Tag

คอมมิวนิสต์

Browsing

Karl Marx หรือ คาร์ล มาร์กซ ชื่อที่ใครบางคนน่าจะคุ้นหูหรือคุ้นตา และถ้าเคยอ่านพวกหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองมาบ้างก็ยิ่งน่าจะคุ้นขึ้นไปใหญ่ และยิ่งถ้าบอกว่า มาร์กซ คนนี้ คือหนึ่งในผู้ทำให้แนวคิดการปกครองแบบสังคมนิยมเป็นที่ถูกอกถูกใจบรรดาผู้นำประเทศทั้งหลาย ก็คงจะร้องอ๋อกันเลยทีเดียว

สิ่งที่ผมเข้าใจมาก่อนหน้าจะอ่านหนังสือเล่มนี้คือ มาร์กซ คนนี้คือผู้ที่ก่อสร้างแนวคิดสังคมนิยมให้กับโลก แต่ความจริงแล้วสังคมนิยมมีมาก่อนเค้า แต่ มาร์กซ คนนี้ทำให้แนวคิดเรื่องสังคมนิยมเป็นที่ตราตรึงใจของบรรดาผู้นำประเทศ หรือผู้นำที่มาจากการปฏิวัติทั้งหลาย จากหนังสือสองเล่มสำคัญที่เค้าเขียน คือ Das Kapital (หรือ Capital ในภาษาอังกฤษ) กับ Communist Manifesto

หนังสือที่ชื่อ Communist Manifesto ไม่เป็นที่พูดถึงในหนังสือเล่มนี้เท่าไหร่ ผมเลยไม่มีความรู้ที่จะมาเล่าอะไรให้ฟังต่อ แต่กับหนังสือเล่มที่ชื่อว่า Das Kapital หนังสือเล่มนี้พูดถึงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เจาะลึกมากแต่พูดกว้างๆให้พอเข้าใจว่า มาร์กซ คนนี้ถ่ายทอดความคิดว่าด้วยเรื่องของ “ทุน” ที่เป็น “เงินตรา” ที่ควรต้องได้รับการ “ปฏิวัติ” เสียใหม่ เพราะ “ทุนเอกชน” ทำให้ความเป็นคนนั้นถูกลดค่าไปเหลือแค่ “แรงงาน” เพื่อแลกกับ “ทุน” ที่เป็น “เงินตรา”

มาร์กซ มองว่าด้วยเหตุผลความเชื่อมโยงที่ว่ามานี้ ทำให้มนุษย์เหลือค่าเพียงแค่ชั่วโมงการทำงานเพื่อแลกกับเงินตรา ทำให้มนุษย์ไม่ต่างอะไรกับเครื่องมือของนายทุนอีกชิ้นหนึ่ง มนุษย์ควรได้ทำเพื่อตนเอง ไม่ใช่เพื่อแลกกับเงินตราค่าจ้างจากนายทุน ที่จะทำให้บรรดานายทุนร่ำรวยยิ่งขึ้น และจากความร่ำรวยของนายทุนนั้นก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มอำนาจให้นายทุน และกดค่าแรงงานของชนชั้นกรรมกร หรือ คนงานให้ยิ่งด้อยค่าลงไปเรื่อยๆ

ดังนั้น มาร์กซ เลยคิดว่าต้องทำการปฏิวัติ “ทุนเอกชน” หรือความเป็น “เจ้าของส่วนบุคคล” ในเรื่องต่างๆให้กลายเป็น “สาธารณะ” เพื่อให้ทุกคนได้เท่าเทียมที่จะสร้างสรรค์ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่ใช่ทำเพื่อคนอื่นอีกต่อไป

ในมุมนึง ถ้ามองจากช่วงเวลานั้น ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าอยู่ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมของประเทศตะวันตกโดยเฉพาะยุโรปทั้งหลาย ทำให้ยังเกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นมากอยู่ ในตอนนั้นยังไม่มีชนชั้นกลางมากมายเหมือนทุกวันนี้ มีแค่ชนชั้นสูงที่เป็นขุนนาง หรือชนชั้น “กระฎุมพี” เพียงแค่หยิบมือนึง ส่วนที่เหลือก็เต็มไปด้วยแรงงานในโรงงาน หรือไพร่ติดที่ดินเจ้าศักดินาทั้งหลาย ทำให้มาร์กซมองว่าการสลายไปของปัจเจก จะเป็นหนทางสู่สังคมที่สูงส่งขึ้น

เลยเป็นที่มาของแนวคิดสังคมนิยม หรือ Communist ยอดนิยมในหลายประเทศจนถึงทุกวันนี้

มีเนื้อหาท้ายเล่มที่เปรียบเทียบให้เห็นภาพที่ชัดเจนระหว่าง ส่วนรวม กับ ส่วนตัว ในสถานการณ์ปัจจุบัน เรื่องการขับรถใช้ท้องถนน

ถ้าเราส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้รถยนต์ส่วนตัว แทนที่จะเป็นรถเมล์ ท้องถนนก็จะเต็มไปด้วยรถยนต์อย่างในปัจจุบัน โดยเฉพาะในตอนเช้าเข้างาน และตอนเย็นค่ำเลิกงาน ทำให้ถนนเต็มไปด้วยรถและทำให้รถติดบนถนนมากเกินไป โดยทุกคนส่วนใหญ่ที่เลือกขับรถก็เลือกด้วยผลประโยชน์ของตัวเองทั้งนั้น แต่กลับกลายเป็นว่าการเลือกเพื่อตัวเองนั้นกลับเป็นการทำร้ายตัวเองมากที่สุด

แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราทุกคนเลือกที่จะใช้รถเมล์ หรือขนส่งมวลชนสาธารณะร่วมกัน ผลก็คือทุกคนก็จะไปทำงานได้เร็วขึ้น และกลับบ้านได้เร็วขึ้น เพราะท้องถนนก็จะไม่มีรถส่วนตัวให้แน่นอีกต่อไป นี่คือการเลือกเพื่อตัวเองในมุมมองของส่วนรวมแบบร่วมกัน จนกลายเป็นผลประโยชน์ของตัวเองไปเต็มๆ

และก็อาจจะเป็นไปได้ว่า พอคนกลุ่มนึงที่เห็นว่าถนนเริ่มโล่ง ก็เลยอยากเอารถตัวเองออกมาใช้เพื่อจะได้สะดวกและเร็วยิ่งขึ้นกว่าการใช้รถสาธารณะ พอคนนึงใช้อีกคนก็เริ่มใช้ พออีกคนเริ่มใช้ทุกๆคนก็เลยกลับมาใช้รถส่วนตัว แล้วผลลัพธ์ก็กลับไปเป็นแบบเดิมคือทุกคนติดอยู่บนท้องถนนเหมือนเคย

จะเห็นว่าการทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวนั้น ในการตัดสินใจแบบส่วนตัวจะทำให้เกิดความล้มเหลวในการเลือก แต่ถ้าเป็นการตัดสินใจแบบร่วมกันจะทำให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่า

แต่คำถามสำคัญคือ “ใคร” ควรจะเป็นผู้ออกกฏเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมจริงๆที่ว่าล่ะ เพราะบรรดาผู้นำทั้งหลายทั้งจากการปฏิวัติยึดอำนาจเข้ามา หรือได้รับเลือกตั้งเข้ามาแบบเป็นตัวแทน ต่างก็พยายามรักษาสิทธิพิเศษของตัวเองให้เหนือกว่าส่วนรวมคนทั่วไป (คงไม่ต้องยกตัวอย่างเพราะเรารู้เห็นกันดีอยู่แล้ว)

ถ้ามองในแง่เจตนา ผมว่ามาร์กซ เป็นคนที่น่าสนใจ เพราะเค้าคิดมาจากความหวังดีที่อยากให้กรรมกรชีพทุกคนมีความสุขและเท่าเทียมกับนายทุนทั้งหลาย

แต่ด้วยการตีความผิดๆในหลักการของเค้า เพราะมาร์กซไม่ได้มีหลักปฏิบัติที่ชัดเจนว่าต้องทำอย่างไรเพื่อจะพาสังคมหรือประเทศไปสู่สังคมในอุดมคติได้ เป็นผลให้ประชากรหลายร้อยหรือพันล้านคนต้องตกอยู่ภายใต้การกดขี่ข่มเหงของบรรดาผู้นำ ที่ใช้หลักสังคมนิยมในการปกครองประเทศ

มาร์กซ​ หรือ แนวคิดสังคมนิยม ไม่ผิด แต่การตีความและนำไปใช้ที่แตกต่างกันตามใจต่างหากที่ผิด เหมือนกับการตีความพระไตรปิฏก หรือคัมภีร์คำสอนในศาสนาต่างๆไปตามใจผู้แปลว่าจะเลือกให้ออกมาแบบไหน

สุดท้ายนี้ผมคิดว่าแนวคิดของมาร์กซ อาจจะกลายเป็นแนวทางถัดไปจากเสรีประชาธิปไตยที่กำลังเบ่งบานในหลายประเทศทั่วโลกก็เป็นได้ เพราะเราต่างก็เห็นกันแล้วว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้นก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของสังคม

เพราะสังคมก็เหมือนคน ที่มีวิวัฒนาการอยู่เรื่อยๆไม่หยุดยั้ง ระบบการปกครองที่เคยใช้ได้ดีในวันวาน ไม่อาจเหมาะสมในวันนี้ และระบอบในวันนี้ก็อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการในอนาคต

ท้ายที่สุดนี้ ถ้าผมตีความผิดอย่างไร ก็ช่วยชี้แนะหรือเสนอมุมมองที่น่าสนใจนะครับ เพราะอย่างที่บอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงแค่ A very short introduction หรือ “ความรู้ฉบับพกพา” ผมจึงรู้จัก MARX เพียงแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 15 ของปี 2018

MARX, A very short introduction
Peter Singer เขียน
เกษียร เตชะพีระ แปล
สำนักพิมพ์ OpenWorlds

20180211

จีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นเบอร์สองของโลกรองจากแค่สหรัฐ หนึ่งในประเทศที่ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งบ้านเราฟื้นตัวเร็วได้เพราะความแข็งแกร่งของค่าเงินหยวน หนึ่งในประเทศที่ปกครองแบบสังคมนิยมแต่กลับมีเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีที่เปิดกว้างกว่าคอมมิวนิสต์ไหนๆในโลก หนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจโตแบบปาฏิหาริย์แบบเลขสองหลักโดยเฉลี่ยกว่า 30 ปีมาแล้ว หนึ่งในประเทศที่รายได้คนเมืองกับชาวชนบทยังต่างกันลิบลับ ค่าสัมประสิทธิ์จีนีพุ่งทะยานสูงเป็นลำดับต้นๆของโลก หนึ่งในประเทศที่ส่งออกสินค้าสุดล้ำไปให้คนทั้งโลก และยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการบริโภคสูงติดลำดับต้นๆของโลกแล้วในวันนี้

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Justin Yifu Lin นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศจีน เคยเป็นรองกรรมการอาวุโสและนักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารโลก มาบอกเล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์ของเศรษฐกิจจีนตั้งแต่ยุคยิ่งใหญ่เมื่อหลายร้อยปีก่อน จนถึงยุคตกต่ำสุดขีดของจีนตั้งแต่ยุโรปปฏิวัติอุตสาหกรรมสำเร็จ จนถึงวันที่จีนกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

แต่อย่าเพิ่งตกใจกลัวไปนะครับ เห็นหน้าปกดูจริงจัง ชื่อดูขึงขัง แต่เนื้อหาในเล่มกลับอ่านง่ายกว่าที่คิด สารภาพตอนแรกผมยังแอบกลับว่าจะอ่านไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกัน แต่พออ่านไปกลับอ่านสนุก เข้าใจได้ ทำให้หนังสือที่มีตั้งสี่ร้อยกว่าหน้าสามารถอ่านจบได้ในไม่กี่วัน (ผมมีเวลาอ่านแค่ช่วงเช้าตอนอยู่บนรถไฟฟ้ามาทำงาน กับช่วงเย็นตอนอยู่บนรถไฟฟ้ากลับบ้านครับ)

พออ่านจบผมสรุปได้แบบนี้ครับ

จีนในอดีตเคยมีขนาดเศรษฐกิจที่น่าจะใหญ่ถึง 1 ใน 3 ของทั้งโลก ใครๆก็อยากเข้ามาค้าขายกับจีนเพราะสินค้าจีนเป็นที่ต้องการในยุโรปมาก ไม่ว่าจะใบชาหรือเครื่องเผาเซรามิก ทำให้กลุ่มประเทศยุโรปในตอนนั้นต้องเสียดุลการค้าให้จีนมหาศาลมาก

แถมจีนเองก็แทบไม่สนใจที่จะซื้ออะไรจากฝั่งยุโรปกลับคืนไปด้วย เรียกได้ว่าแทบทุกชาติในโลกต้องคุกเข่าเข้าหาจีนเลยล่ะครับ

แถมจีนเองก็เป็นหนึ่งในชาติแรกของโลกที่เอกชนหรือผู้คนทั่วไปสามารถมีทรัพย์สินส่วนบุคคลหรือที่ดินที่เป็นตัวเอง ยุโรปเองแต่ก่อนที่ดินทั้งหมดเป็นของพวกขุนนาง บรรดาชาวบ้านคนส่วนใหญ่เลยเป็นแค่แรงงานหรือไม่ก็ทาสติดที่ดิน

บวกกับเทคโนโลยีของจีนเองก็ล้ำหน้ากว่าใครในโลกมากเมื่ออดีต อย่างเทคโนโลยีการทำเหมืองขุดหาเกลือ จีนเองสามารถขุดเหมืองลงไปได้ลึกเป็นพันๆฟุตได้ตั้งแต่เป็นพันปีก่อน ผิดกับฝั่งชาติตะวันตกที่กว่าจะขุดได้ซักร้อยเมตรก็เมื่อร้อยปีที่ผ่านมาเอง

ยังไม่ต้องพูดถึงเทคโนโลยีกระดาษและการพิมพ์ที่จีนคิดขึ้นมาได้เป็นชาติแรกๆของโลก รวมไปถึงเทคโนโลยีอย่างธนบัตรที่ปฏิรูปการค้าการซื้อขายให้คล่องตัวมากกว่าชาติใดในโลกด้วย

แถมสังคมการปกครองของจีนก็ก้าวล้ำกว่าชาติอื่นมากในอดีต แต่เดิมนั้นการจะได้ทำงานเป็นข้าราชการมีตำแหน่งใหญ่โตนั้นล้วนมาจากการสืบทอดทางสายเลือด แต่ที่ประเทศจีนตั้งแต่โบราณใช้การสอบจองหงวนเพื่อคัดคนที่มีความสามารถอย่างเท่าเทียม

อ่านมาถึงตรงนี้อาจสงสัยว่า ถ้าทำอย่างมันฟังดูดีหมดขนาดนี้แล้วทำไมจีนถึงตกต่ำได้เมื่อไม่นานมานี้ล่ะ

สาเหตุเพราะจีนปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่ทันตะวันตกหรือชาติยุโรปครับ

เพราะจีนให้ความสำคัญกับความรู้ในแง่ปรัชญาการปกครอง การจะสอบข้าราชการหรือเป็นผู้มีความรู้ที่สังคมยอมรับคือต้องศึกษาตำราขงจื๊อนับสิบปี และความรู้สำคัญอย่างคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ไม่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในประเทศจีน นี่เลยเป็นสาเหตุสำคัญให้จีนตกรถไฟโลกาภิวัฒน์ในตอนนั้นไป

เทคโนโลยีของจีนแต่เดิมนั้นเกิดขึ้นได้เพราะความรู้และประสบการณ์ส่วนบุคคล ไม่ได้เกิดจากการสั่งสงองค์รวมความรู้ไว้ในตำรา แต่ด้วยการที่มีพื้นที่กว้างขวาง มีประชากรมาก ก็เลยทำให้เกิดเทคโนโลยีมากมายตามสัดส่วนประชากรที่จีนมี

แต่อังกฤษยุโรปนั้นใช้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในการค้นหาคำตอบเพื่อพัฒนาอย่างเป็นระบบ ดังนั้นทำให้ความรู้ที่จะเกิดขึ้นจากคนหนึ่งคนสะสมในช่วงเวลา 50 ปี ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาไม่ถึงปี เพราะเหตุนี้เพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมอังกฤษหรือยุโรปเลยสามารถแซงหน้าจีนจนน่าตกใจ

จีนเลยต้องหาทางออกใหม่ที่จะทำให้จีนกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง ครั้งแรกคือการล้มล้างราชวงศ์จนกลายเป็นระบบประธานาธิบดีที่มีนายพล เจียง ไคเชก เป็นผู้นำ จนเกิดการปฏิวัติครั้งที่สองจากกลุ่มปัญญาชนเปลี่ยนจีนเข้าสู่ระบบสังคมนิยมจนถึงทุกวันนี้

จากเดิมแนวทางของสังคมนิยมคือการปลุกระดมเหล่ากรรมมาชีพให้ลุกขึ้นฮือต่อต้านนายทุน แบบที่เกิดในยุโรปตะวันออกหรือยุโรปทางใต้ แต่ในประเทศจีนนั้นต่างออกไปเพราะจีนเองไม่มีนายทุนมาก่อน กิจการที่เป็นเอกชนส่วนใหญ่จึงเป็นของพ่อค้าแม่ขายธรรมดา เรียกได้ว่าเถ้าแก่ห้างร้านตึกแถวก็ว่าได้ที่เป็นนายทุน แถมยังเป็นนายทุนรายย่อยๆไม่ใช่นายทุนรายใหญ่ๆแบบสังคมนิยมที่เป็นกัน

แต่ท่านประธานเหมา เจ๋อตง ค้นพบแนวทางใหม่ที่จะทำให้สังคมนิยมจีนประสบความสำเร็จได้ ก็คือพบว่าในจีนนั้นทรัพยากรส่วนใหญ่ของประเทศตกอยู่กับ 4 ตระกูลหลัก การปฏิวัติของจีนคือการยึดทรัยากรเหล่านั้นออกมาแจกจ่ายให้ชาวไร่ชาวนา แถมการปฏิวัติในจีนยังไม่ได้เริ่มจากตัวเมืองหลวงตามแนวทางสังคมนิยมเดิม แต่เริ่มจากพื้นที่รอบนอกจนกลายเป็นกลยุทธ์ป่าล้อมเมืองที่ประสบความสำเร็จนี่เอง

เมื่อปฏิวัติสำเร็จและพรรคคอมมิวนิสต์กลายมาเป็นผู้นำประเทศ แนวทางเศรษฐกิจจีนในตอนนั้นคือเร่งสร้างอุตสาหกรรมใหญ่ หรือที่เรียกว่าวิสาหกิจที่ใช้ทุนเข้มข้นจนทำให้จีนตกที่นั่งลำบากเป็นเวลานานเพราะผิดกับความได้เปรียบที่จีนมีในเวลานั้น

จีนที่ได้เปรียบในเรื่องประชากรที่เป็นแรงงานเข้มข้นจำนวนมากกลับต้องอดอยากปากแห้ง เพราะผู้ปกครองต้องการดึงทรัพยากรทั้งหมดไปทุมให้กับวิสาหกิจที่ใช้ทุนสูงอย่าง อาวุธนิวเคลียร์ หรืออุตสาหกรรมอวกาศ หรือแม้แต่การส่งดาวเทียมขึ้นไปเพื่อแสดงศักยภาพของประเทศ

กิจการเหล่านี้ใช้แรงงานคนน้อยซึ่งขัดกับความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของจีน แต่ต้องใช้ทุนมากซึ่งจีนในตอนนั้นก็ยังไม่มีทุนอะไร ทุนเดียวที่รัฐบาลกลางจีนหามาได้คือการใช้แรงงานเกษตรกรทั้งหลายให้ผลิตและขายสินค้าให้ส่วนกลางในราคาต่ำเพื่อให้คนในเมืองเกิดส่วนเกินเพื่อเอาไปอุดหนุนอุตสาหกรรมที่ว่า

ผลคือชาวนายากจนแต่คนเมืองสบาย

นั่นคืออดีตของเศรษฐกิจจีนในยุคปฏิรูปประเทศเมื่อก้าวเข้าสู่คอมมิวนิสต์ที่รีบเร่งจะตามให้ทันประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างรัสเซียต้นแบบ หรือสหรัฐคู่แข่งในเวลานั้น ที่ตัวชี้วัดความเจริญคืออุตสาหกรรมหนักและไฮเทคที่ว่า

จากนั้นเศรษฐกิจจีนก็เหมือนจะดีแต่กลับมาสาหัสอีกรอบเมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของภาคการเกษตร คือจากเดิมแต่ละครอบครัวจะมีที่ดินทำกินของตัวเอง จากนั้นก็ต่างคนต่างทำแล้วส่งขายให้รัฐ มาเป็นชวนชาวนาให้เอาที่ดินมารวมกัน แล้วใช้เครื่องไม้เครื่องมือร่วมกัน และช่วยกันทำนา นี่คือแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบ economic of scale หรือการประหยัดจากขนาด แรกเริ่มตอนปฏิรูปนั้นได้ผลไปในทางบวก เกิดผลผลิตเพิ่มขึ้นมากมายจากการร่วมแรงกันทำงาน แต่ไม่นานก็กลับมาตกต่ำผลผลิตหายไปฮวบฮาบ เพราะนโยบายเปลี่ยนจากที่เคยให้ทางเลือกชาวนาว่า เข้าร่วมได้อย่างเสรีและออกได้อย่างอิสระ กลายเป็นการบังคับให้ทำงานร่วมกัน

เมื่อถูกบังคับแรงจูงใจก็หายไป เพราะต่างคนต่างคิดว่าทำมากไปก็ไม่ได้ส่วนแบ่งเพิ่ม แถมยังต้องถูกบังคับให้ทำ เลยทำๆหลับๆ แค่เอาตัวรอดไปวันๆก็พอ

แต่จีนก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งตอนที่เกิดการปฏิรูปสองทางของเติ้ง เสี่ยวผิง คือการค่อยๆปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเดิมที่ไม่ใหญ่และสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศมากเป็นของเอกชน ปล่อยให้ไปเอาตัวรอดกันเอง แต่ก็ยังเก็บรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆที่สำคัญไว้ แม้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะเป็นตัวฉุดรั้งประเทศจีนเอาไว้ในเวลาเดียวกันนั่นเอง

ใจความสำคัญของเล่มนี้คือแนวทางเศรษฐกิจที่ฝืนความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียมที่รัฐบาลจีนดำเนินผิดมาโดยตลอด เพราะแม้เศรษฐกิจจีนจะดูมีตัวเลขที่พุ่งสูงเอาๆ แต่รายได้กลับกระจายไปอย่างไม่เท่าเทียม เพราะรายได้ส่วนไม่น้อยยังถูกเอาไปช่วยรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนอยู่เสมอตั้งแต่ยุคการปฏิรูปประเทศ

นี่คือส่วนหนังของอดีตของเศรษฐกิจจีนที่ผ่านมา และจีนก็ได้บทเรียนแล้วว่าควรจะทำอย่างไรกับอนาคตทางเศรษฐกิจตัวเอง

เมื่อการเติบโตอย่างมหัศจรยย์ของจีนตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมานับแต่การเปิดประเทศเป็นตัวเร่งให้เกิดความไม่เท่าเทียมมากขึ้นเรื่อยๆ หมากทางเศรษฐกิจต่อไปของจีนคือทำอย่างไรจะทำให้ทุกภาคส่วนเกิดความเท่าเทียมกัน

ทำอย่างไรที่จะให้ผู้คนยังคงรักที่จะอยู่ในชนบทและสามารถมีกินมีใช้อย่างสุขสบาย

ทำอย่างไรที่จะรักษาอัตราการจ้างงานในเมืองไว้ไม่ให้เกิดสลัมกลางเมืองขึ้นมา

จีนจะทำอย่างไร ต้องคิดตามดูกับผู้นำจีนคนใหม่ สีจิ้นผิง ว่าจะทำอย่างไรกับเศรษฐกิจจีนที่อาจจะกลายมาเป็นเบอร์หนึ่งของโลกครับ

เศรษฐกิจจีน ปริศนา ความท้าทาย อนาคต

DEMYSTIFYING THE CHINESE ECONOMY

JUSTIN YIFU LIN เขียน

ดร.อักษรศรี พานิชสาสน์ แปล

สำนักพิมพ์ Openworlds

เล่มที่ 119 ของปี 2018

อ่านเมื่อ 2018 10 28

ตอนแรกที่หยิบมาอ่านผมสงสัยว่าทำไมต้อง China 5.0 ทั้งที่ Thailand เพิ่งจะประกาศ 4.0 เอง แล้วไอ้เจ้า 5.0 ที่ว่านี้คืออะไร

.

พออ่านจบก็เลยเข้าใจได้ว่า 5.0 ก็คงเปรียบได้ว่าเป็นยุค AI เพราะ 4.0 ที่นิยามกันส่วนใหญ่เป็นแค่ยุค Digital

.

บางคนอาจมีคำถามต่อไปว่า แล้ว Digital ไม่ใช่ AI หรือ

.

ต้องตอบว่าไม่ใช่ครับ เพราะ digital นี้เป็นแค่การเปลี่ยนรูปแบบของข้อมูลจากที่เคยเป็น physical หรือจับต้องได้ อย่างหนังสือเป็นเล่มๆ เพลงเป็นแผ่นๆ ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่สามารถโหลดได้ผ่านอินเทอร์เน็ตไร้สาย และที่สำคัญคือการสามารถทำซ้ำได้ไม่รู้จบโดยไม่มีต้นทุนเพิ่ม ผิดกับหนังสือเป็นเล่มๆถ้าอยากได้เพิ่มอีกเล่มก็ต้องสั่งพิมพ์เพิ่มยังไงล่ะครับ ต้นทุนก็เลยมีทั้งกระดาษ ค่าพิมพ์ ค่าแรง ค่าจัดส่งโน่นนี่นั่น แต่พอเป็นดิจิทัลปุ๊บแค่ copy & paste ก็จบแล้ว

.

เมื่อทุกอย่างรอบตัวกลายเป็นดิจิทัล เมื่อมีข้อมูลดิจิทัลมากๆเข้าก็กลายเป็น Big Data จนสามารถเอาข้อมูลทั้งหลายเหล่านี้มาสอนและพัฒนา AI ให้ฉลาดมากๆได้

.

ดังนั้น China 5.0 คือการที่จีนตั้งเป้าตัวเองให้กลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก ไม่ใช่แค่ผู้นำด้านการผลิตจำนวนมากๆในราคาถูกๆอย่างที่เรารับรู้กันอีกต่อไป และเทคโนโลยีที่พี่จีนตั้งใจจะเป็นผู้นำจริงๆก็คือ AI นี่แหละครับ

.

แล้วทำไมต้อง AI

.

เพราะ #AI เป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครได้เปรียบใครในวันนี้ ทุกคนเริ่มต้นพร้อมกัน ดังนั้นใครเริ่มก่อนและสำเร็จก่อนก็จะกลายเป็นผู้นำในด้านนั้นไปโดยปริยาย เพราะลำพังการผลิตชิปประมวลผลของจีนในวันนี้เองก็ยังไม่สามารถสู้ทางด้านชาติตะวันตกได้ เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมาจีนต้องนำเข้าชิปประมวลผลมากกว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึงแม้ตอนนี้จะมีหลายบริษัทในจีนเช่น Alibaba กำลังวิจัยและพัฒนาการผลิตชิปประมวลผลของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาที่ตามหลังชาติตะวันตกอยู่ดี

.

ดังนั้นการตั้งเป้าของชาติที่จะเป็นผู้นำด้าน AI จึงเป็นเป้าหมายที่สดใหม่และหาได้ด้อยกว่าใครของจีนครับ

.

ที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้จีนน่าจะได้เปรียบการพัฒนาด้าน AI กว่าชาติตะวันตกคือ #ข้อมูล

.

จีนเองเป็นประเทศที่มีกฏหมายด้านความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัยทางข้อมูลน้อยมาก และรัฐเองก็เก็บข้อมูลแทบทุกอย่างจากทุกคนรวมถึงทุกบริษัทอยู่เสมอ หัวใจสำคัญของการฝึก AI คือการต้องมีข้อมูลมาป้อนให้ AI ได้เรียนรู้มากๆและบ่อยๆ แต่กับโลกตะวันตกนั้นกฏหมายการใช้ข้อมูลนั้นค่อนค้างรัดกุมกว่าจีนมาก เรียกได้ว่ากลายเป็นปัญหาสำคัญมากขึ้นทุกวันแล้ว ดังนั้นนี่เลยกลายเป็นจุดได้เปรียบของจีนด้าน AI ตั้งแต่เริ่มเกม

.

แล้วจากข้อมูลมหาศาลหรือ #BigData ที่รัฐบาลเก็บไว้ผ่านทุกช่องทางโดยเฉพาะ Social Media หลายคนเคยเชื่อว่ารัฐบาลจีนเซ็นเซอร์ทุกอย่าง ไม่ปล่อยให้มีความเห็นในแง่ลบต่อพรรคคอมมิวนิสต์หลุดรอดได้ แต่หนังสือเล่มนี้บอกว่าไม่จริงครับ

.

ในความเป็นจริงรัฐบาลไม่ได้เซ็นเซอร์ทุกอย่างขนาดนั้น สิ่งเดียวที่รัฐบาลจีนจะเซ็นเซอร์เด็ดขาดโดยทันทีคือการล่ารายชื่อ หรือการนัดกันออกไปชุมนุมเท่านั้น เพื่อป้องกันการลุกลามของประชาชน ส่วนความเห็นอื่นๆที่บ่นนั่นโน่นนี่ทางรัฐบาลจีนจะปล่อยไป เพราะรัฐบาลจีนถือว่าเสียงเหล่านี้ของประชาชนคือข้อมูลที่สำคัญที่ส่วนกลางจะเอาไปทำเป็นแผนพัฒนาหรือนโยบายต่างๆกลับมาสู่ประชาชนอีกที เพื่อสร้างความนิยมในหมู่ประชาชนจีนว่ารัฐบาลไม่เคยทอดทิ้งและกลับรู้ในใจการทำงานด้วยซ้ำ

.

เพราะถึงแม้ว่าจีนจะเป็นประเทศเผด็จการด้วยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ แต่ก็อย่าลืมนะครับว่าถ้าเผด็จการไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนคนส่วนใหญ่แล้ว ก็ยากที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปได้ เราคงเห็นตัวอย่างจากหลายประเทศแล้วที่เหล่าเผด็จการใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ หลงลืมประชาชน จนสุดท้ายก็ถูกโค่นล้มแล้วกลายเป็นประชาธิปไตยพังๆต่อไป

.

ทางรัฐบาลจีนเองไม่ได้ต้องการให้เป็นแบบนั้นครับ ก็เลยพยายามวางแผนเศรษฐกิจเพื่อความกินดีอยู่ดีของชาวจีนอยู่เสมอ

.

และประเด็นเรื่อง Social Media เองทางการจีนก็ไม่ได้ใช้การเข้ามาแก้ต่างแต่อย่างไร หรือเข้ามาประทะทางความคิดว่าเธอถูกชั้นผิด แต่จีนเลือกที่จะใช้การ #เปลี่ยนประเด็นไปเลย เพราะการปะทะทางความคิดทำให้แต่ละฝ่ายก็ต่างปกป้องความคิดตัวเองจนลุกลาม แต่การเปลี่ยนประเด็นไปเลยนั้นทำได้ง่ายกว่าและสะดวกกว่ามาก

.

ถ้าเมื่อไหร่มีคนบ่นรัฐบาลจีน ก็จะมีพวกความเห็นที่ไม่ได้เข้ามาแย้ง แต่เข้ามาเสนอข้อมูลด้านดีๆจนเรียกได้ว่าใช้น้ำดีถมน้ำดำให้จางจนหายไป

.

กลับมาที่เรื่อง AI ใช่ว่าจะมีแต่ทางรัฐบาลจีนเท่านั้น แต่ด้านบริษัทเอกชนเองก็เช่นกัน ที่กำลังพัฒนา AI ไปจนแซงชาติตะวันตกไม่น้อยแล้วในหลายด้าน เช่น Alibaba เองก็พัฒนา AI ที่ชื่อว่า Aliwood ที่สามารถสร้างคลิปโฆษณาให้สินค้าต่างๆได้เอง จากการเลือกภาพและเพลงประกอบจากข้อมูลพฤติกรรมของผู้ชมที่แตกต่างกันไป เพื่อทำเป็นคลิปโฆษณาที่น่าจะโดนใจผู้ชมให้กดซื้อมากที่สุด

.

หรือจะบอกได้ว่าต่อไปนี้สินค้าแค่ชิ้นเดียวแต่สามารถมีคลิปโฆษณาเป็นล้านชิ้นที่โดนใจคนล้านคนที่มีความชอบไม่เหมือนกันได้ด้วย AI ที่ชื่อ Aliwood จาก Alibaba (ผมว่าชื่อนี้ตั้งใจตั้งให้ล้อกับ HollyWood ฝั่งตะวันตกนะครับ)

.

จีนเองกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบริษัท Start Up ระดับ #Unicorn ที่มีมูลค่าเกิน 1,000ล้านเหรียญสหรัฐ อาจจะมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะบริษัทในระดับนี้มีไม่ถึง 300 บริษัท แต่กลับเป็นของจีนไป 97 บริษัทแล้ว ถ้าถามว่าเพราะอะไรต้องบอกว่าเพราะสภาพแวดล้อมที่ทั้งทางรัฐบาลจีนและภาคเอกชนสนันสนุนให้เอื้อต่อการเกิด #StartUp

.

ตั้งแต่สีจิ้นผิงเข้ามาก็ปราบปรามคอรัปชั่นไปมากมาย แม้จะไม่หมดไปจนกลายเป็นศูนย์แต่ก็สามารถพูดได้เต็มปากว่าทุกวันนี้ข้าราชการจีนทำงานอย่างโปร่งใสและรวดเร็วขึ้นมาก ทำให้ต้นทุนการเกิดธุรกิจใหม่นั้นง่ายและเร็วกว่าที่ไหนๆในโลก เมื่อเริ่มได้เร็วก็สามารถโตได้ไว

.

และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ทำให้คนรุ่นใหม่ที่จบมหาลัยในจีนส่วนใหญ่ไม่เลือกที่จะหางานทำเลย แต่เลือกที่จะออกมาทำสตาร์อัพหรือธุรกิจของตัวเองก่อนซัก 1-2 ปี ถ้าทำแล้วรอดก็กลายเป็นธุรกิจใหม่ แต่ถ้าทำแล้วไม่รอดก็สามารถกลับเข้าไปในระบบหางานใหม่ได้ไม่ยาก ยิ่งบริษัทสมัยใหม่ในจีนทุกวันนี้สนใจผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำสตาร์ทอัพของตัวเองมากกว่าคนที่เรียนจบเกรดดีๆด้วยซ้ำไป

.

หรือต่อให้ทำงานไปซักพักแล้วมีไอเดียอยากออกไปลองทำสตาร์ทอัพของตัวเองก็ง่าย เพราะที่จีนนั้นไม่มีธรรมเนียมเรื่องรับคนตามอายุในแต่ละตำแหน่งเหมือนบ้านเรา ที่มักจำกัดอายุของผู้สมัคร ทำให้แม้จะออกไปทำแล้วไม่รอด แต่ก็รู้ว่าสามารถกลับเข้ามาหางานทำใหม่ในระบบได้ง่ายๆ

.

นี่แหละครับสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดการคิดใหม่ทำใหม่ของจีนได้ตลอด ไม่ต้องเป็นแค่คนรุ่นใหม่ จะเป็นคนรุ่นไหนก็สามารถวิ่งออกนอกระบบไปทำของตัวเองแล้วกลับมาในระบบเป็นพนักงานประจำใหม่ได้ง่ายๆ

.

เรื่องระบบการจัดการเศรษฐกิจของจีนก็น่าสนใจครับ แม้ว่าจีนจะเก็บอุตสหกรรมสำคัญๆไว้เป็นของรัฐ โดยอยู่ในรูปแบบรัฐวิสาหกิจก็ตาม แต่จีนก็ไม่ได้ปล่อยให้รัฐวิสาหกิจใดใหญ่โตจนผูกขาดเหมือนอย่างบ้านเรา เช่นรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าก็มีแค่การไฟฟ้า แต่ทางการจีนเลือกที่จะแตกรัฐวิสาหกิจนั้นออกมาเป็นบริษัทย่อยๆซัก 4-5 แห่ง เพื่อให้เกิดการแข่งขันเองในกลุ่มรัฐวิสาหกิจ เพื่อป้องกันการผูกขาด การใหญ่เกินขนาดจนอุ้ยอ้าย จนไม่เกิดการพัฒนาจากการแข่งขันกันเหมือนอย่างหลายๆประเทศ เช่นบ้านเรา

.

และที่สำคัญถ้ารัฐวิสาหกิจไหนบริหารไม่ดีก็ใช่ว่าจะได้รับการอุ้มชูดูแล แต่ทางการจีนเลือกที่จะปล่อยให้ล้มละลายไปก็มาก ทั้งหมดนี้เลยเป็นเหตุผลให้รัฐวิสาหกิจของจีนนั้นแข็งแรงพอจนสามารถขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศได้สบายๆ

.

ยุทธศาตร์ Jing-Jin-Ji ของจีนก็น่าสนใจครับ เป็นแนวคิดที่ว่าเชื่อมเมืองรองเข้ากับเมืองใหญ่ด้วยรถไฟความเร็วสูง แล้วรถไฟความเร็วสูงนั้นสำคัญอย่างไรถึงสามารถกระจายความแอดอัดและความเจริญออกไปได้ พี่จีนคิดแบบนี้ครับ

.

เค้าคิดว่าด้วยรถไฟความเร็วสูงที่สามารถเคลื่อนย้ายผู้คนจากเมืองหนึ่งที่ห่างไกลไปหลายร้อยกิโลเมตรจากเมืองหลัก เช่น เชื่อมคนจากนอกเมืองปักกิ่งที่ห่างไกลให้สามารถเดินทางเข้าเมืองได้ด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงภายในเวลาหนึ่งชั่วโมงไม่เกินนี้

.

โดยไม่ใช่แค่เข้ามาที่ชานเมืองปักกิ่ง แต่เป็นการเข้าไปสู่ใจกลางเมืองปักกิ่งเลย ทำให้คนเก่งๆจากนอกเมืองไม่ต้องแอดอัดเข้ามาหาที่อยู่ในเมือง สามารถอยู่เมืองตัวเองแล้วนั่งรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ว่าเข้าเมืองได้ง่ายๆ

.

ทั้งหมดนี้ทำให้นิยามของเมืองเปลี่ยนไป เพราะเมืองของจีนจะไม่ใช่แค่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง แต่เป็นการเชื่อมต่อหลายจังหวัดเข้าด้วยกันผ่านรถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่สามารถเดินทางถึงกันเสมือนอยู่ในตัวเมืองเดียวกันนี่เอง

.

คิดง่ายๆลำพังขับรถกลับบ้านหลังเลิกงานในกรุงเทพใช้เวลากันกี่ชั่วโมงครับ บางวันเราขับเกือบสองชั่วโมง เรียกได้ว่าขับจากกรุงเทพไปพัทยายังเร็วกว่าเลย

.

เรื่องสุดท้ายที่อยากจะเล่าให้ฟังคือ เวลา 1 ปีของจีนนั้นไม่เหมือนกับ 1 ปีของประเทศอื่น

.

เรารู้กันดีว่าเมื่อไม่กี่สิบปีก่อนจีนยังเป็นประเทศล้าหลังและด้อยพัฒนามาก บอกได้ว่าในปี 1990 ดัชนีรายได้ต่อหัวประชากรจีนนั้นต่ำกว่าไทยถึง 5 เท่า

.

ใช่ครับ 5 เท่า ในตอนปี 1990 รายได้เฉลี่ยประชากรต่อหัวอยู่ที่ประมาณห้าพันต้นๆเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และจีนอยู่แค่หนึ่งพันนิดๆดอลลาร์สหรัฐ แต่พอปี 2015 ที่ผ่านมา รายได้เฉลี่ยประชากรต่อหัวของจีนนั้นสูงกว่าไทยถึง 50% ขึ้นไปแล้ว โดยที่ไทยขยับจากเดิมเป็นแค่ห้าพันปลายๆ

.

ดังนั้นเศรษฐกิจของจีนที่โตวันโตคืนต่อเนื่องมากทุกปี ทำให้เพียงแค่ไม่ยี่สิบห้าปีผ่านมา เศรษฐกิจจีนโตโดยรวมไม่น้อยกว่า 8 เท่า

.

ดังนั้น 1 ปีของบ้านเราผ่านไปอย่างไม่ค่อยได้อะไร แต่ของจีนนั้นได้เป็นกอบเป็นกำ ลองคิดดูซิว่าถ้า GDP ของประเทศโตปีละ 3.5% เมื่อเทียบกับประเทศที่สองที่โตปีละ 7% ฟังดูต่อปีอาจไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่พอสิบปีผ่านไปเศรษฐกิจประเทศที่สองจะโตกว่าประเทศแรกถึงหนึ่งเท่าตัว

.

และนี่ก็คือกำลังภายในของจีนที่สะสมอยู่ทุกปีๆที่หลายประเทศเคยมองข้าม แต่วันนี้ต้องมองตามจีนทั้งนั้น

.

อยากให้คุณได้ลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านดู อาจจะยังไม่ต้องซื้อก็ได้ แค่เดินไปหยิบมาอ่านดูซักบท แล้วรับรองว่าคุณจะติดใจจนได้กลับบ้านแน่ๆ

.

เพราะสุดท้ายแล้วคุณจะรู้ว่าจีนที่เคยเป็นชาติมหาอำนาจจนทำให้ทั่วตะวันตกต่างต้องร้องขอที่จะเข้ามาค้าขายกับจีนเมื่อไม่กี่ร้อยปีก่อน จนเกิดสงครามฝิ่นที่ทำให้จีนต้องพังไม่เป็นท่า จนจีนต้องกลายเป็นมังกรหลับเพราะต้องนอนพักรักษาบาดแผลมากมาย ทั้งแผลจากภายนอก และแผลติดเชื้อเองจากภายใน

.

และแค่สามสิบปีที่ผ่านมา จีนก็กำลังกลายเป็นมังกรผงาดขึ้นอีกครั้ง และคาดได้ว่าโลกคงต้องกลับมาหมุนรอบจีนเหมือนเมื่อสมัยใบชาอีกครั้งหนึ่ง

.

อ่านแล้วเล่า China 5.0 สีจิ้นผิง เศรษฐกิจยุคใหม่ และแผนการใหญ่ AI

.

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียน

สำนักพิมพ์ Bookscape

.

เล่มที่ 118 ของปี 2018

อ่านเมื่อ 2018 10 26