปวดเมื่อครั้งอดีตในวันที่ลูกป่วยไข้

จนลืมมองเห็นความสุขของปัจจุบันขณะในขณะที่ลูกน้อยกำลังหัดเดิน ยิ้มหัวเราะ หรือร้องให้กับการหกล้ม..

..คนเรามักใช้ปัจจุบันเพื่อเป็นเส้นทางไปสู่ความหวัง ความฝัน ในเวลาของอนาคต

เมื่อคนเราถึงจุดนั้นแล้วก็จะมีความสุขอยู่ชั่วครู่ชั่วยาม แล้วก็มองหาความสุขที่รออยู่ในอนาคตต่อไปจนลืมมีความสุขกับปัจจุบันที่เราจะมีได้

ทำให้มนุษย์นั้นเสพย์ติดการเสาะแสวงหาจนลืมความจริงที่มีอยู่ในตอนนั้น อาจจะเป็นการที่กำลังได้ดื่มกาแฟกลิ่นหอมซักแก้ว โดยไม่ต้องคิดถึงการประชุมในอีกสองชั่วโมงข้างหน้า หรือ การกำลังเดินทางกลับบ้านในตอนที่รถติดคนแน่น โดยลืมเห็นความสวยงามของแสงไฟหรือชีวิตรอบตัว เพราะใจมัวพะวงไปอยู่กับว่าตัวเองคงจะมีความสุขน่าดูถ้าได้อยู่บ้านในอีกครึ่งชั่วโมงข้างหน้า..

..เราใช้ชีวิตโดยติดกับอดีตมากเกินไป

เฝ้ารออนาคตมากเกินไป

อย่างที่ผู้เขียนว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้บอกให้เราหยุดสร้างอนาคตซะทีเดียว แต่หนังสือเล่มนี้สะกิดให้เรามองเห็นชีวิตที่เป็นอยู่อย่างสวยงามมากขึ้นต่างหาก..

..อยู่กับปัจจุบันให้มากขึ้น แล้วทุกข์ก็จะลดตามลงไป

The Power of Now : A Guide to Spiritual Enlightenment
พลังแห่งจิตปัจจุบัน : ทางสู่การตื่นรู้และเยียวยา

Eckhart Tolle เขียน
พรรณี ชูจิรวงศ์ แปล

สำนักพิมพ์ OMG
อ่านเมื่อปี 2016