Tag

ธุรกิจพอดีคำ

Browsing

สรุปหนังสือก้าวใหญ่ๆ ใช้ใจเริ่ม ในชุดหนังสือธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 5 ของคุณต้อง กวีวุฒิ หรือเจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่งที่คุ้นเคย ผมในฐานะแฟนหนังสือคุณต้องมานานตั้งแต่ก่อนจะรู้จักกันเป็นการส่วนตัว บอกตามตรงว่าชอบสไตลด์การเขียนของคุณต้องไม่แพ้พี่ตุ้ม หนุ่ม เมืองจันท์เลย เพราะรู้สึกว่าอยากเขียนบรรทัดละสั้นๆ แล้วขึ้นบรรทัดใหม่ได้บ่อยแบบนี้บ้างจัง แต่ บก. ผมไม่ค่อยยอมเท่าไหร่

หนังสือธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 5 เล่มนี้ก็ยังคงคอนเซปเดิมที่คุ้ยเคย คือการเล่าเรื่องราวของโลกธุรกิจที่เน้นจากมุมมองของคนที่เป็นลูกน้องหรือคนนอก ไม่ใช่มุมมองของคนที่นั่งหัวโต๊ะหรือคนที่เป็นหัวหน้า เพราะคนเหล่านี้มักจะมองโลกจากมุมบนและมุมกว้าง จนลืมมุมมองจากข้างล่างขึ้นไปข้างบนแทน ทำให้หลายครั้งเกิดการ lost conntection หรือขาดการเชื่อมต่อทางใจในการทำงานระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง

หัวหน้าก็สั่งไปเรื่อยโดยไม่ได้เอาใจมาดูเลยว่าหน้างานที่ลูกน้องคนทำงานต้องเจอนั้นมีอุปสรรคแบบใดบ้าง หรือหลายครั้งคนเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารมักจะไปอบรมหลักสูตรเท่ห์ๆ เก๋ๆ หรืออ่านเจอในหนังสือบทความถึงเทรนด์การทำงานแบบคูลๆ แล้วรีบเอามาสั่งให้ลูกน้องทำตามโดยไม่ได้สำรวจบริบทในองค์กรเราว่าเหมาะกับสิ่งนั้นไหมมากน้อยแค่ไหน

หรือที่หนักไปกว่านั้นคืออ่านแต่ชื่อและคำอธิบายก็รีบเอามาสั่งให้ลูกน้องต้องใช้ โดยขาดความเข้าใจบริบทจริงๆ หรือความรู้ในเชิงลึกว่ามันสามารถทำได้จริงขนาดไหน แล้วเราจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเดิมที่ทำอยู่อย่างไรบ้าง

ปัญหาที่ผมเจอจากประสบการณ์ที่เคยเป็นลูกจ้างมาสิบกว่าปี บวกกับเป็นลูกน้องมาก็ร่วมสิบปี จนมาวันนี้ก็เพิ่งจะเป็นเจ้านายหรือเจ้าของบริษัทได้สักสองปี ทำให้มีความเข้าใจที่อาจจะมากกว่าคนที่ไม่เคยเป็นลูกน้องมาก่อนได้มากกว่า และก็ทำให้มีความเข้าใจคนที่เป็นแต่ลูกจ้าง หรือต่อให้เป็นลูกจ้างบริหารก็จะไม่มีทางเข้าถึงใจมุมมองของคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือคนที่เป็นเจ้าของเงินที่ต้องควักเงินจ่ายเงินเดือนลูกน้องทุกเดือนว่าพวกเขามีความคิดและรู้สึกอย่างไร

สิ่งที่ผมพบเจออย่างหนึ่งที่ถือว่าเป็นความผิดพลาดที่ซ้ำซาก ที่เป็นอุปสรรคหลักที่ทำให้องค์กรส่วนใหญ่ไม่ก้าวหน้าไปไหนนั่นก็คือ “การเพิ่มงานใหม่เข้าไปโดยไม่ลดงานเก่า”

คนเป็นเจ้านายมักจะมอบหมายงานต่างๆ ให้ลูกน้องทำเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ให้เรียนรู้สิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ จนลืมว่างานที่เรามอบหมายให้ลูกน้องนั้นล้นมือที่เขาจะรับผิดชอบได้แล้วหรือยัง

และนั่นเองก็ทำให้ผลงานที่ลูกน้องทำออกมาไม่ค่อยดีอย่างที่ทั้งสองฝ่ายตั้งใจ เพราะผมเชื่อว่าคนทำงานที่ดีส่วนใหญ่ก็อยากทำผลงานให้ออกมาดีเสมอ เพียงแต่อุปสรรคหลักคือมันมีสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันมากเกินไป

คนไม่เคยเป็นลูกน้องจะไม่เข้าใจว่าทำไมถึงทำไม่ได้ ก็เลยได้แต่พาลคิดว่าลูกน้องเราไม่มีความสามารถเหมือนพนักงานบริษัทอื่นที่ดูเก่งๆ ฉลาดๆ แต่เมื่อเอาคนเก่งๆ ฉลาดๆ นั้นมาใส่ระบบเดิมก็พบว่าผิดหวังไม่สามารถสร้างผลงานที่ดีเหมือนที่บริษัทเก่าก่อนเขามาได้

ข้อนี้สำคัญผมอยากฝากให้คนเป็นเจ้าของธุรกิจได้ลองกลับมาสำรวจตัวเองอย่างน้อยเดือนละครั้งว่า ณ ตอนนี้เรามอบหมายให้ลูกน้องเราทำอะไรบ้าง แล้วในแต่ละวันพวกเขาต้องทำอะไรบ้าง แล้วผมอยากให้คุณลองมาทำงานแบบพวกเขาดูเต็มวันเป็นอย่างน้อยคุณจะได้เข้าใจว่าอุปสรรคหน้างานที่พวกเขาต้องเจอคืออะไร เพราะนี่ก็คือการ Empathy หรือเข้าอกเข้าใจคนทำงานจริงๆ ว่าเพราะเหตุใดพนักงานของเราจึงไม่สามารถทำอย่างที่เราคาดหวังได้

ส่วนในมุมของลูกน้องผมคงไม่ขอพูดมากเพราะเดี๋ยวจะโดนลูกน้องจริงๆ ตามมาด่า ผมบอกได้แค่ว่าในมุมของคนเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจนั้นห่วงอย่างเดียวคือกลัวไม่มีรายได้มาจ่ายเงินเดือนลูกน้อง

เจ้าของที่ธุรกิจที่ดีมักมองล่วงหน้าไปไกลว่าเราจะทำให้บริษัทในปีหน้ามีรายได้พอจะจ่ายเงินเดือนทุกคนได้ครบได้อย่างไร แล้วก็จะคิดไปต่อว่าเราจะหารายได้จากไหนมาเพิ่มเพื่อจะได้สามารถขึ้นเงินเดือนให้ลูกน้องรู้สึกภูมิใจที่เลือกทำงานกับเรา ไปจนสามารถหาโบนัสมาให้พวกเขารู้สึกอวดคนในครอบครัวได้ว่าทำงานที่นี่แล้วมีโบนัสด้วยนะ

พูดเรื่องตัวเองมาก็เยอะขอตบกลับมาที่หนังสือก้าวใหญ่ๆ ใช้ใจเริ่ม เล่มนี้สักหน่อย หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่ผมแนะนำให้คนเป็นหัวหน้าทุกคนต้องอ่าน คนเป็นผู้บริหารทุกคนต้องห้ามพลาด โดยเฉพาะคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจต้องเรียนรู้ทุกหน้าจากหนังสือเล่มนี้

ผมขอหยิบเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือเล่มนี้มาเล่าสรุปสั้นๆ ให้คุณฟังแล้วกันว่าทำไมคุณถึงควรอ่านหนังสือเล่มนี้ครับ

การจะทำ Business Transformation ที่แท้ทรูคือการเปลี่ยนรูปแบบโมเดลธุรกิจ ไม่ใช่แค่เอาเทคโนโลยีเพิ่มเข้ามา

สรุปหนังสือ ก้าวใหญ่ๆ ใช้ใจเริ่ม ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 5 กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่ง สำนักพิมพ์มติชน

ดิสนีย์เปลี่ยนไป บทนี้พูดถึงการที่ดิสนีย์เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ หรือถ้าจะให้ถูกกว่านี้คือการสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาที่เป็น Disney+ ที่กำลังเป็นที่นิยมในบ้านเรา หลายองค์กรบอกว่าตัวเองอยากทำให้ไดแบบดิสนีส์ อยากมีรายได้จากการที่ลูกค้ายอมมาสมัครสมาชิกรายเดือนหรือรายปีกับเรา แล้วก็ทำเว็บขึ้นมาใหม่ เอาเทคโนโลยีใส่เข้ามา แต่กลับไปไม่ถึงฝั่งฝันอย่างที่ตั้งใจกันสักเท่าไหร่

แม้จะเอาวิธีการทำงานแบบ Agile เข้ามาเพิ่ม บอกว่าตัวเองจะเป็นธุรกิจที่ทำเรื่อง Customer Centric ที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง แต่กลับพบว่าฝ่ายบัญชีหรือฝ่ายดูแลลูกค้านั้นเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมากกว่าจะเน้นไปที่ลูกค้าในท้ายที่สุด

เวลาประชุมในกลุ่มผู้บริหารมักจะมีวิสัยทัศน์มากมาย แต่วิสัยทัศน์เหล่านั้นกลับต้องพังสลายเพราะไม่มีใครกล้าเข้าไปปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำงานที่แท้จริง แล้วก็บ่ายเบี่ยงโยนไปการประชุมในครั้งหน้าให้สักทีมหนึ่งไปทำแผนงานกลับมาเสนอ

ช่วงนี้ผมรับงานเป็นที่ปรึกษาหรือ Advisor ตรงให้กับ CEO ก็หลายที่ องค์กรขนาดใหญ่ก็มีบ้าง ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าอุปสรรคของการ Transformation ที่แท้จริงไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็น Mindset ของผู้บริหารเดิม และ Culture วิธีการทำงานขององค์กรที่ทำสืบต่อกันมา

เมื่อจะเปลี่ยนอะไรสักอย่างจริงๆ ผู้บริหารก็มักจะบอกว่า “แต่เราไม่เคยทำแบบนี้นะครับ” หรือ “แต่ที่ผ่านมาเราทำแบบนี้ก็เวิร์คมาตลอดนะครับ” ถ้า Mindset เจ้าของธุรกิจยังคงเชื่อว่าสิ่งที่เราทำนั้นดีอยู่แล้วก็ไม่ควรเสียเวลาประชุมเรื่องการทำ Digital Transformation หรือ Business Transformation แต่อย่างไร

หรือเวลาผมจัดคลาส Service Design ให้กับองค์กรที่ผมเข้าไปเป็นที่ปรึกษาโดยมีวัตถุประสงค์ว่าพวกเขาจะได้เข้าใจว่าแผนกอื่นหรือฝ่ายอื่นนั้นมีวิธีการทำงานอย่างไร

เชื่อไหมครับว่าหลายปัญหาที่คาใจบางฝ่ายมานานนั้นสามารถแก้ไขได้ง่ายมากด้วยการหันหน้าคุยกันไม่กี่คำของสองฝ่าย หรือบางเนื้องานที่ซ้ำซ้อนกันมานานก็ถูกเอามาวางเคลียร์บนกระดานเดียวกันหลังจากทำโดยไม่รู้ว่าแต่ละคนทำซ้ำซ้อนกันมาหลายปี นี่คือการกางข้อมูลที่ทุกฝ่ายมีเพื่อจะได้ทำให้ทุกคนได้เห็นภาพเดียวกันสักที

เมื่อทำ Service Design ออกมาเป็น Service Blueprint ของธุรกิจแล้วเราก็รู้ว่าใครจะต้องปรับตรงไหน ใครจะต้องลดงานอะไร หรือใครจะต้องทำอะไรเพิ่มขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ แล้วการจะหาเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใดจะค่อยเข้ามาตอบตรงส่วนนั้น เข้ามาเพื่อทำให้การทำงานเราง่ายขึ้น ลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่เกิดประโยชน์ลงไป เพื่อทำให้เนื้องานเรามีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

Disney เองก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องพึ่งพาอาศัยช่องทางการจัดจำหน่ายจากคนอื่นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะธุรกิจโรงหนัง ไม่ว่าจะธุรกิจร้านเช่าหนัง หรือธุรกิจแพลตฟอร์ม Streaming อย่าง Netflix และอื่นๆ

แต่พอวันนึง Disney บอกว่าพอแล้วฉันจะติดต่อกับลูกค้าตรงโดยไม่ผ่านตัวกลางแล้ว และนั่นก็เปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจใหม่เกือบหมดเพื่อให้ตอบกับเป้าหมายทางธุรกิจที่เป็น Disney+ ที่ทำเงินจาก Subscription model ทุกวันนี้

จากเดิมเคยทำหนังเรื่องหนึ่งทำเงินได้หลายร้อยล้านเหรียญหรืออาจจะกระโดดไปหลักพันล้านเหรียญเมื่อเข้าฉายในโรงภาพยนต์ ต้องมาเปลี่ยนเป็นการทำเงินทีละน้อยแต่นานๆ แน่นอนว่าก็สร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงให้กับ Disney วางแผนธุรกิจต่อไปได้ง่ายขึ้น

แถมยังได้ยินมาว่า Disney+ ในต่างประเทศมีเปิดให้ลูกค้าสามารถจ่ายเพิ่ม 30 ดอลลาร์เพื่อดูหนังใหม่ที่เคยแพลนเอาไว้ว่าจะฉายในโรงอย่าง Black Widow แต่สามารถนั่งดูจากที่บ้านได้แทน แว๊บแรกผมคิดในใจ โอ้โห ต้องจ่ายตั้ง 30 ดอลลาร์หรือหนึ่งพันบาทแน่ะ ถ้าไปดูโรงอย่างมากก็คงสองสามร้อยบาท

แต่พอคิดอีกรอบหนึ่งก็พบว่า แต่ถ้าผมดูที่บ้านผมก็สามารถดูกี่คนก็ได้นี่นา แถมระบบ Home Theater ที่บ้านผมก็เพิ่งซื้อชุด 5.1 มา ผมยังสามารถนั่งดูบนโซฟาสบายๆ ที่บ้าน หรือจะนอนดูบนเตียงก่อนนอนก็ได้นี่นะ ที่สำคัญคือผมไม่ต้องออกไปเสี่ยงติดโควิดนอกบ้านด้วย!

พอคิดแบบนี้ผมก็พบว่าบางทีธุรกิจ Streaming ที่มีบริการให้เช่าหนังเรื่องละหลายร้อยบาทที่เคยมีมานานอาจจะถึงจังหวะที่คนจะหันมาใช้บริการอย่างจริงจังก็ในนาทีนี้ หลายคนที่ยังพอมีกำลังซื้อก็คงเบื่อการดูแต่หนังเดิมๆ อยู่บ้านไม่น้อย ถ้าจ่ายแค่ไม่กี่ร้อยหรือพันเดียวแล้วสามารถดูหนังคุณภาพโรงภาพยนต์ได้ทันทีก็เป็นอะไรที่ไม่รู้สึกว่าแพงเกินไป

อีกอย่างบวกกับช่วงเวลานี้ถ้าจะจ่ายแล้วเกณฑ์คนในหมู่บ้านหรือคนนอกบ้านมาดูแบบก่อนโควิดมาก็คงไม่ใช่ทางเลือกที่ฉลาด ผมกลับคิดว่าที่เป็นจังหวะที่ดีที่ธุรกิจภาพยนต์จะหันมาขายหนังเพิ่มบนแพลตฟอร์ม Streaming ที่หลายคนก็เป็นสมาชิกอยู่แล้วครับ

กลับมาที่จุดตั้งต้นของเนื้อหาบทนี้ คือการทำ Business Transformation ไม่ใช่แค่การเอาเทคโนโลยีใส่เข้าไป แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ ไปจนถึงรูปแบบ Business model ใหม่ และแน่นอนว่าการทำงานแบบเดิมที่เคยทำมานั้นไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ดังนั้นต่อให้เรามีวิสัยทัศน์ดีแค่ไหนแต่ไม่มีกลยุทธ์ และกลวิธีที่ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้ วิสัยทัศน์ก็จะเป็นแค่ฝันกลางวัน เพราะต่อให้คุณหาเทคโนโลยีดีแค่ไหนเข้ามาใส่ แต่ถ้าเราไม่ปรับวิธีการทำงานใหม่ก็เหมือนกับลิงได้แก้ว หรือเอารถซูเปอร์คาร์ไปใช้ไถนาแทนอีแต๋นครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 13 ของปี 2021

สรุปหนังสือ ก้าวใหญ่ๆ ใช้ใจเริ่ม ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 5 กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่ง สำนักพิมพ์มติชน

สรุปหนังสือ ก้าวใหญ่ๆ ใช้ใจเริ่ม ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 5
จับจุดให้ถูกใจ ก้าวกระโดดไปพร้อมนวัตกรรมความคิด
กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เขียน (เจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่ง)
สำนักพิมพ์มติชน

สนใจอ่านสรุปหนังสือแนวนี้ต่อ > คลิ๊ก

สั่งซื้อออนไลน์ > https://bit.ly/3rGUGnH

หนังสือธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 4 หรือชื่อเล่มคือปล่อยใจคิดไม่ติดกรอบเล่มนี้ทำให้ผมนึกถึงคำหนึ่งที่คนแวดวงโฆษณาและการตลาดชอบใช้กัน นั่นก็คือคำว่า Storytelling

Storytelling น่าจะเป็นคำที่เป็นกระแสในบ้านเราเมื่อสัก 4 ปีก่อน ซึ่งหลักใหญ่ใจความก็คือถ่ายเล่าเรื่องที่แบรนด์อยากพูดนักการตลาดอยากบอกออกไปอย่างไรให้คนบนออนไลน์ไม่กด Skip ad หรือเลื่อนฟีดโฆษณาของแบรนด์ให้ผ่านไปอย่างรวดเร็วท่ามกลาง Content ที่มีให้เสพย์มากมายไม่รู้จบ

เช่นเดียวกันระหว่างอ่านหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้ผมคิดว่า หนังสือ ปล่อยใจคิดไม่ติดกรอบ หรือ ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 4 เล่มนี้น่าจะได้รับนิยามใหม่ว่า Businesstelling หรือเป็นหนังสือที่สามารถเล่าเรื่องธุรกิจที่คนนอกเคยคิดว่าน่าเบื่อและเข้าใจยาก ให้กลายเป็นอ่านสนุกและน่าติดตามได้ในแบบที่วางไม่ลงเลยจริงๆ

ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยรู้จักคุณต้อง กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มาเป็นการส่วนตัว แต่ผมแอบเป็นติ่งตามหนังสือแกมาตั้งแต่เริ่มแรกแล้วก็คิดว่า “ทำไมหนังสือเล่มนี้อ่านสนุกจัง” จนทำให้ผมต้องไปกด See First เพจ 8 บรรทัดครึ่งไว้ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จนเร็วๆ นี้ผมเพิ่งได้มีโอกาสจัดคลาสสอนออนไลน์ร่วมกับเพจ 8 บรรทัดครึ่ง ของคุณต้องจนได้พบกันเป็นการส่วนตัวครั้งแรกก็ยิ่งรู้สึกประทับใจมากเป็นพิเศษ

Data-Driven Marketing การตลาดวันละตอน 8 บรรทัดครึ่ง

เพราะระหว่างคลาสที่ผมบรรยายเรื่อง Data-Driven Marketing ไป คุณต้องก็สามารถจับประเด็นบางอย่างเสริมเข้าไปให้น่าสนใจยิ่งขึ้น หรือหยิบประสบการณ์ของตัวเองแชร์เพิ่มเข้ามาให้เนื้อหามีมิติมากขึ้น และนั่นก็ทำให้ผมรู้ว่าคนที่จะสามารถทำแบบนี้ได้ต้องไม่ใช่แค่อ่านเยอะ แต่ต้องผ่านประสบการณ์มาเยอะยิ่งกว่าครับ

เพราะจากประสบการณ์การเป็นนักเขียน เริ่มทำเพจ เขียนคอนเทนต์ และก็อ่านมาเยอะเหมือนกัน ผมพบนักเขียนอยู่สองประเภท 1 ฟังเค้ามาเขียน กับ 2 ฟังแล้วเอาของตัวเองมาเขียน

แบบแรกเราจะเห็นอยู่เต็มไปหมด อ่านแล้วรู้สึกเหมือนไม่จบไม่สุด เหมือนมันยังต้องมีอีกนิด หรือตรงนั้นมันหมายความว่ายังไงนะ แล้วในบริบทบ้านเรามันเป็นแบบไหน เหมือนมันยังค้างๆ คาๆ เคยเป็นแบบนี้มั้ยครับ

กับนักเขียนแบบที่สองคือ คนที่ทั้งอ่าน แล้วเอามาประยุกต์ใช้ แล้วก็อาจจะเอาเรื่องทั้งหมดพลิกและบิดบริบทใหม่ใส่เข้าไป จนบางครั้งเนื้อหาเดิมอาจเหลือไม่ถึงครึ่ง เพราะถูกนักเขียนคนนั้นหยิบมาแต่แก่นบางส่วน แต่เนื้อหาทั้งหมดถูกประกอบขึ้นมาใหม่ในสไตล์ของตัวเอง

คุณต้อง กวีวุฒิ แห่ง 8 บรรทัดครึ่งเป็นแบบนั้น หลายหัวข้อเป็นเรื่องที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาบ้าง แต่เรากลับไม่เคยได้รู้ถึงในแง่มุมเหล่านี้ที่ถูกเล่าผ่านธุรกิจพอดีคำมาบ้างเลย และนั่นก็เลยทำให้เนื้อหาของธุรกิจพอดีคำนั้นอิ่มกำลังดี ไม่น้อยไปจนไม่อิ่ม และไม่มากไปจนชวนหัว แถมรสชาติก็กำลังดีไม่คำใหญ่แต่ไร้รส ทำให้นึกถึงเวลาไปกิน Chef Table แม้อาหารจะมาแค่เมนูละนิดแค่ประมาณคำนิดๆ แต่กลับรู้สึกฟินกำลังดีเลยจริงๆ

หลายเรื่องหลายบทในเล่มผมขอไม่เล่าสรุปเหมือนหนังสือเล่มอื่น เพราะทุกบทนั้นพอดีคำแล้วจริงๆ กลัวว่าถ้าหยิบมาอย่างละนิดอย่างละหน่อย ก็จะเสียรสชาติความอร่อยของธุรกิจพอดีคำครับ

แต่ไหนๆ อ่านแล้วเล่า ก็มีจุดตั้งต้นที่การสรุปหนังสือ ดังนั้นผมขอสรุปสั้นๆ ทิ้งท้ายให้ว่าถ้าคุณกำลังสงสัยว่า Agile อย่างไรถึงจะดี เราจะทำให้คำว่า “ความคิดสร้างสรรค์” เกิดขึ้นในองค์กรได้อย่างไร การจะคิดให้ต่างต้องเป็นแบบไหน แล้วในยุค Data หรือ Digital Transformation นั้นอุปสรรคอะไรที่ขวางกั้นมันเหลือเกิน

แต่บอกไว้ก่อนว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ให้เนื้อหาเชิงเทคนิค แต่เป็นการให้เนื้อหาเชิงความคิด สร้าง Mindset และ Inspiration เพื่อให้คุณได้เริ่มทำอย่างถูกต้อง

สุดท้ายนี้ถ้าให้แนะนำผมว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนที่เป็นลูกน้อง หรือคนที่ยังต้องมีหัวหน้า ที่บอกว่าเหมาะก็เพราะว่าผมอยากให้คุณซื้อไปให้หัวหน้าได้อ่านจะได้เข้าใจมุมมองของลูกน้องที่อยากเห็นองค์กรก้าวหน้าแบบคุณครับ

ส่วนคนไหนที่เป็นหัวหน้าแล้วอยากจะพาทีมและองค์กรก้าวหน้าก็ควรอ่าน แต่ก่อนเปิดอ่านผมอยากให้คุณบอกตัวเองก่อนว่า คุณต้องเปิดใจยอมรับข้อบกพร่องของตัวเองให้ได้ก่อนนะ เพราะหลายเรื่องมันก็บังเอิญโดนการกระทำที่เราอาจไม่ตั้งใจให้มันเป็นเรื่องราวแบบในเล่มนี้จริงๆ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 16 ของปี 2020

ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 4 ปล่อยใจคิดไม่ติดกรอบ

สรุปหนังสือ ปล่อยใจคิดไม่ติดกรอบ
ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 4
กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เขียน
สำนักพิมพ์ Matichonbook

20200429

อ่านสรุปหนังสือธุรกิจพอดีคำเล่มอื่นต่อ > คลิ๊กที่นี่

สนใจสั่งซื้อหนังสือธุรกิจพอดีคำลำดับที่ 4 > https://bit.ly/2YfdZI8

อีกหนึ่งหนังสือที่ผมชอบและอยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่าน แม้คุณจะไม่ได้ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์ ต้องใช้ไอเดียเป็นประจำ หรือเป็นนักสร้างนวัตกรรมอะไรก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วนต้องการเหมือนกันก็คือ “เราจะทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานอย่างไร” หนังสือเล่มนี้มีแนวทางให้คุณอ่านแล้วเอาไปประยุกต์ใช้ตามหน้างานในแต่ละวันครับ

เมื่อพูดถึงคำว่า “ความคิดสร้างสรรค์” คำนี้อาจฟังดูเป็นเรื่องยาก แต่ผมอยากจะบอกความลับให้คุณรู้ว่าไม่ว่าใครก็มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อได้ ขอแค่เพียงเข้าใจหลักการ อยู่ในสถาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพียงเท่านี้ความคิดสร้างสรรค์ก็บรรเจิดได้ทุกคน เพราะความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เป็นแค่พรสวรรค์ของใครบางคนอย่างที่เราเชื่อกันครับ

ผู้เขียน คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่ง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Design Thinking เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างนวัตกรรม หรือเรียกเป็นภาษาฝรั่งเท่ห์ๆว่า Innovation ว่าคนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดคิดไปว่า innovation คือ technology ไม่ว่าจะ ai, blockchain, machine learning, mobile application หรืออะไรก็ตามที่มันฟังดูล้ำๆ แต่แท้จริงแล้ว innovation หรือนวัตกรรมนั้นในหัวใจสำคัญอยู่ที่ Empathy หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “ความเห็นอกเห็นใจ” หรือ “ความเข้าใจ” นั่นเอง

อย่างเรื่องของรถไฟ Eurostar ที่โด่งดังของยุโรป ที่วิ่งจากลอนดอนไปปารีส แถมยังวิ่งลอดอุโมงค์ใต้แม่น้ำด้วยความเร็วสูง สูงจนจากการเดินทางปกติใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือค่อนวัน สามารถย่นย่อเวลาเหลือแค่ 3 ชั่วโมงได้ตั้งแต่เมื่อสิบปีกว่าก่อน

แต่รัฐบาลได้ยินเสียงคนบ่นว่า “ช้า” อยากให้ถึงเร็วกว่านี้ ทางรัฐบาลก็เลยเร่งลงทุนปรับปรุงแก้ไขทั้งตัวรางและตัวรถไฟ เปลี่ยนหัวจักรใหม่ให้เร็วขึ้น ใช้เงินลงทุนไปกว่า 6,000,000,000 ยูโร ตีเป็นเงินไทยก็สองแสนล้านหน่อยๆเองครับ

ผลที่ได้คือรถไฟ Eurostar เร็วขึ้นถึง 20% จาก 3 ชั่วโมงเหลือแค่ 2 ชั่วโมง 20 นาที และประชาชนก็บ่นน้อยลง รัฐบาลก็มีความสุขมากขึ้น

แต่รู้มั้ยครับว่ามีชายคนหนึ่งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการโฆษณาประเทศอังกฤษที่ชื่อ Rosy Sutherland บอกว่า บางทีการที่คนบ่นว่าช้าอาจหมายถึง “ความน่าเบื่อ” ไม่ใช่เวลา 3 ชั่วโมงก็ได้

เค้าเสนอไว้ผ่าน Ted Talks ว่า ถ้าเขาเป็นคนแก้ปัญหานี้ เค้าจะเอานางแบบนายแบบมาเดินเสริฟไวน์ให้กับผู้โดยสารบนรถไฟ ทำให้ 3 ชั่วโมงนั้นกลายเป็นช่วงเวลาความสุขที่ไม่อยากให้หมดไป อาจจะถึงขั้นอยากให้รถวิ่งช้าลงซักนิดเพื่อเพิ่มเวลาความสุขบนรถไฟด้วยซ้ำ

นี่แหละครับคือการคิดแบบสร้างสรรค์ คิดแบบนักนวัตกรรม ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ “ความเข้าใจ”

เริ่มจากการลองเข้าไปทำความเข้าใจผู้โดยสาร เข้าไปสอบถามความเห็น จนเข้าไปทดลองทำจริงและเก็บผลตอบรับ แล้วปัญหานี้อาจไม่ต้องใช้เงินถึงสองแสนล้านบาทก็เป็นได้ ถ้ารัฐบาลมีคนเป็นนักนวัตกรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ซักหน่อยจริงมั้ยครับ

การจะเข้าอกเข้าใจลูกค้าได้เพียงแค่การทำแบบสำรวจ หรือการสัมภาษณ์นั้นไม่เพียงพอ แต่คุณต้องพาตัวเองเข้าไปในสถานที่นั่น ไปอยู่ในสถานการณ์นั้น เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น หรือพูดง่ายๆก็คือเข้าไปทำตัวเป็นลูกค้าจริงๆนั่นเอง นี่คือเทคนิคขั้นเทพที่เรียกว่า “การแปลงกาย”

เหมือนอย่างที่ Sam Walton ผู้ก่อตั้งห้างสะดวกซื้อที่ใหญ่โตที่สุดในอเมริกาอย่างห้าง Walmart ใช้เป็นหลักในการทำงานของเค้าตลอดการทำงานก็ว่าได้

Sam Walton บอกกับลูกน้องที่เป็นผู้บริหารว่า ภายใน 1 สัปดาห์ ให้ออกไปอยู่กับลูกค้า 4 วัน ส่วนอีกหนึ่งวันที่เหลือถึงเอาไว้ประชุมในออฟฟิตเพื่อให้ทีมเอางานไปทำต่อ

อ่านถึงตรงนี้แล้วลองถามตัวเองว่าคุณใช้เวลากี่วันเพื่อเข้าใจลูกค้าจริงๆในหนึ่งสัปดาห์ คุณส่งลูกน้องออกไปหน้างานมากพอมั้ย หรือเอาแต่นั่งเทียนคิดแทนลูกค้าอยู่หน้าโต๊ะตากแอร์ที่ออฟฟิศครับ

และนวัตกรรมก็ไม่มีสูตรสำเร็จหรือทางลัด ที่แค่ทำตามๆกันแล้วจะเห็นผล แต่การจะทำให้นวัตกรรมเป็นจริงได้ต้องกล้าลองผิดลองถูก ล้มก็ลุก พลาดก็เรียนรู้ อย่าหยุดแค่ล้มเหลว และอย่านั่งนับวันล้มเลิก เพราะทุกอย่างที่นับเป็นนวัตกรรมใหม่ๆอย่างแท้จริงล้วนผ่านความล้มเหลวมาก่อนครับ

กว่าเอดิสันจะค้นพบหลอดไฟที่สามารถใช้งานได้ยาวนานพอ ก็ต้องผ่านความล้มเหลวเป็นพันครั้ง กว่า William Shakespeare จะโด่งดัง ก็แต่งบทประพันธ์เอาไว้เป็นร้อยเป็นพันเรื่อง ส่วนไอ้ที่ดังถึงทุกวันนี้จริงๆนับนิ้วได้เลย

เหมือนที่ไอน์สไตน์บอกว่า คนที่ไม่เคยล้มเหลว คือคนที่ไม่เคยลงมือทำอะไรเลย ดังนั้นถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น ก็จงเพิ่มความล้มเหลวเป็นสองเท่า

อุตสาหกรรมน้ำมันก็เป็นตัวแทนของเรื่องนี้ดี

รู้มั้ยครับว่าบริษัทน้ำมันใหญ่ๆทั้งหลายในโลกนั้นมีจำนวนการล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ เพราะการจะขุดบ่อแล้วเจอน้ำมันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเทคโนโลยีทุกวันนี้ขุดหลุมแรกไม่มีทางเจอแน่นอน ก็ต้องขุดหลุมที่สองสามสี่ต่อไปเรื่อยๆ ว่ากันว่าต้องเจาะถึงสิบหลุมถึงจะเจอน้ำมัน

เห็นมั้ยครับตั้ง 10 ต่อ 1 แต่เค้าก็อดทนเพราะผลลัพธ์ที่ได้นั้นหอมหวานเสียเหลือเกิน ดังนั้นถ้าคุณบอกว่าตัวเองไม่มีทางทำได้ ลองถามตัวเองว่าฉันพยายามมันถึงสิบครั้งแล้วหรือยัง ถ้ายัง ลุกขึ้นไปทำต่อแล้วเรียนรู้จากความผิดพลาดให้มากที่สุดครับ

การผิดพลาดแล้วเรียนรู้นับว่าฉลาด แต่การผิดพลาดแล้วไม่เรียนรู้จนมาผิดพลาดเรื่องเดิมนับว่าโง่ครับ

เพราะสิ่งสำคัญของความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ไอเดีย แต่ขึ้นอยู่กับคน ทัศนคติของคนเท่านั้นที่จะทำให้เรื่องใดๆก็ตามสำเร็จได้ เหมือนที่ Steve Jobs บอกว่า “ถ้าคุณเอาความคิดห่วยๆให้คนดีๆทำ คนดีเหล่านั้นจะทำให้ความคิดห่วยๆกลับกลายเป็นของดีได้”

“แต่ถ้าคุณมีความคิดดีๆ ความคิดที่ยอดเยี่ยม ความคิดที่เปลี่ยนโลกบางอย่างปล่อยให้มันไปอยู่ในน้ำมือของคนห่วยๆ ในเวลาไม่นานความคิดดีๆเหล่านั้นก็จะกลายเป็นของห่วยในที่สุด”

สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่ความคิด แต่เป็นคนที่ลงมือ “ปั้นความคิด” นั้นให้เป็นรูปธรรมต่างหากครับ

และคุณสมบัติของคนที่จะเป็นผู้สร้างนวัตกรรมที่ดีได้มี 2 ข้อ นั่นคือ “อยากรู้อยากเห็น” และ “อดทน กัดไม่ปล่อย”

ความอยากรู้อยากเห็นทำให้คุณสงสัยไปเสียทุกเรื่อง ตั้งคำถามไปเสียทุกอย่าง ท้าทายสิ่งคุ้นเคยที่เป็นอยู่ ไม่พอใจกับปัจจุบันจนสามารถมองเห็นปัญหา และเพราะปัญหาคือโอกาส ดังนั้นต้องเริ่มจากมองให้เห็นปัญหาถ้าอยากจะสร้างนวัตกรรมอะไรบางอย่างจริงๆขึ้นมาครับ

และการอดทนกัดไม่ปล่อยก็คือการไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลว เพราะครึ่งแรกคือการเป็นนักคิด นักตั้งคำถาม แต่ครึ่งหลังคือการทำให้ความคิดนั้นเป็นจริง ถ้าล้มทีสองทีแล้วท้อ ร้อยความคิดก็เปลี่ยนโลกไม่ได้ครับ

เรื่องสุดท้ายที่ผมชอบมากอยู่ท้ายเล่ม ขอเล่าปิดท้ายในสรุปหนังสือเล่มนี้ให้ฟังก็แล้วกัน เป็นเรื่องของ “นวัตกรรมของเครื่องดูดฝุ่น” ที่เข้าใจลูกค้าว่าต้องการอะไร โดยไม่ต้องประดิษฐ์อะไรที่ล้ำโลกด้วยเทคโนโลยีใดๆเลย

เรื่องเริ่มจากมีเครื่องดูดฝุ่นชนิดหนึ่งที่สามารถเอาถุงบรรจุฝุ่นไปทิ้งได้โดยไม่ต้องเลอะมือให้สกปรก ทำให้คนใช้ไม่ต้องกังวลเรื่องเครื่องดูดฝุ่นอีกต่อไป

ฟังดูน่าทึ่งแม่บ้านน่าจะชอบ แต่รู้มั้ยครับว่าผลลัพธ์นั้นกลับไม่ดีอย่างที่ขาด ถึงแม้จะสะดวกสบายขนาดนี้แต่กลับไม่เป็นที่ยอมรับของเหล่าแม่บ้านเอาซะเลย เพราะบริษัทนี้ขาดความเข้าใจเหล่าแม่บ้านที่ต้องดูฝุ่นเป็นประจำว่าเค้าอยากเห็นผลลัพธ์จากการดูดฝุ่น อยากเห็นเศษฝุ่นเส้นผมมากมายที่สามารถดูดเข้าไปได้ เพื่อจะได้ภูมิใจกับผลงานของเค้า

แค่นั้นเองครับคือสิ่งที่แม่บ้านต้องการ หาใช่ถุงบรรจุฝุ่นที่มิดชิดมองไม่เห็นเศษฝุ่นใดๆด้านใน จนทำให้เหล่าแม่บ้านไม่แน่ใจว่าตกลงฉันได้ทำความสะอาดมันไปแล้วจริงๆใช่มั้ย บ้านฉันไม่เหลือฝุ่นแล้วใช่มั้ย หรือฉันต้องดูฝุ่นใหม่กันแน่นะ

ผมลองคิดต่อเล่นๆว่าถ้าบริษัทที่ผลิตเครื่องดูดฝุ่นปรับถุงบรรจุฝุ่นให้ใสสามารถมองเห็นเศษฝุ่นข้างในได้เมื่อไหร่ นั่นแหละครับถึงจะเรียกว่านวัตกรรมที่เข้าใจกลุ่มลูกค้าแม่บ้านอย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะภูมิใจกับผลงานของตัวเองแล้ว แต่ยังมือสะอาดไม่เลอะฝุ่นอีกด้วย

เพราะนวัตกรรมไม่เคยเริ่มต้นจากเทคโนโลยี แต่เริ่มจากการไปนั่งอยู่กลางใจของลูกค้า เริ่มต้นที่ “ความเห็นอกเห็นใจ” หรือ Empathy นี่แหละครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 25 ของปี 2019

สรุปหนังสือ เมื่อหัวว่างจึงสร้างสรรค์
ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 3
กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน

20190424

ธุรกิจยักษ์ใหญ่ทั้งหลายในโลกที่เราคุ้นตากันวันนี้ ไม่ว่าจะ Facebook แพลตฟอร์มที่มีคนใช้งานมากที่สุดในโลก Uber บริษัทแท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก Airbnb ผู้ให้บริการห้องพักที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือ Samsung บริษัทที่มีสัดส่วนยอดขายโทรศัพท์มือถือสูงที่สุดในโลก ครั้งนึงเมื่อเริ่มก่อตั้ง บริษัทเหล่านี้ล้วนเริ่มจากอะไรที่เล็กๆไม่เกินแรงคนๆนึงจะทำได้ทั้งนั้น

Samsung เริ่มจากขายปลาตากแห้ง Facebook เริ่มจากเว็บเล็กๆสำหรับเด็กมหาลัยนึงเท่านั้น Airbnb เกิดจากการอยากแบ่งเตียงให้คนที่มาเทศกาลงานออกแบบนอน เพื่อหาเงินเล็กน้อยเข้ากระเป๋า

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งๆไม่ว่าใครก็เริ่มทำได้เหมือนกัน

หนังสือเล่มนี้ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวประมาณที่ว่าแหละครับ ผมขอหยิบบางช่วงบางตอนในเล่มที่เห็นว่าน่าสนใจมาเล่าสรุปให้ฟังก็แล้วกัน

เราเลิกเล่นเฟซบุ๊กไม่ได้ เพราะเราอดที่จะพูดไม่ได้

สาเหตุที่คนส่วนใหญ่ยังคงเสพย์ติดเฟซบุ๊กถึงทุกวันนี้ เพราะทุกครั้งที่เราโพสแสดงความเห็นอะไรออกไป มันทำให้เรามีความสุขทุกครั้ง ไม่ใช่แค่การคิดไปเอง ไม่ใช่แค่จิตวิทยา แต่เป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้านสมองที่พบว่า ทุกครั้งที่เราได้แสดงความคิดเห็นนั้น เสมองเราจะส่งสัญญาณคลื่นสมองว่ามีความสุขประหนึ่งได้กินช็อคโกแลตเลย

งั้นต่อไปนี้ถ้าใครอยากกินช็อคโกแลตแต่ไม่อยากอ้วน ให้โพสเยอะๆแทนนะครับ

ฟินแลนด์ ประเทศที่การศึกษาดีที่สุดในโลก ทั้งที่ก็ไม่ได้มีอะไรต่างจากประเทศอื่น

เพราะอำนาจที่ครูได้ในการทำงาน คือสิ่งที่ทำให้การศึกษาฟินแลนด์แตกต่างไม่เหมือนใคร ครูที่ฟินแลนด์มีอิสระที่จะสอนอะไรกับเด็กก็ได้ ไม่ต้องทำตามกฏระเบียบมากมายจากส่วนกลาง

และจากการให้อิสระทางความคิดนั้นเอง ที่เป็นพลังอำนาจให้ครูทำผลงานได้ดีตามมา

อิสรภาพทางความคิด นั้นทรงพลังมากกว่าที่เราๆคิด เหมือนองค์กรมากมายที่บอกว่าอยากได้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์และแตกต่างเข้ามาในองค์กรของตัวเอง แต่พอได้เค้ามาแล้วก็กลับไม่ให้อิสระเค้าคิดและทำ เอาจับมาใส่ในกรอบเดิมๆ เอาเข้ามาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์แบบเดิมๆ

รู้ไว้นะครับว่าสิ่งที่คนทำงานต้องการที่สุดไม่ใช่เงิน ไม่ใช่ชื่อเสียง ไมใช่ตำแหน่ง แต่เป็นอิสระครับ

Alex Mittal นักลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่ดังระดับโลก บอกว่าวิธีจะคัดสตาร์ทอัพเกิดใหม่ที่น่าลงทุนคือ “คำถาม”

แต่คำถามที่นักลงทุนทั่วไปมักถามคือ “จะทำอย่างไรให้สิ่งนี้สำเร็จ หรือไม่ล้มเหลว” แต่เค้าเลือกถามในมุมกลับคือ “ถ้าสิ่งนี้สำเร็จมันจะเปลี่ยนโลกขนาดไหน”

เพราะสตาร์ทอัพนั้นคือความเสี่ยง เสี่ยงที่จะล้มแล้วล้มอีก ต้องล้มและลุกต่อไปเรื่อยๆ นี่คือธรรมชาติของสตาร์ทอัพ

กว่า Instagram จะกลายเป็นแอพถ่ายรูปยอดฮิตของโลก ก็ผ่านการล้มและลุกเหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญคือถ้ามันสำเร็จต่างหาก โลกจะเปลี่ยนไปยังไง เหมือนที่ Airbnb ทำให้ธุรกิจโรงแรมดังระดับโลกทั้งหลายกลายเป็นกระจอกไปเลย

ดังนั้นคำถามที่ให้ไป จะได้จินตนาการถึงขั้นสุดของการลงทุนที่จะเกิดขึ้น ทีนี้ก็ดูว่ามันจะเปลี่ยนโลกได้มั้ย ถ้ามันเปลี่ยนได้ก็คุ้มที่จะเสี่ยง

เพราะการลงทุนคือความเสี่ยง ถ้างั้นก็ควรจะเสี่ยงให้ได้แจ็คพอตคุ้มๆอยู่แล้วใช่มั้ยครับ

เบียร์ Budweiser ใช้ Trigger Effect มุขเล็กๆสะกิดคนจนเพิ่มยอดขายได้ ด้วยงานโฆษณาที่ใช้คำว่า Hey What’s Up? ย้ำๆเพื่อผูกคำนี้เข้ากับเบียร์ของตัวเอง

ผลก็คือทุกครั้งที่คนอเมริกันทักกันด้วยคำนี้ ซึ่งก็เป็นทุกครั้งแหละครับ ทำให้คนนึกถึงโฆษณาเบียร์ Budweiser และยอดขายก็ตามมาเป็นกอบเป็นกำ

แค่ผูกกับอะไรที่ไม่มีความหมาย ก็กลายเป็นมีค่าทางยอดขายมหาศาล ลองเอาไปคิดต่อดูนะครับ

Airbnb อาศัยเว็บดังให้ตัวเองโต

ในยุคแรกเริ่มคนรู้จัก Airbnb น้อยมาก แต่ในตอนนั้นเวลาคนอเมริกันจะซื้อขายแลกเช่าอะไรก็ทำผ่านเวปดังอย่าง Craigslist เสมอมา อารมณ์ก็คล้ายๆเวปพันทิปบ้านเราแหละครับ Airbnb เลยหาทางว่าทำยังไงที่จะให้คนใน Craigslist รู้จัก Airbnb และเข้ามาที่เวปนี้แทน

Airbnb เลยสร้างปุ่มพิเศษขึ้นมาหนึ่งปุ่มในเวป ให้กับเจ้าของที่พักสามารถแชร์ออกไปที่ Craigslist ได้ง่ายๆ

ผลที่ตามมาก็คือคนจาก Craigslist ที่กำลังมองหาที่พักราคาถูก ก็ได้พบกับ Airbnb มากขึ้น จนกลายเป็นเว็บที่เข้ามาใช้งานเองเรื่อยๆหลังจากครั้งแรกที่เข้าผ่าน Craigslist

เป็นกลยุทธ์ที่น่าทึ่งมากครับ

อัจฉริยะ หรือ อุตสาหะ กันแน่

บรรดาอัจฉริยะของโลกที่พูดชื่อไปใครก็คุ้นอย่าง ไอน์สไตน์ ปิกัสโซ่ โมสาร์ต บีโธเฟ่น หรือ เช็กสเปียร์ส ไม่ได้ถูกขนานนามว่าเป็นอัจฉริยะเพราะเก่งแต่กำเนิด หรือไร้ที่ติ แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาเหล่านี้แหละที่เป็นคนล้มเหลวมากที่สุด

ปิกัสโซ่ มีผลงานที่สร้างทิ้งไว้เป็นหมื่นๆชิ้น แต่ที่ดังจริงๆกลับมีไม่กี่สิบชิ้น หรือ โมสาร์ต และ บีโธเฟ่น เองต่างก็แต่งเพลงเอาไว้เป็นร้อยๆพันๆเพลง แต่ที่ดังจริงก็มีไม่กี่บทเพลง

ดังนั้นสิ่งที่ทำให้คนเป็นอัจฉริยะไม่ใช่ผลงานที่สมบูรณ์แบบ แต่เป็นความพยายามที่ไม่เคยล้มเลิกแม้จะล้มเหลวอยู่ตลอดเวลาต่างหากล่ะ ที่ทำให้เค้าเป็นอัจฉริยะ

UX เสมือนหัวใจของคน

ต้องบอกว่าคนที่ทำงานสายดิจิทัล น่าจะคุ้นกับคำว่า ux ที่ย่อมาจาก user experience บ้าง แต่จะมีซักกี่คนที่บอกได้ว่าแท้จริงแล้วคืออะไร?

ผมคนนึงก็เป็นคนที่ทำงานในสายงานดิจิทัลอยู่มาพักนึง ก็ไม่เคยเข้าใจแบบชัดแจ้งซักทีว่าแท้จริงแล้วมันคืออะไร จนได้มาอ่านตอนนึงในหนังสือเล่มนี้ที่อธิบายได้ชัดเจนในหนึ่งประโยคจริงๆ

คุณอิง อดีต Lead User Experience ของ Amazon เวปขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกบอกไว้ว่า “UX ก็เหมือนหัวใจของคน” ตัวตนของคนๆนั้นในรูปแบบเวป ว่าเป็นคนที่คุยด้วยง่ายมั้ย เข้าใจเราดีมั้ย บริการเราถูกใจมั้ย

เมื่อหัวใจที่เป็น ux ดี ก็ค่อยมาเป็นการแต่งหน้าทำผม สวมชุดเสื้อผ้าว่าจะให้ออกมาสวยหล่อยังไงด้วย ui

ดังนั้นการออกแบบอะไรต้องเริ่มจาก ux ที่ดีก่อน เริ่มจากหัวใจที่ดี ตัวตนที่ดี แล้วค่อยไปส่วนอื่นอย่ารีบข้ามขั้นไปครับ เพราะจะกลายเป็น สวยแต่รูปจูบไม่หอม

เป็นหนังสือที่อ่านง่าย เนื้อหาน่าสนใจ แถมยังเป็นเรื่องรอบตัวที่ใครๆก็อ่านได้

ผมอ่านวันเดียวยังจบ และเชื่อว่าคุณก็อ่านจบได้เหมือนผมในวันเดียวเหมือนกันครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 61 ของปี 2018

คิดใหญ่เริ่มให้เล็ก
ธุรกิจพอดีคำ ฉบับที่ 2
กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน

20180514

อ่านนวัตกรรมทางความคิดที่ไม่มีวันหมดอายุ

เล่มนี้ได้มาจากงานหนังสือครั้งล่าสุดเมื่อต้นปี สังเกตุเห็นว่ามติชนเริ่มทำหนังสือแนวนี้เพิ่มขึ้นเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านหน้าใหม่ เป็นหนังสือในแนวที่อ่านง่ายๆ เป็นตอนสั้นๆ อ่านฆ่าเวลาก็ดี อ่านเอาเกร็ดความรู้ก็ได้ แต่ที่ผมว่าดีมากก็คือหนังสือแบบนี้แหละที่จะพานักอ่านหน้าใหม่ให้กลายเป็นนักอ่านหลายหน้าในเวลาไม่นาน เพราะผมเองก็เป็นคนนึงที่ไม่เคยคิดอ่านหนังสือ จนมาเจอหนังสือสไตล์นี้ของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ จนกลายมาเป็นหนอนหนังสือคนนึง

เล่าเรื่องของผมเยอะแล้วกลับมาที่หนังสือบ้าง ผู้เขียนใช้หลักคิดแบบ Design Thinking มาสอดแทรกอย่างแนบเนียนในเรื่องเล่าในเล่ม น่าจะเพราะคนเขียนจบทางด้านนี้มาโดยเฉพาะและยังทำงานเป็นนักนวัตกรรมในองค์กรใหญ่อย่าง ปตท. มากกว่า 10 ปี ในหลัก Design Thinking ที่ผู้เขียนพยายามเน้นย้ำมากกว่าหนึ่งครั้งคือหัวข้อ “Empathy” หรือที่แปลเป็นไทยว่า “ความเข้าอกเข้าใจลูกค้า”

ความเข้าอกเข้าใจลูกค้า ก็คือนวัตกรรมที่แท้จริง เพราะนวัตกรรมโดยแท้จริงแล้วไม่ใช่เทคโนโลยี ไม่ใช่ AR ไม่ใช่ 4.0 แต่คือการเข้าอกเข้าใจคนอย่างแท้จริง ยิ่งถ้าเราลองไปเป็นเค้าได้จะยิ่งดี

ผมเล่าเรื่องที่ผู้เขียนยกตัวอย่างให้ฟังในเล่มที่จะทำให้เราเข้าใจว่าความเข้าอกเข้าใจที่แท้จริงคืออะไร..

ณ ริมแม่น้ำแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของไทย(ตรงนี้ผมดัดแปลงเองให้ตัวเองอินขึ้น)

มีบ้านหลังน้อยกับสาววัยกลางคนอาศัยอยู่

นักวิจัย 3 กลุ่มออกสำรวจข้อมูล ด้วยหวังว่าจะสร้าง “นวัตกรรม” ให้คนแถบนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เมื่อนักวิจัยทั้ง 3 กลุ่มได้พบกับหญิงสาวจึงถามว่า

“ที่แถบนี้ต้องการอะไรเพิ่มเติมบ้างเพื่อทำให้ชีวิตคุณดีขึ้น?”

หญิงสาวตอบอย่างไม่ลังเล

“สะพาน”

นักวิจัย “กลุ่มแรก” ดีใจมาก ได้ “ตำตอบ” แล้วจึงรีบกลับไปที่ศูนย์วิจัย

ระดมสมองกันยกใหญ่ “เราจะสร้างสะพานอย่างไรได้บ้าง?”

สะพานคอนกรีต สะพานไม้ สะพานแขวน สะพานเหล็ก หรือสะพานควาย…

สุดท้าย คิดคำนวนแล้วตกลงใจที่จะสร้าง “สะพานแขวน” เป็นของขวัญให้แก่หญิงสาว

นักวิจัยอีก 2 กลุ่ม ยังไม่ได้กลับมาที่ศูนย์วิจัย

ถามต่อ “ทำไมคุณอยากได้สะพานล่ะ?”

“ฉันอยากจะข้ามไปที่ฝั่งนู้น” หญิงสาวตอบ

นักวิจัย “กลุ่มที่ 2” ได้ยินดังนั้น จึงรีบกลับมาที่ศูนย์วิจัย และระดมสมอง “จะข้ามแม่น้ำไปฝั่งนู้นอย่างไรได้บ้าง?”

เรือ แพ เครื่องบิน เจ็ตสกี ชุดว่ายน้ำ…สะพาน

สะพานเป็นเพียงหนึ่งใน “ทางเลือก” แต่ยังไม่ใช่ “คำตอบ”

คำถามเพียงหนึ่งประโยคว่า “ทำไมล่ะ?” ได้เผย “ความเป็นไปได้” อีกมากมายให้แก่หญิงสาว

เอ๊ะ แล้วนักวิจัยกลุ่มสุดท้ายล่ะ เขารออะไรกันอยู่ ยังไม่กลับมาซักที

ครับ พวกเขายังอยู่เพื่อถามหญิงสาวอีกหนึ่งคำถาม “ไม้ตาย”

“ทำไมคุณถึงอยากจะข้ามไปฝั่งนู้นล่ะ?”

หญิงสาวอึ้ง เงียบไปพักนึง พลันตอบด้วยเสียงสะอื้นในลำคอว่า..

“คุณแม่ฉันป่วย ฉันมีงานต้องทำฝั่งนี้ อยากจะไปดูแลท่านให้ได้มากกว่านี้”

นักวิจัยกลุ่มสุดท้ายฟังเช่นนั้นก็กลับมาที่ “ศูนย์วิจัย”

“เราจะทำให้หญิงสาวดูแลครอบครัวที่ห่างไกลได้อย่างไรบ้าง?”

รถพยาบาลเคลื่อนที่ โทรศัพท์เห็นหน้ากัน หุ่นยนต์ดูแลคนชรา กล้องวงจรปิดติดตามตัว

“สะพาน” คงจะไม่ใช่ “คำตอบ” ที่ดีที่สุดอีกต่อไป

เพียงแค่เราเริ่มตั้งคำถามมากขึ้น ถามว่า “ทำไม?” ให้มากขึ้น เราก็จะเข้าใจถึงความต้องการเบื้องลึกของคำตอบเบื้องต้นนั้น

เปรียบกับเวลาทำงาน เวลามีบรีฟมาบอกว่าลูกค้าอยากได้ไวรัล ไวรัล และไวรัล (ผมเชื่อว่าแทบทุกคนที่ทำโฆษณามักจะได้ยินประโยคนี้ไม่น้อยกว่า 3ล้าน8แสนครั้งในแต่ละปี) ผมอยากให้เราลองตั้งคำถามย้อนกลับไปถามให้ลึกขึ้นว่า ทำไม ทำไม และ ทำไม อย่างน้อย 3 ครั้ง แล้วคุณจะเข้าใจเหตุผลของปัญหานั้นมากขึ้น

หนังสือเล่มนึงที่ชื่อว่า..เอ่ออออ จำไม่ได้ว่า Lean Start Up หรือ From Zero to One เหมือนกัน คุ้นๆว่าจะเป็นหนึ่งสองเล่มนี้แหละ พูดถึงการทำงานหรือแก้ปัญหาด้วยการถามว่า “Why” ถึง 5 ครั้งอย่างน้อย เราก็จะเข้าใจถึงต้นตอปัญหานั้น แล้วก็จะแก้ไขมันได้อย่างเด็ดขาด

เพราะ “นวัตกรรม” ทุกอย่างในโลกนี้เริ่มต้นจาก “การเข้าใจผู้ใช้งาน” อย่างแท้จริง

Why I read this book?

ก็ผมว่าหน้าปกมันสวยดีน่ะ 555

อ่านเมื่อปี 2017