Tag

ทุนนิยม

Browsing

ดร. วิรไท สันติประภพ, นักเศรษฐศาสตร์พเนจร

เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องเศรษฐศาสตร์อีกเล่มที่อ่านเข้าใจได้ไม่ยาก และก็ทำให้เข้าใจภาพความจริงของเศรษฐกิจบ้านเมืองเราในช่วงก่อนยุค คสช ได้มากพอควร

และพออ่านจบก็เลยเพิ่งรู้ว่าผมมีหนังสือของนักเขียนคนนี้อยู่อีกเล่มแต่ยังไม่ได้อ่าน คือ “ประชานิยม: ทางสู่ความหายนะ” เป็นเล่มที่ได้จากงานหนังสือเมื่อต้นปี 2560 แต่เล่มนี้เพิ่งได้มาจากงานหนังสือเมื่อปลายปีเดียวกันแต่ดันอ่านจบก่อนซะงั้น

เนื้อหาหลักๆของเล่มผมว่าแบ่งเป็นสองส่วน คือ “ประชานิยม” กับ “ทุนนิยม” (ความจริงในเล่มมีเนื้อหาหลายหัวข้อ อันนี้ผมขอสรุปจากความรู้สึกส่วนตัวของผมนะครับ)

“ประชานิยม”

กลายเป็นสิ่งที่คนไทยถูกพรรคการเมืองและรัฐบาลตั้งแต่ยุคทักษิณมอบให้ เสมือนขนมเค้กที่ปราศจากคำเตือนถึงอันตรายของโรคต่างๆที่จะตามมา เพราะทุกครั้งที่ไม่ว่าจะรัฐบาลหรือพรรคการเมืองใดๆก็ตามต้องการคะแนนนิยมจากประชาชน ก็จะหยิบเอานโยบายประชานิยมต่างๆขึ้นมาหาเสียง

ไม่ว่าจะรถไฟฟ้า 20บาททุกสายทุกเส้น(จนวันนี้บินหนีไปไหนแล้วก็ไม่รู้) ไปจนถึงจำนำข้าวทุกเมล็ด และอีกมากมายหลายนโยบายประชานิยมชวนให้ประชาชนฝันหวานไปไม่รู้กี่ตลบ

แต่บรรดารัฐบาลและพรรคการเมืองเหล่านั้นไม่เคยบอกที่มาของ “ค่าใช้จ่าย” ที่จะทำให้นโยบายประชานิยมที่เราๆทุกคนชื่นชมกันว่า “เงิน” ที่จะเอามาอุดหนุนเหล่านั้นจะต้องหามาจากไหน เพราะรัฐบาลไหนๆก็ตามไม่ได้มีกระเป๋าโดราเอมอนที่จะเสกเงินออกมาสร้างประชานิยมต่างๆได้มากมายโดยไม่เกิดผลกระทบตามมา

แต่ทั้งหมดที่พูดมาก็ใช่ว่าจะต่อต้านประชานิยมนะครับ ประชานิยมผมก็เห็นว่าเป็นเรื่องดี ตราบที่ไม่มอมเมาประชาชนมากเกินไป

เพราะจุดเริ่มต้นของ “ประชานิยม” นั้นมีจาก “รัฐสวัสดิการ” ที่มีอยู่ในประเทศแถบยุโรปและสแกนดิเนเวีย แต่สิ่งที่ประชาชนต้อง “จ่าย” ให้กับรัฐสวัสดิการเหล่านั้นคือ “ภาษีที่สูงมาก” จนทำให้คนสแกนดิเนเวียในหลายประเทศนั้นไม่ได้ขวนขวายที่จะทำงานหนักเพื่อหาเงินได้มากๆ เพราะหาได้มากก็ต้องจ่ายให้รัฐมาก ก็เลยชิลๆสบายๆ ทำงานประมาณนึง แล้วก็เอาเวลาที่เหลือไปหาความสุข

แต่ในบ้านเรากลับไม่กล้าหาทางหาเงินเพิ่มขึ้นจากประชาชนซักเท่าไหร่ ก็เพราะกลัวคะแนนนิยมจะหดตกต่ำ เลยต้องพยายามใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอย่างนั้นอย่างนี้ ด้วยวิธีการนี้ผู้เขียนก็บอกเป็นนัยๆว่า เหมือนกับการกินกระทิงแดงกระตุ้น หรือยาม้ากระตุ้นเป็นพักๆ แต่สุดท้ายแล้วร่างกายก็เสื่อมโทรมอยู่ดี เพราะไม่ได้ดีแข็งแรงโดยพื้นฐานของเศรษฐกิจเอง

นี่แหละครับคือความน่ากลัวของ “ประชานิยม” ที่เราส่วนใหญ่มักฝันหวานตาลอยเมื่อได้ยินว่าใครจะให้โน่นให้นี่ ถ้าตีความมองอีกด้านหนึ่งเอาเข้าจริงประชานิยมนี่ก็แทบไม่ต่างจากการ “ซื้อเสียง” คนทั้งประเทศด้วยนโยบายขายฝันที่ไม่ค่อยจะทำได้จริงซักเท่าไหร่นัก แถมไม่ถูกจับแบบการซื้อเสียงด้วยเงินสดๆเหมือนสมัยก่อนเลย

เรื่องที่สอง

“ทุนนิยม”

ผู้เขียนหมายถึงบรรดา “นายทุน” และ “บริษัท” ห้างร้านทั้งหลายในบ้านเรา ที่ต้องสู้ทนฟันฝ่ากับอุปสรรคทางเศรษฐกิจโดยที่รัฐบาลและข้าราชการนั้นแทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย แถมยังต้องยัดเงินใต้โต๊ะให้บรรดาข้าราชการทั้งหลายไม่กลายป็นอุปสรรคแทนด้วยซ้ำ

ผิดกับต่างประเทศที่เจริญแล้ว รัฐบาลและข้าราชการในประเทศเหล่านั้นมีหน้าที่ลดอุปสรรค กับเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเอกชนเพื่อให้ออกไปเติบโต ต่อสู้กับต่างชาติในระดับโลกด้วยซ้ำ

แต่ส่วนนึงผู้เขียนก็ชมว่าบรรดานักธุรกิจนายทุนบ้านเรานั้นเก่ง ที่สามารถพาบริษัทไทยออกไปไกลถึงระดับโลกได้มากมายแม้รัฐบาลและข้าราชการจะไม่ค่อยช่วยอะไรอย่างที่บอก และก็อยากให้บรรดานักธุรกิจเหล่านั้นหันมาลงทุนกับการพัฒนาสังคมในประเทศบ้าง

เหมือนบริษัทใหญ่ๆในต่างประเทศที่ต่างลงทุนในสังคมในประเทศมากมาย ไม่ใช่แค่การทำ CSR สวยหรูเพื่อออกข่าว PR เยอะๆ แต่เป็นการสร้างและส่งเสริมสังคมอย่างจริงๆจังๆ

เพราะในที่สุดแล้วถ้าบริษัทเอาแต่สูบผลประโยชน์จากแผ่นดินและผู้คนไป วันนึงสุดท้ายที่ไม่เหลืออะไรให้สูบก็จะเป็นตัวบริษัทองค์กรนั้นเองแหละที่จะต้องล้มตายตามกันไป

ด้วยแนวคิดนี้บริษัทใหญ่ๆในต่างประเทศถึงคิดถึงเรื่อง “ความยั่งยืน” อย่างจริงๆจังๆมากขึ้น IKEA เองก็ปลูกป่าเพิ่มเติม และปลูกป่าของตัวเองในระยะยาวมากขึ้น บริษัทแฟชั่นบางแห่งก็หันมาใช้การย้อมขาวฟอกสีโดยไม่ใช้น้ำ ทั้งๆที่ปกติแล้วขั้นตอนเหล่านี้ต้องใช้แหล่งน้ำมากมายเพราะถ้ามองในระยะยาวถึงความยั่งยืนในทุกด้าน ถ้าวันนึงแหล่งน้ำหมดไป ธุรกิจเหล่านี้เองก็จะไม่สามารถอยู่ได้ เค้าเลยเลือกที่จะปรับตัวตั้งแต่วันนี้ ไม่รอให้วิกฤตินั้นมาถึง

เห็นมั้ยครับว่าเรื่องของ CSR กับ “ความยั่นยืน หรือ sustainable นั้นมันคนละเรื่องกันเลย

ทั้งหมดของทั้งสองเรื่องหลักไม่ว่าจะ “ทุนนิยม” หรือ “ประชานิยม” นั้นวนกลับมาเรื่องของรัฐบาลและข้าราชการ ที่ต้องรู้จักปรับตัวใหม่ให้เข้ากับสมัยนิยมมากขึ้น

ต้องรู้จัก “ไม่ทำ” ในสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะแต่ไหนแต่ไรมาราชการมักจะคุ้นกับการ “เพิ่ม” ขั้นตอนความยุ่งยากต่างๆเข้าไป จนทำให้เหมือนคนอ้วนอุ้ยอ้ายที่ขยับตัวทำอะไรก็ยาก

ดังนั้นวันนี้เราต้องเริ่มจากการมองให้ออกว่าสิ่งไหนไม่จำเป็นที่จะต้องทำ ก็เอามันออกไปให้ตัวเราเบาขึ้น คล่องขึ้น สะดวกขึ้น เพราะข้าราชการเป็นเสาหลักของชาติ ถ้าเปรียบกับร่างกายก็เหมือนกระดูก หน่วยธุรกิจก็เหมือนกับกล้ามเนื้อ และรัฐบาลหรือผู้นำก็เหมือนกับสมอง

ลองคิดดูซิว่าถ้ากระดูกคด(ข้าราชการทำงานผิดเพี้ยนไปหมด) ก็ต้องเป็นภาระหนักที่กล้ามเนื้อ(ภาคธุรกิจ)ที่ต้องพยายามพาร่างกายไปข้างหน้าตามคำสั่งของสมอง(รัฐบาลหรือผู้นำ) แต่ถ้าสมองนั้นกลับมองไม่ออกว่าอะไรที่ควรทำหรือไม่ควรทำแต่ก็ยังดันทุรังจะทำมันไป ก็เท่ากับเป็นการเปลืองทั้งพลังงานกล้ามเนื้อ และฝืนโครงสร้างกระดูกของร่างกาย จะทำให้พาลตายไปทั้งร่าง

การปฏิรูปต้องเริ่มจากการจัดกระดูก เสริมกล้ามเนื้อ และบำรุงสมอง เพื่อให้ร่างกายทั้งหมดสามารถวิ่งแข่งกับชาติอื่นๆได้ครับ

อ่านเมื่อปี 2017

หนังสือเล่มนี้เขียนโดยคุณสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักแปลใจดวงใจ เพราะห้องหนังสือบ้านผมมีหนังสือของเค้าคนนี้เยอะมากครับ คุณสฤณีชอบเขียนหรือแปลหนังสือแนวระบบเศรษฐกิจแบบรักษ์โลก หรือจะเรียกว่าทุนนิยมสีเขียวก็ว่าได้ ซึ่งเป็นหนังสืออีกสไตล์ที่ผมชอบมากโดยไม่รู้ตัว จนผมบังเอิญได้หนังสือเล่มนี้จากร้านหนังสือสำนักพิมพ์สมมติ ที่เป็น pop-up store เล็กๆตั้งอยู่เส้นกัลปพฤกษ์ บอกได้เลยว่าเป็นร้านที่ถ้าไม่ตั้งใจมาก็ยากที่จะเจอได้

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว แต่ก็ยังคงมีเนื้อหาแง่มุมที่น่าสนใจ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวแต่กลับไม่เคยได้รู้จักมาซักเท่าไหร่เลย เช่น การประกันพืชผลบนดัชนีอากาศ

ต้องบอกว่าได้ยินเรื่องนี้ก็จากหนังสือทุนนิยมที่มีหัวใจ ของคุณสฤณี ที่ได้ไปบรรยายให้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเมื่อสิบกว่าปีก่อนเหมือนกัน เป็นแนวคิดการทำประกัยภัยของชาวสวนไร่นาที่ฟังดูโลกาภิวัฒน์มาก

จากเดิมการทำประกันพืชผลนั้นทำกันบนเรื่องของราคาขาย ว่าถ้าราคาในปีไหนตกต่ำกว่าที่ทำประกันไว้ ก็จะได้รับเงินชดเชย หลายครั้งเราเห็นบรรดาชาวสวนไร่นาเดินทางเข้าเมืองกรุงเพื่อมาเรียกร้องกระทรวงหรือนายกให้ช่วยรับประกันราคาพืชผลที่เพาะปลูกไว้ให้หน่อย พอได้ตามข้อเรียกร้องก็ยกกันกลับไป

นี่คือเรื่องที่ผมได้ยินมาตั้งแต่สมัยเด็กก็ว่าได้ครับ คุณสฤณีให้มุมมองที่น่าสนใจว่า การรับประกันเรื่องราคาพืชผลนั้นอาจทำให้เกษตรกรไม่ยอมเปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่นที่น่าจะดีกว่ากับสภาพผืนดินและอากาศในถิ่นของตัวเอง เพราะตัวหลักประกันราคาเป็นตัวการันตีว่ายังไงๆก็ได้เงินชดเชยคืนแน่ๆ

แต่การประกันภัยรูปแบบใหม่ของชาวสวนไร่นาที่เรียกว่า “ประกันพืชผลบนดัชนีอากาศ” นั้นเป็นการรับประกันในแง่ของสภาพฝนฟ้าหรือน้ำจะต้องมาตามฤดูการ ถ้าฝนไม่ตกประกันจะจ่าย หรือถ้าฝนตกหนักจนน้ำท่วมเสียหายไป ประกันก็จะจ่าย แต่ถ้าปีไหนที่ฝนตกต้องดีน้ำท่าสมบูรณ์แต่ผลผลิตไม่ดีก็จะไม่จ่าย เพราะแนวคิดของประกันพืชผลบนดัชนีอากาศนี้มีอยู่ว่า ถ้าน้ำท่าดีอุดมสมบูรณ์ถ้าเกษตรกรตั้งใจเพาะปลูกรดน้ำใส่ปุ๋ย พืชผลก็น่าจะออกมาดีนะ

เพราะใจความสำคัญของการทำการเกษตรคือสภาพอากาศที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ถ้าสภาพอากาศเป็นไปตามที่คิด ก็ไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาด ประกันตัวนี้จึงเหมาะกับเกษตรกรที่ขยันขันแข็ง และเหมาะกับเกษตรกรที่รู้จักใช้ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ หรือรู้ว่าที่ดินบ้านตัวเองปลูกอะไรถึงจะดี ไม่ต้องมัวไปปลูกพืชตามกระแส หรือปลูกเพื่อคาดหวังว่าจะได้เงินชดเชยจากรัฐอีกต่อไป

โดยสภาพฟ้าฝนก็จะมีเครื่องมือวัดปริมาณน้ำผล ติดกระจายไปทั่วพื้นที่ บวกกับการใช้เครื่องมือต่างๆไม่ว่าจะดาวเทียมหรือยิ่งเป็น Big Data สมัยนี้ ก็ทำให้การทำประกันพืชผลแบบใหม่นี้แม่นยำมากยิ่งขึ้นครับ

นี่คือหนึ่งรูปแบบของโลกาภิวัฒน์ที่น่าสนใจกว่า 5G ในจริงๆครับ

ผู้เขียนบอกว่า “นักสำรวจ” อาจเป็นอาชีพแรกของโลก ที่บรรพบุรุษของมนุษย์เลือกเป็น เพราะหลังจากที่พวกเขาเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดเพียงพอที่จะสามารถผลิตและเก็บรักษาปัจจัยสี่ ตลอดจนการันตีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของครอบครัวได้สำเร็จ

เพราะมนุษย์เรานี่แหละที่ออกเดินทางเพื่อหาทรัพยากรใหม่ๆต่างๆ พอหลายพันปีผ่านไป หลังจากแผ่นดินแทบทุกตารางกิโลเมตรในโลกถูกค้นพบ “นักสำรวจ” ผู้กล้าหาญสมัยโบราณก็กลายเป็น “นักท่องเที่ยว” ผู้แบกเป้สมัยใหม่ที่ออกค้นพบประสบการณ์ใหม่ในโลกใบเดิมให้ตัวเอง

โลกาภิวัฒน์เลยเป็น “ปรากฏการณ์ธรรมชาติ” จากความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์อยู่เสมอ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันอยู่คู่กับสัญชาติญาณในตัวเราทุกคนมานานแล้ว

หรือเรื่องที่คิดว่าเป็น “วัฒนธรรมของแท้ดั้งเดิม” ที่เราชอบยึดถือกันว่านั่นไทยแท้ หรือนี่คือความเป็นไทยออริจินัล แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีอะไรที่เป็นวัฒนธรรมแท้ๆของชาติใดชาติหนึ่ง

เพราะแต่ละวัฒนธรรมก็ได้รับแรงบันดาลใจผ่านวัฒนธรรมอื่นอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่น ผ้าที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นลายแอฟริกาตะวันตกดั้งเดิม จริงๆแล้วมาจากผ้าบาติกของเกาะชวาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่หลายครั้งผลิตในโรงโม่ของชาวดัตช์

ชุดพื้นเมืองของหญิงชาวเฮเรโร่ (Herero) ในประเทศนามิเบียก็ดัดแปลงมาจากชุดของมิชชันนารีเยอรมันในศตวรรษที่ 19

หรือเอาใกล้ตัวอาหารไทยหลายอย่างที่เราหลงคิดไปว่าเป็น “วัฒนธรรมไทยแท้แบบดั้งเดิม” ไม่ว่าจะรสชาติเผ็ดจากพริก แท้จริงแล้วพริกมีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศชิลีนะครับ และก็เป็นฝรั่งโปรตุเกศที่นำเข้ามา ส่วนเนื้อหมูที่คนไทยชอบเอามาทำอาหารทั้งหลายประเทศก็เหมือนกัน นั่นก็เป็นฝรั่งนำเข้ามาในบ้านเราสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชครับ

ส่วนลวดลายไทยๆตามผนังวัด เราก็ไปเอาของขอมมาดัดแปลง เอาของอินเดียมาดัดแปลง วรรณกรรมทั้งหลายก็เหมือนกันที่เราหวงนักหนา เราก็เอาของเค้ามากลืนเป็นของเราอีกทีไม่น้อยครับ

ดังนั้นวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัฒน์ที่ให้คนสองเชื้อชาติเอาของที่ตัวเองมีมาแสดงต่อกัน แลกเปลี่ยนกัน หรือแอบหยิบฉวยมาเป็นของตนเสียมากกว่าครับ

หรืออันตรายจากโลกาภิวัฒน์ก็มีครับ ในแง่มุมของการเมืองเองของประเทศอย่างอเมริกา ก็ใช้การสื่อสารทั้งวิธีการและช่องทางที่พัฒนาไม่หยุด เพื่อสร้างความเชื่อให้คนในชาติสนับสนุนในเรื่องการทำสงครามต่อต้านการร้าย การสร้างศัตรูร่วมของคนในชาติ หรือล่าสุดก็พวกข่าวปลอมจนทำให้อเมริกาได้ประธานาธิบดีคนล่าสุดนี่ไงครับ

สรุปสุดท้ายคือยังไงโลกก็จะมีวิวัฒนาการต่อไป ยากจะคาดเดาได้ สิ่งนึงแน่ๆคือเราต้องรู้ว่าเราควรอยู่ตรงไหนในโลกที่เปลี่ยนไปทุกวันให้ได้ครับ

สรุปหนังสือ ล่องคลื่นโลกาภิวัฒน์ 1, The World is Round
สฤณี อาชวานันทกุล เขียน
สำนักพิมพ์ openbooks

เล่มที่ 122 ของปี 2018
อ่านเมื่อ 2018 11 14

หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างแปลกในความคิดผม เพราะเป็นหนังสือที่เอาคำพูดที่คุณ สฤณี อาชวานันทกุล ที่ไปบรรยายให้กับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในเรื่องของ “ทางรอดทุนนิยม: สังคมแห่งความร่วมมือ” ในวันนั้น พร้อมกับสิ่งที่ผู้บรรยายและผู้ฟังในวันนั้นได้ถกเถียงกันให้กลายเป็นหนังสือเล่มนี้

ดังนั้นหนังสือเล่มนี้เลยให้อารมณ์เหมือนได้ฟังเลคเชอร์ร่วมกับผู้ฟังคนอื่นๆ ขาดก็แต่ไม่ได้ร่วมถกเถียงความคิดที่แวบขึ้นมาในหัวด้วยเท่านั้น

“ทุนนิยม” กลายเป็นระบบทางเศรษฐกิจยอดนิยมอันดับหนึ่งของโลกในวันนี้ แม้แต่คอมมิวนิสต์ก็ยังยอมที่จะเป็นทุนนิยม จีนก็เป็นหนึ่งในทุนนิยมที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกต่อเนื่องมากว่า 30 ปี นับแต่เปิดประเทศรับทุนเข้ามาและปล่อยให้ทุนไปตามความนิยมของเจ้าของทุนมากขึ้น

แต่เมื่อเศรษฐกิจโตมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็ไม่ค่อยแน่ใจว่า “ทุนนิยมในปัจจุบัน” หรือ “ทุนนิยมแบบตลาดเสรี” นั้นจะดีต่อเราและโลกจริงหรือ เพราะในขณะที่เศรษฐกิจในหลายประเทศโตวันโตคืน แต่กับทรัพยากรและธรรมชาตินั้นกลับร่อยหรอลงทุกทีๆ จนวันนี้ธรรมชาติเริ่มกลับมาเอาคืนมนุษย์เรามากขึ้นผ่านภัยธรรมชาติทั้งหลายที่เราก็ยังรับมือไม่ค่อยไหว

เพราะแนวทางของทุนนิยมทุกวันนี้นั้นคือการแข่งกันลงเหว หรือที่เรียกว่า Race to the Bottom ยิ่งเอาทรัพยากรไปสนองความต้องการของคน ไปเพิ่มผลกำไรให้กับธุรกิจมากเท่าไหร่ ธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมก็ยิ่งสูญเสียไปมากเท่านั้น แทบจะเรียกได้ว่า “ได้ไม่คุ้มเสียกับทุนนิยมมากขึ้นทุกที”

เพราะในบัญชีรายรับจายจ่ายของบริษัทธุรกิจทั้งหลาย ไม่ได้มีงบในส่วนของผลกระทบภายนอกรวมอยู่ด้วย เช่น การผลิตดินสอซักแท่งนอกจากจะมีต้นทุนเรื่องค่าต้นไม้ที่ต้องตัดจัดหามาแล้ว แต่ยังมีผลกระทบอื่นๆอีกไม่ว่าจะคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการที่ต้นไม้ลดลงหนึ่งต้น หรือต้นไม้ต้นนั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำที่ผลิตน้ำมาเลี้ยงประชากรปลายทาง เมื่อไม่ถูกนับหรือวัดค่าได้ ก็ไม่ถูกรวมในค่าใช้จ่ายของธุรกิจ เมื่อไม่ถูกรวมในค่าใช้จ่ายของธุรกิจ ก็เท่ากับว่าไม่มีต้นทุนจริง แต่จริงๆต้นทุนนั้นกลับแย่งชิงจากธรรมชาติมากขึ้นทุกวัน

แต่คุณสฤณี ก็ไม่ได้บอกว่าต้องล้มเลิกทุนนิยมให้หมด แต่บอกเล่าถึงแนวทางของวิวัฒนาการทุนนิยมที่จะต้องพัฒนาต่อไปเพื่อโลกที่ยั่งยืน และโลกที่ยั่งยืนก็ไม่ใช่เพื่อใคร ไม่ใช่เพื่อโลกสวย แต่เพื่อให้ลูกหลานเรายังอยู่บนโลกใบนี้ได้ หรืออย่างน้อยก็ให้เราสามารถอยู่และหายใจได้เต็มปอดตอนแก่ตายครับ

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2551 แม้จะนานกว่าสิบปีแต่ยังมีแง่คิดดีๆให้เก็บเกี่ยวอีกเพียบ เป็นเหมือนแสงสว่างนำทางให้รู้ว่านอกจากผลกำไรเข้ากระเป๋าเราแล้ว เรายังสามารถได้กำไรทั้งที่ช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อมได้พร้อมกันด้วย

คุณสฤณียกตัวอย่างบริษัทที่ทำเพื่อสังคมและโลกที่โด่งดังในอเมริกาจนมีมูลค่ามหาศาลอย่าง Whole Foods ที่ยึดมั่นในโมเดลผู้มีส่วนได้เสีย เชื่อว่าธุรกิจมีเป้าหมายอันสูงส่งกว่าการทำกำไรสูงสุด ขนาดคิดแบบนี้ยังทำให้บริษัทมีมูลค่าได้ถึง 13.7 พันล้านดอลลาร์ตอนที่ Amazon ซื้อไป

นี่คือหนึ่งตัวอย่างขอการเป็นบริษัทที่คิดดีทำดีและยังมีกำไรดีด้วยครับ

สิ่งที่คนส่วนใหญ่มองข้ามทุนนิยมไปอย่างไม่ต้องใจ ก็คือผู้แพ้ เพราะในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเรามักจะเห็นผู้ชนะมากมาย เช่น คนนั้นเคยเป็นคนจนมาก่อน แต่วันนี้เค้ากลายเป็นมหาเศรษฐีลำดับต้นๆของโลก หรือคนนั้นเป็นดาราที่ประสบความสำเร็จมาก จนมีรายได้มหาศาลไปจนแก่แบบไม่ต้องทำอะไรเลย

คนที่ประสบความสำเร็จคือแรงผลักดันให้ทุนนิยมเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย แต่ลืมไปว่าเมื่อมีผู้ชนะก็ต้องมีผู้ไม่ชนะ และเหล่าผู้ไม่ชนะที่ไม่สามารถทำให้ธุรกิจตัวเองประสบความสำเร็จ หลายคนเจ๊ง หลายคนชักหน้าไม่ถึงหลัง หลายคนหมุนเงินแบบเดือนชนเดือน หรือบางคนอาจแค่พออยู่รอดหายใจได้ นี่คือผู้เล่นตัวจริงในระบบทุนนิยม เกมที่มีผู้ชนะน้อยนิดเพื่อกระตุ้นให้เหล่าผู้เล่นมากมายต้องวิ่งตามฝันต่อไป

เราเชื่อว่าทุนนิยมดีเพราะเราไม่เห็น หรือเรามองข้ามเรื่องพวกนี้มาตลอด เราเชื่อว่ายิ่งปล่อยให้ทุนนิยมเสรีอย่างที่มันเป็นในปัจจุบันมากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งดีต่อเรากันมากเท่านั้น

กฏหมายลิขสิทธิ์ในระบบทุนนิยมก็เหมือนกัน แรกเริ่มเดิมทีมันก็ดีนะครับที่ทำให้ผู้คนอยากคิดค้นอะไรใหม่ๆขึ้นมาแล้วสังคมโดยรวมก็ดีขึ้น แต่ในวันนี้กฏหมายลิขสิทธิ์เหล่านั้นอาจกำลังย้อนกลับมาทำร้ายสังคมมากเกินไป เพราะจากเดิมที่เคยคุ้มครองว่าตั้งแต่เริ่มสร้างจนผู้สร้างตายไป 10 ปี ถึงจะกลายเป็นของสาณารณะ กลับขยายเพิ่มเป็น 20 ปี 50 ปี จนวันนี้กลายเป็น 95 ปีไปแล้วครับ

และเบื้องหลังการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ยืดขยายออกไปเรื่อยๆนี้ก็มีตัวการ์ตูนที่เราแทบทุกคนบนโลกรู้จักและหลงรักมันดีเป็นแรงผลักดัน นั่นก็คือ “มิกกี้เมาส์”

มิกกี้ เมาส์ เป็นตัวละครที่มีค่ามากที่สุดของวอล์ท ดิสนีย์ แม้เจ้าตัวที่สร้างขึ้นมาจะตายไปหลายปีดีดักแล้ว แต่การคุ้มครองลิขสิทธิ์ส่วนบุคคลดังกล่าวกลับไม่เคยหมดอายุเลย จนกฏหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์นี้มีคนตั้งชื่อเรียกให้ว่า Mickey Mouse Extension Act คือต่ออายุให้ลิขสิทธิ์มิกกี้ เม้าส์เข้าปาไป 95ปีแล้วครับ

คุณสฤณีเล่าถึงบริษัททุนนิยมแนวใหม่ที่น่าสนใจที่ว่า เปลี่ยนจากการผลิตเพื่อขายมาเป็นการให้บริการแทน ที่ประเทศฝรั่งเศษ แทนที่บริษัทจะขายเครื่องทำความร้อน จะมุ่งขายแต่เครื่องทำความร้อนเพียงอย่างเดียว เข้าก็คิดออกมาในแง่ของการบริการ โดยทำสัญญากับลูกค้าว่าในฤดูหนาวบริษัทจะรับประกันว่าอุณหภูมิในบ้านคุณจะไม่ต่ำกว่าเท่านี้เท่านั้น หรือแล้วแต่จะตกลงกัน ทีนี้บริษัทก็ไม่ต้องขายเครื่องทำความร้อนอย่างเดียว แต่สามารถใช้วิธีอื่นๆอย่างไรก็ได้ที่จะทำให้อุณหภูมิในบ้านลูกค้าไม่ต่ำกว่าเท่าไหร่อย่างที่ตกลงกัน อาจจะเอากระจกมาติดเพิ่มก็ได้ หรือเพิ่มฉนวนกันความร้อนให้แค่ช่วงหน้าหนาวก็ได้

ลองคิดดูซิว่าถ้าสิ่งของที่เราซื้อทิ้งขว้างบ่อยๆอย่างเสื้อผ้า เปลี่ยนให้ลงมาลงทะเบียนเป็นสมาชิกเพื่อรับชุดใหม่ๆของเราแต่เป็นชุดเก่าของคนอื่นที่ผ่านการทำความสะอาดปลอดเชื้อมาอย่างดีแทน จากเดิมเสื้อตัวหนึ่งใส่แค่หนึ่งคน แถมดีไม่ดียังใส่ไม่ถึงสิบครั้ง กลายเป็นเสื้อตัวเดียวสามารถใส่ได้หลายคนจนกว่าเสื้อนั้นจะไม่เหมาะแก่การใส่แล้ว

แบบไหนจะดีต่อสังคม โลก และเรามากกว่ากัน ลองคิดดูนะครับ

ทุนนิยมใหม่เสนอแนวคิด “ประกันภัยอากาศ” จากเดิมเกษตรกรมักจะซื้อประกันราคาผลผลิต หรืออาจไม่ซื้อประกันที่ว่าแต่ไปรวมตัวเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยรับประกันให้อย่างที่เราคุ้นเคยกัน ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าเศรษฐวิบัติ เช่น ถ้ารู้ว่าปลูกข้าวแล้วไม่ดีแต่ถ้ามีประกันไว้รับความเสี่ยงเรื่องราคาตกต่ำ ทำให้ยังไงก็เลือกปลูกข้าวไว้ดีกว่าเพื่อความชัวร์ ทำให้ตลาดไม่ได้รับในสิ่งที่ควรจะได้จริงๆ

แต่กับประกันภัยอากาศนั้นเป็นการรับประกันว่าถ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลตามที่ควรจะเป็น บริษัทประกันจะจ่ายเงินชดเชยให้คุณ หรืออะไรก็ตามที่เป็นปัจจัยภายนอกที่ทำให้การเพาะปลูกของคุณสะดุด เราจะชดเชยให้

แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุณปลูกแบบไม่ดูแลเอาใจใส่ ไม่รดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ย แต่ฝนตกต้องตามฤดูกาลดี น้ำท่าไม่ได้แห้งแล้ว คุณก็ต้องรับผิดชอบเองเต็มๆ

วิธีนี้ดีกว่าการรับประกันราคาผลผลิต ที่ทำให้เกษตรกรติดอยู่กับการรับประกันจนไม่ได้พัฒนาไปไหนเลยเห็นมั้ยครับ

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ในเรื่องของทุนนิยมแบบร่วมมือกัน ไม่ต้องแก่งแย่งแข่งขันกันพัฒนาในสิ่งที่ซ้ำซ้อนกันจนสิ้นเปลืองทรัพยากร หนึ่งในตัวอย่างนั้นก็คือ VISA ระบบการจ่ายเงินที่กลายเป็นมาตรฐานโลกในทุกวันนี้

แรกเริ่มเดิมทีเกิดจากแต่ก่อนนั้นแต่ละธนาคารก็จะมีระบบจ่ายเงินของตัวเอง ทำให้แต่ละธนาคารก็ต้องทุ่มเวลา กำลัง ทรัพยากรลงไปเพื่อให้ระบบตัวเองทำงานได้ดี แต่ระบบของแต่ละธนาคารกลับไม่ทำงานร่วมกัน เป็นผลให้ผู้บริโภคอย่างเราๆลำบากในการใช้บัตรเครดิตอย่างมากในตอนนั้น

และเมื่อ VISA มาอาสาเป็นคนกลางในการทำระบบเพื่อทุกธนาคารให้ โดยทุกธนาคารแค่จ่ายค่าธรรมเนียมนิดหน่อย เพื่อแลกกับการไม่ต้องปวดหัววุ่นวายในเรื่องนี้ และเพื่อให้ตัวธนาคารเองเอาเวลาไปใช้กับการหาลูกค้าใหม่ๆแทน ผลคือ VISA กลายเป็นระบบที่พัฒนามาเพื่อทุกคนในตลาด เพื่อให้ทุกคนในตลาดได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ หรือธนาคารหน้าใหม่รายย่อย ก็สามารถเข้าสู่ระบบ VISA ได้

สรุปได้ว่าทุนนิยมเสรีไม่ได้เลวร้าย แต่สิ่งที่เลวร้ายคือผู้ที่มีอำนาจในระบบทุนนิยม หรือการแข่งขันแบบไม่เป็นธรรมมากกว่า ดังนั้นถ้าระบบทุนนิยมของประเทศไหนที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เราก็จะเห็นความเท่าเทียมในสังคมจริงๆ อย่างประเทศที่ไม่ค่อยมีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวมมากนัก อย่างญี่ปุ่น เดนมาร์ก และประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย

อ่านจบแล้วรู้สึกว่าอยากเห็นประเทศไทยของเรา พัฒนาไปสู่ทุนนิยมแบบที่มีหัวใจ แบบที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าคนรวยต้องเอาเงินตัวเองไปช่วยคนจน แต่หมายความว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความเท่าเทียมได้เท่าๆกันครับ

อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือ ทุนนิยมที่มีหัวใจ ทางเลือกใหม่แห่งการพัฒนา

สฤณี อาชวานันทกุล บรรยาย

พิณัฐฐา อรุณทัต และ กอปรทิพย์ อัจฉริยโสภณ เรียบเรียง

สำนักพิมพ์ openbooks

เล่มที่ 121 ของปี 2018

อ่านเมื่อ 20181111