Tag

ความเสมอภาค

Browsing

หลังจากที่ดองหนังสือซีรีส์ A Very Short introduction มานาน ก็ถึงคราวไล่อ่านเรียงตามเรื่องซักที จากปรัชญาการเมืองที่มีเกริ่นเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็เลยถึงเวลาหยิบหนังสือสิทธิมนุษยชนความรู้ฉบับพกพาเล่มนี้มาอ่านซักที

ถ้าให้สรุปสั้นๆหลังอ่านจบว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร ก็คงบอกได้ว่าคือแนวคิดที่ไม่แบ่งชายแยกหญิง ไม่แบ่งขาวแยกดำ ไม่แบ่งเชื้อชาติแยกคนกลุ่มน้อย ไม่แบ่งศาสนาแยกความเชื่อ ไม่แบ่งรวยแยกจน คือหลักแนวคิดที่ว่าทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ล้วนมีสิทธิเยี่ยงมนุษย์หนึ่งคนเท่ากันถ้วนหน้า

สิทธิมนุษยชนเลยเป็นเรื่องที่ไม่มีวันจบ ไม่มีกฏิกาเส้นกำหนดแน่นอน ไม่มีขาวดำชัดเจน หลายประเด็นล้วนเป็นสีเทาๆ และสิทธิมนุษยชนจะไม่มีวันลดลง กลับมีแต่เพิ่มประเด็นมากขึ้นทุกวัน ยิ่งถกเถียงกันก็ยิ่งเจอประเด็นใหม่ๆของสิทธิมนุษยชน

สิทธิมนุษยชนมีให้ทุกคนแม้แต่ผู้ก่อการร้าย

แม้ถูกจับได้ก็ยังได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนจนกลายเป็นประเด็นข้อถกเถียงที่ว่า Human Rights for Act หรือจะเป็น The Criminal’s Act กันแน่

เพราะความโกรธแค้นของฝูงชนคงไม่ได้มองว่าผู้ก่อการร้ายก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนเขา แต่ถ้าเราเป็นฝูงชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการที่เกิดขึ้น เราก็คงไม่ได้มองว่าผู้ก่อการร้ายเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนเราแน่ๆครับ

เห็นมั้ยครับว่าสิทธิมนุษยชนไม่มีขาวดำ ไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน หลายประเด็นล้วนเบลอๆ ขึ้นอยู่กับการนิยามตีความกันไป

การทรมานกับสิทธิมนุษยชน

การทรมานนักโทษหรือผู้ต้องหาเพื่อรีดเค้นเอาข้อมูลลับที่จำเป็นต่อการปกป้องประเทศ หรือประชาชนผู้บริสุทธิ์ ก็กำลังเป็นอีกประเด็นสำคัญว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เพราะอย่างที่ผมบอกไปก่อนหน้านี้ว่าแม้แต่ผู้ก่อการร้ายยังได้รับการคุ้มคลองตามหลักสิทธิมนุษยชนเลย ดังนั้นศาลในบางประเทศไม่ถือว่าข้อมูลที่ได้จากการทรมานนักโทษหรือผู้ต้องหานั้นสามารถนำมาใช้วินิจฉัยตัดสินคดีได้

การทรมานด้วยสีขาวก็ต้องห้ามด้วยหลักสิทธิมนุษยชน

เพราะรู้ว่าการสภาพแวดล้อมสีขาวล้วนเป็นการทรมานทางจิตใจอย่างหนึ่งที่ถูกต้องห้ามไว้ ไม่แพ้กับการกดน้ำ หรือ waterbroad คือการให้นอนหัวลาดลงแล้วเอาผ้าคลุมหน้า จากนั้นก็เอาน้ำลาดลงไป ผลคือคนจะสำลึกน้ำอย่างทรมานด้วยทริคง่ายๆโดยไม่ต้องหาสระใหญ่ๆมากดน้ำให้ยุ่งยากเลย

แม้แต่โทษจำคุกตลอกชีวิตยังต้องถูกกลับมาทบทวนให้ดีด้วยสิทธิมนุษยชน

เพราะการไม่เปิดโอกาสให้คนเหล่านั้นได้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นจนได้โอกาสในชีวิตใหม่ ก็ถือเป็นการขัดกับแนวคิดสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน

Jean-Jacques Rousseau ผู้เขียนสัญญาประชาคมในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศษยังกล่าวว่า “สัญญาประชาคมทำให้มนุษย์สูญเสียเสรีภาพตามธรรมชาติของเรา และสิทธิอันไร้ขีดจำกัดในทุกสิ่งซึ่งล่อใจและเขาสามารถได้มา แต่ผลตอบแทนการสูญเสียที่เขาจะได้รับกลับคืนคือ เสรีภาพของพลเมือง และความเป็นเจ้าของทุกส่งที่เขาครอง”

หมายความว่าอะไร

หมายความว่าการทำอะไรก็ได้ตามใจเช่นสัตว์ป่า อยากได้ข้าวของเค้ามาก็เดินเข้าไปใช้กำลังเสมือนสัตว์นั้นไม่อาจทำได้ในสังคมมนุษย์ เราต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจที่จะไม่เอาของคนอื่นมาเป็นของตัวเองอย่างถูกต้อง และแน่นอนว่าก็จะไม่มีใครที่มีกำลังมากกว่าหรือใครก็ตามแอบมาขโมยของเราไปตอนหลับได้ง่ายๆ มันคือวิธีของคนเมืองไม่ใช่คนป่า

และสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้มีการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก พร้อมๆกับให้ปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวไปพร้อมกัน เป็นหัวข้อที่ฟังดูย้อนแย้งชะมัด เหมือนเหรียญมีสองด้านแต่อยากให้เห็นทั้งสองด้านพร้อมๆกัน เพราะถ้าคนเรามีเสรีภาพที่จะแสดงออกอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้ใครมายุ่งย่ามกับเรื่องของเรา

การเรียกร้องสิทธิสตรีครั้งแรกเกิดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศษ

ในปี 1792 ผ่านงานเขียนเรื่อง A Vindieation of the Right of Woman หรือ การปกป้องสิทธิสตรี โดย Mary Wollstonecraft ที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฝรั่งเศษ ให้เคารพสิทธิของผู้หญิงโดยให้เหตุผลว่า ผู้ชายไม่สามารถตัดสินใจแทนผู้หญิงได้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับผู้หญิง พวกเธอควรได้ตัดสินใจเองเลือกเองเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพวกเธอ

สิทธิมนุษยชนในเด็ก

ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก Convention on the Right of the Child ในใจความว่าจะไม่เอาเปรียบจากเด็กในทุกทาง ไม่ว่าจะด้วยการใช้แรงงานเด็กเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือการคุกคามทางเพศเด็กไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร

สนธิสัญญานี้เป็นสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่มีประเทศบนโลกร่วมลงนามให้สัตยาบันมากที่สุด แต่ยกเว้นหนึ่งประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา

น่าแปลกใจจริงๆครับว่าทำไมสหรัฐอเมริกาถึงไม่ลงนามเพื่อคุ้มครองเด็ก

องค์กรสิทธิมนุษยชนเองถูกห้ามรับเงินบริจาคที่มานอกประเทศ

เพราะในบางประเทศมองว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ไม่ถูกกับรัฐบาล เพราะเป็นตัวเปิดโปงสิ่งไม่ดีที่รัฐบาลทำกับประชาชนในประเทศไว้ เวลาจะมีเงินทุนหรือเงินบริจาคจากต่างประเทศเข้ามาจะถูกบล็อคเอาไว้ครับ

สิทธิเสรีภาพในยุคดิจิทัลที่น่าสนใจคือ สิทธิที่จะถูกลืม หรือ Right to be forgettrn

ในยุคที่หาอะไรด้วย google ก็เจอไม่ว่าจะผ่านมานานแค่ไหน และอะไรที่โพสไปแล้วก็ยากจะลบออกจากอินเทอร์เน็ตได้ หรือบางทีคนอื่นอาจเอาข้อมูลเก่าๆที่เราไม่ต้องการไปโพส ในยุโรปเรามีสิทธิที่จะบอกให้ Google ไม่แสดงผลการเสริชที่เกี่ยวกับตัวเราให้คนอื่นเห็นได้ ส่วนในบ้านเรายังไม่รู้เหมือนกันครับว่าสามารถทำได้มั้ย เพราะถ้าทำได้ผมอยากให้รูปติดบัตรสมัยวัยรุ่นเสริชหาไม่เจอจัง เพราะภาพมันน่าเกลียดมากเลย

สิทธิเรื่องสุขภาพ

สิทธิเรื่องสุขภาพที่กำลังเป็นปัญหาระหว่าง สุขภาพประชาชนที่ต้องดูแลโดยรัฐบาล กับบริษัทผู้ผลิตยาที่ต้องการเงินทำธุรกิจ

เป็นประเด็นที่กำลังมองหาจุดสมดุลของทุกฝ่าย ว่าทำอย่างไรให้บริษัทยามีกำไรอยู่เพื่อวิจัยยาต่อไปได้ และเพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงยา หรือการดูแลสุขภาพในราคาที่สมเหตุสมผลได้ เพราะเรารู้ว่าต้นทุนในการผลิตตัวยาจริงๆนั้นถูกมาก แต่ที่แพงคือค่าวิจัยก่อนหน้าจะได้ยาตัวนั้นมาซึ่งเป็นสิทธิหรือลิขสิทธิ์ของบริษัทยานั่นเอง

และเรื่องสุดท้ายที่ผมเห็นว่าน่าสนใจคือสิทธิของผู้พิการ ที่มีใจความสำคัญคือการช่วยเหลือที่สมเหตุสมผล

เดาว่าน่าจะเป็นการไม่ช่วยแบบมากเกินไปจนกลายเป็นกระทบสิทธิของคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้พิการ กับการช่วยน้อยเกินไปอารมณ์เหมือนไม่มีทางลาดสำหรับผู้พิการให้สามารถใช้ชีวิตได้เท่าเทียมกับคนปกติได้เลย

หัวข้อนี้ทำให้ผมคิดถึงเรื่อง Universal Design หรือหลักการออกแบบแบบสากลเพื่อคนทุกกลุ่มตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา และคนพิการพร้อมกันในเวลาเดียว

สุดท้ายนี้สิทธิมนุษยชนยังเป็นหัวข้อที่ไม่มีวันจบสิ้นและไม่มีจุดสิ้นสุดว่าจะหยุดที่ตรงไหน เพราะตราบใดที่โลกไม่มีสังคม Utopia อยู่จริง และความเท่าเทียมที่แท้จริงก็ยังไม่เห็นอนาคตที่จะเกิดขึ้น การเรียกร้องสิทธิมนุษยชนคนผู้คนที่แตกต่างกันในสังคมเลยเป็นจุดสำคัญที่บอกให้รู้ว่า เรากำลังพยายามไปให้ถึงจุดนั้นอยู่

จุดที่ว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คุณ ผม และเค้า เราต่างเท่าเทียมกันในความเป็นคน และเราต่างต้องเคารพซึ่งกันและกันแม้จะเชื่อต่างกันโดยสิ้นเชิง

สรุปหนังสือ Human Right: A Very Short Introduction สิทธิมนุษยชน ความรู้ฉบับพกพา

Andrew Clapham เขียน

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล และ สุนีย์ สกาวรัตน์ แปล

สำนักพิมพ์ Openworlds

เล่มที่ 116 ของปี 2018

20181015