Tag

ประวัติศาสตร์

Browsing

สรุปหนังสือ ONE MILLION ปัญหาหนึ่งถึงร้อยหมื่น ว่าด้วยเรื่องของผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ มักก่อกำเนิดมาจากจุดเล็กๆเพียงแค่หนึ่ง และจาก 1 ผลลัพธ์อาจมาจากความพยายามนับล้านครั้ง

ใครจะเชื่อว่าหนังสือหนึ่งเล่มนี้ จะสามารถร้อยเรียงเรื่องราวประวัติศาสตร์มากมายในโลกเอาไว้ได้อย่าแยบคายไม่น่าเชื่อ ด้วยการใช้ถ้วยคำที่สละสลวยอย่างไม่น่าเชื่อเช่นกัน จนผมแทบจะคิดว่านี่คือหนังสือที่เล่าด้วยสัมผัสแบบกาพย์กลอนอย่างน่าทึ่ง แทบทุกหน้านั้นมีข้อคิด และแทบทุกวรรคนั้นมีคำคม ถ้ามีปากกาไฮไลท์อยู่ใกล้มือ คงต้องหมดไปหลายด้ามแน่ๆ

เรื่องในเล่มเริ่มที่กระสุนหนึ่งนัด

จากกระสุนหนึ่งนัด ทำให้เกิดห่ากระสุนนับล้านๆนัดตามมา นี่คือต้นกำเนิดของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อครั้งที่ Archuduke Franz Ferdinand หรือ อาร์ชดยุคฟรันซ์ แฟร์ดินันด์ องค์รัชทายาทของราชวงศ์ฮับสบูรก์ เสด็จฯ เยือนกรุงซาราเยโว (Sarajevo) โดนลอบสังหารจนกลายเป็นมหาสงครามโลกครั้งที่ 1

จาก 1 คนตาย กลายเป็นคนหลายล้านต้องตายตกตาม

จากกระสุน 1 นัด ก่อให้เกิดห่ากระสุนอีกหลายล้านนัดตามมา

จากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่เป็นชนวนให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สองตามมา เพราะการพ่ายแพ้สงครามของเยอรมนี ทำให้ฮิตเลอร์ที่เดิมทีนั้นอยากเป็นจิตกร ต้องหันเหชีวิตเปลี่ยนมาเป็นทหารชั้นปลายแถว จนกลายมาเป็นชั้นผู้นำสูงสุดด้วยพรสวรรค์ในการพูดจูงใจอย่างไม่น่าเชื่อ

จากแค่คำพูดของคนหนึ่งคนที่มีพรสวรรค์ ทำให้คนอีกหลายสิบล้านคนต้องตกอยู่ในนรก

เมื่อจะศึกษาผู้นำ จึงต้องค้นหาปมสำคัญในวัยเยาว์

คล้ายที่ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) กล่าวว่า “ยิ่งเรารู้เกี่ยวกับอดีตและปัจจุบันน้อยแค่ไหน ยิ่งทำให้ความไม่มั่นใจต่อการตัดสินใจในอนาคตมากขึ้น”

เพราะพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 2 ที่ภายนอกดูเป็นทหารที่เข้มแข็ง แต่แท้จริงแล้วกลับมาจากความต้องการซ่อนปมความพิกลพิการแต่กำเนิด ทำให้ตัดสินใจผิดเข้าร่วมสงครามจนยากจะถอนตัว

เพราะพอครั้นจะถอนตัวก็ไม่สามารถทำได้ เพราะปล่อยให้ขุนทหารครองอำนาจนานเกินไป

กษัตริย์ผู้เชี่ยวชาญงานเมือง จึงไม่ปล่อยให้อำนาจตกอยู่ในมือขุนทหารนานเกินไป เพราะเมื่อถึงเวลาต้องเรียกใช้ อำนาจนั้นก็อาจหลุดลอยไปอย่างไม่หวนกลับ

กษัตริย์ กองทัพ ประชาชน ต้องรักษาดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ถ้าปล่อยให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอำนาจมากไป สมดุลทางการเมืองย่อมสูญเสีย

พลังประชาชนกับเทวาสิทธิ์ของกษัตริย์ จำกัดอำนาจของกองทัพได้
กองทัพจับมือกับประชาชน ก็โค่นล้มกษัตริย์ได้
กษัตริย์จับมือกับกองทัพนานเกินไป ประชาชนในประวัติศาสตร์มักจะลุกขึ้นมาทำการปฏิวัติ

เหมือนที่เหลาจื่อ เคยกล่าวว่า “ผู้รักจักพอ ย่อมไม่พบจุดจบ ผู้รู้จักหยุด ย่อมพ้นจากภยันตราย”

เพราะปัญญาชนมิใช่ผู้ที่พิจารณาถึงการกระทำเฉพาะหน้า หากแต่คือผู้ที่ใคร่ครวญถึงผลที่จะตามมาในอนาคต

หนึ่งคนอาจมีค่านับล้าน แต่ล้านที่ว่าก็อาจไม่เพียงพอสำหรับความโลภของหนึ่งคน

ตอนเมื่อสเปนต้องการยึดอาณาจักรอินคานั้น อาตาวัลล์ปา (Atawallpa) ซึ่งเป็นประมุขต่อจากกษัตริย์ เวย์นา คาปัค (Wayna Qhapaq) ผู้บิดา ต่อรองขอซื้ออิสรภาพตนเองด้วยทองคำเท่าห้องขัง และเงินอีกสองเท่า

ชาวอินคารวมทองคำ 13,420 ปอนด์ และแร่เงินหนัก 26,000 ปอนด์ เป็นค่าไถ่ แต่ก็ยังถูกสเปนสังหารต่อหน้าประชาชน เพราะความโลภที่ไม่สิ้นสุดของชาวยุโรป

หนึ่งนวัตกรรม ก่อให้เกิดผลด้านบวกนับล้าน แต่ล้านการทดลอง ถึงจะได้มาหนึ่งนวัตกรรม

ทุกวันนี้นวัตกรรมระดับโลกหรือระดับชาติ ล้วนตกอยู่ในมือธุรกิจขนาดใหญ่ แต่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ รวมทั้งเอ็ดมันด์ เฟลป์ส (Edmund Phelps) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเขียนไว้ในหนังสือ Mass Flourishing ว่า…

นวัตกรรม และความสร้างทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น หาได้เกิดจากบริษัทขนาดใหญ่ หากเกิดจากคนตัวเล็กๆธรรมดา กระทั่งคนไม่มีการศึกษาในระบบ แต่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์และความกล้าหาญที่จะลองถูกลองผิด จนผลิตนวัตกรรมได้

ประเทศที่ชาญฉลาด จึงต้องให้เสรีภาพในการคิด ให้นิติรัฐคุ้มครองสิทธิ ประชาชนจึงจะกล้าคิดนอกกรอบ คิดสร้างสรรค์ อันจะนำไปสู่การพัฒนา

ประเทศที่มักง่าย จึงให้สิทธิธุรกิจใหญ่ผ่านการใช้อำนาจรัฐ จำกัดสิทธิ จำกัดเสรีภาพในการคิด ไม่เคร่งครัดต่อหลักนิติรัฐ และหวังว่ารัฐและธุรกิจขนาดใหญ่จะนำพาประเทศไปสู่นวัตกรรมได้

เพราะเสรีภาพและการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้อังกฤษ และหลายประเทศตะวันตกพาตัวเองเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมก่อนใคร

ล้านความคิดที่ฉาบฉวย หรือจะสู้หนึ่งความคิดที่ยิ่งใหญ่ แต่หนึ่งความคิดที่ยิ่งใหญ่ นั้นต้องใช้เวลานับล้านเพื่อครุ่นคิด

ไอน์สไตน์ เป็นชายอัจฉริยะที่ชอบคิดช้า จนเค้าบอกว่า “เมื่อผมคิดเรื่องนี้ช้า ทำให้มีเวลาคิดเรื่องนี้ได้ลึกซึ้งกว่าคนทั่วไป” นั่นเลยเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เขาใช้อธิบายว่า ทฤษฎีสัมพันธภาพ (Theory of Relativity) ถูกคิดค้นมาด้วยวิธีใด โดยเฉพาะในวันนี้ วันที่ใครๆก็เน้นคิดเร็ว แต่จะมีซักกี่คนที่คิดให้ลุ่มลึกกับหนึ่งความคิดมากพอ

หนึ่งของขวัญชิ้นเล็กของเด็กชายคนหนึ่ง นำไปสู่ล้านของขวัญชิ้นใหญ่ของคนทั้งโลก

ช่วงเวลามหัศจรรย์ของไอน์สไตน์ คือวันที่พ่อมอบ “เข็มทิศ” เป็นของขวัญให้ ไอน์สไตน์ตาลุกวาวด้วยความมหัศจรรย์ใจว่า เข็มทิศทำงานได้อย่างไรโดยไม่ใช่เครื่องจักร และนั่นกลายเป็นแรงขับสำคัญในชีวิต ที่ทำให้เขาเฝ้าตามติดและขบคิดว่า อะไรคือลิขิตที่ขับเคลื่อนชีวิตและสรรพสิ่ง

เป็นไอเดียทำโฆษณาชิ้นใหม่ของร้านขายของเล่น หรือห้างสรรพสินค้าได้เลยนะครับ

ถ้ามีคู่แข่งเป็นล้านที่ใหญ่กว่า คุณต้องเป็นหนึ่งเล็กๆที่แตกต่างจนหนึ่งล้านนั้นต้องทำไม่ได้

นิยามใหม่ของความหรูหราของคนสมัยนี้ คือ Unique หรือความแตกต่าง เพราะการดำเนินธุรกิจในโลกสมัยใหม่ เราจึงจำเป็นต้องเป็นหนึ่ง ท่ามกลางความหลากหลาย เราต้องสร้างความแตกต่าง ซึ่งกำลังจะเป็นนิยามใหม่ของความหรูหรา

นี่คือหนังสือที่ใครๆก็อ่านได้ อ่านก็ง่าย และอ่านแล้วยิ่งดี

เพราะแม้หนังสือมีเป็นล้านเล่มให้เลือกอ่าน แต่ขอแค่ได้เจอหนึ่งเล่มที่เปลี่ยนชีวิตไปตลาดการ การได้อ่านล้านเล่มที่ผ่านมาก็ถือว่าคุ้มค่าชีวิตแล้ว

อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือ ONE MILLION ปัญหาหนึ่งถึงร้อยหมื่น
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เขียน
สำนักพิมพ์ Openbooks
เล่มที่ 88 ของปี 2018

20180701

สรุปหนังสือ ONE MILLION ปัญหาหนึ่งถึงร้อยหมื่น

อ่านสรุปหนังสือของคุณภิญโญ เพิ่มเติม https://www.summaread.net/tag/%e0%b8%a0%e0%b8%b4%e0%b8%8d%e0%b9%82%e0%b8%8d-%e0%b9%84%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%aa%e0%b8%b8%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%a2%e0%b8%98%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%a1%e0%b8%b2/

สนใจสั่งซื้อได้ที่ http://bit.ly/2L1w3Qf

สรุปหนังสือ Drama Sutra สารพัดความขัดแย้งที่แฝงอยู่ในวัตถุรอบตัวคุณ ตอนซื้อหยิบขึ้นมาเพราะนึกว่าอ่านง่ายตามสไตล์แซลมอน แต่ที่ไหนได้เนื้อหาข้างในกลับอัดแน่นเต็มไปด้วยสาระ เรื่องราว ประวัติศาสตร์ การเมือง ข้อคิด และอื่นๆอีกมากมาย ถ้าจะเป็นแซลมอน ก็คงเป็นปลาแซลมอนตัวใหญ่ที่กินจนสมองกางแทนพุง

ดรามา สุตรา เป็นหนังสือที่เล่าประวัติศาสตร์การเมือง การปกครอง ผ่านสิ่งของรอบตัวที่เราคิดว่ารู้จักดี แต่แท้จริงแล้วกลับไม่รู้จักเลย ไม่ว่าจะเป็น เกลือ

เกลือ ที่มีตั้งอยู่บนโต๊ะอาหารทั่วไป หรือมีเก็บไว้ในครัวของทุกบ้าน รู้หรือไม่ว่าในอดีตนั้นเกลือไม่ได้หาง่าย จนเททิ้งขว้างได้อย่างทุกวันนี้

ครั้งหนึ่งเกลือมีค่าดั่งเงิน จนคำว่า Salary ที่แปลว่าเงินเดือน ก็มีรากคำที่มาจากคำว่า เกลือ ที่ใช้จ่ายแทนค่าจ้างนักรบทหารในสมัยก่อน

ที่เกลือมีค่าดั่งเงิน ก็เพราะในสมัยโบราณไม่ได้ตู้เย็นให้เราเก็บอาหารได้เหมือนทุกวันนี้ แต่ต้องใช้เกลือในการถนอมอาหาร ให้สามารถเก็บไว้กินข้ามเดือนข้ามปีได้

อาณาจักรไหนที่มีเกลือมากๆ ก็เหมือนว่ามีขุมทรัพย์ หรือขุมกำลังมากมาย ถ้ามีเกลือแต่บริหารจัดการไม่เป็น ก็จะตกเป็นเป้าหมายของอาณาจักรอื่นให้มาตีเมืองเอาเกลือไป แต่ถ้าบริหารดีๆก็สามารถขยายอาณาจักรให้ยิ่งใหญ่ได้เหมือนกัน

เหมือนกับประเทศที่มีน้ำมันแต่ไม่สามารถปกครองตัวเองได้ เพราะถูกรุกรานยังไงล่ะครับ

ต่อจากเกลือ ก็มาที่เรื่องของ “กำแพง”

กำแพง สิ่งก่อสร้างคุ้นตาจนเรามองข้ามไม่เคยตั้งคำถามว่า กำแพง นั้นเกิดมาจากสาเหตุใด หรือเคยมีความสำคัญยังไงในประวัติศาสตร์

ต้องบอกว่าสำคัญมากครับ เพราะถ้าไม่มีสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีที่เรียกว่า “กำแพง” มนุษย์ก็คงยังไม่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร หรือสามารถเผาผลาญโลกได้อย่างทุกวันนี้

เพราะกำแพง เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่แยกเราออกจาก ธรรมชาติในตอนแรก แยกเราออกจากภัยธรรมชาติต่างๆ ให้เราไม่ต้องกลัวน้ำ กลัวลม หรือกลัวว่าสัตว์ร้ายจะเข้ามาทำร้ายเราในยามเผลอ

เมื่อเกิดกำแพง ก็เกิดเป็นพื้นที่ควบคุมได้ของมนุษย์ ทำให้มนุษย์สามารถใช้เวลาไปกับการทำสิ่งอื่นที่มีประโยชน์มากขึ้น ลดการใช้เวลาไปกับการระวังภัยลง

แต่กำแพงเดียวกันนั้น เมื่อกันมนุษย์ออกจากธรรมชาติแล้ว ก็ยังกันมนุษย์ ออกจากมนุษย์ด้วยกันเองอีกด้วย

กันบ้านเราออกจากบ้านเค้า เกิดเป็นพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น ไม่มีพื้นที่สาธารณะร่วมกันเหมือนเดิม เหมือนสมัยมนุษย์ยังคงล่าสัตว์เก็บของป่าขาย แค่นั้นยังไม่พอ อีกคุณประการหนึ่งของกำแพงก็คือการทำให้การสู้รบลดน้อยลงไปอีกด้วย

เพราะการสู้รบนั้นต้องคำนวนต้นทุนและโอกาสในการที่จะได้ซึ่งชัยชนะมา ถ้าคิดว่ายกทัพไปแล้วจะตีไม่ชนะ ก็จะได้ไม่พลาดต้องเสียกำลังพล เสียงกำลังทรัพย์ และเสียเวลาไปตี เพราะถ้าพลาดมาแล้วมีโอกาสที่เมืองอื่นจะฉวยโอกาสเข้ามาซ้ำเราได้

เมื่อมนุษย์รบราฆ่าฟันกันน้อยลง ก็มีเวลาพัฒนาสิ่งอื่นๆมากขึ้นครับ โดยเฉพาะสะสม “ความรู้” ออกมาถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

โดยเฉพาะเมื่อมี “แท่นพิมพ์” มาเพื่อ “จัดการกับความรู้”

สมัยก่อนนั้น “ความรู้” เป็นสิ่งที่ถูกสงวนไว้กับคนบางกลุ่ม หรือชนชั้นสูงผู้ปกครองเท่านั้น ไม่ใช่ว่าใครๆก็จะมาร่ำเรียนหนังสือได้ง่ายดายอย่างทุกวันนี้นะครับ

เพราะในสมัยก่อน สมัยที่ยังไม่มีแท่นพิมพ์นั้น ต้องเรียนรู้กันผ่าน ปาก และ หู ใช้การ พูด ฟัง และ จำ ให้ขึ้นใจ จะดีขึ้นอีกหน่อยก็คือมีการ “เขียน” แต่การเขียนนั้นก็อย่างที่รู้ ถ้าใครเคยถูกครูให้เขียนลายมือว่า “ผมจะไม่คุยในห้องเรียนอีกแล้วครับ” เต็มหนึ่งหน้ากระดาษ ก็จะรู้ว่างานเขียนนั้นมันหนักหนาและต้องใช้เวลาขนาดไหน

เมื่อการถ่ายทอดความรู้ถูกจำกัด ผ่านการเขียนของคนบางกลุ่มที่มีความสามารถ หนังสือแต่ละเล่มในสมัยก่อนจึงมีราคาแพงมาก เพราะต้องคัดด้วยมือทั้งเล่ม ทำให้มีน้อยคนนักที่จะเข้าถึงความรู้ได้จริงๆ

แต่เมื่อ “แท่นพิมพ์” ของ Gutenberg เข้ามาปฏิวัติตรงนี้ ทำให้อาชีพอาลักษณ์ที่เคยต้องคัดหนังสือต้องหายไป เพราะสามารถพิมพ์หนังสือจำนวนมากออกมาได้ง่ายๆ

แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ภาษาที่ใช้ในการพิมพ์ช่วงแรกนั้นเป็นภาษา “ละติน” หรือภาษาเฉพาะของชนชั้นสูงในยุโรปในช่วงเวลานั้น

กว่าการพิมพ์จะขยับขยายมาเป็นภาษาฝรั่งเศษ จนกลายมาเป็นภาษาอังกฤษ ก็ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่เหมือนกัน

พอรู้แบบนี้แล้วรู้แล้วใช่มั้ยครับว่า วันนี้เราโชคดีแค่ไหนที่เราสามารถอ่านรู้อะไรก็ได้ ไม่ต้องยุ่งยากเหมือนในสมัยก่อนแล้ว แต่ในยุคที่เราสามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่ายๆ เราก็ต้องรู้จักคัดกรองว่า “อะไรที่ควรเสียเวลาให้รู้” และ “อะไรที่ไม่ควรเสียเวลาเพื่อรู้” นะครับ

ความจริงยังมีอีกหลายเรื่อง หลายตอน ที่ไม่สามารถเอามาเล่าสรุปทั้งหมดได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสหภาพยุโรปเกิดขึ้นได้เพราะกล้องถ่ายรูป หรือ กีฬาหรือสงครามระหว่างรัฐ หรือ เรือกลและเครื่องบิน ที่เปลี่ยนโฉมหน้าของการทำสงครามไปตลอดการ

เป็นอีกหนังสือที่ดี ถ้าคุณอยากจะสะสมความรู้ไว้ในสมอง อาจจะอ่านยากกว่าแซลมอนเล่มอื่นๆหน่อย แต่ผมเชื่อว่าไม่ยากเกินไปถ้าคุณอยากจะเรียนรู้

สรุปหนังสือ Drama Sutra

อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือ Drama Sutra
ดรามา สุตรา สารพัดความขัดแย้งที่แฝงอยู่ในวัตถุรอบตัวคุณ
กฤติกร วงศ์สว่างพานิช เขียน
สำนักพิมพ์ Salmon Books
เล่มที่ 82 ของปี 2018
20180620

อ่านสรุปหนังสือแนวประวัติศาสตร์น่ารู้เพิ่มเติม https://www.summaread.net/category/history/

สนใจสั่งซื้อ http://www.chulabook.com/description.asp?barcode=9786162984082

ชีวิตในศตวรรษนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิดเลยนะครับ และถ้าคุณคิดว่ามันยากแล้วที่จะใช้ชีวิตในศตวรรษนี้ แต่เหมือนว่าความเป็นจริงที่น่าจะเกิดขึ้นนั้นกลับยากยิ่งกว่าจะจินตนาการไหว จนผมคิดว่าที่คิดๆกันว่า “ยาก” อยู่แล้วนั้นอาจจะกลายเป็น “ง่ายไปเลย” เมื่อเจอกับความน่าจะเป็นที่จะถาโถมเข้ามาดุจพายุทั้งหลายด้านพร้อมๆกัน

หนังสือเล่มนี้บอกถึง 21 สิ่งสำคัญที่น่าจะเกิดขึ้นในศตวรรษนี้ ในศตวรรษที่เราส่วนใหญ่จะมีอายุยืนกว่าคนในวันนี้มาก หรือเอาง่ายๆว่าถ้าค่าเฉลี่ยของอายุคนในวันนี้อยู่ที่ 70 กว่าปี แต่เด็กที่เกิดตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นไปน่าจะอายุยืนกันถึง 100 ปีเป็นเรื่องปกติ แล้วเมื่อเราอายุยืนขึ้นแต่การใช้ชีวิตกลับยิ่งยากขึ้นอย่างที่ยากจะจินตนาการได้ แต่หนังสือเล่มนี้ก็พอให้แนวทางที่น่าสนใจและก็มีความเป็นไปได้ไม่มากก็น้อยที่ให้เราได้เตรียมตัวรู้เพื่อจะรับมือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น หรือถ้าไม่เกิดขึ้นก็ถือว่าโชคดีเสียด้วยซ้ำ

ผมว่าหนังสือเล่มนี้ถ้าคุณได้อ่านหนังสือ “ทางรอดในโลกใบใหม่ แห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของ Klaus Schwab” ได้อ่าน “รู้ทันอนาคตที่(อาจจะ)ไม่มีคุณ” ได้อ่าน “บิ๊กดาต้า มหาประลัย Weapons of Math Destruction” หรือแม้แต่ Sapiens ในช่วงบทท้ายๆ รวมถึงหนังสือแนวอนาคตศาสตร์มาบ้าง หนังสือเล่มนี้จะช่วยปะติปะต่อข้อมูลทั้งหลายที่คุณเคยรู้มา รวมถึงให้ข้อมูลในมิติใหม่ๆเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยให้คุณประกอบร่างเห็นภาพอนาคตอันใกล้ที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นครับ

เนื่องจากหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหากว่า 400 หน้า ไม่นับรวมส่วนเชิงอรรภกว่า 50-60 หน้า ผมขอสรุปแต่ละบทเรียนออกมาเป็นส่วนสั้นๆ(หวังว่าจะไม่เผลอยาวอีก)ออกเป็น 21 และตามด้วยบทสรุปส่งท้ายในมุมมองของผมเองสำหรับการสรุปหนังสือเล่มนี้ครับ

21 Lessons for the 21st Century มีดังนี้ครับ

บทที่ 1 Disillusionment, The end of history has been postponed การขจัดภาพลวงตา เมื่อจุดสิ้นสุดประวัติศาสตร์ถูกเลื่อนออกไป

ก่อนหน้านี้เราเคยคิดว่า “เสรีนิยม” คือจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ทางการเมืองโลก หลังจากคอมมิวนิสต์นั้นล่มสลายไปจากการการแตกตัวของโซเวียต หรือความพยายามในระดับนานาชาติที่ทำงานหนักมากในการรวมโลกให้เป็นหนึ่งด้วยองค์กรระดับโลกต่างๆมากมาย แต่กลับค่อยๆเกิดรอยแยกแตกสลายออกมาจากการเชื่อมโยงที่พยายามมาอย่างหนัก

Brexit ที่อังกฤษต้องการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือจากนโยบาย Make America Great Again จากการตัดขาด Mexico ออกจากสหรัฐด้วยกำแพงใหญ่ยักษ์ยาวตลอดแนวชายแดนหลายพันกิโลเมตร เพราะกลัวว่าผู้อพยพจะเข้ามาแย่งงานคนอเมริกาทำ หรือหลายประเทศเสรีที่รวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปที่บอกว่าความหลากหลายคือหัวใจสำคัญ แต่กับกีดกันเหล่าผู้อพยพมากมายที่พยายามหลั่งไหลเข้ามา

ในความเป็นจริงแล้วคนอเมริกันอาจจะกลัวผู้อพยพมากเกินไป กลัวว่จะโดนชาวต่างชาติเข้ามาแย่งงานทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเทคโนโลยีที่ดีขึ้นจากการพัฒนาภายในประเทศนี่แหละที่จะเป็นตัวแย่งงานเค้าไปไม่ใช่ผู้อพยพ

Algorithm จะกลายเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่หลายพันล้านคนต้องตกงานในอนาคต กำแพงกั้นระหว่างประเทศไม่มีค่าเมื่อ data ที่สร้างมูลค่าไม่รู้จบสามารถส่งออกข้ามกำแพงไปได้โดยไร้ปัญหา หรือความเป็นจริงไม่ใช่แค่กำแพงทางกายภาพที่ Donald Trump ควรสร้าง แต่ควรเป็นกำแพงกั้นข้อมูลระหว่างประเทศที่เรียกว่า Firewall ต่างหากที่ควรมี

ภาษีก็ต้องวิวัฒนาการตามให้ทันยุคสมัย ไม่ใช่แค่การเก็บตามมูลค่าการจับจ่ายใช้สอย แต่ควรเก็บตามปริมาณ data ที่มีค่าดั่งเงินทองทุกวันนี้ เหมือนที่ผมเห็นข่าวว่า กสทช จะทดลองเก็บภาษีตามปริมาณการใช้ข้อมูลของผู้ให้บริการบนอินเทอร์เน็ตเป็นชาติแรกของโลก ผมว่าเรื่องนี้น่าชื่นชมและอาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้ทั้งโลกต้องทำตามก็ได้ใครจะรู้ครับ

และจากการที่ Donald Trump ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาก็บอกให้รู้ว่า คนอเมริกาส่วนไม่น้อยนั้นอาจจะเหนื่อยจากการวิ่งตามกระแสโลก อยากจะหยุดเวลาไว้ที่วันวานที่เคยรุ่งโรจน์ในอดีต และนี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะหลายประเทศในโลกก็เริ่มมีความคิดแบบนั้น ชาติอิสลามหลายประเทศก็เริ่มความคิดที่ว่าจะนำรูปแบบการเมืองการปกครองในสมัย 1,400 ปีก่อนกลับมาอีกครั้ง เพราะบางทีนั่นอาจเป็นเวลาที่รุ่งโรจน์ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในยุคสมัยของมนุษยชาติทั้งหมดก็ได้

เพราะอำนาจของโลกในวันนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่นักการเมืองหรือรัฐบาลเหมือนวันวาน แต่กลับขึ้นอยู่ในมือของ Algorithm ที่สร้างขึ้นโดยวิศวกร หรือโปรแกรมเมอร์อีกที

วันนี้ Algorithm ของ Facebook, Google, Amazon หรือ Baidu นั้นถูกเก็บงำเป็นความลับยิ่งกว่าสูตรการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ ทั้งที่คนทั้งโลกใช้งานมันทุกวันเป็นประจำ แต่กลับไม่มีใครรู้เลยว่ามันทำงานอย่างไร เราปล่อยให้ Algorithm ชี้นำชีวิตเรามากขึ้นเรื่อยๆจนแทบไม่มีใครคิดจะคัดค้านกับเรื่องนี้เลย

เราจะคิดอย่างไรถ้าวันหนึ่งข้างหน้าผู้พิพากษานั้นกลายเป็น AI เต็มตัว หรือการจะของบประมาณในการเริ่มโครงการอะไรซักอย่างต้องผ่าน Algorithm คิดประเมินให้ว่าได้หรือไม่ได้

นี่คือความน่ากลัวของเทคโนโลยีที่เราประเมินมันต่ำเกินไปในอนาคตอันไกล เพราะในอนาคตอันใกล้นั้นมีแต่เรื่องน่าตื่นตาตื่นใจที่มันทำได้มากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเส้นชัยถูกเลื่อนไกลออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายและจิตใจที่เริ่มอ่อนล้าก็อาจจะแค่อยากหยุดพักสงบๆเท่านั้นเอง

บทที่ 2 Work, When you grow up, you might not have a job งาน เมื่อเธอโตขึ้น เธออาจจะไม่มีงานทำ

ตลาดในในปี 2050 เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะมีใครรู้ว่ามันจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร จากสกิลในการใช้คอมพิวเตอร์ที่เป็นเรื่องใหม่เมื่อสิบกว่าปีก่อน จนเข้าสู่สกิลด้านดิจิทัลที่เป็นเรื่องใหม่ให้เรียนรู้เมื่อไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา และวันนี้สกิลด้าน data หรือการเรียนรู้และเข้าใจข้อมูลมากมายก็กำลังกลายเป็นสกิลสำคัญที่บริษัทใหญ่ๆและธุรกิจสตาร์อัพใหม่ๆต้องการ

คุณเห็นมั้ยว่าหลายบริษัทเริ่มประกาศหาคนในตำแหน่งที่ขึ้นต้นด้วย data มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะ data scientist หรือ data analysis นั่นกำลังส่งสัญญาณให้รู้ว่าเรากำลังเข้าสู่ยุค data หรือการจัดการกับ big data ยังไงให้เกิดประโยชน์ที่สุดแล้วครับ

สมัยก่อนเมื่อเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาแทนที่งานเดิมๆ ก็จะมักก่อให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ๆตามมา และผู้คนก็แค่เข้าไปเรียนรู้ทักษะใหม่ๆเพิ่มเติมก็สามารถกลับเข้ามาทำงานในตลาดงานได้เหมือนเดิมใช่มั้ยครับ

เช่น ในปี 1920 คนงานในฟาร์มที่โดนให้ออกจากงาน เมื่องจากมีการนำระบบเครื่องจักรการเกษตรมาใช้แทน ก็ยังอาจหางานใหม่ในโรงงานผลิตรถแทร็กเจอร์ได้

ในปี 1980 คนงานโรงงานที่ตกงานอาจเริ่มทำงานเป็นแคชเชียร์ในซูเปอร์มาร์เก็ตได้

การเปลี่ยนแปลงอาชีพดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะการเปลี่ยนจากฟาร์มไปโรงงาน หรือเปลี่ยนจากโรงงานไปซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นทำได้แค่เรียนรู้ทักษะเพิ่มนิดหน่อยเท่านั้น

แต่งานในอนาคตนั้นจะต่างกับวันนี้โดยสิ้นเชิง โดยเป็นงานที่น่าจะต้องการทักษะเฉพาะทางชั้นสูง เช่น ถ้าคนตกงานจากงานบัญชีเพราะถูก AI เข้ามาจัดการแทนได้หมดโดยสิ้นเชิงแล้ว แต่ในตอนนั้นอาจเกิดงานใหม่ๆอย่างพนักงานขับ Drone เข้ามาแทนที่ และการจะขับ Drone ให้เชี่ยวชาญกว่าระบบอัตโนมัติในเวลานั้นได้ก็หนีไม่ต้องการทักษะในระดับสูงเท่านั้น

เราเคยเชื่อกันว่ายังไงซะเครื่องจักร คอมพิวเตอร์ โปรแกรม หรือ AI ก็ไม่สามารถทดแทนความสามารถของมนุษย์ในเรื่องของสัญชาตญาณ หรือการหยั่งรู้ในแบบของมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะเกิดจากพรสวรรค์หรือพรแสวงของมนุษย์ผู้นั้นก็ตาม

แต่รู้มั้ยครับว่าเจ้าสัญชาตญาณที่ว่านั้น (human intuition) แท้จริงแล้วคือสิ่งที่เรียกว่า “การรู้จำเรื่องรูปแบบ” (pattern recognition) ครับ

คนที่ขับรถเก่ง นักธนาคารเก่งๆ นักกฏหมายเก่งๆ หมอเก่งๆ นักออกแบบกราฟิกเก่งๆ ไมได้มีสัญชาตญาณราวกับเวทมนต์แต่อย่างไร แต่มาจากการสามารถรับรู้เรื่องรูปแบบบางอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยๆและซ้ำๆในแบบที่คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้ และเจ้าตัวก็มักจะอธิบายไม่ได้ด้วย

และแม้แต่คนที่เก่งๆในทุกสายงาน ก็มักจะเผลอทำพลาดอย่างไม่น่าให้อภัยอยู่บ้างใช่มั้ยล่ะครับ

ซึ่งทั้งหมดนี้เทียบกับ Algorithm ที่ผ่านการวิเคราะห์มาอย่างดีจนสามารถค้นเจอรูปแบบที่ทำซ้ำได้ไม่รู้จบ และผ่านอีกจุดได้เปรียบหนึ่งของ AI ที่มนุษย์ไม่มีทางแข่งขันได้อย่างการ “ปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย” (updatebility)

เพราะประสบการณ์ของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล กว่าเราจะถ่ายทอดออกไปให้คนอื่นได้ก็ต้องใช้ทั้งเวลา และใช้ทักศิลปะในการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดออกไป ยังไม่นับอีกว่าแต่ละคนนั้นก็มีความสามารถในการเรียนรู้และเข้าใจข้อมูลที่แตกต่างกัน ผิดกับหุ่นยนต์หรือ AI ที่สามารถแชร์ข้อมูลให้กันได้ผ่านระบบ cloud ภายในไม่กี่วินาทีหรือถ้าข้อมูลเยอะหน่อยก็หลักนาที และหุ่นยนต์ล้านตัวก็สามารถทำได้ดีเหมือนตัวที่ทำได้ดีที่สุดเมื่อครู่ทันทีครับ

หรือบางคนอาจจะคิดว่า “การที่ AI จะฉลาดได้ก็ต้องมีผู้ฝึกสอน และผู้ฝึกสอนนั้นก็คือมนุษย์ และงานสอน AI ให้ฉลาดก็จะกลายเป็นงานใหม่ของมนุษย์ยังไงล่ะ”

เรื่องนั้นผมไม่เถียงครับ แต่รู้มั้ยครับว่าบางทีการสอน AI ให้ฉลาดอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งมนุษย์เลย เพราะ AI สามารถเรียนรู้จาก AI ด้วยกันได้ แถมยังสามารถก้าวข้ามความฉลาดของ AI ตัวเดิมที่เป็นครูสอนให้มันจนฉลาดกว่าได้มาแล้ว นั่นหมายความว่าในอนาคต AI อาจจะฉลาดขึ้นอย่างไม่มีจุดสิ้นสุดจนมนุษย์เองก็ไม่อาจเข้าใจได้เลยก็ได้ครับ

โปรแกรม AlphaZero เป็นโปรแกรมเล่นหมากรุกที่เก่งที่สุดในโลกในปัจจุบัน ที่สามารถเอาชนะโปรแกรมเล่นหมากรุกเดิมที่ชื่อว่า Stockfish 8 ที่เคยเป็นแชมเปี้ยนหมากรุกโลกเมื่อปี 2016

โดยเจ้าโปรแกรมแชมป์เดิมอย่าง Stockfish 8 นั้นเก่งจากการเรียนรู้การเดินหมากในประวัติศาสตร์ของการเล่นหมากรุกโลกย้อนหลังเป็นร้อยเป็นพันปี สามารถคำนวนการเดินหมากล่วงหน้าได้กว่า 70 ล้านตาต่อวินาที ต่างกับ AlphaZero โปรแกรมใหม่ที่ทำได้แค่ 80,000 ตาต่อวินาทีเท่านั้น

แทนที่ AlphaZero จะเลือกเรียนรู้วิธีการเดินหมากจากมนุษย์ มันใช้ทางลัดเรียนรู้จากเครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์ให้กลายเป็นครูสอนตัวเองให้เล่นหมากรุกเป็นนั่นเอง

เชื่อมั้ยครับว่าพอมันไม่ได้เรียนรู้จากมนุษย์เจ้า AlphaZero ก็สามารถเดินหมากได้อย่างน่าทึ่งในแบบที่มนุษย์ไม่เคยเห็นมาก่อน หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการสร้างสรรค์รูปแบบการเดินหมากรุกใหม่ๆเหมือนอัจฉริยะหมากรุกผู้หนึ่งก็ว่าได้

ถ้าแบบนี้เราจะนับว่าเป็นหมากที่สร้างสรรค์หรือผิดมนุษย์มนากันแทนล่ะครับ?

สุดท้ายแล้วเจ้า AlphaZero ก็สามารถเอาชนะโปรแกรมแชมเปี้ยนโลกหมากรุกเดิมอย่าง Stockfish 8 ในที่สุดจนกลายเป็นแชมป์โลกหมากรุกรายใหม่ และที่น่าทึ่งกว่านั้นคือมันใช้เวลาในการเรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้นจนเป็นแชมป์แค่ 4 ชั่วโมงเองครับ

4 ชั่วโมงจากจุดกำเนิดจนกลายเป็นอัจฉริยะแชมเปี้ยนโลก

รู้แบบนี้แล้วไม่รู้ว่างานในอีก 50 ปีข้างหน้าจะเหลืออะไรให้มนุษย์ทำบ้าง ในเมื่อเราสามารถสอน AI ให้เก่งมากกว่าคนทั่วไปได้ และ AI ก็สามารถสอน AI ให้เหนือไปกว่านั้นได้อีก

บทที่ 3 Liberty, Big Data is watching you เสรีภาพ บิ๊กดาต้าจับตาคุณอยู่

ในความเป็นเสรีนิยมทั่วโลกเราถูกสอนว่ามนุษย์ทุกคนนั้นมีเจตจำนงเสรี หรือ free will ที่สามารถคิดและเลือกได้อย่างอิสระ แต่แท้จริงนั้นการคิดและเลือกของเรานั้นอาจไม่ได้อิสระจริงอย่างที่คิด แต่อาจจะเกิดจากการประมวลผลจากประสบการณ์ในอดีต สิ่งแวดล้อมรอบตัว และสารเคมีในร่างกาย จนชี้นำให้เราเลือกสิ่งนั้นอย่างบังคับและบอกให้เราเชื่อว่าเราเลือกมันอย่างเสรี

ในศตวรรษที่ 21 ร่างกายเราจะถูกเก็บข้อมูลผ่านอุปกรณ์ต่างๆที่มากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้อาจจะมีแค่โทรศัพท์มือถือ บางคนอาจเริ่มมีอุปกรณ์สวมใส่อย่าง Apple Watch บางคนอาจมีอุปกรณ์บางอย่างที่ล้ำหน้ากว่านั้น และก็เป็นไปได้มากว่าในอนาคตเราคงฝังอุปกรณ์อะไรซักอย่างเพื่อเก็บข้อมูลร่างกายเราตลอดเวลาเพื่อผลประโยชน์ทางการแพทย์ของเรา หรือไม่ก็ถ้าเราไม่ทำบริษัทประกันก็อาจปฏิเสธการทำประกันของเราก็ได้

พอเราถูกเก็บข้อมูลมากขึ้น Algorithm ก็จะเข้าใจตัวเรามากกว่าที่เราเข้าใจ มันอาจจะรู้ว่าเมื่อไหร่ที่เราจะเริ่มป่วย เมื่อไหร่ที่เราจะเริ่มหิว หรือเมื่อไหร่ที่เรากำลังจะเริ่มโมโหกับคนรัก มันก็จะรีบบอกให้เราทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ อาจจะเปิดเพลงเบาๆผ่านลำโพงอัจฉิรยะอย่าง Google Home เพื่อทำให้เราใจเย็นลง

นั่นยังไงล่ะครับเจตจำนงเสรีที่ถูกควบคุมโดย Algorithm จาก Big Data

หรือ Netflix ในวันหน้าอาจจะรู้ว่าคุณชอบดูหนังที่มีเนื้อหาแบบไหน จากกล้องที่อยู่บนสมาร์ทโฟนหรือทีวีที่ขออนุญาตคุณในการเข้าถึงเพื่อบอกว่าจะทำให้ประสบการณ์การรับชม Netflix ของคุณดียิ่งขึ้น

จากนั้นกล้องก็จะวิเคระาห์กล้ามเนื้อบนใบหน้าเราออกมาเป็นพันๆครั้งในหนึ่งวินาที จนเข้าใจรูปแบบพฤติกรรมของคุณว่าคุณชอบหัวเราะในฉากแบบไหน ประโยคแบบไหน จากนั้นก็จะเสนอหนังใหม่ๆที่มีเนื้อหาคล้ายเดิมให้คุณมากขึ้นเรื่อยๆ

นี่ยังไงล่ะครับเจตจำนงเสรีภายใต้ Big Data

หรือปัญหาเรื่องจริยธรรมกับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนเองได้ ที่เคยถกเถียงกันว่าเราจะยอมให้รถยนต์ขับเคลื่อนเองได้ 100% จริงหรือ แล้วจะทำอย่างไรถ้าเกิดปัญหาที่ต้องตัดสินใจระหว่างชีวิตคุณกับชีวิตเด็กที่พลัดล้มมาบนถนนโดยบังเอิญ

Algorithm การขับเคลื่อนของเองรถยนต์นั้นจะตัดสินใจอย่างไรถ้าทางเลือกมันมีแค่ชนเด็กตายแล้วคุณรอด หรือคุณยอมหักหลบไปชนเสาไฟให้เด็กรอดแต่คุณตาย และเผลอๆอาจทำให้รถที่วิ่งสวนทางมาตายไปด้วยก็ได้

นี่กลายเป็นปัญหาจริยธรรมที่กำลังถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นโจทย์ทางวิศวกรรม ด้วยการให้ผู้ใช้เลือกก่อนจะเดินทางว่าถ้าเกิดปัญหาทางสองแพร่งขึ้นมาจะตัดสินใจเลือกแบบไหน และบริษัทรถยนต์หรือผู้สร้าง Algorithm ก็ไม่ต้องตามมารับผิดชอบกับการกระทำที่เกิดขึ้น เพราะคุณเป็นผู้เลือกโดยเสรีอยู่แล้วใช่มั้ยครับ

หรือในเรื่องของเผด็จการดิจิทัลที่จะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพของเรามากขึ้นทุกวัน ลองคิดดูซิครับว่าเมื่อรัฐบาลหันมาใช้ Algorithm ในการควบคุมประชากรมากขึ้นจะเกิดอะไรขึ้น

ทุกภาพและทุกสเตตัสที่เราโพสไปบนโซเชียล หรือเขียนลงไปบนออนไลน์นั้นถูกตรวจสอบทุกคำโดยไม่ถามหรือต้องใช้หมายตรวจหมายค้นแบบเดิมเลยซักครั้ง

เมื่อก่อนการที่เจ้าหน้าที่จะเข้ามาตรวจบ้านเราได้ต้องมาพร้อมหมายค้น ไม่สามารถทำได้โดยอิสระ แต่วันนี้เจ้าหน้าที่สามารถทำได้โดยอิสระไม่ต้องใช้หมายค้นดิจิทัลใดๆเลย

และถ้า Algorithm ที่ใข้ตรวจสอบนั้นผิดพลาดเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับชาวปาเลสไตน์คนหนึ่ง เค้าโพสรูปในเฟซบุ๊กที่ตัวเค้ายืนอยู่ข้างรถแทร็กเตอร์ในี่ทำงาน ในภาพนั้นมีคำว่า “อรุณสวัสดิ์!” แต่เจ้าอัลกอริทึมอัตโนมัติแปลภาษาจากตัวอักษรอารบิกผิดไปเล็กน้อย แทนที่จะแปล Ysabechhum! ซึ่งหมายความว่า “อรุณสวัสดิ์!” กลับเข้าใจผิดคิดว่าเป็น Ydbachhum! ซึ่งหมายความว่า “ฆ่าพวกมัน!”

ชายผู้โชคร้ายเจ้าของรูปนั้นถูกกองกำลังรักษาความมั่นคงของอิสราเอลยกกันไปจับตัวเค้าอย่างรวดเร็ว เพราะสงสัยว่าจะเป็นผู้ก่อการร้ายที่ตั้งใช้จะใช้รถแทร็กเตอร์ไล่ฆ่าทับคน

ลองคิดภาพดูนะครับว่า Algorithm ที่ทึ่มๆจะกลายเป็นตำรวจ digital ที่ตัดสินพลาดกับคนเป็นพันล้านคนในวันข้างหน้าดูนะครับ ว่ามันจะน่าสนุกซักแค่ไหน

การรวมศูนย์ข้อมูลและการตัดสินใจนั้นจะกลายเป็นทางออกใหม่ของการเมืองในยุค data ที่ต่างกับการรวมศูนย์แล้วพังพินาศในยุคคอมมิวนิสต์ของโซเวียตที่เคยเกิดขึ้นครับ

ในศตวรรษที่ 20 โซเวียตล่มสลายส่วนหนึ่งเพราะการรวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่ศูนย์กลาง ทำให้การตัดสินใจล่าช้าจนไม่สามารถพัฒนาตามโลกาภิวัฒน์ได้ทัน ผิดกับคู่ปรับโลกเสรีอย่างอเมริกาที่ปล่อยให้เกิดการกระจายตัวของข้อมูลและการตัดสินใจออกไปหมด ทำให้เกิดการปรับตัวตามกระแสได้ทันจนกลายเป็นผู้นำในที่สุด

แต่นั่นเป็นเรื่องของศตวรรษที่ 20 ครับ เพราะในศตวรรษ์ที่ 21 ในยุคของ Big Data และขับเคลื่อนด้วย Algorithm นั้น การรวมศูนย์กลายเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการกระจัดการะจายของข้อมูล เพราะยิ่งข้อมูลมากเท่าไหร่ก็ยิ่งตัดสินใจได้ดีมากขึ้นเท่านั้น และนั่นจะกลายเป็นสวรรค์ของเผด็จการในยุคดิจิทัลอย่างที่เราไม่อาจนึกฝันเลยครับ

บทที่ 4 Equality, Those who own the data own the future ความเท่าเทียม ผู้ครอบครองข้อมูลคือผู้ครอบครองอนาคต

เราเคยเชื่อว่าศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษที่ความเท่าเทียมเฟื่องฟูยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วเทคโนโลยีทั้งหลายและ data อาจยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงกว่าที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ทั้งหมด

เพราะ data จะกลายเป็นทรัพยากรสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและชีวิตของศตวรรษที่ 21 นี้

ในสมัยก่อนทรัพยากรสำคัญคือที่ดิน ใครเป็นเจ้าของที่ดินมากที่สุดก็จะมีความมั่งคั่งมากกว่าคนอื่น และเราก็แยกชนชั้นสูงและชนชั้นล่างหรือสามัญชนด้วยจำนวนที่ดินที่ครอบครอง

ถัดไปความมั่งคงอยู่ในรูปแบบเครื่องจักรและโรงงานที่มีความสำคัญมากกว่าที่ดิน เพราะในยุคนี้ต่อให้มีที่ดินมากมาย แต่ถ้าไม่มีเครื่องจักร ไม่มีโรงงาน ก็ไม่สามารถสร้างผลผลิตมาแข่งขันสู้กันได้ ก่อให้เกิดระบบทุนนิยม เกิดเป็นชนชั้นนายทุนและกรรมาชีพ

ในช่วงนี้เกิดความสำคัญของชนชั้นกลางขึ้นมา โดยทั้งสองระบบเศรษฐกิจการเมืองทั้งเสรีนิยม และคอมมิวนิสต์ ต่างก็พยายามแย่งชิงทรัพยากรสำคัญในระบบเศรษฐกิจที่เป็นชนชั้นกลางจำนวนมาก ให้หันมาเลือกข้างตัวเอง

ฟากเสรีนิยมก็ชักชวนผู้คนด้วยการบอกว่าคุณมีเสรีที่จะเลือก ระบบตลาดจะทำให้ทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอย และคุณก็จะมีความสุขมากขึ้นด้วยการได้เลือกบริโภคได้ตามใจ ฝั่งคอมมิวนิสต์ก็โฆษณาด้วยการบอกว่าที่นี่คือความเท่าเทียม ที่นี่ไม่มีนายทุนหรือชนชั้นสูงที่มาหากินกับหยาดเหงื่อแรงงานของเรา ทุกสิ่งที่เราทำได้จะกลายเป็นของเราเอง ทุกคนจะมีความสุขจากพรรคคอมมิวนิสต์ที่เลือกเพื่อทุกคนมาอย่างดีแล้ว เราจะดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมด้วยสวัสดิการต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การดูแลสุขภาพ และเมื่อคอมมิวนิสต์ล่มสลายรัฐสวัสดิการก็กลายมาเป็นสิ่งที่รัฐบาลเสรีนิยมต้องรับช่วงต่อเพื่อดูแลชนชั้นกลางให้พาเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้

แต่ในศตวรรษที่ 21 ผู้ที่ครอบครองข้อมูลจะกลายเป็นผู้ที่มั่งคั่ง การเมืองก็จะเป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อควบคุมการไหลเวียนของข้อมูล อย่างที่เราเริ่มเห็นกฏหมายใหม่ๆที่เกิดออกมาเพื่อควบคุมข้อมูลเหล่านั้น โดยเฉพาะกฏ GDRP ที่ประกาศออกมาใช้ในภาคพื้นยุโรป แต่กลับส่งผลสะเทือนการเก็บ Data ของบริษัทชั้นนำทั่วโลก

ด้วยลักษณะพิเศษของ data ที่ไม่เหมือนกับทรัพยากรอื่นที่เคยมีมาตรงที่มันสามารถส่งต่อและทำซ้ำได้ในแบบที่แทบจะไม่มีข้อจำกัด จนอาจจะเกิดปัญหาใหญ่ต่อมาว่า “ข้อมูลของเราเป็นของใครกันแน่” ข้อมูลสุขภาพที่ได้จากการฝังเซนเซอร์ในร่างกายเรากลับไปตกอยู่กับผู้อื่นที่เราไม่ต้องการได้อย่างไร และเราจะควบคุมทรัพยากร data นี้อย่างไรในอนาคต

และสิ่งที่น่ากลัวกว่าความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจจาก data ยังไม่อาจน่ากลัวเท่าความไม่เท่าเทียมทางด้านชีววิทยาที่ได้มาจากเทคโนโลยี Bio-Engineer หรือการปรับเปลี่ยนพันธุกรรมจากมนุษย์โฮโมเซเปียน ให้กลายเป็นสุดยอดมนุษย์ผู้ไม่มีข้อด้อยใดๆในยีนส์เลย

และชนชั้นกลางจำนวนมากก็จะไม่ใช่สาระสำคัญที่กลุ่มผู้นำจำนวนน้อยจะให้ความสำคัญอีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีต่างๆที่พัฒนาไปอย่างมาก ไม่ว่าจะปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติทั้งหลายที่สามารถเข้ามาแทนที่งานของชนชั้นกลางไปจนหมด จะทำให้คนหลายพันล้านคนบนโลกกลายเป็นชนชั้นที่ไร้ประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจอีกต่อไป

มนุษย์จะแบ่งออกเป็นชนชั้นอภิมนุษย์ (superhuman) ผู้ที่สามารถเลือกตัดแต่งพันธุกรรมออกมาแบบไร้ที่ติและเต็มไปด้วยข้อได้เปรียบแต่กำเนิด กับโฮโมเซเปียนธรรมดาที่อาจจะเกิดมาพร้อมกับยีนส์ที่ไม่ดีแต่ไม่มีโอกาสแก้ไขได้ ทำให้แค่เกิดมาก็ต่างกันด้วยยีนส์ที่กำหนดสุขภาพ อุปนิสัย ไปจนถึงอนาคตแล้ว

ดังนั้นศตวรรษที่ 21 จะเป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมมากกว่าที่เคยเป็นมาในทุกยุคสมัย ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง Elysium เลยครับ

บทที่ 5 Community, Humans have bodies ชุมชน มนุษย์มีตัวตน

เมื่อปี 2017 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประกาศว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องชุมชนในระดับโลก เพราะสมาชิกในรูปแบบกลุ่มต่างๆทั่วโลกลดลงเหลือแค่หนึ่งในสี่ แต่เราจะทำอย่างไรในวันที่เราถอนตัวจากชีวิตออนไลน์แทบไม่ได้แล้ว

เฟซบุ๊กบอกให้เราเชื่อมต่อกับเพื่อนมากขึ้น แชร์ช่วงเวลาดีๆด้วยกันมากขึ้น แต่กลายเป็นว่าการพบเจอเพื่อนในชีวิตจริงแต่ละครั้งเราใช้เวลาตรงนั้นในการสร้างภาพแชร์ออกไปบนออนไลน์ไม่น้อยเลยทีเดียว จนไม่แน่ใจว่าเราได้ใช้เวลาจริงๆกับเพื่อนตรงหน้ามากน้อยแค่ไหน

มันเป็นการเลือกระหว่างช่วงเวลาออนไลน์หรือออฟไลน์ ถ้า Algorithm ของ Facebook หรือ Google หรือ Social media ต่างๆไม่เลิกให้ค่ากับคะแนนความสำคัญบนออนไลน์ไปเป็นหลักการใหม่ที่เรียกว่า “เวลาที่ใช้ไปอย่างเหมาะสม” หรือ time well spent เราคงไม่ได้สัมผัสกับชุมชนจริงๆ และผู้คนจริงๆมากขึ้นอย่างที่ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กตั้งใจ

ยิ่งในวันที่เทคโนโลยีอย่าง AR และ VR กำลังคืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ ประสบการณ์เสมือนจริงยิ่งสมจริงขึ้นมาเรื่อยๆจนอาจจะถึงวันที่ “ประสบการณ์จริง” กลายเป็นของหรูหราราคาแพงที่แค่บางคนเท่านั้นจะเข้าถึงได้ในอนาคตก็ได้ครับ

บทที่ 6 Civilisation, There is just one civilisation in the world อารยธรรม โลกนี้มีอารยธรรมแค่เพียงหนึ่งเดียว

น่าแปลกที่เราอ้างอารยธรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะอิสลามหรือตะวันตก จะเยอรมันหรือซีเรีย จะยุโรปหรือเอเซีย เราบอกว่าเรานั้นแตกต่างและหลากหลาย แต่กลับไม่มีใครมองเห็นความเป็นหนึ่งเดียวของอารยธรรมที่เกิดขึ้นมาแล้วสองเรื่อง นั่นก็เงินกับความรู้

เงิน เป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นอารยธรรมสากลที่สุดในโลก ต่อให้ชาวอิสลามไม่ชอบอเมริกามากแค่ไหน ก็ไม่มีใครบ้าพอที่จะเผาเงินดอลลาร์ของอเมริกานั้น และในความเป็นจริงกลับยิ่งรักดอลลาร์นั้นด้วยซ้ำ เพราะเงินเป็นสิ่งหนึ่งในโลกที่ยอมรับกันโดยไม่มีข้อแตกต่างทางอารยธรรมใดๆ เราสามารถเอาเงินเค้ามาแลกเป็นเงินเราได้ไม่ยาก

ทำไมอารยธรรมโลกถึงไม่กลายเป็นหนึ่งเดียวที่หลอมรวมกันได้แบบที่เงินทำได้

ความรู้ คืออารยธรรมที่สองที่เป็นหนึ่งเดียวทั่วโลก แม้แต่ในชาติอิสลามก็ยังยอมรับความรู้ทางการแพทย์ที่เป็นหนึ่งเดียวกับชาติตะวันตก ในชาติคอมมิวนิสต์สุดขั้วอย่างเกาหลีเหนือก็ยังยอมรับคณิตศาสตร์เดียวกับญี่ปุ่นที่มีอารยธรรมต่างกันสุดขั้ว

เราเชื่อในความเป็นชาติ เชื่อในอารยธรรมของเราอย่างบ้าคลั่ง ทั้งที่ลืมคิดกันไปว่าชาติของประเทศทั้งหมดบนโลกนั้นล้วนเพิ่งเริ่มก่อตั้งมาแค่ไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมาเอง ก่อนหน้านี้เราอยู่อย่างผสมผสานกลมกลืนที่ไร้เส้นแบ่งเขตแดนใดๆ แต่มาวันนี้เรากลับสร้างเส้นแบ่งทางอารยธรรมเพื่อกีดกันกันอย่างไม่รู้ตัว

บทที่ 7 Nationalism, Global Problems need global answers ลัทธิชาตินิยม ปัญหาระดับโลกต้องการคำตอบระดับโลก

จุดกำเนิดแรกเริ่มของชาติแรกในโลกนั้นเกิดขึ้นมาเพราะต้องการรวมตัวกันแก้ไขปัญหาที่ใหญ่เกินกำลังกลุ่มตัวเองจะทำได้

ชนเผ่าโบราณริมแม่น้ำไนล์เมื่อหลายพันปีก่อนพบว่าถ้าฤดูไหนน้ำดีก็ได้ผลผลิตสูง แต่ถ้าปีไหนน้ำน้อยก็ทำให้อดอยากกันถ้วนหน้า ยังไม่นับว่าถ้าปีไหนน้ำหลากที่ก็จมน้ำตายเสียหายกันถ้วนหน้า ดังนั้นการจะแก้ไขปัญหานี้ได้คือการต้องควบคุมแม่น้ำไนล์ให้ไหลตามต้องการ จึงเป็นที่มาของการสร้างเขื่อน

และการสร้างเขื่อนเพื่อควบคุมแม่น้ำนั้นก็ไม่สามารถทำได้ด้วยชนเผ่ากลุ่มเดียวหรือหนึ่งหมู่บ้านที่มีขนาดไม่เกิน 200-300 คนในตอนนั้น แต่ต้องเป็นการรวมตัวกันคนผู้คนนับหมื่นแสนขึ้นไปจนสามารถรวมพลังกันสร้างเขื่อนเพื่อผลประโยชน์ของทุกคนขึ้นมาได้ และนั่นก็เป็นการรวมชาติได้เป็นครั้งแรกในอดีต

แต่ด้วยปัญหาที่จะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 นั้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยชาติใดชาติหนึ่ง ต่อให้เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในวันนี้ก็ยังไม่สามารถทำได้ แต่แนวคิดเรื่องชาติต้องถูกเปลี่ยนไปให้ใหญ่ขึ้น ไม่ใช่แค่ชาติ แต่ต้องเป็นพลเมืองโลก

เพราะ 3 ปัญหาใหญ่ในศตวรรษที่ 21 จะใหญ่มากจนไม่มีชาติใดชาติหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ทรงอำนาจพอจนสามารถแก้ไขมันได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งโลก

นิวเคลียร์, ชีววิทยาหรือภาวะโลกร้อน และเทคโนโลยีปฏิวัติ

ต้องขอบคุณนิวเคลียร์ที่ทำให้โลกสงบสุขอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทุกวันนี้ในสงครามแต่ละครั้งนั้นสั้นมากเมื่อเทียบกับสงครามก่อนยุคนิวเคลียร์ แต่ละครั้งใช้เวลาเป็นปีๆถึงหลายปี และก็มีคนตายเป็นแสนเป็นล้าน ถ้าเทียบกับสงครามทุกวันนี้ล่าสุดอินเดียปากีรบกัน 3 วันจบ และในแต่ละปีก็มีคนตายเพราะสงครามน้อยกว่าโรคเบาหวานเสียด้วยซ้ำ

แต่ในขณะเดียวกันหลายประเทศในโลกก็สะสมระเบิดนิวเคลียร์กันมากพอจนจะทำลายล้างโลกได้ไม่รู้กี่พันครั้ง และการจะพึ่งชาติมหาอำนาจเดียวให้ดูแลนั้นก็ไม่อาจทำได้ เพราะนิวเคลียร์ไม่ใช่ของหายากอีกต่อไป ดังนั้นวิกฤตนิวเคลียร์ต้องอาศัยการรวมใจจากทุกชาติบนโลก หรือต้องเกิดการจัดตั้งรัฐบาลโลกขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างนั่งยืน

ปัญหาความท้าทายเรื่องนิเวศวิทยา จากภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้นทุกวัน น้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายมากขึ้นทุกที ปัญหาการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่แทบจะไม่เคยลดลงเลยจากโลกนี้ ทั้งหมดนี้กลายเป็นปัญหาสะสมที่กำลังทำลายล้างระบบนิเวศวิทยาหนึ่งเดียวในโลกใบนี้ของเรา

ปัญหานี้ไม่ใช่แค่ชาติใดชาติหนึ่งลงมือทำแล้วจะหยุด ถ้าจีนหยุดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แต่อเมริกาไม่ ผลกระทบก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับอเมริกา แต่มันสร้างผลกระทบต่อเนื่องทั้งโลก

หรือบางทีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนนั้นแม้จะส่งผลเสียต่อโลกทั้งใบ แต่ก็อาจทำให้บางประเทศในโลกที่เคยเสียเปรียบกลายเป็นจุดได้เปรียบขึ้นมา

ลองคิดดูซิว่าถ้าโลกร้อนขึ้นจนน้ำแข็งละลายมากขึ้น แถบไซบีเรียที่เคยเป็นน้ำแข็งมาตลอดจะกลายเป็นพื้นที่อบอุ่นใหม่ของโลก เมื่อนั้นความได้เปรียบทางเศรษฐกิจก็จะเปลี่ยนทิศทันที

ปัญหานี้ก็ต้องการความร่วมมือระดับโลกแบบที่รัฐบาลโลกเท่านั้นที่จะทำได้สำเร็จก่อนที่มันจะสายไป

ปัญหาสุดท้ายการปฏิวัติจากเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้าน bio-engineer หรือพัทธุวิศวกรรม ลองคิดดูซิว่าถ้าประเทศหนึ่งห้ามการพัฒนาของเทคโนโลยีด้านดังกล่าว บรรดาบริษัทและนักทดลองก็จะหันไปหาประเทศที่อนุญาตให้ทดลองได้ และเมื่อนั้นความได้เปรียบก็จะตกอยู่กับประเทศที่เปิดรับการทดลองเหล่านั้น ทำให้ประเทศที่เคยปิดกั้นต้องกลับมาทบทวนจุดยืนของตัวเองใหม่ ว่าจะเลือกระหว่างสิ่งที่เคยเชื่อ หรือความเสียเปรียบในการแข่งขันในอนาคต

ไม่ต้องเดาก็รู้ว่านักการเมืองจะเลือกทางไหน ดังนั้นปัญหานี้ถ้ายังเป็นการตัดสินใจแบบแยกประเทศ ก็จะไม่มีทางทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยการรวมตัวในระดับโลกเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้เกิดผล

เพราะโลกเรามีใบเดียว และเราก็ล้วนพึ่งพาอาศัยชีววิทยาของโลกใบนี้ สิ่งที่เราทำแม้จะไม่เกิดผลกับตัวเราในวันนี้ แต่มันก็อาจจะไปส่งผลกับใครบางคนในอีกหลายพันกิโลเมตรโดยที่เราไม่รู้ตัว ถ้าเราไม่คิดถึงปัญหาระดับโลกในมุมมองระดับโลก ถึงเวลานั้นเราอาจจะไม่เหลือโลกให้แบ่งแยกกันแบบวันนี้แล้วก็ได้ครับ

บทที่ 8 Religion, God now serves the nation ศาสนา ปัจจุบันแม้พระเจ้าก็ยังรับใช้ชาติ

แต่ละชาติมักจะหยิบเอาศาสนาหลักของตัวเองไปตีความเพื่อเข้าข้างการตัดสินใจของตัวเองเป็นประจำ และศาสนาทั้งหลายก็กำลังเสื่อมความนิยมลงทุกวันในโลกของศตวรรษที่ 21

เพราะเมื่อก่อนเวลาเรามีปัญหาศาสนาเข้ามาแก้ปัญหานั้นให้เรา แต่วันนี้เราทุกศาสนาต่างใช้วิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาให้เรามากขึ้นทุกวัน เช่น สมัยก่อนเวลาจะทำการเกษตร เราต้องเข้าไปหาแม่มดหมอผี หรือศาสดาพยากรณ์ในการทำนายว่าช่วงไหนน้ำท่าจะมา ปีนี้จะแล้งหรือไม่แล้ง หรือปีนี้ควรปลูกอะไรดี แต่มาวันนี้เราสามารถใช้พยากรณ์อากาศที่แม่นยำขึ้นทุกปี เราสามารถใช้เทคโนโลยีชลประทานสั่งน้ำให้ไหลเข้าที่นาได้ดั่งใจ หรือเราสามารถซื้อประกันผลผลิตในการป้องกันพืชผลไม่โตดั่งใจได้ตามต้องการ

หรือถ้าคุณเจ็บป่วยในสมัยก่อนคุณต้องไปรับการรักษาที่แตกต่างกันตามความเชื่อของพื้นนั่น ด้วยอาการเจ็บคอคุณอาจจะต้องถูกส่งไปหาพ่อมดหมอผีในที่นึง หรือถ้าคุณเป็นคนอีกพื้นที่นึงคุณอาจถูกส่งให้เข้าวัดไปสวดมนต์เป็นเวลา 3 วัน หรือถ้าเป็นอีกพื้นที่นึงด้วยอาการเดียวกันคุณอาจถูกให้หาสัตว์ซัก 3 ตัวมาบูชายันแล้วอาการเจ็บป่วยจะหายไป

แต่วันนี้ไม่ว่าคุณจะนับถืออะไรด้วยอาการเจ็บคอนั้นสามารถรักษาได้ด้วยยาตัวเดียวกันจากทั่วโลก

นี่เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมศาสนาและความเชื่อถึงค่อยๆเสื่อมความสำคัญลงในตัวมันเอง ส่วนหนึ่งเพราะศาสนาไม่เคยพัฒนาไปจากเดิมเมื่อมันถือกำเนิดขึ้นมา พันปีก่อนเป็นอย่างไร ณ วันนี้มันก็เป็นไม่ต่างไปจากนั้นซักเท่าไหร่นัก

สิ่งที่ศาสนาหรือความเชื่อถนัดคือการตีความ ตีความสิ่งต่างๆรอบตัว เช่น ถ้าเกิดฝนแล้งก็อาจจะแก้ด้วยการเต้นรำเพื่อขอฝน และทำพิธีบูชายันบางอย่าง แล้วถ้าฝนยังแล้งอยู่ก็อาจจะโทษว่าการเต้นรำนั้นไม่ถูกต้อง หรือสัตว์ที่นำมาบูชายันนั้นไม่ถูกใจเทพเจ้า สิ่งที่ศาสนาหรือความเชื่อทำได้ก็คือการโทษไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยพัฒนาตัวเองให้เก่งกาจขึ้นซักเท่าไหร่นัก

ผิดกับวิทยาศาสตร์ที่ยอมรับข้อบกพร่องเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น คนจำนวนมากเลยหันมาเชื่อวิทยาศาสตร์หรือความรู้มากกว่าเรื่องงมงายปรัมปราอีกต่อไป

บทที่ 9 Immigration, Some cultures might be better than others การอพยพย้ายถิ่นฐาน บางวัฒนธรรมอาจเหนือกว่าวัฒนธรรม

สมัยก่อนเราอาจเหยียดกันด้วยเชื้อชาติ สีผิว เช่น เราเคยเชื่อกันว่าคนผิวดำนั้นด้อยกว่าคนผิวขาว หรือคนเอเซียนั้นด้อยกว่าคนตะวันตก แต่ในวันนี้ความเชื่อเหล่านั้นถูกพิสูจน์ผ่านวิทยาศาสตร์แล้วว่าไม่จริง คนดำไม่ได้มีอะไรด้อยกว่าทางชีววิทยาเลยซักนิด แถมยังเหนือกว่าในบางด้านอีกด้วยซ้ำ วันนี้การเหยียดกันเลยเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ว่าเพราะเธอทำตัวอย่างนั้นถึงได้ด้อยกว่าชั้นยังไงล่ะ

การเหยียดทางวัฒนธรรมส่งผลกระทบถึงผู้อพยพมากมายที่เจ้าของประเทศทางยุโรปส่วนใหญ่ไม่เปิดรับ เพราะเค้าเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นทำวัฒนธรรมการกระทำตัวบางอย่างที่ไม่เหมาะสมกับประเทศเค้า ดังนั้นคนกลุ่มที่ว่าจึงไม่เหมาะสมที่จะอยู่ในประเทศนี้

หรือแม้แต่การที่ Donald Trump บอกว่าคนเม็กซิกันด้อยกว่าคนอเมริกาไม่ใช่เพราะเชื้อชาติ แต่เพราะพวกเค้าทำตัวแบบนั้นแบบนี้ที่เราไม่ทำเท่านั้นเอง ดังนั้นประเทศอเมริกาเราจึงไม่เหมาะสมที่จะเปิดรับเค้าด้วยวัฒนธรรมที่ไม่เข้ากัน ถ้าเค้าอยากจะเข้ามาประเทศเรา เค้าก็ต้องทำตัวเหมือนเรา อยู่เหมือนเรา เป็นเหมือนเรา

บทที่ 10 Terrorism, Don’t panic การก่อการร้าย อย่าตระหนก

เริ่มจากรู้มั้ยครับว่าในแต่ละปีคนที่เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายนั้นมีจำนวนจริงๆน้อยมาก มากกว่าอุบัติเหตุที่เกิดบนท้องถนนในแต่ละวันอย่างเทียบไม่ได้อีกครับ แต่ทำไมเราส่วนใหญ่ถึงกลัวการก่อการร้ายมากเหลือเกิน

ส่วนหนึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะสื่อต่างๆชอบโหมประโคมข่าวการก่อการร้ายให้ใหญ่โตเกินกว่าที่ควรจะเป็น เลยทำให้เรื่องการก่อการร้ายนั้นน่ากลัวเกินไปและใหญ่เกินจริงในความคิดเรา

การก่อการร้ายเปรียบเสมือนแมลงวัน ที่ไม่สามารถทำให้บ้านหลังนึงพังได้ แต่รู้มั้ยครับว่าถ้าแมลงวันนั้นฉลาดบินถูกจุดเข้าไปที่หูของวัวตัวหนึ่งแล้วส่งเสียงหึ่งๆน่ารำคาญ แล้วถ้าวัวตัวนั้นเกิดบ้าตามที่จะวิ่งชนข้าวของพังพินาศจนบ้านทั้งหลังพังลง นั่นก็เท่ากับว่าแมลงวันสามารถพังบ้านได้ด้วยวัวแต่ไม่ใช่ด้วยกำลังของมันเอง

การก่อการร้ายเลยเป็นการสร้างภาพมากกว่าผลลัพธ์ อย่าง 911 ที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ผู้คนทั่วอเมริกาจนไปถึงทั่วโลกกลัวภาพที่เกิดขึ้นมากกว่าตัวผลลัพธ์เมื่อวิเคราะห์ออกมาจริงๆ และการก่อการร้ายก็จะยิ่งประสบความสำเร็จในแง่ของผลลัพธ์ในประเทศที่มีความปลอดภัยมากๆ ลองคิดดูซิว่าถ้าเหตุการณ์เดียวกันเกิดขึ้นในอิรัก หรือซีเรีย คงไม่มีใครตื่นตกใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นเท่าไหร่นักจริงมั้ยครับ

การต่อต้านการก่อการร้ายที่ควรจะเป็นคือ รัฐบาลควรมุ่งความสนใจไปที่การต่อต้านเครือข่ายอันน่ากลัวในทางลับ สื่อควรนำเสนออย่างพอเหมาะไม่ใส่สีตีไข่หรือตีโพยตีพายจนเกินไป และสุดท้ายก็คือจินตนาการของเราทุกคนเอง

การก่อการร้ายไม่ได้มุ่งหวังผลทางกายภาพ แต่มุ่งหวังผลกับความกลัวของคนส่วนใหญ่จนทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งใหม่ การเปลี่ยนผู้นำประเทศ หรือแม้แต่การเปลี่ยนระบอบการปกครองของประเทศนั้นๆไปเลย

เพราะการก่อการร้ายที่น่ากลัวจริงๆคือการใช้นิวเคลียร์ทำลายล้างทีได้เป็นล้านๆคน จนก่อให้เกิดสงครามจริงๆตามมาแบบที่เราเห็นอยู่ในภาพยนต์สายลับบ่อยๆครับ

บทที่ 11 WAR, Never underestimate human stupidity สงคราม ความประเมินความงี่เง่าของคนเราต่ำไป

เริ่มจากการเข้าใจก่อนว่ามนุษย์เรานั้นทำสงครามไปเพื่ออะไร ก็เพื่อต้องการแย่งชิงทรัพยากร ในสมัยก่อนก็หนีไม่พ้นที่ดิน จากนั้นก็เป็นแรงงานผู้คนที่ไล่ต้อนเอามาใช้แรงงาน จากนั้นก็เป็นเพื่อเอาทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะสินแร่ ถ่านหิน น้ำมัน หรือยูเรเนียม แต่ในศตวรรษที่ 21 นี้สงครามจะยิ่งด้ายค่าความสำคัญลง

เพราะการที่ประเทศหนึ่งมีชัยเหนือประเทศหนึ่งได้ไม่ได้ช่วยทำให้ประเทศนั้นมีความได้เปรียบแต่อย่างไร เพราะทรัพยากรสำคัญในวันนี้คือความรู้ คือข้อมูล ดังนั้นถ้าวันนี้จีนหรือรัสเซียยกทัพไปยึดครอง Silicon Valley ได้ ก็ไม่อาจยึดเอาความได้เปรียบที่ประเทศอเมริกามี หรืออยู่ในตัวคนอเมริกาได้ เพราะคนเหล่านั้นพร้อมจะบินหนีไปประเทศอื่นในทันที การรบแบบเดิมเลยไม่ได้เป็นสาระสำคัญของการเมืองทุกวันนี้ นอกจากจะมีไร้เพื่อประดับบารมีอำนาจผู้นำ

สงครามที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 จะกลายเป็นสงครามไซเบอร์เสียส่วนใหญ่ เป็นสงครามของ Algorithm เพื่อล้วงเอาข้อมูลลับของอีกฝ่าย หรือป้อนข้อมูลลวงให้อีกฝ่ายครับ

บทที่ 12 Humility, You are not the centre of the world ความถ่อมตน คุณไม่ได้เป็นศูนย์กลางของโลก

บรรดาศาสนา หรือชาตินิยมต่างๆมักหลงคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลทั้งปวงหรือโลกทั้งใบ ไม่ว่าจะศาสนาไหนก็ล้วนแต่หลงตัวเองคล้ายกัน โดยเฉพาะการยึดติดกับคัมภีร์เดิมของตัวเองที่ถูกเขียนขึ้นมาเมื่อไม่กี่พันปีก่อนว่าคือสาระสำคัญของโลกและจักรวาล จนลืมไปว่าแท้จริงแล้วอารยธรรมนั้นเริ่มมาก่อนหน้านั้นเป็นหมื่นปี ลืมไปว่าคณิตศาสตร์และภาษาเขียนนั้นมีมากว่าหมื่นปีแล้ว แต่ทำไมถึงยังยึดถือกันไปว่าอารยธรรมที่แท้จริงของมนุษยชาติเริ่มนับหนึ่งก็ตอนที่พระเจ้าของตัวเองจุติลงมาบนโลกกันนะ

นี่คือคำถามที่บนนี้มอบให้เรากลับไปทำความเข้าใจใหม่ ว่าทุกสิ่งที่อย่างล้วนมีมาก่อนหน้าเสมอ ก่อนจะมีมนุษย์เราก็คือลิงไร้หางสปีชีย์หนึ่ง ก่อนจะเป็นลิงเราก็เป็นสัตว์ชนิดอื่นมาก่อน หรือแม้แต่กระทั่งเรามีวิวัฒนาการมาจากอะมีบาด้วยซ้ำ

โลกนี้มีของที่เป็นสากลมากมายไม่ใช่ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ฟิสิกส์ก็ไม่ใช่ของยิวหรือของคริสเตียน แต่เป็นของทุกคนบนโลกที่สามารถเรียนรู้ได้ ชีววิทยาก็หาใช่ของอิสลามหรือพุทธ แต่เป็นของที่ทุกคนเรียนรู้ได้

อย่าลำพองว่าเราคือศูนย์กลางของโลก หรือใจกลางของจักรวาล เราต่างเป็นแค่ธุลีในดาราจักรอันน้อยนิดนี้เมื่อเทียบกับหนึ่งแกแล็คซี่ด้วยซ้ำครับ

บทที่ 13 GOD, Don’t take the name of God in vain พระเจ้า อย่ากล่าวพระนามของพระเจ้าโดยเสียเปล่า

มนุษย์นั้นชอบกล่าวอ้างว่าอะไรก็ตามที่ยิ่งใหญ่และลึกลับล้วนต้องเป็นผลงานของพระเจ้า สมัยก่อนนั้นที่เรายังไม่รู้ว่าดวงอาทิตย์คืออะไร ดวงจันทร์คืออะไร ดวงดาวทั้งหลายบนท้องฟ้าคืออะไร เราก็กล่าวอ้างว่าเป็นผลงานของพระเจ้าที่สั่งให้พระอาทิตย์ขึ้นด้านนี้แล้วเรียกว่าทิศตะวันออก แล้วก็ตกด้านนั้นและก็เรียกว่าทิศตะวันตก

แต่วันนี้เรารู้แล้วว่าเพราะอะไร เพราะการหมุนตัวของโลก เพราะการโคจรรอบดวงอาทิตย์ และการเคลื่อนที่ของหมู่ดาวทั้งหลายในแกแล็คซี่ เราก็เลยยกพื้นที่ใหม่ให้พระเจ้านั่นก็คือจักรวาล จนเมื่อเราพบว่าจักรวาลน่าจะถือกำเนิดจากบิ๊กแบงเราก็ให้อำนาจใหม่กับพระเจ้าไปเรื่อยๆ

แต่ผู้เขียนตั้งคำถามได้อย่างน่าสนใจว่า น่าแปลกที่พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสร้างโลกใบจิ๋ว และจักรวาลที่ยิ่งใหญ่มหาศาล ทำไมถึงต้องเอ่ยพระนามของพระเจ้ากับปัญหาจิ๋วๆอย่างการคุมกำเนิด การทำแท้ง การรักร่วมเพศ หรือการแต่งกายโชว์เนื้อหนังของผู้หญิงว่าเป็นบาป

เพราะถ้าพระเจ้ายิ่งใหญ่จริงคงไม่มีเวลามาสนใจเรื่องที่เล็กยิ่งกว่าขี้ประติ๋วแบบนี้บนดาวดวงเล็กๆแค่โลกใบเดียวหรอก เพราะท่านต้องดูแลทั้งจักรวาลนิจริงมั้ย

บทที่ 14 Secularism, Acknowledge your shadow คามิยนิยม ยอมรับเงาของตัวเอง

คามิยนิยมบางครั้งถูกตีความว่ากลุ่มคนผู้ไม่เชื่อในศาสนา แต่ในความเป็นจริงแล้วนี่คือกลุ่มคนที่เปิดรับทุกอย่างที่ดีกับตัวเอง เค้าเลยไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่กับแค่ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ความเชื่อใดความเชื่อหนึ่ง

เค้าสามารถนั่งสมาธิกับชาวพุทธได้ในวันจันทร์ แล้วก็กินอาหารฮาลาลแบบอิสลามในวันอังคาร จากนั้นก็ไปสนทนากับแรบไบในวันพุธ แล้วก็สวดมนต์ร้องเพลงกับคริสในวันอาทิตย์ คามิยนิยมคือคนที่บูชาคุณค่าแห่งความจริง ความเมตตา ความเท่าเทียม เสรีภาพ ความกล้าหาญ และความรับผิดชอบ นี่คือพื้นฐานของสถาบันด้านประชาธิปไตยและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

เวลาจะตัดสินอะไรเค้าจะไม่อ้างว่าพระเจ้าคิดอย่างไร หรือคัมภีร์บอกไว้ว่าอย่างไร แต่เค้าจะคิดจากมุมมองของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแบบคนกับคน ไม่ใช่แบบศาสนากับศาสนา

ถ้าเค้าจะคัดค้านการแต่งงานในเพศเดียวกันก็ไม่ใช่ด้วยเรื่องของหลักความเชื่อ หรือพระเจ้าบอกไว้ แต่อาจจะด้วยเหตุผลบางอย่างที่ไม่สมควรในแง่มุมอื่นที่สามารถพิสูจน์หรือถกเถียงได้ ไม่ใช่ใช้ความเชื่อด้านพระเจ้ามาเป็นเสาหลักว่าห้ามเถียงไม่อย่างนั้นจะเป็นการลบหลู่

ดังนั้นคามิยนิยมไม่ใช่แค่ผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้าอย่างลัทธิ fascism หรือชาตินิยมที่เคยเป็นมา แต่เป็นผู้ที่เชื่อในคุณค่าร่วมของประชาชนโลก เชื่อด้วยเหตุและผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ครับ

บทที่ 15 Ignorance, You know less than you think ความโง่เขลา คุณรู้น้อยกว่าที่คุณคิด

เราเคยเชื่อว่ามนุษย์ในวันนี้ต้องฉลาดกว่ามนุษย์ในยุคโบราณที่ยังเป็นพวกเก็บของป่าล่าสัตว์เหมื่อหมื่นกว่าปีก่อนเป็นไหนๆแน่

แต่ในความเป็นจริงแล้วสมองของเราหดตัวลงเล็กน้อยนะครับจากมนุษย์ในยุคนั้น เพราะเราไม่ต้องใช้ความรู้มากมายเพื่อมีชีวิตรอดเท่ากับคนป่าแต่อย่างไร

ลองคิดดูซิว่าสมัยก่อนคุณต้องรู้ว่าอะไรกินได้ไม่ได้ เห็ดแบบไหนมีพิษ หรือเราจะล่าสัตว์แบบนี้ได้อย่างไรโดยไม่ให้เจ็บตัว แต่ในวันนี้ถ้าเราอยากกินเราก็แค่เดินไปที่ตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต จากนั้นก็เลือกหยิบอาหารจากวันหมดอายุ เท่านี้เราก็สามารถมีชีวิตรอดได้แล้ว

ดังนั้นในยุคที่เราจะถูก technology disruption นั้นก็จะยิ่งทำให้เรารู้น้อยลงไปอีก เราจะเหลือแค่เราต้องรู้แค่บางอย่างที่เฉพาะเจาะจงมากๆเพื่อให้มีงานทำ มีเงินมาซื้อข้าวกิน ยิ่งทำให้สมองเราใช้งานน้อยลงไปอีกเมื่อเทียบกับยุคก่อนหน้า

เราพึ่งพาความรู้ความสามารถของผู้อื่นมากขึ้นเรื่อยๆเพื่อให้เรามีชีวิตรอดครับ

บทที่ 16 Justice, One sense of justice might be out of date ความยุติธรรม สำนึกแห่งความยุติธรรมของเราอาจล้าสมัย

เพราะนิยามของความยุติธรรมในศตวรรษที่ 21 อาจไม่ใช่แค่การที่เราทำร้ายใครโดยตรงแบบเดิมๆตามตัวบนกฏหมาย แต่อาจหมายถึงการที่เราเลือกนั้นส่งผลกระทบไปทำร้ายใครด้วยหรือไม่ต่างหากครับ

เช่น ถ้าเราไม่เดินไปชกหน้าเพื่อนบ้าน หรือเด็กคนไหนในที่ห่างไกล เราก็คงไม่ได้ไปทำร้ายหรือทำผิดอะไรกับเค้าใช่มั้ยครับ แต่ในขณะเดียวกันถ้าเราเลือกซื้อสินค้าจากบริษัทที่ใช้แรงงานเด็กที่อยู่ห่างไกลด้วยค่าแรงต่ำและเงื่อนไขการทำงานที่ไม่เป็นธรรมอย่างสิ้นเชิง แบบนี้ถือว่าเรายุติธรรมหรือผิดมั้ยครับ?

นี่จะกลายเป็นคำถามใหม่ของความยุติธรรมในศตวรรษนี้ ที่จะไม่ใช่การกระทำโดยตรงแต่หมายถึงผลกระทบโดยอ้อมจากการเลือกของเรา

ถ้าบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่เป็นบริษัทปิโตรชื่อดังที่สัญญาว่าจะตอบแทนเรา 5% ทุกปี แต่บริษัทนั้นกลับไปทำให้แม่น้ำของชาวบ้านที่ห่างไกลเป็นพิษจนไม่สามารถใช้ดื่มกินได้ แบบนี้เราควรได้รับผลกระทบอะไรในฐานะที่สนับสนุนบริษัทดังกล่าวจากการถือหุ้นด้วยมั้ยครับ

ไม่แน่นะครับความยุติธรรมข้างหน้าอาจครอบคลุมมาถึงจุดนี้ และนั่นเป็นสิ่งที่สามารถตรวจสอบและติดตามได้ไม่ยากเลยในยุค data ที่กำลังเป็นอยู่ครับ

บทที่ 17 Post-Truth, Some fake news lasts for ever ยุคหลังสัจธรรม ข่าวลวงบางชิ้นจะคงอยู่ตลอดไป

ว่ากันว่าประวัติศาสตร์ถูกเขียนขึ้นโดยผู้ชนะ หรือผู้ที่มีอำนาจมากกว่า ในปี 1931 กองทัพญี่ปุ่นสร้างฉากการโจมตีตัวเองปลอมๆขึ้นมาเพื่อเป็นข้ออ้างในการรุกรานจีน หรือการตั้งถิ่นฐานของชาวอังกฤษในออสเตเรียก็อ้างเหตุผลตามหลักกฏหมายของ terra nullius หรือ แผ่นดินที่ไม่มีเจ้าของ ซึ่งส่งผลให้ลบประวัติศาสตร์กว่า 50,000 ปี ของชาวอะบอริจินไปจนสิ้น

ก็เหมือนี่รัสเซียสร้างเหตุผลปลอมๆขึ้นมาเพื่อเข้ารุกรานยูเครนและยึดครองพื้นที่ในไครเมียโดยบอกว่ากองทัพที่เข้ายึดครองนั้นไม่ใช่ของรัสเซีย แต่เป็นประเทศเกิดใหม่ที่เป็นกองกำลังป้องกันตัวเองที่เกิดขึ้นเองของชาวบ้าน แต่เครื่องไม้เครื่องมือที่กองทัพนั้นใช้เป็นของรัสเซียทั้งนั้น

ทำไมมนุษย์เราถึงเชื่อในเรื่องโกหกง่ายดาย? นั่นก็เพราะการเชื่อในเรื่องเล่าหรือเรื่องแต่งนั้นเป็นจุดแข็งของสปีชีย์เราอย่างไม่น่าเชื่อ การสร้างจินตนาการร่วมทำให้เราสามารถรวมตัวกันเอาชนะสปีชีส์อื่นที่แข็งแกร่งกว่ามาได้ตลอด

และในขณะเดียวกันเราก็สร้างความเชื่อบางอย่างเพื่อเอามากดขี่มนุษย์ด้วยกันอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นความด้อยกว่าของเพศหญิงที่ในพระคัมภีร์บอกว่าผู้หญิงนั้นล่อลวงให้อดัมต้องกินผลแอปเปิ้ลในสวนต้องห้าม หรือความเชื่อเรื่องชนชั้นวรรณะในอินเดียที่ถูกส่งต่อกันมาเป็นพันๆปีว่าห้ามติดต่อสัมพันธ์กันข้ามชนชั้น

ดังนั้นเมื่อคนหนึ่งพันคนเชื่อเรื่องแต่งบางเรื่องเป็นเวลานาน 1 เดือน นั่นเรียกข่าวลวง เมื่อคนหนึ่งพันล้านคนเชื่อเรื่องนั้นเป็นเวลา 1,000 ปี นั่นเรียกศาสนา

ในช่วงเลือกตั้งที่อเมริกาในปี 2016 เคยมีการปล่อยข่าวลวงโจมตีฮิลลารี คลินตันว่าควบคุมเครือข่ายการค้ามนุษย์โดยกักขังเด็กๆไว้ที่ชั้นใต้ดินของร้านพิซซ่าแห่งหนึ่ง แล้วก็มีชาวอเมริกามากมายเชื่อจนส่งผลต่อแคมเปญการเลือกตั้งของฮิลลาลี และมีบางคนพกปืนไปที่ร้านเพื่อขอให้เปิดชั้นใต้ดินให้ดู แต่กลับพบว่าร้านพิซซ่านั้นไม่มีชั้นใต้ดินด้วยซ้ำ!

นี่ยังไงล่ะครับพลังของข่าวลวงที่น่ากลัวเหลือเกินในยุคนี้

การสร้างแบรนด์ก็คือการหลอกลวงเช่นกัน อย่างโค้กเองที่สร้างภาพกับวัยรุ่น ความสดใส การออกกำลังกายมาตลอด แต่ในความเป็นจริงแล้วโค้กนั้นไม่ได้ทำให้สุขภาพดีหรือแข็งแรง แต่กลับทำให้เราเป็นโรคอ้วนหรือเบาหวานในระยะยาวด้วยซ้ำ

ทักษะที่สำคัญของศตวรรษที่ 21 คือ เราต้องรู้จักแยกแยะความจริงและความลวงออกจากข้อมูลที่ได้รับ ต้องรู้จักตรวจสอบแหล่งที่มาว่าเชื่อถือได้หรือไม่ เพราะในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารแทนที่เราจะได้ใช้ประโยชน์มัน กลับกลายเป็นว่ามันใช้ประโยชน์เราครับ

บทที่ 18 Science Fiction, The future is not what you see in the movies นิยายวิทยาศาสตร์ อนาคตไม่ได้เป็นแบบที่เห็นในภาพยนต์

เรามักถูกภาพยนต์บ่มเพาะความคิดประเภทว่าเครื่องจักรหรือปัญญาประดิษฐ์จะมาแย่งชิงชีวิตของคนส่วนใหญ่ไป แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคืออภิชนคนกลุ่มน้อยๆที่ต่างหากที่จะเอาชีวิตเราทั้งหมดไปด้วย Algorithm ของเค้า ด้วย AI ของเค้า

เราถูกหนังอย่าง Matrix บอกว่าเราจะถูกเครื่องจักรจองจำ แต่ในความเป็นจริงเราน่าจะถูกจองจำแบบเรื่อง Huger Game ของกลุ่มคนเล็กๆที่อาศัยอยู่ในวังและชาวบ้านก็ต้องส่งส่วยให้ตลอดเวลา แค่ทุกอย่างมันดูทันสมัยกว่าในหนังเท่านั้นเอง

ผู้เขียนบอกว่าเราน่าจะให้นักวิทยาศาสตร์หัดเรียนรู้วิธีที่จะเล่าเรื่องให้ได้อย่างผู้สร้างภาพยนต์ชั้นนำ ไม่ว่าจะ Speilberg หรือ Michael Bay เพื่อจะได้ถ่ายทอดวิทยาศาสตร์ออกมาให้คนทั่วไปสนใจและเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่ด้วยการผ่านบทความทางวิทยาศาสตร์ที่น้อยคนนักจะเข้าใจ หรือเขียนไว้เพื่อให้อ่านกันเองในวงนักวิทยาศาสตร์ด้วยกัน

บทที่ 19 Education, Change is the only constant การศึกษา ความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งเดียวที่แน่นอน

เชื่อมั้ยว่าทักษะที่เราเรียนรู้ในวันนี้จะล้าสมัยจนไม่สามารถใช้หากินได้ก่อนปี 2050 ด้วยซ้ำ เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆที่พัฒนาไปเร็วมากก่อให้เกิดงานที่ต้องการทักษะใหม่ๆที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้เมื่ออยู่ในศตวรรษที่ 21 คือการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และต้องรู้จักเปลี่ยนแปลงให้เร็วเกินกว่าที่จะจินตนาการไหว

ถ้าเป็นเมื่อพันปีหรือร้อยปีก่อน ทักษะที่เราเรียนรู้จากพ่อแม่ครูอาจารย์จะสามารถให้เราใช้งานไปได้ตลอดชีวิต อาจจะเป็นทักษะการอ่านเขียน ทักษะการเลี้ยงวัว แต่เราไม่มาทางนึกออกว่าการเมืองในปี 2050 จะเป็นอย่างไร หรือการติดต่อสื่อสารของเราในตอนนั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เหมือนโทรศัพท์ไร้ปุ่มกดที่เมื่อ 20 ปีก่อนไม่เคยถือกำเนิดขึ้นมาก่อนด้วยซ้ำ และไม่มีใครคิดว่าอินเทอร์เน็ตจะไร้สายและเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้อย่างทุกวันนี้ หรือแม้กระทั่งทักษะการเรียนรู้ภาษาที่ว่ายากนักหนาในบางภาษา และต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเชี่ยวชาญหรือแม้แต่พอใช้งานได้ อาจจะไม่จำเป็นเมื่อ AI สามารถแปลภาษาที่เราได้ยินในทันทีแบบที่เจ้าของภาษาอาจจะยังทำไม่ได้ทุกคน

ทักษะสำคัญคือการแยกแยะข้อมูลให้เป็นและมองเห็นภาพรวมของข้อมูลต่างๆให้ออก

ในยุค data ที่เต็มไปด้วยข้อมูลในรูปแบบ digital ที่มีให้เราเรียนรู้ได้ไม่หมดนั้น สิ่งสำคัญคือการรู้จักแยกแยะว่าข้อมูลไหนน่าเชื่อถือไม่น่าเชื่อถือ รู้จักแยกแยะว่าข้อมูลไหนเอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้ หรือข้อมูลไหนสามารถเอาไปต่อยอดกับเรื่องอื่นได้ และสามารถเอาข้อมูลท้งหมดมาประกอบรวมแล้วสังเคราะห์ออกมาเป็นความรู้ใหม่ๆได้

นี่คือการใช้ข้อมูลแบบหลายมิติที่จะกลายเป็นทักษะสำคัญของศตวรรษที่ 21 ในยุคที่ข้อมูลมีไม่จำกัด แต่เวลาเรากลับไม่เคยเพิ่มตาม ใครที่ใช้เวลาที่มีให้เกิดประโยชน์มากกว่ากัน คนนั้นคือผู้ชนะ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอนบอกว่าโรงเรียนควรจะเปลี่ยนไปสอน 4C คือ Critical thinking การคิดเชิงวิพากษ์, Communication การสื่อสาร, Collaboration การประสานร่วมมือกัน และ Creativity ความคิดสร้างสรรค์ มากกว่าแค่การพยายามป้อนข้อมูลให้นักเรียนแบบเดิมๆเหมือนที่เคยเป็นมา

ในศตวรรษที่ 21 ร่างกายเราจะยิ่งถูกแฮกผ่านเซนเซอร์ต่างๆ ดังนั้นถ้าเราไม่รู้จักตัวเองดีพอที่จะชี้นำ Algorithm ให้ทำเพื่อเราอย่างที่เราต้องการ เราก็จะเป็นฝ่ายถูก Algorithm ชี้นำให้เราทำอย่างที่เจ้าของมันที่เป็นอภิสิทธิ์ชนกลุ่มเล็กๆต้องการครับ

บทที่ 20 Meaning, Life is not a story ความหมาย ชีวิตไม่ใช่เร่องเล่า

บทนี้มีเนื้อหามากกว่าหลายๆบทที่ผ่านมา ว่าด้วยเรื่องของการทำให้เราตาสว่างหรืออย่างน้อยก็มองเห็นว่าเราทุกคนล้วนถูกเรื่องเล่ามากมายกล่อมเกลาให้เราเป็นเราโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเรื่องเล่าจากศาสนาที่พ่อแม่ป้อนให้เรา นักบวชป้อนให้เรา หรือแม้แต่ภาพยนตร์นิยายต่างๆป้อนให้เรา ว่าเราอาจจะเป็นคนหนึ่งที่ต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ทุกอย่างที่หน้าที่ของตัวเอง หรือเรามีหน้าที่ต้องออกไปค้นหาชีวิตที่เป็นอิสระก็ตาม

เซเปียนยิ่งใหญ่ก็เพราะเรื่องเล่า แต่ในขณะเดียวกันความยิ่งใหญ่นั้นถูกจำกัดไว้ให้ก็กับแค่ผู้เล่าเรื่อง เพราะเรื่องเล่าเหล่านั้นกลับมาจำกัดผู้เชื่อให้ต้องอยู่ตามกรอบโดยไม่รู้ตัวมาเป็นเวลานาน

และพิธีกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าที่ต้องระวัง เพราะยิ่งถ้าเราลงมือทำอะไรบางอย่างลงไป นั่นก็เป็นการทำให้เราตอกย้ำความเชื่อนั้นให้ตัวเราเอง นี่เป็นเรื่องของจิตวิทยาที่เราควรต้องรู้เท่าทันเอาไว้ อย่าให้ใครมาชักจูงเรา

จงใช้ชีวิตเพื่อพิสูจน์ความจริงทั้งหลาย อย่าหลงงมงายไปกับเรื่องเล่ามากมายรอบตัวโดยไม่ตั้งคำถามอย่างใส่ใจ อย่าใช้ชีวิตตามคลื่นแต่จงรู้จักมองคลื่นให้เห็นจุดเริ่มต้นและจุดจบอย่างเข้าใจ

บทที่ 21 Meditation, Just observe การทำสมาธิ แค่สังเกต

จากที่ผมจำได้จากเล่ม Sapiens รู้สึกว่าผู้เขียนน่าจะหลงไหลสนใจในการทำสมาธิเป็นประจำ เรื่องนี้ทำให้คิดย้อนถึงคนไทยที่นับถือพุทธทั้งหลายว่า เราเคยใช้เวลาไปกับการทำสมาธิแบบจริงจังมากน้อยแค่ไหน ทั้งที่การทำสมาธิเป็นหัวใจของพุทธ เป็นสิ่งที่ทำให้พระพุทธเจ้าบรรลุธรรมก็ว่าได้

ผู้เขียนบอกว่าทักษะสุดท้ายที่สำคัญคือการใช้ชีวิตอยู่รู้และเข้าใจ เข้าใจจิตใจมากกว่าแค่ปัญญาหรือความฉลาดภายนอก เข้าใจมากกว่าแค่สมองด้วยเครื่องสแกนต่างๆ

นักวิทยาศาสตร์พยายามทำความเข้าใจเรื่องสมาธิ เรื่องสมอง ด้วยการเชิญนักทำสมาธิเก่งๆมาวัดคลื่นสมอง แต่ตัวนักวิทยาศาสตร์ผู้วิจัยเหล่านั้นเองกลับไม่ค่อยลงมาสำรวจด้วยตัวเองทั้งที่ทำได้

เรามักใช้ชีวิตไปกับการกังวลอนาคต กังวลว่าตายแล้วไปไหน วิญญาณชั้นจะเป็นอย่างไร ทั้งที่สาระสำคัญในชีวิตคือการอยู่กับชีวิตในนาทีนี้ วินาทีนี้ ชั่วขณะนี้เท่านั้น

การทำสมาธิทำให้เราสามารถรู้เท่าทันโลกรอบตัว รู้เท่าทันโลกในตัว รู้เท่าทันว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นแค่ปฏิกิริยาอะไรบางอย่างในร่างกายเท่านั้น รู้ว่าความโกรธนั้นไม่ใช่ความจริง ความทุกข์นั้นไม่ใช่ความจริง มันก็เป็นอีกแค่ปัญหาหนึ่งที่ต้องแก้เท่านั้น

ถ้าเราแก้ได้ก็ลุกขึ้นไปลงมือแก้ แต่ถ้าเราแก้ไม่ได้แล้วเราจะเอาใจไปใส่กับมันทำไม บางทีทางแก้ที่ดีที่สุดอาจจะเป็นแค่การปล่อยให้มันเป็นไปอย่างยอมรับและเข้าใจก็เท่านั้น

นี่คือทักษะสุดท้ายที่สำคัญยิ่งอย่างไม่น่าเชื่อ และคุณรู้มั้ยว่าการทำสมาธินั้นกลายเป็นคอร์สสอนที่ราคาแพงมากในฝากฝรั่งชาติตะวันตก ทั้งที่เป็นสิ่งที่อยู่กับพุทธมาตลอด แต่เรากลับสนใจมันน้อยมาก

และนี่คือสรุปหนังสือที่น่าจะใช้เวลาสรุปนานที่สุด เริ่มตั้งแต่ตอนสายๆของวัน จนถึงตอนนี้หกโมงเย็นแล้ว เป็นหนังสือที่ดีมากอีกหนึ่งเล่มที่อยากให้ทุกคนได้อ่าน แม้เห็นภายนอกว่าทั้งดูหนาและใหญ่น่ากลัวไม่รู้ว่าจะอ่านจบเมื่อไหร่ แต่เชื่อมั้ยครับว่าอ่านง่ายกว่าที่คิดและอ่านสนุกอย่างไม่น่าเชื่อ

ต้องชื่นชมผู้แปลที่สามารถถ่ายทอดได้อย่างไหลลื่น การจะแปลเรื่องที่มีความวิทยาศาสตร์ผสมกับความรู้หลากแขนงได้ดีขนาดนี้ต้องใช้ทักษะมหาศาล ผมรอติดตามเล่มหน้าอยู่นะครับ

สุดท้ายแล้วหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เราเข้าใจภาพรวมของศตวรรษที่ 21 มากขึ้น เข้าใจว่าการจะอยู่รอดในศตวรรษนี้ได้ต้องมีทักษะอะไรบ้าง เริ่มจากการเข้าใจตัวเอง เข้าใจโลกรอบตัว เข้าใจเกมของสังคม เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากเทคโนโลยี เข้าใจที่จะแยกแยะข้อมูลให้ออก วิเคราะห์ข้อมูลให้เป็น และก็รู้จักใช้จุดแข็งของตัวเองให้เป็นประโยชน์

บางทีทางออกของศตวรรษที่ 21 คือการเอาตัวเองออกจากระบบ เอาตัวเองออกจากเกมที่ถูกกำหนดโดยกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของ AI หรือผู้เขียนกฏ Algorithm ทั้งหลายขึ้นมา ออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเองให้มากที่สุด แล้วก็หาความสุขเล็กๆน้อยๆให้ตัวเองทุกวัน ด้วยการนั่งอ่านหนังสือไปด้วยกันจนวันกว่าจะเข้าสู่ศตวรรษที่ 22 ครับ

อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือเล่มที่ 22 ของปี 2019

21 Lessons for the 21st Century
21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21
Yuval Noah Harari เขียน
ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ และ ธิดา จงนิรามัยสถิต แปล
สำนักพิมพ์ GYPZY

20190408

ไทยแท้ไม่มีอยู่จริง

นี่คือความรู้สึกหลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ทำให้รู้ว่าไอ้ความเป็น “ไทยแท้ๆ” ที่เราหวงกันนักหนา ไม่ว่าจะ อาหารไทย มวยไทย ลายเส้นไทย การไหว้แบบไทย สงกรานต์ไทย หรือแม้แต่ภาษาไทยแท้จริงแล้วก็ไม่ใช่ของที่กำเนิดมาจาก “ไทย” เลยซักอย่าง แต่กลับเป็นของส่วนร่วม ตามชื่อหนังสือที่บอกว่า “วัฒนธรรมร่วม” นั่นเอง

ไทย หรือ คนไทย นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนที่เอาเข้าจริงแล้วก็แยกแทบไม่ออก ถ้าถอดเสื้อผ้า ให้ดูแต่หน้าไม่ต้องพูดซักคำ ก็ยากที่จะแยกออกว่าหน้าแบบนี้คือไทย หน้าแบบนี้คือลาว หน้าแบบนี้คือพม่า เขมร หรือแม้แต่ทางใต้มาเลเซีย ฟิลิบปินส์ อินโดนีเซียก็ตาม

สมัยก่อนเราอยู่กันอย่างหลวมๆ กระจัดกระจายกันไป ไม่มีเส้นแบ่งเขตแดนที่ชัดเจน จนเราเพิ่งมากำหนดความเป็น “ไทย” ในตอนหลังไม่นานมาเมื่อไม่กี่ร้อยปีก่อนเอง ดังนั้นอะไรก็ตามที่เรามัก “เคลม” กันว่า อันนี้ไทย อันนี้ไม่ไทย ก็ล้วนแต่เคยเป็นของส่วนรวมทางวัฒนธรรมของชาวอาเซียนร่วมกันทั้งหมดมาก่อน และส่วนใหญ่เราก็ได้รับถ่ายทอดมาจากการค้ากับอินเดียมาอีกทอดหนึ่ง

ในยุคที่อินเดียคือชาติที่เจริญ ส่วนชาวอาเซียนคือชาติที่ล้าหลังกว่า เราเอารามายณะของอินเดียมาปรับใหม่เป็นรามเกรียติ์

เราเอาตัวอักษรปัลลวะที่หยิบยืมมาจากอินเดียอีกที แปลงเป็นภาษาไทยอีกขั้น

เราเอาการไหว้ที่ได้มาจากพราหมณ์และพุทธจากอินเดีย มากลายเป็นไหว้แบบไทยๆแล้วโฆษณาไปในระดับโลก

และวัฒนธรรมที่น่าสนใจในเล่มของชาวอาเซียนที่มีไทยเป็นส่วนหนึ่งก็เช่น ผู้หญิงเป็นใหญ่

สมัยก่อนในภูมิภาคนี้ผู้หญิงคือผู้นำ ทั้งผู้นำครอบครัว และผู้นำชุมชน ทรัพย์สมบติมรดกตกทอด ไม่ว่าจะบ้านหรือที่ดินทำกิน ล้วนแต่ถูกถ่ายทอดให้ผู้หญิงมาตลอด ผู้ชายอย่างผมไม่เคยได้อะไรกับเค้าเลยในยุคสมัยนั้น

เห็นมั้ยครับว่าผู้ชายสมัยนี้โชคดีขนาดไหน

แม้กระทั่งอาชีพที่ดูมีเกรียติในสมัยนั้น ช่างศิลป์ หรือ หมอต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นงานของผู้หญิงที่ผู้ชายไม่มีสิทธิ์ทำ บรรดาหม้อไหโบราณบ้านเชียงที่ย้อนหลังได้เป็นพันๆปี ก็ล้วนแต่มาจากฝีมือของผู้หญิง ลวดลายบนหม้อที่สวยงามทั้งหลายก็มาจากลายเส้นของผู้หญิง

เดาว่าผู้ชายคงได้แต่ขนดิน เตรียมของให้ผู้หญิงทำงาน

ทำให้นึกถึงภาพยนต์ฝรั่งเศษเรื่อง I am not easy man ที่ดูใน Netflix เมื่อวันก่อน ที่โลกกลับด้านสลับหน้าที่ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ทำให้เห็นภาพว่าผู้ชายนั้นเอาเปรียบผู้หญิงขนาดไหนในหลายๆเรื่อง

แนะนำให้ผู้ชายดูแล้วคุณจะเกรงใจผู้หญิงคนข้างๆรอบตัวมากขึ้นครับ

กลับมาที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ อย่างเรื่องเวลาแต่งงาน คำว่าเจ้าบ่าว เจ้าสาว หลายคนอาจจะพอรู้ว่าสมัยก่อนตอนจะแต่งงาน ผู้ชายต้องอาสาไปเป็นบ่าวรับใช้ในบ้านเจ้าสาวเพื่อให้พ่อแม่ครอบครัวเจ้าสาวพอใจ

แต่ในความเป็นจริงแล้วการไปเป็น บ่าว ที่บ้านเจ้าสาวนั้นต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ 5-10 ปีก็มี แล้วถ้าพ่อแม่ครอบครัวเจ้าสาวไม่พอใจ ก็สามารถเฉดหัวเจ้าบ่าวออกจากบ้านได้เลย

บางคนอาจมีคำถามว่า แล้วการเฉดหัวออกไปไม่ถือว่าผิดผี ผิดประเพณีที่เคยเชื่อหรอ ที่ว่าห้ามอยู่ด้วยกันก่อนแต่ง แล้วอยู่ด้วยกันนานๆไม่ท้องไม่ใส้มีลูกกันหรอ

คำตอบคือมีครับ แต่ก็เป็นเรื่องปกติที่ให้อยู่กินกันก่อนแต่งจนมีลูกได้ แต่ก็อย่างที่บอกว่าถ้าพ่อแม่ครอบครัวเจ้าสาวยังไม่ยอมรับ ก็มีสิทธิ์โดนเด้งได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ยอมรับแล้ว ก็จะยอมให้ปลูกเรือนหลังใหม่อยู่ใกล้ๆกันกับครอบครัวเจ้าสาว

ดังนั้นการแต่งเขยเข้าบ้านจึงเป็นเรื่องปกติของภูมิภาคนี้

พอพูดถึง เรือน ก็ทำให้นึกถึง เรือนเสาสูง

เรามักจะคุ้นกับภาพที่บ้านเรือนสมัยก่อน หรือในต่างจังหวัดนั้นมักยกใต้ถุนสูง ที่มักจะได้ยินก็คือยกสูงเพื่อหนีน้ำท่วมใช่มั้ยครับ แต่ความเป็นจริงแล้วการยกบ้านอยู่บนเสาสูงนั้นไม่ใช่เพื่อหนีน้ำท่วม แต่ยกเพื่อให้มีพื้นที่ใต้ถุนบ้านไว้ทำกิจกรรมต่างๆ

ไม่ว่าจะสาน จะหุง หรือเอาไว้หนีสัตว์ร้าย หนีน้ำท่วมเป็นแค่นานๆที เพราะบ้านเรือนส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตน้ำท่วม แต่ตั้งอยู่ในเขตที่ดอนที่สูงเป็นปกติ

เข้าใจใหม่นะครับ เรือนเสาสูงเค้าทำไว้เพื่อให้มีที่ทำงานต่างๆ ไม่ใช่เพื่อหนีน้ำท่วมอย่างที่เคยเข้าใจกัน

ผู้ชายกับการบวชนาค

เรามักคุ้นกันว่าก่อนจะเป็นพระต้องมีการบวชนาค แต่ในความเป็นจริงแล้วโดยพุทธศาสนาแต่ดั้งเดิม หรือที่อื่นในโลก ไม่ว่าจะอินเดียหรือลังกา ไม่มีการบวชนาคเหมือนบ้านเราแต่อย่างไร

แล้วการบวชนาคเกิดขึ้นได้ยังไงล่ะ?

นาค แต่เดิมหมายความว่า เปลือย หรือ ล้าหลัง ในสมัยนั้นหลังจากติดต่อกับชาวอินเดียที่เข้ามาค้าขายกับเราแล้ว อย่างที่บอกไปว่าชาวอินเดียคือชาติที่เจริญ ส่วนเรามันแค่ชาวป่า ตอนนั้นผู้คนแถบนี้ส่วนใหญ่ล้วนไม่ได้นุ่งผ้า อยู่กันแบบชีเปลือยนุ่งลมห่มฟ้า ทำให้ชาวอินเดียที่มาเห็นว่าเราเป็นพวกไม่เจริญเลยเรียกในภาษาเค้าว่า “นาค”

พอเอาการค้าเข้ามาก็พาศาสนาพุทธและพราหมณ์เข้ามาด้วย แล้วเวลาจะบวชให้พวกคนป่าอย่างพวกเราเค้าก็เลยเรียกว่าเป็นการ บวชนาคให้กลายเป็นพระ ให้กลายเป็นผู้มีอารยะเช่นชาวอินเดียนั่นเอง

หมดเรื่องคนก็เข้าเรื่องสัตว์ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์

สัตว์ศักดิ์สิทธิ์แต่เดิมของชาวอุษาคเนย์นั้นมีอยู่ 3 ชนิด มี หมา กบ และ จระเข้

เริ่มที่หมา

สมัยโบราณนั้นหมาถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพของคนแถบนี้ ไม่ได้มีการกินหมากันพร่ำเพรื่ออย่างที่เคยเชื่อกัน ในความเป็นจริงแล้วมีพิธีกรรมกินหมากันปีละครั้ง แต่กินด้วยความเคารพบูชา และต้องการพลังศักดิ์สิทธิ์จากหมาให้สถิตอยู่ในกายคนกิน

แปลกดีมั้ยล่ะครับ ถ้าไม่อ่านก็ไม่รู้เหมือนกัน

จระเข้ จากสัตว์สู่เครื่องดนตรีชวนกึ๋ย

เครื่องดนตรีไทยที่เราเรียกว่า จะเข้ นั้น เดิมทีเรียก จระเข้ และสมัยก่อนก็ใช้จระทั้งตัวที่ตายแล้ว มาขึงเชือกหัวกับหาง เพื่อทำเป็นเครื่องดนตรีบรรเลงบูชาเทวดา

นานวันเข้าก็เพี้ยนเสียงเป็น จะเข้ แล้วจากจระเข้เต็มตัวเหลือแค่ทำจากไม้และคงรูปไว้ให้คล้ายเท่านั้น

กบ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด

ต้องบอกว่า กบ ในสมัยอดีตนั้นถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ เพราะเมื่อไหร่ที่กบร้อง ก็แสดงว่าน้ำดีฝนกำลังมา ทำให้กบเป็นสัตว์ที่คนแถบนี้บูชามาก มากซะจนว่าท่าเต้นร่ายรำ หรือท่ามวย ก็ล้วนแต่มาจากท่าของกบตามธรรมชาติ

คือการ ย่อ และ ยก ไม่ว่าจะรำไทยที่มีย่อยก หรือมวยไทยที่มีย่อและยก ทั้งหมดมาจากท่าเต้นบูชากบในสมัยโบราณของแถบนี้ครับ

เป็นหนังสือที่อ่านสนุก ให้ความรู้ในสิ่งที่คิดว่าเคยรู้แล้วอีกมาก หลายเรื่องใกล้ตัวมากแต่กลับไม่เคยรู้ ก็ได้หนังสือนี้แหละที่เป็นประตูความรู้ให้ผม

ทุกอย่างใกล้ตัวที่เราไม่เคยมองข้าม จริงๆแล้วกลับเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายที่เราไม่เคยรู้ และเรื่องแบบนี้แหละ ก็เป็นเรื่องที่ผมชอบอ่านอยู่เรื่อยๆ เพราะมันใกล้ตัวขนาดนี้แล้วจะทนไม่รู้อยู่ได้ยังไงล่ะครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 60 ของปี 2018

วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ในอาเซียน
สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียน
สำนักพิมพ์ นาตาแฮก

20180514

สรุปโดยย่อ หนังสือเล่มนี้เล่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติย้อนหลังไปราวหมื่นกว่าปีก่อน ตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีอารยธรรม หรืออย่างน้อยก็เริ่มทิ้งหลักฐานหรือตั้งใจส่งต่ออะไรบางอย่างไว้ให้เราเรียนรู้ จากเนื้อหาที่ควรจะหนากว่า 500,000,000 หน้า ถูกย่อจนเหลือแค่ 500 หน้าเท่านั้นเอง (ก็ยังถือว่าหนาอยู่ดีนั่นแหละ) หรือจะบอกว่าอ่าน 1 หน้าของประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่ง่วงเล่มนี้ เท่ากับอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไปกว่าล้านหน้าได้มั้ยนะ

จริงๆน่าจะเอาเป็นจุดขายให้ทีมตลาดได้เลยนะเนี่ย

นั่นคือสรุปแบบย่อครับ ส่วนถ้าให้สรุปแบบยาวขึ้นมาอีกหน่อย ผมว่าหนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์มากมาย อารมณ์เหมือนเราเดินเข้าไปในอภิมหาซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดยักษ์ที่มีสารพันของกินให้ชิมมากมายเป็นล้านสิ่ง

ชิมอย่างละคำสองคำ จนได้ชิมเป็นพันคำแทบจะยิ่งกว่าอาหารมื้อหลักมื้อใหญ่ดีๆเลยก็ว่าได้ นี่คือคำนิยามของหนังสือเล่มนี้ที่ผมจะมอบให้

ถ้าใครอยากจะมีเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์เอาไว้คุยเท่ห์ๆในวงสนทนา ไม่ว่าจะวงข้าวหรือวงเหล้า หรือวงที่เต็มไปด้วยสาวๆสำหรับหนุ่มๆ หนังสือเล่มนี้ก็เหมาะอย่างยิ่งครับ

แต่หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้เพอร์เฟคในความรู้สึกผม เพราะหลายครั้งที่ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าเรื่องราวมันกระโดดไปกระโดดมา อารมณ์เหมือนกำลังชิมของคาวอร่อยๆได้หนึ่งคำ แล้วก็เจอชานมไข่มุกเข้ามาแทรกระหว่างคำไปหนึ่งปื้ด แล้วก็กลับมากินของคาวต่อ แต่ถ้าคุณไม่ซีเรียสก็ถือว่าเป็นอีกเล่มที่ควรมีไว้อ่านระหว่างเดินทางหรือต้องการหาอะไรทำฆ่าเวลาครับ

ผมขอหยิบประวัติศาสตร์บางช่วงที่ผมชอบมาเล่าเรียกน้ำย่อย เพื่อให้คุณสนใจและถ้าใครติดใจก็ลองไปซื้อหามาอ่านดูนะครับ เช่น ประวัติศาสตร์ความผิดพลาดของพีระมิด

พีระมิดก็เบี้ยวได้

พีระมิดสิ่งก่อสร้างสุดอัศจรรย์นั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบทุกอันอย่างที่เราเชื่อกัน เพราะบนโลกนี้มีพีระมิดแห่งหนึ่งที่บิดเบี้ยวจากการออกแบบที่ผิดพลาดที่ชื่อว่า พีระมิดสเนฟรู เพราะดูเหมือนว่าผู้ออกแบบจะรู้ตัวว่าด้านหนึ่งของพีระมิดชันเกินไปเอาตอนที่ผ่านมาได้ครึ่งทางแล้ว จึงลดมุมลงอย่างกระทันหัน ส่งผลให้เกิดพีระมิดโครงสร้างแปดเหลี่ยมพิลึกกึกกือในทุกวันนี้ครับ

หรือสมัยโบราณคนที่ไม่กินหมูเพราะเชื่อว่า หมูเป็นพาหะนำโรคเรื้อน ไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามมั้ยนะครับอันนี้ แต่ก็เป็นอีกเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ

หรือประวัติศาสตร์ที่บอกว่ามนุษย์เริ่มหยุดเร่ร่อนแล้วหันมาตั้งถิ่นฐานเพราะการเพาะปลูกอาหารเองได้

นักโบราณคดีบอกว่ามนุษย์เราเริ่มปลูกข้าวสาลีเมื่อราว 11,000 ปีที่แล้ว แต่หรือว่าเพราะข้าวสาลีกันแน่ที่ทำให้เราลงหลักปักฐาน เพราะหลังจากยุคน้ำแข็งสุดท้ายสิ้นสุดลงเมื่อหมื่นกว่าปีก่อน โลกเราก็เริ่มอบอุ่นมากขึ้น จากเดิมที่ผู้ชายต้องเข้าป่าล่าสัตว์ แล้วผู้หญิงต้องอยู่บริเวณที่พักชั่วคราวออกไปหาพืชผลง่ายๆ

แต่ไปๆมาๆกลายเป็นว่าเรากลับเจอพืชอย่างข้าวสาลีพันธุ์ดีจนไม่คิดจะขยับย้ายไปไหน จนเป็นการเริ่มต้นตั้งถิ่นฐาน เริ่มการคัดเลือกข้าวสาลีพันธุ์ดีมาเพาะปลูกขยายผลเพิ่ม จนเริ่มเป็นการสร้างสังคมและวัฒนธรรมจนถึงทุกวันนี้กันแน่ก็เป็นได้นะครับ

หรือประวัติศาสตร์โลกของศาสนาก็น่าสนใจ

สมัยก่อนนั้นศาสนาของมนุษย์เรานับถือเทพเจ้าหลายองค์ หรือที่เรียกกันว่า พหุเทวนิยม ถ้าให้ยกตัวอย่างง่ายๆก็ ฮินดู ที่มีเทพเจ้าเป็นสิบเป็นร้อยองค์ เลือกบูชาเอาใจกันไม่หวาดไม่ไหว จนมีผู้ปฏิวัติด้านศาสนาที่ชื่อว่า “อับราฮัม”

อับราฮัมผู้นี้คือศาสดาของศาสนายิว ถ้าให้สรุปย่อๆก็คือจากเดิมครอบครัวอับราฮัมเป็นช่างแกะสลักเทวรูปหลากหลายแบบให้คนเอาไปบูชา แต่อยู่มาวันนึงอัมราฮัมก็บอกว่าตัวเองได้ยินเสียงของพระเจ้า

เสียงของพระเจ้าหรือ พระวจนะของพระเจ้าที่บอกว่าแท้จริงแล้วมีพระเจ้าเพียงองค์เดียว ไม่มีพระเจ้าอื่นใดมากมายหลายองค์ และบอกให้อับราฮัมนำพาผู้คนไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ชื่อว่า “อานาคัน”

โดยความแปลกประหลาดในประวัติศาสตร์ของศาสนาคือ อยู่ดีๆวันหนึ่งอับราฮัมก็ได้ยินเสียงของพระเจ้าที่บอกว่า ถ้าศรัทธาจริงให้เอาลูกชายหัวปีมาบูชายัญซิ

ในเสี้ยววินาทีที่อับราฮัมกำลังจะลงมือเชือดลูกชายตัวเองบนแท่นศิลากลางทะเลทราย พระเจ้าก็ทรงเปลี่ยนใจเอาดื้อๆบอกว่า ไม่ต้องบูชายัญลูกชายที่ชื่อไอแซคแล้ว เราเชื่อแล้วว่าเจ้าศรัทธาเราจริง แล้วพระเจ้าก็บอกว่าไปเอาแพะเอาแกะมาบูชายัญแทนดีกว่า

เรื่องยังไม่จบเท่านี้ครับ เพราะประวัติศาสตร์บอกไว้ว่าคำว่า “อาหรับ” ที่เรียกๆกันในปัจจุบันนั้น มาจากศัพท์โบราณคำว่า Ishmaelite หรือ อิชมาเอล ที่เป็นลูกชายของอับราฮัมกับสาวรับใช้ชาวอียิปต์ ที่อับราฮัมเนรเทศลูกและเมียคู่นี้ออกไปจากบ้านตามคำยุยงของเมียหลวงในตอนนั้น

ไหงท่านศาสดาถึงหูเบาได้ขนาดนี้เนี่ย

กัญชากับกัญชงต่างกันยังไงหนังสือเล่มนี้ก็บอกไว้

กัญชาจะมีสารที่ทำให้เคลิ้มเมาที่ชื่อว่า “เตตราไฮโดรแคนนาบินอล” หรือ THC สูงถึง 20% เลยทำให้คนชอบเอาไปสูบกันตั้งแต่อดีตกาลยันทุกวันนี้ ส่วนกัญชงนั้นก็เป็นพืชร่วมสายพันธุ์เดียวกันเพียงแต่เจ้ากัญชงนั้นมีสาร THC ที่ทำให้เมาไม่ถึง 1% แต่มีคุณสมบัติพิเศษจากเส้นใยที่ดีมาก

แต่เชื่อมั้ยครับว่าแม้จะปลูกแล้วเอาไปเสพย์ให้เมาไม่ได้ แต่กฏหมายในหลายประเทศก็ห้ามปลูกเพราะมันดันเป็นสายพันธุ์เดียวกับกัญชานั่นเอง

สงสัยรัฐบาลทั้งหลายคงกลัวคนซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยกัญชงที่มีความเหนียวและทนทานสูง เอาไปเผาสูบให้เมาแทนที่จะเอาไว้ใส่กันกระมังครับ

ประวัติศาสตร์โลกเส้นทางสายไหม

Silk Road หรือเส้นทางสายไหม เชื่อได้ว่าไม่มีใครไม่รู้จัก หรืออย่างน้อยก็ต้องเคยคุ้นหูกันมาบ้าง เพราะเส้นทางนี้คือเส้นทางการค้าสายสำคัญระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก และยังเป็นเส้นทางการค้าที่ยังใช้กันตั้งแต่ 600 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงทุกวันนี้

คำว่า silk road นั้นมาจากผ้าไหมของจีนที่แต่เดิมเป็นสินค้ายอดนิยมของบรรดาโลกตะวันตกมาก จนแทบจะมีค่ายิ่งกว่าทอง ด้วยเนื้อผ้ามีน้ำหนักเบา สวมใส่แล้วเย็นสบาย ทำให้ใครๆที่มีฐานะพอในเวลานั้นก็อยากได้ จนทำให้จีนต้องขนส่งผ้าไหมออกมาไกลจนกลายเป็นเส้นทางสายไหมจนถึงทุกวันนี้

กลับมาที่ประวัติศาสตร์โลกของศาสนา หรือความเชื่อในพระเจ้าอีกรอบหนึ่ง

คุณคุ้นกับเรื่องราวประมาณนี้มั้ยครับ “การต่อสู้ระหว่างของดีและความชั่วจะสิ้นสุดลงในวันพิพากษา ขณะที่โลกถูกเผาผลาญด้วยไฟประลัยกัลป์ พระผู้ช่วยให้รอดจะกลับมาเพื่อขจัดความชั่วร้ายให้สูญสิ้น และวิญญาณของผู้ชอบธรรมจะไปสถิตรวมกับพระองค์ ขณะที่วิญญาณของคนชั่วจะถูกผลาญเผาไปชั่วกัปชั่วกัลป์ในนรก”

นี่คือเรื่องที่มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาที่ชื่อว่า “โซโรอัสเตอร์” เป็นหลักความเชื่อเก่าแก่ที่ผู้ศรัทธาในอินเดียเรียกกันว่าปาร์ซี ที่ยังถือปฏิบัติมาทุกวันนี้

ศาสนาโซโรอัสเตอร์ หรือที่คนทั่วไปเรียกเค้าว่า “ผู้บูชาไฟ” เพราะศาสนานี้จะมีสัญลักษณ์คือการรักษาไฟในวิหารหรือที่บ้านไม่ให้ดับ ให้สว่างไสวอยู่ตลอดเวลา

ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเรื่องราวถึงคล้ายศาสนาคริสต์ เพราะศาสนาโซโรอัสเตอร์นี้ถือกำเนิดมาก่อนถึงหนึ่งพันปี และสมัยก่อนก็เป็นที่นิยม ทำให้เรื่องราวนี้มีอิทธิพลต่อศาสนาคริสต์ในเวลานั้น

ประวัติศาสตร์โลกของการพนัน

มนุษย์เราไม่ได้เพิ่งมาเสียคนเพราะมีบ่อน หรือคาซิโนมากมายเอาเมื่อไม่นานมานี้หรอกนะครับ แต่ความเป็นจริงแล้วมนุษย์เรามีการพนันอยู่ในสายเลือด หรือจะบอกว่าอยู่ในสันดานมานานกว่า 40,000 ปีแล้วก็ได้

จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ “ลูกเต๋า” ที่ทำจากกระดูกสันเท้าของสัตว์กีบ ใช้กันในหมู่มนุษย์ยุคหินเมื่อราว 40,000 กว่าปีที่แล้ว

ประวัติศาสตร์ทางด่วนโลก

ทางด่วนเองก็ไม่ได้เพิ่งจะมามีเอาตอนที่เราขับรถกันจนถนนไม่พอจะขับนะครับ แต่ทางด่วนหรือทางหลวงสายแรกของโลกสร้างเมื่อกว่า 500 ปีก่อนคริสตกาล หรือย้อนหลังไปได้ถึงตอนที่ศาสนาพุทธเพิ่งถือกำเนิดขึ้นก็ได้

ในสมัยกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเปอร์เซียที่มีพระนามว่า “พระเจ้าดาไรอัสที่ 1” ที่ต้องปกครองพื้นที่ตั้งแต่อินเดียไปถึงกรีซ ครอบคลุมอาณาบริเวณถึงสามพันไมล์ ทำให้การส่งข่าวสารถึงกันหรือสามารถเดินทัพอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดูแลพื้นที่กว้างใหญ่ขนาดนั้น

และนั่นก็เลยเป็นทางด่วนหรือทางหลวงสายแรกของโลกที่ยาวถึง 1,600 ไมล์ จากเมืองหลวงของจักรวรรดิในซูซา ไปยังเมืองหลวงส่วนภูมิภาคที่ชื่อซาร์ดิส ใกล้ชายฝั่งตะวันตกของอานาโตเลีย

โดยทางหลวงที่ว่านี้ก็ไม่ได้แห้งแล้ง แต่ยังมีการสร้างจุดพักม้าพักแรมไว้ถึง 111 แห่ง หรือทุกๆ 15 ไมล์ก็ว่าได้

ประวัติศาสตร์ไวกิ้งแท้จริงไม่มีเขา

เรามักเป็นภาพผ่านสื่อทั้งหลายว่าชาวไวกิ้งที่ตัวใหญ่และโหดร้ายนั้นชอบใส่หมวกที่เป็นเขา จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวไวกิ้งที่เราคุ้นชินกัน

แต่ในความเป็นจริงแล้วชาวไวกิ้งเหล่านั้นใส่หมวกที่เป็นเขาแค่ในพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น ไม่ได้สวมใส่หมวกเขาโง้งเป็นกิจวัตรประจำวัน หรือใส่ออกรบอะไรอย่างที่เชื่อกัน

เพราะลองคิดดูซิว่าถ้าเราใส่หมวกอย่างนั้นออกไป เราจะไม่ตกเป็นเป้าของธนูฝ่ายตรงข้ามหรอ หรือฝ่ายตรงข้ามจะไม่เอามือคว้าเขาบนหัวเราเอาไว้ได้ง่ายๆอย่างนั้นหรือ

ประวัติศาสตร์โลกแม่มดที่โคตรจะน่าเศร้า

ในยุคมืดที่มีการล่าแม่มดกันมากมายรู้มั้ยครับว่าคนที่ถูกต้องสงสัยว่าเป็นแม่มดนั้นจะต้องเจออะไรบ้าง

ผู้หญิงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดหรือใช้เวทมนต์ใดๆก็ตามแทบจะไม่มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองว่าบริสุทธิ์แล้วรอดชีวิตได้เลย เช่น ถ้าผู้หญิงคนไหนถูกสงสัยว่าเป็นแม่มดกฏหมายในตอนนั้นให้พิสูจน์ด้วยการจับถ่วงน้ำ ด้วยการเอาก้อนหินก้อนใหญ่ๆมัดเท้าไว้แล้วจับโยนลงไปในน้ำ

ถ้าผู้หญิงคนนั้นไม่ได้เป็นแม่มดจริงก็จะไม่สามารถใช้เวทมนต์ให้ตัวเองลอยขึ้นมาได้ ก็เท่ากับว่าต้องจมน้ำตายทั้งที่ไม่ผิด ส่วนถ้าคนไหนลอยขึ้นมาได้ แม้ว่าจะด้วยการแก้มัดเชือกได้ก็ตาม ก็จะถูกจับไปเผาไฟทั้งเป็นให้ตายอยู่ดี

โคตรน่าสงสารผู้หญิงในยุคมืดเลยจริงๆครับ

และประวัติศาสตร์สิทธิสตรีของโลกที่ไทยต้องภูมิใจ

ชาวไทยแต่อดีตมีธรรมเนียมการให้อำนาจกับผู้หญิงแบบสุดโต่งมาตั้งแต่ห้าศตวรรษที่แล้ว เรื่องนี้ถูกบอกเล่าโดยกะลาสีชาวจีนซึ่งล่องเรือรอบทวีปเอเซีย และภูมิภาคแถบมหาสมุทรอินเดีย บอกว่าไม่เคยพบเห็นหญิงชาติใดในโลกจะยิ่งใหญ่เท่าหญิงไทย

ชาวจีนเองมีสังคมแบบชายเป็นใหญ่ และก็เหมือนกับที่ไหนๆในประเทศที่ยิ่งใหญ่ในเวลานั้น เค้ารู้สึกตกใจที่พบว่าผู้หญิงในสังคมสยามมีอำนาจไม่ธรรมดา พวกหล่อนดูแลบ้านและกิจการของครอบครัว ไม่ว่าเรือกสวนไร่นาขนาดใหญ่ หรือการค้าขาย ที่แย่ไปกว่านั้นคือผู้ชายไทยในสยามตอนนั้นเหมือนจะสลับบทบาทกับผู้หญิง

ผู้หญิงชนชั้นสูงเป็นคนตรงไปตรงมา เป็นการเป็นงาน และไม่สวมใส่เครื่องประดับ ในขณะที่ขายไทยหรือสามีของพวกเธอไว้ผมยาว เล็บยาว สวมเสื้อไหมหรูหรา ชอบประทินผิวและเครื่องเพชรพลอย โดยเฉพาะการประดับเพชรพลอยลงไปในถุงอัณฑะหรืออวัยวะเพศ หรือที่เรียกกันว่า “ฝังมุข” ทุกวันนี้

ถือเป็นเรื่องปกติในเวลานั้นที่ชายชั้นสูงชาวสยามจะฝังลูกปัดเงินขนาดเล็กเข้าไปในถุงอัณฑะ ระหว่างชั้นผิวหนังกับลูกอัณฑะ ลูกปัดจะส่งเสียงกรุ๊งกริ๊งในขณะที่ผู้ชายคนนั้นเดิน

โอโห เทรนด์ชายสยามในตอนนั้นฟังดูน่าขนลุกในวันนี้ยังไงก็ไม่รู้ครับ

และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา ถ้าใครสนใจเรื่องประวัติศาสตร์หรือพวกเกร็ดความรู้ต่างๆเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อยากให้ลองแวะหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านดูครับ

เพราะคุณจะได้เกร็ดความรู้มากมาย แม้หลายเรื่องจะพอรู้แล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะรู้จริง

อ่านแล้วเล่า The Mental Floss History of the world, an irreverent romp through civilization’s best bits

ประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่ง่วง, นั่งรถไฟเหาะเลาะสายประวัติศาสตร์กว่า 10,000 ปีแห่งอารยธรรมมนุษย์

Erik Sass และ Steve Wiegnd กับ Will Pearson และ Mangesh Hattikudur เขียน
สุวิชชา จันทร แปล
สำนักพิมพ์ abook

เล่มที่ 130 ของปี 2018
อ่านเมื่อ 20181201

หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นที่คำถามว่า “โลกาภิวัตน์” คืออะไร? การเจริญขึ้นของสังคม? การพัฒนาขึ้นของเทคโนโลยี? หรืออะไรคือโลกาภิวัตน์..

..โลกาภิวัตน์หมายถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระดับโลกได้หรือไม่

น่าจะได้

งั้นคำถามต่อไปคือแล้วโลกาภิวัตน์เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่? ในยุคอินเตอร์เนตใช่หรือไม่? หรือช่วงเวลาไหนที่เกิดนิยามความเป็น “โลกาภิวัตน์” ขึ้น?

..ถ้าเราค่อยๆย้อนกลับไปเสมือนเลื่อนลงไล่ดู Facebook Timeline ก็จะเห็น Social Media ที่เชื่อมคนทั้งโลกให้เข้าไกล้กันได้มากขึ้น

ถอยกลับไปอีกหน่อยก็จะพบว่าเป็นยุคของ Smartphone และ Internet ไร้สายที่ทำให้การเชื่อมต่อไม่ต้องติดอยู่กลับที่

เลื่อนหน้าฟีดของโลกาภิวัตน์ลงไปอีกก็อาจจะพบเจอกับยุค www หรือยุคเริ่มต้นอินเตอร์เนตนั่นเอง

หรือย้อนกลับไปอีกอาจเป็นยุคของ PC คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่สามารถเพิ่มศักยภาพของเราที่บ้านได้

หรือย้อนกลับไปอีกก็จะเจอกับยุคของ TV ที่ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เต็มทั้งภาพและเสียงเข้าได้ถึงในห้องนอนของเรา 

หรือย้อนกลับไปอีกอาจเป็นยุคของ Radio ที่ทำให้ส่งข้อความเสียงได้กว้างไกลกว่าการพูดตะโกนในที่ชุมชน

ย้อนกลับไปอีกอาจเป็นยุคของการพิมพ์แบบ Gutenberg ที่ทำให้การเผยแพร่ความรู้เข้าถึงได้ในทุกชนชั้น

หรือย้อนกลับไปอีกอาจเป็นยุคการเดินเรือที่ทำให้ยุโรปกลายเป็นมหาอำนาจในยุคล่าอานาณิคมช่วงนั้น

หรือย้อนกลับไปอีกอาจเป็นยุคที่เริ่มประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นในช่วงกรีกโบราณ อียิปต์ หรืออักษรจีน

หรือย้อนกลับไปอีกอาจเป็นยุคที่มนุษย์เริ่มก่อตั้งสร้างชุมชนของตัวเองขึ้น ทำให้เกิดการพึ่งพากันในสังคม ทุกคนไม่ต้องทำงานเพื่อหาอาหาร แต่สามารถสร้างสมฝีมือและความคิดสร้างสรรค์เพื่อแลกกับอาหารได้

หรือย้อนกลับไปในยุคที่บุกเบิกการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ทำให้คนเราไม่ต้องเที่ยวเร่ร่อนไปเสี่ยงดวงหาอาหารอันตราย

หรือย้อนกลับไปอีกอาจเป็นยุคที่มนุษย์เริ่มใช้เครื่องมือสำริด หรือเหล็กในการทำอาวุธเพื่อเอาชนะอันตรายจากศัตรูหรือสัตว์ร้าย

หรือย้อนกลับไปอีกอาจเป็นยุคที่มนุษย์เริ่มเดินทางออกจากจุดเริ่มต้นของเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่แอฟาริกาตอนใต้..

..โลกาภิวัตน์นั้นสามารถย้อนไปได้ไกลมากกว่าที่เราเคยคิดนัก เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงในสมัยก่อนอาจไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันในช่วงเสี้ยววินาที หรือไม่กี่คลิ๊กก็เปลี่ยนแปลงโลกได้

แต่ผลจากการเปลี่ยนแปลงที่ละเล็กน้อยที่สั่งสมผ่านประสบการณ์และเวลาของมนุษยชาติก็ทำให้โลกเรามีโลกาภิวัตน์ในแบบทุกวันนี้

..ผู้เขียนบอกว่าโลกาภิวัตน์นั้นไม่สามารถวัดแค่แง่มุมในแง่มุมหนึ่ง ในมิติเดียวแล้วสรุปว่าสิ่งนั้นคือโลกาภิวัตน์ แต่การเปลี่ยนแปลงระดับโลกนั้นเกิดขึ้นในหลายมิติที่ส่งผลกระทบถึงกันเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปไม่รู้จบ

เสมืองแทงสนุ๊กตั้งใจให้โดนแดงแต่ชิ่งไปโดนทั้งกองแตกกระจายออกไปแล้วกระทบเหลี่ยมมุมอีกหลายทอดต่อไปจนกลับมาโดนลูกขาวที่ใส่แรงลงไปในตอนเริ่ม

..งั้นโลกาภิวัตน์มีกี่มิติล่ะ? ผู้เขียจำแนกให้ครอบคลุมอย่างกว้างว่ามีทั้งหมด 5 มิติ มี เศรษฐกิจ, การเมือง, วัฒนธรรม, นิเวศหรือธรรมชาติ และ อุดมการณ์

ที่น่าสนใจคือในด้านมิติอุดมการณ์โลกาภิวัตน์นั้นสามารถแบ่งได้อีก 3 หัวข้อที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ ลัทธิตลาดโลกนิยม ลัทธิความยุติธรรมโลกนิยม และลัทธิญิฮาดโลกนิยม..

..ลัทธิตลาดโลกนิยม (Market Globalism) นั้นเติบโตมาจากลิทธิเสรีนิยมที่เบ่งบานในยุคศตวรรษที่ 19-20

เพื่อตอบสนองต่อความเป็นความเป็นปัจเจกชนของชนชั้นกลางในยุโรบที่ต้องการออกไปร่ำรวยนอกประเทศ​ และชนชั้นนำที่ต้องการขยายความมั่นคงมั่งคั่งออกไปทั่วโลกผ่านการล่าอาณานิคมในช่วงนั้น จนเกิดกระแสเสรีนิยมขึ้นจนกลายมาเป็นตลาดโลกนิยม

ข้อดีที่สรุปได้ง่ายๆคือทำให้การค้าขายทั่วโลกเติบโตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทุนสามารถไหลเวียนได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนทั่วทั้งโลก แต่ข้อเสียที่สรุปได้ง่ายๆก็คือ ช่องว่างระหว่างความรวยและความจนยิ่งถ่างและห่างออกจากกันมากขึ้น แม้ทรัพยากรโลกจะถูกใช้มากขึ้นและสร้างผลิตภาพและประสิทธิภาพมากขึ้นแต่จำนวนคนจนทั่วโลกกลับไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย คนรวยที่สุด 1% กลับเป็นเจ้าของทรัพย์สินมากกว่า 50% ในโลก

..ลัทธิความยุติธรรมโลก หรือที่รู้จักกันมากขึ้นในฐานะ “การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคม” (Social Justice Movement)

หรือให้รู้จักง่ายๆก็บรรดาพวกองค์กรที่ประท้องเรียกร้องความยุติธรรมต่างๆจากลัทธิตลาดโลกนิยมหรือบรรดาที่เราเรียกกันว่า “นายทุน” ให้ออกมารับผิดชอบจากการเอาเปรียบผู้ด้อยโอกาสจากประเทศโลกที่สามหรือประเทศทางโซนล่างของโลก

ไม่ว่าจะปัญหาแรงงาน ปัญญหาธรรมชาติที่ถูกกอบโกย และปัญหามลพิษที่เหมือนขึ้นดอยขนขยะเอามาทิ้งแล้วลงไปตัวเปล่าหน้าตาเฉย..

การประท้วงหลายครั้งเกิดขึ้นเพื่อขัดขวางองค์กรเศษฐกิจการค้าโลก (World Ecoomic Forum) หรือประท้วง IMF ในการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศทางซีกโลกใต้ที่เหมือนใจดีให้กู้แต่เงินกู้เหล่านั้นก็กลับไปสะสมในกลุ่มทุนบริษัทจากประเทศในซีกโลกบนหรือในเหล่าผู้นำฉ้อโกงต่างๆ

และ..สุดท้ายคือลัทธิญิฮาดโลกนิยม

ที่คุ้นเคยกันก็กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงหรือผู้ก่อการร้ายทั้งหลายนี่แหละ ว่าแต่กลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับโลกาภิวัตน์อย่างไร?

นี่คือคำถามของผมตอนที่ได้เห็นหัวข้อนี้..พออ่านจบเลยพบข้อสรุปได้ว่ากลุ่มนี้คือกลุ่มที่รู้จักกันในดีของอัลกออิดะห์ ผู้อยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายทั่วโลกที่จุดชนวนความกลัวเปิดตัวด้วยเหตุการณ์ 9/11 แล้วมันเพราะอะไร..

เพราะเค้าเห็นว่าโลกมุสลิมหรือชาวอิสลามทั่วโลกนั้นถูกกลุ่มตลาดโลกนิยมกดขี่ข่มเหงทางเศรษฐกิจมานาน

ตัวผู้นำต้องการให้เกิด อุมมา (น่าจะเป็นพื้นที่ของอิสลามบริสุทธิ์) ขึ้นในโลก คือชาวอิสลามสามารถใช้ชีวิตตามหลักความเชื่อได้โดยไม่ถูกกดขี่ อุมมา นั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการ ญิฮาด ผ่านการกระทำ..การกระทำนั้นไม่จำกัดว่าจะเป็นการกระทำในรูปแบบนั้น ขอแค่ให้เกิด อุมมา ขึ้นได้ในอนาคตก็พอ..

สิ่งที่สนใจคือตัว บินลาเดน ให้สัมภาษณ์หลังเหตุการณ์ 9/11 ผ่านไปหลายปีคือฝ่ายเค้าใช้เงินทุนในเหตุการณ์นั้น 500,000 เหรียญสหรัฐ แต่รัฐบาล จอร์จ บุช ต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านเหรียญในการตอบโต้กลับจากเหตุการณ์ครั้งนั้น จนเป็นเหตุให้เงินคลังของประเทศร่อยหรอจนเกิดผลตีกลับทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ตามมา..นี่เป็นความคิดที่จริงจนน่ากลัวมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นตราบจนถึงวันนี้

โลกาภิวัตน์ไม่ว่าจะในแง่ดีหรือเลวก็ต่างเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปโดยทั่วโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่รู้เหมือนกันว่าโลกาภิวัตน์จะพาโลกไปในทางไหนในอีก 5 ปี และ 50 ปีข้างหน้า แต่สิ่งนึงที่พอบอกได้คือทุกผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่มาจากผลของการกระทำเล็กๆรวมกันทั้งนั้น ถ้าเราอยากให้สังคมไปในทางที่ดี ไม่ต้องเริ่มจากเปลี่ยนโลกที่ไหน เริ่มจากที่เรานี่แหละเร็วที่สุด..

สรุปหนังสือ ปัญญาญี่ปุ่น เป็นหนังสือที่เล่าให้เห็นวิวัฒนาการของประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคอดีตจนปัจจุบัน ผ่านบริษัทรถยนต์ชื่อดังทั้งโตโยต้า และฮอนด้า

เริ่มจากคนลากรถที่วัดธารน้ำในที่เมืองเกียวโต ที่ต้องลากรถขึ้นเขาพานักท่องเที่ยวไปส่งปลายทางบนเขา

การจะลากรถขึ้นเขานั้นถ้าต้องลากท่าปกติเป็นอะไรที่ต้องใช้แรงมาก ท่าปกติคือการหันหน้าไปทางข้างหน้าเหมือนปกติ แต่นักลากรถคนหนึ่งค้นพบว่าถ้าหันหลังแล้วค่อยๆเหมือนดันรถขึ้นเขาจะใช้แรงน้อยลง เหนื่อยน้อยกว่า แถมยังสามารถหันหน้ามาพูดคุยกับคนที่นั่งบนรถได้ สามารถพูดบรรยายเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของวัดแห่งนี้ได้.

พอคนนึงค้นพบ ที่เหลือก็ทำตาม จนกลายเป็นท่าลากรถขึ้นเขามาตรฐานของวัดธารน้ำใสชื่อดังในเกียวโตแห่งนี้

ถ้าไม่ได้อ่านเล่มนี้ก็คงไม่รู้ว่าโตโยต้าที่โด่งดังเรื่องรถยนต์นั้น แต่ตะกูลโตโยดะเจ้าของบริษัทนี้กลับเริ่มต้นธุรกิจด้วยการทำเครื่องทอผ้า จากเครื่องทอผ้า

ส่วนฮอนด้านั้นเริ่มจากสร้างจักรยานที่ติดเครื่องยนต์ให้ผู้คนได้ใช้ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกลายเป็นบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ถึงทุกวันนี้

ส่วนโตโยต้าเองก็เริ่มจากผลิตรถยนต์ให้กับกองทัพในช่วงสงครามโลก โดยเฉพาะพวกรถขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นรถกระบะขนาดใหญ่ หรือรถบรรทุก จนค่อยๆพัฒนากลายมาเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไป

ญี่ปุ่นเองแม้จะผ่านสงครามมาอย่างหนักหนาแต่ก็สามารถพัฒนาจนกลายมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกได้ในเวลาไม่กี่สิบปี ทั้งฮอนด้า และโตโยต้าก็เช่นกันที่ต้องผ่านอุปสรรคทางเศรษฐกิจมาหลายต่อหลายครั้ง

ฮอนด้าเองเคยถอนตัวจากการแข่ง F1 ทั้งที่เคยเป็นแชมป์และในการแข่ง F1 ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการโปรโมตบริษัท แต่ฮอนด้าเลือกจะถอนตัวก่อนจะถึงโค้งแข่งเพราะในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกนั้นบริษัทต้องการรัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย และการแข่ง F1 ในแต่ละปีก็ต้องมีค่าใช้จ่ายราวๆปีละ 500ล้านเหรียญสหรัฐ

เป็นอีกหนึ่งหนังสือเล่มเล็กๆ ติดไว้อ่านฆ่าเวลาระหว่างต้องรออะไรซักอย่างก็ยังได้ แถมยังอ่านง่ายได้ความรู้ รู้ว่าญี่ปุ่น อเมริกา โตโยต้า ฮอนด้า และสงครามโลก ทั้งหมดนี้เกี่ยวกันยังไง แล้วคุณจะรู้ว่ามันอ่านสนุกกว่าที่คิด

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เขียน

สำนักพิมพ์ Openbooks

อาจจะเป็นหนังสือที่ดูแปลกในสายตาของคนอื่น โดยเฉพาะคนไกล้ตัวที่สงสัยว่าทำไมผมถึงซื้อเล่มนี้มาอ่าน

ก็แหม จะไม่ให้สงสัยได้ยังไงล่ะครับ กิน ขี้ ปี้ นอน มันเป็นเรื่องสามัญในชีวิตประจำวันเราทุกคน (แต่บางเรื่องก็คงทำกันไม่ได้ทุกวันหรอกเนอะ..มั้ง) ผมก็เลยอยากรู้ว่าในสมัยก่อนหรือสมัยโบราณนั้น เรื่องเซ็กซ์(แปลกดีใช้ ซ์ แทน ส์ อย่างที่คุ้นเคยกัน)ของเค้าเป็นอย่างไร และต่างกับคนสมัยนี้มากน้อยแค่ไหน พออ่านไปได้ไม่เท่าไหร่ถึงกับตาสว่างและน่าประหลาดใจกว่าที่คิดไว้เยอะเลย เพราะเรื่องเซ็กซ์ในสมัยก่อนย้อนหลังไปเป็นร้อยเป็นพันปีได้นั้น กลับเป็นเรื่องธรรมดาสามัญออกจะสาธารณะนิดๆกว่าที่คิดเอาไว้ด้วย

เช่น การอยู่กินหรือมีเซ็กซ์กันก่อนแต่งในสมัยโบราณนั้นถือเป็นเรื่องปกติ ผิดกับค่านิยมหรือจารีตของคนสมัยนี้เลยและผู้ชายก็ต้องกลายไปเป็นบ่าวรับใช้ของบ้านฝ่ายหญิง เลยเป็นที่มาขอคำว่า “เจ้าบ่าว” ฝ่ายชายได้แต่ก้มหน้าก้มตาทำงานไปเยี่ยงบ่าวรับใช้ จนกว่าพ่อแม่คนในครอบครัวฝ่ายหญิงจะพอใจยอมยกลูกสาวให้เป็นเมีย

เรื่องที่ว่านี้ถึงขนาดเป็นกฏหมายในช่วงต้นอยุธยาเมื่อกว่า 500 ปีก่อนมาแล้ว ในเรื่องการอยู่กินก่อนแต่งถึงขนาดมีลูกกันก็ไม่ใช่เสียหาย เพราะส่วนนึงการมีลูกเหมือนการมีทรัพย์สินด้านแรงงานที่มากกว่า ก็ทำให้ฐานะดีกว่า ได้เปรียบกว่า ดังนั้นยิ่งมีลูกมากฝ่ายหญิงก็ยิ่งมีฐานะดี และกินอยู่อย่างสุขสบายมากขึ้น

แต่เรื่องนี้ก็มีที่มา เพราะในสมัยโบราณนั้นทรัพย์สินอย่าง บ้าน หรือ ที่ดิน จะตกเป็นของฝ่ายหญิง ดังนั้นฝ่ายหญิงจึงมีอำนาจเหนือชายมานานมากในสมัยโบราณ

เรียกได้ว่าในสมัยนั้นฝ่ายชายน่าจะต้องออกมาเป็นฝ่ายเรียกร้องสิทธิของตัวเองแทนฝ่ายหญิงในสมัยนี้เลย เพราะอย่างคำว่า “แม่” ที่หมายถึงผู้มีอำนาจหรือผู้ที่เหนือกว่านั้นก็ใช้เป็นคำเรียกฝ่ายหญิงมาตลอด ลองนึกถึงคำง่ายๆไกล้ตัวอย่างคำว่า แม่น้ำ หรือ แม่ทัพ นั้นบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของคำว่า “แม่” ที่เป็นฝ่ายหญิงได้อย่างดี

กระทั่งการ “ฝังมุก” ที่อวัยวะเพศชายนั้นก็มีต้นกำเนิดมาจากฝ่ายหญิงในสมัยโบราณ ที่ฝ่ายหญิงเป็นผู้สั่งให้ฝ่ายชายต้องทำเพื่อเธอ ขอไม่อธิบายว่าทำอย่างไร(ถ้าผู้หญิงคนไหนไม่รู้ลองหันไปถามผู้ชายข้างๆไกล้ๆดูก็ได้) แถมการฝังมุกที่เรียกว่าเป็นการ “แต่ง” อวัยวะเพศชายนั้น สำหรับผู้ที่มีศักดิ์สูงระดับขุนนางหรือราชา ยิ่งมีค่านิยมที่พิศดารมากในสมัยนี้ เพราะชาวบ้านทั่วไปได้แต่ใช้ ลูกปัด หรือ ดีบุก ฝังเข้าไป แต่กับชนชั้นสูงนั้นต้องใช้ทองคำทำเป็นเม็ดกลวง แล้วก็ใส่ทรายเข้าไปในนั้น เพื่อให้เวลาเดินแล้วมีเสียงดังกรุ๊งกริ๊งๆ เพื่อบอกถึงยศถาบรรดาศักดิ์ว่าตัวข้านั้นไม่ธรรมดา

แถมในยุคอยุธยานั้น เมียหลวง คือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆแทนสามี แทบจะเรียกได้ว่าสามีนั้นต้องปรึกษาเมียหลวงก่อนตัดสินใจเรื่องสำคัญๆอะไรด้วยซ้ำ

แต่ความเป็นใหญ่ของชายเพิ่งจะมีมาเมื่อศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์เผยแพร่เข้ามาถึงประเทศไทย เพราะทั้งสองศาสนานี้เป็นศาสนาที่ยกให้ชายเป็นใหญ่ เรื่องราวก็เลยเริ่มกลับด้านกันมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ความเป็นใหญ่ฝ่ายหญิงก็เลยถูกยกไว้ให้ในด้านตรงข้ามกับศาสนา ในด้านมืด หรือความเชื่อที่เชื่อมโยงย้อนกลับไปถึงตอนที่นับถือ ผี ก่อนจะนับถือพุทธ สังเกตุว่า “เจ้าแม่” จะเป็นคำเรียกที่พูดถึงผู้หญิงที่ทรงอำนาจในทางไสย์

และอีกหนึ่งหลักฐานที่น่าสนใจก็คือ วรรณคดีไทย ในสมัยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่แต่งโดยชนชั้นสูง เจ้าขุนมูลนายทั้งหลาย จากการสำรวจวิเคราะห์ก็พบว่าส่วนใหญ่แล้วการมีเซ็กซ์ หรือแต่งงานมีผัวหรือสามีนั้น โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ในช่วงอายุ 14–16 ปีโดยประมาณ ดังนั้นถ้าจะบอกว่าเด็กสมัยนี้มีอะไรกันเร็ว พอย้อนกลับไปดูในสมัยไม่กี่ร้อยปีก่อนก็ถือว่ายังปกติ

ต้องบอกว่าค่านิยมจารีตทั้งหลายที่เราซึมซับมานานไม่ได้ถูกกำหนดโดยคนส่วนใหญ่ แต่ถูกกำหนดโดยคนส่วนน้อยที่เป็นชนชั้นสูงผู้ปกครอง ที่บอกให้ผู้ใต้ปกครอง(อย่างเราๆ)นั้นต้องเปลี่ยนความคิดค่านิยมใหม่ ส่วนนึงไม่รู้ว่าเพราะชนชั้นสูงเรื่องมากแต่งงานกันยากเลยต้องเอาค่านิยมนี้มาให้ชาวบ้านรากหญ้ากันหรืออย่างไร

ดังนั้นพออ่านจบก็พอบอกตัวเองได้ว่า เรื่องเซ็กซ์มันเป็นเรื่องปกติมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว

และสุดท้ายนี้พออ่านจบผมรู้สึกว่า ผู้ชายเราโชคดีเหลือเกินที่วันนี้มีอำนาจเท่าๆกับฝ่ายหญิง และอาจจะมากกว่าในบางครั้งหลายโอกาสซะด้วยซ้ำ เพราะเมื่อก่อนเรานั้นตกเป็นเบี้ยล่างใต้อำนาจของพวกเธอซะเหลือเกิน

สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียน

สำนักพิมพ์ นาตาแฮก